ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
             [๑๙๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคาร ศาลาป่ามหาวัน
ใกล้นครเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่าสาฬหะและอภัย เสด็จเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เจ้าสาฬหะลิจฉวีได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติการรื้อถอนโอฆะ เพราะเหตุ ๒ อย่าง
คือ เพราะเหตุสีลวิสุทธิ ๑ เพราะเหตุเกลียดตบะ ๑ ส่วนในธรรมวินัยนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร พระเจ้าข้า ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสาฬหะ เรากล่าวสีลวิสุทธิแลว่า เป็น
องค์แห่งสมณธรรมอย่างหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะยกย่องการเกลียดตบะ
ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ติดอยู่ในการเกลียดตบะ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควร
เพื่อจะรื้อถอนโอฆะออกได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกาย
ไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจไม่บริสุทธิ์
มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้
ชั้นเยี่ยม ดูกรสาฬหะ เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะข้ามแม่น้ำ พึงถือผึ่งอันคมเข้า
ไปสู่ป่า เขาพบต้นรังใหญ่ในป่านั้น ลำต้นตรง ยังหนุ่ม ไม่มีที่น่ารังเกียจ เขา
พึงตัดที่โคน ตัดที่ปลาย ริดกิ่งและใบเรียบร้อยดีแล้ว ถากด้วยผึ่ง แล้วเกลา
ด้วยมีด ขีดลงพอเป็นรอย ขัดด้วยลูกหินแล้วปล่อยลงแม่น้ำ ดูกรสาฬหะ ท่าน
จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นควรจะข้ามแม่น้ำนั้นได้หรือ ฯ
             ส. ข้อนั้นเป็นไม่ได้ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯ
             ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะต้นรังนั้นเขาแต่งเกลี้ยงเกลาในภายนอก
ไม่เรียบร้อยในภายใน บุรุษนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ไม้รังจะต้องจม และบุรุษนั้น
จักถึงความพินาศ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรสาฬหะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณพราหมณ์เหล่าใดมีวาทะ
ยกย่องการเกลียดตบะ ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ติดอยู่ในการเกลียดตบะ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อรื้อถอนโอฆะออก อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใด
มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีความ
ประพฤติทางใจไม่บริสุทธิ์ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อ
ญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ส่วนสมณพราหมณ์เหล่าใด ไม่เป็นผู้มี
วาทะยกย่องการเกลียดตบะ ไม่ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ไม่ติดอยู่ในการ
เกลียดตบะ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อรื้อถอนโอฆะออกได้ อนึ่ง สมณ-
*พราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์
มีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อ
ญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะข้ามแม่น้ำ ถือเอา
ผึ่งอันคมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นรังใหญ่ในป่านั้น ลำต้นตรง ยังหนุ่ม ไม่มีที่น่า
รังเกียจ เขาพึงตัดมันที่โคน แล้วตัดปลาย ริดกิ่งและใบเรียบร้อยดีแล้ว ถาก
ด้วยผึ่ง เกลาด้วยมีด ขัดแต่งด้วยสิ่ว ทำภายในให้เรียบร้อย ขุดเป็นร่อง แล้ว
ขัดด้วยลูกหิน กระทำให้เป็นเรือ ติดกรรเชียงและหางเสือ แล้วปล่อยลงแม่น้ำ
ดูกรสาฬหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นควรข้ามแม่น้ำได้หรือไม่ ฯ
             ส. ได้ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯ
             ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะต้นรังนั้นเขาแต่งเกลี้ยงเกลาดีในภาย
นอก เรียบร้อยในภายใน ทำเป็นเรือ ติดกรรเชียงและหางเสือ บุรุษนั้นพึงหวัง
ข้อนี้ได้ว่า เรือจักไม่จม บุรุษจักถึงฝั่งได้โดยสวัสดี พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรสาฬหะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณพราหมณ์เหล่าใด ไม่มี
วาทะยกย่องการเกลียดตบะ ไม่ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ไม่ติดอยู่ในการ
เกลียดตบะ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อรื้อถอนโอฆะออกได้ อนึ่ง สมณ-
*พราหมณ์เหล่าใด มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์
มีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อ
ญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ดูกรสาฬหะ เปรียบเหมือนนักรบ ถึงแม้
จะรู้กระบวนลูกศรเป็นอันมาก ถึงกระนั้น เขาจะได้ชื่อว่าเป็นนักรบคู่ควรแก่
พระราชา เป็นผู้ควรที่พระราชาใช้สอย ย่อมถึงการนับว่าเป็นองค์ของพระราชา
ทีเดียว ก็ด้วยสถาน ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้ยิงได้ไกล ๑
ยิงได้ไว ๑ ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้ ๑ ดูกรสาฬหะ นักรบผู้ยิงได้ไกล แม้ฉันใด
อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมเห็นด้วยปัญญา
อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต
ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ใกล้
หรือไกล รูปทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ย่อมเห็น
ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง...สัญญา
อย่างใดอย่างหนึ่ง...สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง...วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็น
อดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือ
ประณีต ใกล้หรือไกล วิญญาณทั้งหมดนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตน
ของเรา ดังนี้ ดูกรสาฬหะ นักรบผู้ยิงได้ไวฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิก็ฉันนั้น
อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้
ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูกรสาฬหะ นักรบผู้ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่
ได้ ฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาวิมุติก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาวิมุติย่อมทำลาย
กองอวิชชาอันใหญ่เสียได้ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๕๓๘๓-๕๔๔๙ หน้าที่ ๒๒๙-๒๓๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=5383&Z=5449&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=21&item=196&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=21&item=196&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=21&item=196&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=21&item=196&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=196              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_21 https://84000.org/tipitaka/english/?index_21

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]