ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๑. อันเตปุรสิกขาบท นิทานวัตถุ

๙. รตนวรรค
หมวดว่าด้วยรัตนะ
๑. อันเตปุรสิกขาบท
ว่าด้วยการเข้าเขตพระราชฐานชั้นใน
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล
[๔๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งกับ เจ้าหน้าที่เฝ้าพระราชอุทยานว่า “พนาย ท่านจงไปทำความสะอาดอุทยาน เราจักไป อุทยาน” เจ้าหน้าที่เฝ้าพระราชอุทยานรับสนองพระราชโองการแล้วจึงไปทำความสะอาด พระราชอุทยาน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง ครั้นเห็นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูล พระเจ้าปเสนทิโกศลดังนี้ว่า “ขอเดชะ พระราชอุทยานสะอาดแล้ว พระผู้มีพระภาค พุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระราชอุทยานนั้น พระพุทธเจ้าข้า” ท้าวเธอรับสั่งว่า “ช่างเถิด พนาย พวกเราจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค” ครั้นแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปพระราชอุทยานแล้วเสด็จเข้าไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ขณะนั้น อุบาสกคนหนึ่งนั่งเฝ้าอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ ทอดพระเนตรเห็นอุบาสกผู้นั่งเฝ้าอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค ครั้นทอดพระเนตรเห็น แล้วได้ประทับยืนตกพระทัย ทีนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงมีพระดำริดังนี้ว่า “ชายคนนี้คงไม่ใช่คนเลว เขาถึงได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอยู่ใกล้ๆ ได้” จึงเสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพรระผู้มีพระภาคแล้วประทับ นั่ง ณ ที่สมควร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๘๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๑. อันเตปุรสิกขาบท นิทานวัตถุ

ขณะนั้นอุบาสกนั้นไม่ถวายบังคม ไม่ลุกรับเสด็จพระเจ้าปเสนทิโกศล เพราะ มีความเคารพต่อพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงพอพระทัยว่า “ไฉนชายคนนี้ เมื่อเรามา ถึงจึงไม่ถวายบังคม ไม่ต้อนรับเล่า” พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงพอพระทัย จึงได้ตรัส กับพระเจ้าปเสนทิโกศลดังนี้ว่า “มหาบพิตร อุบาสกคนนี้เป็นพหูสูต จำสิ่งที่ได้ เล่าเรียนมาได้ ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย” ขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงพระดำริดังนี้ว่า “อุบาสกนี้ไม่ใช่คน ต่ำต้อย แม้พระผู้มีพระภาคยังตรัสพรรณนาคุณของอุบาสกนี้” จึงได้รับสั่งกับ อุบาสกนั้นดังนี้ว่า “อุบาสก ท่านพูดสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์เถิด” อุบาสกกราบทูลว่า “เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นเกล้าฯ พระพุทธเจ้าข้า” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นชัด ชวนให้อยาก รับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย ธรรมีกถา ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงเสด็จลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำ ประทักษิณแล้วเสด็จไป [๔๙๕] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่บนปราสาทชั้นบน ได้ทอด พระเนตรเห็นอุบาสกนั้นเดินกั้นร่มไปตามถนน ครั้นเห็นแล้วจึงรับสั่งให้เชิญมาเฝ้า แล้วได้ตรัสกับอุบาสกนั้นดังนี้ว่า “อุบาสก ทราบว่า เธอเป็นพหูสูต จำสิ่งที่ได้ เล่าเรียนมาได้ อุบาสก เธอช่วยสอนธรรมในตำหนักของเราด้วยเถิด” อุบาสกกราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมจากพระคุณเจ้าทั้งหลาย พระคุณเจ้าทั้งหลายเท่านั้นจักสอนธรรมพระสนมของพระองค์ได้” ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงรับสั่งว่า “อุบาสกกล่าวจริง” จึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๘๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๑. อันเตปุรสิกขาบท นิทานวัตถุ

พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอประทานวโรกาสเถิด พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้ภิกษุรูป หนึ่งไปสอนธรรมในตำหนักนางสนมของหม่อมฉัน” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นชัด ชวนให้ อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็น ชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สด ชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงเสด็จลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำ ประทักษิณแล้วเสด็จไป
ทรงแต่งตั้งพระอานนท์เป็นครูสอนธรรม
ต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอจงไปสอน ธรรมในตำหนักพระสนมของพระราชา” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธดำรัส ได้เข้าไปสอนธรรม ณ ตำหนัก พระสนมตามกาลอันควร ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปถึงพระราชนิเวศน์ [๔๙๖] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่ในห้องบรรทมกับพระนาง มัลลิกาเทวี พระนางมัลลิกาเทวีได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระอานนท์มาแต่ไกล ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงรีบลุกขึ้น พระภูษาทรงเกลี้ยงสีเหลืองจึงเลื่อนหลุด ทีนั้น ท่านพระอานนท์จึงกลับแต่ไกล ไปถึงอารามแล้วจึงแจ้งเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลาย ทราบ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน พระอานนท์ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าจึงเข้าไปพระราชฐานชั้นในเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลาย ตำหนิท่านพระอานนท์โดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค ให้ทรงทราบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๘๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๑. อันเตปุรสิกขาบท นิทานวัตถุ

ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ ทราบว่า เธอไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้า เข้าไป พระราชฐานชั้นใน จริงหรือ” ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ อานนท์ ไฉนเธอยังไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้า จึงเข้าไปพระราชฐานชั้นในเล่า อานนท์ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่ เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้น ทรงตำหนิแล้วจึงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
การเข้าเขตพระราชฐานชั้นในมีโทษ ๑๐ อย่าง
[๔๙๗] “ภิกษุทั้งหลาย ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน มีโทษ ๑๐ อย่างนี้ คือ (๑) ภิกษุทั้งหลาย พระราชาประทับอยู่กับพระมเหสีในพระราชฐานชั้นในนี้ ภิกษุเข้าไปในพระราชฐานชั้นในนั้น พระมเหสีเห็นภิกษุแล้วทรงยิ้มให้ หรือภิกษุเห็น พระมเหสีแล้วยิ้มให้ ในข้อนั้นพระราชาจะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า “คนทั้ง ๒ นี้ได้ทำ อะไรกันแล้ว หรือจักทำอะไรกันแน่นอน” ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ ๑ ในการ เข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน (๒) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระราชาทรงมีพระราชกิจมาก มีพระ กรณียกิจมาก เสด็จไปหาพระสนมคนหนึ่งแล้วทรงลืม พระสนมนั้นตั้งครรภ์เพราะ การที่พระราชาเสด็จไปหานั้น ในข้อนั้นพระราชาจะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า “ในที่นี้ นอกจากบรรพชิต ไม่มีใครอื่นเข้ามาได้ คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุ ทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ ๒ ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน (๓) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ของมีค่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ในพระราชฐาน ชั้นในสูญหายไป ในข้อนั้นพระราชาจะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า “ในที่นี้ นอกจาก บรรพชิต ไม่มีใครอื่นเข้ามาได้ คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ ๓ ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๘๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๑. อันเตปุรสิกขาบท นิทานวัตถุ

(๔) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก เมื่อความลับทางราชการที่ปรึกษาในพระ ราชฐานชั้นในรั่วไหลออกไปภายนอก ในข้อนั้นพระราชาจะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า “ในที่นี้ นอกจากบรรพชิต ไม่มีใครอื่นเข้ามาได้ คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ ๔ ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน (๕) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ในพระราชฐานชั้นใน พระราชโอรส ปรารถนา(ที่จะปลงพระชนม์)พระราชบิดา๑- หรือพระราชบิดาปรารถนา(ที่จะปลง พระชนม์)พระราชโอรส ทั้ง ๒ พระองค์จะทรงพระดำริอย่างนี้ว่า “ในที่นี้ นอกจาก บรรพชิต ไม่มีใครอื่นเข้ามาได้ คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ ๕ ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน (๖) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระราชาทรงเลื่อนข้าราชการตำแหน่งต่ำขึ้น ตำแหน่งสูง พวกที่ไม่พอใจเรื่องนี้จะมีความคิดอย่างนี้ว่า “พระราชาทรงคลุกคลีอยู่ กับบรรพชิต คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ ๖ ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน (๗) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระราชาทรงลดตำแหน่งข้าราชการที่อยู่ใน ตำแหน่งสูงลงตำแหน่งต่ำ พวกที่ไม่พอใจเรื่องนี้จะมีความคิดอย่างนี้ว่า “พระราชา ทรงคลุกคลีอยู่กับบรรพชิต คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น โทษข้อที่ ๗ ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน (๘) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระราชารับสั่งให้ยกกองทัพไปในเวลาไม่ควร พวกที่ไม่พอใจเรื่องนี้จะมีความคิดอย่างนี้ว่า “พระราชาทรงคลุกคลีอยู่กับบรรพชิต คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ ๘ ในการเข้าไปยัง พระราชฐานชั้นใน (๙) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระราชารับสั่งให้ยกกองทัพไปในเวลาอัน ควรแล้วรับสั่งให้ยกทัพกลับเสียในระหว่างทาง พวกที่ไม่พอใจเรื่องนี้จะมีความคิด @เชิงอรรถ : @ ปรารถนาพระราชบิดา อรรถกถาอธิบายว่า ปิตรํ ปตฺเถตีติ อนฺตรํ ปสฺสิตฺวา ฆาเตตุํ อิจฺฉติ แปลว่า @ต้องการหาช่องทางปลงพระชนม์พระราชบิดา (วิ.อ. ๒/๔๙๗/๔๓๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๘๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๑. อันเตปุรสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

อย่างนี้ว่า “พระราชาทรงคลุกคลีอยู่กับบรรพชิต คงจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ ๙ ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน (๑๐) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระราชฐานชั้นในเป็นสถานที่คับคั่งด้วย ช้าง เป็นสถานที่คับคั่งด้วยม้า เป็นสถานที่คับคั่งด้วยรถ เป็นสถานที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด ไม่เหมาะแก่บรรพชิต ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษข้อที่ ๑๐ ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน ภิกษุทั้งหลาย ในการเข้าไปยังพระราชฐานชั้นใน มีโทษ ๑๐ อย่างนี้แล”
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ครั้งนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิท่านพระอานนท์โดยประการ ต่างๆ แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ความเป็นผู้บำรุงยาก ฯลฯ แล้วจึง รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๙๘] ก็ ภิกษุใดไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้า ก้าวล่วงธรณีประตูเข้าไปใน ตำหนักที่บรรทมของพระราชาผู้เป็นกษัตริย์ที่ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ที่พระราชา ยังไม่เสด็จออก ที่นางรัตนะยังไม่เสด็จออก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๙๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๙๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๑. อันเตปุรสิกขาบท บทภาชนีย์

ที่ชื่อว่า กษัตริย์ คือ ได้แก่ กษัตริย์ผู้ประสูติมาดีทั้งฝ่ายพระมารดาและพระ บิดา ทรงถือกำเนิดบริสุทธิ์ตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครตำหนิชาติกำเนิดได้ ที่ชื่อว่า ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว คือ ผู้ได้รับอภิเษกโดยการอภิเษกเป็นกษัตริย์ คำว่า ที่พระราชายังไม่ได้เสด็จออก คือ พระราชายังไม่เสด็จออกจาก ตำหนักที่บรรทม คำว่า ที่นางรัตนะยังไม่เสด็จออก คือ พระมเหสียังไม่เสด็จออกจากตำหนัก ที่บรรทม หรือทั้ง ๒ พระองค์ยังไม่เสด็จออก คำว่า ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้า คือ ไม่ได้เรียกมาล่วงหน้า ที่ชื่อว่า ธรณีประตู พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงธรณีประตูตำหนักที่บรรทม ที่ชื่อว่า ตำหนักที่บรรทม ได้แก่ ที่บรรทมของพระราชาซึ่งเจ้าพนักงานจัดไว้ ในที่ใดที่หนึ่ง โดยที่สุดแม้วงด้วยพระวิสูตร คำว่า ก้าวล่วงธรณีประตูเข้าไป คือ ภิกษุยกเท้าแรกก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไป ต้องอาบัติทุกกฏ ยกเท้าที่ ๒ ก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๕๐๐] ยังไม่ได้รับแจ้ง ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้รับแจ้ง ก้าวล่วงธรณีประตูเข้าไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ยังไม่ได้รับแจ้ง ภิกษุไม่แน่ใจ ก้าวล่วงธรณีประตูเข้าไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ยังไม่ได้รับแจ้ง ภิกษุสำคัญว่าได้รับแจ้งแล้ว ก้าวล่วงธรณีประตูเข้าไป ต้อง อาบัติปาจิตตีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๙๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๑. อันเตปุรสิกขาบท อนาปัตติวาร

ทุกกฏ
ได้รับแจ้งแล้ว ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้รับแจ้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ได้รับแจ้งแล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ ได้รับแจ้งแล้ว ภิกษุสำคัญว่าได้รับแจ้งแล้ว ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๕๐๑] ๑. ภิกษุผู้ได้รับแจ้งแล้ว ๒. ภิกษุเข้าไปในที่ที่ผู้อยู่ไม่ได้เป็นกษัตริย์ ๓. ภิกษุเข้าไปในที่ที่ผู้อยู่ยังไม่ได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์ ๔. ภิกษุเข้าไปในที่ที่พระราชาเสด็จออกจากตำหนักที่บรรทม ๕. ภิกษุเข้าไปในที่ที่พระมเหสีเสด็จออกจากตำหนักที่บรรทม ๖. ภิกษุเข้าไปในที่ที่ทั้ง ๒ พระองค์เสด็จออกจากตำหนักที่บรรทม ๗. ภิกษุเข้าไปในที่ที่ไม่ใช่ตำหนักที่บรรทม ๘. ภิกษุวิกลจริต ๙. ภิกษุต้นบัญญัติ
อันเตปุรสิกขาบทที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๙๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๘๕-๕๙๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=119              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=14047&Z=14201                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=731              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=731&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10132              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=731&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10132                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc83/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc83/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :