ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
สุตตนิบาต ปารายนวรรคที่ ๕
วัตถุกถา
[๔๒๔] พราหมณ์พาวรีผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์ ปรารถนาซึ่งความเป็นผู้ไม่มี กังวล ได้จากบุรีอันเป็นที่รื่นรมย์แห่งชาวโกศล ไปสู่ทักขิณา- ปถชนบท พราหมณ์นั้นอยู่ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี ใกล้ พรมแดนแห่งแคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะ ด้วยการแสวง หาผลไม้ ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้น ก็เป็นผู้ ไพบูลย์ พราหมณ์พาวรีได้บูชามหายัญ ด้วยส่วยอันเกิดแต่ กสิกรรมเป็นต้นในบ้านนั้น ครั้นบูชามหายัญแล้วได้กลับ เข้าไปสู่อาศรม เมื่อพราหมณ์พาวรีนั้นกลับเข้าไปสู่อาศรม แล้ว พราหมณ์อื่นเดินเท้าเสียดสีกัน ฟันเขลอะ ศีรษะ เกลือกกลั้วด้วยธุลี ได้มาทำให้พราหมณ์พาวรีสะดุ้ง ก็พราหมณ์ นั้นเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วขอทรัพย์ ๕๐๐ พราหมณ์พาวรี เห็นพราหมณ์นั้นแล้ว ได้เชื้อเชิญด้วยอาสนะไต่ถามถึงสุข และทุกข์ แล้วได้กล่าวว่า ไทยธรรมวัตถุอันใดของเรา ไทยธรรมวัตถุทั้งปวงนั้น เราสละเสียสิ้นแล้ว ดูกรพราหมณ์ ท่านจงเชื่อเราเถิด ทรัพย์ ๕๐๐ ของเราไม่มี ฯ พราหมณ์นั้นกล่าวว่า เมื่อเราขออยู่ ถ้าท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่าน จะแตก ๗ เสี่ยง พราหมณ์ผู้หลอกลวงนั้นกระทำกลอุบาย แล้ว ได้กล่าวคำจะให้เกิดความกลัว ฯ พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว เป็นผู้มีทุกข์ ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เพรียบพร้อมด้วยลูกศรคือความโศก อนึ่ง เมื่อพราหมณ์พาวรีคิดอยู่อย่างนี้ ใจก็ไม่ยินดีในฌาน ฯ เทวดาผู้ปรารถนาประโยชน์ เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์ สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์ ไม่มีความรู้ในธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะ ตกไป ฯ พราหมณ์พาวรีถามว่า บัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้วขอท่านจงบอก ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่ ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน ฯ เทวดาตอบว่า แม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะ ตกไป เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่อง เห็นธรรมอันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ย่อม มีแก่พระชินเจ้าทั้งหลาย ฯ พราหมณ์พาวรีถามว่า ก็บัดนี้ ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ ย่อมรู้ ดูกรเทวดา ขอท่านจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุ ให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ เทวดาตอบว่า ดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตรลำดับพระวงศ์ของ พระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลก เสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วย พระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญา และทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม ทรง บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปใน ธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว ในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถาม พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์ ข้อความนั้นแก่ท่าน ฯ พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู มีความโศกเบาบาง และได้ปีติอันไพบูลย์ พราหมณ์พาวรี นั้นมีใจชื่นชมเบิกบาน เกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้น ว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน ข้าพเจ้าจะพึงไปนมัสการพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์ได้ ในที่ใด ฯ เทวดาตอบว่า พระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญา ประเสริฐ กว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้ องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ ศีรษะตกไป ประทับอยู่ในมันทิรสถานของชนชาวโกศล ในพระนครสาวัตถี ฯ ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายผู้ถึงฝั่งแห่ง มนต์ซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่าดูกรมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจง มาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำ ของเรา ความปรากฏแห่งพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดอันสัตว์ ได้ยากเนืองๆ ในโลกนี้ วันนี้ พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ปรากฏว่าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไป เมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด ฯ พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามด้วยคาถาว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึง รู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมพุทธเจ้าด้วยอุบายอย่างไรเล่า ขอ ท่านจงบอกอุบายที่ข้าพเจ้าทั้งหลายจะพึงรู้จักพระสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้ไม่รู้เถิด ฯ พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ทั้งหลาย อันพราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้บริบูรณ์แล้วตามลำดับ ว่ามหาปุริสลักษณะทั้งหลาย มีอยู่ในวรกายของพระมหา- บุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น มีคติเป็น ๒ เท่านั้น คติที่ ๓ ไม่มีเลย คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงชนะ ทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาตรา ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม มีหลังคาคือกิเลส อันเปิดแล้ว ท่านทั้งหลายจงถามถึงชาติ โคตร ลักษณะ มนต์ และศิษย์เหล่าอื่นอีกและถามถึงศีรษะและธรรมเป็นเหตุ ให้ศีรษะตกไปด้วยใจเทียว ถ้าว่าท่านนั้นจักเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมอันหาเครื่องกางกั้นมิได้ไซร้ จักวิสัชนา ปัญหาอันท่านทั้งหลายถามด้วยใจด้วยวาจาได้ ฯ พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสส- เมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑ นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี ผู้เป็นบัณฑิต ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราชผู้มีเมธา ๑ ปิงคิยะผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ๑ พราหมณ์ มาณพทั้งปวง คนหนึ่งๆ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ปรากฏแก่ โลกทั้งปวง เป็นผู้เพ่งฌาน มีปัญญาทรงจำ อันวาสนา ในก่อนอบรมแล้ว ทรงชฏาหนังเสือเหลือง ได้ฟังคำของ พราหมณ์พาวรีแล้ว อภิวาทพราหมณ์พาวรี กระทำประทักษิณ แล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแว่นแคว้นมุฬกะ เมืองมาหิสสติ ในคราวนั้น เมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต เมืองสาวัตถีอันเป็นเมืองอุดม เมืองเสตพยะ เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองกุสินารามันทิรสถาน (เมืองมันทิระ) เมืองปาวาโภคนคร เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ และปาสาณกเจดีย์อันเป็น รมณียสถานที่น่ารื่นรมย์ใจ พราหมณ์มาณพทั้งหลายพากัน ยินดีได้รีบด่วนขึ้นสู่เจติยบรรพต เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำ ยินดีน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีลาภใหญ่ และเหมือนบุคคล ถูกความร้อนแผดเผายินดีร่มเงา ฉะนั้น ก็ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาค อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ทรงแสดงธรรม แก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลืออยู่ในป่า ฉะนั้น อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรือง เหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้น อชิตมาณพได้เห็นพระอวัยวะอันบริบูรณ์ ในพระกายของ พระผู้มีพระภาคนั้น มีความร่าเริงยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่าขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ) อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึง ความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มี ประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี ชื่อพาวรีโดยโคตร ลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้น มี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำรา ทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์ นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรม แห่งพราหมณ์ของตนย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ อชิตมาณพทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงค้นคว้าลักษณะ ทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงประกาศตัดความทะเยอ ทะยาน อย่าให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิดมุขมณฑล (หน้า) ด้วยชิวหาได้ มีอุณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มี คุยหฐานอยู่ในฝักท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครๆ ผู้ถามเลย ได้ฟังปัญหาที่พระผู้มี- พระภาคทรงพยากรณ์แล้ว (นึกคิดอยู่) คิดพิศวงอยู่ เกิด ความโสมนัสประนมอัญชลี (สรรเสริญ) ว่า พระผู้มีพระภาค เป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าว สุชัมบดีจอมเทพ เมื่อปัญหาอันผู้ถามถามแล้วด้วยใจ ข้อ ปัญหานั้นไฉนมาแจ่มแจ้งแก่พระผู้มีพระภาคได้ ฯ อชิตมาณพทูลถามด้วยใจต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็น ศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัส พยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นฤาษี เสียเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบ ด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็น ธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความ โสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลือง เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียร เกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรีผู้เจริญ มีจิตเบิกบาน ดีใจ พร้อมด้วยศิษย์ ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคล (ของพระผู้มีพระภาค) ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็น ผู้ถึงความสุขเถิด แม้ถึงท่านก็จงเป็นผู้ถึงความสุข จงเป็น อยู่สิ้นกาลนานเถิด ก็ท่านทั้งหลายมีโอกาสอันเราได้กระทำ แล้ว ปรารถนาในใจเพื่อจะถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่ง ก็จง ถามความสงสัยทุกๆ อย่างของพราหมณ์พาวรีหรือของท่าน ทั้งปวงเถิด อชิตมาณพมีโอกาสอันพระสัมพุทธเจ้ากระทำแล้ว นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาทีแรกกะพระตถาคต ณ ที่นั้น ฉะนี้แล ฯ
จบวัตถุกถา

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๑๐๘๑๐-๑๐๙๗๕ หน้าที่ ๔๖๘-๔๗๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=10810&Z=10975&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=25&item=424&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=25&item=424&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=25&item=424&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=25&item=424&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=424              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]