ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อสกุลุทายี สูตรเล็ก
[๒๖๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นแล ปริพาชกชื่อสกุลุทายีพร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ ใหญ่อาศัยอยู่ในอารามของปริพาชกอันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ครั้นเวลาเช้า พระผู้มี พระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า “ยังเช้าเกินไปที่จะเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ทางที่ดี เราควรเข้าไปหา สกุลุทายีปริพาชก จนถึงอารามของปริพาชกอันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปจนถึงอารามของปริพาชกอันเป็นที่ให้ เหยื่อแก่นกยูง @เชิงอรรถ : @ สัมมาญาณะ ในสูตรนี้หมายถึงสัมมาทิฏฐินั่นเอง ท่านตรัสไว้เพื่อให้องค์ธรรมบริบูรณ์ และธรรมทั้งหมด @นี้เป็นธรรมชั้นอรหัตตผล (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๑/๓๗๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๑๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

ดิรัจฉานกถา
สมัยนั้น สกุลุทายีปริพาชกกำลังนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ผู้กำลังสนทนา ถึงดิรัจฉานกถาต่างๆ ด้วยเสียงดังอื้ออึง คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อมอย่างนั้นๆ สกุลุทายีปริพาชก ได้เห็นพระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดเงียบหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง นี้คือ พระสมณ- โคดมกำลังเสด็จมา พระองค์โปรดเสียงเบา ทรงแนะนำให้พูดกันเบาๆ ตรัสสรรเสริญ คุณของคนที่พูดเสียงเบา บางทีพระองค์ทรงทราบว่าบริษัทเสียงเบา พระองค์อาจ จะเสด็จเข้ามาหาก็ได้” ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้พากันนิ่ง [๒๗๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปหาสกุลุทายีถึงที่อยู่ สกุลุทายี ปริพาชกทูลเชื้อเชิญพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคจงเสด็จเข้ามาเถิด ขอต้อนรับเสด็จ นานๆ พระองค์จะมีเวลาเสด็จมาที่นี้ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคประทับนั่งเถิด อาสนะนี้ ปูลาดไว้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว แม้สกุลุทายีปริพาชก ก็เลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามสกุลุทายี ปริพาชกว่า “อุทายี บัดนี้ ท่านทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร และเรื่องอะไร ที่ท่านทั้งหลายสนทนากันค้างไว้” สกุลุทายีปริพาชกทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องที่ข้าพระองค์ ทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันในเวลานี้ ของดไว้ก่อนเถิด เรื่องนี้พระผู้มีพระภาค จะทรงสดับได้ในภายหลังโดยไม่ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเวลาที่ข้าพระองค์ ไม่ได้เข้าไปยังบริษัทนี้ บริษัทนี้ก็จะนั่งสนทนากันแต่ดิรัจฉานกถาต่างๆ แต่ในเวลา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๑๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

ที่ข้าพระองค์เข้าไปยังบริษัทนี้ บริษัทนี้ก็นั่งมองดูแต่หน้าของข้าพระองค์ด้วยความ ประสงค์ว่า ‘สมณะอุทายี จักกล่าวธรรมใดแก่พวกเรา พวกเราจักฟังธรรมนั้น’ และในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้ามายังบริษัทนี้ ทั้งข้าพระองค์และบริษัทนี้ก็นั่ง มองดูพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคด้วยความประสงค์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักตรัส ธรรมใดแก่พวกเรา พวกเราจักฟังธรรมนั้น”
ขันธ์ส่วนอดีตและขันธ์ส่วนอนาคต
[๒๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุทายี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงตั้งปัญหาซึ่งจะ เป็นเหตุให้เราแสดงธรรมในบริษัทนี้เถิด” สกุลุทายีปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อนๆ ท่านผู้เป็น สัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเรา เดินอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะจะปรากฏต่อเนื่องตลอดไป’ ท่านผู้นั้นถูกข้าพระองค์ถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีตก็นำเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อน ไถลไปพูดนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธ ความประทุษร้าย และความไม่พอใจให้ปรากฏ ข้าพระองค์นั้นระลึกถึงพระผู้มีพระภาคว่า ‘ผู้ฉลาดในธรรมเหล่านี้ต้องเป็นพระผู้มี พระภาคแน่นอน ต้องเป็นพระสุคตแน่นอน” “ท่านผู้เป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ปฏิญญาญาณทัสสนะอย่าง เบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเราเดินอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะจะปรากฏ ต่อเนื่องตลอดไป’ ที่ถูกท่านถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีตก็นำเรื่องอื่นมาพูด กลบเกลื่อน ไถลไปพูดนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธ ความประทุษร้าย และความ ไม่พอใจให้ปรากฏ เป็นใครเล่า” “นิครนถ์ นาฏบุตร พระพุทธเจ้าข้า” “ผู้ใดระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ระลึก ชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ ผู้นั้นควรถาม ปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีตกับเรา หรือเราควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีตกับ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๑๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

ผู้นั้น ผู้นั้นจะทำให้เรายินดีด้วยการตอบปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีต หรือเราจะพึง ทำจิตของผู้นั้นให้ยินดีด้วยการตอบปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีต ผู้ใดพึงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเถิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม กรรม ผู้นั้นควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกับเรา หรือเราควรถามปัญหา ปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกับผู้นั้น ผู้นั้นทำให้เรายินดีด้วยการตอบปัญหาปรารภขันธ์ ส่วนอนาคต หรือเราพึงยังจิตของผู้นั้นให้ยินดีด้วยการตอบปัญหาปรารภขันธ์ส่วน อนาคต อุทายี จงงดขันธ์ส่วนอดีตและขันธ์ส่วนอนาคตไว้ก่อน เราจักแสดงธรรมแก่ ท่านว่า ‘เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี เพราะเหตุนี้เกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้ จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชาตินี้ที่ปรากฏแก่ข้าพระองค์โดยอัตภาพนี้พร้อม ทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ ข้าพระองค์ยังไม่สามารถจะระลึกได้เลย ไฉนเลยจัก ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ฯลฯ ระลึกถึง ชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เหมือนพระผู้มี พระภาคเล่า บัดนี้ แม้แต่ปีศาจเล่นฝุ่น ข้าพระองค์ก็ยังไม่เคยเห็นเลย ไฉนเลย จักเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและ เกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ จักรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม เหมือนพระผู้มีพระภาคเล่า คำที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘อุทายี จงงดขันธ์ส่วนอดีตและขันธ์ส่วนอนาคตไว้ก่อน เราจักแสดงธรรมแก่ท่านว่า ‘เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี เพราะเหตุนี้เกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ’ จะปรากฏแก่ข้าพระองค์ โดยประมาณยิ่งๆ ขึ้นไป ก็หาไม่ ไฉนข้าพระองค์จึงจะทำให้พระผู้มีพระภาคทรงยินดีด้วยการตอบปัญหาใน ลัทธิอาจารย์ของตนได้เล่า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๒๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

เรื่องวรรณะ
[๒๗๒] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุทายี ในลัทธิอาจารย์ของตน ท่านมี ความเห็นว่าอย่างไร” สกุลุทายีปริพาชกทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตน ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘นี้เป็นวรรณะสูงสุด นี้เป็นวรรณะสูงสุด” “ในลัทธิอาจารย์ของตน ท่านมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘นี้เป็นวรรณะสูงสุด นี้เป็น วรรณะสูงสุด’ วรรณะสูงสุดนั้นเป็นอย่างไร” “วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะ สูงสุด พระพุทธเจ้าข้า” “วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะไหนเล่า” “วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านกล่าวแต่เพียงว่า ‘วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะ นั้นเป็นวรรณะสูงสุด’ คำที่ท่านกล่าวนั้น พึงขยายความได้อย่างยืดยาว แต่ท่าน ไม่ชี้วรรณะนั้นให้ชัด เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งปรารภถึงหญิงสาวอย่างนี้ว่า ‘เรา ปรารถนารักใคร่หญิงงามแห่งชนบทนี้’ คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอรู้จักหญิงคน นั้นหรือว่าเป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์ หรือนางศูทร’ เมื่อถูกถาม อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอรู้จักหญิงคนนั้นหรือว่า มีชื่อ ตระกูล สูง ต่ำ สันทัด ดำ คล้ำ หรือผิวเหลือง อยู่ในหมู่บ้าน นิคม หรือ เมืองโน้น’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ยังไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอปรารถนารักใคร่หญิงที่ยังไม่เคยรู้จักทั้งไม่เคยเห็น อย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถาม อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นจะถือว่า เลื่อนลอย มิใช่หรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๒๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

“เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน พระพุทธเจ้าข้า” “อุทายี ท่านก็อย่างนั้นเหมือนกัน กล่าวอยู่แต่เพียงว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด’ แต่ไม่ ได้ชี้วรรณะนั้นให้ชัด” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว ซึ่งเขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลเหลือง ย่อมส่องแสงสว่างเป็นประกาย ออกมา แม้ฉันใด อัตตา๑- ก็มีวรรณะ(แสงสว่าง)ก็ฉันนั้นเหมือนกัน หลังจากตายไป ย่อมเป็นของยั่งยืน” [๒๗๓] “อุทายี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร แก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเอง อย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว ซึ่งเขาวางไว้ที่ผ้ากำพลเหลือง ย่อมส่องแสงสว่างเป็นประกายออกมา กับหิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดา วรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่า และประณีตกว่ากัน” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ หิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืดนี้ ย่อมส่องสว่างกว่า และประณีตกว่า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร หิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืด กับประทีปน้ำมัน ในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่าและประณีต กว่ากัน” “บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ประทีปน้ำมันในราตรีที่มีเดือนมืดส่องสว่างกว่าและ ประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ประทีปน้ำมันในราตรีที่มีเดือนมืดกับกอง ไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่า และประณีตกว่ากัน” @เชิงอรรถ : @ อัตตา ในที่นี้หมายถึงขันธ์ที่บังเกิดในเทวโลกชั้นสุภกิณหะ (ม.ม.อ. ๒/๒๗๒/๑๙๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๒๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

“บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ กองไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืด ส่องสว่างกว่าและ ประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร กองไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืด กับดาวศุกร์ ในนภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในเวลาใกล้รุ่ง บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะ ไหนจะส่องสว่างกว่าและประณีตกว่ากัน” “บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ดาวศุกร์ในนภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในเวลา ใกล้รุ่งส่องสว่างกว่าและประณีตกว่า พระพุทธเจ้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ดาวศุกร์ในนภากาศอันกระจ่างปราศจาก เมฆ ในเวลาใกล้รุ่งกับดวงจันทร์เวลาเที่ยงคืนตรง ในนภากาศอันกระจ่างปราศจาก เมฆ ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่า และประณีตกว่ากัน” “บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ดวงจันทร์เวลาเที่ยงคืนตรง ในนภากาศอันกระจ่าง ปราศจากเมฆ ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ จะส่องสว่างกว่าและประณีตกว่า พระ- พุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรงในนภากาศ อันกระจ่างปราศจากเมฆในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ กับดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงตรงใน นภากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในสารทกาลเดือนท้ายแห่งฤดูฝน บรรดา วรรณะทั้ง ๒ นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่าและประณีตกว่ากัน” “บรรดาวรรณะทั้ง ๒ นี้ ดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงตรงอันกระจ่างปราศจากเมฆ ใน สารทกาลเดือนท้ายแห่งฤดูฝนจะส่องสว่างกว่าและประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า” “เทวดาเหล่าใดไม่อาศัยแสงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เทวดาเหล่านั้นมีมาก มีมากยิ่งกว่าเหล่าเทวดาที่อาศัยแสงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เรารู้ทั่วถึงเทวดา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๒๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

เหล่านั้น แต่เราก็ไม่กล่าวว่า ‘เป็นวรรณะที่ไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า’ ส่วนท่านกล่าวว่า ‘วรรณะที่เลวกว่าและเศร้าหมองกว่าหิ่งห้อยเป็นวรรณะสูงสุด’ แต่ท่านไม่ชี้วรรณะนั้นให้ชัด” “พระผู้มีพระภาคทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้ว พระสุคตทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” “อุทายี ทำไมท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้ว พระสุคตทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้วเล่า” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตน ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ เห็นอย่างนี้ว่า ‘วรรณะนี้เป็นวรรณะสูงสุด วรรณะนี้เป็นวรรณะสูงสุด’ ข้าพระองค์ เหล่านั้นเมื่อถูกพระผู้มีพระภาคสอบสวนซักไซร้ไล่เลียงในลัทธิอาจารย์ของตนจึง กลายเป็นคนว่าง เป็นคนเปล่า ผิดไปหมด”
ปัญหาเรื่องโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว
[๒๗๔] “อุทายี โลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ ข้อปฏิบัติที่มีเหตุ๑- เพื่อ ทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว มีอยู่หรือ” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตน ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ เห็นอย่างนี้ว่า ‘โลกมีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่ ข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลก ที่มีสุขโดยส่วนเดียวก็มีอยู่” “ข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนั้น เป็นอย่างไร” “คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ละเว้นขาดจากปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) ละเว้น ขาดจากอทินนาทาน(การลักทรัพย์) ละเว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติ @เชิงอรรถ : @ ข้อปฏิบัติที่มีเหตุ ในที่นี้หมายถึงลัทธิของอเจลก คือการงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา (สุรา) (ม.ม.อ. ๒/๒๗๔/๑๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๒๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

ผิดในกาม) ละเว้นขาดจากมุสาวาท(การพูดเท็จ) สมาทานคุณคือตบะอย่างใด อย่างหนึ่ง ประพฤติอยู่ นี้แลเป็นข้อปฏิบัตินั้นที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดย ส่วนเดียว พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในเวลาที่บุคคลละเว้นขาดจากปาณาติบาต อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง” “มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในเวลาที่บุคคลละเว้นขาดจากอทินนาทาน อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง” “มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในเวลาที่บุคคลละเว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง” “มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในเวลาที่บุคคลละเว้นขาดจากมุสาวาท อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง” “มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในเวลาที่บุคคลสมาทานคุณคือตบะอย่างใด อย่างหนึ่งประพฤติอยู่ อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หรือมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง” “มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง พระพุทธเจ้าข้า” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร การจะอาศัยข้อปฏิบัติอันมีทั้งสุขและทุกข์ แล้วทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว มีอยู่บ้างไหม” “พระผู้มีพระภาคทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้ว พระสุคตทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๒๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

“อุทายี ทำไมท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้ว พระสุคตทรงหักล้างเรื่องนี้เสียแล้วเล่า” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตน ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ เห็นอย่างนี้ว่า ‘โลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่ ข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มี สุขโดยส่วนเดียวก็มีอยู่’ ข้าพระองค์เหล่านั้นเมื่อถูกพระผู้มีพระภาคสอบสวนซักไซ้ ไล่เลียงในลัทธิอาจารย์ของตนก็เป็นคนว่าง เป็นคนเปล่า เป็นคนผิดไปหมด [๒๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ ข้อปฏิบัติที่ มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ” “อุทายี โลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่ ข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุข โดยส่วนเดียวก็มีอยู่”
ฌาน ๔
“ข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนั้น๑- เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า” “อุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ @เชิงอรรถ : @ อรรถกถาอธิบายว่า สกุลุทายีปริพาชกถามปัญหานี้เพราะคิดว่า “เราจะกล่าวถึงอัตตาว่ามีสุขโดย @ส่วนเดียว จะกล่าวข้อปฏิบัติว่ามีสุขบางคราว มีทุกข์บางคราว แม้ข้อปฏิบัติของอัตตาที่มีสุขโดยส่วนเดียว @จะพึงเป็นโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว กถาของเราไม่อาจนำสัตว์ออกจากทุกข์ กถาของพระศาสดาเท่านั้น @นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้” เขาคิดต่อไปว่า “บัดนี้ เราถามพระศาสดาเท่านั้นจะรู้คำตอบได้” จึงถามปัญหา @(ม.ม.อ. ๒/๒๗๕/๑๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๒๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

ตติยฌาน ฯลฯ อยู่ นี้แล เป็นข้อปฏิบัตินั้นที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดย ส่วนเดียว” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อปฏิบัติที่ตรัสตอบมิใช่ข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้ แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้ เพราะโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว บุคคลทำให้แจ้งชัด ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้๑-” “อุทายี โลกมีสุขโดยส่วนเดียว บุคคลไม่อาจทำให้แจ้งด้วยข้อปฏิบัติเพียง เท่านี้ แต่ข้อปฏิบัตินั้นเป็นข้อปฏิบัติที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้ แน่แท้” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายีปริพาชก ได้บันลือ เสียงอื้ออึงขึ้นว่า “พวกเราพร้อมทั้งอาจารย์ยังไม่พอใจในเหตุนี้ พวกเราพร้อม ทั้งอาจารย์ยังไม่พอใจในเหตุนี้ พวกเรายังไม่รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติที่ยิ่งไปกว่านี้” ลำดับนั้น สกุลุทายีปริพาชกห้ามปริพาชกเหล่านั้นให้เงียบเสียงแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุนั้นจึงจะ ทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้” “อุทายี เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ ยืนสนทนาปราศรัยกันกับเทวดาทั้งหลาย ผู้เข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวเหล่านั้น อุทายี ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านั้นแล ภิกษุ นั้นจึงจะทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้” @เชิงอรรถ : @ ข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ในที่นี้หมายถึงตติยฌาน เพราะปริพาชกผู้นี้ยึดถือว่าตติยฌานเป็นโลกที่มีสุขโดย @ส่วนเดียว (ม.ม.อ. ๒/๒๗๕/๑๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๒๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

[๒๗๖] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค คงมุ่งจะทำให้แจ้ง๑- โลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนั้นเป็นแน่” “อุทายี ไม่ใช่ภิกษุจะประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพียงเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุข โดยส่วนเดียวนี้เท่านั้น แท้จริงยังมีธรรมอื่นที่ดีกว่า และประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติ พรหมจรรย์ในเรา มุ่งจะทำให้แจ้ง” “ธรรมที่ดีกว่าและประณีตกว่าที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค มุ่งจะทำให้แจ้งนั้นคืออะไร พระพุทธเจ้าข้า” “อุทายี ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึก ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ฯลฯ ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเหตุทำใจให้ เศร้าหมอง เป็นครื่องบั่นทอนปัญญาได้แล้ว เธอสงัดจากกาม และอกุศลธรรม ทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุ ประพฤติพรหมจรรย์ในเรา มุ่งจะทำให้แจ้ง อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ อุทายี ธรรมนี้แล ดีกว่าและ ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา มุ่งจะทำให้แจ้ง” @เชิงอรรถ : @ มุ่งจะทำให้แจ้ง ในที่นี้หมายถึงการทำให้แจ้ง ๒ อย่าง คือ (๑) การทำให้แจ้งด้วยการได้เฉพาะ เช่น @การบำเพ็ญตติยฌานจนมีฌานไม่เสื่อม ตายไปเกิดเป็นผู้มีอายุและผิวพรรณเสมอกับเทพชั้นสุภกิณหะ @(๒) การทำให้แจ้งด้วยเห็นประจักษ์ เช่น การบำเพ็ญจตุตถฌาน (จนเป็นวสี) แล้วใช้อำนาจฤทธิ์ไปถึงเทว @โลกชั้นสุภกิณหะ อยู่ร่วมกันและสนทนาธรรมกับเทพเหล่านั้น (ม.ม.อ. ๒/๒๗๖/๒๐๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๒๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลุทายิสูตร

วิชชา ๓
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิต ไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ ชีวประวัติอย่างนี้ ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ ในเรา มุ่งจะทำให้แจ้ง เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิต ไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม และไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ เธอรู้ชัด ถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติ พรหมจรรย์ในเรามุ่งจะทำให้แจ้ง เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิต ไปเพื่ออาสวักขยญาณรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินี- ปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะทำให้แจ้ง อุทายี ธรรมเหล่านี้แล ดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ ในเรา มุ่งจะทำให้แจ้ง” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๒๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๙. จูฬสกุลทายิสูตร

สกุลุทายีปริพาชกขอบวช
[๒๗๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สกุลุทายีปริพาชกได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี จักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี พระภาคเถิด” เมื่อสกุลุทายีปริพาชกกราบทูลอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายีปริพาชกได้ กล่าวห้ามสกุลุทายีปริพาชกว่า “ท่านอุทายี ท่านอย่าได้ประพฤติพรหมจรรย์ใน พระสมณโคดมเลย ท่านเป็นอาจารย์แล้วอย่ายอมเป็นศิษย์เลย อุปมาเหมือน เป็นขันน้ำแล้ว จะลดฐานะลงเป็นจอกในขันน้ำ แม้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็จักมีแก่ ท่านอุทายีฉันนั้นเหมือนกัน ท่านอย่าได้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเลย ท่านอุทายี ท่านเป็นอาจารย์แล้วอย่ายอมเป็นศิษย์เลย” เรื่องนี้เป็นอันยุติได้ว่า บริษัทของสกุลุทายีปริพาชก ได้ทำให้สกุลุทายีปริพาชก มีอุปสรรคต่อการประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จูฬสกุลุทายิสูตรที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๓๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๓๑๗-๓๓๐. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=29              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=6175&Z=6463                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=367              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=367&items=22              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=4966              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=367&items=22              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=4966                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i367-e1.php# https://suttacentral.net/mn79/en/sujato https://suttacentral.net/mn79/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :