ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒
เรื่องบาตรไม้จันทน์
[๒๕๒] สมัยนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์มีปุ่มแก่นจันทน์มีค่ามาก ครั้งนั้นแล ท่านเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ถ้ากระไร เราจะให้กลึงปุ่มไม้จันทน์ นี้เป็นบาตร ผงไม้จันทน์ที่เหลือจะเก็บไว้ใช้แล้วให้บาตรเป็นทาน” ลำดับนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ให้กลึงปุ่มไม้จันทน์นั้นเป็นบาตร ใส่สาแหรก แขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่โดยผูกต่อๆ กันขึ้นไปแล้วประกาศอย่างนี้ว่า “สมณะหรือพราหมณ์ รูปใดที่เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จงเหาะขึ้นไปปลดบาตรที่เราให้แล้วนำไปเถิด” ครั้งนั้น เจ้าลัทธิปูรณกัสสปะเข้าไปหาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกับเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ดังนี้ว่า “คหบดี อาตมานี่แหละเป็นพระอรหันต์ และมีฤทธิ์ ท่านโปรดให้บาตรแก่อาตมาเถิด” เศรษฐีตอบว่า “ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์ก็จงเหาะขึ้นไปปลดบาตรที่เราให้ แล้วเองเถิด” @เชิงอรรถ : @ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๐๕-๑๐๖/๙๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๖}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

ครั้งนั้น เจ้าลัทธิมักขลิโคสาล ... เจ้าลัทธิอชิตเกสกัมพล ... เจ้าลัทธิปกุธ- กัจจายนะ ... เจ้าลัทธิสัญชัยเวลัฏฐบุตร ... เจ้าลัทธินิครนถ์นาฏบุตรเข้าไปหาเศรษฐี ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกับเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ดังนี้ว่า “คหบดี อาตมานี่แหละ เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ท่านโปรดให้บาตรแก่อาตมาเถิด” เศรษฐีตอบว่า “ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์ก็จงเหาะขึ้นไปปลดบาตรที่เราให้ แล้วเองเถิด” ครั้นเช้าวันหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะกับท่านพระปิณโฑลภารทวาชะครอง อันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ แม้ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ แม้ท่านพระมหา โมคคัลลานะก็เป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์เช่นกัน ครั้งนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะกล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า “ท่านโมคคัลลานะ ท่านเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ท่านจงไปปลดบาตรใบนั้นลงมาเถิด นั่นคือบาตรของท่าน” ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า “ท่านปิณโฑลภารทวาชะ ท่านเป็นพระอรหันต์ และเป็นผู้มีฤทธิ์ ท่านจงไปปลดบาตรใบนั้นลงมาเถิด นั่นบาตรของท่าน” ลำดับนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะได้เหาะขึ้นสู่ท้องฟ้าถือบาตรนั้นลอย เวียนไปรอบกรุงราชคฤห์ ๓ รอบ ขณะนั้น เศรษฐีพร้อมกับบุตรภรรยายืนอยู่ในบ้าน ของตนประนมมือไหว้พลางนิมนต์ว่า “ท่านภารทวาชะ ท่านโปรดแวะหยุดในบ้านของ พวกเราเถิด” ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะแวะหยุดในบ้านของท่านเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ลำดับนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์รับบาตรจากมือท่านพระปิณโฑลภารทวาชะแล้ว บรรจุของเคี้ยวมีค่ามากจนเต็มบาตรแล้วได้ถวายท่าน ครั้งนั้น ท่านพระปิณโฑล- ภารทวาชะรับบาตรแล้วกลับไปอาราม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๗}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

คนทั้งหลายได้ทราบว่า “พระคุณเจ้าปิณโฑลภารทวาชะปลดบาตรของท่านเศรษฐี ชาวกรุงราชคฤห์ลงมาแล้ว” จึงพากันส่งเสียงอึกทึกกึกก้องพากันติดตามท่านพระ ปิณโฑลภารทวาชะไป พระผู้มีพระภาคทรงสดับเสียงอึกทึกกึกก้องนั้น จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์ มารับสั่งถามว่า “อานนท์ นั่นเสียงอึกทึกกึกก้องอะไร” ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปปลด บาตรของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ คนทั้งหลายได้ทราบข่าวว่า ‘‘พระคุณเจ้าปิณโฑล- ภารทวาชะปลดบาตรของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ลงมาแล้ว’ จึงพากันส่งเสียงอึกทึก กึกก้อง พากันติดตามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะไป นี่คือเสียงอึกทึกกึกก้องนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ตรัส ถามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า “ภารทวาชะ ทราบว่าเธอปลดบาตรของเศรษฐี ชาวกรุงราชคฤห์ลงมา จริงหรือ” พระปิณโฑลภารทวาชะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงห้ามใช้บาตรไม้
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภารทวาชะ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ภารทวาชะ ไฉนเธอจึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นอุตตริมนุสสธรรม๑- แก่คนทั้งหลายเพราะเหตุ แห่งบาตรไม้ไม่มีค่าเล่า การที่เธอแสดงปาฏิหาริย์เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ที่ไม่มีค่า @เชิงอรรถ : @ อุตตริมนุสสธรรม ดูรายละเอียดใน วิ.มหา. (แปล) ๑/๑๙๘/๑๘๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๘}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

เปรียบเหมือนกับมาตุคามแสดงของที่ควรปกปิดเพราะเห็นแก่เงินตราเล็กน้อยฉะนั้น ภารทวาชะ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้น ทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นอุตตริมนุสสธรรมแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย รูปใด แสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทำลายบาตรใบนั้น บดให้ละเอียด แล้วใช้เป็นยาหยอดตาของภิกษุ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรไม้ รูปใดใช้ ต้อง อาบัติทุกกฏ”
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้บาตรชนิดต่างๆ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้บาตรชนิดต่างๆ คือ บาตรทองคำ บาตรเงิน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ภิกษุเหล่านั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรทองคำ ... ไม่พึงใช้ บาตรเงิน ... ไม่พึงใช้บาตรแก้วมณี ... ไม่พึงใช้บาตรแก้วไพฑูรย์ ... ไม่พึงใช้บาตร แก้วผลึก ... ไม่พึงใช้บาตรสัมฤทธิ์ ... ไม่พึงใช้บาตรกระจก ... ไม่พึงใช้บาตรดีบุก ... ไม่พึงใช้บาตรตะกั่ว ... ไม่พึงใช้บาตรทองแดง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตบาตร ๒ ชนิด คือ บาตรเหล็ก บาตรดิน”
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้เชิงบาตรชนิดต่างๆ
[๒๕๓] สมัยนั้น ก้นบาตรสึกหรอ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชิงบาตร” สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้เชิงบาตรชนิดต่างๆ คือ ทำด้วยทอง ทำด้วย เงิน คนทั้งหลาย ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๙}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้เชิงบาตรชนิดต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชิงบาตร ๒ ชนิด คือ ทำ ด้วยดีบุก ทำด้วยตะกั่ว” เชิงบาตรหนาไม่เหมาะกับก้นบาตร ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กลึงเชิงรองบาตร” เชิงรองบาตรกลึงแล้วก็ยังไม่เรียบ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จักเป็นฟันมังกร” สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้เชิงรองบาตรสวยงามตระการตา มีลวดลาย เป็นรูปภาพ เที่ยวเดินอวดไปตามถนน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้เชิงรองบาตรสวยงาม ตระการตา มีลวดลายเป็นรูปภาพ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตเชิงรองบาตรชนิดธรรมดา”
เรื่องการเก็บรักษาบาตร
[๒๕๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้ทั้งที่ยังไม่แห้ง บาตรเหม็นอับ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเก็บบาตรไว้ทั้งที่ยังไม่แห้ง รูปใดเก็บไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เอาบาตรผึ่งแดดก่อน แล้วจึงค่อยเก็บ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๐}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเอาบาตรผึ่งแดดไว้ทั้งที่ยังมีน้ำ บาตรมีกลิ่นเหม็น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเอาบาตรผึ่งแดดทั้งที่ยัง มีน้ำ รูปใดเอาผึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เช็ดบาตรเสียก่อน แล้วจึงค่อยผึ่งแดดเก็บไว้” สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายวางบาตรไว้ในที่ร้อน ผิวบาตรเสีย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวางบาตรไว้ในที่ร้อน รูป ใดวาง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เอาบาตรผึ่งแดดไว้ในที่ร้อน สักชั่วครู่แล้วจึงค่อยเก็บ” สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายวางบาตรจำนวนมากที่ไม่มีเชิงรองไว้ในที่แจ้ง บาตรถูก ลมพายุพัดกลิ้งตกแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตที่วางบาตร” สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายวางบาตรไว้ที่ริมตั่งไม้๑- บาตรกลิ้งตกแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวางบาตรไว้ที่ริมตั่งไม้ รูปใด วางไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายวางบาตรไว้ที่ริมตั่งไม้เล็กนอกฝา บาตร กลิ้งตกแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวางบาตรไว้ที่ริมตั่งไม้เล็ก นอกฝา รูปใดวาง ต้องอาบัติทุกกฏ” @เชิงอรรถ : @ มีรูปทรงคล้ายแท่นบูชาทำด้วยไม้หรือดินเหนียวเหมือนเตียง วางไว้อยู่ตามระเบียง @(วิ.อ. ๓/๒๕๔/๓๐๖, วิมติ.ฏีกา ๒/๒๙๖/๓๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๑}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายคว่ำบาตรไว้ที่พื้นดิน ขอบบาตรสึกหรอ ภิกษุทั้งหลาย จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้หญ้ารอง” หญ้าที่รองถูกปลวกกัด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค ให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ท่อนผ้ารอง” ท่อนผ้าถูกปลวกกัด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตชั้นวางบาตร” บาตรกลิ้งตกจากชั้นวางแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี พระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้หม้อปากกว้างเก็บ บาตร” บาตรครูดสีกับหม้อปากกว้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี พระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ถลกบาตร” สายโยกไม่มี ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสายโยกเป็นด้ายถัก” สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายแขวนบาตรไว้ที่ไม้เดือยข้างฝาบ้าง ที่งาช้างบ้าง บาตร พลัดตกแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงแขวนบาตรไว้ รูปใดแขวนไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๒}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้บนเตียง เผลอสตินั่งทับบาตรแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเก็บบาตรไว้บนเตียง รูปใด เก็บไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้บนตั่ง เผลอสตินั่งทับบาตรแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเก็บบาตรไว้บนตั่ง รูปใด เก็บไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้บนตัก เผลอสติลุกขึ้น บาตรตกแตก ภิกษุ ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวางบาตรไว้บนตัก รูปใดวางไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้บนกลด กลดถูกลมพายุพัด บาตรตกแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเก็บบาตรไว้บนกลด รูปใดเก็บไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ” [๒๕๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายถือบาตรอยู่ผลักบานประตูเข้าไป บาตรกระทบ บานประตูแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงถือบาตรผลักบานประตูเข้าไป รูปใดผลัก ต้อง อาบัติทุกกฏ”
เรื่องการใช้วัตถุอื่นแทนบาตร
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้กะโหลกน้ำเต้าเที่ยวบิณฑบาต คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนพวกเดียรถีย์”ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๓}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ]

ขุททกวัตถุ

กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ กะโหลกน้ำเต้าเที่ยวบิณฑบาต รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้หม้อกระเบื้องเที่ยวบิณฑบาต คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนพวกเดียรถีย์” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ หม้อกระเบื้องเที่ยวบิณฑบาต รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถือของทุกอย่างเป็นของบังสุกุล๑- ท่านใช้บาตรกะโหลกผี สตรีผู้หนึ่งเห็นแล้วกลัวส่งเสียงร้องว่า “ผู้นี้เป็นปีศาจแน่” คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงใช้บาตรกะโหลกผี เหมือน พวกปีศาจเล่า” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรกะโหลกผี รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรมีของใช้ทุกอย่างเป็นของบังสุกุล รูปใดมี ต้องอาบัติทุกกฏ” สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้บาตรรองรับเศษอาหารบ้าง ก้างบ้าง น้ำบ้วนปากบ้าง คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ ฉันในภาชนะที่ตัวเองใช้เป็นกระโถน” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี พระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรรองรับเศษอาหาร ก้างหรือน้ำบ้วนปาก รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ กระโถน” @เชิงอรรถ : @ ถือของทุกอย่างเป็นของบังสุกุล หมายเอาเฉพาะเครื่องใช้สอย เช่น จีวร เตียง ตั่ง ไม่ได้หมายถึง @ของเคี้ยวของฉัน เพราะของเคี้ยวของฉันต้องเป็นของที่เขาถวายแล้วเท่านั้น จึงควรถือเอา @(วิ.อ. ๓/๒๕๕/๓๐๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑๖-๒๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=6              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=256&Z=432                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=29              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=29&items=26              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=29&items=26                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd15/en/brahmali#pli-tv-kd15:8.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd15/en/horner-brahmali#Kd.15.8



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :