ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
ธชัคคสูตรที่ ๓
[๘๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ฯ ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ [๘๖๔] พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่อง เคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกันแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทวดาตรัสเรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์มาสั่งว่า แน่ะ ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย หากความกลัวก็ดี ความหวาดเสียวก็ดี ความ ขนพองสยองเกล้าก็ดี จะพึงเกิดขึ้นแก่พวกเทวดาผู้ไปในสงคราม สมัยนั้น พวกท่านพึงแลดูยอดธงของเราทีเดียว เพราะว่าเมื่อพวกท่านแลดูยอดธงของเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จัก หายไป ถ้าพวกท่านไม่แลดูยอดธงของเรา ทีนั้นพวกท่านพึงแลดูยอดธงของท้าว ปชาบดีเทวราชเถิด เพราะว่าเมื่อพวกท่านแลดูยอดธงของท้าวปชาบดีเทวราชอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จัก หายไป หากพวกท่านไม่แลดูยอดธงของท้าวปชาบดีเทวราช ทีนั้นพวกท่านพึงแลดู ยอดธงของท้าววรุณเทวราชเถิด เพราะว่าเมื่อพวกท่านแลดูยอดธงของท้าววรุณ เทวราชอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จัก มีขึ้นก็จักหายไป หากพวกท่านไม่แลดูยอดธงของท้าววรุณเทวราช ทีนั้นพวกท่าน พึงแลดูยอดธงของท้าวอีสานเทวราชเถิด เพราะว่าเมื่อพวกท่านแลดูยอดธงของ ท้าวอีสานเทวราชอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้า ก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จักหายไป ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเทวดาแลดูยอดธงของท้าวสักกะผู้เป็นจอม แห่งเทวดาก็ดี แลดูยอดธงของท้าวปชาบดีเทวราชอยู่ก็ดี แลดูยอดธงของท้าววรุณ เทวราชอยู่ก็ดี แลดูยอดธงของท้าวอีสานเทวราชอยู่ก็ดี ความกลัวก็ดี ความหวาด สะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นพึงหายไปได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ข้อนั้นเป็นเหตุแห่งอะไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุว่า ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่ง เทวดา ยังเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ ไม่ปราศจากโทสะ ไม่ปราศจากโมหะ ยังเป็น ผู้กลัว หวาดสะดุ้ง หนีไปอยู่ ฯ [๘๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราแลกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย หากความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี พึงบังเกิดแก่พวกเธอผู้ไปในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนที่ว่างเปล่าก็ดี ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงเรานี้แหละว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่น จะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้ จำแนกธรรม ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะว่า เมื่อพวกเธอตามระลึกถึงเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จัก หายไป หากพวกเธอไม่ตามระลึกถึงเรา ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว บุคคลพึงเห็นได้เอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเข้าไปในตน อันวิญญูชนพึงรู้แจ้งได้เฉพาะตน ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะว่า เมื่อพวกเธอตามระลึกถึงพระธรรมอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จักหายไป หาก พวกเธอไม่ตามระลึกถึงพระธรรม ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง พระสงฆ์นั้นคือใคร ได้แก่คู่แห่งบุรุษสี่ รวมเป็นบุรุษบุคคลแปด นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรแก่ สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักขิณา เป็นผู้ควร แก่การทำอัญชลี เป็นบุญเขตของโลก ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า เพราะว่า เมื่อ พวกเธอตามระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพอง สยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จักหายไป ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร เพราะว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจาก โมหะ ไม่เป็นผู้กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่หนีไป ฯ [๘๖๖] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลง แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเถิด ความ กลัวไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย ถ้าว่าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึง พระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึง พระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญ เขตอื่นยิ่งไปกว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึง พระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๗๐๔๖-๗๑๑๒ หน้าที่ ๓๐๔-๓๐๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=7046&Z=7112&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=15&item=863&items=4              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=15&item=863&items=4&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=15&item=863&items=4              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=15&item=863&items=4              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=863              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_15 https://84000.org/tipitaka/english/?index_15

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]