ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๔. สามคามสูตร (๑๐๔)
[๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่หมู่บ้านสามคาม ในสักกชนบท ก็สมัยนั้นแล นิครนถ์ นาฏบุตรตายลงใหม่ๆ ที่เมืองปาวา เพราะการตายของ นิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์แตกกันเป็น ๒ พวก เกิดขัดใจทะเลาะวิวาท กัน เสียดสีกันและกันด้วยฝีปากอยู่ว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึง ธรรมวินัยนี้ ไฉนท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูก ของ เรามีประโยชน์ ของท่านไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อน ท่านพูดทีหลัง คำที่ ควรพูดทีหลัง ท่านพูดก่อน ข้อปฏิบัติที่เคยชินอย่างดียิ่งของท่านกลายเป็นผิด แม้วาทะของท่านที่ยกขึ้นมา เราก็ข่มได้ ท่านจงเที่ยวแก้คำพูดหรือจงถอนคำเสีย ถ้าสามารถ นิครนถ์เหล่านั้นทะเลาะกันแล้ว ความตายประการเดียวเท่านั้นเป็น สำคัญ เป็นไปในพวกนิครนถ์ศิษย์นาฏบุตร แม้สาวกของนิครนถ์ นาฏบุตรฝ่าย คฤหัสถ์ ผู้นุ่งขาวห่มขาว ก็เป็นผู้เบื่อหน่าย คลายยินดี มีใจถอยกลับในพวก นิครนถ์ศิษย์นาฏบุตร ดุจว่าเบื่อหน่าย คลายยินดี มีใจถอยกลับในธรรมวินัย ที่นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวผิด ให้รู้ผิด ไม่ใช่นำออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความ สงบ มิใช่ธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธให้รู้ทั่ว เป็นสถูปที่พัง ไม่เป็นที่พึ่ง อาศัยได้ ฯ [๕๒] ครั้งนั้นแล สมณุทเทสจุนทะ จำพรรษาที่เมืองปาวาแล้วเข้าไป ยังบ้านสามคามหาท่านพระอานนท์ กราบท่านพระอานนท์แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ นิครนถ์ นาฏบุตรตายลงใหม่ๆ ที่เมืองปาวา เพราะการตายของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกันเป็น ๒ พวก เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกัน เสียดสีกันด้วยฝีปากอยู่ว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ไฉนท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูก ของเรามีประโยชน์ ของท่านไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อน ท่านพูดทีหลัง คำที่ควรพูดทีหลัง ท่านพูดก่อน ข้อปฏิบัติที่เคยชินอย่างดียิ่งของท่านกลายเป็นผิด แม้วาทะของท่าน ที่ยกขึ้นมา เราก็ข่มได้ ท่านจงเที่ยวแก้คำพูดหรือจงถอนคำเสีย ถ้าสามารถ นิครนถ์เหล่านั้นทะเลาะกันแล้ว ความตายประการเดียวเท่านั้นเป็นสำคัญ เป็น ไปในพวกนิครนถ์ศิษย์นาฏบุตร แม้สาวกของนิครนถ์ นาฏบุตรฝ่ายคฤหัสถ์ ผู้ นุ่งขาวห่มขาว ก็เป็นผู้เบื่อหน่าย คลายยินดี มีใจถอยกลับในพวกนิครนถ์ศิษย์ นาฏบุตร ดุจว่าเบื่อหน่าย คลายยินดี มีใจถอยกลับในธรรมวินัย ที่นิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวผิด ให้รู้ผิด ไม่ใช่นำออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ มิใช่ ธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธให้รู้ทั่ว เป็นสถูปที่พัง ไม่เป็นที่พึ่งอาศัยได้ เมื่อ สมณุทเทสจุนทะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงกล่าวดังนี้ว่า ดูกรจุนทะผู้มี อายุ เรื่องนี้ มีเค้าพอจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ มาเถิด เราทั้ง ๒ จักเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค สมณุทเทสจุนทะรับคำ ท่านพระอานนท์แล้ว ฯ [๕๓] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์และสมณุทเทสจุนทะ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระอานนท์พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมณุทเทสจุนทะนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ นิครนถ์ นาฏบุตรตายลงใหม่ๆ ที่เมืองปาวา เพราะการตายของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกันเป็น ๒ พวก เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกัน เสียดสีกันด้วยฝีปากอยู่ว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ฯลฯ แม้สาวกของนิครนถ์ นาฏบุตรฝ่ายคฤหัสถ์ ผู้นุ่งขาวห่มขาว ก็เป็นผู้เบื่อหน่าย คลายยินดี มีใจถอยกลับในพวกนิครนถ์ศิษย์นาฏบุตร ดุจว่าเบื่อหน่าย คลาย ยินดี มีใจถอยกลับในธรรมวินัย ที่นิครนถ์ นาฏบุตร กล่าวผิด ให้รู้ผิด ไม่ใช่ นำออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ มิใช่ธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธให้ รู้ทั่ว เป็นสถูปที่พัง ไม่เป็นที่พึ่งอาศัยได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มี ความดำริอย่างนี้ว่า สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคล่วงลับไป ความวิวาทอย่าได้เกิดขึ้น ในสงฆ์เลย ความวิวาทนั้นมีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ ฯ [๕๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน ธรรมเหล่าใด อันเราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ สติ- *ปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรค มีองค์ ๘ ดูกรอานนท์ เธอจะยังเห็นภิกษุของเรา แม้สองรูป มีวาทะต่างกันได้ ในธรรมเหล่านี้หรือ ฯ ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่าใด อัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ข้าพระองค์ยังไม่เห็นภิกษุแม้สองรูป มีวาทะต่างกันในธรรมเหล่านี้ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ มีได้แล ที่บุคคลทั้งหลายผู้อาศัยพระผู้มีพระภาคอยู่นั้น พอสมัยพระผู้มี- *พระภาคล่วงลับไป จะพึงก่อวิวาทให้เกิดในสงฆ์ได้ เพราะเหตุอาชีวะอันยิ่งหรือ ปาติโมกข์อันยิ่ง ความวิวาทนั้นมีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ ฯ พ. ดูกรอานนท์ ความวิวาทที่เกิดเพราะเหตุอาชีวะอันยิ่งหรือปาติโมกข์ อันยิ่ง นั้นเล็กน้อย ส่วนความวิวาทอันเกิดในสงฆ์ ที่เกิดเพราะเหตุมรรคหรือ ปฏิปทา ความวิวาทนั้นมีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ ฯ [๕๕] ดูกรอานนท์ มูลเหตุแห่งความวิวาทนี้มี ๖ อย่าง ๖ อย่างเป็นไฉน ดูกรอานนท์ (๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ ภิกษุที่เป็น ผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธนั้น ย่อมไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง แม้ใน พระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใน สิกขา ภิกษุที่ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง แม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขานั้น ย่อมก่อความวิวาทให้ เกิดในสงฆ์ ซึ่งเป็นความวิวาท มีเพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ ดูกรอานนท์ ถ้าหากพวกเธอพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเช่นนี้ในภายใน หรือในภายนอก พวกเธอพึงพยายามละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนั้นเสียใน ที่นั้น ถ้าพวกเธอพิจารณาไม่เห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเช่นนี้ในภายในหรือในภาย นอก พวกเธอพึงปฏิบัติไม่ให้มูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนั้นแล ลุกลามต่อ ไปในที่นั้น การละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการ เช่นนี้ ความไม่ลุกลามต่อไปของมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนี้ ย่อมมีได้ด้วย อาการเช่นนี้ ฯ [๕๖] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก (๒) ภิกษุเป็นผู้มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ... (๓) ภิกษุเป็นผู้มีความริษยา มีความตระหนี่... (๔) ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้มีมายา... (๕) ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด... (๖) ภิกษุเป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้น สละคืนได้ยาก ภิกษุที่เป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือ รั้น สละคืนได้ยากนั้น ย่อมไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง แม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ภิกษุที่ ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง แม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ใน พระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขานั้น ย่อมก่อความวิวาทให้เกิดใน สงฆ์ ซึ่งเป็นความวิวาท มีเพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ ดูกร อานนท์ ถ้าพวกเธอพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเช่นนี้ในภายในหรือในภาย นอก พวกเธอพึงพยายามละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนั้นเสียในที่นั้น ถ้า พวกเธอพิจารณาไม่เห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเช่นนี้ในภายในหรือในภายนอก พวก เธอพึงปฏิบัติไม่ให้มูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนั้นแล ลุกลามต่อไปในที่นั้น การละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการเช่นนี้ ความไม่ลุกลาม ต่อไปของมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการเช่นนี้ ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล มูลเหตุแห่งความวิวาท ๖ อย่าง ฯ [๕๗] ดูกรอานนท์ อธิกรณ์นี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นไฉน คือ วิวาทา ธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์ กิจจาธิกรณ์ ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล อธิกรณ์ ๔ อย่าง ฯ ดูกรอานนท์ ก็อธิกรณ์สมถะนี้มี ๗ อย่างแล คือ เพื่อระงับอธิกรณ์อัน เกิดแล้วๆ สงฆ์พึงใช้สัมมุขาวินัย สติวินัย อมุฬหวินัย ปฏิญญาตกรณะ เยภุยยสิกา ตัสสปาปิยสิกา ติณวัตถารกะ ฯ [๕๘] ดูกรอานนท์ ก็สัมมุขาวินัยเป็นอย่างไร คือ พวกภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมวิวาทกัน ว่าเป็นธรรมหรือมิใช่ธรรม ว่าเป็นวินัยหรือมิใช่วินัย ดูกร อานนท์ ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดแล พึงพร้อมเพรียงกันประชุมพิจารณาแบบแผน ธรรม ครั้นพิจารณาแล้ว พึงให้อธิกรณ์นั้นระงับโดยอาการที่เรื่องลงกันได้ในแบบ แผนธรรมนั้น ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เป็นสัมมุขาวินัย ก็แหละความระงับ อธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยสัมมุขาวินัยอย่างนี้ ฯ [๕๙] ดูกรอานนท์ ก็เยภุยยสิกาเป็นอย่างไร คือ ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจ ระงับอธิกรณ์นั้นในอาวาสนั้นได้ พึงพากันไปยังอาวาสที่มีภิกษุมากกว่า ภิกษุ ทั้งหมดพึงพร้อมเพรียงกันประชุมในอาวาสนั้น ครั้นแล้วพึงพิจารณาแบบแผนธรรม ครั้นพิจารณาแล้ว พึงให้อธิกรณ์นั้นระงับโดยอาการที่เรื่องลงกันได้ในแบบแผน ธรรมนั้น ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เป็นเยภุยยสิกา ก็แหละ ความระงับอธิกรณ์ บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยเยภุยยสิกาอย่างนี้ ฯ [๖๐] ดูกรอานนท์ ก็สติวินัยเป็นอย่างไร คือ พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ โจทภิกษุด้วยอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิกว่า ท่าน ผู้มีอายุระลึกได้หรือไม่ว่า ท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือปาราชิกหรือใกล้เคียง ปาราชิกแล้ว ภิกษุนั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้เลย ว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิก เมื่อเป็น เช่นนี้ สงฆ์ต้องให้สติวินัยแก่ภิกษุนั้นแล ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เป็นสติวินัย ก็แหละความระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยสติวินัยอย่างนี้ ฯ [๖๑] ดูกรอานนท์ ก็อมูฬหวินัยเป็นอย่างไร คือ พวกภิกษุในธรรม วินัยนี้ โจทภิกษุด้วยอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกว่า ท่านผู้มีอายุ จงระลึกดูเถิดว่าท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือ ใกล้เคียงปาราชิกแล้ว ภิกษุนั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้า ระลึกไม่ได้เลยว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียง ปาราชิก ภิกษุผู้โจทนั้นปลอบโยนเธอผู้กำลังทำลายอยู่นี้ว่า เอาเถอะ ท่านผู้มีอายุ จงรู้ตัวให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้ เคียงปาราชิกแล้ว ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าถึงความ เป็นบ้า ใจฟุ้งซ่านแล้ว กรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ข้าพเจ้าผู้เป็น บ้าได้ประพฤติล่วง และได้พูดละเมิดไป ข้าพเจ้าระลึกมันไม่ได้ว่า ข้าพเจ้าผู้หลง ทำกรรมนี้ไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ สงฆ์ต้องให้อมุฬหวินัยแก่ภิกษุนั้นแล ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล เป็นอมูฬหวินัย ก็แหละ ความระงับอธิกรณ์บางอย่างใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยอมูฬหวินัยอย่างนี้ ฯ [๖๒] ดูกรอานนท์ ก็ปฏิญญาตกรณะเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ถูกโจทหรือไม่ถูกโจทก็ตาม ย่อมระลึกและเปิดเผยอาบัติได้ เธอพึงเข้า ไปหาภิกษุผู้แก่กว่า ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วไหว้เท้านั่งกระหย่งประคอง อัญชลี กล่าวแก่ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว ขอแสดงคืนอาบัตินั้น ภิกษุผู้แก่กว่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเห็นหรือ เธอตอบว่า ข้าพเจ้าเห็น ภิกษุผู้แก่กว่านั้นกล่าวว่า ท่านพึงถึงความสำรวมต่อไปเถิด เธอกล่าว ว่า ข้าพเจ้าจักถึงความสำรวม ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เป็นปฏิญญาตกรณะ ก็แหละ ความระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยปฏิญญาตกรณะ อย่างนี้ ฯ [๖๓] ดูกรอานนท์ ก็ตัสสปาปิยสิกาเป็นอย่างไร คือ พวกภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ โจทภิกษุด้วยอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิก ว่า ท่านผู้มีอายุระลึกได้หรือไม่ว่า ท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว ภิกษุนั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้า ระลึกไม่ได้เลยว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียง ปาราชิก ภิกษุผู้โจทนั้นปลอบโยนเธอผู้กำลังทำลายอยู่นี้ว่า เอาเถอะ ท่านผู้มีอายุ จงรู้ตัวให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียง ปาราชิกแล้ว ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้เลย ว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิก แต่ ข้าพเจ้าระลึกได้ว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้เพียงเล็กน้อย ภิกษุผู้โจทก์นั้นปลอบโยน เธอผู้กำลังทำลายอยู่นี้ว่า เอาเถอะ ท่านผู้มีอายุจงรู้ตัวให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่า ต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว ภิกษุนั้นกล่าว อย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อันที่จริง ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้เพียงเล็กน้อย ไม่ถูกใครถามยังรับ ไฉนข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้ เคียงปาราชิกแล้ว ถูกถาม จักไม่รับเล่า ภิกษุผู้โจทก์นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ก็ท่านต้องอาบัติชื่อนี้เพียงเล็กน้อย ไม่ถูกถามยังไม่รับ ไฉนท่านต้องอาบัติหนัก เห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว ไม่ถูกถามจักรับเล่า เอาเถอะ ท่านผู้มีอายุ จงรู้ตัวให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้ากำลังระลึกได้แล ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้ เคียงปาราชิกแล้ว คำที่ว่า ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้ว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกนี้ ข้าพเจ้าพูดพลั้งพูดพลาดไป ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เป็นตัสสปาปิยสิกา ก็แหละ ความระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัย นี้ ย่อมมีได้ด้วยตัสสปาปิยสิกาอย่างนี้ ฯ [๖๔] ดูกรอานนท์ ก็ติณวัตถารกะเป็นอย่างไร คือ พวกภิกษุในธรรม วินัยนี้ เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วงและได้พูดละเมิดกรรมอัน ไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด พึงพร้อมเพรียงกันประชุม ครั้นแล้ว ภิกษุผู้ฉลาดในบรรดาภิกษุที่เป็นฝ่ายเดียวกัน พึงลุกจากอาสนะ ห่มจีวร เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ประกาศให้สงฆ์ทราบว่า ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เราทั้งหลายในที่นี้ เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติ ล่วง และได้พูดละเมิดกรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ถ้าสงฆ์มีความ พรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงแสดงอาบัติของท่านผู้มีอายุเหล่านี้และของตน ยกเว้น อาบัติที่มีโทษหยาบและอาบัติที่พัวพันกับคฤหัสถ์ ด้วยวินัยเพียงดังว่ากลบไว้ด้วย หญ้า ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้มีอายุเหล่านี้และแก่ตน ต่อนั้น ภิกษุผู้ฉลาดในบรรดาภิกษุที่เป็นฝ่ายเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่ง พึงลุกจากอาสนะ ห่มจีวร เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ประกาศให้สงฆ์ทราบว่า ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เราทั้งหลายในที่นี้ เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติ ล่วง และได้พูดละเมิดกรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ถ้าสงฆ์มีความ พรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงแสดงอาบัติของท่านผู้มีอายุเหล่านี้และของตน ยก เว้นอาบัติที่มีโทษหยาบและอาบัติที่พัวพันกับคฤหัสถ์ ด้วยวินัยเพียงดังว่ากลบไว้ ด้วยหญ้า ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้มีอายุเหล่านี้และแก่ตน ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล เป็นติณวัตถารกะ ก็แหละ ความระงับอธิกรณ์บางอย่างใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยติณวัตถารกะอย่างนี้ ฯ [๖๕] ดูกรอานนท์ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อ ความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความ พร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้มี ๖ อย่าง ๖ อย่างเป็นไฉน (๑) ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ นี้คือธรรมเป็น ที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อ สงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียว กัน ประการหนึ่ง ฯ (๒) ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุมีวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ นี้ก็ธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อ สงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอัน เดียวกัน ฯ (๓) ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุมีมโนกรรมประกอบด้วย เมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ นี้ก็ธรรมเป็น ที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อ สงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอัน เดียวกัน ฯ (๔) ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุมีลาภใดๆ เกิดโดยธรรม ได้แล้วโดยธรรม ที่สุดแม้เพียงอาหารติดบาตร เป็นผู้ไม่แบ่งกันเอาลาภเห็นปาน นั้นไว้บริโภคแต่เฉพาะผู้เดียว ย่อมเป็นผู้บริโภคเฉลี่ยทั่วไปกับเพื่อนร่วมประพฤติ พรหมจรรย์ผู้มีศีล นี้ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียง กัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ (๕) ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุถึงความเป็นผู้เสมอกันโดย ศีล ในศีลทั้งหลาย ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญู ชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิไม่แตะต้อง เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ เห็นปานนั้น กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ นี้ก็ธรรมเป็นที่ตั้ง แห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์ กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ (๖) ดูกรอานนท์ ประการอื่นๆ ยังมีอีก ภิกษุถึงความเป็นผู้เสมอกัน โดยทิฐิ ในทิฐิที่เป็นของพระอริยะ อันนำออก ชักนำผู้กระทำตามเพื่อความสิ้น ทุกข์โดยชอบ เห็นปานนั้น กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ทั้งในที่แจ้ง ทั้ง ในที่ลับ นี้ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์ เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน ฯ ดูกรอานนท์ นี้แล ธรรม ๖ อย่าง เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็น เหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ [๖๖] ดูกรอานนท์ ถ้าพวกเธอพึงสมาทานสาราณียธรรมทั้ง ๖ อย่างนี้ ประพฤติอยู่ พวกเธอจะยังเห็นทางว่ากล่าวพวกเราได้ น้อยก็ตาม มากก็ตาม ซึ่งจะอดกลั้นไว้ไม่ได้ละหรือ ฯ ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้อนี้หามิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงสมาทานสาราณียธรรมทั้ง ๖ อย่างนี้ ประพฤติเถิด ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่พวกเธอ ตลอดกาลนาน ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ สามคามสูตร ที่ ๔
-----------------------------------------------------


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๙๔๐-๑๑๘๔ หน้าที่ ๔๐-๔๙. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=940&Z=1184&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=14&item=51&items=16              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=14&item=51&items=16&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=14&item=51&items=16              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=14&item=51&items=16              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=51              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_14

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :