ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
๓. เสรีสูตร
ว่าด้วยเสรีเทพบุตร
[๑๐๔] เสรีเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระ ภาคด้วยคาถาว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ต่างก็พอใจข้าวด้วยกันทั้งนั้น ส่วนผู้ที่ไม่พอใจข้าว ชื่อว่ายักษ์โดยแท้๑- @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบคาถาข้อ ๔๓ หน้า ๕๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๑๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]

๓. นานติตถิยวรรค ๓. เสรีสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนเหล่าใดมีใจเลื่อมใสให้ข้าวนั้นด้วยศรัทธา ข้าวนั้นเองย่อมค้ำชูชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงกำจัดความตระหนี่ ครอบงำมลทินแล้วให้ทานเถิด เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า เสรีเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า ชนเหล่าใดมีใจเลื่อมใส ให้ข้าวนั้นด้วยศรัทธา ข้าวนั้นเองย่อมค้ำชูชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงกำจัดความตระหนี่ ครอบงำมลทินแล้วให้ทานเถิด เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีนามว่าเสรี เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมคุณแห่งทาน ข้าพระองค์ได้ ให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจกทั้งหลาย ที่ประตูทั้ง ๔ ด้าน ครั้นต่อมาพวกฝ่ายในพากันเข้าไปหาข้าพระองค์แล้ว ได้กล่าว ดังนี้ว่า ‘พระองค์ทรงให้ทาน แต่พวกหม่อมฉันไม่ได้ให้ทานเลย เป็นการชอบที่พวก หม่อมฉันจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานและทำบุญบ้าง’ ข้าพระองค์ ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราเองเป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมคุณแห่งทาน เมื่อมีผู้พูดว่า ‘พวกหม่อมฉันจะให้ทาน’ เราจะว่าอะไรได้’ ข้าพระองค์จึงมอบ ประตูด้านที่ ๑ ให้พวกฝ่ายในไป พวกฝ่ายในก็พากันให้ทานที่ประตูนั้น ทานของ ข้าพระองค์จึงลดไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมาพวกกษัตริย์พากันเข้าไปหาข้าพระองค์ได้ ตรัสดังนี้ว่า ‘พระองค์ทรงให้ทาน พวกฝ่ายในก็ให้ทาน พวกหม่อมฉันไม่ได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกหม่อมฉันจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานและทำบุญ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๑๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]

๓. นานติตถิยวรรค ๓. เสรีสูตร

บ้าง’ ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชม คุณแห่งทาน เมื่อมีผู้พูดว่า ‘พวกหม่อมฉันจะให้ทาน’ เราจะว่าอะไรได้’ ข้าพระองค์ จึงมอบประตูด้านที่ ๒ ให้แก่พวกกษัตริย์ไป พวกกษัตริย์ก็พากันให้ทานที่ประตูนั้น ทานของข้าพระองค์จึงลดไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมาพวกพลกาย(ข้าราชการฝ่ายทหาร) เข้าไป หาข้าพระองค์ได้กล่าวดังนี้ว่า ‘พระองค์ก็ทรงให้ทาน พวกฝ่ายในก็ให้ทาน พวก กษัตริย์ก็ทรงให้ทาน พวกหม่อมฉันมิได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกหม่อมฉันจะได้ อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานและทำบุญบ้าง’ ข้าพระองค์ได้มีความคิด ดังนี้ว่า ‘เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมคุณแห่งทาน เมื่อมีผู้พูดว่า ‘พวกหม่อมฉันจะให้ทาน’ เราจะว่าอะไรได้’ ข้าพระองค์จึงมอบประตูด้านที่ ๓ ให้พวก พลกายไป พวกพลกายก็พากันให้ทานที่ประตูนั้น ทานของข้าพระองค์จึงลดไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมามีพวกพราหมณคหบดีเข้าไปหาข้าพระองค์ ได้กล่าวดังนี้ว่า ‘พระองค์ก็ทรงให้ทาน พวกฝ่ายในก็ให้ทาน พวกกษัตริย์ก็ทรง ให้ทาน พวกพลกายก็ให้ทาน แต่พวกหม่อมฉันมิได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวก หม่อมฉันจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานและทำบุญบ้าง’ ข้าพระองค์ ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมคุณแห่งทาน’ เมื่อมีผู้พูดว่า ‘พวกหม่อมฉันจะให้ทาน’ เราจะว่าอะไรได้’ ข้าพระองค์จึงมอบประตู ด้านที่ ๔ ให้พวกพราหมณคหบดีไป พวกพราหมณคหบดีก็พากันให้ทานที่ประตูนั้น ทานของข้าพระองค์จึงลดไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกบุรุษทั้งหลายต่างพากันไปหาข้าพระองค์ ได้กล่าว ดังนี้ว่า ‘บัดนี้พระองค์จะไม่ทรงให้ทานในที่ไหนๆ อีกหรือ’ เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้กล่าวกับบุรุษเหล่านั้นดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ในชนบท ภายนอก ที่ใดมีรายได้ดีเกิดขึ้น พวกท่านจงรวบรวมส่งเข้าไปในวังกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่ง พวกท่านจงให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพก และยาจก ทั้งหลายในชนบทนั้นเถิด’ ข้าพระองค์จึงยังไม่ถึงที่สุดแห่งบุญที่ได้ทำไว้ตลอดกาลนาน อย่างนี้ (ที่สุด)แห่งกุศลธรรมที่ได้ทำไว้ตลอดกาลนานอย่างนี้ว่า ‘บุญเท่านี้(พอแล้ว)’ ว่า ‘ผลของบุญเท่านี้(พอแล้ว)’ หรือว่า ‘บุญเท่านี้(พอแล้ว)ที่เราพึงดำรงอยู่ในสวรรค์’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๑๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]

๓. นานติตถิยวรรค ๔. ฆฏิการสูตร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส เรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า ชนเหล่าใดมีใจเลื่อมใส ให้ข้าวนั้นด้วยศรัทธา ข้าวนั้นเองย่อมค้ำชูชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงกำจัดความตระหนี่ ครอบงำมลทินแล้วให้ทานเถิด เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า”
เสรีสูตรที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๑๑-๑๑๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=15&siri=104              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=1837&Z=1903                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=282              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=282&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=2847              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=282&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=2847                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i278-e.php#sutta3 https://suttacentral.net/sn2.23/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :