ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
๗. เวฬุทวาเรยยสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์และคหบดีชาวเวฬุทวารคาม
[๑๐๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ ใหญ่ เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ของชาวโกศลชื่อเวฬุทวาระ พวกพราหมณ์และ @เชิงอรรถ : @ ไม่แบ่งแยกกับท่านผู้มีศีล หมายถึงไม่แบ่งแยกว่าจะถวายภิกษุส่วนหนึ่ง จะใช้สอยเองส่วนหนึ่ง @แต่จักใช้เป็นของสาธารณะกับภิกษุหรือผู้มีศีล (สํ.สฬา.อ. ๓/๓๕๒/๑๖๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๐๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

๑. เวฬุทวารวรรค ๗. เวฬุทวาเรยยสูตร

คหบดีชาวเวฬุทวารคามได้ฟังข่าวว่า “พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวช จากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จ ถึงเวฬุทวารคามโดยลำดับ ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์ เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก ผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระ พุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เอง แล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความ งามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด และทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ และพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้เป็น ความดีอย่างแท้จริง” ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวเวฬุทวารคามเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระ ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางพวกก็ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก ก็สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็ประกาศ ชื่อและโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นิ่งเฉยแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พากันกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความปรารถนา มีความพอใจ มีความประสงค์อย่างนี้ๆ ว่า ‘ขอเราทั้งหลายพึงอยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร พึงใช้สอยผงแก่นจันทน์ จากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ พึงยินดีทองและเงิน หลังจากตายแล้วพึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ทั้งหลายพึงอยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร ฯลฯ พึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยวิธีใด ขอท่านพระ โคดมโปรดแสดงธรรมด้วยวิธีนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้มีความปรารถนา มีความ พอใจ มีความประสงค์อย่างนั้นๆ เถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๐๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

๑. เวฬุทวารวรรค ๗. เวฬุทวาเรยยสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย เราจักแสดงธรรม บรรยายที่ควรน้อมเข้ามาในตนแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” พราหมณ์และคหบดีชาวเวฬุทวารคามเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัส แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ธรรมบรรยายที่ควรน้อมเข้ามาในตน เป็นอย่างไร คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ๑. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ข้อที่บุคคลพึงปลงชีวิตเราผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยาก ตาย รักสุขเกลียดทุกข์นั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา อนึ่ง ข้อที่เราพึงปลงชีวิตผู้อื่น ผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุขเกลียดทุกข์นั้น ก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก ไม่ เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา เราจะนำสิ่งนั้นไปผูกมัดกับผู้อื่นได้อย่างไร’ อริยสาวกนั้นพิจารณา อย่างนี้แล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เองด้วย ชักชวนผู้อื่น ให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วย กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการ ฆ่าสัตว์ด้วย กายสมาจารนี้ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ส่วนดังที่กล่าวมานี้ ๒. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงถือเอาสิ่งของของเราที่เราไม่ ให้ด้วยอาการขโมยนั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา อนึ่ง ข้อที่เราพึงถือเอาสิ่งของของผู้อื่นที่เขาไม่ให้ด้วยอาการขโมยนั้น ก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่ เป็นที่พอใจของเรา สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของ ผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา เราจะนำสิ่งนั้น ไปผูกมัดกับผู้อื่นได้อย่างไร’ อริยสาวกนั้นพิจารณาอย่างนี้ แล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์เองด้วย ชักชวนผู้อื่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๐๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

๑. เวฬุทวารวรรค ๗. เวฬุทวาเรยยสูตร

ให้งดเว้นจากการลักทรัพย์ด้วย กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจาก การลักทรัพย์ด้วย กายสมาจารนี้ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์ ทั้ง ๓ ส่วนดังที่กล่าวมานี้ ๓. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงประพฤติล่วงภรรยาของเรา ข้อนั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา อนึ่ง ข้อที่เราพึง ประพฤติล่วงภรรยาของผู้อื่นนั้น ก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ แม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา สิ่งนั้น ก็ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่ เป็นที่พอใจของเรา เราจะนำสิ่งนั้นไปผูกมัดกับผู้อื่นได้อย่างไร’ อริยสาวกนั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการ ประพฤติผิดในกามเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการ ประพฤติผิดในกามด้วย กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการ ประพฤติผิดในกามด้วย กายสมาจารนี้ของอริยสาวกนั้นย่อม บริสุทธิ์ทั้ง ๓ ส่วนดังที่กล่าวมานี้ ๔. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงทำลายประโยชน์ของเรา ด้วยการพูดเท็จนั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา อนึ่ง ข้อที่เราพึงทำลายประโยชน์ของผู้อื่นด้วยการพูดเท็จ ข้อนั้นก็ไม่ เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็น ที่พอใจของเรา สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา เราจะนำสิ่งนั้นไปผูก มัดกับผู้อื่นได้อย่างไร’ อริยสาวกนั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว เป็น ผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจาก การพูดเท็จด้วย กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการพูดเท็จด้วย วจีสมาจารนี้ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ส่วนดังที่กล่าวมานี้ ๕. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงยุยงเราให้แตกจากมิตรด้วย การพูดส่อเสียดนั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา อนึ่ง ข้อที่เราพึงยุยงผู้อื่นให้แตกจากมิตรด้วยการพูดส่อเสียด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๐๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

๑. เวฬุทวารวรรค ๗. เวฬุทวาเรยยสูตร

ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น ฯลฯ วจีสมาจาร นี้ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ส่วนดังที่กล่าวมานี้ ๖. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงพูดกับเราด้วยคำหยาบนั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา อนึ่ง ข้อที่เราพึงพูดกับผู้อื่น ด้วยคำหยาบนั้น ก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ฯลฯ วจีสมาจารนี้ ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ส่วนดังที่กล่าวมานี้ ๗. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงพูดกับเราด้วยการพูด เพ้อเจ้อ ไร้ประโยชน์นั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา อนึ่ง ข้อที่เราพึงพูดกับผู้อื่นด้วยการพูดเพ้อเจ้อ ไร้ประโยชน์นั้น ก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รักไม่ เป็นที่พอใจของเรา สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา เราจะนำสิ่งนั้นไปผูกมัด กับผู้อื่นได้อย่างไร’ อริยสาวกนั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว เป็นผู้ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจาก การพูดเพ้อเจ้อด้วย กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการพูดเพ้อ เจ้อด้วย วจีสมาจารนี้ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ส่วนดังที่กล่าวมานี้ อริยสาวกนั้น ๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ ๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์ สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญอัน ยอดเยี่ยมของโลก’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๕๐๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]

๑. เวฬุทวารวรรค ๘. ปฐมคิญชกาวสถสูตร

๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย เมื่อใด อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้ ด้วยฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความหวัง ๔ ประการนี้ เมื่อนั้น อริยสาวก นั้นเมื่อหวัง พึงพยากรณ์ตนเองว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์และคหบดีชาวเวฬุทวารคาม ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระ โคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ข้าพระองค์ทั้งหลายขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เวฬุทวาเรยยสูตรที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๕๐๐-๕๐๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=19&siri=325              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=8441&Z=8540                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1454              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=19&item=1454&items=15              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=7870              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=19&item=1454&items=15              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=7870                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/sn55.7/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :