ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท นิทานวัตถุ

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท
ว่าด้วยภิกษุผู้ประทุษร้ายตระกูล
เรื่องภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ
[๔๓๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะ เป็นเจ้าถิ่น เป็นอลัชชีเลวทราม อยู่ในกีฏาคิรีชนบท ภิกษุพวกนั้น๑- ประพฤติไม่เหมาะสมเห็นปานนี้ คือ ปลูกไม้ดอกเองบ้าง ใช้ผู้ อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อย ดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นร้อยบ้าง ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำมาลัย เรียงก้านเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง จัดดอกไม้ช่อเองบ้าง ใช้ผู้อื่นจัดบ้าง ทำดอกไม้พุ่ม เองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้เทริดเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้แผงประดับอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ภิกษุพวกนั้นนำไปเองบ้าง ใช้ผู้อื่นนำไปบ้างซึ่งมาลัยต่อก้าน มาลัยเรียงก้าน ดอกไม้ช่อ ดอกไม้พุ่ม ดอกไม้เทริด ดอกไม้พวง ดอกไม้แผงประดับอก เพื่อกุลสตรี เพื่อกุลธิดา เพื่อกุลกุมารี เพื่อสะใภ้ของตระกูล เพื่อทาสหญิงในตระกูล ภิกษุพวกนั้นฉันอาหารในภาชนะเดียวกันบ้าง ดื่มน้ำในขันใบเดียวกันบ้าง นั่งบนอาสนะเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดเดียวกันบ้าง นอนคลุมผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดและคลุมผ้าห่มร่วมกันบ้างกับ กุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้ของตระกูล ทาสหญิงในตระกูล ภิกษุพวกนั้นฉันอาหารในเวลาวิกาลบ้าง ดื่มน้ำเมาบ้าง ทัดทรงดอกไม้ของ หอมและเครื่องลูบไล้บ้าง ฟ้อนรำบ้าง ขับร้องบ้าง ประโคมบ้าง เต้นรำบ้าง ฟ้อนรำ กับหญิงฟ้อนรำบ้าง ขับร้องกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ประโคมกับหญิงฟ้อนรำบ้าง เต้นรำ กับหญิงฟ้อนรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงขับร้องบ้าง ขับร้องกับหญิงขับร้องบ้าง ประโคม @เชิงอรรถ : @ วิ.จู. ๗/๒๙๓/๕๑๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๕๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท นิทานวัตถุ

กับหญิงขับร้องบ้าง เต้นรำกับหญิงขับร้องบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงประโคมบ้าง ขับร้อง กับหญิงประโคมบ้าง ประโคมกับหญิงประโคมบ้าง เต้นรำกับหญิงประโคมบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงเต้นรำบ้าง ขับร้องกับหญิงเต้นรำบ้าง ประโคมกับหญิงเต้นรำบ้าง เต้นรำกับหญิงเต้นรำบ้าง เล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตาบ้าง แถวละ ๑๐ ตาบ้าง เล่น หมากเก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนห่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาดให้เป็นรูปต่างๆ บ้าง เล่นสกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อยๆ บ้าง เล่นหกคะเมน บ้าง เล่นไม้กังหันบ้าง เล่นตวงทรายด้วยใบไม้บ้าง เล่นรถน้อยๆ บ้าง เล่นธนูน้อยๆ บ้าง เล่นเขียนทายบ้าง เล่นทายใจบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง หัดขี่ ช้างบ้าง หัดขี่ม้าบ้าง หัดขี่รถบ้าง หัดยิงธนูบ้าง หัดเพลงอาวุธบ้าง วิ่งผลัดช้างบ้าง วิ่งผลัดม้าบ้าง วิ่งผลัดรถบ้าง วิ่งขับกันบ้าง วิ่งเปี้ยวบ้าง ผิวปากบ้าง ปรบมือบ้าง ปล้ำกันบ้าง ชกมวยบ้าง ปูลาดผ้าสังฆาฏิท่ามกลางเวทีเต้นรำแล้วพูดกับหญิงฟ้อน รำอย่างนี้ว่า “น้องหญิง เธอจงฟ้อนรำในที่นี้”ดังนี้แล้ว ให้การคำนับบ้าง ประพฤติไม่เหมาะสมต่างๆ บ้าง [๔๓๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาในแคว้นกาสีแล้ว เดินทางไปกรุง สาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เดินทางไปจนถึงกีฏาคิรีชนบท ครั้นเวลาเช้า ท่าน ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรไปบิณฑบาตที่กีฏาคิรีชนบท มีการก้าวไป การ ถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก ที่น่าเลื่อมใส สายตา มองทอดลง สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ พวกชาวบ้านเห็นภิกษุนั้นแล้วพากันกล่าวอย่างนี้ว่า “ภิกษุนี้เป็นใคร ดูคล้าย ไม่ค่อยมีกำลัง เหมือนคนอ่อนแอ เหมือนคนขมวดคิ้วก้มหน้า เมื่อท่านรูปนี้เข้าไป บิณฑบาต ใครเล่าจะถวายอาหารบิณฑบาต ส่วนพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะของ พวกเรา เป็นคนอ่อนโยน พูดไพเราะ อ่อนหวาน ยิ้มแย้มก่อน มักกล่าวว่ามาเถิด และมาดีแล้ว ไม่ก้มหน้า หน้าตาชื่นบาน ทักทายก่อน ใครๆ ก็อยากจะถวาย อาหารท่านเหล่านั้น” อุบาสกคนหนึ่งเห็นภิกษุนั้นกำลังบิณฑบาตในกีฏาคิรีชนบท ครั้นแล้วได้ เข้าไปหาภิกษุนั้นไหว้แล้วกล่าวกับท่านว่า “พระคุณเจ้าได้อาหารบิณฑบาตบ้างไหม ขอรับ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๖๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท นิทานวัตถุ

ภิกษุนั้นตอบว่า “อาตมายังไม่ได้อาหารเลย” อุบาสกกล่าวนิมนต์ว่า “นิมนต์ไปเรือนกระผมเถิด ขอรับ” แล้วพาภิกษุนั้น ไปเรือน นิมนต์ให้ฉันแล้วถามว่า “พระคุณเจ้า ท่านจะไปที่ไหน ขอรับ” ภิกษุนั้นตอบว่า “เจริญพร อาตมาจะไปกรุงสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค” อุบาสกกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านจงถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระ ภาคด้วยเศียรเกล้า และขอจงกราบทูลตามถ้อยคำของกระผมอย่างนี้ด้วยว่า ‘พระพุทธเจ้าข้า วัดในกีฏาคิรีชนบททรุดโทรม ภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะเป็น เจ้าถิ่น อยู่ในกีฏาคิรีชนบท เป็นภิกษุอลัชชีเลวทราม พวกเธอประพฤติไม่เหมาะสม เห็นปานนี้ คือ ปลูกไม้ดอกเองบ้าง ใช้ผู้อื่นปลูกบ้าง ฯลฯ ประพฤติไม่เหมาะสมต่างๆ แม้พวกชาวบ้านที่เคยศรัทธาเลื่อมใสแต่เดี๋ยวนี้ไม่ศรัทธาไม่เลื่อมใส ทานที่เคย ถวายประจำแก่สงฆ์ บัดนี้ทายกทายิกาเลิกถวายแล้ว ภิกษุผู้มีศีลพากันจากไป ภิกษุ ผู้เลวทรามอยู่ครอบครอง ขอประทานวโรกาสเถิดพระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระ ภาคโปรดส่งภิกษุทั้งหลายไปกีฏาคิรีชนบทเพื่อวัดจะได้ตั้งมั่นอยู่สืบไปในที่นั้น” ภิกษุนั้นรับคำของของอุบาสกแล้วเดินทางไปทางกรุงสาวัตถี ไปถึงกรุงสาวัตถี ถึงพระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีโดยลำดับ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ แล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคนั่งลง ณ ที่สมควร
พุทธประเพณี
อันการที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะ ทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ เธอเดินทางมาโดยไม่ลำบากหรือ เธอมาจากไหน” ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “สบายดี พระพุทธเจ้าข้า พอเป็นอยู่ได้ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าเดินทางมาโดยไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าจำพรรษา ในแคว้นกาสี เมื่อจะมาเฝ้าพระองค์ที่เมืองนี้ เดินทางผ่านกีฏาคิรีชนบท เวลาเช้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๖๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท นิทานวัตถุ

ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในกีฏาคิรีชนบท อุบาสกคนหนึ่ง เห็นข้าพระพุทธเจ้ากำลังเที่ยวบิณฑบาต เข้ามาหา ไหว้แล้วถามว่า ‘พระคุณเจ้าได้ อาหารบิณฑบาตบ้างไหม ขอรับ’ ฯลฯ เขากล่าวว่า ‘ท่านขอรับ ถ้าเช่นนั้น ขอท่าน จงถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และขอจงกราบทูลตาม ถ้อยคำของกระผมอย่างนี้ว่า ‘พระพุทธเจ้าข้า วัดในกีฏาคิรีชนบททรุดโทรม ภิกษุชื่อ ว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะเป็นเจ้าถิ่น อยู่ในกีฏาคิรีชนบท เป็นภิกษุอลัชชีเลวทราม พวกเธอประพฤติไม่เหมาะสมเห็นปานนี้ คือ ปลูกไม้ดอกเองบ้าง ใช้ผู้อื่นปลูกบ้าง ฯลฯ ประพฤติไม่เหมาะสมต่างๆ แม้พวกชาวบ้านที่เคยศรัทธาเลื่อมใส แต่เดี๋ยวนี้ไม่ ศรัทธาไม่เลื่อมใส ทานที่เคยถวายประจำแก่สงฆ์ บัดนี้ทายกทายิกาเลิกถวายแล้ว ภิกษุผู้มีศีลพากันจากไป ภิกษุผู้เลวทรามอยู่ครอบครอง ขอประทานวโรกาสเถิด พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดส่งภิกษุทั้งหลายไปสู่กีฏาคิรีชนบทเพื่อวัดจะ ได้ตั้งมั่นอยู่สืบไปในที่นั้น’ ข้าพระพุทธเจ้ามาจากกีฏาคิรีชนบทนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงสอบถามแล้วตำหนิ
[๔๓๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้น เหตุ ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุชื่อว่าอัสสชิและ ปุนัพพสุกะ เป็นเจ้าถิ่น เป็นภิกษุอลัชชี เลวทราม อยู่ในกีฏาคิรีชนบท ประพฤติไม่ เหมาะสมเห็นปานนี้ คือ ปลูกไม้ดอกเองบ้าง ใช้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ให้ผู้อื่น รดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นร้อยบ้าง ทำ มาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง จัด ดอกไม้ช่อเองบ้าง ใช้ผู้อื่นจัดบ้าง ทำดอกไม้พุ่มเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้ เทริดเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้แผง ประดับอกเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ฯลฯ ประพฤติไม่เหมาะสมต่างๆ แม้พวกชาว บ้านที่เคยศรัทธาเลื่อมใส แต่เดี๋ยวนี้ไม่ศรัทธาไม่เลื่อมใส ทานที่เคยถวายประจำแก่ สงฆ์ บัดนี้ ทายกทายิกาได้เลิกถวายแล้ว ภิกษุผู้มีศีลพากันจากไป ภิกษุผู้เลวทราม อยู่ครอบครอง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นไม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๖๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท นิทานวัตถุ

สมควร ฯลฯ ไม่ควรทำ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงประพฤติไม่เหมาะ สมอย่างนี้ คือ ปลูกไม้ดอกเองบ้าง ใช้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ให้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นร้อยบ้าง ทำมาลัย ต่อก้านเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง จัดดอกไม้ ช่อเองบ้าง ใช้ผู้อื่นจัดบ้าง ทำดอกไม้พุ่มเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้เทริด เองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้แผงประดับ อกเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ภิกษุพวกนั้นนำไปเองบ้าง ใช้ผู้อื่นนำไปบ้างซึ่งมาลัยต่อ ก้าน มาลัยเรียงก้าน ดอกไม้ช่อ ดอกไม่พุ่ม ดอกไม้เทริด ดอกไม้พวง ดอกไม้แผง ประดับอก เพื่อกุลสตรี เพื่อกุลธิดา เพื่อกุลกุมารี เพื่อสะใภ้ของตระกูล เพื่อทาส หญิงในตระกูล ภิกษุพวกนั้นฉันอาหารในภาชนะเดียวกันบ้าง ดื่มน้ำในขันใบเดียวกันบ้าง นั่งบนอาสนะเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดเดียวกันบ้าง นอนคลุมผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดและคลุมผ้าห่มร่วมกันบ้างกับ กุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้ของตระกูล ทาสหญิงในตระกูล ภิกษุพวกนั้นฉันอาหารในเวลาวิกาลบ้าง ดื่มน้ำเมาบ้าง ทัดทรงดอกไม้ของ หอมและเครื่องลูบไล้บ้าง ฟ้อนรำบ้าง ขับร้องบ้าง ประโคมบ้าง เต้นรำบ้าง ฟ้อนรำ กับหญิงฟ้อนรำบ้าง ขับร้องกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ประโคมกับหญิงฟ้อนรำบ้าง เต้นรำ กับหญิงฟ้อนรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงขับร้องบ้าง ขับร้องกับหญิงขับร้องบ้าง ประโคม กับหญิงขับร้องบ้าง เต้นรำกับหญิงขับร้องบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงประโคมบ้าง ขับร้อง กับหญิงประโคมบ้าง ประโคมกับหญิงประโคมบ้าง เต้นรำกับหญิงประโคมบ้าง ฟ้อน รำกับหญิงเต้นรำบ้าง ขับร้องกับหญิงเต้นรำบ้าง ประโคมกับหญิงเต้นรำบ้าง เต้นรำ กับหญิงเต้นรำบ้าง เล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตาบ้าง แถวละ ๑๐ ตาบ้าง เล่นหมาก เก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนห่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาด ให้เป็นรูปต่างๆ บ้าง เล่นสกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อยๆ บ้าง เล่นหกคะเมน บ้าง เล่นไม้กังหันบ้าง เล่นตวงทรายด้วยใบไม้บ้าง เล่นรถน้อยๆ บ้าง เล่นธนูน้อยๆ บ้าง เล่นเขียนทายบ้าง เล่นทายใจบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง หัดขี่ช้างบ้าง หัดขี่ม้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๖๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท นิทานวัตถุ

บ้าง หัดขี่รถบ้าง หัดยิงธนูบ้าง หัดเพลงอาวุธบ้าง วิ่งผลัดช้างบ้าง วิ่งผลัดม้าบ้าง วิ่ง ผลัดรถบ้าง วิ่งขับกันบ้าง วิ่งเปี้ยวบ้าง ผิวปากบ้าง ปรบมือบ้าง ปล้ำกันบ้าง ชก มวยบ้าง ปูลาดผ้าสังฆาฏิท่ามกลางเวทีเต้นรำแล้วพูดกับหญิงฟ้อนรำอย่างนี้ว่า “น้องหญิง เธอจงฟ้อนรำในที่นี้”ดังนี้แล้ว ให้การคำนับบ้าง ประพฤติไม่เหมาะสม ต่างๆ บ้าง ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”
รับสั่งให้ทำปัพพาชนียกรรม
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะโดยประการต่างๆ แล้วรับสั่งเรียกพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะมาตรัสว่า “ไปเถิด สารีบุตร โมคคัลลานะ เธอทั้งสองจงไปกีฏาคิรีชนบท จงทำปัพพาชนียกรรม๑- ภิกษุชื่อว่า อัสสชิและปุนัพพสุกะไปจากกีฏาคีรีชนบท เพราะภิกษุพวกนั้นเป็นสัทธิวิหาริกของ เธอทั้งสอง” พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้า พระพุทธเจ้าจะทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะได้อย่างไร เพราะพวกเธอดุร้าย หยาบคาย” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงไปกับภิกษุหลายๆ รูป” พระเถระทั้งสอง ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว
วิธีทำปัพพาชนียกรรม และกรรมวาจาทำปัพพาชนียกรรม
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พึงทำปัพพาชนียกรรมอย่างนี้ เริ่ม ด้วยพึงโจทภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะ ครั้นแล้วให้พวกเธอให้การ เมื่อพวกเธอ ให้การแล้วจึงปรับอาบัติ ครั้นปรับอาบัติแล้ว ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้ สงฆ์ทราบว่า @เชิงอรรถ : @ ปัพพาชนียกรรม หมายถึง การขับออกจากหมู่, การไล่ออกจากวัด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๖๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท นิทานวัตถุ

[๔๓๔] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะ ๒ รูปนี้ ประทุษร้ายตระกูล๑- ประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของพวกเธอ เขาได้เห็นและได้ยินกันทั่ว และตระกูลทั้งหลายที่ถูกพวกเธอประทุษร้าย เขาก็ได้เห็น และได้ยินกันทั่ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงทำปัพพาชนียกรรมภิกษุชื่อว่าอัสสชิและ ปุนัพพสุกะไปจากกีฏาคิรีชนบทโดยประกาศว่า ‘ภิกษุชื่ออัสสชิและปุนัพพสุกะไม่พึง อยู่ในกีฏาคิรีชนบท’ นี่เป็นญัตติ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะประทุษ ร้ายตระกูล ประพฤติเลวทราม ความประพฤติของพวกเธอ เขาได้เห็นและได้ยินกันทั่ว และตระกูลทั้งหลายที่ถูกพวกเธอประทุษร้าย เขาก็ได้เห็นและได้ยินกันทั่ว สงฆ์ทำ ปัพพาชนียกรรมพวกเธอไปจากกีฏาคิรีชนบทโดยประกาศว่า ‘ภิกษุชื่อว่าอัสสชิและ ปุนัพพสุกะ ไม่พึงอยู่ในกีฏาคิรีชนบท’ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการทำปัพพาชนียกรรม ภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะไปจากกีฏาคิรีชนบทโดยประกาศว่า ‘ภิกษุชื่อว่า อัสสชิและปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ในกีฏาคิรีชนบท’ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็น ด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง” แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าก็กล่าวความนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์ จงฟังข้าพเจ้า ฯลฯ ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง ปัพพาชนียกรรม ไปจากกีฏาคิรีชนบท สงฆ์ทำแล้วแก่ภิกษุชื่อว่าอัสสชิและ ปุนัพพสุกะโดยประกาศว่า ‘ภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ในกีฏาคิรีชนบท’ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้” [๔๓๕] ลำดับนั้น ภิกษุสงฆ์มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประธาน เดินทางไปกีฏาคิรีชนบท ได้ทำปัพพาชนียกรรมภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะไป จากกีฏาคิรีชนบทโดยประกาศว่า “ภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ใน กีฏาคิรีชนบท” @เชิงอรรถ : @ การประทุษร้ายตระกูลในที่นี้ หมายถึงการที่ภิกษุประจบคฤหัสถ์เอาใจคฤหัสถ์ ด้วยการกระทำที่ผิดวินัย @มุ่งให้เขาชอบตนเป็นส่วนตัว เป็นเหตุให้คฤหัสถ์คลายศรัทธาในพระศาสนาและเสื่อมจากกุศลธรรม เช่น ให้ @ของกำนัลเหมือนที่พวกคฤหัสถ์เขาทำกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๖๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท พระบัญญัติ

ภิกษุพวกนั้นถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้วก็ยังไม่ประพฤติชอบ ไม่หายเย่อ หยิ่ง ไม่ประพฤติกลับตัว ไม่ขอขมาภิกษุทั้งหลาย ยังด่ายังบริภาษการกสงฆ์ เที่ยว ใส่ความว่าการกสงฆ์ลำเอียงเพราะความพอใจ ลำเอียงเพราะความขัดเคือง ลำเอียง เพราะความหลง ลำเอียงเพราะความกลัว บรรดาบริวารของภิกษุชื่อว่าอัสสชิและ ปุนัพพสุกะ บางพวกหลีกไปเสียก็มี สึกเสียก็มี บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ ชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้วจึงไม่ยอมประพฤติชอบ ไม่หายเย่อหยิ่ง ไม่ประพฤติกลับตัว ไม่ขอขมาภิกษุทั้งหลาย ยังด่ายังบริภาษการก สงฆ์ เที่ยวใส่ความว่าการกสงฆ์ลำเอียงเพราะความพอใจ ลำเอียงเพราะความขัดเคือง ลำเอียงเพราะความหลง ลำเอียงเพราะความกลัว บรรดาบริวารของภิกษุชื่อว่า อัสสชิและปุนัพพสุกะ บางพวกหลีกไปเสียก็มี สึกเสียก็มีเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้น ตำหนิภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบ ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะ ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว ยังไม่ประพฤติชอบ ฯลฯ สึกไปก็มี จริงหรือ” ภิกษุ เหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นไม่สมควร ฯลฯ ไม่ควรทำ ภิกษุทั้ง หลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นถูกสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมแล้ว ยังไม่ประพฤติชอบ ฯลฯ สึกไปก็มีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๓๖] ก็ ภิกษุอยู่อาศัยหมู่บ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่ง ประทุษร้าย ตระกูล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของเธอ เขาได้เห็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๖๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

และได้ยินกันทั่ว ตระกูลทั้งหลายที่เธอประทุษร้าย เขาก็ได้เห็นและได้ยินกันทั่ว ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “ท่านประทุษร้ายตระกูล ประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นและได้ยินกันทั่ว ตระกูลทั้งหลายที่ท่านประทุษร้าย เขาก็ได้เห็นและได้ยินกันทั่ว ท่านจงออก จากอาวาสนี้ อย่าอยู่ที่นี้” และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ ก็โต้ตอบภิกษุทั้งหลายว่า “พวกภิกษุลำเอียงเพราะความพอใจ ลำเอียงเพราะ ความขัดเคือง ลำเอียงเพราะความหลง และลำเอียงเพราะความกลัว ขับภิกษุ บางรูป ไม่ขับบางรูป เพราะอาบัติอย่างเดียวกัน” ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่า กล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “ท่านอย่าพูดอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่ลำเอียงเพราะ ความพอใจ ไม่ลำเอียงเพราะความขัดเคือง ไม่ลำเอียงเพราะความหลง และ ไม่ลำเอียงเพราะความกลัว ท่านประทุษร้ายตระกูล ประพฤติเลวทราม ความ ประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นและได้ยินกันทั่ว ตระกูลทั้งหลายที่ท่าน ประทุษร้าย เขาก็ได้เห็นและได้ยินกันทั่ว ท่านจงออกจากอาวาสนี้ อย่าอยู่ ที่นี้” ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ ก็ยังยกย่องอยู่ อย่างนั้น ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ ๓ ครั้งเพื่อให้ สละเรื่องนั้น ถ้าเธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้ง สละเรื่องนั้นได้ นั่นเป็นการดี ถ้าเธอไม่สละ เป็นสังฆาทิเสส
เรื่องภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๓๗] คำว่า ก็ภิกษุ...หมู่บ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่ง ความว่า หมู่ บ้านก็ดี นิคมก็ดี เมืองก็ดี ชื่อว่าหมู่บ้านและนิคม คำว่า อยู่อาศัย คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เนื่องในหมู่บ้านและนิคมนั้น ชื่อว่า ตระกูล หมายถึงตระกูล ๔ ได้แก่ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ตระกูลแพศย์และตระกูลศูทร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๖๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

คำว่า ประทุษร้ายตระกูล คือ ประทุษร้ายตระกูลด้วยดอกไม้ ผลไม้ แป้ง ดิน เหนียว ไม้สีฟัน ไม้ไผ่ การแพทย์หรือการสื่อสาร คำว่า มีความประพฤติเลวทราม คือ ปลูกไม้ดอกเองบ้าง ใช้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นร้อยบ้าง คำว่า เขาได้เห็นและได้ยินกันทั่ว คือ กลุ่มชนที่อยู่เฉพาะหน้าชื่อว่า ได้เห็น กลุ่มชนที่อยู่ลับหลัง ชื่อว่าได้ยิน คำว่า ตระกูลทั้งหลายที่เธอประทุษร้าย คือ เมื่อก่อนชาวบ้านมีศรัทธา กลับกลายเป็นผู้ไม่มีศรัทธา เมื่อก่อนเลื่อมใสกลับกลายเป็นผู้ไม่เลื่อมใส เพราะภิกษุนั้น คำว่า เขาได้เห็นและได้ยินกันทั่ว คือ กลุ่มชนที่อยู่เฉพาะหน้าชื่อว่าได้เห็น กลุ่มชนที่อยู่ลับหลังชื่อว่าได้ยิน คำว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ประทุษร้ายตระกูล คำว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ อันภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่า ภิกษุผู้ได้เห็น ผู้ได้ยินพึงว่ากล่าวตักเตือนภิกษุผู้ประทุษร้ายตระกูลว่า “ท่านประทุษร้ายตระกูล ประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขา ได้เห็นและได้ยินกันทั่ว ตระกูลทั้งหลายที่ท่านประทุษร้าย เขาก็ได้เห็นและได้ยินกันทั่ว ท่านจงออกจากอาวาสนี้ อย่าอยู่ที่นี้” ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือน ก็โต้ตอบภิกษุทั้งหลายว่า “พวก ภิกษุลำเอียงเพราะความพอใจ ลำเอียงเพราะความขัดเคือง ลำเอียงเพราะความหลง ลำเอียงเพราะความกลัว ขับภิกษุบางรูป ไม่ขับบางรูป เพราะอาบัติอย่างเดียวกัน” คำว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ที่ถูกลงโทษนั้น คำว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ อันภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่า ภิกษุผู้ได้เห็น ผู้ได้ยินพึงว่ากล่าวตักเตือนภิกษุผู้ประทุษร้ายตระกูลว่า “ท่านอย่าพูดอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่ลำเอียงเพราะความพอใจ ไม่ลำเอียงเพราะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๖๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ความขัดเคือง ไม่ลำเอียงเพราะความหลง ไม่ลำเอียงเพราะความกลัว ท่านประทุษ ร้ายตระกูล ประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นและได้ ยินกันทั่ว ตระกูลทั้งหลายที่ท่านประทุษร้าย เขาก็ได้เห็นและได้ยินกันทั่ว ท่านจง ออกจากอาวาสนี้ อย่าอยู่ที่นี้” พึงว่ากล่าวตักเตือนแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือน เธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้ง หลายได้ยินแล้วไม่ว่ากล่าวตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึง คุมตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนว่า “ท่านอย่าพูดอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ไม่ลำเอียงเพราะความพอใจ ไม่ลำเอียงเพราะความขัดเคือง ไม่ลำเอียงเพราะ ความหลง ไม่ลำเอียงเพราะความกลัว ท่านประทุษร้ายตระกูล ประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นและได้ยินกันทั่ว ตระกูลทั้งหลายที่ท่าน ประทุษร้าย เขาก็ได้เห็นและได้ยินกันทั่ว ท่านจงออกจากอาวาสนี้ อย่าอยู่ที่นี้” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอ สละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์เธอ
วิธีสวดสมนุภาสน์ และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุนั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ ให้สงฆ์ทราบว่า [๔๓๘] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้ ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนีย กรรมแล้วใส่ความภิกษุทั้งหลายว่ามีความลำเอียงเพราะความพอใจ มีความลำเอียง เพราะความขัดเคือง มีความลำเอียงเพราะความหลง มีความลำเอียงเพราะความกลัว ภิกษุนั้นไม่ยอมสละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้ เพื่อ ให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว ใส่ความภิกษุทั้งหลายว่า มีความลำเอียงเพราะความพอใจ มีความลำเอียงเพราะ ความขัดเคือง มีความลำเอียงเพราะความหลง มีความลำเอียงเพราะความกลัว ภิกษุนั้นไม่ยอมสละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์เธอเพื่อให้สละเรื่องนั้น ท่านรูปใด เห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๖๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท บทภาชนีย์

ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่ ๓ ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ฯลฯ ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง ภิกษุชื่อนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้วเพื่อให้สละเรื่องนั้น สงฆ์เห็นด้วย เพราะ ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้ [๔๓๙] จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อเธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฏ(ที่ต้อง) เพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัย(ที่ต้อง) เพราะกรรมวาจา ๒ ครั้ง ย่อมระงับไป คำว่า เป็นสังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส ชัก เข้าหาอาบัติเดิม ให้มานัตและเรียกเข้าหมู่ คณะทำไม่ได้ ภิกษุรูปเดียวก็ทำไม่ได้ ฉะนั้น จึงตรัสว่า “เป็นสังฆาทิเสส” คำว่า เป็นสังฆาทิเสส นั้น เป็นการขนานนาม เป็นคำเรียกหมวดอาบัตินั้น โดยอ้อมนั่นเอง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า “เป็นสังฆาทิเสส”
บทภาชนีย์
[๔๔๐] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ ต้อง อาบัติสังฆาทิเสส กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้องอาบัติ สังฆาทิเสส กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๗๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๑๓. กุลทูสกสิกขาบท บทสรุป

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๔๔๑] ๑. ภิกษุยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์ ๒. ภิกษุผู้ยอมสละ ๓. ภิกษุวิกลจริต ๔. ภิกษุต้นบัญญัติ
กุลทูสกสิกขาบทที่ ๑๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๕๙-๔๗๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=1&siri=56              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=1&A=18863&Z=19201                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=614              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=1&item=614&items=16              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=2685              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=1&item=614&items=16              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=2685                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-ss13/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :