ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๖. ฉฉักกสูตร
ว่าด้วยธรรม ๖ ประการ ๖ หมวด
[๔๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า @เชิงอรรถ : @ ธรรมจักษุ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๔ และผล ๔ (ม.อุ.อ. ๓/๔๑๙/๒๕๐, สํ.สฬา.อ. ๓/๑๒๑/๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๗๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๖. ฉฉักกสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรม มีความงามในเบื้องต้น๑- มีความงามใน ท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์๒- พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน คือธรรม ๖ ประการ ๖ หมวด เธอทั้งหลายจงฟัง ธรรม ๖ ประการ ๖ หมวดนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “เธอทั้งหลายพึงทราบอายตนะภายใน ๖ พึงทราบอายตนะภายนอก ๖ พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖ พึงทราบหมวดผัสสะ ๖ พึงทราบหมวดเวทนา ๖ พึงทราบหมวดตัณหา๓-
อายตนะ ๑๒ ประการ
[๔๒๑] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบอายตนะภายใน ๖’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ ๑. จักขวายตนะ ๒. โสตายตนะ ๓. ฆานายตนะ ๔. ชิวหายตนะ ๕. กายายตนะ ๖. มนายตนะ คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบอายตนะภายใน ๖’ นั่น เพราะ อาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น นี้เป็นหมวดธรรม ๖ หมวดที่ ๑ (๑) @เชิงอรรถ : @ ธรรมมีความงามในเบื้องต้นหมายถึงศีล ธรรมมีความงามในท่ามกลางหมายถึงอริยมรรค และธรรมมี @ความงามในที่สุดหมายถึงนิพพาน (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙) @ พรหมจรรย์ หมายถึงความประพฤติประเสริฐมีนัย ๑๐ ประการ คือ ทาน(การให้) เวยยาวัจจะ(การ @ขวนขวายช่วยเหลือ) ปัญจสีละ(ศีลห้า) อัปปมัญญา(การประพฤติพรหมวิหารอย่างไม่มีขอบเขต) เมถุน @วิรัติ(การงดเว้นจากการเสพเมถุน) สทารสันโดษ(ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน) วิริยะ(ความเพียร) @อุโปสถังคะ(องค์อุโบสถ) อริยมรรค(ทางอันประเสริฐ) และศาสนา(พระพุทธศาสนา) ในที่นี้หมายถึงศาสนา @(ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๖๐-๑๖๒) @ ตัณหา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดขึ้นในขณะแห่งชวนจิตที่มีวิบากเวทนาเป็นปัจจัย (ม.อุ.อ. ๓/๔๒๐/๒๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๗๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๖. ฉฉักกสูตร

เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบอายตนะภายนอก ๖’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ ๑. รูปายตนะ ๒. สัททายตนะ ๓. คันธายตนะ ๔. รสายตนะ ๕. โผฏฐัพพายตนะ ๖. ธัมมายตนะ๑- คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบอายตนะภายนอก ๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น นี้เป็นหมวดธรรม ๖ หมวดที่ ๒ (๒) เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เรา จึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ ๑. เพราะอาศัยจักขุและรูป จักขุวิญญาณจึงเกิด ๒. เพราะอาศัยโสตะและเสียง โสตวิญญาณจึงเกิด ๓. เพราะอาศัยฆานะและกลิ่น ฆานวิญญาณจึงเกิด ๔. เพราะอาศัยชิวหาและรส ชิวหาวิญญาณจึงเกิด ๕. เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ กายวิญญาณจึงเกิด ๖. เพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ มโนวิญญาณจึงเกิด คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น นี้เป็นหมวดธรรม ๖ หมวดที่ ๓ (๓) เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดผัสสะ ๖’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง กล่าวไว้เช่นนั้น คือ ๑. เพราะอาศัยจักขุและรูป จักขุวิญญาณจึงเกิด ความประจวบแห่ง ธรรม ๓ เป็นผัสสะ๒- @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบข้อ ๓๐๕ (สฬายตนวิภังคสูตร) หน้า ๓๖๙ ในเล่มนี้ @ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๖๐/๔๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๗๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๖. ฉฉักกสูตร

๒. เพราะอาศัยโสตะและเสียง โสตวิญญาณจึงเกิด ความประจวบ แห่งธรรม ๓ เป็นผัสสะ ๓. เพราะอาศัยฆานะและกลิ่น ฆานวิญญาณจึงเกิด ความประจวบ แห่งธรรม ๓ เป็นผัสสะ ๔. เพราะอาศัยชิวหาและรส ชิวหาวิญญาณจึงเกิด ความประจวบ แห่งธรรม ๓ เป็นผัสสะ ๕. เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ กายวิญญาณจึงเกิด ความ ประจวบแห่งธรรม ๓ เป็นผัสสะ ๖. เพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ มโนวิญญาณจึงเกิด ความ ประจวบแห่งธรรม ๓ เป็นผัสสะ คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดผัสสะ ๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เรา จึงกล่าวไว้เช่นนั้น นี้เป็นหมวดธรรม ๖ หมวดที่ ๔ (๔) เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดเวทนา ๖’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง กล่าวไว้เช่นนั้น คือ ๑. เพราะอาศัยจักขุและรูป จักขุวิญญาณจึงเกิด ความประจวบแห่ง ธรรม ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด๑- ๒. เพราะอาศัยโสตะและเสียง โสตวิญญาณจึงเกิด ... ๓. เพราะอาศัยฆานะและกลิ่น ฆานวิญญาณจึงเกิด ... ๔. เพราะอาศัยชิวหาและรส ชิวหาวิญญาณจึงเกิด ... ๕. เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ กายวิญญาณจึงเกิด ... ๖. เพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ มโนวิญญาณจึงเกิด ความ ประจวบแห่งธรรม ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงเกิด @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๖๐/๔๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๗๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๖. ฉฉักกสูตร

คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดเวทนา ๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เรา จึงกล่าวไว้เช่นนั้น นี้เป็นหมวดธรรม ๖ หมวดที่ ๕ (๕) เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดตัณหา ๖’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง กล่าวไว้เช่นนั้น คือ ๑. เพราะอาศัยจักขุและรูป จักขุวิญญาณจึงเกิด ความประจวบแห่ง ธรรม ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา๑- จึงเกิด ๒. เพราะอาศัยโสตะและเสียง โสตวิญญาณจึงเกิด ... ๓. เพราะอาศัยฆานะและกลิ่น ฆานวิญญาณจึงเกิด ... ๔. เพราะอาศัยชิวหาและรส ชิวหาวิญญาณจึงเกิด ... ๕. เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ กายวิญญาณจึงเกิด ... ๖. เพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ มโนวิญญาณจึงเกิด ความ ประจวบแห่งธรรม ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงเกิด เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิด คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดตัณหา ๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เรา จึงกล่าวไว้เช่นนั้น นี้เป็นหมวดธรรม ๖ หมวดที่ ๖ (๖) [๔๒๒] ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จักขุเป็นอัตตา’ คำของผู้นั้นไม่ถูกต้อง จักขุ ย่อมปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ก็สิ่งใดปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและ ความเสื่อมไป สิ่งนั้นต้องกล่าวได้ดังนี้ว่า ‘อัตตาของเราย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป’ เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า ‘จักขุเป็นอัตตา’ นั้นจึงไม่ถูกต้อง จักขุเป็นอนัตตา ด้วยอาการอย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ ตัณหา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดขึ้นในขณะแห่งชวนะที่มีวิบากเวทนาเป็นปัจจัย (ม.อุ.อ. ๓/๔๒๐/๒๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๗๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๖. ฉฉักกสูตร

ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘รูปเป็นอัตตา’ คำของผู้นั้นไม่ถูกต้อง รูปย่อมปรากฏทั้ง ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ก็สิ่งใดปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป สิ่งนั้นต้องกล่าวได้ดังนี้ว่า ‘อัตตาของเราย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป’ เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า ‘รูปเป็นอัตตา’ นั้นจึงไม่ถูกต้อง จักขุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา ด้วยอาการอย่างนี้ ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘จักขุวิญญาณเป็นอัตตา’ คำของผู้นั้นไม่ถูกต้อง จักขุวิญญาณ ย่อมปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ก็สิ่งใดปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและ ความเสื่อมไป สิ่งนั้นต้องกล่าวได้ดังนี้ว่า ‘อัตตาของเราย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป’ เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า ‘จักขุวิญญาณเป็นอัตตา’ นั้นจึงไม่ถูกต้อง จักขุเป็น อนัตตา รูปเป็นอนัตตา จักขุวิญญาณเป็นอนัตตา ด้วยอาการอย่างนี้ ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘จักขุสัมผัสเป็นอัตตา’ คำของผู้นั้นไม่ถูกต้อง จักขุสัมผัส ย่อมปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ก็สิ่งใดปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและ ความเสื่อมไป สิ่งนั้นต้องกล่าวได้ดังนี้ว่า ‘อัตตาของเราย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป’ เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า ‘จักขุสัมผัสเป็นอัตตา’ นั้นจึงไม่ถูกต้อง จักขุ เป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา จักขุวิญญาณเป็นอนัตตา จักขุสัมผัสเป็นอนัตตา ด้วยอาการอย่างนี้ ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘เวทนาเป็นอัตตา’ คำของผู้นั้นไม่ถูกต้อง เวทนาย่อม ปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ก็สิ่งใดปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความ เสื่อมไป สิ่งนั้นต้องกล่าวได้ดังนี้ว่า ‘อัตตาของเราย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป’ เพราะ ฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า ‘เวทนาเป็นอัตตา’ นั้นจึงไม่ถูกต้อง จักขุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา จักขุวิญญาณเป็นอนัตตา จักขุสัมผัสเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา ด้วยอาการอย่างนี้ ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘ตัณหาเป็นอัตตา’ คำของผู้นั้นไม่ถูกต้อง ตัณหาย่อม ปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ก็สิ่งใดปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความ เสื่อมไป สิ่งนั้นต้องกล่าวได้ดังนี้ว่า ‘อัตตาของเราย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป’ เพราะ ฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า ‘ตัณหาเป็นอัตตา’ นั้นจึงไม่ถูกต้อง จักขุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา จักขุวิญญาณเป็นอนัตตา จักขุสัมผัสเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา ตัณหาเป็นอนัตตา ด้วยอาการอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๘๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๖. ฉฉักกสูตร

[๔๒๓] ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘โสตะเป็นอัตตา’ ... ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘ฆานะเป็นอัตตา’ ... ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘ชิวหาเป็นอัตตา’ ... ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘กายเป็นอัตตา’ ... ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘มโนเป็นอัตตา’ คำของผู้นั้นไม่ถูกต้อง มโนย่อมปรากฏ ทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ก็สิ่งใดปรากฏทั้งความเกิดและความเสื่อมไป สิ่งนั้นต้องกล่าวได้ดังนี้ว่า ‘อัตตาของเราย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป’ เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า ‘มโนเป็นอัตตา’ นั้นจึงไม่ถูกต้อง มโนเป็นอนัตตา ด้วยอาการ อย่างนี้ ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘ธรรมารมณ์เป็นอัตตา’ คำของผู้นั้นไม่ถูกต้อง ธรรมารมณ์ ย่อมปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ก็สิ่งใดปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและ ความเสื่อมไป สิ่งนั้นต้องกล่าวได้ดังนี้ว่า ‘อัตตาของเราย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป’ เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า ‘ธรรมารมณ์เป็นอัตตา’ นั้นจึงไม่ถูกต้อง มโน เป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา ด้วยอาการอย่างนี้ ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘มโนวิญญาณเป็นอัตตา’ คำของผู้นั้นไม่ถูกต้อง มโนวิญญาณ ย่อมปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ก็สิ่งใดปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและ ความเสื่อมไป สิ่งนั้นต้องกล่าวได้ดังนี้ว่า ‘อัตตาของเราย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป’ เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า ‘มโนวิญญาณเป็นอัตตา’ นั้นจึงไม่ถูกต้อง มโนเป็น อนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา มโนวิญญาณเป็นอนัตตา ด้วยอาการอย่างนี้ ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘มโนสัมผัสเป็นอัตตา’ คำของผู้นั้นไม่ถูกต้อง มโนสัมผัส ย่อมปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ก็สิ่งใดปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและ ความเสื่อมไป สิ่งนั้นต้องกล่าวได้ดังนี้ว่า ‘อัตตาของเราย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป’ เพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า ‘มโนสัมผัสเป็นอัตตา’ นั้นจึงไม่ถูกต้อง มโนเป็น อนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา มโนวิญญาณเป็นอนัตตา มโนสัมผัสเป็นอนัตตา ด้วยอาการอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๘๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๖. ฉฉักกสูตร

ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘เวทนาเป็นอัตตา’ คำของผู้นั้นไม่ถูกต้อง เวทนาย่อม ปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ก็สิ่งใดปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความ เสื่อมไป สิ่งนั้นต้องกล่าวได้ดังนี้ว่า ‘อัตตาของเราย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป’ เพราะ ฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า ‘เวทนาเป็นอัตตา’ นั้นจึงไม่ถูกต้อง มโนเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา มโนวิญญาณเป็นอนัตตา มโนสัมผัสเป็นอนัตตา เวทนา เป็นอนัตตา ด้วยอาการอย่างนี้ ผู้ใดพึงกล่าวว่า ‘ตัณหาเป็นอัตตา’ คำของผู้นั้นไม่ถูกต้อง ตัณหาย่อม ปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ก็สิ่งใดปรากฏทั้งความเกิดขึ้นและความ เสื่อมไป สิ่งนั้นต้องกล่าวได้ดังนี้ว่า ‘อัตตาของเราย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไป’ เพราะ ฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า ‘ตัณหาเป็นอัตตา’ นั้นจึงไม่ถูกต้อง มโนเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา มโนวิญญาณเป็นอนัตตา มโนสัมผัสเป็นอนัตตา เวทนา เป็นอนัตตา ตัณหาเป็นอนัตตา ด้วยอาการอย่างนี้ [๔๒๔] ภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทานี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงสักกายสมุทัย(ความ เกิดขึ้นแห่งสักกายะ) คือ บุคคลพิจารณาเห็น๑- จักขุว่า ‘นั่นของเรา๒- เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตา ของเรา’ พิจารณาเห็นรูปว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นจักขุวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นจักขุสัมผัสว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นเวทนาว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นตัณหาว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นโสตะว่า ‘นั่นของเรา ... @เชิงอรรถ : @ พิจารณาเห็น ในที่นี้หมายถึงพิจารณาเห็นความถือมั่นด้วยอำนาจความถือมั่นทั้ง ๓ (ตัณหา มานะ @ทิฏฐิ) (ม.อุ.อ. ๓/๔๒๔/๒๕๑) @ นั่นของเรา ในที่นี้หมายถึงความถือมั่นด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิ (ม.อุ.อ. ๓/๔๒๔/๒๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๘๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๖. ฉฉักกสูตร

พิจารณาเห็นฆานะว่า ‘นั่นของเรา ... พิจารณาเห็นชิวหาว่า ‘นั่นของเรา ... พิจารณาเห็นกายว่า ‘นั่นของเรา ... พิจารณาเห็นมโนว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นธรรมารมณ์ว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นมโนวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นมโนสัมผัสว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นเวทนาว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นตัณหาว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนปฏิปทานี้เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงสักกายนิโรธ๑- (ความดับสักกายะ) คือ บุคคลพิจารณาเห็น๒- จักขุว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา๓- เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ อัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นรูปว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นจักขุวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ อัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นจักขุสัมผัสว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา ของเรา’ พิจารณาเห็นเวทนาว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นตัณหาว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ @เชิงอรรถ : @ สักกายนิโรธ หมายถึงความดับสักกายะ คือ วัฏฏะ ๓ ได้แก่ (๑) กิเลสวัฏฏะ (๒) กัมมวัฏฏะ @(๓) วิปากวัฏฏะ อันได้แก่นิพพาน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๘/๓๙๘), ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๗๘/๒๕๐ @ พิจารณาเห็น ในที่นี้หมายถึงพิจารณาเห็นว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา @(ม.อุ.อ. ๓/๔๒๔/๒๕๑) @ นั่นไม่ใช่ของเรา ในที่นี้หมายถึงปฏิเสธอำนาจตัณหาเป็นต้น (ม.อุ.อ. ๓/๔๒๔/๒๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๘๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๖. ฉฉักกสูตร

พิจารณาเห็นโสตะว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา ฯลฯ พิจารณาเห็นฆานะว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา ... พิจารณาเห็นชิวหาว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา ... พิจารณาเห็นกายว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา ... พิจารณาเห็นมโนว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นธรรมารมณ์ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา ของเรา’ พิจารณาเห็นมโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา ของเรา’ พิจารณาเห็นมโนสัมผัสว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา ของเรา’ พิจารณาเห็นเวทนาว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นตัณหาว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ [๔๒๕] ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยจักขุและรูป จักขุวิญญาณจึงเกิด ความ ประจวบแห่งธรรม ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุข ที่สัตว์เสวยจึงเกิด เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลิน เชยชม ยึดติด บุคคลนั้นมีราคานุสัย(กิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในสันดานคือราคะ) นอนเนื่องอยู่ อัน ทุกขเวทนาถูกต้องแล้วย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความ ลุ่มหลง๑- เขามีปฏิฆานุสัย(กิเลสนอนเนื่องอยู่ในสันดานคือปฏิฆะ) นอนเนื่องอยู่ อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่รู้ชัดถึงความเกิดขึ้น ความเสื่อมไป คุณ โทษ และธรรมเป็นเครื่องสลัดออกจากเวทนานั้น ตามความเป็นจริง เขามี อวิชชานุสัย(กิเลสนอนเนื่องอยู่ในสันดานคืออวิชชา) นอนเนื่องอยู่ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๕๒/๒๗๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๘๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๖. ฉฉักกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลนั้นยังละราคานุสัยเพราะสุขเวทนา ไม่ได้ ยังบรรเทาปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาไม่ได้ ยังถอนอวิชชานุสัยเพราะ อทุกขมสุขเวทนาไม่ได้ ยังละอวิชชาแล้วทำวิชชาให้เกิดไม่ได้ จักเป็นผู้กระทำที่สุด ทุกข์ได้ในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยโสตะและเสียง โสตวิญญาณจึงเกิด ... เพราะอาศัยฆานะและกลิ่น ฆานวิญญาณจึงเกิด ... เพราะอาศัยชิวหาและรส ชิวหาวิญญาณจึงเกิด ... เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ กายวิญญาณจึงเกิด ... เพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ มโนวิญญาณจึงเกิด ความประจวบแห่ง ธรรม ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขที่สัตว์ เสวยจึงเกิด เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลิน ชมเชย ยึดติด บุคคลนั้นมีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความลุ่มหลง เขามีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่รู้ชัดถึงความเกิดขึ้น ความเสื่อมไป คุณ โทษ และธรรมเป็นเครื่องสลัดออกจากเวทนานั้น ตามความเป็นจริง เขามี อวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลนั้นยังละราคานุสัยเพราะสุขเวทนา ไม่ได้ ยังบรรเทาปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาไม่ได้ ยังถอนอวิชชานุสัยเพราะ อทุกขมสุขเวทนาไม่ได้ ยังละอวิชชาแล้วทำวิชชาให้เกิดไม่ได้ จักเป็นผู้กระทำที่สุด ทุกข์ได้ในปัจจุบัน [๔๒๖] ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยจักขุและรูป จักขุวิญญาณจึงเกิด ความ ประจวบแห่งธรรม ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุข ที่สัตว์เสวยจึงเกิด เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติด บุคคลนั้นไม่มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๘๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๖. ฉฉักกสูตร

เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความลุ่มหลง๑- บุคคลนั้น ไม่มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมรู้ชัดถึงความ เกิดขึ้น ความเสื่อมไป คุณ โทษ และธรรมเป็นเครื่องสลัดออกจากเวทนานั้น ตามความเป็นจริง บุคคลนั้นไม่มีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นละราคานุสัยเพราะสุขเวทนาได้ บรรเทาปฏิฆานุสัย เพราะทุกขเวทนาได้ ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาได้ ละอวิชชาแล้วทำ วิชชา๒- ให้เกิดขึ้นได้แล้ว จักเป็นผู้กระทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยโสตะและเสียง โสตวิญญาณจึงเกิด ... เพราะอาศัยฆานะและกลิ่น ฆานวิญญาณจึงเกิด ... เพราะอาศัยชิวหาและรส ชิวหาวิญญาณจึงเกิด ... เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ กายวิญญาณจึงเกิด ... เพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ มโนวิญญาณจึงเกิด ความประจวบแห่ง ธรรม ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขที่สัตว์ เสวยจึงเกิด เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติด บุคคลนั้นไม่มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความลุ่มหลง บุคคลนั้นไม่มี ปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมรู้ชัดถึงความเกิดขึ้น ความเสื่อมไป คุณ โทษ และธรรมเป็นเครื่องสลัดออกจากเวทนานั้น ตามความ เป็นจริง บุคคลนั้นไม่มีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นละราคานุสัยเพราะสุขเวทนาได้ บรรเทา ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาได้ ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาได้ ละ อวิชชาแล้วทำวิชชาให้เกิดขึ้นได้แล้ว จักเป็นผู้กระทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๕๒/๒๗๒ @ วิชชา ในที่นี้หมายถึงวิชชาคืออรหัตตมรรค (ม.อุ.อ. ๓/๔๒๖/๒๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๘๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๕. สฬายตนวรรค]

๗. สฬายตนวิภังคสูตร

[๔๒๗] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในจักขุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุวิญญาณ ย่อม เบื่อหน่ายแม้ในจักขุสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในตัณหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียง ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่น ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรส ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะ ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโน ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมารมณ์ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในมโนวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในตัณหา เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ดังนี้แล
ฉฉักกสูตรที่ ๖ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๗๕-๔๘๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=48              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=10324&Z=10554                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=810              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=810&items=15              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=6371              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=810&items=15              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=6371                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i810-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i810-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.148.than.html https://suttacentral.net/mn148/en/sujato https://suttacentral.net/mn148/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :