ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
พระวินัยปิฎก
เล่ม ๗
จุลวรรค ภาค ๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขุททกวัตถุขันธกะ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ วัตรในการอาบน้ำ
[๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน วิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล พระฉัพพัคคีย์อาบน้ำ สีกาย คือ ขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้าง ที่ต้นไม้ ชาวบ้านเห็นแล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระ ศากยบุตรทั้งหลายอาบน้ำ จึงสีกาย คือ ขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้าง ที่ต้นไม้ เหมือนพวกนักมวยผู้ชกกันด้วยหมัด เหมือนพวกชาวบ้านผู้ชอบแต่งผิว เล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ ... จึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้า มูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุฉัพพัคคีย์อาบน้ำ สีกาย คือ ขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้าง ที่ต้นไม้ จริงหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของ โมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เหมาะสม ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน โมฆบุรุษเหล่านั้นอาบน้ำจึงสีกาย คือ ขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้าง ที่ต้นไม้เล่า การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความ เลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาบน้ำ ไม่พึงสีกาย ที่ต้นไม้ รูปใดสี ต้อง อาบัติทุกกฏ ฯ [๒] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์อาบน้ำ สีกาย คือ ขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้าง ที่เสา ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระ- *สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรทั้งหลายอาบน้ำ จึงได้สีกาย คือ ขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้าง ที่เสา เหมือนพวกนักมวยผู้ชกกันด้วยหมัด เหมือนพวกชาว บ้านผู้ชอบแต่งผิวเล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ ... จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ... จริงหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่ง กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาบน้ำไม่พึงสีกายที่เสา รูปใดสี ต้อง อาบัติทุกกฏ ฯ [๓] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์อาบน้ำ สีกาย คือ ขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้าง ที่ฝา ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระ- *สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรทั้งหลายอาบน้ำ จึงได้สีกาย คือ ขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้าง ที่ฝา เหมือนพวกนักมวยผู้ชกกันด้วยหมัด เหมือนพวกชาวบ้านผู้ ชอบแต่งผิวเล่า ... พระผู้มีพระภาค ... รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ อาบน้ำ ไม่พึงสีกายที่ฝา รูปใดสี ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๔] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์อาบน้ำ ย่อมอาบในสถานที่อันไม่สม- *ควร ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ ... จึงกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ... จริงหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่ง กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาบน้ำ ไม่พึงอาบในสถานที่อันไม่ สมควร รูปใดอาบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๕] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์อาบน้ำถูด้วยมือที่ทำด้วยไม้ ชาวบ้าน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้ง- *หลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ ... จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ไม่พึงอาบน้ำถูด้วยมือที่ทำด้วยไม้ รูปใดอาบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๖] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์อาบน้ำถูด้วยก้อนจุรณหินสีดั่งพลอยแดง ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุ ทั้งหลาย ... จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ไม่พึงอาบน้ำถูด้วยก้อนจุรณหินสีดั่งพลอยแดง รูปใดอาบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๗] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ผลัดกันถูตัว ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย ... จึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ พึงผลัดกันถูตัว รูปใดให้ทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๘] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์อาบน้ำถูด้วยไม้บังเวียนที่จักเป็นฟันมังกร ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย ... จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ไม่พึงอาบน้ำถูด้วยไม้บังเวียนที่จักเป็นฟันมังกร รูปใดอาบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๙] สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคหิด ภิกษุนั้นเว้นไม้บังเวียน ที่จักเป็นฟันมังกรเสีย ย่อมไม่สบาย ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา- *อนุญาตไม้บังเวียนที่มิได้จักเป็นฟันมังกรแก่ภิกษุอาพาธ ฯ [๑๐] สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งทุพพลภาพเพราะชรา เมื่ออาบน้ำ ไม่ สามารถจะถูกายของตนได้ ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตเกลียวผ้า ฯ [๑๑] สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งรังเกียจเพื่อจะทำการถูหลัง ... ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตการถูหลังด้วยมือ ฯ
เรื่องเครื่องประดับต่างชนิด
[๑๒] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ทรงเครื่องประดับหู ... ทรงสังวาล ทรงสร้อยคอ ทรงเครื่องประดับเอว ทรงวลัย ทรงสร้อยตาบ ทรงเครื่องประดับ ข้อมือ ทรงแหวนประดับนิ้วมือ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ ... จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ... ทรงสอบถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุฉัพพัคคีย์ทรงเครื่องประดับหู ทรงสังวาล ทรงสร้อยคอ ทรงเครื่องประดับ- *เอว ทรงวลัย ทรงสร้อยตาบ ทรงเครื่องประดับข้อมือ ทรงแหวนประดับนิ้วมือ จริงหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่ง กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงเครื่องประดับหู ไม่พึงทรง สังวาล ไม่พึงทรงสร้อยคอ ไม่พึงทรงเครื่องประดับเอว ไม่พึงทรงวลัย ไม่พึง ทรงสร้อยตาบ ไม่พึงทรงเครื่องประดับข้อมือ ไม่พึงทรงแหวนประดับนิ้วมือ รูปใด ทรง ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
เรื่องไว้ผมยาว
[๑๓] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ไว้ผมยาว ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่อง นั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... รับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้ผมยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ไว้ผมได้สองเดือน หรือยาวสององคุลี ฯ [๑๔] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์เสยผมด้วยแปรง เสยผมด้วยหวี เสยผมด้วยนิ้วมือต่างหวี เสยผมด้วยน้ำมันผสมกับขี้ผึ้ง เสยผมด้วยน้ำมันผสม กับน้ำ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภค กาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเสยผมด้วย แปรง ไม่พึงเสยผมด้วยหวี ไม่พึงเสยผมด้วยนิ้วมือต่างหวี ไม่พึงเสยผมด้วย น้ำมันผสมกับขี้ผึ้ง ไม่พึงเสยผมด้วยน้ำมันผสมกับน้ำ รูปใดเสย ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
เรื่องส่องดูเงาหน้า
[๑๕] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ส่องดูเงาหน้าในแว่นบ้าง ในภาชนะ น้ำบ้าง ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภค กาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงดูเงาหน้าใน แว่นหรือในภาชนะน้ำ รูปใดดู ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๖] สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่ง เป็นแผลที่หน้า เธอถามภิกษุทั้งหลายว่า แผลของผมเป็นเช่นไร ขอรับ ภิกษุทั้งหลายตอบอย่างนี้ว่า แผลของคุณเป็นเช่นนี้ ขอรับ เธอไม่เชื่อ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดูเงาหน้า ที่แว่นหรือที่ภาชนะน้ำได้ เพราะเหตุอาพาธ ฯ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ทาหน้าเป็นต้น
[๑๗] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ทาหน้า ถูหน้า ผัดหน้า เจิมหน้า ด้วยมโนศิลา ย้อมตัว ย้อมหน้า ย้อมทั้งตัวและหน้า ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทาหน้า ไม่ พึงถูหน้า ไม่พึงผัดหน้า ไม่พึงเจิมหน้าด้วยมโนศิลา ไม่พึงย้อมตัว ไม่พึงย้อม- *หน้า ไม่พึงย้อมทั้งตัวและหน้า รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๘] สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธด้วยโรคนัยน์ตา ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทาหน้าได้ เพราะเหตุอาพาธ ฯ [๑๙] สมัยต่อมา ที่พระนครราชคฤห์ มีงานมหรสพบนยอดเขา พระ ฉัพพัคคีย์ได้ไปเที่ยวดูงานมหรสพ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้ไปดูการฟ้อนรำ การขับร้อง และการ ประโคมดนตรี เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่อง นั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไปดูการฟ้อนรำ การขับร้อง หรือการประโคมดนตรี รูปใดไป ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
เรื่องสวดพระธรรมด้วยทำนอง
[๒๐] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้าย เพลงขับ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากย- *บุตรเหล่านี้ สวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ เหมือนพวกเราขับ ภิกษุ ทั้งหลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้สวดพระธรรม ด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ... จริงหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่ง กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลง ขับ มีโทษ ๕ ประการนี้ คือ:- ๑. ตนยินดีในเสียงนั้น ๒. คนอื่นก็ยินดีในเสียงนั้น ๓. ชาวบ้านติเตียน ๔. สมาธิของผู้พอใจการทำเสียงย่อมเสียไป ๕. ภิกษุชั้นหลังจะถือเป็นเยี่ยงอย่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการนี้แล ของภิกษุผู้สวดพระธรรมด้วย ทำนองยาวคล้ายเพลงขับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
เรื่องการสวดสรภัญญะ
[๒๑] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายรังเกียจในการสวดสรภัญญะ จึงกราบ ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดเป็น ทำนองสรภัญญะได้ ฯ [๒๒] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ห่มผ้าขนสัตว์ มีขนข้างนอก ชาวบ้าน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงห่มผ้าขนสัตว์ มีขนข้างนอก รูปใดห่ม ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
เรื่องทรงห้ามฉันมะม่วง
[๒๓] สมัยต่อมา มะม่วงที่พระราชอุทยานของพระเจ้าพิมพิสารจอม เสนามาคธราช กำลังมีผล พระองค์ทรงอนุญาตไว้ว่า ขออาราธนาพระคุณเจ้า ทั้งหลาย ฉันผลมะม่วงตามสบายเถิด พระฉัพพัคคีย์สอยผลมะม่วงกระทั่ง ผลอ่อนๆ ฉัน พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชต้องพระประสงค์ผลมะม่วง จึงรับ สั่งกับมหาดเล็กว่า ไปเถิด พนาย จงไปสวนเก็บมะม่วงมา มหาดเล็กรับพระ บรมราชโองการแล้ว ไปสู่พระราชอุทยาน บอกคนรักษาพระราชอุทยานว่า ในหลวง มีพระประสงค์ผลมะม่วง ท่านจงถวายผลมะม่วง คนรักษาพระราชอุทยานตอบว่า ผลมะม่วงไม่มี ภิกษุทั้งหลายเก็บไปฉันหมด กระทั่งผลอ่อนๆ มหาดเล็กเหล่านั้น จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระเจ้าพิมพิสารๆ รับสั่งว่า พระคุณเจ้าทั้งหลายฉันผล มะม่วงหมดก็ดีแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญความรู้จักประมาณ ชาวบ้าน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงไม่ รู้จักประมาณ ฉันผลมะม่วงของในหลวงหมด ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ ... จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันผลมะม่วง รูปใดฉันต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๒๔] สมัยต่อมา สัปบุรุษหมู่หนึ่งถวายภัตตาหารแก่สงฆ์ เขาจัดผล มะม่วงเป็นชิ้นๆ ไว้ในกับข้าว ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่รับประเคน ... พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคน ฉันเถิด เราอนุญาตผลมะม่วงเป็นชิ้นๆ ฯ
สมณกัปปะ ๕ อย่าง
[๒๕] สมัยต่อมา สัปบุรุษหมู่หนึ่งถวายภัตตาหารแก่สงฆ์ เขาไม่ได้ฝาน มะม่วงเป็นชิ้นๆ ในโรงอาหารล้วนแล้วไปด้วยผลมะม่วงทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย รังเกียจไม่รับประเคน ... พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคน ฉันเถิด เราอนุญาตให้ฉันผลไม้โดยสมณกัปปะ ๕ อย่าง คือ ๑. ผลไม้ที่ลนด้วยไฟ ๒. ผลไม้ที่กรีดด้วยศัสตรา ๓. ผลไม้ที่จิกด้วยเล็บ ๔. ผลไม้ที่ไม่มีเมล็ด ๕. ผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออกแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้โดยสมณกัปปะ ๕ อย่างนี้ ฯ
เรื่องภิกษุถูกงูกัด
[๒๖] สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดถึงมรณภาพ ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นไม่ได้แผ่ เมตตาจิตไปสู่ตระกูลพญางูทั้ง ๔ เป็นแน่ เพราะถ้าภิกษุรูปนั้นแผ่เมตตาจิตไปสู่ ตระกูลพญางูทั้ง ๔ ภิกษุรูปนั้นจะไม่พึงถูกงูกัดถึงมรณภาพ ตระกูลพญางูทั้ง ๔ อะไรบ้าง คือ ๑. ตระกูลพญางูวิรูปักขะ ๒. ตระกูลพญางูเอราปถะ ๓. ตระกูลพญางูฉัพยาปุตตะ ๔. ตระกูลพญางูกัณหาโคตมกะ ภิกษุรูปนั้นไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปสู่ตระกูลพญางูทั้ง ๔ นี้เป็นแน่ เพราะถ้า ภิกษุนั้นแผ่เมตตาจิตไปสู่ตระกูลพญางูทั้ง ๔ นี้ ภิกษุนั้นจะไม่พึงถูกงูกัดถึงมรณภาพ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แผ่เมตตาจิตไปสู่ตระกูลพญางูทั้ง ๔ นี้ เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน ก็แล พึงทำการแผ่อย่างนี้:-
คาถาแผ่เมตตากันงูกัด
[๒๗] เรากับพญางูตระกูลวิรูปักขะ จงมีเมตตาต่อกัน เรากับพญางูตระกูลเอราปถะ จงมีเมตตาต่อกัน เรากับพญางูตระกูลฉัพยาปุตตะ จงมีเมตตาต่อกัน เรากับพญางูตระกูลกัณหาโคตมกะ จงมีเมตตาต่อกัน เรากับฝูงสัตว์ที่ไม่มีเท้า จงมีเมตตาต่อกัน เรากับฝูงสัตว์ ๒ เท้า จงมีเมตตาต่อกัน เรากับฝูงสัตว์ ๔ เท้า จงมีเมตตาต่อกัน เรากับฝูงสัตว์มีเท้ามาก จงมีเมตตาต่อกัน สัตว์ไม่มีเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา สัตว์ ๒ เท้าอย่า ได้เบียดเบียนเรา สัตว์ ๔ เท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา สัตว์มีเท้ามากอย่าได้เบียดเบียนเรา แลสัตว์ที่เกิด แล้วยังมีชีวิตทั้งมวลทุกหมู่เหล่า จงประสพความ เจริญ อย่าได้พบเห็นสิ่งลามกสักน้อยหนึ่งเลย พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีพระคุณหาประมาณมิได้ พระ สงฆ์มีพระคุณหาประมาณมิได้ แต่สัตว์เสือกคลานทั้งหลาย คือ งู แมงป่อง ตะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก หนู มีคุณพอประมาณ ความรักษาอันเราทำแล้ว ความป้องกันอันเราทำแล้ว ขอฝูงสัตว์ทั้งหลายจงถอยกลับไปเถิด เรานั้นขอนมัส การแด่พระผู้มีพระภาค ขอนมัสการแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ ฯ
เรื่องภิกษุตัดองค์กำเนิด
[๒๘] สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งถูกความกระสันเบียดเบียน ได้ตัดองค์ กำเนิดของตนเสีย ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษนั้น เมื่อสิ่งที่ จะพึงตัดอย่างอื่นยังมี ไพล่ไปตัดเสียอีกอย่าง ภิกษุไม่พึงตัดองค์กำเนิดของตน รูปใดตัด ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯ
เรื่องบาตรปุ่มไม้จันทน์
[๒๙] สมัยต่อมา ปุ่มไม้แก่นจันทน์มีราคามาก ได้บังเกิดแก่เศรษฐี ชาวเมืองราชคฤห์ จึงราชคหเศรษฐีได้คิดว่า ถ้ากระไรเราจะให้กลึงบาตรด้วยปุ่มไม้ แก่นจันทน์นี้ ส่วนที่กลึงเหลือเราจักเก็บไว้ใช้ และเราจักให้บาตรเป็นทาน หลัง จากนั้น ท่านราชคหเศรษฐีให้กลึงบาตรด้วยปุ่มไม้แก่นจันทน์นั้น แล้วใส่สาแหรก แขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ผูกต่อๆ กันขึ้นไป แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ใด เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จงปลดบาตรที่เราให้แล้วไปเถิด ฯ [๓๐] ขณะนั้น ปูรณะกัสสปเข้าไปหาท่านราชคหเศรษฐีแล้ว กล่าวว่า ท่านคหบดี อาตมานี้แหละเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ขอท่านจงให้บาตรแก่ อาตมาเถิด ท่านเศรษฐีตอบว่า ท่านเจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์และ มีฤทธิ์ ก็จงปลดบาตรที่ข้าพเจ้าให้แล้วนั่นแลไปเถิด ต่อมา ท่านมักขลิโคสาล ท่านอชิตเกสกัมพล ท่านปกุธกัจจายนะ ท่านสัญชัยเวลัฏฐบุตร ท่านนิครนถ์นาฏบุตร ได้เข้าไปหาท่านราชคหเศรษฐี แล้วกล่าวว่า ท่านคหบดี อาตมานี้แหละเป็นพระอรหันต์ และมีฤทธิ์ ขอท่าน จงให้บาตรแก่อาตมาเถิด ท่านเศรษฐีตอบว่า ท่านเจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระ อรหันต์และมีฤทธิ์ ก็จงปลดบาตรที่ข้าพเจ้าให้แล้วนั่นแลไปเถิด ฯ
เรื่องพระปิณโฑลภารทวาชเถระ
[๓๑] สมัยต่อมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะกับท่านพระปิณโฑลภาร- *ทวาชะ ครองอันตรวาสกในเวลาเช้าแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตในเมือง ราชคฤห์ อันที่แท้ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จึงท่านพระปิณโฑลภาร ทวาชะ ได้กล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ไปเถิด ท่านโมคคัลลานะ จงปลดบาตรนั้นลง บาตรนั้นของท่าน แม้ท่านพระโมคคัลลานะก็กล่าวกะท่าน พระปิณโฑลภารทวาชะว่า ไปเถิด ท่านภารทวาชะ จงปลดบาตรนั้นลง บาตรนั้น ของท่าน จึงท่านพระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นสู่เวหาส ถือบาตรนั้นเวียนไป รอบเมืองราชคฤห์ ๓ รอบ ฯ [๓๒] ครั้งนั้น ท่านราชคหเศรษฐีพร้อมกับบุตรภรรยา ยืนอยู่ในเรือน ของตน ประคองอัญชลีนมัสการ กล่าวนิมนต์ว่า ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้า ภารทวาชะ จงประดิษฐานในเรือนของข้าพเจ้านี้เถิด จึงท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ประดิษฐานในเรือนของท่านราชคหเศรษฐี ขณะนั้น ท่านราชคหเศรษฐีรับบาตร จากมือของท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ แล้วได้จัดของเคี้ยวมีค่ามาก ถวายท่าน พระปิณโฑลภารทวาชะ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะได้รับบาตรนั้นไปสู่พระอาราม ชาวบ้านได้ทราบข่าวว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะปลดบาตรของราชคหเศรษฐี ไปแล้ว และชาวบ้านเหล่านั้นมีเสียงอึกทึกเกรียวกราว ติดตามพระปิณโฑลภาร- *ทวาชะไปข้างหลังๆ พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับเสียงอึกทึกเกรียวกราว ครั้นแล้ว ตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ นั่นเสียงอึกทึกเกรียวกราว เรื่องอะไรกัน ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะปลดบาตร ของท่านราชคหเศรษฐีลงแล้ว พวกชาวบ้านทราบข่าวว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ปลดบาตรของท่านราชคหเศรษฐีลง จึงพากันติดตามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะมา ข้างหลังๆ อย่างอึกทึกเกรียวกราว พระพุทธเจ้าข้า เสียงอึกทึกเกรียวกราวนี้ คือเสียงนั้น พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๓๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุ เป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระปิณโฑลภาร- *ทวาชะว่า ภารทวาชะ ข่าวว่า เธอปลดบาตรของราชคหเศรษฐีลง จริงหรือ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ภารทวาชะ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน เธอจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ ซึ่งเป็นดุจซากศพเล่า มาตุคามแสดงของลับ เพราะ เหตุแห่งทรัพย์ซึ่งเป็นดุจซากศพแม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้แสดงอิทธิ- *ปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งบาตร ไม้ซึ่งเป็นดุจซากศพ การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่ พวกคฤหัสถ์ รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทำลายบาตรไม้นั่น บดให้ละเอียด ใช้เป็นยา หยอดตาของภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุไม่พึงใช้บาตรไม้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
เรื่องบาตร
[๓๔] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ใช้บาตรต่างๆ คือ บาตรทำด้วยทองคำ บาตรทำด้วยเงิน ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรทองคำ ไม่พึงใช้บาตรเงิน ไม่พึงใช้บาตรแก้วมณี ไม่พึงใช้บาตรแก้วไพฑูรย์ ไม่พึงใช้ บาตรแก้วผลึก ไม่พึงใช้บาตรทองสัมฤทธิ์ ไม่พึงใช้บาตรกระจก ไม่พึงใช้บาตร ดีบุก ไม่พึงใช้บาตรตะกั่ว ไม่พึงใช้บาตรทองแดง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบาตร ๒ ชนิด คือ บาตรเหล็ก ๑ บาตร ดิน ๑ ฯ [๓๕] สมัยต่อมา ก้นบาตรสึก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระ ผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบังเวียนรองบาตร ฯ [๓๖] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ใช้บังเวียนรองบาตรต่างๆ ทำด้วยทอง ทำด้วยเงิน ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภค กาม ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บังเวียน รองบาตรต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบังเวียนรองบาตร ๒ ชนิด คือ ทำด้วย ดีบุก ๑ ทำด้วยตะกั่ว ๑ บังเวียนรองบาตรหนา ไม่กระชับกับบาตร ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตให้กลึงบังเวียนรองบาตรที่กลึงแล้วยังเป็นคลื่น ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จักเป็นฟันมังกร ฯ [๓๗] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ใช้บังเวียนรองบาตรอันวิจิตร จ้างเขา ทำให้มีลวดลายเป็นรูปภาพ เที่ยวแสดงไปแม้ตามถนน ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บังเวียนรองบาตร อันวิจิตร ที่จ้างเขาทำให้มีลวดลายเป็นรูปภาพ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้บังเวียนรองบาตรอย่างธรรมดา ฯ [๓๘] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายเก็บงำบาตรทั้งที่ยังมีน้ำ บาตรเหม็นอับ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บาตรที่ยังมีน้ำ ภิกษุ ไม่พึงเง็บงำ รูปใดเก็บงำ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผึ่งแล้วจึงเก็บงำบาตร ฯ [๓๙] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายผึ่งบาตรทั้งที่ยังมีน้ำ บาตรมีกลิ่นเหม็น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บาตรที่ยังมีน้ำ ภิกษุไม่พึง ผึ่งไว้ รูปใดผึ่งไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำให้หมดน้ำเสียก่อนผึ่ง แล้วจึงเก็บงำ บาตร ฯ [๔๐] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายวางบาตรไว้ในที่ร้อน ผิวบาตรเสีย ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ไม่พึงวางบาตรไว้ในที่ร้อน รูปใดวางไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผึ่งไว้ในที่ร้อนครู่เดียว แล้วจึงเก็บงำบาตร ฯ [๔๑] สมัยต่อมา บาตรเป็นอันมาก ไม่มีเชิงรอง ภิกษุทั้งหลายวาง เก็บไว้ในที่แจ้ง บาตรถูกลมหัวด้วนพัดกลิ้งตกแตก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชิงรองบาตร ฯ [๔๒] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายวางบาตรไว้ริมกระดานเลียบ บาตรกลิ้ง ตกแตก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวางบาตรไว้ ริมกระดานเลียบ รูปใดวางไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๔๓] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายวางบาตรไว้ริมกระดานเลียบเล็กๆ นอกฝา บาตรกลิ้งตกแตก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวางบาตรไว้ ริมกระดานเลียบเล็กๆ นอกฝา รูปใดวางไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๔๔] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายคว่ำบาตรไว้ที่พื้นดิน ขอบบาตรสึก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้หญ้ารอง หญ้าที่รองถูกปลวกกัด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ท่อนผ้า รอง ท่อนผ้าถูกปลวกกัด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแท่นเก็บบาตร บาตรตกจากแท่นเก็บ บาตรแตก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้หม้อ เก็บบาตร บาตรครูดสีกับหม้อเก็บบาตร ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ถุงบาตร สายโยกไม่มี ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสายโยกเป็น ด้ายถัก ฯ [๔๕] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายแขวนบาตรไว้ที่ไม้เดือยข้างฝาบ้าง ที่ ไม้นาคทนต์บ้าง บาตรพลัดตกแตก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงแขวนบาตรไว้ รูปใดแขวนไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๔๖] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้บนเตียง เผลอสตินั่งทับ บาตรแตก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเก็บบาตรไว้ บนเตียง รูปใดเก็บ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๔๗] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้บนตั่ง เผลอสตินั่งทับ บาตรแตก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเก็บบาตรไว้ บนตั่ง รูปใดเก็บ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๔๘] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายวางบาตรไว้บนตัก เผลอสติลุกขึ้น บาตรตกแตก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวางบาตรไว้ บนตัก รูปใดวาง ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๔๙] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้บนกลด กลดถูกลมหัวด้วน พัด บาตรตกแตก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเก็บบาตรไว้ บนกลด รูปใดเก็บไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๕๐] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายถือบาตรอยู่ ผลักบานประตูเข้าไป บาตร กระทบบานประตูแตก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุถือบาตรอยู่ ไม่พึง ผลักบานประตูเข้าไป รูปใดผลัก ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๕๑] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายใช้กะโหลกน้ำเต้าเที่ยวบิณฑบาต ชาว บ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกเดียรถีย์ ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กะโหลก น้ำเต้าเที่ยวบิณฑบาต รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๕๒] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายใช้กระเบื้องหม้อเที่ยวบิณฑบาต ชาว บ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกเดียรถีย์ ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กระเบื้องหม้อ เที่ยวบิณฑบาต รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๕๓] สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งใช้ของบังสุกุลทุกอย่าง เธอใช้บาตร กะโหลกผี สตรีผู้หนึ่งเห็นเข้า กลัว ได้ร้องเสียงวีดแสดงความหวาดเสียวว่า นี้ปีศาจแน่ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสาย พระศากยบุตรจึงใช้บาตรกะโหลกผีเหมือนพวกปีศาจ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่อง นั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรกะโหลกผี รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ อนึ่ง ภิกษุไม่พึงใช้ของบังสุกุลทุกอย่าง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๕๔] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายใช้บาตรรับเศษอาหารบ้าง ก้างบ้าง น้ำ บ้วนปากบ้าง ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสาย พระศากยบุตรเหล่านี้จึงใช้บาตรต่างกระโถน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรรับเศษ อาหาร ก้าง หรือน้ำบ้วนปาก รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตให้ใช้ กระโถน ฯ
เรื่องจีวร
[๕๕] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายใช้มือฉีกผ้าแล้วเย็บเป็นจีวร จีวรมีแนว ไม่เสมอกัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้มีดมีผ้าพัน ฯ [๕๖] สมัยต่อมา มีดมีด้ามบังเกิดแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้มีดมีด้าม ฯ [๕๗] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ใช้ด้ามมีดต่างๆ ทำด้วยทอง ทำด้วย เงิน ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ด้ามมีดต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ด้ามมีดที่ทำด้วยกระดูก งา เขา ไม้อ้อ ไม้ไผ่ ไม้ธรรมดา ครั่ง เมล็ดผลไม้ โลหะ และกระดองสังข์ ฯ [๕๘] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายใช้ขนไก่บ้าง ไม้กลัดบ้าง เย็บจีวร จีวรเย็บแล้วไม่ดี ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้เข็ม เข็มขึ้น สนิม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้กล่องเข็ม แม้ในกล่องเข็ม ก็ยังขึ้นสนิม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โรยด้วยแป้งข้าวหมาก แม้ในแป้งข้าวหมาก เข็มก็ยังขึ้นสนิม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้โรยด้วยแป้งเจือขมิ้นผง แม้ในแป้งเจือขมิ้นผงเข็มก็ยังขึ้นสนิมได้ ... ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ฝุ่นหิน แม้ในฝุ่นหินเข็มก็ยังขึ้นสนิม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทาด้วยขี้ผึ้ง ฝุ่นหินแตก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ผ้ามัดขี้ผึ้งพอกฝุ่นหิน ฯ
เรื่องไม้สะดึง
[๕๙] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายตอกหลักลงในที่นั้นๆ ผูกขึงเย็บจีวร จีวรเสียมุม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้สะดึง เชือกผูก ไม้สะดึง ให้ผูกลงในที่นั้นๆ เย็บจีวรได้ ภิกษุทั้งหลายขึงไม้สะดึงในที่ไม่เรียบ ไม้สะดึงหัก ... พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขึงไม้สะดึง ในที่ไม่เสมอ รูปใดขึง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลายขึงไม้สะดึงบนพื้นดิน ไม้สะดึงเปื้อนฝุ่น ... ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้หญ้ารอง ขอบไม้สะดึงชำรุด ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดามขอบเหมือนผ้าอนุวาต ไม้สะดึงไม่พอ ... ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้สะดึงเล็ก ไม้ประกับ ซี่ไม้สำหรับสอดเข้าในระหว่าง จีวรสองชั้น เชือกรัดสะดึงในกับสะดึงนอก ด้ายผูกจีวรลงกับสะดึงใน ครั้นขึงแล้ว จึงเย็บจีวร ด้ายเกษียนภายในไม่เสมอ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ทำหมาย เส้นด้ายคด ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเส้นด้าย ตีบรรทัด ฯ [๖๐] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายมีเท้าเปื้อนเหยียบไม้สะดึง ไม้สะดึง เสียหาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีเท้าเปื้อนไม่พึงเหยียบ ไม้สะดึง รูปใดเหยียบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๖๑] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายมีเท้าเปียกเหยียบไม้สะดึง ไม้สะดึง เสียหาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีเท้าเปียก ไม่พึงเหยียบ ไม้สะดึง รูปใดเหยียบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๖๒] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายสวมรองเท้าเหยียบไม้สะดึง ไม้สะดึง เสียหาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสวมรองเท้าไม่พึงเหยียบ ไม้สะดึง รูปใดเหยียบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๖๓] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายเย็บจีวร รับเข็มด้วยนิ้วมือ นิ้วมือก็เจ็บ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ปลอกสวม นิ้วมือ ฯ [๖๔] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ใช้ปลอกสวมนิ้วมือต่างๆ คือ ทำด้วย ทอง ทำด้วยเงิน ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ปลอกสวม นิ้วมือต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ปลอกสวมนิ้วมือที่ทำด้วยกระดูก ... ทำด้วยกระดองสังข์ ฯ [๖๕] สมัยต่อมา เข็มบ้าง มีดบ้าง ปลอกสวมนิ้วมือบ้าง หายไป ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล่องเก็บเครื่อง เย็บผ้า ภิกษุทั้งหลายมัวพะวงอยู่แต่ในกล่องเก็บเครื่องเย็บผ้า ภิกษุทั้งหลายกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงเก็บปลอก นิ้วมือ สายโยกไม่มี ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสายโยกเป็นด้ายถัก ฯ
เรื่องโรงสะดึง
[๖๖] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายเย็บจีวรอยู่ในที่แจ้ง ลำบากด้วยความ หนาวบ้าง ความร้อนบ้าง จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโรงสะดึง ปะรำ สะดึง โรงสะดึงมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถมพื้นที่ให้สูง ดินที่ถมพังทะลาย พระผู้มีพระภาคทรง อนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อมูลดินที่ถม ๓ อย่าง คือ ก่อด้วย อิฐ ๑ ก่อด้วยศิลา ๑ ก่อด้วยไม้ ๑ ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ... ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบันได ๓ อย่าง คือ บันไดอิฐ ๑ บันไดหิน ๑ บันไดไม้ ๑ ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราว สำหรับยึด ฯ [๖๗] สมัยต่อมา ผงหญ้าที่มุงร่วงลงในโรงสะดึง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วฉาบด้วยดินทั้งข้างนอกข้างใน ให้มีสีขาว สีดำ สีเหลือง จำหลักเป็นพวงดอกไม้ เครือไม้ ฟันมังกร ดอกจอกห้ากลีบ ราวจีวร สายระเดียงจีวรได้ ฯ [๖๘] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายเย็บจีวรเสร็จแล้ว ละทิ้งไม้สดึงไว้ใน ที่นั้นเองแล้วหลีกไป หนูบ้าง ปลวกบ้าง กัดกิน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ม้วนไม้สะดึงเก็บไว้ ไม้สะดึงหัก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สอดท่อนไม้ม้วนไม้สะดึง เข้าไป ไม้สะดึงคลี่ออก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกผูก ฯ [๖๙] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายยกไม้สะดึงเก็บไว้ที่ฝาบ้าง ที่เสาบ้าง แล้วหลีกไป ไม้สะดึงพลัดตกเสียหาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี- *พระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แขวนไว้ที่เดือยข้างฝา หรือที่ ไม้นาคทนต์ ฯ [๗๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพุทธา ภิรมย์ แล้วเสด็จจาริกทางพระนครเวสาลี ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้บาตรบรรจุ เข็มบ้าง มีดบ้าง เครื่องยาบ้าง เดินทางไป ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงเก็บเครื่องยา สายโยก ไม่มี ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสายโยกเป็นด้ายถัก ฯ [๗๑] สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งใช้ประคตเอวผูกรองเท้าเข้าไปบิณฑบาต ในบ้าน อุบาสกผู้หนึ่งกราบภิกษุรูปนั้น ศีรษะกระทบรองเท้า ภิกษุนั้นขวยใจ ครั้นเธอกลับไปถึงวัดแล้ว แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงเก็บรองเท้า สายโยก ไม่มี ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสายโยกเป็นด้ายถัก ฯ
เรื่องผ้ากรองน้ำ
[๗๒] สมัยต่อมา น้ำในระหว่างทาง เป็นอกัปปิยะ ผ้าสำหรับกรองน้ำ ไม่มี ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ากรองน้ำ ท่อนผ้าไม่พอ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้า กรองทำรูปคล้ายช้อน ผ้าไม่พอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้กระบอกกรองน้ำ ฯ [๗๓] สมัยต่อมา ภิกษุ ๒ รูปเดินทางไปในโกศลชนบท ภิกษุรูปหนึ่ง ประพฤติอนาจาร ภิกษุเพื่อนเตือนภิกษุรูปนั้นว่า คุณอย่าทำอย่างนี้ซิ ขอรับ การ ทำนี้ไม่ควร ภิกษุนั้นผูกโกรธภิกษุเพื่อน ครั้นภิกษุเพื่อนกระหายน้ำ พูดอ้อนวอน ภิกษุรูปที่ผูกโกรธว่า โปรดให้ผ้ากรองน้ำแก่ผม ผมจักดื่มน้ำ ภิกษุรูปที่ผูกโกรธไม่ ยอมให้ ภิกษุเพื่อนกระหายน้ำถึงมรณภาพ ครั้นภิกษุรูปที่ผูกโกรธไปถึงวัดแล้ว เล่าความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ถามว่า ท่านถูกเพื่อนอ้อนวอนขอผ้ากรองน้ำ ก็ ไม่ให้เทียวหรือ เธอรับว่า อย่างนั้น ขอรับ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุเมื่อถูกขอผ้ากรองน้ำจึงไม่ให้กัน แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ฯ
ประชุมสงฆ์สอบถาม
[๗๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะ เหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า ดูกร ภิกษุ ข่าวว่า เธอถูกอ้อนวอนขอผ้ากรองน้ำ ก็ไม่ยอมให้ จริงหรือ ภิกษุนั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเมื่อ เธอถูกเขาอ้อนวอนขอผ้ากรองน้ำจึงไม่ยอมให้ การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อ ความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เดินทางเมื่อถูกเขาอ้อนวอนขอผ้ากรองน้ำ จะไม่พึงให้ ไม่ควร รูปใดไม่ให้ ต้องอาบัติทุกกฏ อนึ่ง ภิกษุไม่มีผ้ากรองน้ำ อย่าเดินทางไกล รูปใดเดินทาง ต้องอาบัติทุกกฏ ถ้าผ้ากรองน้ำ หรือกระบอกกรองน้ำไม่มี แม้มุมผ้าสังฆาฏิ ก็พึงอธิษฐานว่า เราจักกรองน้ำด้วยมุมผ้าสังฆาฏินี้ดื่ม ดังนี้ ฯ [๗๕] ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลีแล้ว ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ กูฏาคารสาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น ฯ [๗๖] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทำนวกรรมอยู่ ผ้ากรองน้ำไม่พอกัน ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตผ้ากรองน้ำมีขอบ ผ้ากรองน้ำมีขอบไม่พอใช้ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลาดผ้าลง บนน้ำ ฯ [๗๗] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายถูกยุงรบกวน จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมุ้ง ฯ
เรื่องที่จงกรมและเรือนไฟ
[๗๘] สมัยนั้น ทายกทายิกาในพระนครเวสาลีเริ่มจัดปรุงอาหารประณีต ขึ้นตามลำดับ ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันประณีตแล้ว มีร่างกายอันโทษสั่งสม มีอาพาธมาก ครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจได้ไปสู่เมืองเวสาลีด้วยกิจจำเป็นบางอย่าง ได้เห็นภิกษุทั้งหลาย มีร่างกายอันโทษสั่งสม มีอาพาธมาก ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายมีร่างกายอันโทษสั่งสม มีอาพาธ มาก ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ได้โปรดทรง อนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟแก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุทั้งหลายจักมีอาพาธน้อย ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้หมอชีวกโกมารภัจเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา จึงหมอชีวกโกมารภัจลุกจากที่นั่ง ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป ฯ
พุทธานุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ
[๗๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูล นั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ ฯ [๘๐] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายจงกรมในที่ขรุขระ เท้าเจ็บ จึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำที่จงกรม ให้เรียบ ฯ [๘๑] สมัยต่อมา ที่จงกรมมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำที่จงกรมให้สูง ที่ถมพังลง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ก่อมูลดินที่ถม ๓ ชนิด คือ ก่อด้วยอิฐ ๑ ก่อด้วยหิน ๑ ก่อด้วยไม้ ๑ ภิกษุ ทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ ๑ บันไดหิน ๑ บันไดไม้ ๑ ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด ฯ [๘๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายจงกรมอยู่ในที่จงกรม พลัดตกลงมา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรั้วรอบที่จงกรม ฯ [๘๓] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายจงกรมอยู่กลางแจ้ง ลำบาก ด้วย หนาวบ้าง ร้อนบ้าง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโรงจงกรม ผงหญ้าที่มุงหล่นเกลื่อนในโรงจงกรม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วฉาบด้วยดินทั้งข้างนอกข้างใน ทำให้มีสีขาว สีดำ สีเหลือง จำหลักเป็นพวงดอกไม้ เครือไม้ ฟันมังกร ดอกจอกห้ากลีบ ราวจีวร สายระเดียงจีวร ฯ [๘๔] สมัยนั้น เรือนไฟมีพื้นต่ำไป น้ำท่วมได้ ... ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง พื้นที่ถมพังลงมา ... ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อมูลดินที่ถม ๓ ชนิด คือ ก่อด้วยอิฐ ๑ ก่อด้วย หิน ๑ ก่อด้วยไม้ ๑ ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ ๑ บันไดหิน ๑ บันไดไม้ ๑ ภิกษุ ทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราว สำหรับยึด เรือนไฟไม่มีบานประตู ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต บานประตู กรอบเช็ดหน้า ครกรองเดือยประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน ลิ่ม ช่องดาน ช่องสำหรับชักเชือก เชือกสำหรับชัก เชิงฝาเรือนไฟ ชำรุด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้ง หลาย เราอนุญาตให้ก่อให้ต่ำ เรือนไฟไม่มีปล่องควัน ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตปล่องควัน ฯ [๘๕] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายทำที่ตั้งเตาไฟไว้กลางเรือนไฟขนาดเล็ก ไม่มีอุปจาร ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำที่ตั้งเตาไฟไว้ส่วน ข้างหนึ่ง เฉพาะเรือนไฟขนาดเล็ก เรือนไฟขนาดกว้าง ตั้งไว้ตรงกลางได้ ไฟ ในเรือนไฟลวกหน้า ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตดินสำหรับทาหน้า ภิกษุทั้งหลายละลายดินด้วยมือ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราง สำหรับละลายดิน ดินมีกลิ่นเหม็น ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ อบกลิ่น ฯ [๘๖] สมัยต่อมา ไฟในเรือนไฟลนกาย ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตักน้ำมาไว้มากๆ ภิกษุทั้งหลายใช้ถาดบ้าง บาตรบ้าง ตักน้ำ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตที่ขังน้ำ ขันตักน้ำ เรือนไฟที่มุงด้วยหญ้า ไหม้เกรียม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงฉาบดินทั้งข้างบน ข้างล่าง เรือนไฟเป็นตม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปูเครื่อง ลาด ๓ อย่าง คือเครื่องลาดอิฐ ๑ เครื่องลาดหิน ๑ เครื่องลาดไม้ ๑ เรือนไฟ ก็ยังเป็นตมอยู่นั้นเอง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ชำระล้าง น้ำขัง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตท่อระบายน้ำ ฯ [๘๗] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายนั่งบนพื้นดินในเรือนไฟ เนื้อตัวคัน ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งในเรือนไฟ ฯ [๘๘] สมัยต่อมา เรือนไฟยังไม่มีเครื่องล้อม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ล้อมรั้ว ๓ อย่าง คือ รั้วอิฐ ๑ รั้วหิน ๑ รั้วไม้ ๑ ซุ้มไม่มี ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตซุ้ม ซุ้มต่ำไป น้ำท่วมได้ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำพื้นที่ให้สูง พื้นที่ก่อพัง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อมูลดิน ๓ อย่าง คือ ก่อด้วยอิฐ ๑ ก่อด้วย หิน ๑ ก่อด้วยไม้ ๑ ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบันได ๓ อย่าง คือ บันไดอิฐ ๑ บันไดหิน ๑ บันไดไม้ ๑ ภิกษุ ทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับ ยึด ซุ้มยังไม่มีประตู ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบานประตู กรอบเช็ดหน้า ครกรองรับเดือยบานประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน ลิ่ม ช่องดาล ช่องเชือกชัก เชือกชัก ฯ [๘๙] สมัยต่อมา ผงหญ้าหล่นเกลื่อนซุ้ม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงฉาบดินทั้งข้างบนข้างล่าง ทำให้มีสีขาว สีดำ สีเหลือง จำหลักเป็นพวงดอกไม้ เครือไม้ ฟันมังกร ดอกจอกห้ากลีบ บริเวณเป็นตม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โรยกรวดแร่ กรวดแร่ยังไม่เต็ม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วางศิลาเรียบ น้ำขัง ... ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตท่อระบายน้ำ ฯ
เรื่องการเปลือยกาย
[๙๐] สมัยนั้น ภิกษุเปลือยกายไหว้ภิกษุเปลือยกาย ภิกษุเปลือยกาย ไหว้ภิกษุไม่เปลือยกาย ภิกษุเปลือยกายให้ภิกษุเปลือยกายไหว้ตน ภิกษุเปลือย กายให้ภิกษุไม่เปลือยกายไหว้ตน ภิกษุเปลือยกายทำบริกรรมให้แก่ภิกษุเปลือยกาย ภิกษุเปลือยกายใช้ให้ทำบริกรรมแก่ภิกษุเปลือยกาย ภิกษุเปลือยกายให้ของแก่ ภิกษุเปลือยกาย ภิกษุเปลือยกายรับประเคน เปลือยกายเคี้ยว เปลือยกายฉัน เปลือยกายลิ้มรส เปลือยกายดื่ม ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเปลือยกายไม่พึง ไหว้ภิกษุเปลือยกาย ภิกษุเปลือยกายไม่พึงไหว้ภิกษุเปลือยกายไม่พึงให้ภิกษุ เปลือยกายไหว้ตน ภิกษุเปลือยกายไม่พึงให้ภิกษุไม่เปลือยกายไหว้ตน ไม่พึง เปลือยกายทำบริกรรมแก่ภิกษุเปลือยกาย ไม่พึงใช้ภิกษุเปลือยกายทำบริกรรม ไม่พึงเปลือยกายให้ของแก่ภิกษุเปลือยกาย ไม่พึงเปลือยกายรับประเคน ไม่ พึงเปลือยกายเคี้ยวของ ไม่พึงเปลือยกายฉันอาหาร ไม่พึงเปลือยกายลิ้มรส ไม่ พึงเปลือยกายดื่ม รูปใดดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
เรื่องศาลาเรือนไฟและบ่อน้ำ
[๙๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายวางจีวรไว้บนพื้นดินในเรือนไฟจีวรเปื้อน ฝุ่น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวจีวร สายระเดียงจีวรในเรือนไฟ ครั้นฝนตก จีวรถูกฝนเปียก ตรัสว่า ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตศาลาใกล้เรือนไฟ ศาลาใกล้เรือนไฟมีพื้นต่ำ น้ำท่วม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ถมให้สูง ดินที่ถมพังลง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อ มูลดิน ... ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ... ขึ้นลงพลัดตก ... ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด ฯ [๙๒] สมัยต่อมา ผงหญ้าบนศาลาเรือนไฟตกเกลื่อน ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงฉาบดินทั้งข้างบนข้างล่าง ... ราวจีวร สายระเดียงจีวร ฯ [๙๓] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจที่จะถูหลังทั้งในเรือนไฟ ทั้งในน้ำ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต เครื่องกำบัง ๓ ชนิด คือ เรือนไฟ ๑ น้ำ ๑ ผ้า ๑ ฯ [๙๔] สมัยต่อมา น้ำในเรือนไฟไม่มี ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบ่อน้ำ ขอบบ่อน้ำ ทรุดพัง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อมูลดิน ๓ อย่าง คือ ก่อด้วยอิฐ ๑ ก่อด้วยหิน ๑ ก่อด้วยไม้ ๑ บ่อน้ำต่ำไป น้ำท่วมได้ ภิกษุทั้ง หลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ถมให้สูง ดินที่ถมพังทะลาย ... ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ... ขึ้นลง พลัดตก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด ฯ [๙๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้เถาวัลย์บ้าง ประคดเอวบ้าง ผูก ภาชนะตักน้ำ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกสำหรับบ่อน้ำ มือเจ็บ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคันโพงคล้ายคันชั่ง ระหัดชัก ระหัดถีบ ภาชนะแตกเสียมาก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ถังน้ำ ๓ อย่าง คือ ถังน้ำโลหะ ๑ ถังน้ำไม้ ๑ ถังน้ำหนัง ๑ ฯ [๙๖] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายตักน้ำในที่แจ้ง ลำบาก ด้วยหนาวบ้าง ร้อนบ้าง จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตศาลาสำหรับบ่อน้ำ ผงหญ้าที่ศาลาบ่อน้ำหล่นเกลื่อน ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงฉาบด้วยดินทั้งข้างบนข้างล่าง ทำให้มีสีขาว สีดำ สีเหลือง จำหลักเป็นพวงดอกไม้ เครือไม้ ฟันมังกร ดอกจอกห้ากลีบ ราวจีวร สายระเดียงจีวร ฯ [๙๗] สมัยนั้น บ่อน้ำยังไม่มีฝาปิด ผงหญ้าบ้าง ฝุ่นบ้าง ตกลง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด ฯ [๙๘] สมัยต่อมา ภาชนะสำหรับขังน้ำยังไม่มี ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตรางน้ำ อ่างน้ำ ฯ [๙๙] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายสรงน้ำในที่นั้นๆ ในอาราม อารามเป็นตม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตลำรางระบายน้ำ ลำราง โล่งโถง ภิกษุทั้งหลายอายที่จะสรงน้ำ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กั้นกำแพง ๓ ชนิด คือกำแพงอิฐ ๑ กำแพง หิน ๑ กำแพงไม้ ๑ ลำรางระบายน้ำเป็นตม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องลาด ๓ ชนิด คืออิฐ ๑ หิน ๑ ไม้ ๑ น้ำขัง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตท่อระบายน้ำ ฯ [๑๐๐] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีเนื้อตัวตกหนาว จึงกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เอาผ้าชุบน้ำ เช็ดตัว ฯ
เรื่องสรงน้ำ
[๑๐๑] สมัยนั้น อุบาสกผู้หนึ่งใคร่จะสร้างสระน้ำถวายสงฆ์ ภิกษุทั้ง หลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต สระน้ำ ขอบสระน้ำชำรุด ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อ ขอบสระ ๓ อย่าง คือ ก่อด้วยอิฐ ๑ ก่อด้วยหิน ๑ ก่อด้วยไม้ ๑ ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นลงลำบาก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบันได ๓ อย่าง คือ บันไดอิฐ ๑ บันไดหิน ๑ บันไดไม้ ๑ ขึ้นลงพลัดตก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด น้ำในสระเป็นน้ำเก่า ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรางน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯ [๑๐๒] สมัยต่อมา อุบาสกผู้หนึ่งประสงค์จะสร้างเรือนไฟ มีปั้นลม ถวายภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเรือนไฟมีปั้นลม ฯ [๑๐๓] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์อยู่ปราศจากผ้านิสีทนะถึง ๔ เดือน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงอยู่ปราศจากผ้านิสีทนะถึง ๔ เดือน รูปใดอยู่ปราศ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
ทรงห้ามนอนบนที่นอนดอกไม้
[๑๐๔] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์นอนบนที่นอนอันเกลื่อนด้วยดอกไม้ ชาวบ้านเดินเที่ยวชมวิหารพบเห็นเข้า จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนอนที่นอนอันเกลื่อนด้วยดอกไม้ รูปใดนอน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
พุทธานุญาตรับของหอม
[๑๐๕] สมัยนั้น ชาวบ้านถือของหอมบ้าง ดอกไม้บ้างไปวัด ภิกษุ ทั้งหลายรังเกียจไม่รับประเคน จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับของหอมแล้วเจิมไว้ที่บานประตูหน้าต่าง ให้ รับดอกไม้แล้ววางไว้ในส่วนข้างหนึ่งในวิหาร ฯ [๑๐๖] สมัยนั้น สันถัดขนเจียมหล่อบังเกิดแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต สันถัดขนเจียมหล่อ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดกันว่า สันถัดขนเจียมหล่อจะต้อง อธิษฐานหรือวิกัปป์ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สันถัดขนเจียมที่หล่อไม่ ต้องอธิษฐาน ไม่ต้องวิกัปป์ ฯ [๑๐๗] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ฉันจังหันบนเตียบ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉัน อาหารบนเตียบ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๐๘] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ เวลาฉันจังหัน เธอไม่สามารถ จะทรงบาตรไว้ด้วยมือได้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโตก ฯ
ทรงห้ามฉันในภาชนะเดียวกันเป็นต้น
[๑๐๙] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ฉันจังหันในภาชนะเดียวกันบ้าง ดื่มน้ำ ในขันเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงเดียวกันบ้าง นอนบนเครื่องลาดเดียวกันบ้าง นอนในผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนบนเครื่องลาดและผ้าห่มร่วมผืนเดียวกันบ้าง ชาวบ้านต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภค กาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันร่วมภาชนะเดียวกัน ไม่พึงดื่มร่วมขันใบเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมเตียงเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมเครื่องลาดเดียวกัน ไม่พึงนอน ร่วมผ้าห่มผืนเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมเครื่องลาดและผ้าห่มผืนเดียวกัน รูปใดนอน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
เรื่องเจ้าวัฑฒะลิจฉวี
[๑๑๐] สมัยนั้น เจ้าวัฑฒะลิจฉวีเป็นสหายของพระเมตติยะ และพระ ภุมมชกะ จึงเจ้าวัฑฒะลิจฉวี เข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะ แล้ว กล่าวว่า ผมไหว้ขอรับ เมื่อเธอกล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทาย ปราศรัย แม้ครั้งที่สอง เจ้าวัฑฒะลิจฉวีได้กล่าวว่า ผมไหว้ขอรับ แม้ครั้งที่สอง ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย แม้ครั้งที่สาม เจ้าวัฑฒะลิจฉวีได้กล่าวว่า ผมไหว้ขอรับ แม้ครั้งที่สาม ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย ว. ผมผิดอะไรต่อพระคุณเจ้าอย่างไร ทำไม พระคุณเจ้าจึงไม่ทักทาย ปราศรัยกับผม ภิกษุทั้งสองตอบว่า ก็จริงอย่างนั้นแหละ ท่านวัฑฒะ พวกอาตมาถูก พวกพระทัพพมัลลบุตรเบียดเบียนอยู่ ท่านยังเพิกเฉยได้ ว. ผมจะช่วยเหลืออย่างไร ขอรับ ภิ. ท่านวัฑฒะ ถ้าท่านเต็มใจช่วย วันนี้พระผู้มีพระภาค ต้องให้พระ ทัพพมัลลบุตรสึก ว. ผมจะทำอย่างไร ผมสามารถจะช่วยได้ด้วยวิธีไหน ภิ. มาเถิด ท่านวัฑฒะ ท่านจงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว กราบทูล อย่างนี้ว่า กรรมนี้ไม่แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มี อันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมี ลมแรงขึ้น ประชาบดีของหม่อมฉัน ถูกพระทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูก ไฟเผาพระพุทธเจ้าข้า เจ้าวัฑฒะลิจฉวีรับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะ แล้วเข้าเฝ้าพระ ผู้มีพระภาค ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า พระพุทธ- *เจ้าข้า กรรมนี้ไม่แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้ กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมีลมแรง ขึ้น ประชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๑๑๑] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะ- *เหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลล- *บุตรว่า ดูกรทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมตามที่เจ้าวัฑฒะลิจฉวีนี้ กล่าวหา ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธ- *เจ้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาค ... แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า ดูกร ทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมตามที่เจ้าวัฑฒะลิจฉวีนี้กล่าวหา ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้า เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า ภ. ดูกรทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่กล่าวแก้คำกล่าวหาอย่างนี้ ถ้าเธอทำ จงบอกว่าทำ ถ้าไม่ได้ทำ จงบอกว่าไม่ได้ทำ ท. ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้ว แม้โดยความฝัน ก็ยังไม่รู้จักเสพ เมถุนธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตื่นอยู่เล่า พระพุทธเจ้าข้า [๑๑๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ อย่าให้คบกับสงฆ์ ฯ
องค์แห่งการคว่ำบาตร
[๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วย องค์ ๘ คือ:- ๑. ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย ๒. ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย ๓. ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย ๔. ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย ๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน ๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า ๗. กล่าวติเตียนพระธรรม ๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วย องค์ ๘ นี้ ฯ [๑๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงคว่ำบาตรอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาคว่ำบาตร
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒะลิจฉวี โจท ท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล ถ้าความพร้อมพรั่งของ สงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ อย่าให้คบกับ สงฆ์ นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒะลิจฉวีโจทท่าน พระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล สงฆ์คว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒะ- *ลิจฉวี คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ การคว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบ แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด บาตรอันสงฆ์คว่ำแล้วแก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ ฯ [๑๑๕] ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะเจ้าวัฑฒะลิจฉวีว่า ท่านวัฑฒะ สงฆ์คว่ำบาตรแก่ท่านแล้ว ท่านคบกับสงฆ์ไม่ได้ พอเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ทราบข่าวว่า สงฆ์คว่ำบาตรแก่เราแล้ว เราคบกับสงฆ์ไม่ได้แล้ว ก็สลบล้มลง ณ ที่นั้นเอง ขณะนั้น มิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต ของเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ได้กล่าวคำนี้ กะเจ้าวัฑฒะลิจฉวีว่า ไม่ควร ท่านวัฑฒะ อย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญไปนักเลย พวกเราจักให้พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์เลื่อมใส จึงเจ้าวัฑฒะลิจฉวีพร้อมด้วย บุตรภรรยา พร้อมด้วยมิตรอำมาตย์ พร้อมด้วยญาติสาโลหิต มีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้ว กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า โทษได้มาถึงหม่อมฉันแล้ว ตามความโง่ ตามความ เขลา ตามอกุศล ขอพระองค์ทรงพระกรุณารับโทษของหม่อมฉันที่ได้โจทพระคุณ เจ้าทัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวม ต่อไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เชิญเถิด เจ้าวัฑฒะ โทษได้มาถึงท่านแล้ว ตามความโง่ ตามความเขลา ตามอกุศล ท่านได้เห็นโทษที่ได้โจททัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล โดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม เราขอรับโทษนั้น ของท่าน การที่ท่านเห็นโทษ โดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความ สำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในอริยวินัย ฯ [๑๑๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงหงายบาตร แก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ทำให้คบ กับสงฆ์ได้
องค์แห่งการหงายบาตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรแก่อุบาสก ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ:- ๑. ไม่ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย ๒. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่เป็นประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย ๓. ไม่ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย ๔. ไม่ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย ๕. ไม่ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกร้าวกัน ๖. ไม่กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า ๗. ไม่กล่าวติเตียนพระธรรม ๘. ไม่กล่าวติเตียนพระสงฆ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หงายบาตร แก่อุบาสกผู้ประกอบด้วย องค์ ๘ นี้ ฯ [๑๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงหงายบาตรอย่างนี้ เจ้าวัฑฒะ- *ลิจฉวีนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย นั่งกระหย่งประ คองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า สงฆ์คว่ำบาตรแก่ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้า คบกับสงฆ์ไม่ได้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัว ได้ ขอการหงายบาตรกะสงฆ์ พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม ฯ [๑๑๘] ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติย- *กรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาหงายบาตร
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์คว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒะ ลิจฉวีแล้ว คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ เธอประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ ขอการหงายบาตรกะสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของ สงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงหงายบาตรแก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ทำให้คบ กับสงฆ์ได้ นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์คว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒะ ลิจฉวีแล้ว คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ เธอประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ ขอการหงายบาตรกะสงฆ์ สงฆ์หงายบาตรแก่เจ้า วัฑฒะลิจฉวี คือ ทำให้คบกับสงฆ์ได้ การหงายบาตรแก่เจ้าวัฑฒะ ลิจฉวี คือ ทำให้คบกับสงฆ์ได้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็น ผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด บาตรอันสงฆ์หงายแล้วแก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ทำให้คบกับสงฆ์ ได้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ ฯ [๑๑๙] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในเขตพระนครเวสาลีตามพระพุท- *ธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกทางภัคคะชนบท เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงภัคคะชนบท แล้ว ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ที่เภสกฬามฤคทายวัน เขตเมืองสุงสุมารคิระ ในแคว้นภัคคะชนบทนั้น ฯ
เรื่องโพธิราชกุมาร
[๑๒๐] สมัยนั้น ปราสาทโกกนุทของโพธิราชกุมาร สร้างเสร็จใหม่ๆ ยังไม่มีสมณพราหมณ์ หรือผู้ใดผู้หนึ่งอยู่อาศัย จึงโพธิราชกุมาร รับสั่งกะมาณพ สัญชิกาบุตรว่า พ่อสหายสัญชิกาบุตร เธอจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม พระบาทด้วยเศียรเกล้า แล้วถามถึงพระประชวรเบาบาง พระโรคน้อย ความทรง กระปรี้กระเปร่า พระกำลัง ทรงพระสำราญ ตามคำของเราว่า พระพุทธเจ้าข้า โพธิราชกุมารขอถวายบังคมพระบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงพระ ประชวรเบาบาง พระโรคน้อย ความทรงกระปรี้กระเปร่า พระกำลัง ทรงพระ สำราญและจงทูลอาราธนาอย่างนี้ว่า ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับ ภัตตาหารของโพธิราชกุมาร เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พระพุทธเจ้าข้า มาณพสัญชิ- *กาบุตรรับคำสั่งโพธิราชกุมาร แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอเป็นที่ชื่นชม เป็นที่ให้ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า โพธิราชกุมารขอถวายบังคมพระบาท ของพระ องค์ผู้เจริญด้วยเศียรเกล้า ทูลถามพระประชวรเบาบาง พระโรคน้อย ทรงกระปรี้ กระเปร่า พระกำลัง ทรงพระสำราญ และกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอพระโคดมผู้เจริญ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตตาหารของโพธิราชกุมาร เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ ครั้นมาณพสัญชิกาบุตรทราบว่า พระผู้มีพระ ภาคทรงรับอาราธนาแล้วลุกจากที่นั่งเข้าไปเฝ้าโพธิราชกุมาร แล้วทูลว่า เกล้า กระหม่อมได้กราบทูลท่านพระโคดมนั้นตามรับสั่งของพระองค์แล้วว่า โพธิราช- *กุมาร ขอถวายบังคมพระบาทของท่านพระโคดมผู้เจริญด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึง พระประชวรเบาบาง พระโรคน้อย ทรงกระปรี้กระเปร่า พระกำลัง ทรงพระ สำราญ และกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอพระโคดมผู้เจริญ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จง ทรงรับภัตตาหารของโพธิราชกุมาร เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ ก็แลพระสมณโคดม ทรงรับอาราธนาแล้ว ฯ [๑๒๑] ครั้นล่วงราตรีนั้น โพธิราชกุมารรับสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉัน อันประณีต แลรับสั่งให้ปูลาดโกกนุทปราสาทด้วยผ้าขาว ตราบเท่าถึงบันไดขั้นที่สุด แล้วรับสั่งกะมาณพสัญชิกาบุตรว่า พ่อสหายสัญชิกาบุตร เธอจงไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค กราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ได้เวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว มาณพสัญชิกาบุตรรับคำสั่งโพธิราชกุมาร แล้วเข้าไปเฝ้าพระ ผู้มีพระภาค กราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ได้เวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว ฯ [๑๒๒] ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จเข้าสู่นิเวศน์ของโพธิราชกุมาร ก็แลเวลานั้น โพธิราช- *กุมารกำลังประทับรอพระผู้มีพระภาคอยู่ ที่ซุ้มพระทวารชั้นนอก ได้ทอดพระเนตร เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วเสด็จไปรับแต่ที่ไกลนั้น ถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคให้เสด็จไปข้างหน้า ทรงดำเนินไปทางโกกนุทปราสาท พระ ผู้มีพระภาคได้ประทับยืนอยู่ใกล้บันไดขั้นแรก จึงโพธิราชกุมาร กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงเหยียบผ้า ขอพระสุคตจง ทรงเหยียบผ้า เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าสิ้นกาลนาน เมื่อโพธิราชกุมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงดุษณีภาพ แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม โพธิราชกุมารกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงเหยียบผ้า ขอพระสุคตจงทรงเหยียบผ้า เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้าสิ้นกาลนาน ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชำเลืองดูท่านพระอานนท์ จึงท่านพระ อานนท์ได้ถวายพรแก่โพธิราชกุมารว่า จงม้วนผ้าเถิด พระราชกุมาร พระผู้มีพระ ภาคจักไม่ทรงเหยียบผ้า พระตถาคตทรงอนุเคราะห์หมู่ชนชั้นหลัง จึงโพธิราชกุมาร รับสั่งให้ม้วนผ้า แล้วให้ปูอาสนะ ณ เบื้องบนโกกนุทปราสาท ครั้นพระผู้มีพระ ภาคเสด็จขึ้นโกกนุทปราสาท แล้วประทับนั่งเหนืออาสนะที่ปูถวายพร้อมด้วยภิกษุ สงฆ์ จึงโพธิราชกุมารทรงอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วย ขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ จนพระผู้มีพระภาค เสวยแล้ว ทรงลดพระหัตถ์จากบาตร ห้ามภัตรแล้ว ได้ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้โพธิราชกุมารเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จกลับ ฯ
ทรงห้ามเหยียบแผ่นผ้า
[๑๒๓] หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุ เป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเหยียบผืนผ้าที่ปูไว้ รูปใดเหยียบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๒๔] สมัยต่อมา สตรีผู้หนึ่งปราศจากครรภ์ นิมนต์ภิกษุทั้งหลายไป ปูผ้าแล้ว ได้กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าจงเหยียบผ้า ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่เหยียบ นางได้กล่าวอีกว่า ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าจงเหยียบผ้าเพื่อประสงค์ ให้เป็นมงคล ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่เหยียบ จึงสตรีผู้นั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เมื่อเขาขอเพื่อประสงค์ให้เป็นมงคล ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงไม่ เหยียบผืนผ้าที่ปูให้ ภิกษุทั้งหลายได้ยินสตรีผู้นั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา อยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์ ต้องการมงคล เราอนุญาตให้ผู้ที่ถูกคฤหัสถ์ขอร้องให้เหยียบเพื่อความเป็นมงคล เหยียบผืนผ้าได้ ฯ [๑๒๕] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายรังเกียจที่จะเหยียบผ้าสำหรับเช็ดเท้า ที่ล้างแล้ว จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เหยียบผ้าสำหรับเช็ดเท้าที่ล้างแล้ว ฯ
ทุติยภาณวาร จบ
-----------------------------------------------------
เรื่องนางวิสาขา มิคารมารดา
[๑๒๖] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภัคคะชนบท ตามพระพุทธา- *ภิรมย์ แล้วเสด็จจาริกทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกโดยลำดับถึงพระนครสาวัตถี แล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก คหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมารดา ถือหม้อน้ำ ปุ่มไม้สำหรับเช็ดเท้า และไม้กวาด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงรับหม้อน้ำ ปุ่มไม้สำหรับเช็ดเท้า และไม้กวาดของหม่อมฉัน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ หม่อมฉัน สิ้นกาลนาน พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงรับหม้อน้ำ และไม้กวาด มิได้ทรงรับปุ่มไม้สำหรับเช็ดเท้า ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางวิสาขามิคาร- *มารดาเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา นางได้ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคม ทำประทักษิณแล้วกลับไป ฯ [๑๒๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็น เค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตหม้อน้ำ และไม้กวาด ภิกษุไม่พึงใช้ปุ่มไม้สำหรับเช็ดเท้า รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตที่เช็ดเท้า ๓ ชนิด คือ หินกรวด ๑ กระเบื้อง ๑ หินฟองน้ำในทะเล ๑ ฯ [๑๒๘] ต่อจากนั้นมา นางวิสาขามิคารมารดา ถือพัดโบกและพัดใบตาล เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูล ว่า ขอพระองค์จงทรงรับพัดโบก และพัดใบตาลของหม่อมฉัน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่หม่อมฉันตลอดกาลนาน พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงรับพัด โบกและพัดใบตาลแล้ว ได้ทรงชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมารดาเห็นแจ้ง ... ด้วย ธรรมีกถา นางวิสาขา ... ทำประทักษิณแล้วกลับไป ฯ
เรื่องพัด
[๑๒๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็น เค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตพัดโบก และพัดใบตาล ฯ [๑๓๐] สมัยนั้นไม้ปัดยุงเกิดแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ปัดยุง แส้จามรี บังเกิด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้แส้จามรี รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตพัด ๓ ชนิด คือ พัดทำด้วยปอ ๑ พัด ทำด้วยแฝก ๑ พัดทำด้วยขนปีกขนหางนกยูง ๑ ฯ
เรื่องร่ม
[๑๓๑] สมัยนั้น ร่มบังเกิดแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตร่ม ฯ [๑๓๒] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์เดินกั้นร่มเที่ยวไป ครั้งนั้น อุบาสก ผู้หนึ่งได้ไปเที่ยวสวนกับสาวกของอาชีวกหลายคน พวกสาวกของอาชีวกเหล่านั้น ได้เห็นพระฉัพพัคคีย์เดินกั้นร่มมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวกะอุบาสกผู้นั้นว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้ เป็นผู้เจริญของพวกท่าน เดินกั้นร่มมาคล้ายมหาอำมาตย์ โหราจารย์ อุบาสกผู้นั้นกล่าวว่า นั่นมิใช่ภิกษุ เป็นปริพาชก ขอรับ พวกเขา แคลงใจว่า ภิกษุหรือมิใช่ภิกษุ ครั้นอุบาสกเข้าไปใกล้ ก็จำได้ จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระคุณเจ้าทั้งหลายจึงเดินกั้นร่ม ภิกษุทั้งหลายได้ ยินอุบาสกนั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาคๆ ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ... จริงหรือ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกั้นร่ม รูปใดกั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๓๓] สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ เธอเว้นร่มแล้วไม่สบาย ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตร่มแก่ภิกษุอาพาธ ฯ [๑๓๔] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ร่มแก่ภิกษุอาพาธเท่านั้น ไม่ได้ทรงอนุญาตแก่ภิกษุไม่อาพาธ จึงรังเกียจที่จะกั้น ร่มในวัดและอุปจารของวัด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแม้ไม่ อาพาธกั้นร่มในวัด หรือในอุปจารของวัดได้ ฯ
เรื่องไม้เท้า
[๑๓๕] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งวางบาตรไว้ในสาแหรก แล้วห้อยไว้ที่ ไม้เท้า เดินผ่านไปทางประตูบ้านแห่งหนึ่งในเวลาพลบค่ำ ชาวบ้านบอกกันว่า พวกเรา นั่นโจรกำลังเดินไป ดาบของมันส่องแสงวาว แล้วตามไล่ไปจับตัวได้ รู้แล้วปล่อยไป ครั้นภิกษุนั้นไปถึงวัดแล้ว แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ถาม ว่า ก็คุณถือไม้เท้ากับสาแหรกหรือ ภิกษุนั้นรับว่า ถูกแล้ว ขอรับ บรรดาภิกษุ ที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุจึงได้ถือไม้ เท้ากับสาแหรกเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรง ติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงถือไม้เท้ากับสาแหรก รูปใดถือ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๓๖] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ปราศจากไม้เท้า ไม่สามารถจะ เดินไปไหนได้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติไม้เท้าแก่ภิกษุอาพาธ ฯ [๑๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงให้สมมติไม้เท้าอย่างนี้:- ภิกษุอาพาธนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้าภิกษุ ผู้แก่กว่า นั่งกระหย่งประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขออย่างนี้ ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอาพาธ ไม่ใช้ไม้เท้าไม่สามารถไปไหนได้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอทัณฑสมมติ กะสงฆ์ พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม ฯ [๑๓๘] ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติ- *ทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาให้ทัณฑสมมติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้อาพาธ ไม่ใช้ไม้เท้าไม่สามารถจะไปไหนได้ เธอขอทัณฑสมมติกะสงฆ์ ถ้า ความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ทัณฑสมมติแก่ภิกษุมีชื่อนี้ นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้อาพาธ ไม่ใช้ไม้เท้าไม่สามารถจะไปไหนได้ เธอขอทัณฑสมมติกะสงฆ์ สงฆ์ ให้ทัณฑสมมติแก่ภิกษุมีชื่อนี้ การให้ทัณฑสมมติแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบ แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงพูด ทัณฑสมมติ อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุ นั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ฯ [๑๓๙] สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ไม่ใช้สาแหรก ไม่สามารถ จะนำบาตรไปได้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสาแหรกแก่ภิกษุอาพาธ ฯ [๑๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงให้สมมติอย่างนี้ ภิกษุอาพาธนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้า ภิกษุผู้แก่กว่า นั่งกระโหย่งประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขออย่างนี้ ว่าดังนี้:-
คำขอสิกกาสมมติ
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอาพาธ ไม่มีสาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอสิกกาสมมติกะสงฆ์ พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม ฯ [๑๔๑] ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติย- *กรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาให้สิกกาสมมติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้อาพาธ ไม่ใช้สาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ เธอขอสิกกาสมมติกะสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สิกกาสมมติแก่ภิกษุมี ชื่อนี้ นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้อาพาธ ไม่ใช้สาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ เธอขอสิกกาสมมติกะสงฆ์ สงฆ์ให้สิกกาสมมติแก่ภิกษุมีชื่อนี้ การให้สิกกาสมมติแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่าน ผู้นั้นพึงพูด สิกกาสมมติ อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุ นั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ฯ [๑๔๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ไม่ใช้ไม้เท้าไม่สามารถจะไปไหน ได้ และไม่ใช้สาแหรกไม่สามารถนำบาตรไปได้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติไม้เท้าและ สาแหรกแก่ภิกษุอาพาธ ก็แล สงฆ์พึงให้สมมติอย่างนี้ ภิกษุอาพาธนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้า อุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า นั่งกระหย่งประคองอัญชลี แล้วกล่าว คำขออย่างนี้ ว่าดังนี้:-
คำขอทัณฑสิกกาสมมติ
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอาพาธ ไม่ใช้ไม้เท้าไม่สามารถจะไปไหนได้ และ ไม่ใช้สาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอทัณฑสิกกา- *สมมติกะสงฆ์ พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม ฯ [๑๔๓] ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติย- *กรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาให้ทัณฑสิกกาสมมติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้อาพาธ ไม่ใช้ไม้เท้าไม่สามารถจะเดินไปไหนได้ และไม่ใช้สาแหรกไม่ สามารถจะนำบาตรไปได้ เธอขอทัณฑสิกกาสมมติกะสงฆ์ ถ้าความ พร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ทัณฑสิกกาสมมติแก่ภิกษุมีชื่อนี้ นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้อาพาธ ไม่ใช้ไม้เท้าไม่สามารถเดินไปไหนได้ และไม่ใช้สาแหรกไม่สามารถ จะนำบาตรไปได้ เธอขอทัณฑสิกกาสมมติกะสงฆ์ สงฆ์ให้ทัณฑสิกกา- *สมมติแก่ภิกษุมีชื่อนี้ การให้ทัณฑสิกกาสมมติแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่ ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ทัณฑสิกกาสมมติ อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ฯ
เรื่องภิกษุเรอ
[๑๔๔] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นโรคเรอ เธอเรออ้วกแล้วกลับกลืน เข้าไป ภิกษุทั้งหลาย เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ภิกษุนี้ฉันอาหารในเวลา วิกาล แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้จุติมาจากกำเนิดโคไม่นาน เราอนุญาตอาหารที่อ้วกแก่ภิกษุผู้มักอ้วก แต่ ออกมานอกปากแล้วไม่พึงกลืนเข้าไป รูปใดกลืนเข้าไป พึงปรับตามธรรม ฯ [๑๔๕] สมัยนั้น สังฆภัตรเกิดแก่สงฆ์หมู่หนึ่ง เมล็ดข้าวเป็นอันมาก กลาดเกลื่อนในโรงอาหาร ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เมื่อเขาถวาย ข้าวสุก ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ไม่รับโดยเคารพ ข้าวแต่ละ เมล็ดจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำหลายครั้ง ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านพวกนั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัส ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดทายกถวายตกหล่น เราอนุญาตให้เก็บสิ่งนั้นฉันเอง ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะของนั้นทายกบริจาคแล้ว ฯ
เรื่องเล็บยาว
[๑๔๖] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไว้เล็บยาวเที่ยวบิณฑบาต สตรีผู้หนึ่งเห็น เข้า จึงได้กล่าวชวนภิกษุรูปนั้นว่า ท่านเจ้าข้า นิมนต์มาเสพเมถุน ภิกษุนั้นตอบ ว่า อย่าเลย น้องหญิง เรื่องเช่นนี้ไม่สมควร ส. ถ้าท่านไม่เสพ ดิฉันจักหยิกข่วนเนื้อตัวด้วยเล็บของดิฉัน แล้วร้อง โวยวายขึ้นในบัดนี้ว่า ภิกษุนี้ข่มขืนดิฉัน ภิ. จงรู้เองเถิด น้องหญิง สตรีผู้นั้นหยิกข่วนเนื้อตัวของตนด้วยเล็บ แล้วได้ร้องโวยวายขึ้นว่า ภิกษุ นี้ข่มขืนเรา ชาวบ้านได้วิ่งเข้าไปจับกุมภิกษุนั้น พวกเขาได้เห็นผิวหนังและเลือด ที่เล็บมือของสตรีผู้นั้น ครั้นแล้วลงความเห็นว่า การกระทำนี้ของสตรีผู้นี้ต่างหาก ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้กระทำ แล้วปล่อยภิกษุนั้นไป ครั้นภิกษุนั้นไปถึงวัดแล้ว ได้ เล่าเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายถามว่า ก็คุณไว้เล็บยาวหรือ ภิกษุรูป นั้นรับว่า เป็นอย่างนั้น ขอรับ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุจึงได้ไว้เล็บยาว แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระ ผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้เล็บยาว รูปใดไว้ ต้อง อาบัติทุกกฏ ฯ [๑๔๗] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายตัดเล็บมือด้วยเล็บมือบ้าง ตัดเล็บมือ ด้วยปากบ้าง ครูดเล็บมือที่ฝาผนังบ้าง นิ้วมือเจ็บ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมีดตัดเล็บ ภิกษุทั้งหลายตัดเล็บจนเลือดออก นิ้วมือเจ็บ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตให้ตัดเล็บเสมอเนื้อ ฯ
เรื่องขัดเล็บ
[๑๔๘] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์วานกันให้ขัดเล็บทั้ง ๒๐ นิ้ว ชาวบ้าน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวาน กันให้ขัดเล็บทั้ง ๒๐ นิ้ว รูปใดให้ขัด ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตให้แคะขี้เล็บได้ ฯ
เรื่องมีดโกน
[๑๔๙] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีผมยาว ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาคๆ ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสามารถจะปลงผมให้แก่กันได้ หรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า สามารถ พระพุทธเจ้าข้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระ ภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก เกิดนั้น ... รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมีดโกน หิน ลับมีดโกน ฝักมีดโกน ผ้าพันมีดโกน เครื่องมีดโกนทุกอย่าง ฯ
เรื่องแต่งหนวด
[๑๕๐] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์วานกันตัดหนวด ปล่อยหนวดไว้ให้ยาว ไว้เครา แต่งหนวดเป็นสี่เหลี่ยม ขมวดกลุ่มขนหน้าอก ไว้กลุ่มขนท้อง ไว้หนวด เป็นเขี้ยวโง้ง โกนขนในที่แคบ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระ ภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงตัดหนวด ไม่พึงปล่อยหนวดไว้ให้ ยาว ไม่พึงไว้เครา ไม่พึงแต่งหนวดเป็นสี่เหลี่ยม ไม่พึงขมวดกลุ่มขนหน้าอก ไม่พึงไว้กลุ่มขนท้อง ไม่พึงไว้หนวดเป็นเขี้ยวโง้ง ไม่พึงโกนขนในที่แคบ รูปใด โกน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
เรื่องโกนขนในที่แคบ
[๑๕๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นแผลในที่แคบ ทายาไม่ติด ... ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตให้โกนขนในที่แคบได้ เพราะเหตุอาพาธ ฯ [๑๕๒] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ใช้กันและกันให้ตัดผมด้วยกรรไกร ชาวบ้าน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ตัดผมด้วยกรรไกร รูปใดให้ตัด ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๕๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นแผลที่ศีรษะ ไม่อาจปลงผมด้วยมีด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ตัดผมด้วยกรรไกรได้ เพราะเหตุอาพาธ ฯ
เรื่องไว้ขนจมูกยาว
[๑๕๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายปล่อยขนจมูกไว้ยาว ชาวบ้าน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกปีศาจ ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้ขนจมูกยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๕๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายให้ถอนขนจมูกด้วยกรวดบ้าง ด้วยขี้ผึ้ง บ้าง จมูกเจ็บ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแหนบ ฯ [๑๕๖] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ใช้กันถอนผมหงอก ชาวบ้าน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ ถอนผมหงอก รูปใดให้ถอน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๕๗] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีขี้หูจุกช่องหู ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้แคะหู ฯ [๑๕๘] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ใช้ไม้แคะหูต่างๆ คือ ทำด้วยทอง ทำด้วยเงิน ชาวบ้าน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ไม้แคะหูต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ เรา อนุญาตไม้แคะหูที่ทำด้วยกระดูก งา เขา ไม้อ้อ ไม้ไผ่ ไม้จริง ยางไม้ เมล็ดผลไม้ โลหะ กระดองสังข์ ฯ
ทรงห้ามสั่งสมเครื่องโลหะเครื่องสัมฤทธิ์
[๑๕๙] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์สั่งสมเครื่องโลหะ เครื่องทอง สัมฤทธิ์ไว้เป็นอันมาก ชาวบ้านไปเที่ยวชมตามวิหารพบเข้า แล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้สั่งสมเครื่องโลหะ เครื่องทองสัมฤทธิ์ ไว้มากมายคล้ายพ่อค้าขายเครื่องทองสัมฤทธิ์ ... ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง สั่งสมเครื่องโลหะ เครื่องทองสัมฤทธิ์ รูปใดสั่งสม ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๖๐] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจกล่องยาตา ไม้ป้ายยาตา ไม้แคะหู ซึ่งเพียงห่อรวมกันไว้ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตกล่องยาตา ไม้ป้ายยาตา ไม้แคะหู เพียงห่อรวมกันไว้ ฯ [๑๖๑] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์นั่งรัดเข่าด้วยผ้าสังฆาฏิ แผ่นผ้าสังฆาฏิ หลุด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนั่งรัดเข่าด้วยผ้าสังฆาฏิ รูปใดนั่ง ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๖๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ เธอเว้นผ้ารัดเข่าเสียไม่สบาย ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ารัดเข่า ภิกษุทั้งหลายสงสัยว่า เราจะพึงรู้ได้อย่างไรว่าเป็นผ้ารัดเข่า จึงได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ไม้สะดึงที่แผ่ด้วย ฟืม ด้ายพัน ไม้สลักทอ และเครื่องหูกทุกอย่าง ฯ
เรื่องประคดเอว
[๑๖๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไม่ได้คาดรัดประคด เข้าบ้านไปบิณฑบาต ผ้าสบงของเธอหลุดที่ถนน ชาวบ้านเห็นแล้วพากันโห่ ภิกษุนั้นกระดากอาย ครั้น ไปถึงวัดแล้ว เล่าเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่มีรัดประคดไม่พึงเข้าบ้าน รูปใดเข้าบ้าน ต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตผ้ารัดประคด ฯ [๑๖๔] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าประคดต่างๆ คือ ประคดถักเชือก หลายเส้น ประคดถักเป็นศีรษะงูน้ำ ประคดกลมคล้ายเกลียวเชือก ประคดคล้าย สังวาล ชาวบ้าน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภค กาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... *เส้น ประคดถักเป็นศีรษะงูน้ำ ประคดกลมคล้ายเกลียวเชือก ประคดคล้ายสังวาล รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตประคด ๒ ชนิด คือ ประคดแผ่นผ้า ๑ ประคดกลมดังไส้สุกร ๑ ... ชายผ้าประคดเก่า ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตให้ถักกลมคล้ายเกลียวเชือก ให้ถักคล้ายสังวาลได้ ปลายประคดเก่า ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเย็บทบเข้ามา ถักเป็นห่วง ที่สุดห่วง ประคดเก่า ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกถวิล ฯ
เรื่องลูกถวิล
[๑๖๕] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ใช้ลูกถวิลต่างๆ คือ ทำด้วยทอง ทำ ด้วยเงิน ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภค กาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ลูกถวิลต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกถวิล ทำด้วยกระดูก งา เขา ไม้อ้อ ไม้ไผ่ ... กระดองสังข์ เส้นด้าย ฯ
เรื่องลูกดุม
[๑๖๖] สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ห่มผ้าสังฆาฏิเนื้อบางเข้าบ้านบิณฑบาต สังฆาฏิของท่านถูกลมหัวด้วนพัดเลิกขึ้น ครั้นท่านกลับถึงอารามแล้ว ได้แจ้งเรื่อง นั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกดุมและรังดุม ฯ [๑๖๗] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ใช้ลูกดุมต่างๆ คือ ทำด้วยทอง ทำด้วย เงิน ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภค กาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ลูกดุมต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกดุม ทำด้วยกระดูก งา เขา ไม้อ้อ ไม้ไผ่ ไม้จริง ยางไม้ เมล็ดผลไม้ โลหะ กระดองสังข์ เส้นด้าย ฯ [๑๖๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเย็บตรึงลูกดุมบ้าง รังดุมบ้าง ลงที่จีวร จีวรชำรุด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแผ่นผ้ารองลูกดุม แผ่นผ้ารองรังดุม ภิกษุ ทั้งหลายเย็บตรึงแผ่นผ้ารองลูกดุมแผ่นผ้ารองรังดุมลงที่ชายจีวร มุมผ้าเปิด ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ติดแผ่นผ้ารองลูกดุม แผ่นผ้ารองรังดุมที่ชายผ้าลึกเข้าไป ๗-๘ องคุลี ฯ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์
[๑๖๙] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์ คือ นุ่งห้อยชาย เหมือนงวงช้าง นุ่งปล่อยชายคล้ายหางปลา นุ่งปล่อยชายสี่แฉก นุ่งห้อยชาย คล้ายก้านตาล นุ่งยกกลีบตั้งร้อย ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระ- *ภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์ คือ นุ่งห้อยชายเหมือนงวงช้าง นุ่งปล่อยชายคล้ายหางปลา นุ่งปล่อยชายเป็นสี่ แฉก นุ่งห้อยชายคล้ายก้านตาล นุ่งยกกลีบตั้งร้อย รูปใดนุ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๗๐] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบ ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ รูปใดห่มต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๗๑] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าเหน็บชายกระเบน ชาวบ้าน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนคนหาบของหลวง ... ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าเหน็บชายกระเบน รูปใดนุ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๗๒] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์หาบของสองข้าง ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนคนหาบของหลวง ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่อง นั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง หาบของสองข้าง รูปใดหาบ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คอน หาม เทิน แบก กระเดียด หิ้ว ฯ
เรื่องไม้ชำระฟัน
[๑๗๓] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่เคี้ยวไม้ชำระฟัน ปากมีกลิ่นเหม็น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่เคี้ยวไม้ชำระฟันมีโทษ ๕ ประการนี้ คือ นัยน์ตาไม่แจ่ม ใส ๑ ปากมีกลิ่นเหม็น ๑ ลิ้นรับรสอาหารไม่บริสุทธิ์ ๑ ดีและเสมหะหุ้มห่อ อาหาร ๑ ไม่ชอบฉันอาหาร ๑ ไม่เคี้ยวไม้ชำระฟันมีโทษ ๕ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย การเคี้ยวไม้ชำระฟันมีอานิสงส์ ๕ ประการนี้ คือ นัยน์ตา แจ่มใส ๑ ปากไม่มีกลิ่นเหม็น ๑ ลิ้นรับรสอาหารบริสุทธิ์ ๑ ดีและเสมหะไม่หุ้มห่อ อาหาร ๑ ชอบฉันอาหาร ๑ การเคี้ยวไม้ชำระฟัน มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล เราอนุญาตไม้ชำระฟัน ฯ [๑๗๔] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์เคี้ยวไม้ชำระฟันยาว และตีสามเณร ด้วยไม้ชำระฟันเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มี พระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเคี้ยวไม้ชำระฟันยาว รูปใด เคี้ยว ต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตไม้ชำระฟันยาว ๘ นิ้วเป็นอย่างยิ่ง และไม่พึงตีสามเณรด้วย ไม้นั้น รูปใดตี ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๗๕] สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเคี้ยวไม้ชำระฟันสั้นเกินไป ไม้ชำระ- *ฟันหลุดเข้าไปติดในคอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มี พระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเคี้ยวไม้ชำระฟันสั้นเกินไป รูปใดเคี้ยว ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ เราอนุญาตไม้ชำระฟันขนาด ๔ องคุลีเป็นอย่างต่ำ ฯ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์จุดไฟเผากองหญ้า
[๑๗๖] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์จุดไฟเผากองหญ้า ชาวบ้านเพ่ง- *โทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนคนเผาป่า ... ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่อง นั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง เผากองหญ้า รูปใดเผา ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๗๗] สมัยนั้น วิหารที่อยู่มีหญ้าขึ้นรก เมื่อไฟป่าไหม้มาถึง วิหาร ถูกไฟไหม้ ภิกษุทั้งหลายรังเกียจที่จะจุดไฟรับเพื่อทำการป้องกัน ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไว้เมื่อไฟป่าไหม้มาถึง ให้จุดไฟรับเพื่อป้องกัน ฯ
เรื่องขึ้นต้นไม้
[๑๗๘] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ขึ้นต้นไม้ ไต่จากต้นหนึ่ง ไปสู่ต้นหนึ่ง ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนลิง ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ไม่พึงขึ้นต้นไม้ รูปใดขึ้น ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๗๙] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปเมืองสาวัตถีในโกศลชนบท ช้างไล่ ในระหว่างทาง จึงภิกษุนั้นวิ่งเข้าไปยังโคนต้นไม้ รังเกียจไม่ขึ้นต้นไม้ ช้างนั้นได้ ไปทางอื่น ครั้นภิกษุนั้นไปถึงเมืองสาวัตถีแล้ว ได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีกิจจำเป็น เราอนุญาตให้ขึ้นต้นไม้สูงชั่วบุรุษ ในคราวมีอันตราย ขึ้นได้ตามประสงค์ ฯ [๑๘๐] สมัยนั้น ภิกษุสองรูปเป็นพี่น้องกัน ชื่อเมฏฐะและโกกุฏฐะ เป็นชาติพราหมณ์ พูดจาอ่อนหวาน เสียงไพเราะ เธอสองรูปนั้นเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระ- *พุทธเจ้าข้า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติ ต่างสกุลกันเข้ามา บวช พวกเธอจะทำพระพุทธวจนะให้ผิดเพี้ยนจากภาษาเดิม ผิฉะนั้น ข้าพระ- *พุทธเจ้าทั้งหลายจะขอยกพระพุทธวจนะขึ้นโดยภาษาสันสกฤต พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆะบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวก เธอจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ผิฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะขอยกพระพุทธวจนะ ขึ้นโดยภาษาสันสกฤตดังนี้เล่า ดูกรโมฆะบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงยกพุทธวจนะขึ้นโดยภาษา สันสกฤต รูปใดยกขึ้น ต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตให้เล่าเรียนพุทธวจนะตามภาษาเดิม ฯ
เรื่องเรียนคัมภีร์โลกายตะ
[๑๘๑] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์เรียนคัมภีร์โลกายตะ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้าน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ ... จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เห็นคัมภีร์โลกายตะ ว่ามีสาระจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้หรือ ภิ. ไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ภ. อันผู้ที่เห็นธรรมวินัยนี้ว่ามีสาระ จะพึงเล่าเรียนคัมภีร์โลกายตะหรือ ภิ. ไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ภ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนคัมภีร์โลกายตะ รูปใดเรียน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๘๒] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สอนคัมภีร์โลกายตะ ชาวบ้านเพ่ง โทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนคัมภีร์ โลกายตะ รูปใดสอน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
เรื่องเรียนดิรัจฉานวิชา
[๑๘๓] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์เรียนดิรัจฉานวิชา ... ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนดิรัจฉาน วิชา รูปใดเรียน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๘๔] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สอนดิรัจฉานวิชา ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบ ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนดิรัจฉาน- *วิชา รูปใดสอน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๘๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อม แล้ว กำลังทรงแสดงธรรม ได้ทรงจามขึ้น ภิกษุทั้งหลายได้ถวายพระพรอย่าง อึงมี่ว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงพระชนมายุ ขอพระสุคตจงทรงพระชนมายุเถิด พระพุทธเจ้าข้า ธรรมกถาได้พักในระหว่างเพราะเสียงนั้น จึงพระผู้มีพระภาค รับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ถูกเขาให้พรว่า ขอจงเจริญ ชนมายุในเวลาจาม จะพึงเป็น หรือพึงตายเพราะเหตุที่ให้พรนั้นหรือ ภิ. ไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ภ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกล่าวคำให้พรว่า ขอจงมีชนมายุ ใน เวลาที่เขาจาม รูปใดให้พร ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๘๖] สมัยนั้น ชาวบ้านให้พรในเวลาที่ภิกษุทั้งหลายจามว่า ขอท่าน จงมีชนมายุ ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ มิได้ให้พรตอบ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร เมื่อเขาให้พรว่า จงเจริญ ชนมายุ จึงไม่ให้พรตอบเล่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านมีความต้องการด้วยสิ่ง เป็นมงคล เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ที่เขาให้พรว่า จงเจริญชนมายุ ดังนี้ ให้พรตอบ แก่ชาวบ้านว่า ขอท่านจงเจริญชนมายุยืนนาน ฯ
เรื่องฉันกระเทียม
[๑๘๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคอันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อม ประทับนั่ง แสดงธรรมอยู่ ภิกษุรูปหนึ่งฉันกระเทียม แลเธอคิดว่า ภิกษุทั้งหลายอย่าได้ รบกวน จึงนั่ง ณ ที่สุดส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้น นั่ง ณ ที่สุดส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วจึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทำไมหนอ ภิกษุนั้นจึงนั่ง ณ ที่สุดส่วนข้างหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ภิกษุ นั้นฉันกระเทียม พระพุทธเจ้าข้า แลเธอคิดว่า ภิกษุทั้งหลายอย่ารบกวน จึงนั่ง ณ ที่สุดส่วนข้างหนึ่ง ภ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุฉันของใดแล้ว จะพึงเป็นผู้เหินห่างจาก ธรรมกถาเห็นปานนี้ ภิกษุควรฉันของนั้นหรือ ภิ. ไม่ควรฉัน พระพุทธเจ้าข้า ภ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันกระเทียม รูปใดฉัน ต้องอาบัติ ทุกกฏ ฯ [๑๘๘] สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอาพาธเป็นลมเสียดท้อง ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรแล้วถามว่า เมื่อก่อนท่านเป็น ลมเสียดท้อง หายด้วยยาอะไร ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ผมหายด้วยกระเทียม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันกระเทียมได้ เพราะเหตุอาพาธ ฯ
เรื่องหม้อปัสสาวะ
[๑๘๙] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายถ่ายปัสสาวะลงในที่นั้นๆ ใน อาราม อารามสกปรก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถ่ายปัสสาวะในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อาราม มีกลิ่นเหม็น ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหม้อปัสสาวะ ภิกษุ ทั้งหลายนั่งถ่ายปัสสาวะลำบาก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเขียง รองเท้าถ่ายปัสสาวะ เขียงรองเท้าถ่ายปัสสาวะเปิดเผย ภิกษุทั้งหลายละอายที่จะ ถ่ายปัสสาวะ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ล้อมเครื่องล้อม ๓ ชนิด คือ เครื่องล้อมอิฐ เครื่องล้อมหิน ฝาไม้ หม้อปัสสาวะไม่มีฝาปิด มีกลิ่น เหม็น ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด ฯ
พุทธานุญาตหลุมถ่ายอุจจาระ
[๑๙๐] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายถ่ายอุจจาระลงในที่นั้นๆ ในอาราม อารามสกปรก ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถ่ายอุจจาระในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อารามมีกลิ่น เหม็น ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหลุมถ่ายอุจจาระ ขอบปากหลุม พัง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อกรุ ๓ อย่าง คือ ก่อด้วยอิฐ ก่อด้วยศิลา ก่อด้วยไม้ หลุมอุจจาระมีพื้นต่ำน้ำท่วมได้ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง ดินที่ถมพื้นพัง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อกรุ ๓ อย่าง คือ ก่อด้วยอิฐ ก่อด้วยศิลา ก่อด้วยไม้ ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบันได ๓ อย่าง คือ บันไดอิฐ บันไดหิน บันไดไม้ ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด ภิกษุทั้งหลายนั่งถ่ายอุจจาระ ที่ริมหลุมพลัดตกลงไป ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลาดพื้น แล้วเจาะช่องถ่ายอุจจาระตรงกลาง ภิกษุทั้งหลายนั่งถ่ายอุจจาระลำบาก ... ตรัสว่าดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเขียงรองเท้าถ่ายอุจจาระ ภิกษุทั้งหลายถ่ายปัสสาวะออก ไปข้างนอก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรางรองปัสสาวะ ไม้ชำระ ไม่มี ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ชำระ ตะกร้ารองรับไม้ชำระ ไม่มี ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตะกร้ารองรับไม้ชำระ หลุมอุจจาระ ไม่ได้ปิดมีกลิ่นเหม็น ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด ฯ
พุทธานุญาตวัจจกุฎี
[๑๙๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายถ่ายอุจจาระในที่แจ้งลำบากด้วยร้อนบ้าง หนาวบ้าง จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวัจจกุฎี วัจจกุฎีไม่มีบานประตู ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตบานประตู กรอบเช็ดหน้า ครกรับเดือยบานประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน ลิ่ม ช่องดาล ช่องเชือกชัก เชือกชัก ผงหญ้าที่มุงวัจจกุฎี ตกลงเกลื่อน ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงฉาบดินทั้งข้างบน ข้างล่าง ทำให้มีสีขาว สีดำ สีเหลือง จำหลักเป็นพวงดอกไม้ เครือไม้ ฟัน มังกร ดอกจอกห้ากลีบ ราวจีวร สายระเดียงจีวร ฯ [๑๙๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งชราทุพพลภาพ ถ่ายอุจจาระแล้วลุกขึ้น ล้มลง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกห้อยสำหรับเหนี่ยว ฯ [๑๙๓] สมัยนั้น วัจจกุฎีไม่ได้ล้อม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ล้อมเครื่องล้อม ๓ อย่าง คือ อิฐ ศิลา ไม้ ฯ [๑๙๔] ซุ้มประตูไม่มี ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตซุ้ม ประตู ซุ้มประตูมีพื้นต่ำ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถมพื้นให้สูง ดินที่ถมพัง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อกรุ ๓ อย่าง คือ ก่อด้วยอิฐ ก่อด้วยศิลา ก่อด้วยไม้ ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ... ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบันได ๓ อย่าง คือ บันไดอิฐ บันไดหิน บันไดไม้ ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราว สำหรับยึด บานซุ้มประตูไม่มี ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตซุ้ม ประตู กรอบเช็ดหน้า ครกรองเดือยประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน ลิ่มช่องดาล ช่องเชือกชัก เชือกชัก ผงหญ้าที่มุงบนซุ้มประตูหล่นเกลื่อน ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลง ฉาบด้วยดินทั้งข้างบนข้างล่าง ทำให้มีสีขาว สีดำ สีเหลือง จำหลักเป็นพวงดอกไม้ เครือไม้ ฟันมังกร ดอกจอกห้ากลีบ บริเวณลื่น ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โรย กรวดแร่ กรวดแร่ไม่เต็ม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วางศิลา เลียบ น้ำขัง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตท่อระบายน้ำ หม้ออุจจาระ ไม่มี ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหม้ออุจจาระ กระบอกตักน้ำชำระ อุจจาระไม่มี ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกระบอกตักน้ำชำระอุจจาระ ภิกษุทั้งหลายนั่งถ่ายลำบาก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเขียงไม้ สำหรับนั่งถ่าย เขียงไม้สำหรับนั่งถ่ายอยู่เปิดเผย ภิกษุทั้งหลายละอายที่จะถ่าย ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ล้อมเครื่องล้อม ๓ ชนิด คือ อิฐ ศิลา ไม้ หม้ออุจจาระไม่ได้ปิด ผงหญ้าและขี้ฝุ่นตกลง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด
ประพฤติอนาจารต่างๆ
[๑๙๕] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ประพฤติอนาจารเห็นปานดังนี้ คือ ปลูก ต้นไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บ ดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นร้อยกรอง บ้าง ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ให้ ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้ช่อเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พุ่มเองบ้าง ใช้ให้ ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้เทริดเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้ตาข่ายประดับอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำบ้าง ภิกษุ พวกนั้นนำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยต่อก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งมาลัยเรียงก้าน นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่ง ดอกไม้ช่อ นำไปเองบ้าง ใช้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้พุ่ม นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้เทริด นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่ง ดอกไม้พวง นำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้ตาข่ายประดับอก เพื่อกุลสตรี เพื่อกุลธิดา เพื่อกุมารีแห่งสกุล เพื่อสะใภ้แห่งสกุล เพื่อกุลทาสี ภิกษุพวกนั้นฉันอาหารในภาชนะเดียวกันบ้าง ดื่มน้ำในขันเดียวกันบ้าง นั่งบน อาสนะเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดเดียวกันบ้าง นอน คลุมผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดและคลุมผ้าห่มร่วมกันบ้าง กับ กุลสตรี กุลธิดา กุมารีแห่งสกุล สะใภ้แห่งสกุล กุลทาสี ฉันอาหารในเวลา วิกาลบ้าง ดื่มน้ำเมาบ้าง ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้บ้าง ฟ้อนรำ บ้าง ขับร้องบ้าง ประโคมบ้าง เต้นรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ขับร้อง กับหญิงฟ้อนรำบ้าง ประโคมกับหญิงฟ้อนรำบ้าง เต้นรำกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ... ฟ้อนรำกับหญิงเต้นรำบ้าง ขับร้องกับหญิงเต้นรำบ้าง ประโคมกับหญิงเต้นรำบ้าง เต้นรำกับหญิงเต้นรำบ้าง เล่นหมากรุกแถวละแปดตาบ้าง เล่นหมากรุกแถวละ สิบตาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนห่วง บ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาดให้เป็นรูปต่างๆ บ้าง เล่นสะกาบ้าง เล่นเป่า ใบไม้บ้าง เล่นไถน้อยๆ บ้าง เล่นหกคะเมนบ้าง เล่นไม้กังหันบ้าง เล่นตวงทราย ด้วยใบไม้บ้าง เล่นรถน้อยๆ บ้าง เล่นธนูน้อยบ้าง เล่นเขียนทายบ้าง เล่น ทายใจบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง หัดขี่ช้างบ้าง หัดขี่ม้าบ้าง หัดขี่รถบ้าง หัดยิงธนูบ้าง หัดเพลงอาวุธบ้าง วิ่งผลัดช้างบ้าง วิ่งผลัดม้าบ้าง วิ่งผลัดรถบ้าง วิ่งขับกันบ้าง วิ่งเปี้ยวกันบ้าง ผิวปากบ้าง ปรบมือบ้าง ปล้ำกันบ้าง ชกมวย กันบ้าง ปูลาดผ้าสังฆาฏิ ณ กลางสถานที่เต้นรำ แล้วพูดกับหญิงฟ้อนรำอย่างนี้ว่า น้องหญิง เธอจงฟ้อนรำ ณ ที่นี้ ดังนี้บ้าง ให้การคำนับบ้าง ประพฤติอนาจาร มีอย่างต่างๆ บ้าง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงประพฤติ อนาจารมีอย่างต่างๆ รูปใดประพฤติ พึงปรับอาบัติตามธรรม ฯ
พุทธานุญาตเครื่องโลหะเป็นต้น
[๑๙๖] สมัยต่อมา เมื่อท่านพระอุรุเวลกัสสปบวชแล้ว เครื่องโลหะ เครื่องไม้ เครื่องดิน บังเกิดแก่สงฆ์เป็นอันมาก ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า เครื่องโลหะชนิดไหน พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ชนิดไหนไม่ทรงอนุญาต เครื่องไม้ชนิดไหน ทรงอนุญาต ชนิดไหนไม่ทรงอนุญาต เครื่องดินชนิดไหน ทรงอนุญาต ชนิดไหน ไม่ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทางทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตเครื่องโลหะทุกชนิด เว้นเครื่องประหาร อนุญาตเครื่องไม้ทุกชนิด เว้น เก้าอี้นอนมีแคร่ บัลลังก์ บาตรไม้และเขียงไม้ อนุญาตเครื่องดินทุกชนิด เว้น เครื่องเช็ดเท้าและกุฎีที่ทำด้วยดินเผา ฯ
ขุททกวัตถุขันธกะ ที่ ๕ จบ
-----------------------------------------------------
หัวข้อประจำขันธกะ
[๑๙๗] ๑. เรื่องขัดสีกายที่ต้นไม้ ๒. ขัดสีกายที่เสา ๓. ขัดสีกาย ที่ฝา ๔. อาบน้ำในที่ไม่ควร ๕. อาบน้ำขัดสีกายด้วยมือทำด้วยไม้ ๖. ขัด สีกายด้วยจุณหินสีดังพลอยแดง ๗. ผลัดกันถูตัว ๘. อาบน้ำถูด้วยไม้ บังเวียน ๙. ภิกษุเป็นหิด ๑๐. ภิกษุชรา ๑๑. ถูหลังด้วยฝ่ามือ ๑๒. เครื่อง ตุ้มหู ๑๓. สังวาล ๑๔. สร้อยคอ ๑๕. เครื่องประดับเอว ๑๖. ทรงวลัย ๑๗. ทรงสร้อยตาบ ๑๘. ทรงเครื่องประดับข้อมือ ๑๙. ทรงแหวนประดับนิ้วมือ ๒๐. ไว้ผมยาว ๒๑. เสยผมด้วยแปรง ๒๒. เสยผมด้วยมือ ๒๓. เสย ผมด้วยน้ำมันผสมขี้ผึ้ง ๒๔. เสยผมด้วยน้ำมันผสมน้ำ ๒๕. ส่องเงาหน้าใน แว่น ในขันน้ำ ๒๖. แผลเป็นที่หน้า ๒๗. ผัดหน้า ๒๘. ทาหน้า ถูหน้า ผัดหน้า เจิมหน้า ย้อมตัว ย้อมหน้า ย้อมทั้งหน้าทั้งตัว ๒๙. โรคนัยน์ตา ๓๐. มหรสพ ๓๑. สวดเสียงยาว ๓๒. สวดสรภัญญะ ๓๓. ห่มผ้าขนสัตว์ มีขน ข้างนอก ๓๔. มะม่วงทั้งผล ๓๕. ชิ้นมะม่วง ๓๖. มะม่วงล้วน ๓๗. เรื่องงู ๓๘. ตัดองค์กำเนิด ๓๙. บาตรไม้จันทน์ ๔๐. เรื่องบาตรต่างๆ ๔๑. บังเวียน รองบาตร ๔๒. บังเวียนทองรองบาตร หนาไป ทรงอนุญาตให้กลึง ๔๓. บังเวียน รองบาตรวิจิตร ๔๔. บาตรเหม็นอับ ๔๕. บาตรมีกลิ่นเหม็น ๔๖. วาง บาตรไว้ในที่ร้อน ๔๗. บาตรกลิ้งตกแตก ๔๘. เก็บบาตรไว้ที่กระดานเลียบ ๔๙. เก็บบาตรไว้ริมกระดานเลียบนอกฝา ๕๐. หญ้ารองบาตร ๕๑. ท่อน ผ้ารองบาตร ๕๒. แท่นเก็บบาตร หม้อเก็บบาตร ๕๓. ถุงบาตรและสาย โยกเป็นด้ายถัก ๕๔. แขวนบาตรไว้ที่ไม้เดือย ๕๕. เก็บบาตรไว้บนเตียง ๕๖. เก็บบาตรไว้บนตั่ง ๕๗. วางบาตรไว้บนตัก ๕๘. เก็บบาตรไว้บนกลด ๕๙. ถือบาตรอยู่ผลักประตูเข้าไป ๖๐. ใช้กะโหลกน้ำเต้าแทนบาตร ๖๑. ใช้ กระเบื้องหม้อแทนบาตร ๖๒. ใช้กะโหลกผีแทนบาตร ๖๓. ใช้บาตรต่าง กระโถน ๖๔. ใช้มีดตัดจีวร ๖๕. เรื่องใช้มีดมีด้าม ๖๖. ใช้ด้ามมีดทำ ด้วยทอง ๖๗. ใช้ขนไก่และไม้กลัดเย็บจีวร กล่องเข็ม แป้งข้าวหมาก ฝุ่น หิน ขี้ผึ้ง ผ้ามัดขี้ผึ้ง ๖๘. จีวรเสียมุม ผูกสะดึง ขึงสะดึงในที่ไม่เสมอ ขึงสะดึงที่พื้นดิน ขอบสะดึงชำรุด และไม่พอ ทำเครื่องหมายและตีบรรทัด ๖๙. ไม่ล้างเท้าเหยียบสะดึง ๗๐. เท้าเปียกเหยียบสะดึง ๗๑. สวมรอง เท้าเหยียบสะดึง ๗๒. ใช้นิ้วมือรับเข็ม ๗๓. ปลอกนิ้วมือ ๗๔. กล่อง สำหรับเก็บเครื่องเย็บผ้า และสายโยก เป็นด้ายถัก ๗๕. เย็บจีวรในที่แจ้ง โรงไม้สะดึงต่ำ ถมพื้นให้สูง ขึ้นลงลำบาก ๗๖. ผงหญ้าที่มุงตกเกลื่อน พระวินายกทรงอนุญาตให้รื้อลงฉาบด้วยดินทั้งข้างนอกข้างใน ทำให้มีสีขาว สีดำ สีเหลือง จำหลักเป็นพวงดอกไม้ เครือไม้ ฟันมังกร ดอกจอกห้ากลีบ ราวจีวร สายระเดียงจีวร ๗๗. ทิ้งไม้สะดึงแล้วหลีกไป ไม้สะดึงหักเสียหาย คลี่ออก ๗๘. เก็บสะดึงไว้ที่ฝากุฏิ ๗๙. ใช้บาตรบรรจุเข็ม มีด เครื่องยาเดินทาง ถุงเก็บเครื่องยา สายโยกเป็นด้ายถัก ๘๐. ใช้ผ้ากายพันธ์ผูกรองเท้า ถุงเก็บ รองเท้า สายโยกเป็นด้ายถัก ๘๑. น้ำในระหว่างทางเป็นอกัปปิยะ ผ้ากรองน้ำ กระบอกกรองน้ำ ๘๒. ภิกษุสองรูปเดินทางไปเมืองเวสาลี ๘๓. พระมหามุนี ทรงอนุญาตผ้ากรองน้ำมีขอบและผ้าลาดลงบนน้ำ ๘๔. ยุงรบกวน ๘๕. อาหาร ประณีต เกิดโรคมาก หมอชีวกทูลขออนุญาตสร้างที่จงกรมและเรือนไฟ ๘๖. ที่ จงกรมขรุขระ ๘๗. พื้นที่จงกรมต่ำ ทรงอนุญาตให้ก่อกรุดินที่ถม ๓ ชนิด ขึ้น ลงลำบาก ทรงอนุญาตบันไดและราวสำหรับยึด ๘๘. ทรงอนุญาตรั้วรอบที่จง กรม ๘๙. จงกรมในที่แจ้งผงหญ้าหล่นเกลื่อน ทรงอนุญาตให้รื้อลงฉาบด้วยดิน ทำให้มี สีขาว สีดำ สีเหลือง จำหลักเป็นพวงดอกไม้ เครือไม้ ฟันมังกร ดอกจอกห้ากลีบ ราวจีวร สายระเดียงจีวร ๙๐. ทรงอนุญาตให้ถมเรือนไฟ ให้สูงกั้นกรุ บันได ราวบันได บานประตู กรอบเช็ดหน้า ครกรองเดือยประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน ลิ่ม ช่องดาล ช่องชักเชือก เชือกชัก ก่อฝาเรือนไฟให้ต่ำ และปล่องควัน ๙๑. เรือนไฟตั้งอยู่กลาง ทรงอนุญาตดิน ทาหน้า รางละลายดิน ดินมีกลิ่นเหม็น ๙๒. ไฟลนกาย ทรงอนุญาตที่ขังน้ำ ขันตักน้ำ เรือนไฟไหม้เกรียม พื้นที่เป็นตม ทรงอนุญาตให้ล้าง ทำท่อระบายน้ำ ๙๓. ตั่งรองนั่งในเรือนไฟ ๙๔. ทำซุ้ม ๙๕. ทรงอนุญาตโรยกรวดแร่ วาง ศิลาเลียบ ท่อระบายน้ำ ๙๖. เปลือยกายไหว้กัน ๙๗. วางจีวรไว้บนพื้นดิน ฝนตกเปียก ๙๘. ทรงอนุญาตเครื่องกำบัง ๓ ชนิด ๙๙. บ่อน้ำ ๑๐๐. ใช้ ผ้ากายพันธ์และเถาวัลย์ผูกภาชนะตักน้ำ ทรงอนุญาตคันโพง ระหัดชัก ระหัดถีบ ภาชนะตักน้ำแตก ทรงอนุญาตถังน้ำทำด้วยโลหะไม้และท่อนหนัง ๑๐๑. ทรง อนุญาตศาลาใกล้บ่อน้ำ ๑๐๒. ทรงอนุญาตฝาปิดบ่อกันผงหญ้า ๑๐๓. ทรง อนุญาตรางไม้ ๑๐๔. ทรงอนุญาตท่อระบายน้ำ และกำแพงกั้น น้ำขังลื่น ทรงอนุญาตท่อระบายน้ำ ๑๐๕. เนื้อตัวตกหนาว ทรงอนุญาตผ้าชุบน้ำ ๑๐๖. ทรง อนุญาตสระน้ำ น้ำในสระเก่า ทรงอนุญาตให้ทำท่อระบายน้ำ ๑๐๗. ทรง อนุญาตเรือนไฟมีปั้นลม ๑๐๘. ไม่อยู่ปราศจากผ้านิสีทนะ ๔ เดือน ๑๐๙. นอน บนที่นอนอันเดียรดาษด้วยดอกได้ ๑๑๐. ไม่รับประเคนดอกไม้ของหอม ๑๑๑. ไม่ต้องอธิษฐานสันถัตขนเจียมหล่อ ๑๑๒. ฉันจังหันบนเตียบ ๑๑๓. ทรง อนุญาตโตก ๑๑๔. ฉันจังหันและนอนร่วมกัน ๑๑๕. เจ้าวัฑฒะลิจฉวี ๑๑๖. โพธิราชกุมาร พระพุทธเจ้าไม่ทรงเหยียบผ้า ๑๑๗. หม้อน้ำ ปุ่มไม้ สำหรับเช็ดเท้า และไม้กวาด ๑๑๘. ทรงอนุญาตที่เช็ดเท้าทำด้วยหิน กรวด กระเบื้อง หินฟองน้ำ ๑๑๙. ทรงอนุญาตพัดโบก พัดใบตาล ๑๒๐. ไม้ ปัดยุง แส้จามรี ๑๒๑. ทรงอนุญาตร่ม ๑๒๒. ไม่มีร่มไม่สบาย ๑๒๓. ทรง อนุญาตร่มในวัด รวม ๓ เรื่อง ๑๒๔. วางบาตรไว้ในสาแหรก ๑๒๕. สมมติ สาแหรก สมมติไม้เท้าและสาแหรก ๑๒๖. โรคเรอ ๑๒๗. เมล็ดข้าว เกลื่อน ๑๒๘. ไว้เล็บยาว ๑๒๙. ตัดเล็บ นิ้วมือเจ็บ ตัดเล็บจนถึงเลือด ทรงอนุญาตให้ตัดพอดีเนื้อ ๑๓๐. ขัดเล็บทั้ง ๒๐ นิ้ว ๑๓๑. ไว้ผมยาว ทรงอนุญาตมีดโกน หินลับมีดโกน ปลอกมีดโกน ผ้าพันมีดโกน เครื่องมือ โกนผมทุกอย่าง ๑๓๒. ตัดหนวด ไว้หนวด ไว้เครา ไว้หนวดสี่เหลี่ยม ขมวดกลุ่มขนหน้าอก ไว้กลุ่มขนท้อง ไว้หนวดเป็นเขี้ยวโง้ง โกนขนในที่แคบ ๑๓๓. อาพาธโกนขนในที่แคบได้ ๑๓๔. ตัดผมด้วยกรรไกร ๑๓๕. ศีรษะ เป็นแผล ๑๓๖. ไว้ขนจมูกยาว ๑๓๗. ถอนขนจมูกด้วยก้อนกรวด ๑๓๘. เรื่อง ถอนผมหงอก ๑๓๙. เรื่องมูลหูจุกช่องหู ๑๔๐. ใช้ไม้แคะหู ๑๔๑. เรื่อง สั่งสมเครื่องโลหะกับไม้ป้ายยาตา ๑๔๒. นั่งรัดเข่า ๑๔๓. ผ้ารัดเข่า ด้าย พัน ๑๔๔. ผ้ารัดประคต ๑๔๕. ภิกษุใช้รัดประคตเป็นเชือกหลายเส้น ประคตถักเป็นศีรษะงูน้ำ ประคตกลมคล้ายเกลียวเชือก ประคตคล้ายสังวาล ทรงอนุญาตรัดประคตแผ่นผ้า และรัดประคตกลม ชายผ้ารัดประคตเก่า ทรง อนุญาตให้เย็บทบ ถักเป็นห่วง ที่สุดห่วงรัดประคตเก่า ทรงอนุญาตลูกถวิน ๑๔๖. ทรงอนุญาตลูกดุม และรังดุม ๑๔๗. ทำลูกดุมต่างๆ ๑๔๘. ติด แผ่นผ้ารองลูกดุม และรังดุม ๑๔๙. นุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์ คือ นุ่งห้อยชาย เหมือนงวงช้าง นุ่งปล่อยชายคล้ายหางปลา นุ่งปล่อยชายเป็นสี่แฉก นุ่งห้อยชาย คล้ายก้านตาล นุ่งยกกลีบตั้งร้อย ๑๕๐. ห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ ๑๕๑. นุ่งผ้า เหน็บชายกระเบน ๑๕๒. หาบของสองข้าง ๑๕๓. ไม้ชำระฟัน ๑๕๔. ใช้ ไม้ชำระฟันตีสามเณร ๑๕๕. ไม้ชำระฟันติดคอ ๑๕๖. จุดไฟเผากองหญ้า ๑๕๗. จุดไฟรับ ๑๕๘. ขึ้นต้นไม้ ๑๕๙. หนีช้าง ๑๖๐. ภาษาสันสกฤต ๑๖๑. เรียนโลกายตศาสตร์ ๑๖๒. สอนโลกายตศาสตร์ ๑๖๓. เรียน ดิรัจฉานวิชา ๑๖๔. สอนดิรัจฉานวิชา ๑๖๕. ทรงจาม ๑๖๖. เรื่องมงคล ๑๖๗. ฉันกระเทียม ๑๖๘. อาพาธเป็นลม ฉันกระเทียมได้ ๑๖๙. อาราม สกปรกมีกลิ่นเหม็น นั่งปัสสาวะลำบาก ทรงอนุญาตเขียงรองเท้าถ่ายปัสสาวะ ภิกษุทั้งหลายละอาย หม้อปัสสาวะไม่มีฝาปิด มีกลิ่นเหม็น ถ่ายอุจจาระลงในที่ นั้นๆ มีกลิ่นเหม็น หลุมถ่ายอุจจาระพัง ทรงอนุญาตให้ถมขอบปากให้สูง และ ให้ก่อกรุ บันได ราวสำหรับยึด นั่งริมๆ ถ่ายอุจจาระ นั่งถ่ายอุจจาระลำบาก ทรงอนุญาตเขียงรองเท้าถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะออกไปข้างนอก ทรงอนุญาต รางรองปัสสาวะ ไม้ชำระ ตะกร้ารองรับไม้ชำระ หลุมวัจจกุฎีไม่ได้ปิด ทรง อนุญาตฝาปิด ๑๗๐. วัจจกุฎี บานประตู กรอบเช็ดหน้า ครกรับเดือยบาน ประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน ลิ่ม ช่องดาล ช่องเชือกชัก เชือกชัก ผงหญ้าตกลงเกลื่อน ทรงอนุญาตให้รื้อลงฉาบด้วยดินทั้งข้างบนข้างล่าง ทำให้มีสีขาว สีดำ สีเหลือง จำหลักเป็นพวงดอกไม้ เครือไม้ ฟันมังกร ดอกจอกห้ากลีบ ราวจีวร สายระเดียง ๑๗๑. ภิกษุชราทุพพลภาพ ๑๗๒. ทรง อนุญาตให้ล้อมเครื่องล้อม ๑๗๓. ทรงอนุญาตซุ้มประตูวัจจกุฎี โรยกรวดแร่ วางศิลาเลียบ น้ำขัง ทรงอนุญาตท่อระบายน้ำ หม้อน้ำชำระ ขันตักน้ำชำระ นั่ง ชำระลำบาก ละอาย ทรงอนุญาตฝาปิด ๑๗๔. พระฉัพพัคคีย์ประพฤติอนาจาร ๑๗๕. ทรงอนุญาตเครื่องโลหะ เว้นเครื่องประหาร พระมหามุนีทรงอนุญาตเครื่อง ไม้ทั้งปวง เว้นเก้าอี้นอนมีแคร่ บัลลังก์ บาตรไม้และเขียงไม้ พระตถาคตผู้ทรง อนุเคราะห์ ทรงอนุญาตเครื่องดินแม้ทั้งมวล เว้นเครื่องเช็ดเท้า และกุฎีที่ทำด้วย ดินเผา นิทเทศแห่งวัตถุใด ถ้าเหมือนกับข้างต้น นักวินัยพึงทราบวัตถุนั้นว่า ท่านย่อไว้ในอุทาน โดยนัย เรื่องในขุททกวัตถุขันธกะ ที่แสดงมานี้มี ๑๑๐ เรื่อง ๑- พระวินัยธรผู้ ศึกษาดีแล้ว มีจิตเกื้อกูล มีศีลเป็นที่รักด้วยดี มีปัญญาส่องสว่างดังดวงประทีป เป็นพหูสูต ควรบูชา จะเป็นผู้ดำรงพระสัทธรรม และอนุเคราะห์แก่เหล่า สพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รัก ฯ
หัวข้อประจำขันธกะ จบ
-----------------------------------------------------
เสนาสนะขันธกะ
เรื่องราชคหเศรษฐีถวายวิหาร
[๑๙๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน วิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงบัญญัติเสนาสนะแก่ภิกษุทั้งหลาย และภิกษุเหล่านั้น ก็อยู่ในที่นั้นๆ คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ภิกษุเหล่านั้นออกจากที่อยู่นั้นๆ คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง แต่เช้าตรู่ มีอาการเดินไปข้างหน้า ถอย กลับ แลเหลียว คู้แขน เหยียดแขน น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง สมบูรณ์ ด้วยอิริยาบถ ฯ [๑๙๙] สมัยนั้น ราชคหเศรษฐีได้ไปสวนแต่เช้าตรู่ ได้แลเห็นภิกษุ เหล่านั้นเดินออกจากที่อยู่นั้นๆ คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำเขา ป่าช้า @ ท่านว่ามี ๑๑๐ เรื่อง แต่นับได้ถึง ๑๗๕ เรื่อง ถ้ารวมเข้าคงได้ตามจำนวนนั้น ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง แต่เช้าตรู่ มีอาการเดินไปข้างหน้า ถอยกลับ แลเหลียว คู้แขน เหยียดแขน น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ ครั้น แล้วก็มีจิตเลื่อมใส จึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น เรียนถามว่า ท่านเจ้าข้า หาก ข้าพเจ้าสร้างวิหารถวาย พระคุณเจ้าจะอยู่ในวิหารของข้าพเจ้าหรือไม่ ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า ดูกรคหบดี พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงอนุญาต วิหาร เศรษฐีกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าจงทูลถามพระผู้มี พระภาค แล้วแจ้งแก่ข้าพเจ้า ภิกษุเหล่านั้นรับคำของราชคหเศรษฐี แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลถามว่า พระพุทธเจ้าข้า ราชคห- *เศรษฐีประสงค์จะสร้างวิหารถวาย ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พุทธานุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด
[๒๐๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็น เค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด คือ วิหาร ๑ เรือนมุงแถบเดียว ๑ เรือนชั้น ๑ เรือนโล้น ๑ ถ้ำ ๑ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ บรรทัดที่ ๑-๑๖๔๘ หน้าที่ ๑-๖๘. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=1&Z=1648&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=7&item=1&items=300              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=7&item=1&items=300&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=7&item=1&items=300              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=7&item=1&items=300              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_7

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :