ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๗. อุปาทานปริตัสสนาสูตรที่ ๑
ว่าด้วยความสะดุ้งและไม่สะดุ้ง
[๓๑] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราจักแสดงความสะดุ้งเพราะความถือมั่น และความไม่สะดุ้งเพราะความไม่ถือมั่น แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัส พระผู้มีพระภาคแล้ว. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังต่อไปนี้ [๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความสะดุ้งเพราะความถือมั่น ย่อมมีอย่างไร? ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ มิได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของ พระอริยะ มิได้รับแนะนำในอริยธรรม มิได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ มิได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูป ในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ รูปของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะ รูปของเขาแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณจึงมีความหมุนเวียนไปตามความแปรปรวน แห่งรูปความสะดุ้ง และความเกิดขึ้นแห่งธรรมที่เกิดแต่ความหมุนเวียนไปตามความแปรปรวน แห่งรูปย่อมครอบงำจิตของปุถุชนนั้นตั้งอยู่ เพราะจิตถูกครอบงำ ปุถุชนนั้นย่อมมีความหวาดเสียว มีความลำบากใจมีความห่วงใย และสะดุ้งอยู่ เพราะความถือมั่น. ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็น ตน ๑ ย่อมเห็นตนมีเวทนา ๑ ย่อมเห็นเวทนาในตน ๑ ย่อมเห็นตนในเวทนา ๑ เวทนา ของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป ฯลฯ ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีสัญญา ๑ ย่อมเห็นสัญญาในตน ๑ ย่อมเห็นตนในสัญญา ๑ สัญญาของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป ฯลฯ ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมี สังขาร ๑ ย่อมเห็นสังขารในตน ๑ ย่อมเห็นตนในสังขาร ๑ สังขารของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป ฯลฯ ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ย่อม เห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑ วิญญาณของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อม เป็นอย่างอื่นไป เพราะวิญญาณแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณจึงมีความหมุนเวียนไป ตามความแปรปรวนแห่งวิญญาณ ความสะดุ้ง และความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมที่เกิดแต่ความหมุน เวียนไปตามความแปรปรวนแห่งวิญญาณ ย่อมครอบงำจิตของปุถุชนนั้นตั้งอยู่ เพราะจิตถูกครอบ งำ ปุถุชนนั้นย่อมมีความหวาดเสียว มีความลำบากใจ มีความห่วงใยและสะดุ้งอยู่ เพราะความ ถือมั่น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสะดุ้งเพราะความถือมั่นย่อมมีอย่างนี้แล. [๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความไม่สะดุ้งเพราะความไม่ถือมั่น ย่อมมีอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับแล้ว ได้เห็น พระอริยะทั้งหลาย ผู้ฉลาด ในธรรมวินัยของพระอริยะ ผู้ได้รับแนะนำดีแล้วในอริยธรรม ผู้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ผู้ฉลาด ในธรรมของสัตบุรุษ ผู้ได้รับแนะนำดีแล้วในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ๑ ย่อมไม่เห็นรูปในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในรูป ๑ รูปของอริยสาวกนั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะรูปแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณจึง ไม่มี ความหมุนเวียนไปตามความแปรปรวนแห่งรูป ความสะดุ้ง และความบังเกิดขึ้นแห่งธรรม ที่เกิดแต่ความหมุนเวียนไปตามความแปรปรวนแห่งรูป ย่อมไม่ครอบงำ จิตของอริยสาวกนั้นตั้ง อยู่ เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความหวาดเสียว ไม่มีความลำบากใจ ไม่มี ความห่วงใย และไม่สะดุ้ง เพราะไม่ถือมั่น. ย่อมไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่ เห็นตนมีเวทนา ๑ ย่อมไม่เห็นเวทนาในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในเวทนา ๑ เวทนาของอริย สาวกนั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป ... ย่อมไม่เห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่ เห็นตนมีสัญญา ๑ ย่อมไม่เห็นสัญญาในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในสัญญา ๑ สัญญาของอริยสาวก นั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป ... ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตน มีสังขาร ๑ ย่อมไม่เห็นตนในสังขาร ๑ ย่อมไม่เห็นสังขารในตน ๑ สังขารของอริยสาวกนั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป ... ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมี วิญญาณ ๑ ย่อมไม่เห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในวิญญาณ ๑ วิญญาณของอริยสาวก นั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะวิญญาณแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณ จึงไม่มีความหมุนเวียนไปตามความแปรปรวนแห่งวิญญาณ ความสะดุ้ง และความบังเกิดขึ้นแห่ง ธรรมที่เกิดแต่ความหมุนเวียนไปตามความแปรปรวนแห่งวิญญาณ ย่อมไม่ครอบงำจิตของอริย สาวกนั้นตั้งอยู่ เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความหวาดเสียว ไม่มีความลำบาก ใจ ไม่มีความห่วงใย และไม่สะดุ้ง เพราะไม่ถือมั่น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่สะดุ้งเพราะ ความไม่ถือมั่นย่อมมีอย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๗.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๓๔๐-๓๙๐ หน้าที่ ๑๕-๑๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=17&A=340&Z=390&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=17&item=31&items=3              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=17&item=31&items=3&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=17&item=31&items=3              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=17&item=31&items=3              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=31              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_17 https://84000.org/tipitaka/english/?index_17

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]