ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
๑๐. ฉัปปาณโกปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยสัตว์ ๖ ชนิด
[๒๔๗] “ภิกษุทั้งหลาย บุรุษมีร่างกายเต็มไปด้วยแผลพุพอง เข้าไปสู่ป่าหญ้าคา แม้ถ้าหน่อหญ้าคาตำเท้าของเขา ใบหญ้าคาบาดร่างกายที่พุพอง เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษนั้นพึงเสวยทุกข์โทมนัสเหลือประมาณเพราะเหตุนั้นแม้ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะไปสู่บ้านหรือจะไปสู่ป่าก็ตาม จะมีผู้ทักท้วงว่า “ท่านรูปนี้ทำอย่างนี้ มีความประพฤติอย่างนี้ เป็นผู้ไม่สะอาด เป็นดุจหนามคอยทิ่มแทงชาวบ้าน” เธอทั้งหลายรู้ว่า “ภิกษุนั้นเป็นดุจหนาม” แล้วพึงทราบความสำรวมและ ความไม่สำรวมต่อไป
ความไม่สำรวม
ความไม่สำรวม เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ย่อมยินดีในรูปที่น่ารัก ย่อมยินร้าย ในรูปที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ มีปริตตจิตอยู่ และไม่รู้ชัดเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็น บาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๒๖๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๔. จตุตถปัณณาสก์ ๔. อาสีวิสวรรค ๑๐. ฉัปปาณโกปมสูตร

ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะ ทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ย่อมยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อม ยินร้ายในธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ มีปริตตจิตอยู่ และไม่ รู้ชัดเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่ง ธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ภิกษุทั้งหลาย บุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิดซึ่งมีที่อยู่ต่างกัน มีที่หากินต่างกัน แล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว คือ จับงูแล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว จับจระเข้แล้วผูกด้วย เชือกที่เหนียว จับนกแล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว จับสุนัขแล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว จับสุนัขจิ้งจอกแล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว จับลิงแล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว ขมวด เป็นปมไว้ตรงกลางแล้วจึงปล่อยไป ลำดับนั้น สัตว์ทั้ง ๖ ชนิดซึ่งมีที่อยู่ต่างกัน มีที่หากินต่างกันเหล่านั้นพึงดึง ไปสู่ที่หากินและที่อยู่ของตนๆ คือ งูดึงไปด้วยต้องการว่า “จักเข้าไปสู่จอมปลวก” จระเข้ดึงไปด้วยต้องการว่า “จักลงน้ำ” นกดึงไปด้วยต้องการว่า “จักบินขึ้นสู่อากาศ” สุนัขดึงไปด้วยต้องการว่า “จักเข้าบ้าน” สุนัขจิ้งจอกดึงไปด้วยต้องการว่า “จักเข้าป่าช้า” ลิงดึงไปด้วยต้องการว่า “จักเข้าป่า” เมื่อใดสัตว์ทั้ง ๖ ชนิดนั้นต่างก็จะไปตามใจของตน พึงลำบาก เมื่อนั้นสัตว์ เหล่านั้นก็พึงตกอยู่ในอำนาจ ไปตามสัตว์ที่มีกำลังกว่า แม้ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้น เหมือนกัน กายคตาสติที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่เจริญ ไม่ทำให้มากแล้ว ตาย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในรูปที่น่าพอใจ รูปที่ไม่น่าพอใจเป็นของน่าเกลียด ฯลฯ ลิ้นย่อมฉุด ฯลฯ ใจย่อมฉุดภิกษุไปในธรรมารมณ์ที่น่าพอใจ ธรรมารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเป็นของ น่าเกลียด ภิกษุทั้งหลาย ความไม่สำรวมเป็นอย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๒๖๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๔. จตุตถปัณณาสก์ ๔. อาสีวิสวรรค ๑๐. ฉัปปาณโกปมสูตร

ความสำรวม
ภิกษุทั้งหลาย ความสำรวม เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่ยินดีในรูปที่น่ารัก ไม่ยินร้าย ในรูปที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งมั่นกายคตาสติ มีอัปปมาณจิตอยู่ และรู้ชัดเจโตวิมุตติและ ปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศล เหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ไม่ยินร้ายใน ธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งมั่นกายคตาสติ มีอัปปมาณจิตอยู่ และรู้ชัด เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรม ที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ภิกษุทั้งหลาย บุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิดซึ่งมีที่อยู่ต่างกัน มีที่หากินต่างกัน แล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว คือ จับงูแล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว จับจระเข้แล้วผูกด้วย เชือกที่เหนียว จับนกแล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว จับสุนัขแล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว จับสุนัขจิ้งจอกแล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว จับลิงแล้วผูกด้วยเชือกที่เหนียว แล้วผูก ติดไว้ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง ลำดับนั้น สัตว์ทั้ง ๖ ชนิดซึ่งมีที่อยู่ต่างกัน มีที่หากินต่างกันเหล่านั้นพึงดึง ไปสู่ที่หากินและที่อยู่ของตนๆ คือ งูดึงไปด้วยต้องการว่า “จักเข้าจอมปลวก” จระเข้ดึงไปด้วยต้องการว่า “จักลงน้ำ” นกดึงไปด้วยต้องการว่า “จักบินขึ้นสู่อากาศ” สุนัขดึงไปด้วยต้องการว่า “จักเข้าบ้าน” สุนัขจิ้งจอกดึงไปด้วยต้องการว่า “จักเข้าป่าช้า” ลิงดึงไปด้วยต้องการว่า “จักเข้าป่า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๒๖๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๔. จตุตถปัณณาสก์ ๔. อาสีวิสวรรค ๑๑. ยวกลาปิสูตร

เมื่อใดสัตว์ทั้ง ๖ ชนิดนั้นต่างก็จะไปตามใจของตน พึงลำบาก เมื่อนั้นสัตว์ เหล่านั้นพึงยืนพิง นั่งพิง นอนพิงหลักหรือเสานั้น แม้ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน กายคตาสติที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ตาย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้นไปในรูปที่น่าพอใจ รูปที่ไม่น่าพอใจย่อมไม่น่าเกลียด ฯลฯ ลิ้นย่อมไม่ฉุด ฯลฯ ใจย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้นไปในธรรมารมณ์ที่น่าพอใจ ธรรมารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ย่อมไม่น่าเกลียด ภิกษุทั้งหลาย ความสำรวมเป็นอย่างนี้แล คำว่า หลักหรือเสาอันมั่นคง นี้เป็นชื่อของกายคตาสติ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “กายคตาสติเราทั้งหลาย จักเจริญ ทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ตั้งไว้เนืองๆ สั่งสมแล้ว ปรารภเสมอดีแล้ว” ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
ฉัปปาณโกปมสูตรที่ ๑๐ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๖๒-๒๖๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=18&siri=193              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=5327&Z=5391                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=346              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=18&item=346&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=2836              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=18&item=346&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=2836                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i309-e.php#sutta10 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn35/sn35.206.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn35/sn35.206x.wlsh.html https://suttacentral.net/sn35.247/en/sujato https://suttacentral.net/sn35.247/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :