ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
วัสสูปนายิกขันธกะ
เรื่องภิกษุหลายรูป
[๒๐๕] โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงบัญญัติ การจำพรรษาแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นเที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน. คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้เที่ยว จาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนอินทรีย์ อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็กๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวายเล่า ก็พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เหล่านี้เป็นผู้กล่าวธรรมอันต่ำทราม ยังพัก ยังอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน อนึ่ง ฝูงนกเหล่านี้เล่า ก็ยังทำรังบนยอดไม้ และพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน ส่วนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร เหล่านี้ เที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็กๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวาย. ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จำพรรษา.
การจำพรรษา ๒ อย่าง
[๒๐๖] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดกันว่า พวกเราพึงจำพรรษาเมื่อไรหนอ แล้วกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จำพรรษา ในฤดูฝน. ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดกันว่า วันเข้าพรรษามีกี่วันหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษานี้มี ๒ คือ ปุริมิกา วันเข้าพรรษาต้น ๑ ปัจฉิมิกา วันเข้าพรรษาหลัง ๑ เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วง ไปแล้ววันหนึ่ง พึงเข้าพรรษาต้น เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้วเดือนหนึ่ง พึงเข้าพรรษาหลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษามี ๒ วันเท่านี้แล.
พระฉัพพัคคีย์เที่ยวจาริกทุกเวลา
[๒๐๗] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์จำพรรษาแล้ว ยังเที่ยวจาริกในระหว่างพรรษา. คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาเช่นนั้นแหละว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้เที่ยวจาริกตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียน อินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะยังสัตว์เล็กๆ มีจำนวนมากให้ถึงความวอดวายเล่า ก็พวกอัญญเดียรถีย์ เหล่านี้ เป็นผู้กล่าวธรรมอันต่ำทราม ยังพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน อนึ่ง ฝูงนกเหล่านี้เล่า ก็ยังทำรังบนยอดไม้แล้วพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน ส่วนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร เหล่านี้ เที่ยวจาริกตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียน อินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็กๆ ซึ่งมีจำนวนมากให้ถึงความวอดวาย. ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา. บรรดาที่เป็นผู้มักน้อยต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จำพรรษาแล้ว จึงได้เที่ยวจาริกระหว่างพรรษาเล่า จึงภิกษุเหล่านั้น กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจำพรรษา ไม่อยู่ให้ ตลอด ๓ เดือนต้น หรือ ๓ เดือนหลัง ไม่พึงหลีกไปสู่จาริก รูปใดหลีกไป ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระฉัพพัคคีย์ไม่จำพรรษา
[๒๐๘] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ไม่ประสงค์จะจำพรรษา ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ จะไม่จำพรรษาไม่ได้ รูปใดไม่จำพรรษา ต้องอาบัติทุกกฏ. สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ ไม่ประสงค์จะจำพรรษาในวันเข้าพรรษา แกล้งล่วงเลยอาวาส ไปเสีย. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ประสงค์จะจำพรรษาในวันเข้าพรรษา ไม่พึงแกล้งล่วงเลยอาวาสไปเสีย รูปใดล่วงเลยไปเสีย ต้องอาบัติทุกกฏ.
เลื่อนกาลฝน
[๒๐๙] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช มีพระราชประสงค์ จะทรงเลื่อนกาลฝนออกไป จึงทรงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ถ้ากระไร ขอพระคุณเจ้า ทั้งหลายพึงจำพรรษาในชุณหปักษ์อันจะมาถึง. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระเจ้าแผ่นดิน.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๕๔๕๐-๕๕๐๑ หน้าที่ ๒๒๓-๒๒๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=5450&Z=5501&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=4&item=205&items=5              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=4&item=205&items=5&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=4&item=205&items=5              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=4&item=205&items=5              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=205              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4 https://84000.org/tipitaka/english/?index_4

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]