ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
สุขุมาลสูตร
[๔๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มีทุกข์อย่างยิ่ง ไม่มีทุกข์โดยส่วนเดียว ได้ยินว่า พระชนกรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณีไว้เพื่อเรา ภายในนิเวศน์ ให้ปลูกอุบลไว้สระหนึ่ง ปทุมไว้สระหนึ่ง ปุณฑริกไว้สระหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่เรา แต่เราไม่ได้ใช้ไม้จันทน์เมืองกาสีเท่านั้น ผ้าโพก เสื้อ ผ้านุ่ง ผ้าห่มของเรา ล้วนเกิดในเมืองกาสี มีคนคอยกั้นเศวตฉัตรให้เราตลอดคืน ตลอดวัน ด้วยหวังว่า หนาว ร้อน ธุลี หญ้า หรือน้ำค้าง อย่าเบียดเบียน พระองค์ท่านได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีปราสาท ๓ หลัง ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ ในฤดูหนาว ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูร้อน ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน เรานั้นแลถูกบำเรอด้วยดนตรีซึ่งไม่มีบุรุษปนตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน บนปราสาท อันเป็นที่อยู่ในฤดูฝน มิได้ลงมาข้างล่างปราสาทเลย ในนิเวศน์แห่งพระชนกของ เรา เขาให้ข้าวสาลีระคนด้วยมังสะแก่ทาสกรรมกรบุรุษ ทำนองเดียวกับที่ใน นิเวศน์ของเขาอื่น เขาให้ข้าวป่นอันมีน้ำส้มเป็นที่สอง ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นซึ่งประกอบด้วยความสำเร็จเห็นปานดังนี้ เป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ก็ยังคิด เห็นดังนี้ว่า ปุถุชนผู้ยังไม่ได้สดับ เมื่อตนเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วง พ้นความแก่ไปได้ เห็นคนอื่นแก่ ก็ล่วงตนเองเสียแล้วอึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่คิดว่า แม้เราก็เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ก็และ การที่เราซึ่งเป็นคนมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ได้เห็นคนแก่ เข้าแล้ว พึงอึดอัด ระอา รังเกียจ ข้อนั้นเป็นการไม่สมควรแก่เราเลย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นสำเหนียกอยู่ดังกล่าวมา ย่อมละความเมาในความเป็นหนุ่ม เสียได้โดยประการทั้งปวง ปุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อตนเป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็น ธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ เห็นคนอื่นเจ็บไข้ ก็ล่วงตนเองเสียแล้ว อึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่คิดว่า แม้เราก็เป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ก็และการที่เราซึ่งเป็นคนมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ได้เห็นคนเจ็บไข้เข้าแล้ว พึงอึดอัด ระอา รังเกียจ ข้อนั้นเป็นการไม่สมควรแก่เราเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นสำเหนียกอยู่ ดังกล่าวมา ย่อมละความเมาในความไม่มีโรคเสียได้โดยประการทั้งปวง ปุถุชนผู้ มิได้สดับ เมื่อตนเป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เห็น คนอื่นที่ตายแล้ว ก็ล่วงตนเองเสียแล้ว อึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่คิดว่า แม้เรา ก็เป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ก็และการที่เราซึ่งเป็น คนมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ได้เห็นคนอื่นที่ตายไปแล้ว พึงอึดอัด ระอา รังเกียจ ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ เรานั้นสำเหนียกอยู่ดังกล่าวมา ย่อมละความเมาในชีวิตเสียได้โดยประการทั้งปวง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเมา ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเมาในความเป็นหนุ่มสาว ๑ ความเมาในความไม่มีโรค ๑ ความเมาในชีวิต ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้เมาด้วยความเมาในความเป็นหนุ่มสาว ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ ครั้นแล้ว เมื่อกายแตกตายไป ย่อม เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้เมา แล้วด้วยความเมาในความไม่มีโรค ฯลฯ หรือปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้เมาแล้วด้วย ความเมาในชีวิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ ครั้นแล้ว เมื่อกาย แตกตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เมาแล้วด้วยความเมาในความเป็นหนุ่มสาว ย่อมลาสิกขาสึกไป ภิกษุผู้เมาแล้วด้วยความเมาในความไม่มีโรค ฯลฯ หรือภิกษุ ผู้เมาแล้วด้วยความเมาในชีวิตย่อมลาสิกขาสึกไป ฯ ปุถุชนเป็นผู้มีความป่วยไข้ ความแก่ และความตายเป็น ธรรมดา มีอยู่ตามธรรมดา แต่พากันรังเกียจ ก็การที่เราพึง รังเกียจความป่วยไข้ ความแก่ และความตายนี้ ในหมู่สัตว์ ซึ่งมีธรรมดาอย่างนี้ ข้อนั้นไม่สมควรแก่เราผู้มีปรกติอยู่เช่นนี้ เรานั้นเป็นอยู่เช่นนี้ รู้จักธรรมที่หมดอุปธิ เห็นเนกขัมมะโดย ความเป็นธรรมเกษม ย่อมครอบงำความเมาในความไม่มีโรค ในความเป็นหนุ่มสาวและในชีวิตเสียได้ทั้งหมด ความ อุตสาหะได้เกิดแล้วแก่เราผู้เห็นนิพพานด้วยปัญญาอันยิ่ง บัดนี้ เราไม่ควรที่จะกลับไปเสพกาม เราจักเป็นผู้ไม่ถอยหลัง จัก เป็นผู้มีพรหมจรรย์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๓๗๗๓-๓๘๒๖ หน้าที่ ๑๖๒-๑๖๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=3773&Z=3826&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=478&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=478&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=20&item=478&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=20&item=478&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=478              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_20 https://84000.org/tipitaka/english/?index_20

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]