ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๒. มหาสีหนาทสูตร
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท สูตรใหญ่
สุนักขัตตะกล่าวตู่พระพุทธเจ้า
[๑๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าด้านตะวันตกภายนอก พระนคร เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้นแล โอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะลาสิกขา จากพระธรรมวินัยนี้ได้ไม่นาน เธอได้กล่าวในชุมชน ณ กรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า “สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ๔- วิเศษยิ่งกว่าธรรมของ มนุษย์๕- สมณโคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึกที่ไตร่ตรองด้วยการ ค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ธรรมที่สมณโคดมแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคล ย่อมนำไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น” ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป บิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ท่านได้สดับคำของโอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะผู้ @เชิงอรรถ : @๑-๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้ @ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ หมายถึงมหัคคตโลกุตตรปัญญา(ปัญญาชั้นโลกุตตระที่ถึงความเป็นใหญ่) @อันประเสริฐ บริสุทธิ์ สูงสุด สามารถกำจัดกิเลสได้ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๖/๓๔๒, องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๘/๓๕๐) @ ธรรมของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๖/๓๔๒, องฺ.เอกก.อ. ๑/๔๕/๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๔๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

กล่าวในชุมชน ณ กรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า “สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐอัน สามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความ ตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ธรรมที่สมณโคดมแสดงเพื่อ ประโยชน์แก่บุคคล ย่อมนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตาม ธรรมนั้น” ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงเวสาลีแล้ว กลับจาก บิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ โอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะลาสิกขาจากพระธรรมวินัยนี้ได้ ไม่นาน เธอได้กล่าวในชุมชน ณ กรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะ ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่ ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ธรรมที่ สมณโคดมแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคล ย่อมนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ สำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น” [๑๔๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร โอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่า สุนักขัตตะเป็นโมฆบุรุษ มักโกรธ เธอกล่าววาจานั้นเพราะความโกรธ สุนักขัตตะ โมฆบุรุษคิดว่า ‘จักกล่าวติเตียน’ แต่กลับกล่าวสรรเสริญคุณของตถาคตอยู่นั่นแล แท้จริงข้อที่บุคคลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ธรรมที่สมณโคดมแสดงเพื่อประโยชน์ แก่บุคคล ย่อมนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น’ เป็นการกล่าวสรรเสริญคุณของตถาคต สุนักขัตตะ โมฆบุรุษจักไม่มีปัญญารู้ธรรมในตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๔๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น พระผู้มีพระภาค’ สุนักขัตตะ โมฆบุรุษจักไม่มีปัญญารู้ธรรมในตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระ ผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลาย คนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุ ฝา กำแพง และภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงใน แผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิ เหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และ ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลก ก็ได้’ สุนักขัตตะ โมฆบุรุษจักไม่มีปัญญารู้ธรรมในตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี พระภาคพระองค์นั้นทรงสดับเสียง ๒ ชนิด คือ (๑) เสียงทิพย์ (๒) เสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์’ สุนักขัตตะ โมฆบุรุษจักไม่มีปัญญารู้ธรรมในตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงกำหนดรู้ใจของสัตว์และบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมี ราคะ ก็รู้ว่า ‘จิตมีราคะ’ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากราคะ’ จิตมี โทสะก็รู้ว่า ‘จิตมีโทสะ’ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่า ‘จิตมีโมหะ’ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’ จิตหดหู่ก็รู้ว่า ‘จิตหดหู่’ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’ จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’ หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า ‘จิตมี จิตอื่นยิ่งกว่า’ หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า ‘จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า’ จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า ‘จิตหลุดพ้น’ หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๔๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

กำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ
[๑๔๘] สารีบุตร กำลังของตถาคต๑- ๑๐ ประการนี้ที่ตถาคตมีแล้ว เป็น เหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ๒- บันลือสีหนาท๓- ประกาศพรหมจักร๔- ในบริษัท๕- กำลังของตถาคต ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ตถาคตรู้ชัดฐานะ๖- โดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะใน โลกนี้ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของ ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๖๔/๕๗๙, องฺ.ทสก.(แปล) ๒๔/๒๑/๔๓-๔๗. @ ฐานะที่องอาจ (อาสภะ) อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงฐานะที่ประเสริฐที่สุด ที่สูงสุด หรือฐานะของ @พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดในปางก่อน @อนึ่ง คำว่า อาสภะ มาจากคำว่า อุสภะ เป็นชื่อโคจ่าฝูงของโคจำนวนมากตั้ง ๑๐๐ ตัว ๑,๐๐๐ ตัว ๑๐๐ @คอก ๑,๐๐๐ คอก มีสีขาว น่าดู มีกำลังสามารถนำภาระหนักยิ่งไปได้ ยืนหยัดด้วยเท้าทั้ง ๔ ไม่หวั่นไหว @ต่อเสียงฟ้าร้องตั้ง ๑๐๐ ครั้ง พระตถาคตเปรียบเหมือนโคอุสภะ คือ ประทับยืนข่มบริษัททั้ง ๘ ได้อย่าง @มั่นคงด้วยพระบาท (ฐานะ) คือ เวสารัชชญาณ ๔ ประการ ไม่มีปัจจามิตรใดในโลกและเทวโลกที่สามารถ @ทำให้พระองค์หวั่นไหวได้ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๗, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๖) @ บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงตรัสพระวาจาด้วยท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะ @ทรงมั่นพระทัยในศีล สมาธิ ปัญญาของพระองค์ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๘, ที.สี.ฏีกา ๑/๔๐๓/๔๕๔) @ พรหมจักร หมายถึงธรรมจักรอันประเสริฐ ยอดเยี่ยม บริสุทธิ์ มี ๒ ประการ คือ (๑) ปฏิเวธญาณ ได้แก่ @ญาณระดับโลกุตตระ แสดงถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า (๒) เทสนาญาณ ได้แก่ ญาณระดับโลกิยะ @แสดงถึงพระมหากรุณาคุณของพระพุทธเจ้า ญาณทั้ง ๒ นี้ชื่อว่าโอรสญาณ(ญาณส่วนพระองค์) มีเฉพาะ @พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ไม่มีแก่คนทั่วไป (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๘, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๗) @ บริษัท หมายถึงหมู่, คณะ, ที่ประชุม ในที่นี้หมายถึงบริษัท ๘ คือ (๑) ขัตติยบริษัท (๒) พราหมณบริษัท @(๓) คหบดีบริษัท (๔) สมณบริษัท (๕) จาตุมหาราชบริษัท (๖) ดาวดึงสบริษัท (สวรรค์ชั้นที่ ๒ แห่งสวรรค์ @๖ ชั้น) (๗) มารบริษัท (๘) พรหมบริษัท (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๘, ที.สี.อ. ๔๐๓/๒๙๗, @องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๗) @ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุและปัจจัย ที่เรียกว่า “ฐานะ” เพราะเป็นแดนตั้งขึ้น เกิดขึ้น และเป็นไปแห่งผล @(ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๙, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๔๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

๒. ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และ ปัจจุบันโดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัด วิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันโดย ฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคต อาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศ พรหมจักร ในบริษัท ๓. ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวง๑- ตามความเป็นจริง การที่ ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลัง ของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือ สีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท ๔. ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด๒- มีธาตุที่แตกต่างกัน๓- ตามความ เป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด มีธาตุที่แตกต่าง กันตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท ๕. ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท ๖. ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์เหล่าอื่น และบุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้า และอินทรีย์อ่อนตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์ เหล่าอื่น และบุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้าและอินทรีย์อ่อนตาม @เชิงอรรถ : @ ภูมิทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงคติที่ควรไป(คติ) และคติที่ไม่ควรไป(อคติ) (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๐, @องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๘) @ ธาตุหลายชนิด ในที่นี้หมายถึงธาตุ ๑๘ มีจักขุธาตุเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๐, องฺ.เอกก.อ. ๑/๕๗๗/๔๗๓) @และดู อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๑๘๕/๑๔๗, วิสุทฺธิ. ๒/๕๑๗/๑๒๙. @ ธาตุที่แตกต่างกัน หมายถึงธาตุที่มีลักษณะต่างกัน (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๐, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙, @อภิ.วิ.อ. ๗๖๐/๔๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๔๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

ความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญา ฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท ๗. ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง๑- ความผ่องแผ้ว๒- แห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และ สมาบัติ๓- ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการ ออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติตามความเป็นจริง นี้ เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท ๘. ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป๔- เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป๕- เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มี @เชิงอรรถ : @ ความเศร้าหมอง หมายถึงธรรมฝ่ายเสื่อม ได้แก่ กาม วิตก วิจาร และปีติ เป็นต้น ที่เป็นอุปสรรคต่อการ @เจริญฌานตามลำดับขั้นของผู้ที่มีฌานยังไม่คล่องแคล่ว (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๑, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙, @องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒๑/๓๙๒) และดู องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๔๑/๕๒๓-๕๓๒ ประกอบ @ ความผ่องแผ้ว หมายถึงธรรมฝ่ายเจริญ ได้แก่ การสงัดจากกาม การระงับวิตกวิจาร การจางคลายไปแห่ง @ปีติเป็นต้น ซึ่งเป็นคุณค่าต่อการเจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไปของผู้ที่มีฌานคล่องแคล่ว (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๑, @องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙, องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒๑/๓๙๒) และดู องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๔๑/๕๒๓-๕๓๒ ประกอบ @ ในคำว่า “ฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ” นี้ ฌาน หมายถึงฌาน ๔ (ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน @และจตุตถฌาน) (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ ๘ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู @องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑๑๙/๔๒๓ ประกอบ สมาธิ หมายถึงสมาธิ ๓ คือ สวิตักกสวิจารสมาธิ (สมาธิที่มี @วิตกและวิจาร) อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร) อวิตักกาวิจารสมาธิ (สมาธิที่ไม่มี @ทั้งวิตกและวิจาร) (ขุ.ป. ๓๑/๔๓/๕๐) สมาบัติ หมายถึงอนุปุพพสมาบัติ ๙ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ @และสัญญาเวทยิตนิโรธ ๑ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๑, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู องฺ.นวก. (แปล) @๒๓/๓๒/๔๙๕, อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๘๒๘/๕๒๙-๕๓๒ ประกอบ @๔-๕ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๒ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๔๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

วรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพ นั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจาก ภพนั้นแล้วจึงมาเกิดในภพนี้’ ตถาคตระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ การที่ตถาคตระลึก ชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ นี้เป็นกำลังของ ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท ๙. ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ(เคลื่อน) กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์ เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ เห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจาก ตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นชอบ พวก เขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ตถาคตเห็นหมู่ สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึง หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล การที่ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๔๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

๑๐. ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน การที่ตถาคต ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นกำลังของ ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๑๐ ประการนี้แล ที่ตถาคตมีแล้ว เป็นเหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท [๑๔๙] สารีบุตร บุคคลใดแลพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณ- โคดมไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณ- โคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้ง ได้เอง’ บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรง อยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วย สมาธิ สมบูรณ์ด้วยปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล แม้ฉันใด เรากล่าว ข้ออุปไมยนี้ ฉันนั้น บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
เวสารัชชญาณ๑-
[๑๕๐] สารีบุตร เวสารัชชญาณ(ญาณเป็นเหตุให้แกล้วกล้า) ๔ ประการนี้ ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้ปฏิญญา(ยืนยัน) ฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศ พรหมจักรในบริษัท เวสารัชชญาณของตถาคต ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. เราไม่เห็นนิมิต๒- นี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุ๓- ในธรรมนั้นว่า @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๘/๑๓-๑๔ @ นิมิต ในที่นี้หมายถึงทั้งบุคคลและธรรมที่เป็นเหตุสนับสนุนการทักท้วง (ม.มู.อ. ๑/๑๕๐/๓๕๔, @องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๘/๒๘๕, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๘/๒๘๔) @ คำพูดที่มีเหตุ หมายถึงคำพูดที่อ้างอิงพยานบุคคล พยานหลักฐานมาเป็นเหตุสนับสนุนให้การทักท้วง @สำเร็จประโยชน์น่าเชื่อถือ (ม.มู.อ. ๑/๑๕๐/๓๕๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๘๒๘๕, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๘/๒๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๔๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

‘ท่านผู้ปฏิญญาว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านก็ยัง ไม่รู้’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่ ๒. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุในธรรมนั้นว่า ‘ท่านผู้ปฏิญญาว่า เป็นพระขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่านก็ยัง ไม่สิ้นไป’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่ ๓. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุในธรรมนั้นว่า ‘อันตรายิกธรรม๑- ที่ท่านกล่าว ไม่อาจก่ออันตรายแก่ผู้เสพได้จริง’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้ว กล้าอยู่ ๔. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุในธรรมนั้นว่า ‘ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่สำเร็จ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตามได้จริง’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิต แม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่ สารีบุตร เวสารัชชญาณ ๔ ประการนี้แล ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้ ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท บุคคลใดพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะ ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่ ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง’ บุคคลนั้น @เชิงอรรถ : @ อันตรายิกธรรม หมายถึงธรรมที่เป็นอันตรายต่อการบรรลุมรรคผล ได้แก่ อาบัติ ๗ กอง ซึ่งเป็นโทษ @สำหรับปรับภิกษุผู้ล่วงละเมิด โดยที่สุดแม้ทุกกฏหรือทุพภาสิต ในที่นี้หมายเอาเมถุนธรรม @(ม.มู.อ. ๑/๑๕๐/๓๕๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๘/๒๘๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๔๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

ไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือน ถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์ ด้วยปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล แม้ฉันใด เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ ฉันนั้น บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรง อยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
บริษัท ๘
[๑๕๑] สารีบุตร บริษัท ๘ จำพวกนี้ บริษัท ๘ จำพวก ไหนบ้าง คือ ๑. ขัตติยบริษัท ๒. พราหมณบริษัท ๓. คหบดีบริษัท ๔. สมณบริษัท ๕. จาตุมหาราชบริษัท ๖. ดาวดึงสบริษัท ๗. มารบริษัท ๘. พรหมบริษัท บริษัทมี ๘ จำพวกนี้แล ตถาคตมีเวสารัชชญาณ ๔ ประการนี้จึงเข้าไปคบหาบริษัท ๘ จำพวกนี้ เราเข้าไปยังขัตติยบริษัทหลายร้อยบริษัทย่อมรู้ว่า แม้ในบริษัทนั้น เราก็เคยนั่งใกล้ เคยทักทาย เคยปราศรัย เคยสนทนากัน เราไม่เห็นนิมิตว่า ‘ความกลัวหรือ ความสะทกสะท้านจักกล้ำกรายเราในบริษัทนั้นได้เลย’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่ อนึ่ง เราเข้าไปยังพราหมณบริษัทหลายร้อยบริษัท ฯลฯ คหบดีบริษัท ... สมณบริษัท ... จาตุมหาราชบริษัท ... ดาวดึงสบริษัท ... มารบริษัท เข้าไป ยังพรหมบริษัทหลายร้อยบริษัทย่อมรู้ว่า แม้ในบริษัทนั้นๆ เราก็เคยนั่งใกล้ เคยทักทาย เคยปราศรัย เคยสนทนากัน เราไม่เห็นนิมิตว่า ‘ความกลัวหรือความ สะทกสะท้านจักกล้ำกรายเราในบริษัทนั้นได้เลย’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้ จึงถึง ความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๕๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

บุคคลใดพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะ ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่ ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง’ บุคคลนั้น ไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือน ถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์ ด้วยปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล แม้ฉันใด เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ ฉันนั้น บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรง อยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
กำเนิด ๔
[๑๕๒] สารีบุตร กำเนิด ๔ ชนิดนี้ กำเนิด ๔ ชนิด ไหนบ้าง คือ ๑. กำเนิดอัณฑชะ (การเกิดในไข่) ๒. กำเนิดชลาพุชะ (การเกิดในครรภ์) ๓. กำเนิดสังเสทชะ (การเกิดในเถ้าไคลหรือที่ชื้นแฉะ) ๔. กำเนิดโอปปาติกะ (การเกิดผุดขึ้น) กำเนิดอัณฑชะ คืออะไร คือ เหล่าสัตว์ผู้เจาะทำลายเปลือกไข่แล้วเกิด นี้เราเรียกว่า กำเนิดอัณฑชะ กำเนิดชลาพุชะ คืออะไร คือ เหล่าสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ นี้เราเรียกว่า กำเนิดชลาพุชะ กำเนิดสังเสทชะ คืออะไร คือ เหล่าสัตว์ผู้เกิดในปลาเน่า ซากศพเน่า ขนมบูด น้ำครำ หรือเถ้าไคล นี้เราเรียกว่า กำเนิดสังเสทชะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๕๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

กำเนิดโอปปาติกะ คืออะไร คือ เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก และเปรตบางจำพวก นี้เราเรียกว่า กำเนิดโอปปาติกะ สารีบุตร กำเนิดมี ๔ ชนิดนี้แล บุคคลใดจะพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะ ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่ ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง’ บุคคลนั้น ไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือน ถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์ ด้วยปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล แม้ฉันใด เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ ฉันนั้น บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ก็ย่อมดำรง อยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
คติ ๕
[๑๕๓] สารีบุตร คติ ๕ ประการนี้ คติ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. นรก ๒. กำเนิดดิรัจฉาน ๓. เปตวิสัย ๔. มนุษย์ ๕. เทวดา เรารู้ชัดนรก ทางที่นำสัตว์ให้ถึงนรก ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึงนรก และรู้ชัด ข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑- @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖๘ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๖๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๕๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

เรารู้ชัดกำเนิดดิรัจฉาน ทางที่นำสัตว์ให้ถึงกำเนิดดิรัจฉาน ข้อปฏิบัติที่นำ สัตว์ให้ถึงกำเนิดดิรัจฉาน และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจาก ตายแล้วย่อมไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เรารู้ชัดเปตวิสัย ทางที่นำสัตว์ให้ถึงเปตวิสัย ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึงเปตวิสัย และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในเปตวิสัย เรารู้ชัดหมู่มนุษย์ ทางที่นำสัตว์ให้ถึงมนุษยโลก ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึง มนุษยโลก และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อม ไปเกิดในหมู่มนุษย์ เรารู้ชัดเทวดาทั้งหลาย ทางที่นำสัตว์ให้ถึงเทวโลก ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ ถึงเทวโลก และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อม ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เรารู้ชัดนิพพาน ทางที่นำสัตว์ให้ถึงนิพพาน ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึงนิพพาน และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้วเป็นเหตุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติที่ไม่มี อาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
รู้เห็นการไปทุคติและสุคติของบุคคล
[๑๕๔] เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไป เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาโดยส่วนเดียวอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยตา ทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ หลุมถ่านเพลิงลึกมากกว่าช่วงตัวบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว และควัน ลำดับนั้น บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย เดินมุ่งมายังหลุมถ่านเพลิงนั้นโดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๕๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

ไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้น จักมาถึงหลุมถ่านเพลิงนี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มี ตาดีนั้นจะพึงเห็นเขาผู้ตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้น เสวยทุกขเวทนาโดยส่วนเดียว อันแรงกล้า เผ็ดร้อน แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคล บางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และ ดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนา โดยส่วนเดียวอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติ อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดใน กำเนิดดิรัจฉาน’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ หลุมอุจจาระลึกมากกว่าช่วงตัวบุรุษ เต็มไปด้วยอุจจาระ ลำดับนั้น บุรุษผู้มี ร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย เดินมุ่งมายังหลุมอุจจาระนั้นโดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึง กล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้น จักมาถึงหลุมอุจจาระนี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีนั้นจะพึงเห็นเขาผู้ตกลงในหลุม อุจจาระนั้นแล้ว เสวยทุกขเวทนา อันแรงกล้า เผ็ดร้อน แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้น เหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติ อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดใน กำเนิดดิรัจฉาน’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติ อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดใน เปตวิสัย’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในเปตวิสัย เสวยทุกขเวทนา เป็นอันมากด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๕๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

ต้นไม้เกิดบนพื้นที่ไม่เสมอ มีใบอ่อนใบแก่น้อย มีเงาโปร่ง ลำดับนั้น บุรุษ ผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย เดินมุ่งมายังต้นไม้นั้นโดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นจักมาถึงต้นไม้ นี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีนั้นจะพึงเห็นเขานั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้นั้น แล้ว เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคล บางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนิน ทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในเปตวิสัย’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้ว ไปเกิดในเปตวิสัย เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติ อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดใน หมู่มนุษย์’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในหมู่มนุษย์ เสวยสุขเวทนา เป็นอันมาก ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ต้นไม้เกิดบนพื้นที่ราบเรียบ มีใบอ่อนใบแก่มาก มีร่มเงาทึบ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิว กระหาย เดินมุ่งมายังต้นไม้นั้นโดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึง กล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทาง นั้นจักมาถึงต้นไม้นี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีจะพึงเห็นเขานั่งหรือนอนที่ร่มเงาของ ต้นไม้นั้น แล้วเสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนด รู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไป อย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว ฯลฯ เกิดในหมู่มนุษย์ เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติ อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติ โลกสวรรค์’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยสุข เวทนาโดยส่วนเดียว ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๕๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

ปราสาทซึ่งมีเรือนยอดฉาบทาแล้วทั้งภายในและภายนอก ลมเข้าไม่ได้ มีกลอน แน่น มีประตูและหน้าต่างปิดสนิทดี ในเรือนยอดนั้น มีบัลลังก์ที่ลาดด้วยผ้าพรม ขนสัตว์ ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว ลาดด้วยขนสัตว์ซึ่งทำเป็นรูป ดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีเพดานกั้นอยู่เบื้องบน มีหมอน แดงวางไว้ ๒ ข้าง ลำดับนั้น บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย เดินมุ่งมายังปราสาทนั้นแลโดยหนทาง สายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ปฏิบัติ อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้วจักมายังปราสาทนี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีพึงเห็นเขานั่งหรือนอนบนบัลลังก์นั้น ที่เรือนยอดในปราสาทนั้น เสวย สุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคล บางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และ ดำเนินทางนั้นหลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจาก ตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์ เหนือมนุษย์ เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติ อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้วจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา- วิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ ต่อมา เราเห็นบุคคลนั้นผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะ อาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เสวยสุขเวทนาโดย ส่วนเดียว สระโบกขรณี มีน้ำใส จืดสนิท เย็น สะอาด มีท่าเทียบ น่ารื่นรมย์ และในที่ ไม่ไกลสระโบกขรณีนั้น ก็มีแนวป่าทึบ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อน แผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย เดินมุ่งมายังสระ โบกขรณีนั้นแล โดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้วจักมาถึง สระโบกขรณีนี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีพึงเห็นเขาลงสู่สระโบกขรณีนั้น แล้วอาบ และดื่ม ระงับความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อยและความร้อนหมดแล้วขึ้นไปนั่ง หรือนอนที่แนวป่านั้น เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๕๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้วจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มี อาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ ต่อมา เราเห็น เขาทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว คติมี ๕ ประการนี้แล บุคคลใดพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะ ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่ ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง’ บุคคลนั้น ไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือน ถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์ด้วย ปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล ฉันใด เราก็กล่าวอุปไมยนี้ฉันนั้น บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ใน นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
พรหมจรรย์มีองค์ ๔
[๑๕๕] สารีบุตร เรารู้ยิ่งความประพฤติพรหมจรรย์๑- มีองค์ ๔ คือ ๑. เราเป็นผู้บำเพ็ญตบะ และเป็นผู้บำเพ็ญตบะอย่างยอดเยี่ยม ๒. เราเป็นผู้ประพฤติถือสิ่งเศร้าหมอง และเป็นผู้ประพฤติถือสิ่ง เศร้าหมองอย่างยอดเยี่ยม @เชิงอรรถ : @ พรหมจรรย์ หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย ๑๒ ประการ คือ (๑) ทาน การให้ (๒) ไวยาวัจจะ @การขวนขวายช่วยเหลือ (๓) ปัญจสิกขาบท ศีลห้า (๔) พรหมวิหาร การประพฤติพรหมวิหาร (๕)ธรรม- @เทศนา (๖) เมถุนวิรัติ การงดเว้นจากการเสพเมถุน (๗) สทารสันโดษ ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน @(๘) อุโปสถังคะ องค์อุโบสถ (๙) อริยมรรค ทางอันประเสริฐ (๑๐) ศาสนาที่รวมไตรสิกขา (๑๑) อัธยาศัย @(๑๒) วิริยะ ความเพียร แต่ในที่นี้หมายถึงวิริยะ เหตุที่ตรัสพรหมจรรย์นี้ เพราะสุนักขัตตะโอรสเจ้าลิจฉวี @เป็นผู้มีความเชื่อว่า ‘บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยการประพฤติทุกกรกิริยา’ ทรงมุ่งขจัดความเชื่อนั้น @(ม.มู.อ. ๑/๑๕๕/๓๖๒-๓๖๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๕๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

๓. เราเป็นผู้ประพฤติรังเกียจ(บาป) และเป็นผู้ประพฤติรังเกียจบาป อย่างยอดเยี่ยม ๔. เราเป็นผู้ประพฤติสงัด และเป็นผู้ประพฤติสงัดอย่างยอดเยี่ยม
การบำเพ็ญตบะ
บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์ในการบำเพ็ญตบะของเรา คือ เราเคยเป็นอเจลก(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับ อาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับ อาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ เรานั้นไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อม ท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภคอยู่ ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับ อาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่ เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่มๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง เรานั้นรับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพ ด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภคอาหารตามวาระ ๑๕ วันต่อมื้อ เช่นนี้ อยู่ด้วยประการอย่างนี้ เรานั้นกินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหาร กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็น อาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินมูลโคเป็นอาหาร กินเหง้า และผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๕๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

เรานั้นนุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่ม ผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือถือการถอน ผมและหนวด ยืนอย่างเดียวไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่ง คือถือการเดินกระโหย่ง ถือการนอนบนหนาม คือนอนบนที่นอนที่ทำด้วยหนาม ถือการอาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง๑- ถือการย่างและการอบกายหลายรูปแบบเช่นนี้อยู่ด้วยประการอย่างนี้ นี้เป็นพรหมจรรย์ในการบำเพ็ญตบะของเรา
การประพฤติถือสิ่งเศร้าหมอง
[๑๕๖] บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์ในการประพฤติถือสิ่ง เศร้าหมองของเราดังนี้ คือ มลทินคือธุลีที่หมักหมมอยู่ในกาย(ของเรา)นับหลายปี จนเป็นสะเก็ด ตอตะโกที่ตั้งอยู่นับหลายปี มีเปลือกแตกแยกจนเป็นสะเก็ด แม้ฉันใด มลทินคือธุลีที่หมักหมมอยู่ในกายของเรานับหลายปีจนเกิดเป็นสะเก็ด ก็ฉันนั้น เหมือนกัน เรานั้นมิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ถ้าอย่างไร เราควรปัดละอองธุลีนี้ ด้วยฝ่ามือ หรือคนเหล่าอื่นพึงปัดละอองธุลีนี้ของเราด้วยฝ่ามือ’ ความคิดแม้อย่าง นี้มิได้มีแก่เรา นี้เป็นพรหมจรรย์ในการประพฤติถือสิ่งเศร้าหมองของเรา
การประพฤติรังเกียจ
บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์ในการประพฤติรังเกียจของเรา ดังนี้ คือ เรานั้นมีสติก้าวไปข้างหน้า มีสติถอยกลับ ความเอ็นดูของเราปรากฏ แม้กระทั่งในหยดน้ำว่า ‘เราอย่าได้ล้างผลาญสัตว์เล็กๆ ที่อยู่ในที่ต่างๆ เลย’ นี้เป็นพรหมจรรย์ในการประพฤติรังเกียจของเรา @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๓๙๔-๓๙๖/๑๖๔-๑๖๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๕๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

ความประพฤติเป็นผู้สงัด
บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์ในการประพฤติสงัดของเราดังนี้ คือ เรานั้นอาศัยชายป่าแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เมื่อใด เราได้พบคนเลี้ยงโค คนเลี้ยง ปศุสัตว์ คนหาบหญ้า คนหาฟืน หรือคนทำงานในป่า๑- เมื่อนั้น เราเดินหนีจาก ป่าหนึ่งไปยังป่าอีกแห่งหนึ่ง จากป่าทึบแห่งหนึ่งไปยังป่าทึบอีกแห่งหนึ่ง จากที่ลุ่ม แห่งหนึ่งไปยังที่ลุ่มอีกแห่งหนึ่ง จากที่ดอนแห่งหนึ่งไปยังที่ดอนอีกแห่งหนึ่ง ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะเราคิดว่า ‘คนเหล่านั้นอย่าได้พบเรา และเราก็อย่าได้พบคน เหล่านั้นเลย’ สัตว์ป่าเห็นพวกมนุษย์แล้วก็เตลิดหนีจากป่าแห่งหนึ่งไปยังป่าอีกแห่งหนึ่ง จากป่าทึบแห่งหนึ่งไปยังป่าทึบอีกแห่งหนึ่ง จากที่ลุ่มแห่งหนึ่งไปยังที่ลุ่มอีกแห่งหนึ่ง จากที่ดอนแห่งหนึ่งไปยังที่ดอนอีกแห่งหนึ่ง แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อใด เราได้พบคนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ คนหาบหญ้า คนหาฟืน หรือคนทำงานในป่า เมื่อนั้น เราเดินหนี จากป่าแห่งหนึ่งไปยังป่าอีกแห่งหนึ่ง จากป่าทึบแห่งหนึ่งไป ยังป่าทึบอีกแห่งหนึ่ง จากที่ลุ่มแห่งหนึ่งไปยังที่ลุ่มอีกแห่งหนึ่ง จากที่ดอนแห่งหนึ่ง ไปยังที่ดอนอีกแห่งหนึ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราคิดว่า ‘คนเหล่านั้นอย่าได้ พบเราเลย และเราก็อย่าได้พบคนเหล่านั้นเลย’ นี้เป็นพรหมจรรย์ในการประพฤติเป็นผู้สงัดของเรา เรานั้นคลานเข้าไปในคอกที่ฝูงโคออกไปแล้ว ไม่มีคนเลี้ยงโคอยู่ กินมูลโคของ ลูกโคตัวอ่อนที่ยังดื่มนม และกินปัสสาวะ อุจจาระของตนเองนั่นแลตลอดเวลา ที่ปัสสาวะ และอุจจาระยังไม่สิ้นไป นี้เป็นพรหมจรรย์ในโภชนมหาวิกัฏ๒- ของเรา [๑๕๗] เรานั้นเข้าอาศัยแนวป่าน่ากลัวแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ ที่ว่าน่ากลัวนั้น เพราะเป็นแนวป่าที่น่าสะพรึงกลัว ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังมีราคะเข้าไปยังแนวป่านั้น @เชิงอรรถ : @ คนทำงานในป่า หมายถึงคนหาฟืน, รากไม้ และผลไม้ในป่าเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๑๕๖/๓๖๘) @ โภชนมหาวิกัฏ หมายถึงอาหารที่สกปรก, ไม่สะอาด คือผิดปกติอย่างมาก (ม.มู.อ. ๑/๑๕๖/๓๖๘, @ม.มู.ฏีกา ๒/๑๕๖/๔๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๖๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

โดยมากย่อมขนพองสยองเกล้า เรานั้นอยู่ที่กลางแจ้งตลอดทั้งคืน ในราตรีที่ หนาวเหน็บ ซึ่งอยู่ระหว่างเดือน ๓ ต่อเดือน ๔ เป็นช่วงเวลาที่หิมะตกเห็นปานนั้น (แต่) อยู่ในแนวป่าในเวลากลางวัน ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน เราอยู่ในที่แจ้งใน เวลากลางวัน แต่อยู่ในแนวป่าในเวลากลางคืน คาถาน่าอัศจรรย์นี้เราไม่เคยได้ยิน มาก่อน ปรากฏแก่เราว่า ‘มุนีผู้เสาะแสวงหาความหมดจด อาบแดด อาบน้ำค้าง เปลือยกาย ทั้งมิได้ผิงไฟ อยู่คนเดียว ในป่าที่น่ากลัว’ เรานอนแอบอิงกระดูกผีในป่าช้า พวกเด็กเลี้ยงโค เข้าใกล้เราแล้ว ถ่มน้ำลาย รดบ้าง ถ่ายปัสสาวะรดบ้าง โปรยฝุ่นลงบ้าง เอาไม้ยอนที่ช่องหูบ้าง แต่เราไม่รู้สึก เลยว่า มีอกุศลจิตเกิดขึ้นในเด็กเหล่านั้น นี้เป็นพรหมจรรย์ในการอยู่ด้วยอุเบกขาของเรา
ลัทธิที่ว่าความบริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร
[๑๕๘] มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความ บริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร’ พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราดำรงชีวิตอยู่ด้วยผล พุทรา’ พวกเขาเคี้ยวกินพุทราผลหนึ่งบ้าง พุทราป่นบ้าง ดื่มน้ำผลพุทราบ้าง บริโภคผลพุทราที่แปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ บ้าง แต่เราก็รู้ตัวว่า ‘กินผล พุทราผลเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร’ เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า ‘สมัยนั้น ผลพุทราคงจะ ใหญ่เป็นแน่’ แต่เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้น ผลพุทราก็มีขนาดเท่าในบัดนี้ เมื่อเรากินพุทราผลเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร ร่างกายก็ซูบผอมเป็นอย่างมาก อวัยวะ น้อยใหญ่ของเราเปรียบเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมาก หรือมีข้อดำ เพราะมีอาหารน้อย นั่นเอง ตะโพกของเราเปรียบเหมือนรอยเท้าอูฐ กระดูกสันหลังขึ้นเป็นปุ่มๆ เหมือน เถาสะบ้า กระดูกซี่โครงเหลื่อมขึ้นเหลื่อมลง เหมือนกลอนศาลาเก่าเหลื่อมกันฉะนั้น ดวงตากลวงลึกเข้าไปในเบ้าตา เหมือนเงาดวงดาวปรากฏในบ่อน้ำที่ลึกฉะนั้น หนังศีรษะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๖๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

ซึ่งถูกลมพัดแล้วก็เหี่ยวแห้งไป เปรียบเหมือนผลน้ำเต้าขมที่ถูกตัดแต่ยังอ่อน ถูกลม และแดดแล้ว ย่อมเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น เพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง เรานั้นคิดว่า ‘จักลูบหนังท้อง’ แต่คลำถูกกระดูกสันหลัง คิดว่า ‘จักลูบกระดูกสันหลัง’ แต่คลำ ถูกหนังท้อง หนังท้องของเราติดกระดูกสันหลัง เรานั้นคิดว่า ‘จะถ่ายอุจจาระหรือ ปัสสาวะ’ ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้นนั่นเอง เราเมื่อจะทำร่างกายให้สบายก็ลูบตัว ด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนทั้งหลายซึ่งมีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง [๑๕๙] สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร’ พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราดำรงชีวิตอยู่ ด้วยเมล็ดถั่วเขียว ฯลฯ พวกเราดำรงชีวิตอยู่ด้วยเมล็ดงา ฯลฯ พวกเราดำรงชีวิตอยู่ ด้วยข้าวสาร’ พวกเขาเคี้ยวกินข้าวสารบ้าง ปลายข้าวบ้าง ดื่มน้ำข้าวบ้าง บริโภค ข้าวสารที่แปรรูปเป็นชนิดต่างๆ บ้าง แต่เรารู้ตัวว่า ‘กินข้าวสารเมล็ดเดียว เท่านั้นเป็นอาหาร’ เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า ‘สมัยนั้น เมล็ดข้าวสารคงจะใหญ่เป็นแน่’ แต่เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้น เมล็ดข้าวสารก็มีขนาดเท่าในบัดนี้ เมื่อเรา กินข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร ร่างกายก็ซูบผอมเป็นอย่างยิ่ง อวัยวะ น้อยใหญ่ของเราเปรียบเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมากและมีข้อดำ เพราะเรามีอาหารน้อย นั่นเอง ตะโพกของเราเปรียบเหมือนรอยเท้าอูฐ กระดูกสันหลังขึ้นเป็นปุ่มๆ เหมือนเถาสะบ้า กระดูกซี่โครงเหลื่อมขึ้นเหลื่อมลงเหมือนกลอนศาลาเก่าเหลื่อม กันฉะนั้น ดวงตากลวงลึกเข้าไปในเบ้าตา ฯลฯ เปรียบเหมือนน้ำเต้าขม ฯลฯ’ เรานั้นคิดว่า ‘จักลูบหนังท้อง ฯลฯ จักถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ฯลฯ เราเมื่อ จะทำร่างกายให้สบายก็ลูบตัวด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนทั้งหลายซึ่ง มีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง เรามิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ แม้ด้วยการปฏิบัติอันประเสริฐนั้น ด้วยปฏิปทานั้น และด้วยการทรมานตนที่ทำได้ ยากนั้นเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุยังมิได้บรรลุปัญญาอันประเสริฐนี้ ซึ่งเรา บรรลุแล้ว เป็นเครื่องนำออกคือนำสัตว์ออกไปจากทุกข์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ สำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๖๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

ลัทธิที่ว่าความบริสุทธิ์มีได้เพราะสังสารวัฏเป็นต้น
[๑๖๐] สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์มีได้เพราะสังสารวัฏ‘(การเวียนว่ายตายเกิด) สังสารวัฏที่เราไม่เคย ท่องเที่ยวไปโดยกาลช้านานนี้เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่าย นอกจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส หากเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์ มีได้เพราะความเกิด’ ความเกิดที่เราไม่เคยประสบโดยกาลช้านานนี้เป็นสิ่งที่หาได้ ไม่ง่าย นอกจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส หากเราพึงเกิดในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เรา ก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์ มีได้เพราะอาวาส๑-’ ที่ที่เราไม่เคยอยู่อาศัยแล้วโดยกาลช้านานนี้เป็นของหาได้ไม่ง่าย นอกจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส หากเราพึงอยู่ในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึง มาสู่โลกนี้อีก มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์มี ได้เพราะการบูชายัญ’ ยัญที่เราผู้เป็นขัตติยราชซึ่งได้รับมูรธาภิเษกแล้ว หรือเป็น พราหมณมหาศาลไม่เคยบูชาแล้วโดยกาลช้านาน นี้เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่าย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์ มีได้เพราะการบำเรอไฟ’ ไฟที่เราผู้เป็นขัตติยราชซึ่งได้รับมูรธาภิเษกแล้ว หรือเป็น พราหมณมหาศาล ไม่เคยบำเรอแล้วโดยกาลช้านาน นี้เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่าย @เชิงอรรถ : @ อาวาส ในที่นี้หมายถึงขันธ์ทั้งหลาย (ม.มู.อ. ๑/๑๖๐/๓๗๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๖๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๒. มหาสีหนาทสูตร

สัตว์ผู้ไม่ลุ่มหลง
[๑๖๑] มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บุรุษ หนุ่มผู้เจริญนี้ มีเกศาดำสนิท มีวัยหนุ่มแน่นเหมาะกับปฐมวัย มีปัญญาเฉลียวฉลาด อย่างยิ่ง ต่อมา บุรุษหนุ่มผู้เจริญนี้ก็ชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ คือมีอายุ ๘๐ ปีบ้าง ๙๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง หลังจากนั้น เขาเสื่อมจากปัญญา ความเฉลียวฉลาดนั้น ข้อนี้เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ก็บัดนี้ เราชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาล ผ่านวัยไปโดยลำดับ เรามีอายุ ๘๐ ปี สาวกบริษัท ๔ ของเราในธรรมวินัยนี้มีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ได้ ๑๐๐ ปี มีสติ มีคติ มีธิติ๑- อันยอดเยี่ยม และมีปัญญา เฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง นักแม่นธนูได้รับการฝึกหัด ช่ำชอง ชำนิชำนาญ เคยแสดงฝีมือมาแล้ว พึงยิงงวงตาลทางด้านขวางให้ตกลงได้โดยไม่ยากด้วยลูกศรขนาดเบา แม้ฉันใด สาวกบริษัท ๔ ของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีสติ มีคติ มีธิติอันยอดเยี่ยม อย่างนี้ มีปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง เธอทั้งหลายพึงถามปัญหาอิงสติปัฏฐาน ๔ กับเรา เราถูกถามแล้วจะพึงตอบ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทรงจำคำที่เราตอบแล้วโดยแจ่มแจ้ง เธอทั้งหลาย ไม่ควรถามเราเกินกว่า ๒ ครั้ง นอกจากเรื่องการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ การหลับ และการบรรเทาความเมื่อยล้า ธรรมบรรยาย ของตถาคตนั้นไม่มีจบสิ้น บทและพยัญชนะของตถาคตนั้นไม่มีจบสิ้น ความแจ่มแจ้ง แห่งปัญหาของตถาคตนั้นไม่มีจบสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น สาวกบริษัท ๔ ของเรานั้น มีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ได้ ๑๐๐ ปี เมื่อล่วง ๑๐๐ ปีไปก็จะพึงตาย แม้ถ้าเธอ @เชิงอรรถ : @ ที่ชื่อว่า มีสติ เพราะสามารถเล่าเรียนตั้ง ๑๐๐ บท ๑,๐๐๐ บท @ที่ชื่อว่า มีคติ เพราะสามารถทรงจำและรวบรวมเรียบเรียงไว้ได้ @ที่ชื่อว่า มีธิติ เพราะมีความเพียรที่สามารถทำการสาธยายสิ่งที่เล่าเรียนมา ทรงจำมาไว้ได้ @(ม.มู.อ. ๑/๑๖๑/๓๗๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๖๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๓. มหาทุกขักขันธสูตร

ทั้งหลายจักหามเราด้วยเตียงเล็ก ปัญญาความเฉลียวฉลาดของตถาคตย่อมไม่เป็น อย่างอื่นไปได้ บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยถูกต้องจะพึงกล่าวคำนั้นกับเราเท่านั้นว่า ‘สัตว์ ผู้มีความไม่ลุ่มหลงเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วในโลกเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อ สุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
คำนิคม
[๑๖๒] ในสมัยนั้น ท่านพระนาคสมาละยืนถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ ของพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น ท่านพระนาคสมาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เพราะได้ฟังธรรมบรรยายนี้ ข้าพระองค์จึงเกิดขนลุกชูชันขึ้นแล้ว ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นาคสมาละ เพราะเหตุนั้น เธอจงจำไว้ว่า ‘ธรรม บรรยายนี้ชื่อว่าโลมหังสนบรรยาย” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระนาคสมาละมีใจยินดีชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหาสีหนาทสูตรที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๑๔๑-๑๖๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=12&siri=12              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=2296&Z=2783                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=159              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=159&items=35              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=8663              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=159&items=35              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=8663                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i159-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i159-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.012.ntbb.html https://suttacentral.net/mn12/en/sujato https://suttacentral.net/mn12/en/bodhi https://suttacentral.net/mn12/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :