ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑. สาเลยยกสูตร

๕. จูฬยมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดเล็ก
๑. สาเลยยกสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อสาลา
เหตุปัจจัยนำไปสุคติและทุคติ
[๔๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลกับภิกษุหมู่ใหญ่ถึงบ้าน พราหมณ์ชื่อสาลาของชาวโกศล พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาได้ฟังข่าวว่า๑- “ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริก ไปในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อสาลาโดย ลำดับแล้ว ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น พระผู้มีพระภาค๒-’ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศ ให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และ มีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง” ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกได้ทูลสนทนา ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๕๕/๘๗ @ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๖๔/๒๔๗, วิ.อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๗๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑. สาเลยยกสูตร

ประนมมือต่อพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและโคตร ในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑- ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวก ในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติ ไม่สม่ำเสมอคือความประพฤติอธรรมเป็นเหตุ๒- พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิด ในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอคือความประพฤติธรรมเป็นเหตุ” พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นกราบทูลว่า “เนื้อความแห่งธรรมที่ท่านพระโคดม ตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจงให้พิสดาร ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบโดยพิสดารได้ ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจง ให้พิสดารนี้แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย โดยวิธีที่ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงทราบโดย พิสดารเถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่าน ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” พวกพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี พระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖๘ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๖๑ ในเล่มนี้ @ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ(วิสมจริยา) คือ ความประพฤติอธรรม(อธัมมจริยา) หมายถึงอกุศล- @กรรมบถ ๑๐ ประการ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๗/๓๔๘) (วิสมจริยา + อธัมมจริยา = อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๗๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑. สาเลยยกสูตร

อกุศลกรรมบถ ๑๐
[๔๔๐] “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ ความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ ความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ ความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้๑- ๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ใน การฆ่าและการทุบตี ไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง ๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ ของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย ๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง ของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของมารดา บิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาว น้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่ในปกครองของโคตร ที่ ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้สตรีที่ บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ อย่างนี้แล @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๑๑/๓๔๖-๓๔๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๗๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑. สาเลยยกสูตร

ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็น พยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น’ บุรุษนั้นไม่รู้ก็กล่าว ว่า ‘รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ หรือเห็น ก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะ บุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลาย ฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น ยุยงคนที่สามัคคีกัน ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน ชื่นชมยินดี เพลิดเพลิน ต่อผู้ที่แตกแยกกัน พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน ๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำหยาบคาย กล้าแข็ง เผ็ดร้อน หยาบคายร้ายกาจแก่ผู้อื่น กระทบกระทั่งผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ ๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำที่ไม่จริง พูดคำที่ไม่ อิงประโยชน์ พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย พูดคำที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยไม่ เหมาะแก่เวลา ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ อย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๗๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑. สาเลยยกสูตร

ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์ เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่อง ปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’ ๒. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศไป หรืออย่าได้มี’ ๓. เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ ทำดีและทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็ไม่มีในโลก’ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ อย่างนี้แล พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดใน อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติ อธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้
กุศลกรรมบถ ๑๐
[๔๔๑] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความ ประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความ ประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความ ประพฤติธรรมทางใจมี ๓ ประการ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๗๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑. สาเลยยกสูตร

ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็น อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของมิได้ ให้ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย ๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติ ล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของมารดาบิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่ ในปกครองของญาติ ที่ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ อย่างนี้แล ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลาง ราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าว สิ่งนั้น’ บุรุษนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ ไม่เห็น ก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือ เห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๗๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑. สาเลยยกสูตร

๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไม่ไป บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มา บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคน ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี ๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ ๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดแต่คำจริง พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่ อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ อย่างนี้แล ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางใจมี ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์ อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อัน เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’ ๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้ จง เป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’ ๓. เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดี และทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๗๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑. สาเลยยกสูตร

โอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้ง โลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง มีอยู่ ในโลก’ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางใจมีอยู่ ๓ ประการ อย่างนี้แล พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจากตาย แล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติ ธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้
ผลแห่งความประพฤติสม่ำเสมอ
[๔๔๒] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวก ขัตติยมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวก ขัตติยมหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ เป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวกพราหมณมหาศาล ฯลฯ เราพึงเกิดในพวก คหบดีมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวกคหบดี- มหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอคือเป็นผู้ ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช’ เป็นไปได้ที่หลังจากตาย แล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคล นั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอคือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทพชั้นยามา ... เทพชั้นดุสิต ... เทพชั้นนิมมานรดี ... เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เทพผู้นับเนื่อง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๗๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๑. สาเลยยกสูตร

ในหมู่พรหม’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพผู้นับเนื่องใน หมู่พรหม๑- ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็น ผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นอาภา’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นอาภา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นปริตตาภา ... เทพชั้นอัปปมาณาภา ... เทพชั้นอาภัสสรา ... เทพชั้นปริตตสุภา ... เทพชั้นอัปปมาณสุภา ... เทพชั้น สุภกิณหา ... เทพชั้นเวหัปผลา ... เทพชั้นอวิหา ... เทพชั้นอตัปปา ... เทพชั้นสุทัสสา ... เทพชั้นสุทัสสี ... เทพชั้นอกนิฏฐภพ ... เทพผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ ... เทพผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ ... เทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ ... เทพผู้ เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิด ในเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้น เป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติ ธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เป็น ไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคล นั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล” @เชิงอรรถ : @ เทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหม(เทพชั้นพรหมกายิกา) หมายถึงเทวดาผู้เคยได้บรรลุฌาน มีฌานชั้นปฐมฌาน @เป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๔๒/๒๔๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๗๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๒. เวรัญชกสูตร

ชาวบ้านสาลาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
[๔๔๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกพราหมณ์และคหบดี ชาวบ้านสาลาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่าน พระโคดม ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของ ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
สาเลยยกสูตรที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๔๗๑-๔๘๐. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=12&siri=41              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=8867&Z=9055                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=483              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=483&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=6003              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=483&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=6003                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i483-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i483-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.041.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.041.nymo.html https://suttacentral.net/mn41/en/sujato https://suttacentral.net/mn41/en/horner https://suttacentral.net/mn41/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :