ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๓. ปาติโมกขุทเทสกอัชเฌสนาทิ

๘๓. ปาติโมกขุทเทสกอัชเฌสนาทิ
ว่าด้วยการอาราธนาผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเป็นต้น
เรื่องภิกษุชาวเมืองโจทนาวัตถุไม่รู้จักอุโบสถ
[๑๕๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระประสงค์ แล้วได้เสด็จจาริกไปทางเมืองโจทนาวัตถุ เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงเมืองโจทนาวัตถุ สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง มีภิกษุอยู่หลายรูป บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้ เถระเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์ หรือ วิธีการยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้น มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติไว้ว่า ‘ปาติโมกข์เป็นหน้าที่ของพระเถระ’ ก็พระเถระของพวกเรารูปนี้เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์ หรือวิธียกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปใดเป็น ผู้ฉลาดสามารถ เราอนุญาตปาติโมกข์ให้เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปนั้น”
เรื่องภิกษุมากรูปไม่รู้จักอุโบสถ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกันหลายรูป ล้วนเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือ ปาติโมกข์ หรือวิธียกปาติโมกข์ขึ้นแสดง จึงอาราธนาพระเถระว่า “นิมนต์พระเถระ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ” พระเถระนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้” ภิกษุเหล่านั้นจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๒ ว่า “นิมนต์พระเถระยกปาติโมกข์ ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ” แม้ท่านก็ตอบอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้น แสดงไม่ได้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๓๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๓. ปาติโมกขุทเทสกอัชเณสนาทิ

ภิกษุเหล่านั้นจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๓ ว่า “นิมนต์ท่านยกปาติโมกข์ขึ้น แสดงเถิด ขอรับ” แม้ท่านก็ตอบอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้น แสดงไม่ได้” ภิกษุเหล่านั้นได้อาราธนาจนถึงพระผู้เป็นนวกะในสงฆ์โดยอุบายนั้นแหละว่า “ท่านจงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด” แม้พระนวกะนั้นก็ตอบอย่างนี้ว่า “กระผมยก ปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้ ขอรับ” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวัน อุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกันหลายรูป ล้วนเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ภิกษุเหล่านั้นไม่ รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์ หรือวิธียกปาติโมกข์ขึ้นแสดง จึงอาราธนาพระเถระว่า นิมนต์พระเถระยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ พระเถระ นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นจึง อาราธนาพระเถระรูปที่ ๒ ว่า นิมนต์พระเถระยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ แม้พระเถระรูปที่ ๒ นั้นก็กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้น แสดงไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๓ ว่า นิมนต์พระเถระยก ปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ แม้พระเถระรูปที่ ๓ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นได้อาราธนาจนถึงพระผู้เป็นนวกะ ในสงฆ์โดยอุบายนั้นแหละว่า ท่านจงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด แม้พระนวกะนั้น ก็ตอบอย่างนี้ว่า กระผมยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้ ขอรับ
เรื่องส่งภิกษุไปเรียนปาติโมกข์พอจะกลับมาทันในวันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียง พอจะ กลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า “ท่าน ท่านจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดย พิสดารมาเถิด” ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “จะส่งภิกษุรูปไหนไปหนอ” จึงนำ เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๓๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๔. ปักขคณนาทิอุคคหณานุชานนา

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระบัญชา ภิกษุผู้นวกะไป” ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระบัญชาแล้วไม่ยอมไป ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกพระเถระบัญชาแล้ว จะไม่ไปไม่ได้ รูปใดไม่ไป ต้องอาบัติทุกกฏ”
๘๔. ปักขคณนาทิอุคคหณานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้เรียนวิธีนับปักษ์เป็นต้น
เรื่องวิธีการนับปักษ์
[๑๕๖] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองโจทนาวัตถุตามพระอัธยาศัยแล้ว ก็เสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์อีกเช่นเดิม สมัยนั้น พวกชาวบ้านถามภิกษุทั้งหลายที่กำลังเที่ยวบิณฑบาตว่า “พระคุณเจ้า วันนี้กี่ค่ำ” ภิกษุทั้งหลายตอบอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกอาตมาไม่รู้” พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “แม้เพียงการนับปักษ์ พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ยังไม่รู้ ไฉนจะรู้ความดีอะไรๆ อย่างอื่นเล่า” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เรียนวิธีการนับปักษ์” ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอ ควรเรียนวิธีการ นับปักษ์ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทุกๆ รูป เรียนวิธี การนับปักษ์” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๓๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๔. ปักขคณนาทิอุคคหณานุชานนา

เรื่องทรงอนุญาตให้นับภิกษุในวันอุโบสถ
[๑๕๗] สมัยนั้น พวกชาวบ้านถามภิกษุทั้งหลายที่กำลังเที่ยวบิณฑบาตว่า “ภิกษุมีจำนวนเท่าไร เจ้าข้า” ภิกษุทั้งหลายตอบอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกอาตมาไม่รู้” พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “แม้พวกกันเอง พระสมณะ เชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ยังไม่รู้ ไฉนจะรู้ความดีอะไรๆ อย่างอื่นเล่า” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นับภิกษุ” ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “เมื่อไรหนอ เราควรนับภิกษุ” จึงนำ เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ เราอนุญาตให้นับภิกษุ ด้วยการเรียกชื่อหรือให้จับสลาก”
เรื่องไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านไกล
[๑๕๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่ทราบว่า “วันนี้เป็นวันอุโบสถ” ไปบิณฑบาต ยังหมู่บ้านไกล มาถึงเมื่อสงฆ์กำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงบ้าง เมื่อใกล้จะยกขึ้นแสดง จบบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกว่า วันนี้เป็นวัน อุโบสถ” ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอควรบอก” จึงนำ เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระบอกแต่ เช้าตรู่” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๔๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๕. ปุพพกรณานุชานนา

เรื่องนึกไม่ได้
สมัยต่อมา พระเถระรูปหนึ่ง เวลาเช้าตรู่ ก็นึกไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกแม้ในเวลาภัตกาล” แม้ในเวลาภัตกาล พระเถระก็นึกไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกในเวลาที่นึกขึ้นได้”
๘๕. ปุพพกรณานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตบุพพกรณ์
เรื่องบุพพกรณ์และบุพพกิจในโรงอุโบสถ๑-
[๑๕๙] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในโรงอุโบสถ พวกภิกษุอาคันตุกะพากัน ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ทำไมภิกษุทั้งหลายจึงไม่กวาดโรงอุโบสถกันเล่า” @เชิงอรรถ : @ บุพพกรณ์ หมายถึงการเตรียมการก่อนที่จะมีการประชุมสงฆ์ @บุพพกรณ์ของการทำอุโบสถ คือ @๑. กวาดโรงอุโบสถ ๒. จุดประทีปเตรียมแสงสว่าง @๓. จัดเตรียมน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ๔. ปูอาสนะ @บุพพกิจ หมายถึง กิจเบื้องต้น @บุพพกิจของการทำอุโบสถ คือ @๑. นำฉันทะและปาริสุทธิของภิกษุผู้เป็นไข้ คือ ถ้ามีภิกษุผู้เป็นไข้อยู่ในสีมาเดียวกัน ต้องนำความ @ยินยอมและคำปฏิญญาว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์จากอาบัติของภิกษุผู้เป็นไข้นั้นมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ @๒. บอกฤดู @๓. บอกจำนวนภิกษุที่เข้าร่วมประชุม @๔. แจ้งการให้โอวาทภิกษุณี (วิ.อ. ๓/๑๕๙/๑๓๙, กงฺขา.อ. ๑๑๘-๑๒๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๔๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๕. ปุพพกรณานุชานนา

ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กวาดโรงอุโบสถ” ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอ ควรกวาดโรงอุโบสถ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุนวกะ” ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระใช้แล้ว ก็ไม่ยอมกวาด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกภิกษุเถระใช้แล้ว จะไม่กวาดไม่ได้ รูปใดไม่กวาด ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องปูอาสนะและตามประทีปเป็นต้น
[๑๖๐] สมัยนั้น ในโรงอุโบสถ ไม่มีใครปูอาสนะไว้ ภิกษุทั้งหลายพากันนั่งที่พื้น ทั้งตัวทั้งจีวรเปื้อนฝุ่น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปูอาสนะในโรงอุโบสถ” ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอ ควรปูอาสนะใน โรงอุโบสถ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุนวกะ” ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระใช้แล้ว ก็ไม่ยอมปู ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกภิกษุเถระใช้แล้ว จะไม่ปูไม่ได้ รูปใดไม่ปู ต้องอาบัติทุกกฏ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๔๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๕. ปุพพกรณานุชานนา

[๑๖๑] สมัยนั้น ในโรงอุโบสถ ไม่ตามประทีปไว้ ภิกษุทั้งหลายเหยียบกายกัน บ้าง จีวรบ้าง ในที่มืด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ตามประทีปในโรงอุโบสถ” ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอ พึงตามประทีป ในโรงอุโบสถ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุนวกะ” ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระใช้แล้ว ก็ไม่ยอมตามประทีป ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกภิกษุเถระใช้แล้ว จะไม่ตามประทีปไม่ได้ รูปใดไม่ตามประทีป ต้องอาบัติทุกกฏ” [๑๖๒] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสไม่จัดน้ำฉัน น้ำใช้ไว้ พระอาคันตุกะพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุที่อยู่ใน อาวาสจึงไม่จัดน้ำฉันน้ำใช้ไว้เล่า” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จัดน้ำฉันน้ำใช้ไว้” ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอ พึงจัดน้ำฉัน น้ำใช้ไว้” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุนวกะ” ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระใช้แล้ว ไม่ยอมจัดน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกภิกษุเถระใช้แล้ว จะไม่จัดไม่ได้ รูปใดไม่จัด ต้องอาบัติทุกกฏ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๔๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๖. ทิสังคมิกาทิวัตถุ

๘๖. ทิสังคมิกาทิวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุไปสู่ทิศเป็นต้น
เรื่องภิกษุจะไปไหนต้องบอกลาก่อน
[๑๖๓] สมัยนั้น พวกภิกษุหลายรูปด้วยกันเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไปสู่ทิศ บอกลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุหลายรูปเป็นผู้โง่ เขลา ไม่ฉลาด ไปสู่ทิศ ย่อมบอกลาอุปัชฌาย์อาจารย์ ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์ อาจารย์ พึงถามภิกษุเหล่านั้นว่า พวกท่านจะไปไหนกัน ไปกับใคร” ถ้าภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด อ้างถึงภิกษุเหล่าอื่นที่โง่เขลาไม่ฉลาด เช่นกัน พระอุปัชฌาย์อาจารย์ไม่พึงอนุญาต ถ้าอนุญาต ต้องอาบัติทุกกฏ อนึ่ง ถ้าพวกเธอเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด พระอุปัชฌาย์อาจารย์ยังไม่อนุญาต ถ้ายังขืนไป ต้องอาบัติทุกกฏ
เรื่องควรสงเคราะห์ภิกษุผู้เป็นพหูสูต
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ในอาวาสแห่งหนึ่ง ภิกษุหลายรูปเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์หรือวิธียกปาติโมกข์ ขึ้นแสดง ภิกษุรูปอื่นเป็นพหูสูต เชี่ยวชาญปริยัติ(อาคตาคม) ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา มาในอาวาสนั้น ภิกษุพหูสูตรนั้นอันภิกษุเหล่านั้นพึงสงเคราะห์ อนุเคราะห์ โอภาปราศรัย บำรุงด้วยจุรณ ดินเหนียว ไม้ชำระฟัน น้ำบ้วนปาก ถ้าไม่สงเคราะห์ อนุเคราะห์ โอภาปราศรัย บำรุงด้วยจุรณ ดินเหนียว ไม้ชำระฟัน น้ำบ้วนปาก ต้องอาบัติทุกกฏ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๔๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๗. ปาริสุทธิทานกถา

เรื่องส่งภิกษุไปพอจะกลับมาทันในวันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น ภิกษุอยู่ ด้วยกันหลายรูป เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถหรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์ หรือวิธียกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียง พอจะกลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า ‘ท่าน ท่านจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดย พิสดารมาเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นทุกรูปพึงไปสู่ อาวาสที่มีภิกษุรู้อุโบสถหรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์หรือวิธีขึ้นแสดงปาติโมกข์ ถ้าไม่ไป ต้องอาบัติทุกกฏ
เรื่องจำพรรษาในอาวาสที่มีผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงได้
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ภิกษุอยู่จำพรรษาหลายรูป เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถหรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์หรือวิธียก ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียง พอจะกลับ มาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า “ท่าน ท่านจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดยพิสดาร มาเถิด” ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปชั่วเวลา ๗ วัน ด้วยสั่งว่า “ท่าน ท่านจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดยพิสดารมาเถิด” ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้น ไม่พึงจำพรรษาอยู่ใน อาวาสนั้น ถ้าจำพรรษาอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๒๓๗-๒๔๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=60              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=4595&Z=4728                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=175              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=4&item=175&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3069              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=4&item=175&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3069                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i147-e.php#topic17 https://suttacentral.net/pli-tv-kd2/en/brahmali#pli-tv-kd2:17.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd2/en/horner-brahmali#Kd.2.16.9



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :