ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๔
เรื่องคนรับใช้ของเจ้าศากยะ
[๗๙๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตพระนคร กบิลพัสดุ์สักกะชนบท. ครั้งนั้น พวกบ่าวของเจ้าศากยะทั้งหลายก่อการร้าย นางสากิยานี ทั้งหลายปรารถนาจะทำภัตตาหารถวายภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในเสนาสนะป่า พวกบ่าวๆ ของเจ้า- *ศากยะได้ทราบข่าวว่า นางสากิยานีทั้งหลาย ปรารถนาจะทำภัตตาหารถวายภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใน เสนาสนะป่า จึงไปซุ่มอยู่ที่หนทาง เหล่านางสากิยานีพากันนำของเคี้ยวของฉันอย่างประณีต ไปสู่เสนาสนะป่า พวกบ่าวๆ ได้ออกมาแย่งชิงพวกนางสากิยานีและประทุษร้าย พวกเจ้าศากยะ ออกไปจับผู้ร้ายพวกนั้นได้พร้อมด้วยของกลาง แล้วพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เมื่อ พวกผู้ร้ายอาศัยอยู่ในอารามมี ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงไม่แจ้งความเล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยิน พวกเจ้าศากยะพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติ- *สิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ ... เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๔๕. ๔. ก. อนึ่ง ภิกษุใด อยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่าเป็นที่มีรังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อันเขาไม่ได้บอกให้รู้ไว้ก่อน ด้วยมือ ของตน ในวัดที่อยู่ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรม ที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.
เรื่องคนรับใช้ของเจ้าศากยะ จบ.
เรื่องพระอาพาธ
[๗๙๕] โดยสมัยต่อจากนั้นแล มีภิกษุรูปหนึ่งอาพาธอยู่ในเสนาสนะป่า ชาวบ้านได้ พากันนำของเคี้ยวของฉันไปสู่เสนาสนะป่า ครั้นแล้วได้กล่าวอาราธนาภิกษุนั้นว่า นิมนต์ฉันเถิด ขอรับ. ภิกษุนั้นไม่รับ รังเกียจอยู่ว่า การรับของเคี้ยวหรือของฉันในเสนาสนะป่า ด้วยมือ ของตน แล้วเคี้ยวฉัน พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว ดังนี้ แล้วไม่สามารถไปเที่ยวบิณฑบาต ได้อดอาหารแล้ว เธอได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค.
พระพุทธานุญาตพิเศษ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อาพาธรับของ เคี้ยวหรือของฉัน ในเสนาสนะป่า ด้วยมือของตนแล้วเคี้ยวฉันได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระอนุบัญญัติ
๑๔๕. ๔. ข. อนึ่ง ภิกษุใด อยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่า เป็นที่มีรังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อันเขาไม่ได้บอกให้รู้ไว้ก่อน ด้วยมือ ของตน ในวัดที่อยู่ ไม่ใช่ผู้อาพาธ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืน ธรรมนั้น.
เรื่องพระอาพาธ จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๗๙๖] คำว่า เสนาสนะป่า ความว่า เสนาสนะที่ชื่อว่าป่า มีกำหนดเขต ๕๐๐ ชั่วธนูเป็นอย่างต่ำ. ที่ชื่อว่า เป็นที่มีรังเกียจ คือ ในอาราม ในอุปจารแห่งอาราม มีสถานที่พวกโจร ซ่องสุม บริโภค ยืน นั่ง นอน ปรากฏอยู่. ที่ชื่อว่า มีภัยเฉพาะหน้า คือ ในอาราม ในอุปจารแห่งอาราม มีร่องรอยที่ชาวบ้าน ถูกพวกโจรฆ่า ปล้น ทุบตี ปรากฏอยู่. บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. บทว่า ในเสนาสนะเห็นปานนั้น คือ ในเสนาสนะมีร่องรอยเช่นนั้นปรากฏ. ที่ชื่อว่า อันเขาไม่ได้บอกให้รู้ คือ เขาส่งสหธรรมิก ๕ ไปบอก นี้ชื่อว่า ไม่เป็น อันเขาได้บอกให้รู้. เขาบอกนอกอาราม นอกอุปจารแห่งอาราม นี่ก็ชื่อว่าไม่เป็นอันเขาได้บอกให้รู้. ที่ชื่อว่า บอกให้รู้ คือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม มาสู่อาราม หรือ อุปจารแห่งอารามแล้วบอกว่า ท่านเจ้าข้า สตรีหรือบุรุษชื่อโน้น จักนำของเคี้ยวหรือของฉันมา ถวายภิกษุมีชื่อนี้. ถ้าที่นั้นเป็นสถานมีรังเกียจ ภิกษุพึงบอกเขาว่า เป็นสถานมีรังเกียจ ถ้าที่นั้นเป็น สถานมีภัยเฉพาะหน้า พึงบอกเขาว่า เป็นสถานมีภัยเฉพาะหน้า ถ้าเขากล่าวว่า ไม่เป็นไร เจ้าข้า เขาจักนำมาเอง ภิกษุพึงบอกพวกโจรว่า ชาวบ้านจักเข้ามาในที่นี้ พวกท่านจงหลีกไปเสีย. เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะยาคู แล้วเขานำบริวารแห่งยาคูมาด้วย นี้ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้. เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะภัต แล้วเขานำบริวารแห่งภัตมาด้วย นี้ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้. เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะของเคี้ยว แล้วเขานำบริวารแห่งของเคี้ยวมาด้วย นี้ก็ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้. เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะตระกูล คนในตระกูลนั้นนำของเคี้ยวหรือของฉันมาถวาย นี้ก็ ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้. เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านนั้นนำของเคี้ยวหรือของฉันมาถวาย นี้ก็ ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้. เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะตำบลบ้าน คนในตำบลบ้านนั้นนำของเคี้ยวหรือของฉันมาถวาย นี้ก็ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้. ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ เว้นโภชนะห้า ของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว. ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะห้า คือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑. ที่ชื่อว่า วัดที่อยู่ สำหรับอารามที่มีเครื่องล้อม ได้แก่ภายในอาราม อารามที่ไม่มีเครื่อง ล้อม ได้แก่อุปจาร. ที่ชื่อว่า ไม่ใช่ผู้อาพาธ คือ ผู้สามารถไปเที่ยวบิณฑบาตได้. ที่ชื่อว่า ผู้อาพาธ คือ ผู้ไม่สามารถไปเที่ยวบิณฑบาตได้. ภิกษุไม่ใช่ผู้อาพาธ รับประเคนของที่เขาไม่ได้บอกให้รู้ ด้วยหมายว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ ทุกๆ คำกลืน.
บทภาชนีย์
ติกปาฏิเทสนียะ
[๗๙๗] เขาไม่ได้บอกให้รู้ ภิกษุสำคัญว่าเขาไม่ได้บอกให้รู้ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉัน ก็ดี ด้วยมือของตน ในวัดที่อยู่ ไม่ใช่ผู้อาพาธ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ. เขาไม่ได้บอกให้รู้ ภิกษุมีความสงสัย รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน ใน วัดที่อยู่ ไม่ใช่ผู้อาพาธ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ. เขาไม่ได้บอกให้รู้ ภิกษุสำคัญว่าเขาบอกให้รู้ แล้วรับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือ ของตน ในวัดที่อยู่ ไม่ใช่ผู้อาพาธ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ.
ทุกกฏ
ภิกษุรับประเคนของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อทำเป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ คำกลืน. เขาบอกให้รู้แล้ว ภิกษุสำคัญว่าเขาไม่ได้บอกให้รู้ ... ต้องอาบัติทุกกฏ. เขาบอกให้รู้แล้ว ภิกษุมีความสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
เขาบอกให้รู้แล้ว ภิกษุสำคัญว่าเขาบอกให้รู้แล้ว ... ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๗๙๘] เขาบอกให้รู้ ๑ ภิกษุอาพาธ ๑ ภิกษุฉันของเป็นเดนของภิกษุผู้ได้รับนิมนต์ไว้ หรือของภิกษุผู้อาพาธ ๑ ภิกษุรับนอกวัดแล้วมาฉันในวัด ๑ ภิกษุฉันรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ หรือผลไม้ ซึ่งเกิดขึ้นในวัดนั้น ๑ ภิกษุฉันของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ในเมื่อมีเหตุจำเป็น ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๔ จบ.


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๕๐๕๓-๑๕๑๕๘ หน้าที่ ๖๕๓-๖๕๗. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=15053&Z=15158&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=2&item=794&items=5              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=2&item=794&items=5&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=2&item=794&items=5              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=2&item=794&items=5              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=794              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_2

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :