ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๓๖๐] ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อหาลินทกานิ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่
อภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า ข้าแต่-
*พระมหากัจจานะผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสพระภาษิตนี้ไว้ในมาคันทิยปัญหาอันมีมาใน
อัฏฐกวรรคว่า
                          บุคคลละที่อาลัยแล้ว ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม
                          เปล่าจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงทำถ้อยคำแก่งแย่ง
                          กับด้วยชน ดังนี้.
ข้าแต่พระมหากัจจานะผู้เจริญ เนื้อความแห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้
จะพึงเห็นโดยพิสดารได้อย่างไร?
             ท่านพระมหากัจจานะตอบว่า ดูกรคฤหบดี รูปธาตุเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ ก็แหละ
วิญญาณที่ผูกพันไว้ด้วยราคะในรูปธาตุเรียกว่า ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัย. ดูกรคฤหบดี เวทนาธาตุ ...
สัญญาธาตุ ... สังขารธาตุ เป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ ก็แหละวิญญาณที่ผูกพันไว้ด้วยราคะใน
สังขารธาตุ เรียกว่าท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัย ดูกรคฤหบดี บุคคลเป็นผู้ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัยอย่างนี้แล.
ดูกรคฤหบดี บุคคลเป็นผู้ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัยอย่างไร? ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิน
ความปรารถนา อุบายและอุปาทานอันเป็นเหตุยึดมั่นถือมั่นและนอนเนื่องแห่งจิตใดในรูปธาตุ
ความพอใจเป็นต้นนั้น อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้ง
ดังตาลยอดด้วย ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น
พระตถาคตบัณฑิตจึงเรียกว่า ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัย. ดูกรคฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัด
ความเพลิน ความปรารถนา อุบายและอุปาทานอันเป็นเหตุยึดมั่นถือมั่นและนอนเนื่องแห่งจิต
ในเวทนาธาตุ ... ในสัญญาธาตุ ... ในสังขารธาตุ ... ในวิญญาณธาตุ ความพอใจเป็นต้นนั้น
อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความ
ไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคตบัณฑิตจึงเรียกว่า
ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัย ดูกรคฤหบดี บุคคลเป็นผู้ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัยอย่างนี้แล.
             ดูกรคฤหบดี ก็บุคคลเป็นผู้ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่อย่างไร? ดูกรคฤหบดี ความผูกพันด้วย
สามารถแห่งความท่องเที่ยวไปในที่อยู่คือรูปนิมิต สัททนิมิต คันธนิมิต รสนิมิต โผฏฐัพพ-
*นิมิต ธรรมนิมิต เรียกว่าความท่องเที่ยวไปในที่อยู่ ดูกรคฤหบดี บุคคลเป็นผู้ท่องเที่ยวไปใน
ที่อยู่อย่างนี้แล. ดูกรคฤหบดี ก็บุคคลเป็นผู้ไม่ท่องเที่ยวไปในที่อยู่อย่างไร? ดูกรคฤหบดี
ความผูกพันด้วยสามารถแห่งความท่องเที่ยวไปในที่อยู่คือรูปนิมิต อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว
มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้น
ต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคตบัณฑิตจึงเรียกว่า ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่. ดูกรคฤหบดี
ความผูกพันด้วยสามารถแห่งความท่องเที่ยวไปในที่อยู่คือสัททนิมิต ... คันธนิมิต ... รสนิมิต ...
โผฏฐัพพนิมิต ... และธรรมนิมิต อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มี
ที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น
พระตถาคตบัณฑิตจึงเรียกว่า ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ ดูกรคฤหบดี บุคคลเป็นผู้ไม่ท่องเที่ยวไปสู่-
*ที่อยู่อย่างนี้แล.
             ดูกรคฤหบดี ก็บุคคลเป็นผู้เกิดความเยื่อใยในกามอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ก็ภิกษุบางรูป
ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ทั้งหลาย เพลินร่วมกัน โศกร่วมกัน เมื่อพวกคฤหัสถ์
ถึงความสุขก็สุขด้วย ถึงความทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อพวกคฤหัสถ์มีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น
ก็ช่วยเหลือด้วยตนเอง ดูกรคฤหบดี ภิกษุเป็นผู้เกิดความเยื่อใยในกามอย่างนี้แล. ดูกรคฤหบดี
ก็บุคคลเป็นผู้ไม่เกิดความเยื่อใยในกามอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่-
*เกี่ยวข้องกับพวกคฤหัสถ์ ไม่เพลินร่วมกัน ไม่โศกร่วมกัน เมื่อพวกคฤหัสถ์ถึงความสุข
ก็ไม่สุขด้วย ถึงความทุกข์ก็ไม่ทุกข์ด้วย เมื่อพวกคฤหัสถ์มีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ไม่ช่วยเหลือ
ด้วยตนเอง ดูกรคฤหบดี ภิกษุเป็นผู้ไม่เกิดความเยื่อใยในกามอย่างนี้แล.
             ดูกรคฤหบดี ก็ภิกษุเป็นผู้ไม่เปล่าจากกามทั้งหลายอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุบางรูป
ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความหวัง ความเร่าร้อน
ความปรารถนาในกามทั้งหลาย ดูกรคฤหบดี ภิกษุเป็นผู้ไม่เปล่าจากกามทั้งหลายอย่างนี้แล.
ดูกรคฤหบดี ก็ภิกษุเป็นผู้เปล่าจากกามอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้-
*ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความหวัง ความเร่าร้อน ความปรารถนา
ในกามทั้งหลาย ดูกรคฤหบดี ภิกษุเป็นผู้เปล่าจากกามทั้งหลายอย่างนี้แล.
             ดูกรคฤหบดี ก็ภิกษุเป็นผู้มุ่งหมายอัตภาพต่อไปอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุบางรูป
ในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในอนาคตกาล ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ ก็ถึงความเพลิน
ในรูปนั้น มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในอนาคตกาล ขอเราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ... ขอเราพึงมีสัญญา
อย่างนี้ ... ขอเราพึงมีสังขารอย่างนี้ ... ขอเราพึงมีวิญญาณอย่างนี้ ก็ถึงความเพลินในวิญญาณนั้น
ดูกรคฤหบดี ภิกษุเป็นผู้มุ่งหมายอัตภาพต่อไปอย่างนี้แล. ดูกรคฤหบดี ก็ภิกษุเป็นผู้ไม่มุ่งหมาย
อัตภาพต่อไปอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
ในอนาคตกาล ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ ก็ไม่ถึงความเพลินในรูปนั้น ไม่มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
ในอนาคตกาล ขอเราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ... ขอเราพึงมีสัญญาอย่างนี้ ... ขอเราพึงมีสังขารอย่างนี้ ...
ขอเราพึงมีวิญญาณอย่างนี้ ก็ไม่ถึงความเพลินในวิญญาณนั้น ดูกรคฤหบดี ภิกษุเป็นผู้ไม่มุ่งหมาย
อัตภาพต่อไปอย่างนี้แล.
             ดูกรคฤหบดี ก็ภิกษุเป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับด้วยชนอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุ-
*บางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ ฯลฯ หรือจงแก้ไข
เพื่อปลดเปลื้องวาทะ ถ้าท่านสามารถ ดูกรคฤหบดี ภิกษุเป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับด้วยชน-
*อย่างนี้แล. ดูกรคฤหบดี ก็ภิกษุไม่เป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับด้วยชนอย่างไร? ดูกรคฤหบดี
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้ทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ท่านจงแก้ไข
เพื่อปลดเปลื้องวาทะ ถ้าท่านสามารถ ดูกรคฤหบดี ภิกษุเป็นผู้ไม่ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับด้วยชน
อย่างนี้แล.
             ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสพระภาษิตใด ในมาคันทิยปัญหาอันมีมาในอัฏฐก
วรรคว่า
                          บุคคลละที่อาลัยแล้ว ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ มุนีไม่ทำความเยื่อใยใน
                          กาม เปล่าจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงทำถ้อยคำ
                          แก่งแย่งกับด้วยชน ดังนี้.
             ดูกรคฤหบดี เนื้อความแห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ จะพึงเห็นได้โดย
พิสดารอย่างนี้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          บุคคลละที่อาลัยแล้ว ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ มุนีไม่ทำความเยื่อใยใน
                          กาม เปล่าจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงทำถ้อยคำ
                          แก่งแย่งกับด้วยชน.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๔๓๖๔-๔๔๓๙ หน้าที่ ๑๘๓-๑๘๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=4364&Z=4439&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=360&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=360&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=29&item=360&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=29&item=360&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=360              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]