ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๒๓๑] คำว่า ของผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม ความว่า ชื่อว่าเมถุนธรรม คือ
ธรรมของอสัตบุรุษ ธรรมของชาวบ้าน ธรรมของคนเลว ธรรมชั่วหยาบ ธรรมมีน้ำเป็นที่สุด
ธรรมอันพึงทำในที่ลับ ธรรมคือความถึงพร้อมแห่งคนคู่ๆ กัน. เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า เมถุนธรรม.
เพราะเป็นธรรมของคนทั้งสองผู้กำหนัด กำหนัดกล้า ผู้ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตอัน
ราคะครอบงำ เป็นคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม. คน
สองคนทำความทะเลาะกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนทำความมุ่งร้ายกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคน
ทำความอื้อฉาวกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนทำความวิวาทกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนก่ออธิกรณ์
กัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนพูดกัน เรียกว่าคนคู่ คนสองคนปราศรัยกัน เรียกว่าคนคู่ ฉันใด
ธรรมนั้นเป็นธรรมของคนทั้งสองผู้กำหนัด กำหนัดกล้า ผู้ชุ่มด้วยราคะมีราคะ กำเริบขึ้น มีจิตอัน
ราคะครอบงำ เป็นคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกว่า
เมถุนธรรม. คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม คือ ของบุคคลผู้ประกอบ
ประกอบทั่ว ประกอบเอื้อเฟื้อ ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม คือ ประพฤติในเมถุนธรรม มักมาก
ในเมถุนธรรม หนักมากในเมถุนธรรม หนักอยู่ในเมถุนธรรม น้อมไปในเมถุนธรรม โน้มไป
ในเมถุนธรรม โอนไปในเมถุนธรรม น้อมใจไปในเมถุนธรรม มีเมถุนธรรมนั้นเป็นใหญ่
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม. (ความหมายของคำว่า ภควา)
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระเถระนั้นโดยโคตรว่า เมตเตยยะ. คำว่า ภควา เป็นพระนามเครื่อง
กล่าวด้วยความเคารพ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ภควา เพราะอรรถว่า ผู้ทำลายราคะแล้ว ทำลาย
โทสะแล้ว ทำลายโมหะแล้ว ทำลายมานะแล้ว ทำลายทิฏฐิแล้ว ทำลายเสี้ยนหนามแล้ว ทำลาย
กิเลสแล้ว และเพราะอรรถว่า ทรงจำแนก ทรงจำแนกวิเศษ ทรงจำแนกเฉพาะ ซึ่ง
ธรรมรัตนะ. เพราะอรรถว่า ทรงทำซึ่งที่สุดแห่งภพทั้งหลาย. เพราะอรรถว่า มีพระกายอันอบรม
แล้ว. มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว. มีปัญญาอันอบรมแล้ว. อนึ่งพระผู้มีพระภาค
ทรงซ่องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าละเมาะ และป่าทึบอันสงัด มีเสียงน้อย ปราศจากเสียงกึกก้อง
ปราศจากชนผู้สัญจรไปมา เป็นที่ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่วิเวก เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร เพราะฉะนั้นจึง ชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งอธิศีล อธิจิต
อธิปัญญา อันเป็นอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง.
พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔ อรูปสมาบัติ ๔ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า
ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ ๘ (ฌานเป็นที่ตั้งแห่งความ
ครอบงำอารมณ์ในกสิณ) อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑)
เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณสมาบัติ ๑
อานาปานสติสมาธิ อสุภสมาบัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วน
แห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมี
องค์ ๘ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ ๑๐
เวสารัชชธรรม ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา. พระนาม
ว่า ภควา นี้พระมารดา พระบิดา พระภาดา พระภคินี มิตร อำมาตย์ พระญาติสาโลหิต สมณ
พราหมณ์ เทวดา มิได้เฉลิมให้ พระนามว่า ภควา นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามในอรหัตผล
ในลำดับแห่งอรหัตมรรค) เป็นสัจฉิกาบัญญัติ (บัญญัติที่เกิดเพราะทำแจ่มแจ้งอรหัตผลและธรรม
ทั้งปวง) พร้อมด้วยการทรงบรรลุพระสัพพัญญตญาณ ณ โคนแห่งต้นโพธิ์ ของพระผู้มีพระภาค
ทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมตเตยยะ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๓๑๖๒-๓๒๐๐ หน้าที่ ๑๓๓-๑๓๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=3162&Z=3200&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=231&items=1&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=231&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=29&item=231&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=29&item=231&items=1&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=231              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]