ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
๔. โมคคัลลานสูตร
ว่าด้วยพระโมคคัลลานะแสดงฤทธิ์
[๘๒๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตา ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากอยู่ภายใต้ปราสาทของ นางวิสาขามิคารมาตา เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๓๙๗}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๗. อิทธิปาทสังยุต]

๒. ปาสาทกัมปนวรรค ๔. โมคคัลลานสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานะมาตรัสว่า “โมคคัลลานะ เพื่อนพรหมจารีเหล่านี้อยู่ภายใต้ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตา เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ ไปเถิดโมคคัลลานะ เธอจงทำ ภิกษุเหล่านั้นให้สังเวช” ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว แสดงอิทธาภิสังขารให้ ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตาสะเทือนสะท้านหวั่นไหวด้วยนิ้วหัวแม่เท้า ทีนั้น ภิกษุเหล่านั้นตกใจ ขนพองสยองเกล้า ได้ไปยืนอยู่ ณ ที่สมควร พูดกันว่า “ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ลมก็ไม่พัด ทั้งปราสาทของนาง วิสาขามิคารมาตานี้ มีฐานลึก ฝังไว้แน่น ไม่หวั่นไหว ไม่โยกคลอน ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ คงมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้ปราสาทนี้สะเทือนสะท้านหวั่นไหว” ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเกิดความสลดใจ ขนพองสยองเกล้า ได้ไปยืนอยู่ ณ ที่สมควร เพราะ เหตุไร” ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย ปรากฏ ลมก็ไม่พัด ทั้งปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตานี้ มีฐานลึก ฝังไว้แน่น ไม่หวั่นไหว ไม่โยกคลอน ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ คงมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้ปราสาท นี้สะเทือนสะท้านหวั่นไหวเป็นแน่” “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุโมคคัลลานะ ประสงค์จะให้เธอทั้งหลายสังเวช จึงทำ ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตาให้สะเทือนสะท้านหวั่นไหวด้วยนิ้วหัวแม่เท้า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ภิกษุโมคคัลลานะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะธรรมเหล่าไหนที่ภิกษุโมคคัลลานะเจริญ ทำให้มาก แล้ว” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็น หลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่จะทรงอธิบายเนื้อความแห่งพระ ภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อจากพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๓๙๘}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๗. อิทธิปาทสังยุต]

๒. ปาสาทกัมปนวรรค ๔. โมคคัลลานสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง ภิกษุโมคคัลลานะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะอิทธิบาท ๔ ประการที่ภิกษุโมคคัลลานะเจริญ ทำ ให้มากแล้ว อิทธิบาท ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุโมคคัลลานะ ๑. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขารดังนี้ว่า ฉันทะของเราจักไม่ย่อหย่อน ฯลฯ ๒. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร ฯลฯ ๓. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร ฯลฯ ๔. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขารดังนี้ว่า วิมังสาของเราจักไม่ย่อหย่อนนัก ไม่ต้องประคับประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ซ่านไปในภายนอก และมีความหมายรู้ว่า เบื้องหน้าและเบื้องหลังอยู่ คือ มีความหมายรู้ว่า เบื้องหลัง เหมือนเบื้องหน้า เบื้องหน้าเหมือนเบื้องหลัง เบื้องบนเหมือน เบื้องล่าง เบื้องล่างเหมือนเบื้องบน กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน มีใจสงัด ไม่มีเครื่องร้อยรัด อบรม จิตให้สว่างอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุโมคคัลลานะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะ อิทธิบาท ๔ ประการนี้ที่ภิกษุโมคคัลลานะเจริญ ทำให้มากแล้ว อนึ่ง ภิกษุ โมคคัลลานะแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง เพราะอิทธิบาท ๔ ประการนี้ที่ภิกษุ โมคคัลลานะเจริญ ทำให้มากแล้ว ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลก อนึ่ง ภิกษุโมคคัลลานะย่อมทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะ สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
โมคคัลลานสูตรที่ ๔ จบ
(อนึ่ง อภิญญาทั้งหลายพึงให้พิสดารอย่างนี้) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๓๙๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๓๙๗-๓๙๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=19&siri=268              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=6750&Z=6795                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1154              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=19&item=1154&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=7314              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=19&item=1154&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=7314                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/sn51.14/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :