ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๓. วิกาลคามปเวสนสิกขาบท นิทานวัตถุ

๙. รตนวรรค
๓. วิกาลคามปเวสนสิกขาบท
ว่าด้วยการเข้าหมู่บ้านในเวลาวิกาล
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๕๐๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม องอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าหมู่บ้านใน เวลาวิกาล นั่งในที่ชุมนุม สนทนาดิรัจฉานกถาต่างๆ คือ (๑) ราชกถา เรื่องพระ ราชา (๒) โจรกถา เรื่องโจร (๓) มหามัตตกถา เรื่องมหาอมาตย์ (๔) เสนากถา เรื่องกองทัพ (๕) ภยกถา เรื่องภัย (๖) ยุทธกถา เรื่องการรบ (๗) อันนกถา เรื่องข้าว (๘) ปานกถา เรื่องน้ำ (๙) วัตถกถา เรื่องผ้า (๑๐) สยนกถา เรื่องที่นอน (๑๑) มาลากถา เรื่องพวงดอกไม้ (๑๒) คันธกถา เรื่องของหอม (๑๓) ญาติกถา เรื่องญาติ (๑๔) ยานกถา เรื่องยาน (๑๕) คามกถา เรื่องบ้าน (๑๖) นิคมกถา เรื่องนิคม (๑๗) นครกถา เรื่องเมือง (๑๘) ชนปทกถา เรื่องชนบท (๑๙) อิตถีกถา เรื่องสตรี (๒๐) ปุริสกถา เรื่องบุรุษ (๒๑) สูรกถา เรื่องคนกล้าหาญ (๒๒) วิสิขากถา เรื่องตรอก (๒๓) กุมภัฏฐานกถา เรื่องท่าน้ำ (๒๔) ปุพพเปตกถา เรื่องคนที่ ล่วงลับไปแล้ว (๒๕) นานัตตกถา เรื่องเบ็ดเตล็ด (๒๖) โลกักขายิกะ เรื่องโลก (๒๗) สมุททักขายิกะ เรื่องทะเล (๒๘) อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและ ความเสื่อม๑- คนทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย ศากยบุตรจึงเข้าหมู่บ้านในเวลาวิกาล นั่งในที่ชุมนุม สนทนาดิรัจฉานกถาต่างๆ คือ (๑) ราชกถา เรื่องพระราชา (๒) โจรกถา เรื่องโจร (๓) มหามัตตกถา เรื่อง มหาอมาตย์ (๔) เสนากถา เรื่องกองทัพ (๕) ภยกถา เรื่องภัย (๖) ยุทธกถา @เชิงอรรถ : @ วิ.ม. ๕/๒๕๐/๑๓-๑๔, ที.สี. ๙/๑๗/๘, ที.ปา. ๑๑/๕๐/๓๐, ม.ม. ๑๓/๒๒๓/๑๙๗, สํ.ม. ๑๙/๑๐๘๐/๓๖๕, @องฺ.ทสก. ๒๔/๖๙/๑๐๒, ขุ.ม. ๒๙/๑๕๗/๓๐๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๙๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๓. วิกาลคามปเวสนสิกขาบท นิทานวัตถุ

เรื่องการรบ (๗) อันนกถา เรื่องข้าว (๘) ปานกถา เรื่องน้ำ (๙) วัตถกถา เรื่องผ้า (๑๐) สยนกถา เรื่องที่นอน (๑๑) มาลากถา เรื่องพวงดอกไม้ (๑๒) คันธกถา เรื่องของหอม (๑๓) ญาติกถา เรื่องญาติ (๑๔) ยานกถา เรื่องยาน (๑๕) คามกถา เรื่องหมู่บ้าน (๑๖) นิคมกถา เรื่องนิคม (๑๗) นครกถา เรื่องเมือง (๑๘) ชนปทกถา เรื่องชนบท (๑๙) อิตถีกถา เรื่องสตรี (๒๐) ปุริสกถา เรื่องบุรุษ (๒๑) สูรกถา เรื่องคนกล้าหาญ (๒๒) วิสิขากถา เรื่องตรอก (๒๓) กุมภัฏฐานกถา เรื่องท่าน้ำ (๒๔) ปุพพเปตกถา เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว (๒๕) นานัตตกถา เรื่องเบ็ดเตล็ด (๒๖) โลกักขายิก เรื่องการคาดเกี่ยวกับโลก (๒๗) สมุททักขายิก เรื่องการคาดเดา เกี่ยวกับทะเล (๒๘) อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม เหมือนพวก คฤหัสถ์ที่ยังบริโภคกามเล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงเข้าหมู่บ้าน เวลาวิกาล นั่งในที่ชุมนุม สนทนาดิรัจฉานกถาต่างๆ คือ เรื่องพระราชา ฯลฯ เรื่อง ความเจริญและความเสื่อมเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดย ประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอเข้าบ้านในเวลา วิกาล นั่งในที่ชุมนุม สนทนาดิรัจฉานกถาต่างๆ คือ (๑) ราชกถา เรื่องพระราชา ฯลฯ (๒๘) อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม จริงหรือ” พวกภิกษุ ฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงเข้าหมู่บ้านในเวลาวิกาลแล้ว นั่งในที่ชุมนุม สนทนาดิรัจฉานกถาต่างๆ คือ (๑) ราชกถา เรื่องพระราชา ฯลฯ (๒๘) อิติภวาภว กถา เรื่องความเจริญและความเสื่อมเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๖๐๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๓. วิกาลคามปเวสนสิกขาบท พระบัญญัติ

พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดเข้าหมู่บ้านในเวลาวิกาล ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
เรื่องภิกษุหลายรูป
[๕๐๙] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไปกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล เข้าไปหมู่ บ้านตำบลหนึ่งในเวลาเย็น คนทั้งหลายเห็นภิกษุเหล่านั้นจึงได้อาราธนาดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านทั้งหลายเข้าไปเถิด” ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีความยำเกรงว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการเข้าหมู่บ้านในเวลาวิกาล” จึงไม่ยอมเข้าไป พวกโจร ได้ปล้นภิกษุเหล่านั้น ครั้นภิกษุเหล่านั้นไปถึงกรุงสาวัตถี ได้แจ้งเรื่องนั้นให้ภิกษุ ทั้งหลายทราบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ทรงอนุญาตให้เข้าหมู่บ้าน ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกลาแล้วเข้าหมู่บ้านใน เวลาวิกาลได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ อนึ่ง ภิกษุใดไม่บอกลาแล้วเข้าหมู่บ้านในเวลาวิกาล ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๕๑๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล เข้าไปหมู่ บ้านตำบลหนึ่งในเวลาเย็น คนทั้งหลายเห็นภิกษุนั้นจึงได้อาราธนาดังนี้ว่า “ท่าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๖๐๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๓. วิกาลคามปเวสนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

ผู้เจริญ นิมนต์ท่านทั้งหลายเข้าไปเถิด” ครั้งนั้น ภิกษุนั้นมีความยำเกรงว่า “พระผู้มี พระภาคทรงห้ามการเข้าหมู่บ้านในเวลาวิกาลโดยมิได้บอกลา” จึงไม่ยอมเข้าไป พวกโจรได้ปล้นภิกษุนั้น ครั้นภิกษุนั้นไปถึงกรุงสาวัตถี ได้แจ้งเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลาย ทราบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระพุทธานุญาตพิเศษ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับ สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้า หมู่บ้านในเวลาวิกาลได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าหมู่บ้านในเวลาวิกาล ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ
เรื่องภิกษุถูกงูกัด
[๕๑๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด ภิกษุอีกรูปหนึ่งจะเข้าหมู่บ้านด้วยคิดว่า “จะไปนำไฟมา” แต่ครั้นแล้วมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการไม่ บอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าหมู่บ้านในเวลาวิกาล” จึงไม่ยอมเข้าไปแล้วนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระพุทธานุญาตพิเศษ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเมื่อมีธุระรีบด่วนเช่นนี้ ไม่ต้อง บอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าหมู่บ้านในเวลาวิกาล” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๖๐๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๓. วิกาลคามปเวสนสิกขาบท บทภาชนีย์

พระอนุบัญญัติ
[๕๑๒] อนึ่ง ภิกษุใดไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้ว เข้าหมู่บ้านในเวลาวิกาล ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็นรีบด่วนเช่นนั้น
เรื่องภิกษุถูกงูกัด จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๕๑๓] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ ภิกษุที่ชื่อว่า มีอยู่ คือ ภิกษุที่ตนสามารถจะบอกลาแล้วเข้าหมู่บ้านได้ ภิกษุที่ชื่อว่า ไม่มีอยู่ คือ ภิกษุที่ตนไม่สามารถจะบอกลาแล้วเข้าหมู่บ้านได้ ที่ชื่อว่า เวลาวิกาล หมายเอาเวลาเมื่อเที่ยงวันล่วงไปแล้วจนถึงอรุณขึ้น คำว่า เข้าหมู่บ้าน ความว่า เมื่อภิกษุก้าวเลยเข้าเขตรั้วล้อมของหมู่บ้านที่มี รั้วล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุก้าวเข้าเขตอุปจารของหมู่บ้านที่ไม่มีรั้วล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คำว่า เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็นรีบด่วนเช่นนั้น คือ ยกเว้นแต่มีเหตุจำเป็นรีบ ด่วนเช่นนั้น
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๕๑๔] เวลาวิกาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นเวลาวิกาล ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้ว เข้าหมู่บ้าน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็นรีบด่วนเช่นนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๖๐๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๓. วิกาลคามปเวสนสิกขาบท อนาปัตติวาร

เวลาวิกาล ภิกษุไม่แน่ใจ ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าหมู่บ้าน ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็นรีบด่วนที่สมควร เวลาวิกาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นกาล ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าหมู่บ้าน ต้อง อาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็นรีบด่วนที่สมควร
ทุกกฏ
กาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นเวลาวิกาล ต้องอาบัติทุกกฏ กาล ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ กาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นกาล ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๕๑๕] ๑. ภิกษุเข้าบ้านเมื่อมีเหตุจำเป็นรีบด่วนที่สมควร ๒. ภิกษุบอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าไป ๓. ภิกษุไม่ได้บอกลาเพราะภิกษุไม่มีแล้วเข้าไป ๔. ภิกษุไปอารามอื่น ๕. ภิกษุไปสำนักภิกษุณี ๖. ภิกษุไปสำนักเดียรถีย์ ๗. ภิกษุไปโรงฉัน ๘. ภิกษุเดินตามทางที่ผ่านหมู่บ้าน ๙. ภิกษุเข้าไปในคราวมีเหตุขัดข้อง ๑๐. ภิกษุวิกลจริต ๑๑. ภิกษุต้นบัญญัติ
วิกาลคามปเวสนสิกขาบทที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๖๐๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๙๙-๖๐๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=121              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=14317&Z=14426                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=744              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=744&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10207              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=744&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10207                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc85/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc85/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :