ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๗. จาตุมสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในหมู่บ้านจาตุมา
เรื่องพระอาคันตุกะพูดเสียงดัง
[๑๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อามลกีวัน หมู่บ้านจาตุมา สมัยนั้นแล ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็น หัวหน้า เดินทางมาถึงบ้านจาตุมาเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะ เหล่านั้นสนทนาปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ ส่งเสียง ดังอื้ออึง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า “อานนท์ ผู้ที่ส่งเสียงดังอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน เป็นภิกษุพวกไหน” ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นหัวหน้า เดินทางมาถึงบ้าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๗๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๗. จาตุมสูตร

จาตุมาเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นสนทนาปราศรัยกับภิกษุ เจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ ส่งเสียงดังอื้ออึง พระพุทธเจ้าข้า” “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงไปเรียกภิกษุเหล่านั้นมาตามคำของเราว่า ‘พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่พัก ได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า “พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพากันส่งเสียงดังอื้ออึง เหมือนชาวประมงแย่งปลา กันหรือ” ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นหัวหน้า เดินทางมาถึงบ้าน จาตุมาเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ ส่งเสียงดังอื้ออึง พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไป เราขอขับไล่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย ไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มี พระภาค กระทำประทักษิณแล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรจากไป [๑๕๘] สมัยนั้น เจ้าศากยะชาวบ้านจาตุมา มาประชุมกันอยู่ที่หอประชุม ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ได้เห็นภิกษุเหล่านั้นเดินมาแต่ไกล จึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า “พระคุณท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะพากัน ไปไหนเล่า” ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์ถูกพระผู้มีพระภาค ทรงขับไล่แล้ว” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๗๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๗. จาตุมสูตร

“พระคุณท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงนั่งอยู่ที่นี่สักครู่หนึ่ง บางทีพวกข้าพเจ้าอาจจะให้พระผู้มีพระภาคทรงพอพระทัยได้” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ลำดับนั้น พวกเจ้าศากยะชาวบ้านจาตุมาเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงชื่นชมภิกษุสงฆ์ ขอจงรับสั่ง กับภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุเคราะห์๑- ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนอย่าง ที่เคยทรงอนุเคราะห์ในกาลก่อนด้วยเถิด ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็น นวกะบวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ก็มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาค จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรผันไป พืชที่ยังอ่อนเมื่อขาดน้ำก็จะเหี่ยวเฉาแปรเปลี่ยนสภาพไป แม้ฉันใด ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นนวกะบวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้มีอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรผันไป ลูกโคอ่อนเมื่อไม่เห็นแม่ก็จะร้องหาเที่ยวซมซานไป แม้ฉันใด ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นนวกะบวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้มีอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรผันไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงชื่นชมภิกษุสงฆ์ ขอจงรับสั่ง กับภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนอย่าง ที่เคยทรงอนุเคราะห์ในกาลก่อนด้วยเถิด” @เชิงอรรถ : @ อนุเคราะห์ ในที่นี้หมายถึงการอนุเคราะห์ ๒ อย่าง คือ (๑) การอนุเคราะห์ด้วยอามิส (๒) การอนุเคราะห์ @ด้วยธรรม (ม.ม.อ. ๒/๑๕๙/๑๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๗๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๗. จาตุมสูตร

พรหมอาราธนาพระพุทธเจ้า
[๑๕๙] ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทรงทราบความรำพึงในพระทัยของพระ ผู้มีพระภาคด้วยใจของตนแล้ว ได้อันตรธานจากพรหมโลกมาปรากฏในที่เฉพาะพระ พักตร์ของพระผู้มีพระภาค เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า แล้วห่มผ้าเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ได้กราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงชื่นชมภิกษุสงฆ์ ขอจงรับสั่งกับภิกษุสงฆ์เถิด ขอ พระผู้มีพระภาคจงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนกับที่เคยทรงอนุเคราะห์ ในกาลก่อนด้วยเถิด ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นนวกะ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ก็มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค จะพึง มีความน้อยใจ มีความแปรผันไป พืชที่ยังอ่อนเมื่อขาดน้ำก็จะเหี่ยวเฉาแปรเปลี่ยนสภาพไป แม้ฉันใด ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นนวกะ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้มีอยู่ ก็ฉันนั้น เหมือนกัน เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรผันไป ลูกโคอ่อนเมื่อไม่เห็นแม่ก็จะร้องหาเที่ยวซมซานไป แม้ฉันใด ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นนวกะ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้มีอยู่ ก็ฉันนั้น เหมือนกัน เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรผันไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงชื่นชมภิกษุสงฆ์ ขอจงรับสั่งกับ ภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนกับ ที่เคยทรงอนุเคราะห์ในกาลก่อนด้วยเถิด๑- พระพุทธเจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.ข. (แปล) ๑๗/๘๐/๑๒๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๘๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๗. จาตุมสูตร

[๑๖๐] เจ้าศากยะชาวบ้านจาตุมาและท้าวสหัมบดีพรหม สามารถทูลขอให้ พระผู้มีพระภาคทรงพอพระทัยด้วยคำวิงวอนเปรียบด้วยพืชที่ยังอ่อน และด้วยคำ วิงวอนเปรียบด้วยลูกโคอ่อน ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า “ท่าน ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านจงลุกขึ้น จงถือบาตรและจีวรเถิด เจ้าศากยะชาวเมือง จาตุมาและท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงพอพระทัยแล้ว ด้วยคำวิงวอนเปรียบด้วยพืชที่ยังอ่อน และด้วยคำวิงวอนเปรียบด้วยลูกโคอ่อน” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถือบาตรและจีวรเข้าไปเฝ้าพระผู้ มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มี พระภาคตรัสกับท่านพระสารีบุตรว่า “สารีบุตร เมื่อเราขับไล่ภิกษุสงฆ์ เธอได้มี ความคิดอย่างไร” ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงขับไล่ภิกษุสงฆ์ ข้าพระองค์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงขับไล่ ภิกษุสงฆ์แล้ว บัดนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงมีความขวนขวายน้อย เจริญธรรมเครื่องอยู่ เป็นสุขในปัจจุบัน๑- อยู่ แม้เราทั้งหลายก็จักมีความขวนขวายน้อย เจริญธรรมเครื่อง อยู่เป็นสุขในปัจจุบันอยู่เช่นกัน” “สารีบุตร เธอจงรอก่อน เธอจงรอก่อน ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน จงพักไว้ก่อน เธอไม่ควรให้ความคิดเห็นปานนี้เกิดขึ้นอีก” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานะมาตรัสว่า “โมคคัลลานะ เมื่อเราขับไล่ภิกษุสงฆ์ เธอได้มีความคิดอย่างไร” ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มี พระภาคทรงขับไล่ภิกษุสงฆ์ ข้าพระองค์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาค ทรงขับไล่ภิกษุสงฆ์แล้ว บัดนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงมีความขวนขวายน้อย @เชิงอรรถ : @ ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ในที่นี้หมายถึงผลสมาบัติ (ม.ม.อ. ๒/๑๖๐/๑๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๘๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๗. จาตุมสูตร

เจริญธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอยู่ ข้าพระองค์และท่านสารีบุตรจักช่วยกัน บริหารภิกษุสงฆ์” “ดีละ ดีละ โมคคัลลานะ ความจริง เรา สารีบุตรหรือโมคคัลลานะเท่านั้น ควรบริหารภิกษุสงฆ์”
ภัยของภิกษุผู้บวชใหม่ ๔ ประการ
[๑๖๑] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ ที่คนลงไปในน้ำพึงประสบ ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. อูมิภัย (ภัยจากคลื่น) ๒. กุมภีลภัย (ภัยจากจระเข้) ๓. อาวัฏฏภัย (ภัยจากน้ำวน) ๔. สุสุกาภัย (ภัยจากปลาร้าย) ภัย ๔ ประการนี้แล ที่คนลงไปในน้ำพึงประสบ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้ พึงประสบ ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. อูมิภัย ๒. กุมภีลภัย ๓. อาวัฏฏภัย ๔. สุสุกาภัย [๑๖๒] อูมิภัย เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า ‘เราถูกชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) อุปายาส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๘๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๗. จาตุมสูตร

(ความคับแค้นใจ) ครอบงำ ตกอยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอ การ ทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุด จะพึงปรากฏ’ เพื่อนพรหมจารีตักเตือนพร่ำสอน เธอผู้บวชแล้วนั้นว่า ‘เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้ พึงแลดูอย่างนี้ พึงเหลียวดูอย่างนี้ พึงคู้เข้าอย่างนี้ พึงเหยียดออกอย่างนี้ พึงครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรอย่างนี้’ เธอคิดอย่างนี้ว่า ‘เมื่อก่อน เราเป็นคฤหัสถ์มีแต่ตักเตือน พร่ำสอนผู้อื่น ก็ภิกษุเหล่านี้ มีอายุคราวลูกคราวหลานของเรา ยังจะมาตักเตือน พร่ำสอนเรา’ เธอจึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวอูมิภัย บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า อูมิภัย นี้ เป็นชื่อเรียกความโกรธและความคับแค้นใจ [๑๖๓] กุมภีลภัย เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า ‘เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตกอยู่ ในกองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอ การทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุด จะพึงปรากฏ’ เพื่อนพรหมจารีตักเตือนพร่ำสอนเธอผู้บวชแล้วนั้นว่า ‘สิ่งนี้เธอ ควรฉัน สิ่งนี้เธอไม่ควรฉัน สิ่งนี้เธอควรบริโภค สิ่งนี้เธอไม่ควรบริโภค สิ่งนี้เธอ ควรลิ้ม สิ่งนี้เธอไม่ควรลิ้ม สิ่งนี้เธอควรดื่ม สิ่งนี้เธอไม่ควรดื่ม สิ่งที่เป็นกัปปิยะ๑- เธอควรฉัน สิ่งที่เป็นอกัปปิยะ๒- เธอไม่ควรฉัน สิ่งที่เป็นกัปปิยะเธอควรบริโภค สิ่งที่ เป็นอกัปปิยะเธอไม่ควรบริโภค สิ่งที่เป็นกัปปิยะเธอควรลิ้ม สิ่งที่เป็นอกัปปิยะเธอ ไม่ควรลิ้ม สิ่งที่เป็นกัปปิยะเธอควรดื่ม สิ่งที่เป็นอกัปปิยะเธอไม่ควรดื่ม สิ่งนี้เธอควร @เชิงอรรถ : @ กัปปิยะ หมายถึงสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมตามพุทธบัญญัติ เช่น น้ำปานะ ๘ ชนิด คือ (๑) น้ำมะม่วง (๒) น้ำหว้า @(๓) น้ำกล้วยมีเมล็ด (๔) น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด (๕) น้ำมะทราง (๖) น้ำผลจันทน์หรือน้ำองุ่น (๗) น้ำเหง้าบัว @(๘) น้ำผลมะปรางหรือน้ำลิ้นจี่ เภสัช ๕ ชนิด คือ (๑) เนยใส (๒) เนยข้น (๓) น้ำมัน (๔) น้ำผึ้ง (๕) น้ำอ้อย @โภชนะ ๕ ชนิด คือ (๑) ข้าวสุก (๒) ขนมสด (๓) ข้าวตู (๔) ปลา (๕) เนื้อ รวมทั้งสิ่งที่เป็นยามกาลิก @(สิ่งที่บริโภคได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง) สัตตาหกาลิก (สิ่งที่บริโภคได้ภายใน ๗ วัน) และยาวชีวิก (สิ่งที่บริโภคได้ @ตลอดชีวิต คือ เกลือ มูตร คูถ เถ้า ดิน) (ดูเทียบ วิ.มหา. (แปล) ๒/๒๓๘-๒๕๖/๓๙๕-๔๐๙) @ อกัปปยะ หมายถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมตามพุทธบัญญัติ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๘๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๗. จาตุมสูตร

ฉันในกาล๑- สิ่งนี้เธอไม่ควรฉันในเวลาวิกาล๒- สิ่งนี้เธอควรบริโภคในกาล สิ่งนี้เธอ ไม่ควรบริโภคในเวลาวิกาล สิ่งนี้เธอควรลิ้มในกาล สิ่งนี้เธอไม่ควรลิ้มในเวลาวิกาล สิ่งนี้เธอควรดื่มในกาล สิ่งนี้เธอไม่ควรดื่มในเวลาวิกาล’ เธอคิดอย่างนี้ว่า ‘เมื่อก่อน เราเป็นคฤหัสถ์เคี้ยวกินสิ่งที่เราต้องการ ไม่เคี้ยวกินสิ่งที่เราไม่ต้องการ บริโภคสิ่ง ที่เราต้องการ ไม่บริโภคสิ่งที่เราไม่ต้องการ ลิ้มสิ่งที่เราต้องการ ไม่ลิ้มสิ่งที่เราไม่ ต้องการ ดื่มสิ่งที่เราต้องการ ไม่ดื่มสิ่งที่เราไม่ต้องการ เคี้ยวกินทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะ และสิ่งเป็นอกัปปิยะ บริโภคทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ ลิ้มทั้งสิ่งเป็น กัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ ดื่มทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ เคี้ยวกินทั้ง ในกาลและในเวลาวิกาล บริโภคทั้งในกาลและในเวลาวิกาล ลิ้มทั้งในกาลและในเวลา วิกาล ดื่มทั้งในกาลและในเวลาวิกาล สิ่งใดที่ประณีตไม่ว่าจะเป็นของเคี้ยวหรือของ บริโภค ที่คหบดีผู้มีศรัทธาถวายแก่เราทั้งในกาลและในเวลาวิกาล ภิกษุเหล่านี้ ทำเหมือนปิดปากแม้ในสิ่งของเหล่านั้น’ เธอจึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวกุมภีลภัย บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า กุมภีลภัย นี้ เป็นชื่อเรียกความเป็นคนเห็นแก่ปากท้อง [๑๖๔] อาวัฏฏภัย เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า ‘เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตกอยู่ใน กองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอ การทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุด จะพึง ปรากฏ’ เธอบวชอยู่อย่างนี้ ในเวลาเช้าครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไป บิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือตำบล ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา มีสติไม่ตั้งมั่น ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นคหบดีหรือบุตรคหบดีในหมู่บ้านหรือตำบลนั้น ผู้เอิบอิ่ม @เชิงอรรถ : @ กาล หมายถึงเวลาตั้งแต่อรุณขึ้นถึงเที่ยงวัน (สํ.ส.อ. ๑/๔/๒๒) @ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๑๑ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๓ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๘๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๗. จาตุมสูตร

พรั่งพร้อม บำเรอตนด้วยกามคุณ ๕ ประการ คิดอย่างนี้ว่า ‘เมื่อก่อน เราเป็น คฤหัสถ์ผู้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม บำเรอตนด้วยกามคุณ ๕ ประการ โภคทรัพย์ใน ตระกูลของเราก็มีอยู่พร้อม เราสามารถที่จะใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญได้' เธอจึง บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวอาวัฏฏภัย บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า อาวัฏฏภัย นี้ เป็นชื่อเรียกกามคุณ ๕ ประการ [๑๖๕] สุสุกาภัย เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า ‘เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตกอยู่ใน กองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอ การทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุด จะพึง ปรากฏ’ เธอบวชอยู่อย่างนี้ ในเวลาเช้าครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป บิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือตำบล ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา มีสติไม่ตั้งมั่น ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นมาตุคาม(สตรี)ในหมู่บ้านหรือนิคมนั้น นุ่งไม่เรียบร้อย หรือห่มไม่เรียบร้อย ราคะรบกวนจิตของเธอ เพราะเห็นมาตุคามนุ่งไม่เรียบร้อย หรือห่มไม่เรียบร้อย เธอมีจิตฟุ้งซ่านเพราะราคะ จึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวสุสุกาภัย บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า สุสุกาภัย นี้ เป็นชื่อเรียกมาตุคาม ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล ที่กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัย นี้พึงประสบ๑-” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จาตุมสูตรที่ ๗ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๒๒/๑๘๔-๑๘๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๘๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๑๗๗-๑๘๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=17              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=3508&Z=3666                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=186              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=186&items=9              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=3220              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=186&items=9              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=3220                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i186-e1.php# https://suttacentral.net/mn67/en/sujato https://suttacentral.net/mn67/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :