ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒
เรื่องพระอชิตะ
สมัยนั้น ภิกษุอชิตะ มีพรรษา ๑๐ เป็นผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สงฆ์ ต่อมา สงฆ์แต่งตั้งท่านพระอชิตะให้เป็นผู้ปูอาสนะเพื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระทั้งหลายคิดว่า “พวกเราจะระงับอธิกรณ์นี้ที่ไหนเล่า” ลำดับนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้ปรึกษากันต่อไปดังนี้ว่า “วาลิการามเป็นที่น่ารื่นรมย์ เงียบสงบ ไม่อึกทึก พวกเราน่าจะระงับอธิกรณ์นี้ที่วาลิการาม” [๔๕๗] ครั้งนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์นั้นพากันเดิน ทางไปวาลิการาม ลำดับนั้น ท่านพระเรวตะประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ญัตติกรรมวาจา
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว ข้าพเจ้าพึงถามพระวินัย กับท่านพระสัพพกามี” ท่านพระสัพพกามีจึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ญัตติกรรมวาจา
“ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าอันท่าน พระเรวตะถามพระวินัย จะได้ตอบต่อไป” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๔๑๓}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๒. สัตตสติกขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับวัตถุ ๑๐ ประการ
ลำดับนั้น ท่านพระเรวตะถามท่านพระสัพพกามีว่า “ท่านผู้เจริญ สิงคิโลณ กัปปะควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีย้อนถามว่า “ท่าน สิงคิโลณกัปปะนั้นคืออะไร” ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญ การเก็บเกลือไว้ในเขนงเพราะตั้งใจว่า ‘จะ ฉันกับอาหารรสไม่เค็ม’ ควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ท่าน ไม่ควร” ท่านพระเรวตะถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้ที่ไหน” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “กรุงสาวัตถี ปรากฏในสุตตวิภังค์” ท่านพระเรวตะถามว่า “ต้องอาบัติอะไร” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ต้องปาจิตตีย์ เพราะสะสมโภชนะ” ท่านพระเรวตะประกาศว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เรื่องที่ ๑ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้วว่า เรื่องนี้นอกธรรม นอกวินัย เลี่ยงสัตถุศาสน์ ผมขอจักสลาก ที่ ๑ นี้” (๑) ท่านพระเรวตะถามว่า “ท่านผู้เจริญ ทวังคุลกัปปะควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีย้อนถามว่า “ท่าน ทวังคุลกัปปะนั้นคืออะไร” ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญ การฉันโภชนะในเวลาวิกาล เมื่อเงา (ของ ดวงอาทิตย์)เลย(เวลาเที่ยง)ไป ๒ องคุลี ควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ท่าน ไม่ควร” ท่านพระเรวตะถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้ที่ไหน” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “กรุงราชคฤห์ ปรากฏในสุตตวิภังค์” ท่านพระเรวตะถามว่า “ต้องอาบัติอะไร” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ต้องปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนะในเวลาวิกาล” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๔๑๔}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๒. สัตตสติกขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

ท่านพระเรวตะประกาศว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เรื่องที่ ๒ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้วว่า เรื่องนี้นอกธรรม นอกวินัย เลี่ยงสัตถุศาสน์ ผมขอจับสลาก ที่ ๒ นี้” (๒) ท่านพระเรวตะถามว่า “ท่านผู้เจริญ คามันตรกัปปะควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีย้อนถามว่า “ท่าน คามันตรกัปปะนั้นคืออะไร” ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ภิกษุฉันเสร็จแล้ว ห้ามภัตตาหารแล้ว คิดว่า ‘จะเข้าละแวกหมู่บ้าน ในบัดนี้’ แล้วฉันโภชนะที่ไม่เป็นเดน ควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ท่าน ไม่ควร” ท่านพระเรวตะถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้ ณ ที่ไหน” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ณ กรุงสาวัตถี ปรากฏในสุตตวิภังค์” ท่านพระเรวตะถามว่า “ต้องอาบัติอะไร” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ต้องปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนะที่ไม่เป็นเดน” ท่านพระเรวตะประกาศว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เรื่องที่ ๓ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้วว่า เรื่องนี้นอกธรรม นอกวินัย เลี่ยงสัตถุศาสน์ ผมขอจับสลาก ที่ ๓ นี้” (๓) ท่านพระเรวตะถามว่า “ท่านผู้เจริญ อาวาสกัปปะควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีย้อนถามว่า “ท่าน อาวาสกัปปะนั้นคืออะไร” ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญ อาวาสหลายแห่งที่มีสีมาเดียวกัน จะแยก กันทำอุโบสถ ควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ท่าน ไม่ควร” ท่านพระเรวตะถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้ที่ไหน” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “กรุงราชคฤห์ ปรากฏในอุโบสถสังยุต” ท่านพระเรวตะถามว่า “ต้องอาบัติอะไร” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะล่วงพระวินัย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๔๑๕}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๒. สัตตสติกขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

ท่านพระเรวตะประกาศว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เรื่องที่ ๔ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้วว่า เรื่องนี้นอกธรรม นอกวินัย เลี่ยงสัตถุศาสน์ ผมขอจับสลากที่ ๔ นี้” (๔) ท่านพระเรวตะถามว่า “ท่านผู้เจริญ อนุมติกัปปะควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีย้อนถามว่า “ท่าน อนุมติกัปปะนั้นคืออะไร” ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญ สงฆ์แบ่งเป็นพวกกันทำกรรมด้วยตั้งใจว่า ‘จะให้ผู้มาแล้วอนุมัติ’ ควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ท่าน ไม่ควร” ท่านพระเรวตะถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้ที่ไหน” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ปรากฏในเรื่องพระวินัย ในจัมเปยยขันธกะ” ท่านพระเรวตะถามว่า “ต้องอาบัติอะไร” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะละเมิดพระวินัย” ท่านพระเรวตะประกาศว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เรื่องที่ ๕ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้วว่า เรื่องนี้นอกธรรม นอกวินัย เลี่ยงสัตถุศาสน์ ผมขอจับสลากที่ ๕ นี้” (๕) ท่านพระเรวตะถามว่า “ท่านผู้เจริญ อาจิณณกัปปะควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีย้อนถามว่า “ท่าน อาจิณณกัปปะนั้นคืออะไร” ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญ การประพฤติล่วงเกินด้วยเข้าใจว่า ‘สิ่งนี้ พระอุปัชฌาย์ของเราประพฤติมา สิ่งนี้พระอาจารย์ของเราประพฤติมา’ ควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ท่าน สิ่งที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ประพฤติมาบาง อย่างควร บางอย่างไม่ควร” ท่านพระเรวตะประกาศว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เรื่องที่ ๖ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้วว่า เรื่องนี้นอกธรรม นอกวินัย เลี่ยงสัตถุศาสน์ ข้าพเจ้าขอลงคะแนน ที่ ๖ นี้” (๖) ท่านพระเรวตะถามว่า “ท่านผู้เจริญ อมถิตกัปปะควรหรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๔๑๖}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๒. สัตตสติกขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

ท่านพระสัพพกามีย้อนถามว่า “ท่าน อมถิตกัปปะนั้นคืออะไร” ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญ นมสดที่ละความเป็นนมสดแล้วแต่ยังไม่ ถึงกับเป็นนมเปรี้ยว ภิกษุฉันเสร็จแล้ว ห้ามภัตตาหารแล้ว จะดื่มนมสดที่ไม่เป็นเดน ควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ท่าน ไม่ควร” ท่านพระเรวตะถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้ ณ ที่ไหน” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ณ กรุงสาวัตถี ปรากฏในสุตตวิภังค์” ท่านพระเรวตะถามว่า “ต้องอาบัติอะไร” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ต้องปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนะที่ไม่เป็นเดน” ท่านพระเรวตะประกาศว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เรื่องที่ ๗ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้วว่า เรื่องนี้นอกธรรม นอกวินัย เลี่ยงสัตถุศาสน์ ผมขอจับสลากที่ ๗ นี้” (๗) ท่านพระเรวตะถามว่า “ท่านผู้เจริญ การดื่มชโลคิ ควรหรือไม่” ท่านพระสัพพกามีย้อนถามว่า “ท่าน ชโลคินั้นคืออะไร” ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญ การดื่มสุราชนิดอ่อนที่ยังไม่แปรเป็นน้ำเมา (ชื่อว่าชโลคิ) ควรหรือ” ท่านพระสัพพกามี “ท่าน ไม่ควร” ท่านพระเรวตะถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้ ณ ที่ไหน” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ณ เมืองโกสัมพี ปรากฏในสุตตวิภังค์” ท่านพระเรวตะถามว่า “ต้องอาบัติอะไร” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ต้องปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย” ท่านพระเรวตะประกาศว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เรื่องที่ ๘ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้วว่า เรื่องนี้นอกธรรม นอกวินัย เลี่ยงสัตถุศาสน์ ผมขอจับสลากที่ ๘ นี้” (๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๔๑๗}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๒. สัตตสติกขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

ท่านพระเรวตะถามว่า “ท่านผู้เจริญ ผ้าปูนั่งไม่มีชาย ควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ท่าน ไม่ควร” ท่านพระเรวตะถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้ ณ ที่ไหน” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ณ กรุงสาวัตถี ปรากฏในสุตตวิภังค์” ท่านพระเรวตะถามว่า “ต้องอาบัติอะไร” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ที่ชื่อว่าเฉทนกะ”๑- ท่านพระเรวตะประกาศว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เรื่องที่ ๙ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้วว่า เรื่องนี้นอกธรรม นอกวินัย เลี่ยงสัตถุศาสน์ ผมขอจับสลากที่ ๙ นี้” (๙) ท่านพระเรวตะถามว่า “ท่านผู้เจริญ ทองและเงิน ควรหรือ” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ท่าน ไม่ควร” ท่านพระเรวตะถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้ที่ไหน” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “กรุงราชคฤห์ ปรากฏในสุตตวิภังค์” ท่านพระเรวตะถามว่า “ต้องอาบัติอะไร” ท่านพระสัพพกามีตอบว่า “ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะรับทองและเงิน” ท่านพระเรวตะประกาศว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เรื่องที่ ๑๐ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้วว่า เรื่องนี้นอกธรรม นอกวินัย เลี่ยงสัตถุศาสน์ ผมขอจับสลากที่ ๑๐ นี้ (๑๐) ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์วินิจฉัยวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้วว่า เรื่องเหล่านี้นอกธรรม นอกวินัย เลี่ยงสัตถุศาสน์ เพราะเหตุอย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ เฉทนกะ แปลว่า มีการตัดออก เป็นชื่อเฉพาะอาบัติปาจิตตีย์สิกขาบทที่ ๕, ๗-๙ แห่งรตนวรรค ที่ @ว่าด้วยการทำของใช้สอยเกินขนาด ภิกษุทั้งหลายทำเตียงตั่ง ผ้ารองนั่ง ผ้าปิดฝี หรือผ้าอาบน้ำฝนเกิน @ขนาด ต้องอาบัติปาจิตตีย์ที่ชื่อว่า เฉทนกะ (ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๕๒๒/๖๐๘, ๕๓๓/๖๑๕, ๕๓๘/๖๑๘, @๕๔๓/๖๒๑) ต้องตัดวัตถุนั้นให้ได้ขนาดก่อน จึงแสดงอาบัติตก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๔๑๘}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๑๒. สัตตสติกขันธกะ]

รวมเรื่องที่มีในสัตตสติกขันธกะ

[๔๕๘] ท่านพระสัพพกามีกล่าวต่อไปว่า “ท่านทั้งหลาย สงฆ์วินิจฉัยอธิกรณ์ นั่นสำเร็จเรียบร้อยดีแล้ว อนึ่ง ท่านพึงถามถึงวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้กับข้าพเจ้า ท่ามกลางสงฆ์ เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นยอมรับทั่วกัน” ต่อมา ท่านพระเรวตะได้สอบถามวัตถุ ๑๐ ประการนี้กับท่านพระสัพพกามี ใน ท่ามกลางสงฆ์ ท่านพระสัพพกามีเมื่อถูกถามได้ตอบแล้ว ในคราวสังคายนาพระวินัยครั้งนี้ มีภิกษุ ๗๐๐ รูปพอดี ดังนั้น บัณฑิตจึงเรียก การสังคายนาพระวินัยครั้งนี้ว่า “สัตตสติกา”
สัตตสติกขันธกะที่ ๑๒ จบ
ในขันธกะนี้มี ๒๕ เรื่อง


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๔๑๓-๔๑๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=122              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=8106&Z=8248                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=650              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=650&items=14              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=650&items=14                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd22/en/brahmali#pli-tv-kd22:2.7.24 https://suttacentral.net/pli-tv-kd22/en/horner-brahmali#BD.5.425



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :