ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
สันทิฏฐิกสามัญญผลปุจฉา
[๑๐๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอทูลถามพระผู้มีพระภาคบ้างว่า ศิลปศาสตร์ เป็นอันมากเหล่านี้ คือพลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง พนักงานจัดขบวนทัพ พนักงานจัดส่งเสบียง พวกอุคคราชบุตร พลอาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะหนัง พวกบุตรทาส ช่างทำขนม ช่างกัลบก พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ นักคำนวณ นักนับคะแนน หรือศิลปศาสตร์เป็นอันมาก แม้อย่างอื่นใดที่มีคติเหมือนอย่างนี้ คนเหล่านั้น ย่อมอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์ที่เห็นประจักษ์ เลี้ยงชีพในปัจจุบัน ด้วยผลแห่งศิลปศาสตร์นั้น เขาย่อมบำรุงตน มารดาบิดา บุตรภริยา มิตร อำมาตย์ ให้เป็นสุขอิ่มหนำสำราญ บำเพ็ญทักษิณาทานอันมีผลอย่างสูง เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ อาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน เหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่ พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อาจอยู่ มหาบพิตร แต่ในข้อนี้ อาตมภาพจะขอย้อนถาม มหาบพิตรก่อน โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน สมมติว่า มหาบพิตรพึงมีบุรุษผู้เป็นทาสกรรมกรมีปกติตื่นก่อน นอนทีหลังคอยฟังพระบัญชาว่า จะโปรดให้ทำอะไร ประพฤติถูกพระทัย กราบทูลไพเราะ คอยเฝ้าสังเกตพระพักตร์ เขาจะมี ความคิดเห็นอย่างนี้ว่า คติของบุญ วิบากของบุญ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ความจริง พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตรพระองค์นี้เป็นมนุษย์ แม้เราก็เป็นมนุษย์ แต่พระองค์ท่านทรงเอิบอิ่มพรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณดุจเทพเจ้า ส่วนเราสิเป็นทาส รับใช้ของพระองค์ท่าน ต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง ต้องคอยฟังพระบัญชาว่าโปรดให้ทำอะไร ต้องประพฤติให้ถูกพระทัย ต้องกราบทูลไพเราะ ต้องคอยเฝ้าสังเกตพระพักตร์ เราพึงทำบุญ จะได้เป็นเหมือนพระองค์ท่าน ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวช เป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจอยู่ สันโดษด้วยความมีเพียงอาหารและ ผ้าปิดกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด ถ้าพวกราชบุรุษพึงกราบทูลถึงพฤติการณ์ของเขา อย่างนี้ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์พึงทรงทราบเถิด บุรุษผู้เป็นทาสกรรมของพระองค์ผู้ตื่นก่อน นอนทีหลัง คอยฟังพระบัญชาว่าจะโปรดให้ทำอะไร ประพฤติถูกพระทัย กราบทูลไพเราะ คอยเฝ้าสังเกตพระพักตร์อยู่นั้น เขาปลงผมและหนวดนุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจอยู่ สันโดษด้วยความมีเพียงอาหาร และผ้าปิดกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด มหาบพิตรจะพึงตรัสอย่างนี้เทียวหรือว่า เฮ้ย คนนั้น จงมาสำหรับข้า จงมาเป็นทาสและกรรมกรของข้า จงตื่นก่อนนอนทีหลัง จงคอยฟังบัญชา ว่าจะให้ทำอะไร ประพฤติให้ถูกใจ พูดไพเราะ คอยเฝ้าสังเกตดูหน้าอีกตามเดิม. พระเจ้าอชาตศัตรูทูลว่า จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย พระเจ้าข้า อันที่จริงหม่อมฉันเสียอีก ควรจะไหว้เขา ควรจะลุกรับเขา ควรจะเชื้อเชิญเขาให้นั่ง ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม. มหาบพิตร จะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้น สามัญผลที่เห็น ประจักษ์จะมีหรือไม่? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น สามัญผลที่เห็นประจักษ์มีอยู่อย่างแน่แท้. ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน ซึ่งอาตมภาพบัญญัติถวาย มหาบพิตรเป็นข้อแรก.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ บรรทัดที่ ๑๓๔๗-๑๓๘๕ หน้าที่ ๕๖-๕๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=9&A=1347&Z=1385&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=9&item=100&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=9&item=100&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=9&item=100&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=9&item=100&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=100              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_9 https://84000.org/tipitaka/english/?index_9

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]