ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

ว่าด้วยการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา

๗. มหาสมยสูตร
ว่าด้วยการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา
[๓๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน๑- เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้น สักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ มีเหล่าเทวดาจำนวนมากจาก ๑๐ โลกธาตุมาประชุมกันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค และเยี่ยมภิกษุสงฆ์ เทพชั้นสุทธาวาส ๔ องค์ ได้มีความดำริดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ มีเหล่าเทวดาจำนวนมากจาก ๑๐ โลกธาตุมาประชุมกัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคและเยี่ยมภิกษุสงฆ์ ทางที่ดี เราก็ควร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกล่าวคาถาองค์ละคาถาในสำนักพระผู้มีพระภาค” [๓๓๒] ลำดับนั้น เทพเหล่านั้นหายไปจากเทวโลกชั้นสุทธาวาสมาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร เทพองค์หนึ่งได้กล่าว คาถานี้ว่า “การประชุมครั้งใหญ่ในป่าใหญ่ มีหมู่เทพมาประชุมกัน พวกเราพากันมายังธรรมสมัย๒- นี้ ก็เพื่อได้เยี่ยมสงฆ์ผู้ไม่พ่ายแพ้” @เชิงอรรถ : @ ป่ามหาวัน เป็นป่าที่เกิดเองตามธรรมชาติ อยู่ติดกับเทือกเขาหิมาลัย (ที.ม.อ. ๓๓๑/๒๘๗) @ ธรรมสมัย ในที่นี้หมายถึงสถานที่ที่ประชุมเพื่อฟังธรรม (ที.ม.อ. ๓๓๒/๒๙๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

ว่าด้วยการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา

จากนั้น เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า “ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้น มีจิตมั่นคง ทำจิตของตนๆ ให้ตรง ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์ไว้ เหมือนสารถีผู้กุมบังเหียนขับรถม้าไป” เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า “ภิกษุเหล่านั้นตัดกิเลสดังตะปู๑- ตัดกิเลสดังลิ่มสลัก ถอนกิเลสดังเสาเขื่อนได้แล้ว เป็นผู้ไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์ เป็นผู้ปราศจากมลทิน เที่ยวไป เป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ๒- ทรงฝึกดีแล้ว เหมือนช้างหนุ่ม ฉะนั้น” เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า “เหล่าชนผู้นับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ จักไม่ไปสู่อบายภูมิ ครั้นละกายมนุษย์แล้ว จักทำให้หมู่เทพเจริญเต็มที่”๓- @เชิงอรรถ : @ กิเลสดังตะปู ในที่นี้หมายถึงราคะ โทสะ และโมหะ กิเลสดังลิ่มสลัก และกิเลสดังเสาเขื่อน ก็มีนัยเช่น @เดียวกัน (ที.ม.อ. ๓๓๒/๒๙๖) @ มีพระจักษุ หมายถึงมีพระจักษุ ๕ คือ ๑. มังสจักขุ (ตาเนื้อ) ๒. ทิพพจักขุ (ตาทิพย์) ๓. ปัญญาจักขุ @(ตาปัญญา) ๔. พุทธจักขุ (ตาพระพุทธเจ้า) ๕. สมันตจักขุ (ตาเห็นรอบ) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑/๕๕, @ที.ม.อ. ๑๘๖/๑๖๙, ๓๓๔/๓๐๐) @ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๓๗/๔๙-๕๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

การประชุมของเทวดา

การประชุมของเทวดา
[๓๓๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย พวกเทวดาจำนวนมากใน ๑๐ โลกธาตุประชุมกันเพื่อเยี่ยมตถาคตและ ภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหลายในอดีตกาล ที่มาประชุมกัน ครั้งที่มีจำนวนสูงสุดก็เท่ากับพวกเทวดาของ เรานี้เองที่มาประชุมกันในบัดนี้ พวกเทวดาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอนาคตกาลที่มาประชุมกัน ครั้งที่มีจำนวนสูงสุดก็เท่ากับ พวกเทวดาของเรานี้เองที่มาประชุมกันในบัดนี้ เราจักบอกชื่อของหมู่เทพ จักระบุ ชื่อของหมู่เทพ จักแสดงชื่อของหมู่เทพ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุ เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว [๓๓๔] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า “เรา๑- จะกล่าวเป็นคาถา เหล่าภุมมเทวดาอาศัยอยู่ในที่ใด เหล่าภิกษุก็อาศัยอยู่ในที่นั้น ภิกษุเหล่าใดอาศัยซอกเขา มีจิตมุ่งมั่น มีจิตตั้งมั่น พวกเธอมีจำนวนมากเร้นอยู่ เหมือนราชสีห์ ข่มความขนพองสยองเกล้าได้ มีจิตสะอาด หมดจดผ่องใส ไม่ขุ่นมัว พระศาสดาทรงทราบว่ามีภิกษุกว่า ๕๐๐ รูป ผู้อยู่ในป่า ในเขตกรุงกบิลพัสดุ์ @เชิงอรรถ : @ เรา ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีพระภาค (ที.ม.อ. ๓๓๔/๒๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

การประชุมของเทวดา

จึงรับสั่งเรียกพระสาวกผู้ยินดีในศาสนามาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย หมู่เทพมุ่งมากันแล้ว พวกเธอจงรู้จักเทพเหล่านั้น’ ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พากันทำความเพียร๑-’ จึงมีญาณอันเป็นเหตุให้เห็นพวกอมนุษย์ปรากฏขึ้น ภิกษุบางพวก เห็นอมนุษย์ ๑๐๐ ตน บางพวกเห็น ๑,๐๐๐ ตน บางพวกเห็น ๗๐,๐๐๐ ตน บางพวกเห็น ๑๐๐,๐๐๐ ตน บางพวกเห็นมากมายไม่มีที่สิ้นสุด อมนุษย์อยู่กระจายไปทั่วทุกทิศ พระศาสดาผู้มีพระจักษุ ทรงทราบเหตุทั้งหมด ทรงกำหนดแล้ว จึงรับสั่งเรียกพระสาวกผู้ยินดีในศาสนามาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย หมู่เทพมุ่งมากันแล้ว เธอทั้งหลายจงรู้จักหมู่เทพเหล่านั้น เราจะบอกเธอทั้งหลายด้วยวาจาตามลำดับ [๓๓๕] ยักษ์ ๗,๐๐๐ ตน ที่เป็นภุมมเทวดาอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง๒- มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย @เชิงอรรถ : @ ทำความเพียร ในที่นี้หมายถึงการเข้าผลสมาบัติ (ที.ม.อ. ๓๔๓/๓๐๙) @ มีความรุ่งเรือง หมายถึงประกอบด้วยอานุภาพ (ที.ม.อ. ๓๔๑/๓๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

การประชุมของเทวดา

ยักษ์ ๖,๐๐๐ ตนอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ มีผิวพรรณหลายหลาก มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย ยักษ์ ๓,๐๐๐ ตนอยู่ที่ภูเขาสาตาคีรี มีผิวพรรณหลายหลาก มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย ยักษ์เหล่านั้นรวมเป็น ๑๖,๐๐๐ ตน มีผิวพรรณหลายหลาก มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย ยักษ์ ๕๐๐ ตนอยู่ที่ภูเขาเวสสามิต มีผิวพรรณหลายหลาก มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย กุมภีรยักษ์ผู้รักษากรุงราชคฤห์อยู่ที่ภูเขาเวปุลละ มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

การประชุมของเทวดา

[๓๓๖] ท้าวธตรฐปกครองทิศตะวันออก เป็นหัวหน้าของพวกคนธรรพ์ เป็นมหาราชผู้มียศ แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก ต่างมีพลังมาก(และ)มีชื่อว่าอินทะ มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย ท้าววิรุฬหกปกครองทิศใต้ เป็นหัวหน้าของพวกกุมภัณฑ์ เป็นมหาราชผู้มียศ แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก ต่างมีพลังมาก(และ)มีชื่อว่าอินทะ มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย ท้าววิรูปักษ์ปกครองทิศตะวันตก เป็นหัวหน้าของพวกนาค เป็นมหาราชผู้มียศ แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก ต่างมีพลังมาก(และ)มีชื่อว่าอินทะ มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

การประชุมของเทวดา

ท้าวกุเวรปกครองทิศเหนือ เป็นหัวหน้าของพวกยักษ์ เป็นมหาราชผู้มียศ แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก ต่างมีพลังมาก (และ)มีชื่อว่าอินทะ มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย ท้าวธตรฐอยู่ทางทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกอยู่ทางทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์อยู่ทางทิศตะวันตก ท้าวกุเวรอยู่ทางทิศเหนือ ท้าวจาตุมหาราชนั้น มีแสงสว่างส่องไปโดยรอบทั่วทั้ง ๔ ทิศ สถิตอยู่ในป่า เขตกรุงกบิลพัสดุ์ [๓๓๗] พวกผู้รับใช้ของท้าวจาตุมหาราชเหล่านั้น เป็นพวกมีมายา หลอกลวง โอ้อวดก็มาด้วย พวกผู้รับใช้ที่มีมายา คือ กุเฏณฑุ เวเฏณฑุ วิฏู วิฏุฏะ จันทนะ กามเสฏฐะ กินนุฆัณฑุ และ นิฆัณฑุก็มาด้วย ปนาทะ โอปมัญญะ มาตลิผู้เป็นเทพสารถี จิตตเสนะ๑- นโฬราชะ ชโนสภะ ปัญจสิขะ @เชิงอรรถ : @ จิตตเสนะ เป็นชื่อเทวบุตรพวกคนธรรพ์ ๓ องค์ คือ (๑) จิตตะ (๒) เสนะ (๓) จิตตเสนะ @(ที.ม.ฏีกา ๓๓๗/๓๐๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

การประชุมของเทวดา

ติมพรุ (คันธรรพเทวราชา) และสุริยวัจฉสา (คันธรรพเทวธิดา) ก็มาด้วย เทวราชเหล่านั้นและคนธรรพ์อื่นๆ ที่มาพร้อมเทวราช ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย [๓๓๘] อนึ่ง หมู่นาคที่อยู่ในสระนาภสะ และที่อยู่ในกรุงเวสาลีมาพร้อมด้วยพวกนาคตัจฉกะ นาคกัมพลและนาคอัสดรก็มาด้วย และนาคที่อยู่ในท่าปายาคะก็มาพร้อมด้วยหมู่ญาติ นาคผู้อยู่ในแม่น้ำยมุนา และนาคที่เกิดในตระกูลธตรฐผู้มียศก็มา พญาช้างเอราวัณก็มายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย เหล่าครุฑผู้เป็นทิพย์ มีนัยน์ตาบริสุทธิ์ ผู้สามารถจับนาคราชได้ฉับพลัน ผู้บินมาทางอากาศถึงท่ามกลางป่า มีชื่อว่าจิตรสุบรรณ เวลานั้น พวกนาคราชไม่มีความหวาดกลัว (เพราะ) พระพุทธเจ้าทรงกระทำให้ปลอดภัยจากครุฑ นาคกับครุฑเจรจากันด้วยวาจาอันไพเราะ ต่างมีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ [๓๓๙] อสูรพวกที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร เป็นผู้พ่ายแพ้ต่อพระอินทร์ผู้ถือวชิราวุธ อสูรเหล่านั้นมีฤทธิ์ มียศ เป็นพี่น้องของท้าววาสวะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

การประชุมของเทวดา

พวกอสูรกาลกัญชะมีร่างน่ากลัวมาก พวกอสูรทานเวฆสะ อสูรเวปจิตติ อสูรสุจิตติ อสูรปหาราทะ และพญามารนมุจีก็มาด้วย บุตรของพลิอสูร ๑๐๐ ตนที่ชื่อว่าเวโรจนะ ทุกตนต่างสวมเกราะเข้มแข็งเข้าไปใกล้ราหูจอมอสูร แล้วกล่าวว่า ‘ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน บัดนี้ ถึงเวลาที่ท่านควรเข้าไป สู่ป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย’ [๓๔๐] เวลานั้น เทพ (๑๐ หมู่) คือ อาโป ปฐวี เตโช วาโย วรุณะ วารุณะ โสมะ ยสสะ เมตตาและกรุณา๑- เป็นผู้มียศก็มาด้วย เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย เทพ (๑๐ หมู่) คือ เวณฑู สหลี และเทพ ๒ หมู่ คือ อสมะ และยมะก็มา เทพผู้อาศัยพระจันทร์ มีพระจันทร์นำหน้ามา @เชิงอรรถ : @ เมตตาและกรุณา หมายถึงเหล่าเทพที่เกิดด้วยอำนาจเมตตาฌานและกรุณาฌานที่เคยบำเพ็ญมา @(ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

การประชุมของเทวดา

เทพผู้อาศัยพระอาทิตย์ มีพระอาทิตย์นำหน้ามา เทพพวกมันทวลาหกะ๑- มีพระนักษัตรนำหน้ามา พระอินทร์ผู้เป็นท้าวสักกะ ผู้เป็นท้าวปุรินททะ๒- ท้าววาสวะ ประเสริฐกว่าเหล่าเทพวสุ๓- ก็มา เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย เทพอีก (๑๐ หมู่) คือ สหภู ผู้รุ่งเรืองดังเปลวไฟ อริฏฐกะ โรชะ ผู้มีรัศมีดังสีดอกผักตบ วรุณะ สหธรรม อัจจุตะ อเนชกะ สุเลยยะ รุจิระ และวาสวเนสีก็มา เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง @เชิงอรรถ : @ เทพพวกมันทวลาหกะ ในที่นี้หมายถึงเทพ ๓ องค์ คือ (๑) วาตวลาหกเทพบุตร (๒) อัพภวลาหกเทพบุตร @(๓) อุณหวลาหกเทพบุตร (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๕) @ ปุรินททะ ตามคติของฮินดูเป็นชื่อหนึ่งของพระอินทร์ แปลว่า ผู้ทำลายเมือง (ปุรททะ) ตามคติพุทธศาสนา @เป็นชื่อหนึ่งของพระอินทร์ แปลว่า ผู้ให้ทานในกาลก่อน (ปุเร ทานํ ททาตีติ ปุรินฺทโท) (T.W. Rhys Davids @and William Stede P. 469) @ เทพวสุ หมายถึงเทพเจ้าแห่งทรัพย์ (T.W.Rhys Davids and William Stede P. 605) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

การประชุมของเทวดา

มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย เทพอีก (๑๐ หมู่) คือ สมานะ มหาสมานะ มานุสะ มานุสุตตมะ ขิฑฑาปทูสิกะ มโนปทูสิกะ หริ โลหิตวาสี ปารคะ และมหาปารคะผู้มียศก็มา เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย เทพอีก (๑๐ หมู่) คือ สุกกะ กรุมหะ อรุณะ เวฆนสะ โอทาตคัยหะผู้เป็นหัวหน้า วิจักขณะ สทามัตตะ หารคชะ มิสสกะผู้มียศ และปชุนนเทวราชผู้บันดาลฝนให้ตกทั่วทุกทิศก็มา เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย เทพอีก (๑๐ หมู่) คือ เทพพวกเขมิยะ เทพชั้นดุสิต เทพชั้นยามา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

การประชุมของเทวดา

เทพพวกกัฏฐกะ๑- ผู้มียศ เทพพวกลัมพีตกะ เทพพวกลามเสฏฐะ เทพพวกโชติ อาสวะ๒- เทพชั้นนิมมานรดี และเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีก็มา เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย เทพทั้งหมด ๖๐ หมู่ ล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก มาแล้วตามกำหนด ชื่อหมู่เทพและเทพพวกอื่น ผู้มีผิวพรรณและชื่อเช่นนั้นก็มา (ด้วยคิด)ว่า ‘พวกเราจะเข้าพบพระนาคะ๓- ผู้ไม่มีการเกิด ไม่มีกิเลสดังตะปู ผู้ข้ามโอฆะ๔- ได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ผู้พ้นโอฆะได้แล้ว ล่วงพ้นธรรมดำ ดังดวงจันทร์พ้นจากเมฆฉะนั้น [๓๔๑] สุพรหมและปรมัตตพรหม ผู้เป็นบุตร๕- ของพระผู้ทรงฤทธิ์๖- ก็มาด้วย สนังกุมารพรหมและติสสพรหมก็มายังป่าที่ประชุม @เชิงอรรถ : @ กัฏฐกะ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กถกะ (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๗) @ อาสวะ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อาสา (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๗) @ พระนาคะ เป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า เพราะไม่ทำความชั่ว (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๗) @ โอฆะ หมายถึงโอฆะ ๔ คือ (๑) กาม (๒) ภพ (๓) ทิฏฐิ (๔) อวิชชา (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๗) @ บุตร ในที่นี้หมายถึงพุทธบุตรผู้ที่เป็นอริยสาวกผู้เป็นพรหม (ที.ม.อ. ๓๔๑/๓๐๘) @ พระผู้ทรงฤทธิ์ หมายถึงพระพุทธเจ้า (ที.ม.อ. ๓๔๑/๓๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

การประชุมของเทวดา

ท้าวมหาพรหม ๑,๐๐๐ องค์ ปกครองพรหมโลก ท้าวมหาพรหมนั้น อุบัติขึ้นในพรหมโลก มีความรุ่งเรือง มีกายใหญ่ มียศก็มา มีพรหม ๑๐ องค์ ผู้เป็นใหญ่กว่าพรหม ๑,๐๐๐ องค์ มีอำนาจเฉพาะองค์ละอย่างก็มา มหาพรหมชื่อหาริตะ มีบริวารห้อมล้อม มาอยู่ท่ามกลางพรหม ๑,๐๐๐ องค์นั้น’ [๓๔๒] เมื่อเสนามารมาถึง พระศาสดาได้ตรัสกับพวกเทพทั้งหมดเหล่านั้น พร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหมผู้ประชุมกันอยู่ จงดูความโง่เขลาของกัณหมาร มหาเสนามารได้ส่งเสนามารไป ในที่ประชุมใหญ่ของเหล่าเทพด้วยคำว่า “พวกท่านจงไปจับหมู่เทพผูกไว้ พวกท่านจงผูกไว้ด้วยราคะเถิด จงล้อมไว้ทุกด้าน ใครๆ อย่าได้ปล่อยให้ผู้ใดหลุดพ้นไป” แล้วก็เอาฝ่ามือตบแผ่นดินทำเสียงน่ากลัว (แต่) ในเวลานั้น ไม่อาจ ทำให้ใครตกอยู่ในอำนาจได้ จึงกลับไปทั้งที่เกรี้ยวโกรธ เหมือนเมฆฝนที่บันดาลให้ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฉะนั้น [๓๔๓] พระศาสดาผู้มีพระจักษุ ทรงทราบเหตุทั้งหมด ทรงกำหนดแล้ว จึงรับสั่งเรียกพระสาวกผู้ยินดีในศาสนามาตรัสว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]

การประชุมของเทวดา

‘ภิกษุทั้งหลาย เสนามารมุ่งมากันแล้ว พวกเธอจงรู้จักพวกเขา’ ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พากันทำความเพียร เสนามารหลีกไปจากเหล่าภิกษุผู้ปราศจากราคะ ไม่อาจแม้ทำขนของภิกษุเหล่านั้นให้ไหวได้ (พญามารกล่าวสรรเสริญว่า) ‘หมู่พระสาวกของพระพุทธเจ้า ชนะสงครามแล้วทั้งสิ้น ล่วงพ้นความหวาดกลัว มียศปรากฏอยู่ในหมู่ชน บันเทิงอยู่กับภูต๑- ทั้งหลาย”
มหาสมยสูตรที่ ๗ จบ
@เชิงอรรถ : @ ภูต ในที่นี้หมายถึงพระอริยะในศาสนาของพระทศพล (ที.ม.อ. ๓๔๓/๓๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๗๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๒๕๙-๒๗๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=10&siri=7              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=10&A=5540&Z=5726                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=235              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=10&item=235&items=12              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=7346              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=10&item=235&items=12              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=7346                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/10i235-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.20.0.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.20.0.piya.html https://suttacentral.net/dn20/en/sujato https://suttacentral.net/dn20/en/anandajoti



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :