ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]

๑. ปฐมวรรค ๑. พรหมายาจนสูตร

๖. พรหมสังยุต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. พรหมายาจนสูตร
ว่าด้วยท้าวมหาพรหมอาราธนาพระพุทธเจ้าแสดงธรรม
[๑๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ประทับอยู่ที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่ง แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความรำพึงอย่างนี้ว่า “ธรรม๑- ที่เราได้บรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยากรู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ สำหรับหมู่ประชาผู้ รื่นรมย์ด้วยอาลัย๒- ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะ พึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่ไม่เคยทรงสดับมาก่อน ได้ปรากฏแจ่มแจ้ง แก่พระผู้มีพระภาคว่า บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรม ที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก @เชิงอรรถ : @ ธรรม ในที่นี้หมายถึงธรรมคือสัจจะ ๔ (คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) (สํ.ส.อ. ๑/๑๗๒/๑๘๕) @ อาลัย ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) (สํ.ส.อ. ๑/๑๗๒/๑๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๒๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]

๑. ปฐมวรรค ๑. พรหมายาจนสูตร

เพราะธรรมนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะ และโทสะครอบงำ จะรู้ได้ง่าย แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส๑- ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาเห็นดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อการขวนขวายน้อย มิได้น้อมไปเพื่อแสดงธรรม ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความรำพึงของพระผู้มีพระภาคด้วยใจแล้ว ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะพินาศหนอ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อการขวนขวายน้อย มิได้น้อมพระทัยไปเพื่อแสดงธรรม” จึงหายตัวจากพรหมโลก มาปรากฏอยู่ ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น แล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือ ไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตได้โปรดแสดงธรรม เพราะสัตว์ ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีในตาน้อยมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้สดับธรรม เพราะจักมีผู้รู้ธรรม” ท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาอื่นอีกว่า ในกาลก่อนธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ อันคนผู้มีมลทินคิดค้นไว้ ปรากฏในแคว้นมคธ @เชิงอรรถ : @ พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึงพาเข้าถึงนิพพาน (วิ.อ. ๓/๗/๑๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๓๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]

๑. ปฐมวรรค ๑. พรหมายาจนสูตร

พระองค์โปรดทรงเปิดประตูอมตะนั้นเถิด ขอเหล่าสัตว์จงฟังธรรมที่พระสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากมลทิน ได้ตรัสรู้แล้วตามลำดับ ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีพระสมันตจักษุ บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดเขาศิลาล้วน พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ ฉันใด พระองค์ผู้หมดความเศร้าโศกแล้ว ก็ฉันนั้น เสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรมแล้ว จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก และถูกชาติ ชราครอบงำได้ชัดเจน ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ผู้ชนะสงคราม ผู้นำหมู่ ผู้ไม่มีหนี้ ขอพระองค์โปรดลุกขึ้นเสด็จจาริกไปในโลก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดจงทรงแสดงธรรม เพราะจักมีผู้รู้ธรรม ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบคำทูลอาราธนาของพรหม และเพราะ ความมีพระมหากรุณาในหมู่สัตว์ ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ๑- เมื่อพระผู้มี พระภาคทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีในตา น้อย มีกิเลสดุจธุลีในตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการ ทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวก็มี @เชิงอรรถ : @ คำว่า พุทธจักษุ เป็นชื่อของอินทริยปโรปริยัตตญาณและอาสยานุสยญาณ คำว่า สมันตจักษุ เป็นชื่อ @ของพระสัพพัญญุตญาณ คำว่า ธัมมจักษุ เป็นชื่อของมรรคญาณทั้ง ๓ (สํ.ส.อ. ๑/๑๗๒/๑๘๙-๑๙๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๓๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๖. พรหมสังยุต]

๑. ปฐมวรรค ๑. พรหมายาจนสูตร

มีอุปมาเหมือนในกออุบล ในกอปทุม ในกอปุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกปุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ มีน้ำเลี้ยงอยู่ ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกปุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกปุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ ไม่แตะน้ำ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจ ธุลีในตาน้อย มีกิเลสดุจธุลีในตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่า เป็นสิ่งที่น่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวก็มี ฉันนั้น ครั้นทรงเห็นแล้ว ได้ตรัสตอบท้าวสหัมบดีพรหมด้วยพระคาถาว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธาเถิด เราได้เปิดประตูอมตะแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว ท่านพรหม เพราะเราสำคัญว่าจะลำบาก จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีตคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์ ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมคิดว่า “พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอกาส แก่เรา เพื่อจะทรงแสดงธรรมแล้ว” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ ประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นแล๑-
พรหมายาจนสูตรที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดู วิ.ม. (แปล) ๔/๗-๙/๑๑-๑๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๓๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๒๙-๒๓๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=15&siri=172              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=4405&Z=4482                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=555              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=555&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=4800              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=555&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=4800                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i555-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn06/sn06.001.than.html https://suttacentral.net/sn6.1/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :