ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๑. กกจูปมสูตร

๓. โอปัมมวรรค
หมวดว่าด้วยข้ออุปมา
๑. กกจูปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยเลื่อย
[๒๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับ ภิกษุณีทั้งหลายเกินเวลา ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลาย อย่างนี้ ถ้าภิกษุบางรูปติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าท่านพระโมลิยผัคคุนะ ท่าน พระโมลิยผัคคุนะก็โกรธไม่พอใจภิกษุรูปนั้นถึงกับก่ออธิกรณ์๑- ขึ้นก็มี อนึ่ง ถ้าภิกษุ บางรูปติเตียนท่านพระโมลิยผัคคุนะต่อหน้าภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีเหล่านั้นก็พากัน โกรธไม่พอใจภิกษุรูปนั้นถึงกับก่ออธิกรณ์ขึ้นก็มี ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับ ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้ ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีเกิน เวลา ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีอย่างนี้ ถ้าภิกษุบางรูป ติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าท่านพระโมลิยผัคคุนะ ท่านพระโมลิยผัคคุนะก็โกรธ @เชิงอรรถ : @ อธิกรณ์ หมายถึงเรื่องที่สงฆ์จะต้องดำเนินการ มี ๔ อย่าง คือ (๑) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับ @พระธรรมวินัย (๒) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ (ละเมิดสิกขาบท) (๓) อาปัตตาธิกรณ์ @การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ (๔) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์จะ @ต้องทำ เช่น ให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน แต่ในที่นี้หมายถึงอนุวาทาธิกรณ์ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๕/๑๒, @ม.มู.อ. ๒/๒๒๒/๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๓๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๑. กกจูปมสูตร

ไม่พอใจภิกษุรูปนั้นถึงกับก่ออธิกรณ์ขึ้นก็มี อนึ่ง ถ้าภิกษุบางรูปติเตียนท่านพระ- โมลิยผัคคุนะต่อหน้าภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีเหล่านั้นก็พากันโกรธไม่พอใจภิกษุรูป นั้นถึงกับก่ออธิกรณ์ขึ้นก็มี ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีอย่างนี้”
ทรงเตือนพระโมลิยผัคคุนะที่โกรธ
[๒๒๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุ เธอจงไปเรียกโมลิยผัคคุนภิกษุตามคำของเราว่า ‘ท่านผัคคุนะ พระศาสดาตรัสเรียกท่าน’” ภิกษุรูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าไปหาท่านพระโมลิยผัคคุนะถึงที่อยู่แล้ว ได้กล่าวกับท่านว่า “ท่านผัคคุนะ พระศาสดาตรัสเรียกท่าน” ท่านพระโมลิยผัคคุนะรับคำภิกษุรูปนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านโมลิยผัคคุนะว่า “ผัคคุนะ จริงหรือที่เขาลือกันว่า เธออยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายเกินเวลา เธออยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้ ถ้าภิกษุบางรูปติเตียนภิกษุณีเหล่านั้น ต่อหน้าเธอ เธอก็โกรธไม่พอใจภิกษุรูปนั้นถึงกับก่ออธิกรณ์ขึ้นก็มี อนึ่ง ถ้าภิกษุ บางรูปติเตียนเธอต่อหน้าภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีเหล่านั้นก็พากันโกรธ ไม่พอใจ ภิกษุรูปนั้นถึงกับก่ออธิกรณ์ขึ้นก็มี จริงหรือที่เธออยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้” ท่านพระโมลิยผัคคุนะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามต่อไปว่า “เธอเป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตด้วยศรัทธามิใช่หรือ” ท่านพระโมลิยผัคคุนะทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” [๒๒๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผัคคุนะ การที่เธออยู่คลุกคลีกับภิกษุณี ทั้งหลายเกินเวลานี้ ไม่สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๓๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๑. กกจูปมสูตร

ด้วยศรัทธาเลย เพราะฉะนั้น แม้ถ้าภิกษุบางรูปจะพึงติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อ หน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอก็ควรละฉันทะและวิตกอันอาศัยเรือน๑- เสีย แม้ในข้อนั้น เธอควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะ’ ผัคคุนะ เธอควรสำเหนียกอย่างนี้แล เพราะฉะนั้น ถ้าใครๆ จะพึงทำร้ายภิกษุณีเหล่านั้นด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ และศัสตราต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอก็ควรละฉันทะและวิตกอันอาศัย เรือนเสีย เธอควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่ง วาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มี โทสะ’ เธอควรสำเหนียกอย่างนี้แล เพราะฉะนั้น ถ้าใครๆ ติเตียนต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอควรละฉันทะ และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย เธอควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มี เมตตาจิต ไม่มีโทสะ’ เธอควรสำเหนียกอย่างนี้แล ผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครๆ จะพึงทำร้ายเธอด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ และศัสตรา แม้ในข้อนั้น เธอควรละฉันทะและวิตกอันอาศัยเรือนเสีย เธอควร สำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และ จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะ’ ผัคคุนะ เธอควรสำเหนียกอย่างนี้แล” @เชิงอรรถ : @ อาศัยเรือน หมายถึงอาศัยกามคุณ ๕ (คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) (ม.มู.อ. ๒/๒๒๔/๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๓๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๑. กกจูปมสูตร

ประโยชน์ของการฉันอาหารมื้อเดียว
[๒๒๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย สมัยหนึ่ง ภิกษุจำนวนมากได้ทำให้เรามีจิตยินดี เราได้เตือนภิกษุทั้งหลาย ณ ที่นี้ว่า ‘เราฉันอาหารมื้อเดียว๑- เราเมื่อฉันอาหารมื้อเดียว ย่อมรู้สึกว่ามี อาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก มาเถิด แม้พวกเธอก็จงฉันอาหารมื้อเดียว แม้เธอทั้งหลายเมื่อฉันอาหารมื้อเดียว จักรู้สึกว่ามีอาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลัง และ อยู่อย่างผาสุก’ เราไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นอีก เพียงแต่ทำให้สติเกิดขึ้นใน ภิกษุเหล่านั้นเท่านั้น รถที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย ซึ่งฝึกมาดีแล้ว แล่นไปตาม ทางใหญ่สี่แพร่ง บนพื้นราบเรียบโดยไม่ต้องใช้แส้ เพียงแต่นายสารถีผู้ฝึกหัดม้าที่ ฉลาดขึ้นรถแล้วจับสายบังเหียนด้วยมือซ้าย จับแส้ด้วยมือขวา เตือนม้าให้วิ่งตรงไป หรือเลี้ยวกลับไปตามถนนที่ต้องการได้ตามความปรารถนา แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้น เหมือนกัน ไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นอีก เพียงแต่ทำให้สติเกิดขึ้นในภิกษุ เหล่านั้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น แม้เธอทั้งหลายก็จงละอกุศลธรรม จงทำความ พากเพียรในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เธอทั้งหลายก็จักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุทั้งหลาย ป่าสาละอันกว้าง ใกล้บ้านหรือนิคม ป่านั้นรกไปด้วยต้นละหุ่ง บุรุษบางคนหวังดี หวังประโยชน์ และหวังความเจริญเติบโตของต้นสาละนั้น เขา จึงตัดหน่อต้นสาละที่คด ซึ่งคอยแย่งอาหารแล้วนำออกไปทิ้งที่ภายนอก แผ้วถาง ภายในป่าให้สะอาดเรียบร้อย คอยบำรุงรักษาต้นสาละเล็กๆ ซึ่งตรง แข็งแรงดี ไว้อย่างดี ด้วยการกระทำดังกล่าวมานี้ ต่อมา ป่าไม้สาละนั้นก็เจริญ งอกงาม ไพบูลย์ขึ้นโดยลำดับ แม้ฉันใด แม้เธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงละอกุศลธรรม จงทำความพากเพียรในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอทั้งหลายก็จักถึง ความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ @เชิงอรรถ : @ ฉันอาหารมื้อเดียว หมายถึงการฉันอาหารในเวลาเช้า คือตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาเที่ยงวัน @แม้ภิกษุฉันอาหาร ๑๐ ครั้ง ในช่วงเวลานี้ก็ประสงค์ว่า ฉันอาหารมื้อเดียว (ม.มู.อ. ๒/๒๒๕/๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๓๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๑. กกจูปมสูตร

นางเวเทหิกาบันดาลโทสะ
[๒๒๖] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในกรุงสาวัตถีนี้แล ได้มีหญิงแม่ เรือนชื่อเวเทหิกา เธอมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘หญิงแม่เรือนชื่อ เวเทหิกาเป็นคนเรียบร้อย เจียมตน ใจเย็น และเธอมีสาวใช้ชื่อกาลีเป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้าน จัดการงานดี’ ต่อมา สาวใช้ชื่อกาลีได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘กิตติศัพท์อันงามของนายหญิง ของเราขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘หญิงแม่เรือนชื่อเวเทหิกาเป็นคนเรียบร้อย เจียมตน ใจเย็น นายหญิงของเราไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏ หรือว่า หล่อนไม่มีความโกรธอยู่เลย หรือนายหญิงของเราไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ใน ภายในให้ปรากฏ เพราะเราจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี ไม่ใช่หล่อนไม่มีความ โกรธ ทางที่ดี เราจะต้องทดลองนายหญิงดู’ วันรุ่งขึ้น นางกาลีก็แกล้งตื่นสาย ฝ่ายหญิงแม่เรือนชื่อเวเทหิกาได้ตวาดสาวใช้ชื่อกาลีว่า ‘เฮ้ย นางกาลี’ นางกาลีขานรับว่า ‘อะไรเจ้าค่ะ นายหญิง’ นางเวเทหิกาถามว่า ‘เฮ้ย ทำไมจึงตื่นสาย’ นางกาลีตอบว่า ‘ไม่มีอะไรเจ้าค่ะ’ นางจึงกล่าวอีกว่า ‘เฮ้ย นางชาติชั่ว เมื่อไม่มีอะไร ทำไมจึงตื่นสาย’ แล้วโกรธ ไม่พอใจ ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด ลำดับนั้น นางกาลีได้คิดว่า‘นายหญิงของเราไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ใน ภายในเท่านั้น ไม่ใช่หล่อนไม่มีความโกรธ ที่ไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ในภายใน ให้ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี ไม่ใช่หล่อนไม่มีความโกรธ ทางที่ดี เราจะต้องทดลองนายหญิงให้ยิ่งขึ้นไป’ ต่อมา นางกาลีก็ตื่นสายกว่าทุกวัน ครั้งนั้น หญิงแม่เรือนชื่อเวเทหิกา ก็ร้องตวาดด่านางกาลีอีกว่า ‘เฮ้ย นางกาลี’ นางกาลีขานรับว่า ‘อะไรเจ้าค่ะ นายหญิง’ นางเวเทหิกาถามว่า ‘เฮ้ย ทำไมจึงตื่นสาย’ นางกาลีตอบว่า ‘ไม่มีอะไรเจ้าค่ะ’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๓๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๑. กกจูปมสูตร

นางจึงกล่าวอีกว่า ‘เฮ้ย นางชาติชั่ว เมื่อไม่มีอะไร ทำไมจึงตื่นสายเล่า’ แล้วโกรธ ไม่พอใจ แผดเสียงด้วยความขุ่นเคือง ลำดับนั้น นางกาลีได้คิดว่า ‘นายหญิงของเราไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ใน ภายในเท่านั้น ไม่ใช่หล่อนไม่มีความโกรธ ที่ไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี ไม่ใช่หล่อนไม่มีความโกรธ ทาง ที่ดี เราจะต้องทดลองให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก’ ต่อมา นางกาลีก็ตื่นสายยิ่งกว่าทุกวัน ครั้งนั้น หญิงแม่เรือนชื่อเวเทหิกาก็ร้องตวาดด่านางกาลีว่า ‘เฮ้ย นางกาลี ชาติชั่ว’ นางกาลีขานรับว่า ‘อะไรเจ้าค่ะ นายหญิง’ นางเวเทหิกาถามว่า ‘เฮ้ย ทำไมจึงตื่นสายนัก’ นางกาลีตอบว่า ‘ไม่มีอะไรเจ้าค่ะ’ นางจึงกล่าวอีกว่า ‘เฮ้ย นางชาติชั่ว เมื่อไม่มีอะไร ทำไมจึงตื่นสายเล่า’ แล้วโกรธจัด คว้าลิ่มประตูขว้างศีรษะ ปากก็ด่าว่า ‘ข้าจะตีหัวเอ็งให้แตก’ คราวนั้น นางกาลีหัวแตกมีเลือดไหลโชก เที่ยวโพนทะนาแก่คนบ้านใกล้ เรือนเคียงว่า ‘พ่อคุณแม่คุณทั้งหลาย ขอเชิญดูการกระทำของคนเรียบร้อย เจียมตน ใจเย็นเถิด นางโกรธไม่พอใจว่าตื่นสาย จึงคว้าลิ่มประตูขว้างศีรษะของสาวใช้คนหนึ่ง ปากก็ด่าว่า ‘ข้าจะตีหัวเอ็งให้แตก’ ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่นั้นมา กิตติศัพท์อันชั่วช้าของหญิงแม่เรือนชื่อเวเทหิกา ก็ขจรไปอย่างนี้ว่า ‘หญิงแม่เรือนชื่อเวเทหิกา เป็นหญิงดุร้าย ไม่เจียมตน ใจร้อน’ แม้ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้เรียบร้อยนักเรียบร้อยหนา เจียมตนนักเจียมตนหนา ใจเย็นนักใจเย็นหนา ก็เพียงชั่วเวลาที่ถ้อยคำอันไม่เป็นที่ พอใจไม่มากระทบเท่านั้น แต่เมื่อใด ถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจมากระทบเธอเข้า เมื่อนั้น ควรทราบว่า ‘เธอเป็นผู้เรียบร้อย เป็นผู้เจียมตน เป็นผู้ใจเย็นจริง‘๑- ภิกษุที่ทำตน @เชิงอรรถ : @ ข้อความนี้มีความหมายว่า เมื่อใด ถ้อยคำที่ไม่น่าพอใจมากระทบโสตประสาทเธอเข้า แล้วเธอสามารถ @ดำรงอยู่ในอธิวาสนขันติ(ความอดทนคือความอดกลั้น)ได้ ไม่โกรธ พึงทราบว่า เธอเป็นผู้เรียบร้อย เจียมตน @และใจเย็น (ม.มู.อ. ๒/๒๒๖/๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๓๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๑. กกจูปมสูตร

เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นผู้ว่าง่าย เพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร๑- เราไม่เรียกว่า ‘เป็นผู้ว่าง่ายเลย’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเมื่อไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารนั้น ก็จะไม่เป็นผู้ว่าง่าย ไม่ถึงความเป็นผู้ว่าง่าย แต่ภิกษุผู้สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมธรรม เป็นผู้ว่าง่าย ถึงความเป็นผู้ว่าง่าย เราเรียกว่า ‘เป็นผู้ว่าง่าย’ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมธรรม จักเป็นผู้ว่าง่าย จักถึงความเป็นผู้ว่าง่าย’
อุบายระงับความโกรธ
[๒๒๗] ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับเธอทั้งหลาย ๕ ประการนี้ คือ ๑. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๒. พูดเรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ๓. พูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคาย ๔. พูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ ๕. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด บุคคลอื่นเมื่อพูด จะพึงพูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะพึงพูด เรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ตาม จะพึงพูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะพึงพูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม จะพึงมีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด ก็ตาม ในข้อนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มี เมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้นอยู่ และเราจักแผ่เมตตาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ๒- ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนไปยังสัตว์โลก ทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๒๓ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๒๓ ในเล่มนี้ @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖๘ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๖๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๓๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๑. กกจูปมสูตร

ทำใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน
[๒๒๘] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาจอบและตะกร้ามาแล้วพูด อย่างนี้ว่า ‘เราจักทำแผ่นดินใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดิน’ เขาขุดลงตรงที่นั้นๆ โกย เศษดินทิ้งลงไปในที่นั้นๆ บ้วนน้ำลายลงในที่นั้นๆ ถ่ายปัสสาวะรดลงในที่นั้นๆ แล้วพูดสำทับว่า ‘เอ็งอย่าเป็นแผ่นดิน เอ็งอย่าเป็นแผ่นดิน’ เธอทั้งหลายเข้าใจ ความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นพึงทำแผ่นดินใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดินได้หรือไม่” “ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะแผ่นดินใหญ่นี้ลึกหาประมาณมิได้ เขาจะทำ แผ่นดินใหญ่นั้นไม่ให้เป็นแผ่นดินไม่ได้ง่าย บุรุษนั้นจะต้องได้รับความเหน็ดเหนื่อย และความลำบากใจเป็นแน่แท้” “ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับเธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีอยู่ ๕ ประการนี้ คือ ๑. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๒. พูดเรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ๓. พูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคาย ๔. พูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ ๕. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด บุคคลอื่นเมื่อพูด จะพึงพูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะพึงพูด เรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ตาม จะพึงพูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะพึงพูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม จะพึงมีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด ก็ตาม ในข้อนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มี เมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้นอยู่ และเราจักแผ่เมตตาจิต อันไพบูลย์ เสมอด้วยแผ่นดิน เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ เบียดเบียน ไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๔๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๑. กกจูปมสูตร

ทำใจให้ว่างเหมือนอากาศ
[๒๒๙] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาครั่งสีเหลือง สีเขียว หรือ สีแดงเลือดนกมาแล้วพูดอย่างนี้ว่า ‘เราจักเขียนรูปในอากาศนี้ ทำให้เป็นรูปปรากฏ’ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นจะเขียนรูปในอากาศนี้ ทำให้เป็น รูปปรากฏได้หรือไม่” “ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอากาศนี้ไม่มีรูปร่าง ชี้ให้เห็นไม่ได้ เขาจะ เขียนรูปในอากาศนั้น ทำให้เป็นรูปปรากฏไม่ได้ง่ายเลย บุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบากใจเสียเปล่าเป็นแน่” “ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับเธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีอยู่ ๕ ประการนี้ คือ ๑. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ฯลฯ ๕. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด ฯลฯ และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ เสมอด้วยอากาศ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็น อารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้
ทำใจให้เย็นเหมือนแม่น้ำ
[๒๓๐] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือคบหญ้าที่ลุกโพลงมาแล้วพูด อย่างนี้ว่า ‘เราจักเผาแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด เดือดเป็นควันพุ่งด้วยคบหญ้าที่ลุกโพลง แล้วนี้’ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นจักเผาแม่น้ำคงคาให้ร้อน จัด เดือดเป็นควันพุ่งด้วยคบหญ้าที่ลุกโพลงแล้วได้หรือไม่” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๔๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๑. กกจูปมสูตร

“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำที่ลึกสุดประมาณ เขาจะ ทำแม่น้ำคงคานั้นให้ร้อนจัด เดือดเป็นควันพุ่งด้วยคบหญ้าที่ลุกโพลงแล้วไม่ได้ง่ายเลย บุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากใจเสียเปล่าเป็นแน่” “ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับเธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีอยู่ ๕ ประการนี้ คือ ๑. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ฯลฯ ๕. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด ฯลฯ และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ เสมอด้วยแม่น้ำ เป็นมหัคคตะ ไม่มี ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของ เมตตาจิตนั้นอยู่’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้
ทำใจให้อ่อนโยนเหมือนกระสอบหนังแมว
[๒๓๑] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนกระสอบหนังแมวที่ฟอกแล้ว ฟอก สะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง ถ้ามีบุรุษ ถือเอาไม้หรือกระเบื้องมาแล้วพูดอย่างนี้ว่า ‘เราจักทำกระสอบหนังแมวนี้ที่ฟอกแล้ว ฟอกสะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง ให้มี เสียงดังก้องด้วยไม้หรือกระเบื้อง’ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้น จะทำกระสอบหนังแมวนี้ที่ฟอกแล้ว ฟอกสะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่ม ดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง ให้กลับมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือกระเบื้องได้ หรือไม่” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๔๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๑. กกจูปมสูตร

“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกระสอบหนังแมวนี้ที่เขาฟอกแล้ว ฟอกสะอาด แล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง เขาจะทำกระสอบ หนังแมวนั้นให้กลับมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือกระเบื้องไม่ได้ง่ายเลย บุรุษนั้นจะ ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากใจเสียเปล่าเป็นแน่” “ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับพวกเธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีอยู่ ๕ ประการนี้ คือ ๑. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๒. พูดเรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ๓. พูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคาย ๔. พูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ ๕. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด บุคคลอื่นเมื่อพูด จะพึงพูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะพึงพูด เรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ตาม จะพึงพูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะพึงพูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม จะพึงมีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด ก็ตาม ในข้อนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มี เมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้นอยู่ และเราจักแผ่เมตตาจิต อันไพบูลย์ เสมอด้วยกระสอบหนังแมว เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่ มีความเบียดเบียนไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๔๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค]

๑. กกจูปมสูตร

โอวาทอุปมาด้วยเลื่อย
[๒๓๒] ภิกษุทั้งหลาย หากพวกโจรผู้ประพฤติต่ำทราม จะพึงใช้เลื่อยที่มี ที่จับ ๒ ข้างเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้มีใจคิดร้ายแม้ในพวกโจรนั้น ก็ไม่ชื่อว่าทำ ตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น แม้ในข้อนั้น เธอทั้งหลาย ควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และ จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิต ไปให้บุคคลนั้นอยู่ และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิต นั้นอยู่’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้ [๒๓๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรมนสิการถึงโอวาทซึ่งมีอุปมาด้วยเลื่อย นี้เนืองๆ เถิด เธอทั้งหลายเห็นวิธีพูดที่มีโทษน้อยหรือมีโทษมาก ที่เธอทั้งหลาย อดกลั้นไม่ได้หรือไม่” ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงมนสิการ ถึงโอวาทซึ่งมีอุปมาด้วยเลื่อยนี้เนืองๆ เถิด ข้อนั้นจักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขแก่ เธอทั้งหลายสิ้นกาลนาน” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ- ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
กกจูปมสูตรที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๔๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๒๓๓-๒๔๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=12&siri=21              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=4208&Z=4442                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=263              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=263&items=11              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=263&items=11              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i263-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i263-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.021x.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.021x.budd.html https://suttacentral.net/mn21/en/sujato https://suttacentral.net/mn21/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :