ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๓. ตติยกฐินสิกขาบท นิทานวัตถุ

๑. จีวรวรรค
๓. ตติยกฐินสิกขาบท
ว่าด้วยกฐินเดาะข้อที่ ๓
เรื่องภิกษุรับอกาลจีวร
[๔๙๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อกาลจีวร๑- ได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุรูป หนึ่ง ท่านจะทำจีวรแต่ผ้าไม่พอ จึงพยายามดึงผ้านั้นให้ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง พระผู้มีพระภาคเสด็จไปตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นเธอพยายามดึงผ้านั้นให้ ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น ครั้นถึงแล้วตรัสถามว่า “เธอ พยายามดึงผ้านั้นให้ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง เพื่ออะไร” ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ผ้าที่เป็นอกาลจีวร ครั้นจะทำจีวรผ้าไม่พอ ดังนั้นจึงพยายามดึงผ้านั้นให้ยืดแล้วรีดเป็นหลายครั้ง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอมีความหวังจะได้ผ้าสำหรับทำจีวรอีกหรือ” ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “มีความหวัง พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงอนุญาตอกาลจีวร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “เราอนุญาตให้รับผ้าที่เป็นอกาลจีวรแล้วเก็บไว้โดยมีความหวัง ว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม” @เชิงอรรถ : @ อกาลจีวร หมายถึงผ้าสำหรับทำจีวรที่เกิดขึ้นนอกฤดูกาล คือนอกกาลที่ภิกษุจะพึงรับผ้าผืนที่ ๔ นอก @จากไตรจีวรเก็บไว้ได้ (ดูเชิงอรรถ ข้อ ๕๐๐ หน้า ๒๑ ในเล่มนี้) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๓. ตติยกฐินสิกขาบท พระบัญญัติ

[๔๙๘] ต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้รับผ้า ที่เป็นอกาลจีวรเก็บไว้ได้โดยมีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม จึงรับผ้าที่เป็นอกาลจีวร เก็บไว้เกิน ๑ เดือน ผ้าเหล่านั้นถูกมัดรวมเป็นห่อๆ แขวนไว้ที่ราว ท่านพระอานนท์เที่ยวไปตามเสนาสนะ เห็นผ้าเหล่านั้นถูกมัดรวมเป็นห่อๆ แขวนไว้ที่ราว จึงถามภิกษุทั้งหลายว่า “ผ้าเหล่านั้นถูกมัดรวมเป็นห่อๆ แขวนไว้ที่ ราว เป็นของใคร” ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “ผ้าเหล่านี้เป็นอกาลจีวร พวกกระผมเก็บไว้โดยความ หวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม” พระอานนท์ถามว่า “เก็บไว้นานเท่าไร” ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “เก็บไว้เกิน ๑ เดือน ขอรับ” พระอานนท์ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงรับผ้าที่เป็น อกาลจีวรเก็บไว้เกิน ๑ เดือนเล่า” ครั้นท่านตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายรับผ้าที่เป็น อกาลจีวรเก็บไว้เกิน ๑ เดือน จริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น จึงรับผ้าที่เป็นอกาลจีวรแล้วเก็บไว้เกิน ๑ เดือนเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้ เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๙๙] เมื่อจีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว เมื่อกฐินเดาะแล้ว อกาลจีวรเกิดขึ้น แก่ภิกษุ ภิกษุต้องการก็พึงรับไว้ได้ ครั้นรับแล้วพึงรีบให้ทำเป็นจีวร ถ้าผ้านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๓. ตติยกฐินสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

มีไม่พอ เมื่อมีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม ภิกษุนั้นพึงเก็บผ้าสำหรับทำจีวรนั้น ไว้ไม่เกิน ๑ เดือน เพื่อเพิ่มผ้าสำหรับทำจีวรที่ยังขาดให้ครบ ถ้าเก็บเกินกำหนด นั้น แม้มีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุรับอกาลจีวร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๕๐๐] คำว่า เมื่อจีวร...สำเร็จแล้ว หมายความว่า จีวรของภิกษุทำเสร็จ แล้ว สูญหายแล้ว ฉิบหายแล้ว ถูกไฟไหม้เสียแล้ว หรือภิกษุหมดหวังว่าจะได้ผ้ามา เย็บเป็นจีวร คำว่า เมื่อกฐินเดาะแล้ว หมายความว่า กฐินเดาะด้วยมาติกาอย่างใดอย่าง หนึ่งในมาติกา ๘ หรือสงฆ์เดาะกฐินในระหว่าง ที่ชื่อว่า อกาลจีวร ได้แก่ ผ้าที่เกิดขึ้นตลอด ๑๑ เดือน ในเมื่อไม่ได้กรานกฐิน ผ้าที่เกิดขึ้นตลอด ๗ เดือน ในเมื่อได้กรานกฐินแล้ว แม้ผ้าที่เขาถวายเจาะจงในกาล นี้ชื่อว่า อกาลจีวร๑- คำว่า เกิดขึ้น คือ เกิดจากสงฆ์ จากคณะ จากญาติ จากมิตร หรือที่เป็นผ้า บังสุกุล หรือที่ได้มาด้วยทรัพย์ของตน คำว่า ต้องการ คือ เมื่อต้องการก็รับไว้ คำว่า ครั้นรับแล้วพึงรีบให้ทำ คือ พึงให้ทำเสร็จภายใน ๑๐ วัน คำว่า ถ้าผ้านั้นมีไม่พอ คือ ผ้าไม่เพียงพอที่จะทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง คำว่า ภิกษุนั้นพึงเก็บผ้าสำหรับทำจีวรนั้นไว้ไม่เกิน ๑ เดือน คือ เก็บไว้ได้ ๑ เดือนเป็นอย่างมาก @เชิงอรรถ : @ คือ (๑) ตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของปีถัดไปสำหรับผู้ไม่ได้กรานกฐิน @รวมเป็น ๑๑ เดือน (๒) ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ในปีเดียวกัน สำหรับผู้ได้ @กรานกฐิน รวมเป็น ๗ เดือน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๓. ตติยกฐินสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

คำว่า เพื่อเพิ่มผ้าสำหรับทำจีวรที่ยังขาดให้ครบ คือ เพื่อจะให้ผ้าที่ยังขาด ครบบริบูรณ์ คำว่า เมื่อมีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม คือ มีความหวังว่าจะได้จากสงฆ์ จากคณะ จากญาติ จากมิตร หรือที่เป็นผ้าบังสุกุล หรือที่ได้มาด้วยทรัพย์ของตน จีวรที่มีความหวังว่าจะได้มา คำว่า ถ้าเก็บเกินกำหนดนั้น แม้มีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่ม อธิบายว่า จีวรที่หวังเกิดขึ้นในวันที่จีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้ว พึงทำให้เสร็จใน ๑๐ วัน จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิม เกิดขึ้นแล้วได้ ๓ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๔ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิม เกิดขึ้นแล้วได้ ๕ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๖ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิม เกิดขึ้นแล้วได้ ๗ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๘ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิม เกิดขึ้นแล้วได้ ๙ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๐ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๑๐ วัน จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๑ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิม เกิดขึ้นแล้วได้ ๑๒ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๓ วัน ... ในเมื่อจีวรผืน เดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๔ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๕ วัน ... ในเมื่อจีวร ผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๖ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๗ วัน ... ในเมื่อ จีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๘ วัน ... ในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๑๙ วัน ... ใน เมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๐ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๑๐ วัน จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๑ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๙ วัน จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๒ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๘ วัน จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๓ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๗ วัน จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๔ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๖ วัน จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๕ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๕ วัน จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๖ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๔ วัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๓. ตติยกฐินสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๗ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๓ วัน จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๘ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๒ วัน จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๒๙ วัน พึงทำให้เสร็จใน ๑ วัน จีวรที่หวังเกิดขึ้นในเมื่อจีวรผืนเดิมเกิดขึ้นแล้วได้ ๓๐ วัน พึงอธิษฐาน วิกัป สละให้ผู้อื่นในวันนั้น ถ้าไม่อธิษฐาน ไม่วิกัปหรือไม่สละให้ผู้อื่น เมื่อรุ่งอรุณวันที่ ๓๑ จีวรเป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้ แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ อกาลจีวรผืนนี้ของ กระผมเกิน ๑ เดือน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละอกาลจีวรผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ อกาลจีวร ผืนนี้ของกระผมเกิน ๑ เดือน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละอกาลจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้ง หลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่าน ทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๓. ตติยกฐินสิกขาบท บทภาชนีย์

สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ อกาลจีวรผืนนี้ของกระผมเกิน ๑ เดือน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละอกาลจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผม คืนจีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน” จีวรที่หวังเกิดขึ้น เนื้อผ้าไม่เหมือนกับจีวรเดิมที่เกิดขึ้นแล้ว และวันคืนก็ยัง เหลืออยู่ เมื่อไม่ต้องการจะทำ ก็ไม่ต้องทำ
บทภาชนีย์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๕๐๑] จีวรเก็บไว้เกิน ๑ เดือน ภิกษุสำคัญว่าเกินแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิย ปาจิตตีย์ จีวรเก็บไว้เกิน ๑ เดือน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรเก็บไว้เกิน ๑ เดือน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เกิน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรยังไม่ได้อธิษฐาน ภิกษุสำคัญว่าอธิษฐานแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรยังไม่ได้วิกัป ภิกษุสำคัญว่าวิกัปแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรยังไม่ได้สละให้ ภิกษุสำคัญว่าสละให้แล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรยังไม่สูญหาย ภิกษุสำคัญว่าสูญหายแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุสำคัญว่าฉิบหายแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุสำคัญว่าถูกไฟไหม้แล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรยังไม่ถูกโจรชิง ภิกษุสำคัญว่าถูกโจรชิงแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๑. จีวรวรรค ๓. ตติยกฐินสิกขาบท อนาปัตติวาร

ติกทุกกฏ
จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุไม่สละ ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ จีวรยังไม่เกิน ๑ เดือน ภิกษุสำคัญว่าเกินแล้ว ต้องอาบัติทุกกฏ จีวรที่ยังไม่เกิน ๑ เดือน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ จีวรยังไม่เกิน ๑ เดือน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เกิน ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๕๐๒] ๑. ภิกษุอธิษฐานภายใน ๑ เดือน ๒. ภิกษุผู้วิกัปไว้ ๓. ภิกษุผู้สละให้ไป ๔. ภิกษุผู้มีจีวรสูญหาย ๕. ภิกษุผู้มีจีวรฉิบหาย ๖. ภิกษุผู้มีจีวรถูกไฟไหม้ ๗. ภิกษุผู้มีจีวรถูกโจรชิงเอาไป ๘. ภิกษุผู้มีจีวรถูกถือเอาไปโดยวิสาสะ ๙. ภิกษุวิกลจริต ๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ
ตติยกฐินสิกขาบทที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๙-๒๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=3              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=383&Z=552                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=32              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=32&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=3866              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=32&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=3866                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np3/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :