ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. คหปติวรรค
หมวดว่าด้วยคหบดี
๑. กันทรกสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อกันทรกะ
[๑] ข้าพเจ้า๑- ได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้สระโบกขรณีชื่อคัคครา เขตกรุงจัมปา๒- พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้นแล บุตรของควาญช้างชื่อเปสสะและปริพาชก ชื่อกันทรกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นายเปสสะบุตรของควาญช้าง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร๓- ส่วนกันทรกปริพาชกได้สนทนา @เชิงอรรถ : @ คำว่า ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่นๆ ในเล่มนี้หมายถึงพระอานนท์ @ กรุงจัมปา เป็นพระนครที่น่ารื่นรมย์ เพราะมีต้นจัมปา(จำปา) ๕ สี มีดอกหอม ขึ้นอยู่หนาแน่นตามริมสระ @โบกขรณี ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในพระนครนั้น ณ ที่ไม่ไกลจากพระนครมีสระโบกขรณีอยู่สระหนึ่งมีชื่อว่าคัครา ที่มี @ชื่อเช่นนั้นก็เพราะพระมเหสีพระนามว่าคัครา ทรงให้ขุดไว้ (ม.ม.อ. ๒/๑/๑) @ ที่สมควร (เอกมนฺตํ) ในที่นี้หมายถึงที่เหมาะสม คือ เว้นโทษการนั่ง ๖ ประการ ได้แก่ (๑) ไกลเกินไป @(๒) ใกล้เกินไป (๓) อยู่เหนือลม (๔) สูงเกินไป (๕) อยู่ตรงหน้าเกินไป (๖) อยู่ข้างหลังเกินไป @(องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๖/๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วเหลียวดู ภิกษุสงฆ์ผู้นั่งนิ่งเงียบอยู่๑- ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เพียงเท่านี้ ท่าน พระโคดมก็ชื่อว่าแนะนำให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบแล้ว ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ก็ทรงแนะนำให้ ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่งได้ถึงเพียงนี้ เหมือนท่านพระโคดมทรงแนะนำให้ ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบอยู่ในบัดนี้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอนาคตกาล ก็จักทรงแนะนำให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่งได้ถึงเพียงนี้ เหมือนท่านพระโคดมทรงแนะนำให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบอยู่ในบัดนี้”
มนุษย์มีปากกับใจไม่ตรงกัน
[๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อนี้เป็นอย่างนั้น กันทรกะ ข้อนี้เป็น อย่างนั้น กันทรกะ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ก็ทรงแนะนำให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่งได้ถึงเพียงนี้ เหมือนเราแนะนำให้ ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบอยู่ในบัดนี้ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหลายในอนาคตกาล ก็จักทรงแนะนำให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่งได้ถึง เพียงนี้ เหมือนเราแนะนำให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบอยู่ในบัดนี้ @เชิงอรรถ : @ นั่งนิ่งเงียบอยู่ หมายถึงการนั่งด้วยอาการสำรวมกาย วาจา และใจ ด้วยความเคารพพระผู้มีพระภาค @ประการหนึ่ง ด้วยความที่ได้รับการศึกษามาแล้วอย่างดีประการหนึ่ง ภิกษุทุกรูปสำรวมกายไม่โยกไหว @ไม่คะนองมือและเท้า สำรวมวาจา ไม่พูดคุย ไม่กระแอมไอ และสำรวมใจไม่ฟุ้งซ่าน เปรียบเหมือนเสาเขื่อน @ที่ฝังไว้อย่างดี และเปรียบเหมือนมหาสมุทรที่ปราศจากลม (ม.ม.อ. ๒/๑/๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

จริงอยู่ กันทรกะ ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุจำนวนมากผู้เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑- ทำกิจที่ควรทำ๒- เสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว๓- หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ อนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ ยังมีภิกษุอีกจำนวนมากผู้ยังเป็นเสขบุคคล๔- มีปกติสงบ มีความเป็นอยู่สงบ มีปัญญา มีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา เธอเหล่านั้นมีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔ ประการอยู่ สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น) และโทมนัส(ความ ทุกข์ใจ) ในโลกได้ ๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้” @เชิงอรรถ : @ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลสจบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจ @ที่จะต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้อยู่จบพรหมจรรย์นี้ ได้ชื่อว่าอเสขบุคคล @(ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓) @ ทำกิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์ การละเหตุเกิดแห่งทุกข์ การทำ @ให้แจ้งซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓) @ สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หมายถึงสังโยชน์ ๑๐ ประการ คือ (๑) กามราคะ (๒) ปฏิฆะ (๓) มานะ (๔) ทิฏฐิ @(๕) วิจิกิจฉา (๖) สีลัพพตปรามาส (๗) ภวราคะ (๘) อิสสา (๙) มัจฉริยะ (๑๐) อวิชชา สังโยชน์เหล่านี้ @เรียกว่า ภวสังโยชน์ เพราะผูกพันหมู่สัตว์ไว้ในภพน้อยภพใหญ่ (ม.มู.อ. ๑/๘/๔๗) @ เสขบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ที่ยังต้องศึกษา ๓ จำพวก ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี @ผู้ยังต้องฝึกอบรมในไตรสิกขา คือ (๑)อธิสีลสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องศีล (๒)อธิจิตตสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องจิต @(สมาธิ) (๓)อธิปัญญาสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องปัญญา (ม.มู.อ. ๑/๗/๔๔, องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๖/๓๑๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

[๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายเปสสะบุตรของควาญช้างได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ สติปัฏฐาน ๔ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ดีแล้วเพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วง โสกะ(ความเศร้าโศก) และปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) เพื่อดับทุกข์(ความทุกข์กาย) และโทมนัส(ความทุกข์ใจ) เพื่อบรรลุญายธรรม๑- เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่จริง แม้ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว ก็มีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้อยู่ได้ตามกาลที่สมควร ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เพียงเท่านี้ พระผู้มี พระภาคก็ชื่อว่าทรงทราบประโยชน์ และสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อ คนรกโลก คนเดนคน คนเจ้าเล่ห์ยังมีอยู่อย่างนี้ เป็นความจริงที่คนสอนยาก สัตว์เลี้ยงฝึกง่าย เพราะข้าพระองค์สามารถให้ช้างที่ฝึกแล้วทำตามได้ เช่น ให้เดินไป เดินมาในระหว่างกรุงจัมปาก็ได้ ให้ทำอาการต่างๆ คือ ยกชูขาหน้าทั้ง ๒ กลิ้ง คู้เข่า ย่อตัวได้ทุกอย่าง แต่เหล่าชน คือ ทาสก็ดี คนรับใช้ก็ดี คนงานก็ดีของ ข้าพระองค์ ทำอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง คิดอีกอย่างหนึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคก็ชื่อว่าทรงทราบ ประโยชน์และสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อคนรกโลก คนเดนคน คนเจ้าเล่ห์ยังมีอยู่อย่างนี้ เป็นความจริงที่คนสอนยาก สัตว์เลี้ยงฝึกง่าย” @เชิงอรรถ : @ ญายธรรม ในที่นี้หมายถึงธรรมคืออริยมรรค (สํ.ม.อ. ๓/๒๑-๓๐/๑๙๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

บุคคล ๔ ประเภท
[๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เปสสะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เปสสะ คนสอนยาก สัตว์เลี้ยงฝึกง่าย บุคคล ๔ ประเภท๑- นี้ มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ ประเภท ไหนบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน ๒. เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ๓. เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ๔. เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น เป็นผู้ไม่หิว๒- ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน เปสสะ บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนี้ ท่านชอบใจบุคคลประเภทไหนเล่า” นายเปสสะบุตรของควาญช้างกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ ไม่ชอบใจบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน ข้าพระองค์ไม่ชอบใจบุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน ข้าพระองค์ไม่ชอบใจบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการ ทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๙๘/๓๐๓-๓๐๔, อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๗๔-๑๗๗/๒๐๖-๒๐๙ @ เป็นผู้ไม่หิว ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา เพราะตัณหาท่านเรียกว่า ความหิว (ม.ม.อ. ๒/๔/๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

เดือดร้อน ข้าพระองค์ชอบใจบุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการ ทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน (เพราะ)บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น เป็นผู้ ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน” [๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เปสสะ เพราะเหตุไรเล่า ท่านจึงไม่ชอบใจ บุคคล ๓ ประเภทนี้” นายเปสสะบุตรของควาญช้างกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคล ผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน ชื่อว่าทำตนซึ่งรักสุข เกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม เพราะเหตุนี้ ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจบุคคลนี้ บุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ชื่อว่าทำ ผู้อื่นซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม เพราะเหตุนี้ ข้าพระองค์จึงไม่ชอบ ใจบุคคลนี้ ส่วนบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ชื่อว่า ทำตนและผู้อื่นซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม เพราะเหตุนี้ ข้าพระองค์ จึงไม่ชอบใจบุคคลนี้ บุคคลใดไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตน ให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน บุคคลนั้นชื่อว่าไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน เพราะเหตุนี้ ข้าพระองค์ จึงชอบใจบุคคลนี้ เอาเถิด บัดนี้ ข้าพระองค์ขอทูลลากลับ เพราะมีกิจ มีหน้าที่ที่จะ ต้องทำอีกมาก พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เปสสะ เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” จากนั้น นายเปสสะบุตรของควาญช้างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

[๖] ครั้งนั้น เมื่อนายเปสสะบุตรของควาญช้างจากไปไม่นาน พระผู้มีพระภาค ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นายเปสสะบุตรของควาญช้าง เป็นคนเฉลียวฉลาด๑- มีปัญญามาก๒- ถ้านายเปสสะบุตรของควาญช้างจะพึงนั่งสักครู่ เพียงชั่วเวลาที่เราจำแนกบุคคล ๔ ประเภทนี้โดยพิสดาร ก็จักได้รับประโยชน์อัน ใหญ่หลวง๓- แต่ถึงจะฟังโดยสังเขปเพียงเท่านี้ นายเปสสะบุตรของควาญช้างก็ยังได้ รับประโยชน์อันใหญ่หลวง” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลที่สมควร ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลที่สมควร ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงจำแนกบุคคล ๔ ประเภทนี้โดยพิสดาร ภิกษุทั้งหลายได้สดับจากพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ ให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรื่องนี้ว่า [๗] “บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นอเจลก(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขา แบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจาก ปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหาร คร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหาร @เชิงอรรถ : @ เฉลียวฉลาด หมายถึงฉลาดในการบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ประการ (ม.ม.อ. ๒/๖/๗) @ มีปัญญามาก หมายถึงมีปัญญามาก เพราะประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดทรงจำสติปัฏฐาน ๔ ประการนั้น @(ม.ม.อ. ๒/๖/๗) @ ประโยชน์อันใหญ่หลวง ในที่นี้หมายถึงโสดาปัตติผล (ม.ม.อ. ๒/๖/๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

ของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่มๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง รับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารใน ถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ ค้างคืน ๑ วัน กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กินอาหารที่เก็บไว้ ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้ออยู่ ด้วยประการอย่างนี้ เขาเป็นผู้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหาร กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็น อาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินมูลโคเป็นอาหาร กินเหง้า และผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ เขานุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือ มีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้า กัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า ถอนผมและหนวด คือถือการถอนผมและหนวด ยืนอย่างเดียวไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่ง คือถือการเดิน กระโหย่ง(เหยียบพื้นไม่เต็มเท้า) นอนบนหนาม คือถือการนอนบนหนาม อาบน้ำ วันละ ๓ ครั้ง คือ ถือการลงอาบน้ำ๑- ถือการย่างและอบกายหลายรูปแบบอยู่ ด้วยประการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการ ทำตนให้เดือดร้อน [๘] บุคคลเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร ฆ่านก ฆ่าเนื้อ(เลี้ยงชีพ) เป็นคนโหดเหี้ยม เป็นคนฆ่าปลา เป็นโจร เป็นคนฆ่าโจร เป็นคนฆ่าโค เป็นคนคุมเรือนจำ หรือบาง พวกเป็นผู้ทำการทารุณ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.สี.(แปล) ๙/๓๙๔-๓๙๖/๑๖๔-๑๖๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบใน การทำผู้อื่นให้เดือดร้อน [๙] บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็น อย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก๑- แล้วก็ดี เป็นพราหมณมหาศาลก็ดี พระราชานั้นโปรดให้สร้างโรงบูชายัญหลังใหม่ ทางด้าน ทิศตะวันออกแห่งพระนคร ปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงนุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ ทรงทาพระวรกายด้วยเนยใสและน้ำมัน ทรงเกาพระปฤษฎางค์ด้วยเขามฤค เข้าไป ยังโรงบูชายัญหลังใหม่พร้อมด้วยพระมเหสีและพราหมณ์ปุโรหิต บรรทมบนพื้นหญ้า เขียวขจี มิได้ลาดด้วยเครื่องปูลาด ดำรงพระชนม์อยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ ๑ แห่งโค แม่ลูกอ่อนที่มีอยู่ตัวเดียว พระมเหสีดำรงพระชนม์อยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ ๒ พราหมณ์ ปุโรหิตดำรงชีวิตอยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ ๓ ทรงบูชาไฟด้วยน้ำนมเต้าที่ ๔ ลูกโคมี ชีวิตอยู่ด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชารับสั่งอย่างนี้ว่า ‘จงฆ่าโคตัวผู้ประมาณเท่านี้ บูชายัญ จงฆ่าลูกโคตัวผู้ประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าลูกโคตัวเมียประมาณเท่านี้ บูชายัญ จงฆ่าแพะประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าแกะประมาณเท่านี้บูชายัญ (จงฆ่าม้า ประมาณเท่านี้บูชายัญ) จงตัดต้นไม้ประมาณเท่านี้เพื่อทำเสาบูชายัญ จงเกี่ยวหญ้า ประมาณเท่านี้เพื่อลาดพื้น’ เหล่าชนผู้เป็นทาสก็ดี เป็นคนรับใช้ก็ดี เป็นคนงานก็ดี ของพระราชานั้น ถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม มีน้ำตานองหน้า ร้องไห้ไป ทำงานไป ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการ ทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน @เชิงอรรถ : @ มูรธาภิเษก หมายถึงการรดน้ำศักดิ์สิทธิ์เหนือพระเศียรในงานราชาภิเษกหรืองานพระราชพิธี (ม.ม.อ. ๒/๙/๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

พระพุทธคุณ
[๑๐] บุคคลเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตน ให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน เป็นอย่างไร คือ ตถาคต๑- อุบัติขึ้นมาในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ๒- ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ ผู้มีพระภาค๓- ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ @เชิงอรรถ : @ ตถาคต ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีพระภาค บัณฑิตเรียกว่า ‘ตถาคต’ เพราะเหตุ ๘ ประการ คือ (๑) เพราะ @เสด็จมาแล้วอย่างนั้น (๒) เพราะเสด็จไปแล้วอย่างนั้น (๓) เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะอันแท้จริง (๔) เพราะ @ตรัสรู้ธรรมที่แท้ตามความเป็นจริง (๕) เพราะทรงเห็นจริง (๖) เพราะตรัสวาจาจริง (๗) เพราะทรงทำจริง @(๘) เพราะทรงครอบงำ (ผู้ที่ยึดถือลัทธิอื่นทั้งหมดในโลกพร้อมทั้งเทวโลก) (ม.มู.อ. ๑/๑๒/๕๐) @ ชื่อว่า เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ วิชชา ได้แก่ วิชชา ๓ และวิชชา ๘ ดังนี้ วิชชา ๓ คือ @(๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้ (๒) จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติ(ตาย)และอุบัติ(เกิด) @ของสัตว์ (๓) อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ วิชชา ๘ คือ (๑) วิปัสสนาญาณ ญาณที่เป็น @วิปัสสนา (๒) มโนมยิทธิ มีฤทธิ์ทางใจ (๓) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ (๔) ทิพพโสต หูทิพย์ (๕) เจโตปริย- @ญาณ รู้จักกำหนดจิตผู้อื่นได้ (๖) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้ (๗) ทิพพจักขุ ตาทิพย์ @หรือเรียกว่าจุตูปปาตญาณ (๘) อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ จรณะ ๑๕ คือ (๑) สีลสัมปทา @ความถึงพร้อมด้วยศีล (๒) อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ (๓) โภชเนมัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จัก @ประมาณในการบริโภค (๔) ชาคริยานุโยค การหมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น (๕) มีศรัทธา @(๖) มีหิริ (๗) มีโอตตัปปะ (๘) เป็นพหูสูต (๙) วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร (๑๐) มีสติมั่นคง @(๑๑) มีปัญญา (๑๒) ปฐมฌาน (๑๓) ทุติยฌาน (๑๔) ตติยฌาน (๑๕) จตุตถฌาน (วิ.อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘) @ ชื่อว่า เป็นพระผู้มีพระภาค เพราะ (๑) ทรงมีโชค (๒) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (๓) ทรงประกอบด้วย @ภคธรรม ๖ ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จประโยชน์ @ตามต้องการและความเพียร) (๔) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (๕) ทรงเสพอริยธรรม (๖) ทรงคลายตัณหา @ในภพทั้ง ๓ (๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (๘) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (๙) ทรงมีส่วนแห่งปัจจัย ๔ @เป็นต้น (วิ.อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ด้วยตนเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด๑- ประกาศพรหมจรรย์๒- พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน(คนผู้เกิดภายหลัง) ในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ได้สดับธรรม นั้นแล้ว เกิดศรัทธาในตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็น เรื่องอึดอัด๓- เป็นทางมาแห่งธุลี๔- การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง๕- การที่ผู้ครองเรือนจะ ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ขัดไม่ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต @เชิงอรรถ : @ ธรรมมีความงามในเบื้องต้นหมายถึงศีล ธรรมมีความงามในท่ามกลางหมายถึงอริยมรรค และธรรมมีความ @งามในที่สุดหมายถึงพระนิพพาน (ที.สี.อ. ๑/๑๙๐/๑๕๙) @ พรหมจรรย์ หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย ๑๒ ประการ คือ (๑) ทาน การให้ (๒) ไวยาวัจจะ @การขวนขวายช่วยเหลือ (๓) ปัญจสิกขาบท ศีลห้า (๔) พรหมวิหาร การประพฤติพรหมวิหาร (๕) ธรรม- @เทศนา (๖) เมถุนวิรัติ การงดเว้นจากการเสพเมถุน (๗) สทารสันโดษ ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน @(๘) อุโปสถังคะ องค์อุโบสถ (๙) อริยมรรค ทางอันประเสริฐ (๑๐) ศาสนาที่รวมไตรสิกขา (๑๑) อัธยาศัย @(๑๒) วิริยะ ความเพียร แต่ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ (ม.มู.อ. ๑/๑๕๕/๓๖๒-๓๖๔, ที.สี.อ. ๑/๑๙๐/๑๖๐) @ การอยู่ครองเรือนชื่อว่าเป็นเรื่องอึดอัด เพราะไม่มีเวลาว่างเพื่อจะทำกุศลกรรม แม้เรือนจะมีเนื้อที่กว้างขวางถึง @๖๐ ศอก มีบริเวณภายในบ้านตั้ง ๑๐๐ โยชน์ มีคนอยู่อาศัยเพียง ๒ คนคือสามีภรรยา ก็ยังถือว่าอึดอัด @เพราะมีความห่วงกังวลกันและกัน (ที.สี.อ. ๑/๑๙๑/๑๖๓) @ ชื่อว่าเป็นทางแห่งธุลี เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่นราคะเป็นต้น @(ที.สี.อ. ๑/๑๙๑/๑๖๓) @ นักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้วและเทพวิมาน ซึ่งมีประตูหน้าต่างปิดมิดชิด ก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง @เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใดๆ เลย (ที.สี.อ. ๑/๑๙๑/๑๖๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

สิกขาและสาชีพของภิกษุ๑-
[๑๑] เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ๒- ของภิกษุ ทั้งหลาย คือ ๑. ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความ ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ๒. ละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ รับเอาแต่ ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่ ๓. ละ พฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์๓- เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม๔- อันเป็นกิจของชาวบ้าน ๔. ละ เว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักเชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก ๕. ละ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไป บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความจากฝ่ายโน้นแล้วไม่มา บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ ปรองดองกัน ชื่นชมยินดี เพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำ ที่สร้างสรรค์ความสามัคคี @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๑๙๔-๒๔๘/๖๕-๘๔ @ สิกขา หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา แต่ในที่นี้หมายถึง อธิสีลสิกขา @สาชีพ หมายถึงสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ร่วมกัน ผู้ดำเนินชีวิตร่วมกัน @มีความประพฤติเสมอกัน (ม.มู.อ. ๒/๒๙๒/๑๑๓) และดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๕/๓๓, @องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๙/๒๓๕ @ พรหมจรรย์ มีความหมายหลายนัย ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ หรือการงดเว้นจากเมถุนธรรม @(ที.สี.อ. ๑/๑๙๐/๑๖๐) @ เมถุนธรรม หมายถึงการร่วมประเวณี การเสพสังวาส กล่าวคือ การเสพอสัทธรรมอันเป็นประเวณีของ @ชาวบ้าน มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ เป็นการกระทำของคนที่เป็นคู่ๆ @(วิ.มหา. (แปล) ๑/๕๕/๔๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

๖. ละ เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ ๗. ละ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิง ประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา ๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม๑- และภูตคาม๒- ๙. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล๓- ๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นที่ เป็นข้าศึกแก่กุศล ๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอมและเครื่องประทินผิว อันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว ๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่ ๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน ๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ๔- @เชิงอรรถ : @ พืชคาม หมายถึงพืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้ว ยังสามารถงอกขึ้นได้อีก (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖, @ที.สี.อ. ๑/๑๑/๗๘) @ ภูตคาม หมายถึงของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่ มี ๕ ชนิด คือ ที่เกิดจากเหง้า เช่น กระชาย, @เกิดจากต้น เช่น โพธิ์, เกิดจากตา เช่น อ้อย. เกิดจากยอด เช่น ผักชี. เกิดจากเมล็ด เช่น ข้าว @(ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖, ที.สี.อ. ๑/๑๑/๗๘) @ เวลาวิกาล คือ เวลาที่ห้ามไว้เฉพาะแต่ละเรื่อง เวลาวิกาลในที่นี้หมายถึงผิดเวลาที่กำหนดไว้ คือตั้งแต่ @หลังเที่ยงวัน จนถึงเวลาอรุณขึ้น (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖, ที.สี.อ. ๑/๑๐/๗๕) @ ธัญญาหารดิบ หมายถึงธัญชาติที่มีเมล็ดมีเปลือกสมบูรณ์พร้อมที่จะงอกขึ้นได้ เช่น ข้าวเปลือก @(ที.สี.อ. ๑/๑๐/๗๕) อีกนัยหนึ่ง หมายถึงธัญชาติ ๗ ชนิด คือ (๑) ข้าวสาลี (๒) ข้าวเปลือก (๓) ข้าวเหนียว @(๔) ข้าวละมาน (๕) ข้าวฟ่าง (๖) ลูกเดือย (๗) หญ้ากับแก้ (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ ๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี ๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย ๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ ๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร ๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา ๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่ นาและที่ดิน ๒๒. เว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร ๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย ๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัด ๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง ๒๖. เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การ ปล้น และการขู่กรรโชก ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใดๆ ก็ไปได้ทันที นกบินไป ณ ที่ใดๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ แม้ฉันใด ภิกษุ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใดๆ ก็ไปได้ทันที ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมเสวยสุข อันปราศจากโทษในภายใน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

การสำรวมอินทรีย์
[๑๒] ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ๑- ไม่แยกถือ๒- ย่อมปฏิบัติเพื่อ สำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา และโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความสำรวม อริยอินทรียสังวรนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนกับกิเลสในภายใน ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง @เชิงอรรถ : @ รวบถือ (อนิมิตฺตคฺคาหี มองภาพด้านเดียว) คือ มองภาพรวมโดยเห็นเป็นหญิงหรือชาย เห็นว่ารูปสวย @เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาด้วยอำนาจฉันทราคะ @(อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/๔๕๖-๔๕๗) @ แยกถือ (อนุพฺยญฺชนคฺคาหี มองภาพ ๒ ด้าน) คือ มองแยกแยะเป็นส่วนๆ ไปด้วยอำนาจกิเลส เช่น @เห็นมือ เท้า ว่าสวยหรือไม่สวย เห็นอาการยิ้มแย้ม หัวเราะ การพูด การเหลียวซ้ายแลขวา ว่าน่ารักหรือ @ไม่น่ารัก ถ้าเห็นว่าสวยน่ารักก็เกิดอิฏฐารมณ์ ถ้าเห็นว่าไม่สวยไม่น่ารักก็เกิดอนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่า @ปรารถนา) (อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/๔๕๖-๔๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

การละนิวรณ์
[๑๓] ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร และอริยสติ- สัมปชัญญะนี้แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหาร เสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา (ความ เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น) ในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากอภิชฌา ละพยาบาทและความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูล สรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาทและความมุ่งร้าย ละถีนมิทธะ (ความ หดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระ จิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ) เป็นผู้ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากวิจิกิจฉา
ฌาน ๔
ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต เป็นเครื่อง ทอนกำลังปัญญาแล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะ ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน บรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์และไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

วิชชา ๓
[๑๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑- ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๒- เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามี ชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ [๑๕] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่ สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด @เชิงอรรถ : @ กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) หมายถึงกิเลสเพียงดังเนิน คือ ราคะ โทสะ โมหะ มลทินหรือเปือกตม ในที่ @บางแห่ง หมายถึงพื้นที่เป็นเนินตามที่พูดกันว่าเนินโพธิ์ เนินเจดีย์ เป็นต้น แต่ในที่นี้ ท่านพระสารีบุตร @ประสงค์เอากิเลสอย่างเผ็ดร้อนนานัปการว่า กิเลสเพียงดังเนิน (ม.มู.อ. ๑/๕๗/๑๕๑) @ สังวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเสื่อม คือช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเจริญ @คือช่วงระยะเวลาที่โลกกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ (วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๑. กันทรกสูตร

พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑- แต่หมู่สัตว์ที่ ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิด ในสุคติโลกสวรรค์ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็น ไปตามกรรม อย่างนี้แล [๑๖] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ๒- นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๓- ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๔- ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้อีกต่อไป๕-’ @เชิงอรรถ : @ ชื่อว่า อบาย เพราะปราศจากความงอกงาม กล่าวคือความเจริญหรือความสุข ชื่อว่า ทุคติ เพราะเป็นคติ @คือเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ ชื่อว่า วินิบาต เพราะเป็นสถานที่ตกไปของหมู่สัตว์ที่ทำความชั่ว ชื่อว่า นรก @เพราะปราศจากความยินดี เหตุเป็นที่ไม่มีความสบายใจ (ม.มู.อ. ๑/๑๕๓/๓๕๘) @ อาสวะ หมายถึงกิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซาบไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ @มี ๔ อย่าง คือ (๑) กามาสวะ อาสวะคือกาม (๒) ภวาสวะ อาสวะคือภพ (๓) ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ @(๔) อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา (ตามนัย อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖-๕๘๗) แต่พระสูตรจัดเป็น ๓ @เพราะสงเคราะห์ทิฏฐาสวะเข้าในภวาสวะ (ม.มู.อ. ๑/๑๔/๖๘) @๓-๔ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๒ ข้อ ๒ (กันทรกสูตร) หน้า ๓ ในเล่มนี้ @ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความหมดสิ้น @แห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า การบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด @(ม.มู.อ. ๑/๕๔/๑๓๘, ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๒. อัฏฐกนาครสูตร

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบ ในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน จึงเป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
กันทรกสูตรที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๑-๑๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=1&Z=302                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=1              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=1&items=17              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=1&items=17              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i001-e1.php# https://suttacentral.net/mn51/en/sujato https://suttacentral.net/mn51/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :