ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร
ว่าด้วยการจำแนกกรรม สูตรเล็ก
[๒๘๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล สุภมาณพโตเทยยบุตร เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอ เป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์ที่เกิดเป็นมนุษย์ ปรากฏเป็นคนเลวและคนดี คือ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏว่ามีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณดี มีอำนาจน้อย มีอำนาจมาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในตระกูลต่ำ เกิดในตระกูลสูง มีปัญญาน้อย มีปัญญามาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๔๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร

ท่านพระโคดม อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดเป็น มนุษย์ปรากฏเป็นคนเลวและคนดี” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มีกรรม เป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลวและดีต่างกัน” “ข้าพระองค์ ไม่รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระภาษิตนี้ที่ท่านพระโคดมตรัสไว้โดย ย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดม โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยวิธีที่ข้าพระองค์จะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่ง พระภาษิตนี้ที่ท่านพระโคดมตรัสไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารเถิด” [๒๙๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาณพ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าว” สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้ฆ่าสัตว์ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ฝักใฝ่ในการ ประหัตประหาร ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑- หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก กลับมาเกิดเป็น มนุษย์ในที่ใดๆ เขาก็จะเป็นคนมีอายุสั้น มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ฝักใฝ่ ในการประหัตประหาร ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย นี้เป็นปฏิปทา(ข้อปฏิบัติ) ที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้น (๑) มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้ ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความละอาย มีความ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๘ (เทวทหสูตร) หน้า ๒๕ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๕๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร

เอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลในสรรพสัตว์ เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่น ไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาก็จะเป็นคนมี อายุยืน มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และ ศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลในสรรพสัตว์ นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืน (๑) [๒๙๑] มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็น ผู้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วย ศัสตราบ้าง เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาก็จะเป็นผู้มีโรคมาก มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อน ดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรค มาก (๒) มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้ ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วย ศัสตราบ้าง เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาก็จะเป็นผู้มีโรคน้อย มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วย ก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมี โรคน้อย (๒) [๒๙๒] มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้มักโกรธ มากด้วยความคับแค้น ถูกผู้อื่นว่ากล่าวแม้เล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๕๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร

พยาบาท ปองร้าย แสดงความโกรธความปองร้ายและโทษเล็กน้อยให้ปรากฏ เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิด ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาก็จะเป็นผู้มีผิวพรรณทราม มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้มักโกรธ มากด้วยความคับแค้น ถูกผู้อื่นว่ากล่าว แม้เล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธ พยาบาท ปองร้าย แสดงความโกรธความปองร้ายและ โทษเล็กน้อยให้ปรากฏ นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณทราม (๓) มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้ ไม่โกรธ ไม่มากด้วยความคับแค้น ถูกผู้อื่นว่ากล่าวแม้มากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่ปองร้าย ไม่แสดงความโกรธ ความปองร้ายและโทษเล็กน้อยให้ ปรากฏ เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขา จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาก็จะเป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ไม่โกรธ ไม่มากด้วยความคับแค้น ถูกผู้อื่นว่า กล่าวแม้มากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่ปองร้าย ไม่แสดงความโกรธ ความปองร้ายและโทษเล็กน้อยให้ปรากฏ นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มี ผิวพรรณผ่องใส (๓) [๒๙๓] มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็น ผู้มีใจริษยา ย่อมริษยา ประทุษร้าย ผูกความริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ และการบูชาของบุคคลอื่น เพราะกรรมนั้นที่เขาให้ บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก กลับมาเกิด เป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาก็จะเป็นผู้มีอำนาจน้อย มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้มีใจริษยา ย่อมริษยา ประทุษร้าย ผูกความริษยา ในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ และการบูชาของ บุคคลอื่น นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีอำนาจน้อย (๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๕๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร

มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็น ผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่ประทุษร้าย ไม่ผูกความริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ และการบูชาของบุคคลอื่น เพราะกรรม นั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็น มนุษย์ในที่ใดๆ เขาก็จะเป็นผู้มีอำนาจมาก มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่ประทุษร้าย ไม่ผูก ความริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ และการ บูชาของบุคคลอื่น นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีอำนาจมาก (๔) [๒๙๔] มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็น ผู้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่อง ประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เพราะกรรมนั้น๑- ที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขา ก็จะเป็นผู้มีโภคะน้อย มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ นี้เป็นปฏิปทา ที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีโภคะน้อย (๕) มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็น ผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิด ในสุคติโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาก็จะเป็นผู้มีโภคะมาก @เชิงอรรถ : @ กรรมนั้น ในที่นี้หมายถึงกรรมคือความตระหนี่ (ม.อุ.อ. ๓/๒๙๔/๑๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๕๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร

มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ นี้เป็นปฏิปทา ที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีโภคะมาก (๕) [๒๙๕] มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้กระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้ผู้ที่ควรกราบไหว้๑- ไม่ลุกรับผู้ที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่ผู้ที่ควรให้อาสนะ ไม่ให้ทางแก่ผู้ที่ควรให้ทาง ไม่สักการะผู้ที่ควร สักการะ ไม่เคารพผู้ที่ควรเคารพ ไม่นับถือผู้ที่ควรนับถือ ไม่บูชาผู้ที่ควรบูชา เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิด ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาจะเป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้กระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้ผู้ที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับผู้ที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่ผู้ที่ควรให้อาสนะ ไม่ให้ทางแก่ผู้ที่ควรให้ทาง ไม่สักการะผู้ที่ควรสักการะ ไม่เคารพผู้ที่ควรเคารพ ไม่นับถือผู้ที่ควรนับถือ ไม่ บูชาผู้ที่ควรบูชา นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ (๖) มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้ ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้ผู้ที่ควรกราบไหว้ ลุกรับผู้ที่ควรลุกรับ ให้ อาสนะแก่ผู้ที่ควรให้อาสนะ ให้ทางแก่ผู้ที่ควรให้ทาง สักการะผู้ที่ควรสักการะ เคารพผู้ที่ควรเคารพ นับถือผู้ที่ควรนับถือ บูชาผู้ที่ควรบูชา เพราะกรรมนั้นที่เขา ให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาจะเป็นผู้เกิดในตระกูลสูง มาณพ การที่บุคคลเป็นผู้ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้ผู้ที่ควร กราบไหว้ ลุกรับผู้ที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่ผู้ที่ควรให้อาสนะ ให้ทางแก่ผู้ที่ควร ให้ทาง สักการะผู้ที่ควรสักการะ เคารพผู้ที่ควรเคารพ นับถือผู้ที่ควรนับถือ บูชา ผู้ที่ควรบูชา นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูง (๖) @เชิงอรรถ : @ ผู้ที่ควรกราบไหว้ ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอริยสาวก @(ม.อุ.อ. ๓/๒๙๕/๑๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๕๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร

[๒๙๖] มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม ไม่เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า ‘ท่านขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไร เป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ กรรมอะไร ที่ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่า กรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ เพราะกรรมนั้นที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิด ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาจะเป็นผู้มีปัญญาทราม มาณพ การที่บุคคลไม่เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า ‘ท่าน ขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ กรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ ทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่ากรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาทราม (๗) มาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เข้าไป หาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า ‘ท่านขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ กรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทำ จึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่ากรรมอะไรที่ ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ เพราะกรรมนั้น ที่เขาให้บริบูรณ์ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาจะเป็นผู้มีปัญญามาก มาณพ การที่บุคคลเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า ‘ท่าน ขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ กรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ ทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่ากรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทำจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ นี้เป็นปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก (๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๕๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร

[๒๙๗] มาณพ รวมความว่า ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุสั้นย่อมนำ เข้าไปสู่ความมีอายุสั้น ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืนย่อมนำเข้าไปสู่ความมีอายุยืน ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคมากย่อมนำเข้าไปสู่ความมีโรคมาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโรคน้อยย่อมนำเข้าไปสู่ความมีโรคน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณทรามย่อมนำเข้าไปสู่ความมีผิวพรรณทราม ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณผ่องใสย่อมนำเข้าไปสู่ความมีผิวพรรณผ่องใส ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอำนาจน้อยย่อมนำเข้าไปสู่ความมีอำนาจน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีอำนาจมากย่อมนำเข้าไปสู่ความมีอำนาจมาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะน้อยย่อมนำเข้าไปสู่ความมีโภคะน้อย ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคะมากย่อมนำเข้าไปสู่ความมีโภคะมาก ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในตระกูลต่ำย่อมนำเข้าไปสู่ความเกิดในตระกูลต่ำ ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเกิดในตระกูลสูงย่อมนำเข้าไปสู่ความเกิดในตระกูลสูง ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาทรามย่อมนำเข้าไปสู่ความมีปัญญาทราม ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามากย่อมนำเข้าไปสู่ความมีปัญญามาก สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มี กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลว และดีต่างกัน ด้วยประการฉะนี้” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุภมาณพโตเทยยบุตรได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้า แต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๕๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๖. มหากัมมวิภังคสูตร

ตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระ สงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
จูฬกัมมวิภังคสูตรที่ ๕ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๔๙-๓๕๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=35              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7623&Z=7798                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=579              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=579&items=19              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4555              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=579&items=19              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4555                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i579-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i579-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.135.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.135.nymo.html https://suttacentral.net/mn135/en/sujato https://suttacentral.net/mn135/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :