ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘ ปริวาร
โจทนากัณฑ์
ข้อซักถามของภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์
[๑๐๗๗] ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ พึงถามโจทก์ว่า ผู้มีอายุ ข้อที่ท่านโจทภิกษุรูปนี้นั้น โจทเพราะเรื่องอะไร ท่านโจทด้วยศีลวิบัติ อาจารวิบัติ หรือโจทด้วยทิฏฐิวิบัติ? ถ้าโจทก์นั้น ตอบอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าโจทด้วยศีลวิบัติ โจทด้วยอาจารวิบัติ หรือว่าข้าพเจ้าโจทด้วยทิฏฐิวิบัติ. ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ พึงซักถามโจทก์ อย่างนี้ว่า ท่านรู้ศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ หรือ? ถ้าโจทก์ตอบอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ข้าพเจ้ารู้ศีลวิบัติ รู้อาจารวิบัติ รู้ทิฏฐิวิบัติ. ภิกษุผู้วินิจฉัย อธิกรณ์พึงซักถามโจทก์อย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ก็ศีลวิบัติเป็นไฉน อาจารวิบัติเป็นไฉน ทิฏฐิวิบัติ เป็นไฉน? ถ้าโจทก์ตอบอย่างนี้ว่า ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ นี้จัดเป็นศีลวิบัติ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต นี้เป็นอาจารวิบัติ มิจฉาทิฏฐิ อันตคาหิกทิฏฐิ นี้เป็นทิฏฐิวิบัติ. ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ พึงซักถามโจทก์อย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ข้อที่ท่านโจทภิกษุรูปนี้ นั้น โจทด้วยเรื่องที่เห็น ด้วยเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง หรือด้วยเรื่องที่รังเกียจ? ถ้าโจทก์ตอบอย่างนี้ ว่า ข้าพเจ้าโจทด้วยเรื่องที่เห็น โจทด้วยเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง หรือว่าข้าพเจ้าโจทด้วยเรื่องที่รังเกียจ. ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ พึงซักถามโจทก์ต่อไปว่า ผู้มีอายุ ข้อที่ท่านโจทภิกษุรูปนี้ ด้วยเรื่องที่เห็นนั้น ท่านเห็นอะไร? เห็นอย่างไร? เห็นเมื่อไร? เห็นที่ไหน? ท่านเห็นภิกษุ รูปนี้ต้องอาบัติปาราชิก หรือท่านเห็นภิกษุรูปนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ หรือ? ท่านอยู่ที่ไหน? และภิกษุรูปนี้อยู่ที่ไหน? ท่านทำอะไรอยู่? ภิกษุรูปนี้ทำอะไรอยู่? ถ้าโจทก์ตอบอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ข้าพเจ้ามิได้โจทภิกษุรูปนี้ด้วยเรื่องที่เห็น แต่ว่า ข้าพเจ้าโจทด้วยเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง. ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ พึงซักถามอย่างนี้ว่า ข้อที่ท่านโจท ภิกษุรูปนี้ ด้วยเรื่องได้ยินได้ฟังนั้น ท่านได้ยินได้ฟังอะไร? ได้ยินได้ฟังว่าอย่างไร? ได้ยินได้ ฟังเมื่อไร? ท่านได้ยินได้ฟังที่ไหน? ท่านได้ยินได้ฟังว่าภิกษุนี้ ต้องอาบัติปาราชิก หรือ ท่าน ได้ยินได้ฟังว่าภิกษุนี้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต หรือ? ท่านได้ยินได้ฟังต่อภิกษุ หรือ ได้ยินได้ฟังต่อภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา ราชมหาอำมาตย์ เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ หรือ? ถ้าโจทก์ตอบอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ข้าพเจ้ามิได้โจทภิกษุรูปนี้ด้วยเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง แต่ ข้าพเจ้าโจทด้วยเรื่องที่รังเกียจ. ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ พึงซักถามโจทก์อย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ข้อที่ท่านโจทภิกษุรูปนี้ ด้วยเรื่องที่รังเกียจนั้น ท่านรังเกียจอะไร? รังเกียจว่าอย่างไร? รังเกียจเมื่อไร? รังเกียจที่ไหน? ท่านรังเกียจว่าภิกษุรูปนี้ต้องอาบัติปาราชิก หรือท่านรังเกียจว่าภิกษุรูปนี้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต หรือ? ท่านได้ยินได้ฟังต่อภิกษุจึงรังเกียจ หรือ ท่านได้ยินได้ฟังต่อภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา ราชมหาอำมาตย์ เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์แล้วรังเกียจ หรือ?
เปรียบเทียบอธิกรณ์
[๑๐๗๘] เรื่องที่เห็นสมด้วยเรื่องที่เห็น เรื่องที่เห็นเทียบกันได้กับเรื่องที่เห็น แต่บุคคลนั้นไม่ยอมรับ เพราะอาศัยการเห็นบุคคลนั้น ถูกรังเกียจโดย ไม่มีมูล พึงปรับอาบัติตามปฏิญญา พึงทำอุโบสถกับบุคคลนั้น. เรื่องที่ได้ ยินได้ฟังสมด้วยเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง เรื่องที่ได้ยินได้ฟังเทียบกันได้กับเรื่อง ที่ได้ยินได้ฟัง แต่บุคคลนั้นไม่ยอมรับเพราะอาศัยการได้ยินได้ฟัง บุคคล นั้นถูกรังเกียจโดยไม่มีมูล พึงปรับอาบัติตามปฏิญญา พึงทำอุโบสถกับ บุคคลนั้น. เรื่องที่ได้ทราบสมด้วยเรื่องที่ได้ทราบ เรื่องที่ได้ทราบเทียบกัน ได้กับเรื่องที่ได้ทราบ แต่บุคคลนั้นไม่ยอมรับเพราะอาศัยการได้ทราบ บุคคลนั้นถูกรังเกียจโดยไม่มีมูล พึงปรับอาบัติตามปฏิญญา พึงทำอุโบสถ กับบุคคลนั้น เถิด.
ว่าด้วยเบื้องต้นของการโจทเป็นต้น
[๑๐๗๙] ถามว่า การโจท มีอะไรเป็นเบื้องต้น มีอะไรเป็นท่ามกลาง มีอะไรเป็น ที่สุด? ตอบว่า การโจท มีขอโอกาสเป็นเบื้องต้น มีการทำเป็นท่ามกลาง มีการระงับเป็น ที่สุด. ถ. การโจท มีมูลเท่าไร? มีวัตถุเท่าไร? มีภูมิเท่าไร? โจทด้วยอาการเท่าไร? ต. การโจท มีมูล ๒ มีวัตถุ ๓ มีภูมิ ๕ โจทด้วยอาการ ๒ อย่าง. ถ. การโจทมีมูล ๒ เป็นไฉน? ต. การโจท มีมูล ๑ การโจทไม่มีมูล ๑ นี้การโจทมีมูล ๒. ถ. การโจท มีวัตถุ ๓ เป็นไฉน? ต. เรื่องที่เห็น ๑ เรื่องที่ได้ยินได้ฟัง ๑ เรื่องที่รังเกียจ ๑ นี้การโจทมีวัตถุ ๓. ถ. การโจท มีภูมิ ๕ เป็นไฉน? ต. จักพูดโดยกาลอันควร จักไม่พูดโดยกาลไม่ควร ๑ จักพูดด้วยคำจริง จักไม่พูด ด้วยคำไม่จริง ๑ จักพูดด้วยคำสุภาพ จักไม่พูดด้วยคำหยาบ ๑ จักพูดด้วยคำประกอบด้วย ประโยชน์ จักไม่พูดด้วยคำไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ จักมีเมตตาจิตพูด จักไม่มุ่งร้ายพูด ๑ นี้การโจทมีภูมิ ๕. ถ. โจทด้วยอาการ ๒ อย่าง เป็นไฉน ต. โจทด้วยกายหรือโจทด้วยวาจา นี้โจทด้วยอาการ ๒ อย่าง.
ข้อปฏิบัติของโจทก์และจำเลยเป็นต้น
[๑๐๘๐] โจทก์ควรปฏิบัติอย่างไร? จำเลยควรปฏิบัติอย่างไร? สงฆ์ควรปฏิบัติ อย่างไร? ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ควรปฏิบัติอย่างไร? ถามว่า โจทก์ ควรปฏิบัติอย่างไร? ตอบว่า โจทก์พึงตั้งอยู่ในธรรม ๕ อย่างแล้วจึงโจทผู้อื่น คือ จักพูดโดยกาลอันควร จักไม่พูดโดยกาลไม่ควร ๑ จักพูดด้วยคำจริง จักไม่พูดด้วยคำไม่จริง ๑ จักพูดด้วยคำสุภาพ จักไม่พูดด้วยคำหยาบ ๑ จักพูดด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่พูดด้วยคำไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ ๑ จักมีเมตตาจิตพูด จักไม่มุ่งร้ายพูด ๑ โจทก์ควรปฏิบัติอย่างนี้. ถ. จำเลย ควรปฏิบัติอย่างไร? ต. จำเลย พึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ คือ ในความสัตย์ ๑ ในความไม่ขุ่นเคือง ๑ จำเลยควรปฏิบัติอย่างนี้. ถ. สงฆ์ ควรปฏิบัติอย่างไร ต. สงฆ์พึงรู้คำที่เข้าประเด็นและไม่เข้าประเด็น สงฆ์ควรปฏิบัติอย่างนี้. ถ. ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ ควรปฏิบัติอย่างไร? ต. ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ พึงระงับอธิกรณ์นั้น โดยประการที่อธิกรณ์นั้น จะระงับ โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์. ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ ควรปฏิบัติอย่างนี้.
ว่าด้วยอุโบสถเป็นต้น
[๑๐๘๑] ถามว่า อุโบสถเพื่อประโยชน์อะไร? ปวารณาเพื่อเหตุอะไร? ปริวาส เพื่อประโยชน์อะไร? การชักเข้าหาอาบัติเดิมเพื่อเหตุอะไร? มานัตเพื่อ ประโยชน์อะไร? อัพภานเพื่อเหตุอะไร? ตอบว่า อุโบสถเพื่อประโยชน์แก่ความพร้อมเพรียง. ปวารณา เพื่อประโยชน์แก่ความหมดจด. ปริวาสเพื่อประโยชน์แก่มานัต. การชัก เข้าหาอาบัติเดิมเพื่อประโยชน์แก่นิคคหะ. มานัตเพื่อประโยชน์แก่อัพภาน. อัพภานเพื่อประโยชน์แก่ความหมดจด. ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์มีปัญญาทราม โง่เขลา และไม่มีความเคารพในสิกขา บริภาษพระเถระทั้งหลาย เพราะ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ โมหาคติ เป็นผู้ขุดตน กำจัดอินทรีย์แล้ว เพราะกายแตกย่อมเข้าถึงนรก. ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ไม่พึงเห็นแก่อามิส และไม่พึงเห็นแก่บุคคล ควรเว้นสองอย่างนั้นแล้ว ทำตามที่เป็นธรรม. โจทก์เป็นผู้มักโกรธ มักถือโกรธ ดุร้าย แสร้งกล่าวบริภาษ ย่อมปลูก อนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์กระซิบใกล้หูคอยจับผิด ยังการวินิจฉัยให้บกพร่อง เสพ ทางผิด ย่อมปลูกอนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์ฟ้องโดยกาลอันไม่ควร ฟ้องด้วยคำไม่จริง ฟ้องด้วยคำ หยาบ ฟ้องด้วยคำไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มุ่งร้ายฟ้อง ไม่มีเมตตาจิต ฟ้อง ปลูกอนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์ไม่รู้ธรรมและอธรรม ไม่ฉลาดในธรรมและอธรรม ปลูก อนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์ไม่รู้วินัยและอวินัย ไม่ฉลาดในวินัยและอวินัย ปลูกอนาบัติ ว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์ไม่รู้สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงภาษิตแล้วและมิได้ทรงภาษิต ไม่ ฉลาดในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงภาษิตแล้วและไม่ได้ภาษิต ปลูกอนาบัติว่า อาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์ไม่รู้สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงประพฤติและไม่ได้ทรงประพฤติ ไม่ฉลาดในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงประพฤติและไม่ได้ทรงประพฤติ ปลูก อนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์ไม่รู้สิ่งที่ทรง บัญญัติและไม่ได้ทรงบัญญัติ ไม่ฉลาดในสิ่งที่ทรงบัญญัติและไม่ได้ทรง บัญญัติ ปลูกอนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์ไม่รู้อาบัติและอนาบัติ ไม่ฉลาดในอาบัติและอนาบัติ ปลูก อนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์ไม่รู้อาบัติเบา และอาบัติหนัก ไม่ฉลาดในอาบัติเบาและอาบัติหนัก ปลูกอนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์ไม่รู้อาบัติมีส่วนเหลือและอาบัติไม่มีส่วนเหลือ ไม่ฉลาด ในอาบัติมีส่วนเหลือและอาบัติไม่มีส่วนเหลือ ปลูกอนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์ไม่รู้อาบัติชั่วหยาบและอาบัติไม่ชั่วหยาบ ไม่ฉลาดในอาบัติ ชั่วหยาบและอาบัติไม่ชั่วหยาบ ปลูกอนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้น ชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์ไม่รู้คำต้นและคำหลัง ไม่ฉลาดต่อคำต้นและคำหลัง ปลูก อนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน. โจทก์ไม่รู้ทางถ้อยคำอันต่อเนื่องกัน ไม่ฉลาดต่อทางถ้อยคำอัน ต่อเนื่องกัน ปลูกอนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตนแล.
โจทนากัณฑ์ จบ
-----------------------------------------------------
หัวข้อประจำเรื่อง
[๑๐๘๒] คำสั่งสอน การโจท ผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ เบื้องต้น มูลอุโบสถ คติตั้งอยู่ ในโจทนากัณฑ์แล.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ บรรทัดที่ ๙๕๖๕-๙๖๙๔ หน้าที่ ๓๖๖-๓๗๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=8&A=9565&Z=9694&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=8&item=1077&items=6              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=8&item=1077&items=6&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=8&item=1077&items=6              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=8&item=1077&items=6              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=1077              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_8 https://84000.org/tipitaka/english/?index_8

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]