ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา

๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา
ว่าด้วยจีวรยังไม่เกิดแก่ภิกษุผู้จำพรรษา
เรื่องจีวรยังไม่เกิดขึ้นภิกษุหลีกไป
[๓๗๓] สมัยนั้น พวกภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น พากัน หลีกไปบ้าง สึกบ้าง มรณภาพบ้าง ปฏิญญาเป็นสามเณรบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ บอกลาสิกขาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุบ้าง๑- ปฏิญญาเป็นคนวิกลจริตบ้าง ปฏิญญาเป็นคนมีจิตฟุ้งซ่านบ้าง ปฏิญญาเป็นคนกระสับกระส่ายเพราะเวทนาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ถูก สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย กรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปบ้าง ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์บ้าง๒- ปฏิญญาเป็นคน @เชิงอรรถ : @ ต้องอันติมวัตถุ ได้แก่ ต้องอาบัติปาราชิก @ บัณเฑาะก์มี ๕ ประเภท คือ @๑. คนที่ดับความใคร่เร่าร้อน (เพราะกาม) ของตนโดยการใช้น้ำอสุจิผู้อื่นราดตัวเอง ชื่อว่า อาสิตต @บัณเฑาะก์ @๒. เมื่อเกิดความริษยาขึ้น คนที่เมื่อเห็นผู้อื่นประพฤติล่วงเกินกัน ความเร่าร้อนจึงระงับ ชื่อว่า @อุสูยบัณเฑาะก์ @๓. คนที่ถูกตัดองคชาต ชื่อว่า โอปักกมิกบัณเฑาะก์ @๔. คนที่เป็นบัณเฑาะก์ในเวลาข้างแรมด้วยอานุภาพอกุศลวิบาก แต่ในเวลาข้างขึ้น ความเร่าร้อน @ย่อมระงับไป ชื่อว่า ปักขบัณเฑาะก์ @๕. คนที่เป็นบัณเฑาะก์โดยกำเนิด ชื่อว่า นปุงสกบัณเฑาะก์ @ในบัณเฑาะก์ ๕ ประเภทนี้ @อาสิตตบัณเฑาะก์ และอุสูยบัณเฑาะก์ ไม่ห้ามบรรพชา @ส่วนบัณเฑาะก์อีก ๓ ประเภทที่เหลือ ห้ามบรรพชา @อนึ่งในกุรุนทีกล่าวว่า ปักขบัณเฑาะก์ ห้ามบรรพชาเฉพาะในปักษ์ที่เป็นบัณเฑาะก์ (ข้างแรม) @(วิ.อ. ๓/๑๐๙/๘๑-๘๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๔๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา

ลักเพศบ้าง๑- ปฏิญญาเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์บ้าง ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่ามารดาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระ อรหันต์บ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณีบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์บ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิตบ้าง ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก บ้าง๒- ภิกษุทั้งหลายจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ [๓๗๔] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุจำพรรษา แล้ว หลีกไปเสียเมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้รับแทนที่สมควร สงฆ์ก็พึงให้ ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น สึกเสีย มรณภาพลง ปฏิญญาเป็นสามเณร ปฏิญญาเป็นผู้บอกลาสิกขา เป็นผู้ต้อง อันติมวัตถุ สงฆ์เป็นเจ้าของ(จีวรนั้น) ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้วเมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น ปฏิญญา เป็นคนวิกลจริต ปฏิญญาเป็นคนมีจิตฟุ้งซ่าน ปฏิญญาเป็นคนกระสับกระส่าย @เชิงอรรถ : @ คนลักเพศ แปลมาจากคำว่า “เถยยสังวาสกะ” คนลักเพศมี ๓ จำพวก คือ @๑. คนลักเพศ ๒. คนลักสังวาส @๓. คนลักทั้งเพศและสังวาส @คนที่บวชเองแล้วไปวัด ไม่คำนึงพรรษาของภิกษุ ไม่ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ไม่ห้ามอาสนะ @ไม่เข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น นี้ชื่อว่า คนลักเพศ @คนที่ภิกษุทั้งหลายบวชให้ ขณะยังเป็นสามเณร ไปต่างถิ่น พูดเท็จว่า “ผมบวชมาแล้ว ๑๐ พรรษา @หรือ ๒๐ พรรษา” นับพรรษาตามแบบพรรษาของภิกษุ ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ห้ามอาสนะ @เข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น เพราะเหตุเพียงลักสังวาสเท่านั้น นี้ชื่อว่า คนลักสังวาส ก็กิริยา @ทุกประเภทมีการนับพรรษาของภิกษุเป็นต้นพึงทราบว่า “สังวาส” @คนที่บวชเองแล้วไปวัด นับพรรษาตามแบบพรรษาของภิกษุ ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ห้าม @อาสนะเข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น เพราะลักเพศและสังวาส นี้ชื่อว่า คนลักทั้งเพศและสังวาส @(วิ.อ. ๓/๑๑๐/๘๒-๘๓) @ อุภโตพยัญชนก หมายถึงคนมี ๒ เพศ คือ สัญลักษณ์เพศหญิง และสัญลักษณ์เพศชาย เพราะผล @กรรมที่ทำไว้ (วิ.อ. ๓/๑๑๖/๙๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๕๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา

เพราะเวทนา ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ ปฏิญญา เป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลง อุกเขปนียกรรมเพราะไม่ละทิฏฐิบาป เมื่อมีผู้รับแทนที่สมควร สงฆ์ก็พึงให้ ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้วเมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น ปฏิญญา เป็นบัณเฑาะก์ ปฏิญญาเป็นคนลักเพศ ปฏิญญาเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ปฏิญญา เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่ามารดา ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดา ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่า พระอรหันต์ ปฏิญญาเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณี ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์ ปฏิญญา เป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก สงฆ์เป็น เจ้าของจีวรนั้น [๓๗๕] ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้วหลีกไป เมื่อจีวรเกิดขึ้น แล้วแต่ยังไม่ได้แบ่งกัน เมื่อมีผู้รับแทนที่สมควร สงฆ์พึงให้ ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรเกิดขั้นแล้วแต่ยังไม่ ได้แบ่งกัน สึกเสีย มรณภาพลง ปฏิญญาเป็นสามเณร ปฏิญญาเป็นผู้บอกลาสิกขา ปฏิญญาเป็นผู้ต้ออันติมวัตถุ สงฆ์เป็นเจ้าของ(จีวรนั้น) ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรเกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ได้ แบ่งกัน ปฏิญญาเป็นคนวิกลจริต ปฏิญญาเป็นคนมีจิตฟุ้งซ่าน ปฏิญญาเป็น คนกระสับกระส่ายเพราะเวทนา ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็น อาบัติ ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ปฏิญญาเป็น ผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป เมื่อมีผู้รับแทนที่สมควร สงฆ์ก็ พึงให้ ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรเกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ ได้แบ่งกัน ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์ ปฏิญญาเป็นคนลักเพศ ปฏิญญาเป็นผู้ไปเข้ารีต เดียรถีย์ ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่ามารดา ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดา ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ปฏิญญาเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณี ปฏิญญาเป็นผู้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๕๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๓๐. สังฆภินเนจีวรุปปาทกถา

ทำลายสงฆ์ ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต ปฏิญญาเป็น อุภโตพยัญชนก สงฆ์เป็นเจ้าของจีวรนั้น
๒๓๐. สังฆภินเนจีวรุปปาทกถา
ว่าด้วยความเกิดขึ้นแห่งจีวรเมื่อสงฆ์แตกกัน
เรื่องสงฆ์แตกกัน
[๓๗๖] ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่จำพรรษาแล้ว สงฆ์แตกกัน คนทั้งหลายในถิ่นนั้นถวายน้ำในฝ่ายหนึ่ง ถวาย จีวรในฝ่ายหนึ่งด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์” นั่นเป็นของสงฆ์เท่านั้น ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษา แล้ว สงฆ์แตกกัน คนทั้งหลายในถิ่นนั้นถวายน้ำในฝ่ายหนึ่ง ถวายจีวรในฝ่ายนั้น เหมือนกันด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์” นั่นเป็นของสงฆ์เท่านั้น ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษา แล้ว สงฆ์แตกกัน คนทั้งหลายในถิ่นนั้นถวายน้ำในฝ่ายหนึ่ง ถวายจีวรในฝ่ายหนึ่ง ด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายเฉพาะฝ่าย” นั่นเป็นของเฉพาะฝ่ายเท่านั้น ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษา แล้ว สงฆ์แตกกัน คนทั้งหลายในถิ่นนั้นถวายน้ำในฝ่ายหนึ่ง ถวายจีวรในฝ่ายนั้น เหมือนกันด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายเฉพาะฝ่าย” นั่นเป็นของเฉพาะฝ่ายเท่านั้น ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ เมื่อจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาแล้ว แต่ยังไม่ได้แบ่ง สงฆ์แตกกัน พึงแบ่งส่วนให้ภิกษุทุกรูปเท่าๆ กัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๕๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๓๑. ทุคคหิตสุคคหิตาทิกถา

๒๓๑. ทุคคหิตสุคคหิตาทิกถา
ว่าด้วยจีวรที่ถือเอาไม่ดีและถือเอาดีเป็นต้น
เรื่องพระเรวตะฝากจีวร
[๓๗๗] สมัยนั้น ท่านพระเรวตะฝากจีวรไปกับภิกษูรูปหนึ่งให้นำไปถวาย ท่านพระสารีบุตรด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวายจีวรผืนนี้แก่พระเถระ” ลำดับนั้น ในระหว่างทาง ภิกษุรูปนั้นได้ถือเอาจีวรนั้นเพราะวิสาสะกับท่าน พระเรวตะ ต่อมา ท่านพระเรวตะมาพบท่านพระสารีบุตรจึงถามว่า “ผมฝากจีวร มาถวาย ท่านได้รับแล้วหรือขอรับ” ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่าน ผมยังไม่เห็นจีวรนั้นเลย” ต่อมา ท่านพระเรวตะได้ถามภิกษุผู้รับฝากนั้นว่า “ท่าน ผมฝากจีวรกับท่าน ให้นำไปถวายพระเถระ จีวรนั้นอยู่ที่ไหน” ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ท่าน ผมได้ถือเอาจีวรนั้นแล้วเพราะวิสาสะกับท่าน” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
เรื่องการถือเอาของฝากโดยวิสาสะ
และการอธิษฐานเป็นจีวรมรดก
กรณีที่ ๑ ฝากไปด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวาย...”
[๓๗๘] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวร ไปกับภิกษุด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุ ผู้รับฝาก ถือเอาจีวรเองเพราะวิสาสะกับภิกษุผู้รับนั้น อย่างนี้ชื่อว่าถือเอาดี แต่ ถือเอาเพราะวิสาสะกับผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาไม่ดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๕๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๓๑. ทุคคหิตสุคคหิตาทิกถา

ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวาย จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเองเพราะวิสาสะกับ ผู้รับ อย่างนี้ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง แต่ถือเอาเพราะวิสาสะกับผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอา ถูกต้อง ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวายจีวร ผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากได้ทราบข่าวว่า “ผู้ฝากมรณภาพ เสียแล้ว” จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้ฝากนั้น อย่างนี้ชื่อว่าอธิษฐาน ถูกต้อง แต่ถือเอาเองเพราะวิสาสะกับผู้รับชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวายจีวร ผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทางภิกษุผู้รับฝากได้ทราบข่าวว่า “ผู้รับมรณภาพ เสียแล้ว” จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้รับนั้น อย่างนี้ชื่อว่าอธิษฐานไม่ ถูกต้อง แต่ถือเอาเพราะวิสาสะกับผู้ฝากชื่อว่าถือเอาถูกต้อง ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวายจีวร ผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากได้ทราบข่าวว่า “ผู้ฝากและผู้รับ ทั้ง ๒ มรณภาพเสียแล้ว” จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้ฝาก อย่างนี้ชื่อว่า อธิษฐานถูกต้อง อธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้รับชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง กรณีที่ ๒ ฝากไปด้วยกล่าวว่า “ผมขอถวาย...” ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยกล่าวว่า “ผมขอ ถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเองเพราะวิสาสะ กับผู้ฝาก อย่างนี้ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง แต่ถือเอาเพราะวิสาสะกับผู้รับชื่อว่าถือเอา ถูกต้อง ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยกล่าวว่า “ผมขอ ถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเองเพราะวิสาสะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๕๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๓๒. อัฏฐจีวรมาติกา

กับผู้รับ อย่างนี้ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง แต่ถือเอาเพราะวิสาสะกับผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอา ไม่ถูกต้อง ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยกล่าวว่า “ผมขอถวาย จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากได้ทราบข่าวว่า “ผู้ฝาก มรณภาพเสียแล้ว” จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้ฝากนั้น อย่างนี้ชื่อว่า อธิษฐานไม่ถูกต้อง แต่ถือเอาเองเพราะวิสาสะกับผู้รับชื่อว่าถือเอาถูกต้อง ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยกล่าวว่า “ผมขอถวาย จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากได้ทราบข่าวว่า “ผู้รับมรณ- ภาพเสียแล้ว” จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้รับนั้น อย่างนี้ชื่อว่าอธิษฐาน ถูกต้อง แต่ถือเอาเพราะวิสาสะกับผู้ฝากชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยกล่าวว่า “ท่านจง ถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากได้ทราบข่าวว่า “ผู้ฝาก และผู้รับทั้ง ๒ มรณภาพเสียแล้ว” จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้ฝาก อย่างนี้ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง อธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้รับชื่อว่าอธิษฐาน ถูกต้อง


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๒๔๙-๒๕๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=47              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=4524&Z=4619                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=170              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=170&items=2              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=5094              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=170&items=2              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=5094                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/brahmali#pli-tv-kd8:30.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/horner-brahmali#Kd.8.30



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :