ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๗. ธัมมเทสนาสิกขาบท นิทานวัตถุ

๑. มุสาวาทวรรค
๗. ธัมมเทสนาสิกขาบท
ว่าด้วยการแสดงธรรม
เรื่องพระอุทายี
[๖๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระอุทายีเป็นพระประจำ ตระกูลในกรุงสาวัตถีเข้าไปหาตระกูลหลายตระกูล เช้าวันหนึ่ง ท่านครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวรเข้าไปยังตระกูลหนึ่ง สมัยนั้น หญิงแม่เรือนนั่งอยู่ที่ประตูเรือน ลูกสะใภ้นั่งอยู่ที่ประตูห้องนอน ท่านพระอุทายีเข้าไปหาหญิงแม่เรือนนั้นถึงตัว ครั้นถึงแล้วได้แสดงธรรมใกล้ หูนาง ขณะนั้นลูกสะใภ้เกิดความคิดขึ้นมาว่า สมณะรูปนี้เป็นชายชู้ของแม่ผัว หรือ พูดเกี้ยวแม่ผัว ครั้นท่านพระอุทายีแสดงธรรมใกล้หูหญิงแม่เรือนแล้ว จึงเข้าไปหาหญิงสะใภ้ ถึงตัว ครั้นถึงแล้วจึงแสดงธรรมใกล้หูนาง ขณะนั้น หญิงแม่เรือนเกิดความคิดขึ้นมาว่า สมณะรูปนี้เป็นชายชู้ของลูกสะใภ้ หรือพูดเกี้ยวลูกสะใภ้ ครั้นท่านพระอุทายีแสดงธรรมใกล้หูลูกสะใภ้แล้วก็จากไป ทีนั้น หญิงแม่เรือนได้กล่าวกับลูกสะใภ้ว่า “นี่แน่นางตัวดี สมณะรูปนั้นกล่าว อะไรกับแก” หญิงสะใภ้ตอบว่า “ท่านแสดงธรรม เจ้าค่ะ แล้วคุณแม่ล่ะ พระคุณเจ้าพูดอะไร” หญิงแม่เรือนตอบว่า “ท่านก็แสดงธรรมแก่แม่เหมือนกัน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๔๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๗. ธัมมเทสนาสิกขาบท พระบัญญัติ

หญิงแม่เรือนกับลูกสะใภ้นั้นจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระ คุณเจ้าอุทายีจึงแสดงธรรมใกล้หูมาตุคามเล่า พระธรรมกถึกควรแสดงธรรมเสียง ชัดเจนเปิดเผย มิใช่หรือ” พวกภิกษุได้ยินหญิงทั้งสองตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุทายีจึงแสดงธรรมแก่ มาตุคามเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุทายีโดยประการต่างๆ แล้วจึง นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอแสดงธรรมแก่มาตุคาม จริงหรือ” ท่านพระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงแสดงธรรมแก่มาตุคามเล่า การกระทำอย่างนี้ มิได้ ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคาม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระอุทายี จบ
เรื่องอุบาสิกา
[๖๑] สมัยนั้น พวกอุบาสิกาพบภิกษุแล้วนิมนต์ว่า “พระคุณเจ้า ขอนิมนต์ พระคุณเจ้าแสดงธรรมเถิด” ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “น้องหญิง การแสดงธรรมแก่มาตุคามไม่เหมาะ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๔๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๗. ธัมมเทสนาสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

พวกอุบาสิกากล่าวว่า “ขอนิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดแสดงธรรมสัก ๕-๖ คำก็ได้ แม้เพียงเท่านี้พวกดิฉันอาจเข้าใจธรรมได้” พวกภิกษุก็ยังปฏิเสธว่า “น้องหญิง การแสดงธรรมแก่มาตุคามไม่เหมาะ” พากันยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมแสดงธรรม พวกอุบาสิกาจึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้า ทั้งหลายพวกเราอาราธนาอยู่ยังไม่ยอมแสดงธรรม” พวกภิกษุได้ยินอุบาสิกาตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แสดงธรรมแก่มาตุคามได้ ๕-๖ คำ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องอุบาสิกา จบ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๖๒] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ แสดงธรรมแก่มาตุคามได้ ๕-๖ คำ จึงให้บุรุษไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ๆ แล้วแสดงธรรม แก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำ พวกภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงให้บุรุษไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ๆ แล้วแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน ๕-๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๔๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๗. ธัมมเทสนาสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

คำเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่างๆ แล้วจึงนำ เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามพวกภิกษุพระฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอให้บุรุษไม่ รู้เดียงสานั่งใกล้ๆ แล้วแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำ จริงหรือ” พวก ภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ว่า “โมฆบุรษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงให้บุรุษไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ๆ แล้วแสดงธรรม แก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๖๓] อนึ่ง ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีบุรุษรู้เดียงสาอยู่
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๖๔] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่ สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย แต่เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรับรู้ถ้อยคำสุภาษิตและคำ ทุพภาษิต คำหยาบและคำสุภาพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๔๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๗. ธัมมเทสนาสิกขาบท บทภาชนีย์

ที่ชื่อว่า เกิน ๕-๖ คำ ได้แก่ เกินกว่า ๕-๖ คำ ที่ชื่อว่า ธรรม ได้แก่ พุทธภาษิต สาวกภาษิต ฤๅษีภาษิต เทวดาภาษิต ที่ประกอบด้วยอรรถ ที่ประกอบด้วยธรรม คำว่า แสดง คือ แสดงเป็นบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ บท แสดงเป็นอักษร ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ อักษร คำว่า เว้นไว้แต่มีบุรุษรู้เดียงสาอยู่ คือ ยกเว้นไว้แต่มีบุรุษผู้รู้ความอยู่ด้วย บุรุษที่ชื่อว่า เป็นผู้รู้เดียงสา คือ สามารถรับรู้ถ้อยคำสุภาษิต ทุพภาษิต คำหยาบและคำสุภาพ
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๖๕] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม แสดงธรรมเกิน ๕-๖ คำ ต้อง อาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีบุรุษรู้เดียงสาอยู่ มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ แสดงธรรมเกิน ๕-๖ คำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีบุรุษรู้เดียงสาอยู่ มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม แสดงธรรมเกิน ๕-๖ คำ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีบุรุษรู้เดียงสาอยู่
ติกทุกกฏ
ภิกษุแสดงธรรมแก่นางยักษ์ นางเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียซึ่ง แปลงร่างเป็นหญิงมากกว่า ๕-๖ คำ ต้องอาบัติทุกกฏ เว้นไว้แต่มีบุรุษรู้เดียงสาอยู่ ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่ามาตุคาม ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ไม่ต้องอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๕๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๗. ธัมมเทสนาสิกขาบท อนาปัตติวาร

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๖๖] ๑. ภิกษุที่แสดงธรรมโดยมีบุรุษรู้เดียงสาอยู่ด้วย ๒. ภิกษุแสดงธรรมเพียง ๕-๖ คำ ๓. ภิกษุแสดงธรรมต่ำกว่า ๕-๖ คำ ๔. ภิกษุลุกขึ้นแล้วมานั่งแสดงธรรมต่อไปอีก ๕. ภิกษุแสดงธรรมในที่ที่มาตุคามลุกขึ้นแล้วนั่งลงอีก ๖. ภิกษุแสดงธรรมแก่มาตุคามอื่นต่อ ๗. ภิกษุถูกถามปัญหาแล้วแสดงธรรมแก่มาตุคามผู้ถาม ๘. ภิกษุแสดงธรรมเพื่อคนอื่นแต่มีมาตุคามฟังอยู่ด้วย ๙. ภิกษุวิกลจริต ๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ
ธัมมเทสนาสิกขาบทที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๕๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๔๖-๒๕๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=43              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=7352&Z=7467                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=298              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=298&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=6374              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=298&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=6374                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc7/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :