ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
             [๒๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๔ ประการนี้ย่อมเกิด ๔ ประการ
เป็นไฉน คือ ความรักย่อมเกิดเพราะความรัก ๑ โทสะย่อมเกิดเพราะความรัก ๑
ความรักย่อมเกิดเพราะโทสะ ๑ โทสะย่อมเกิดเพราะโทสะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ความรักย่อมเกิดเพราะความรักอย่างไร บุคคลในโลกนี้เป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ มาประพฤติต่อบุคคลที่รักนั้น ด้วยอาการที่น่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นมาประพฤติต่อ
บุคคลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของเรา ด้วยอาการอันน่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ เขาย่อมเกิดความรักในคนเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรัก
ย่อมเกิดเพราะความรักอย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โทสะย่อมเกิดเพราะความรักอย่างไร บุคคลในโลก
นี้เป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของบุคคล คนอื่นมาประพฤติต่อบุคคลนั้น
ด้วยอาการอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ บุคคลนั้นย่อมมีความคิด
อย่างนี้ว่า คนอื่นมาประพฤติต่อบุคคลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของเรา
ด้วยอาการอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เขาย่อมเกิดโทสะในคน
เหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทสะย่อมเกิดเพราะความรัก อย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความรักย่อมเกิดเพราะโทสะอย่างไร บุคคลในโลก
นี้ไม่เป็นที่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ มาประพฤติ
ต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ บุคคลนั้น
ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นๆ มาประพฤติต่อบุคคลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่า
ใคร่ ไม่น่าพอใจของเรา ด้วยอาการอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ
เขาย่อมเกิดความรักใคร่ในคนเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรักย่อมเกิดเพราะ
โทสะอย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โทสะย่อมเกิดเพราะโทสะอย่างไร บุคคลในโลกนี้
ไม่เป็นที่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ มาประพฤติ
ต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ บุคคลนั้นย่อมมี
ความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นๆ มาประพฤติต่อคนที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่า
พอใจของเรา ด้วยอาการอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เขาย่อมเกิดโทสะ
ในบุคคลเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทสะย่อมเกิดเพราะโทสะอย่างนี้แล ดูกร-
*ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิด ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสงัดจากกาม ฯลฯ เข้าปฐมฌานอยู่
สมัยนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้โทสะที่เกิด
เพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะโทสะ ย่อมไม่มีแก่
ภิกษุนั้น แม้โทสะที่เกิดเพราะโทสะ ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุเข้าทุติยฌาน ฯลฯ ตติยฌาน ฯลฯ จตุตถฌาน สมัยนั้น แม้
ความรักที่เกิดเพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้โทสะที่บังเกิดเพราะความ
รัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะโทสะ ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา
อาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน
เข้าถึงอยู่ สมัยนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความรัก เป็นธรรมชาติอันภิกษุนั้นละ
ได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วนทำให้ไม่ให้มี ไม่เกิดขึ้น
ต่อไปเป็นธรรมดา แม้โทสะที่เกิดเพราะความรัก...แม้ความรักที่เกิดเพราะโทสะ...
แม้โทสะที่เกิดเพราะโทสะ เป็นธรรมชาติอันภิกษุนั้นละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว
ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่ให้มี ไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุนี้
เราเรียกว่า ไม่ยึดถือ ไม่โต้ตอบ ไม่บังหวนควัน ไม่ลุกโพลง ไม่ถูกไฟไหม้ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุชื่อว่ายึดถืออย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเห็น
รูปโดยความเป็นตน เห็นตนว่ามีรูป เห็นรูปในตน หรือเห็นตนในรูป ย่อมเห็นเวทนา
โดยความเป็นตน เห็นตนว่ามีเวทนา เห็นเวทนาในตน หรือเห็นตนในเวทนา ย่อม
เห็นสัญญาโดยความเป็นตน เห็นตนว่ามีสัญญา เห็นสัญญาในตน หรือเห็นตน
ในสัญญา ย่อมเห็นสังขารทั้งหลาย โดยความเป็นตน เห็นตนว่ามีสังขาร เห็น
สังขารในตน หรือเห็นตนในสังขาร ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน เห็น
ตนว่ามีวิญญาณ เห็นวิญญาณในตน หรือเห็นตนในวิญญาณ ภิกษุชื่อว่ายึดถือ
อย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุชื่อว่าไม่ยึดถืออย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน ไม่เห็นตนว่ามีรูป ไม่เห็นรูปในตน หรือไม่เห็น
ตนในรูป ไม่เห็นเวทนา...ไม่เห็นสัญญา...ไม่เห็นสังขาร...ไม่เห็นวิญญาณ
โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนว่ามีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในตน หรือไม่เห็น
ตนในวิญญาณ ภิกษุชื่อว่าไม่ยึดถืออย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าย่อมโต้ตอบอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมด่าตอบผู้ด่าตน ย่อมโกรธตอบผู้โกรธตน ย่อมโต้เถียงตอบผู้โต้เถียงตน
ภิกษุชื่อว่าย่อมโต้ตอบอย่างนี้แล
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าย่อมไม่โต้ตอบอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมไม่ด่าตอบผู้ด่าตน ย่อมไม่โกรธตอบผู้โกรธตน ย่อมไม่โต้เถียงตอบผู้
โต้เถียงตน ภิกษุชื่อว่าไม่โต้ตอบอย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมบังหวนควันอย่างไร เมื่อมีความถือว่า
เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างอื่น เราเป็นอยู่ เราไม่เป็นอยู่
เราพึงเป็น เราพึงเป็นอย่างนี้ เราพึงเป็นอย่างนั้น เราพึงเป็นอย่างอื่น แม้ไฉน
เราพึงเป็น แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนี้ แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนั้น แม้ไฉนเราพึง
เป็นอย่างอื่น เราจักเป็น เราจักเป็นอย่างนี้ เราจักเป็นอย่างนั้น เราจักเป็นอย่าง
อื่น ภิกษุชื่อว่าย่อมบังหวนควันอย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมไม่บังหวนควันอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อไม่มีความถือว่า เรามีอยู่ ก็ย่อมไม่มีความถือว่า เราเป็นอย่างนี้ ... เราจัก
เป็นอย่างอื่น ภิกษุชื่อว่าย่อมไม่บังหวนควันอย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุลุกโพลงอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมี
ความถือว่า เรามีขันธบัญจกนี้ ก็ย่อมมีความถือว่า เราเป็นอย่างนี้ด้วยขันธบัญจก
นี้ เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธบัญจกนี้ เราเป็นอย่างอื่นด้วยขันธบัญจกนี้ เราเป็น
อยู่ด้วยขันธบัญจกนี้ เราไม่เป็นอยู่ด้วยขันธบัญจกนี้ เราพึงเป็นขันธบัญจกนี้
เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธบัญจกนี้ เราพึงเป็นอย่างอื่นด้วยขันธบัญจกนี้ แม้ไฉน
เราพึงเป็นด้วยขันธบัญจกนี้ แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธบัญจกนี้ แม้ไฉน
เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธบัญจกนี้ เราจักเป็นอย่างนี้ด้วยขันธบัญจกนี้ เราจัก
เป็นอย่างอื่นด้วยขันธบัญจกนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุลุกโพลงอย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุไม่ลุกโพลงอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มี
ความถือว่า เรามีด้วยขันธบัญจกนี้ ก็ย่อมไม่มีความถือว่า เราเป็นอย่างนี้ด้วย
ขันธบัญจกนี้...เราจักเป็นอย่างอื่นด้วยขันธบัญจกนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
ย่อมไม่ลุกโพลงอย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุถูกไฟไหม้อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังละ
อัสมิมานะ ตัดรากขาด ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิด
อีกต่อไปเป็นธรรมดา ไม่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุถูกไฟไหม้อย่างนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุไม่ถูกไฟไหม้อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ละอัสมิมานะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่
ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ถูกไฟไหม้
อย่างนี้แล ฯ
จบมหาวรรคที่ ๕
จบจตุตถปัณณาสก์
-----------------------------------------------------


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๕๗๕๑-๕๘๔๔ หน้าที่ ๒๔๔-๒๔๘. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=5751&Z=5844&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=21&item=200&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=21&item=200&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=21&item=200&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=21&item=200&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=200              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_21

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :