ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
อัจฉราสูตรที่ ๖
[๑๔๓] เทวดาทูลถามว่า ป่าชัฏชื่อโมหนะ อันหมู่นางอัปสรประโคมแล้ว อันหมู่ ปีศาจสิงอยู่แล้ว ทำไฉนจึงจะหนีไปได้ ฯ [๑๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย รถชื่อว่าไม่มี เสียงดัง ประกอบด้วยล้อคือธรรม หิริเป็นฝาของรถนั้น สติเป็นเกราะกั้นของรถนั้น เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้า ว่าเป็นสารถี ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชาย ก็ตาม เขา (ย่อมไป) ในสำนักพระนิพพานด้วยยาน นี้แหละ ฯ
วนโรปสูตรที่ ๗
[๑๔๕] เทวดาทูลถามว่า ชนพวกไหนมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลาง-

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๔.

*คืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ ไปสวรรค์ ฯ [๑๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดสร้างอาราม (สวนไม้ดอกไม้ผล) ปลูกหมู่ไม้ (ใช้ร่มเงา) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทาน และบ่อน้ำทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญ ในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ใน ธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์ ฯ
เชตวนสูตรที่ ๘
[๑๔๗] เทวดากราบทูลว่า ก็พระเชตวันมหาวิหารนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณอยู่ อาศัยแล้ว อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาประทับอยู่ แล้ว เป็นแหล่งที่เกิดปีติของข้าพระองค์ การงาน ๑ วิชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอย่างสูง ๑ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ ด้วยคุณธรรม ๕ นี้ หาบริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่ ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตน ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคาย เพราะเมื่อเลือก เฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น ฯ พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น (เป็นผู้ประเสริฐ) ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงซึ่งฝั่ง ภิกษุนั้นก็มี ท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นเยี่ยม ฯ
มัจฉริสูตรที่ ๙
[๑๔๘] เทวดาทูลถามว่า คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๕.

วิบากของคนพวกนั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขา จะเป็นเช่นไร ฯ ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จึง จะรู้ความข้อนั้น ฯ [๑๔๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือยมโลก ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ ก็เกิดในสกุลคนยากจน ซึ่งจะหา ท่อนผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก ฯ คนพาลเหล่านั้นต้องประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้แม้ สิ่งนั้น สมความปรารถนา นั่นเป็นผลในภพนี้ และภพหน้า ก็ยังเป็นทุคติอีกด้วย ฯ [๑๕๐] เทวดาทูลถามว่า ก็ข้อนี้ข้าพระองค์เข้าใจชัดอย่างนี้ (แต่) จะทูลถามข้ออื่น กะพระโคดม ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า วิบาก ของชนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขาจะ เป็นเช่นไร ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉน ข้าพระองค์จึงจะรู้ความข้อนั้น ฯ [๑๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศ- *จากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและ พระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า ชนเหล่านี้ย่อมปรากฏ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๖.

ในสวรรค์อันเป็นที่อุบัติ หากถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเกิด ในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ผ้าอาหารความร่าเริงและความสนุกสนาน โดยไม่ยาก พึงมีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหาสะสม ไว้ บันเทิงใจอยู่ นั่นเป็นวิบากในภพนี้ ทั้งภพหน้าก็เป็น สุคติ ฯ
ฆฏิกรสูตรที่ ๑๐
[๑๕๒] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า ภิกษุ ๗ รูปผู้เข้าถึงพรหมโลกชื่อว่าอวิหา เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะ โทสะสิ้นแล้ว ข้ามเครื่องเกาะเกี่ยวในโลกได้แล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ก็ภิกษุเหล่านั้นคือผู้ใดบ้าง ผู้ข้ามเครื่องข้องเป็นบ่วงของมารที่ ข้ามได้แสนยาก ละกายของมนุษย์แล้วก้าวล่วงซึ่งทิพย- *โยคะ ฯ ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า คือท่านอุปกะ ๑ ท่านผลคัณฑะ ๑ ท่านปุกกุสาติ ๑ รวม เป็น ๓ ท่าน ท่านภัททิยะ ๑ ท่านขัณฑเทวะ ๑ ท่านพหุ- *ทันตี ๑ ท่านสิงคิยะ ๑ (รวมเป็น ๗ ท่าน) ท่านเหล่านั้น ล้วนแต่ละกายของมนุษย์ ก้าวล่วงทิพยโยคะได้แล้ว ฯ [๑๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ท่านเป็นคนมีความฉลาด กล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น ผู้ ละบ่วงมารได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นตรัสรู้ธรรมของใครเล่า จึง ตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ฯ [๑๕๔] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า ท่านเหล่านั้น ตรัสรู้ธรรมของผู้ใดจึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๗.

ผู้นั้นไม่มีอื่นไปจากพระผู้มีพระภาค และธรรมนั้นไม่มีอื่นไป จากคำสั่งสอนของพระองค์ ฯ นามและรูปดับไม่เหลือในธรรมใด ท่านเหล่านั้นได้รู้ธรรมนั้น ในพระศาสนานี้ จึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ฯ [๑๕๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ท่านกล่าววาจาลึกรู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยาก ท่านรู้ธรรม ของใคร จึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้ ฯ [๑๕๖] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา ได้เป็นอุบาสกของพระกัสสป พุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ได้เคยเป็นคนร่วมบ้านกับพระองค์ ทั้งได้ เคยเป็นสหายของพระองค์ในกาลปางก่อน ข้าพระองค์รู้จัก ภิกษุ ๗ รูปเหล่านี้ ผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะและโทสะสิ้นแล้ว ผู้ข้ามเครื่องข้องในโลกได้แล้ว ฯ [๑๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แน่ะนายช่างหม้อ ท่านกล่าวเรื่องอย่างใด เรื่องนั้นได้เป็น จริงแล้วอย่างนั้นในกาลนั้น เมื่อก่อนท่านเคยเป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา เป็น อุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ได้เป็นคน เคยร่วมบ้านกันกับเรา ทั้งได้เคยเป็นสหายของเราในปาง ก่อน ฯ พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๘.

สหายเก่าทั้งสอง ผู้มีตนอันอบรมแล้ว ทรงไว้ซึ่งสรีระมีใน ที่สุด ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้ ฯ
จบ อาทิตตวรรค ที่ ๕
-----------------------------------------------------
สูตรที่กล่าวในอาทิตตวรรคนั้น คือ
อาทิตตสูตร กินททสูตร อันนสูตร เอกมูลสูตร อโนมิยสูตร อัจฉรา สูตร วนโรปสูตร เชตวนสูตร มัจฉริสูตร ฆฏิกรสูตร ฉะนี้แล ฯ
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๙.

ชราวรรคที่ ๖
ชราสูตรที่ ๑
[๑๕๘] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอยังประโยชน์ให้สำเร็จ จนกระทั่งชรา อะไรหนอ ตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอเป็นรัตนะของคน ทั้งหลาย อะไรหนอโจรลักไปได้ยาก ฯ [๑๕๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จจนกระทั่งชรา ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยัง ประโยชน์ให้สำเร็จ ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย บุญ อันโจรลักไปได้ยาก ฯ
อชรสาสูตรที่ ๒
[๑๖๐] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอ เพราะไม่ชำรุดจึงยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอ ดำรงมั่นแล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอเป็นรัตนะ ของชนทั้งหลาย อะไรหนอบุคคลพึงนำให้พ้นจากพวกโจร ได้ ฯ [๑๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ศีล เพราะไม่ชำรุดจึงยังประโยชน์ให้สำเร็จ ศรัทธา ดำรงมั่น แล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ ปัญญา เป็นรัตนะของคนทั้งหลาย บุญ อันบุคคลพึงนำไปให้พ้นจากพวกโจรได้ ฯ
มิตตสูตรที่ ๓
[๑๖๒] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นมิตรของคนเดินทาง อะไรหนอเป็นมิตรใน

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๐.

เรือนของตน อะไรเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้น อะไรหนอ เป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ฯ [๑๖๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พวกเกวียน พวกโคต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็น มิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของคนผู้มีธุระเกิดขึ้น เนืองๆ บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ฯ
วัตถุสูตรที่ ๔
[๑๖๔] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นที่ตั้งของมนุษย์ทั้งหลาย อะไรหนอเป็นสหาย อย่างยิ่งในโลกนี้ เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัย อะไรหนอเลี้ยงชีพ ฯ [๑๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุตรเป็นที่ตั้งของมนุษย์ทั้งหลาย ภรรยาเป็นสหายอย่างยิ่ง เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยฝนเลี้ยงชีพอยู่ ฯ
ปฐมชนสูตรที่ ๕
[๑๖๖] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร อะไรหนอเป็นภัยใหญ่ ของเขา ฯ [๑๖๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่าย ไปยังสงสาร ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของเขา ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๑.

ทุติยชนสูตรที่ ๖
[๑๖๘] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจาก อะไร ฯ [๑๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่าย ไปยังสงสาร สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์ ฯ
ตติยชนสูตรที่ ๗
[๑๗๐] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร อะไรหนอเป็นที่พำนักของ สัตว์นั้น ฯ [๑๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่าย ไปยังสงสาร กรรมเป็นที่พำนักของสัตว์นั้น ฯ
อุปปถสูตรที่ ๘
[๑๗๒] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอบัณฑิตกล่าวว่าเป็นทางผิด อะไรหนอสิ้นไปตามคืน และวัน อะไรหนอเป็นมลทินของพรหมจรรย์ อะไรหนอ มิใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง ฯ [๑๗๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ราคะบัณฑิตกล่าวว่าเป็นทางผิด วัยสิ้นไปตามคืนและวัน

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๒.

หญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์ หมู่สัตว์นี้ย่อมติดอยู่ในหญิง นี้ ตบะและพรหมจรรย์นั้น มิใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง ฯ
ทุติยสูตรที่ ๙
[๑๗๔] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นเพื่อนของคน อะไรหนอย่อมปกครองคนนั้น และสัตว์ยินดีในอะไรจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ [๑๗๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ศรัทธาเป็นเพื่อนของคน ปัญญาย่อมปกครองคนนั้น สัตว์ ยินดีในพระนิพพานจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ
กวิสูตรที่ ๑๐
[๑๗๖] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นต้นเหตุของคาถา อะไรหนอเป็นเครื่องปรากฏ (พยัญชนะ) ของคาถาเหล่านั้น คาถาอาศัยอะไรหนอ อะไร หนอเป็นที่อาศัยของคาถา ฯ [๑๗๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ฉันท์เป็นต้นเหตุของคาถา อักขระเป็นเครื่องปรากฏ (พยัญ- ชนะ) ของคาถา คาถาอาศัยแล้วซึ่งชื่อ กวีเป็นที่อาศัย ของคาถา ฯ
จบ ชราวรรค ที่ ๖
-----------------------------------------------------
สูตรที่กล่าวในชราวรรคนั้น คือ
ชราสูตร อชรสาสูตร มิตตสูตร วัตถุสูตร ชนสูตร ๓ สูตร อุปปถสูตร ทุติยสูตร กับกวิสูตร เต็มวรรคพอดี ฯ
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๓.

อันธวรรคที่ ๗
นามสูตรที่ ๑
[๑๗๘] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าสิ่งอะไร ย่อมไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ อะไร ฯ [๑๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือชื่อ ฯ
จิตตสูตรที่ ๒
[๑๘๐] เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลก ทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ [๑๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมด เป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือจิต ฯ
ตัณหาสูตรที่ ๓
[๑๘๒] เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรหนอย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ [๑๘๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันตัณหาย่อมนำไป อันตัณหาย่อมเสือกไสไป โลก ทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือตัณหา ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๔.

สัญโญชนสูตรที่ ๔
[๑๘๔] เทวดาทูลถามว่า โลกมีอะไรหนอเป็นเครื่องประกอบไว้ อะไรหนอเป็นเครื่อง เที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละขาดซึ่งธรรมอะไรจึงเรียกว่า นิพพาน ฯ [๑๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ วิตกเป็นเครื่อง เที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่า นิพพาน ฯ
พันธนสูตรที่ ๕
[๑๘๖] เทวดาทูลถามว่า โลกมีอะไรหนอเป็นเครื่องผูกไว้ อะไรหนอเป็นเครื่องเที่ยว ไปของโลกนั้น เพราะละเสียได้ซึ่งอะไร จึงตัดเครื่องผูก ได้หมด ฯ [๑๘๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยว ไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงตัดเครื่องผูก ได้หมด ฯ
อัพภาหตสูตรที่ ๖
[๑๘๘] เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรหนอกำจัดแล้ว อันอะไรหนอล้อมไว้แล้ว อัน ลูกศรคืออะไรเสียบแล้ว อันอะไรเผาแล้วในกาลทุกเมื่อ ฯ [๑๘๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๕.

โลกอันมฤตยูกำจัดแล้ว อันชราล้อมไว้แล้ว อันลูกศรคือ ตัณหาเสียบแล้ว อันความอยากเผาให้ร้อนแล้วในกาล ทุกเมื่อ ฯ
อุฑฑิตสูตรที่ ๗
[๑๙๐] เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรหนอดักไว้ อันอะไรหนอล้อมไว้ โลกอันอะไร หนอปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในอะไร ฯ [๑๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันตัณหาดักไว้ อันชราล้อมไว้ โลกอันมฤตยูปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในทุกข์ ฯ
ปิหิตสูตรที่ ๘
[๑๙๒] เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรหนอปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในอะไร โลกอัน อะไรหนอดักไว้ อันอะไรหนอล้อมไว้ ฯ [๑๙๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันมฤตยูปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในทุกข์ โลกอันตัณหา ดักไว้ อันชราล้อมไว้ ฯ
อิจฉาสูตรที่ ๙
[๑๙๔] เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรผูกไว้ เพราะกำจัดอะไรเสียจึงจะหลุดพ้น เพราะละอะไรได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทุกอย่าง ฯ [๑๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันความอยากผูกไว้ เพราะกำจัดความอยากเสียได้

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๖.

จึงหลุดพ้น เพราะละความอยากได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ ทั้งหมด ฯ
โลกสูตรที่ ๑๐
[๑๙๖] เทวดาทูลถามว่า เมื่ออะไรเกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมชมเชยในอะไร โลกยึดถือซึ่งอะไร โลกย่อมเดือดร้อนเพราะอะไร ฯ [๑๙๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมื่ออายตนะ ๖ เกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมทำความ ชมเชยในอายตนะ ๖ โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแหละ โลกย่อมเดือดร้อนเพราะอายตนะ ๖ ฯ
จบ อันธวรรค ที่ ๗
-----------------------------------------------------
สูตรที่กล่าวในอันธวรรคนั้น คือ
นามสูตร จิตตสูตร ตัณหาสูตร สัญโญชนสูตร พันธนสูตร อัพภาหตสูตร อุฑฑิตสูตร ปิหิตสูตร อิจฉาสูตร กับโลกสูตร รวมเป็น ๑๐ ฯ
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๗.

ฆัตวาวรรคที่ ๘
ฆัตวาสูตรที่ ๑
[๑๙๘] เทวดานั้น ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระ- *ผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ฆ่าอะไรหนอจึงอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรหนอจึงไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ชอบฆ่าอะไรซึ่งเป็นธรรมอันเดียว ฯ [๑๙๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ฆ่าความโกรธเสียได้จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธเสียจึงไม่ เศร้าโศก แน่ะ เทวดา พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญ การฆ่าความโกรธ ซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะฆ่า ความโกรธนั้นเสียแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ฯ
รถสูตรที่ ๒
[๒๐๐] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นสง่าของรถ อะไรหนอเป็นเครื่องปรากฏของไฟ อะไรหนอเป็นสง่าของแว่นแคว้น อะไรหนอเป็นสง่าของ สตรี ฯ [๒๐๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ธงเป็นสง่าของรถ ควันเป็นเครื่องปรากฏของไฟ พระราชา เป็นสง่าของแว่นแคว้น ภัศดาเป็นสง่าของสตรี ฯ
วิตตสูตรที่ ๓
[๒๐๒] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนใน โลกนี้ อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๘.

อะไรหนอเป็นรสดีกว่าบรรดารสทั้งหลาย คนมีชีวิตเป็นอยู่ อย่างไร นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ฯ [๒๐๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ความจริง เท่านั้นเป็นรสที่ดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ฯ
วุฏฐิสูตรที่ ๔
[๒๐๔] เทวดาทูลถามว่า บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น สิ่งอะไรหนอประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป อะไรหนอประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า ใครเป็นผู้ ประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม ใครเป็นผู้ประเสริฐ ฯ [๒๐๕] เทวดาผู้หนึ่งแก้ว่า บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ข้าวกล้าเป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป ฝนเป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า เหล่าโคเป็น ประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม บุตรเป็นประเสริฐ (เพราะ ไม่กล่าวร้ายให้มารดาบิดา) ฯ [๒๐๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้เป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป อวิชชาเป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า พระสงฆ์ เป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้าเป็น ประเสริฐ ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕๙.

ภีตสูตรที่ ๕
[๒๐๗] เทวดาทูลถามว่า ประชุมชนเป็นอันมากในโลกนี้ กลัวอะไรหนอ มรรคาที่ดีแท้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วยเหตุมิใช่น้อย ข้าแต่พระโคดมผู้มี ปัญญาดุจแผ่นดิน ข้าพระองค์ขอถามถึงเหตุนั้น ว่าบุคคล ตั้งอยู่ในอะไรแล้วไม่พึงกลัวปรโลก ฯ [๒๐๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ มิได้ทำบาปด้วยกาย อยู่ ครอบครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้ อ่อนโยน มีปรกติเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทราบถ้อยคำ ผู้ที่ตั้งอยู่ ในธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ ชื่อว่าผู้ดำรงในธรรม ไม่ต้องกลัว ปรโลก ฯ
นชีรติสูตรที่ ๖
[๒๐๙] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอย่อมทรุดโทรม อะไรไม่ทรุดโทรม อะไรหนอ ท่านเรียกว่าทางผิด อะไรหนอเป็นอันตรายแห่งธรรม อะไร หนอสิ้นไปตามคืนและวัน อะไรหนอเป็นมลทินของ พรหมจรรย์ อะไรไม่ใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง ในโลก มีช่องกี่ช่องที่จิตไม่ตั้งอยู่ได้ ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้- มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จะรู้ความข้อนั้นได้ ฯ [๒๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า รูปของสัตว์ทั้งหลายย่อมทรุดโทรม นามและโคตรย่อมไม่ ทรุดโทรม ราคะท่านเรียกว่าทางผิด ความโลภเป็นอันตราย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๐.

ของธรรม วัยสิ้นไปตามคืนและวัน หญิงเป็นมลทินของ พรหมจรรย์ หมู่สัตว์นี้ย่อมข้องอยู่ในหญิงนี้ ตบะและ พรหมจรรย์ทั้งสองนั้น มิใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง ในโลก มีช่องอยู่ ๖ ช่องที่จิตไม่ตั้งอยู่ได้ คือความเกียจคร้าน ๑ ความ ประมาท ๑ ความไม่หมั่น ๑ ความไม่สำรวม ๑ ความมัก หลับ ๑ ความอ้างเลศไม่ทำงาน ๑ พึงเว้นช่องทั้ง ๖ เหล่านั้น เสียโดยประการทั้งปวงเถิด ฯ
อิสสรสูตรที่ ๗
[๒๑๑] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นใหญ่ในโลก อะไรหนอเป็นสูงสุดแห่งภัณฑะ ทั้งหลาย อะไรหนอเป็นดังสนิมศัสตราในโลก อะไรหนอ เป็นเสนียดในโลก ใครหนอนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม แต่ ใครนำไปกลับเป็นที่รัก ใครหนอมาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อม ยินดีต้อนรับ ฯ [๒๑๒] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อำนาจเป็นใหญ่ในโลก หญิงเป็นสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย ความโกรธเป็นดังสนิมศัสตราในโลก พวกโจรเป็นเสนียด ในโลก โจรนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม แต่สมณะนำไปกลับ เป็นที่รัก สมณะมาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อมยินดีต้อนรับ ฯ
กามสูตรที่ ๘
[๒๑๓] เทวดาทูลถามว่า กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ไม่ควรให้สิ่งอะไร คนไม่ควรสละ อะไร อะไรหนอที่เป็นส่วนดีงามควรปล่อย แต่ที่เป็นส่วน ลามกไม่ควรปล่อย ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๑.

[๒๑๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุรุษไม่พึงให้ซึ่งตน ไม่พึงสละซึ่งตน วาจาที่ดีควรปล่อย แต่วาจาที่ลามกไม่ควรปล่อย
ปาเถยยสูตรที่ ๙
[๒๑๕] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง อะไรหนอเป็นที่มานอน แห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย อะไรหนอย่อมเสือกไสนรชนไป อะไรหนอละได้ยากในโลก สัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในอะไร เหมือนนกติดบ่วง ฯ [๒๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง ศิริ (คือมิ่งขวัญ) เป็นที่ มานอนแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย ความอยากย่อมเสือกไส นรชนไป ความอยากละได้ยากในโลก สัตว์เป็นอันมากติด อยู่ในความอยาก เหมือนนกติดบ่วง ฯ
ปัชโชตสูตรที่ ๑๐
[๒๑๗] เทวดาทูลถามว่า อะไรเป็นแสงสว่างในโลก อะไรหนอเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ ในโลก อะไรหนอเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วย การงาน อะไรหนอเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของเขา อะไรหนอ บุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง ย่อมพะนอเลี้ยง ดุจมารดาเลี้ยงดูบุตร เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดินอาศัย อะไรหนอเลี้ยงชีวิต ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๒.

[๒๑๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก ฝูงโคเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน ไถเป็น เครื่องต่อชีวิตของเขา ฝนย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง เหมือนมารดาเลี้ยงบุตร เหล่าสัตว์มีชีวิต ที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยฝนเลี้ยงชีวิต ฯ
อรณสูตรที่ ๑๑
[๒๑๙] เทวดาทูลถามว่า คนพวกไหนหนอไม่เป็นข้าศึกในโลกนี้ พรหมจรรย์ที่อยู่ จบแล้วของชนพวกไหน ย่อมไม่เสื่อม คนพวกไหนกำหนด รู้ความอยากได้ในโลกนี้ ความเป็นไทยมีแก่คนพวกไหนทุก เมื่อ มารดาบิดาหรือพี่น้องย่อมไหว้บุคคลนั้น ผู้ตั้งมั่นในศีล คือ ใครหนอ พวกกษัตริย์ย่อมอภิวาทใครหนอ ในธรรม วินัยนี้ ผู้มีชาติต่ำ ฯ [๒๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สมณะทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นข้าศึกในโลก พรหม- จรรย์ที่อยู่จบแล้วของสมณะทั้งหลายย่อมไม่เสื่อม สมณะ ทั้งหลายย่อมกำหนดรู้ความอยากได้ ความเป็นไทยย่อมมีแก่ สมณะทั้งหลายทุกเมื่อ มารดาบิดาหรือพี่น้องย่อมไหว้บุคคล นั้น ผู้ตั้งมั่น (ในศีล) คือสมณะ ถึงพวกกษัตริย์ก็อภิวาท สมณะในธรรมวินัยนี้ ผู้มีชาติต่ำ ฯ
จบ ฆัตวาวรรค ที่ ๘
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๓.

สูตรที่กล่าวในฆัตวาวรรคนั้น คือ
ฆัตวาสูตร รถสูตร วิตตสูตร วุฏฐิสูตร ภีตสูตร นชีรติสูตร อิสสร สูตร กามสูตร ปาเถยยสูตร ปัชโชตสูตร และอรณสูตร ฯ
จบ เทวตาสังยุต ฯ
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๔.

เทวปุตตสังยุต
วรรคที่ ๑
ปฐมกัสสปสูตรที่ ๑
[๒๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ ครั้งนั้น กัสสปเทวบุตร เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณอันงาม ยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กัสสปเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคทรงประกาศภิกษุไว้แล้ว แต่ไม่ทรงประกาศคำสอนของภิกษุ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสปเทวบุตร ถ้าอย่างนั้นคำสอนนั้นจง แจ่มแจ้ง ณ ที่นี้เถิด ฯ [๒๒๒] กัสสปเทวบุตร ได้กราบทูลว่า บุคคลพึงศึกษาคำสุภาษิต การเข้าไปนั่งใกล้สมณะ การนั่งในที่เร้นลับแต่ผู้เดียว และการสงบระงับจิต ฯ พระศาสดาได้ทรงพอพระทัย ฯ ลำดับนั้น กัสสปเทวบุตรทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัย จึงถวาย บังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ
ทุติยกัสสปสูตรที่ ๒
[๒๒๓] ... อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... กัสสปเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ภาษิตคาถานี้ ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๕.

ภิกษุพึงเป็นผู้เพ่งพินิจ มีจิตหลุดพ้นแล้ว พึงหวังธรรมอันไม่ เป็นที่เกิดขึ้นแห่งหฤทัย อนึ่ง ภิกษุผู้มุ่งต่อพระอรหัตนั้น พึงรู้ความเกิดขึ้น และ ความเสื่อมไปแห่งโลก พึงมีใจดี อันตัณหาและทิฐิไม่อิง อาศัยแล้ว ฯ
มาฆสูตรที่ ๓
[๒๒๔] ... อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น มาฆเทวบุตร เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณอันงามยิ่งนัก ยัง พระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๒๒๕] มาฆเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า บุคคลฆ่าอะไรสิ จึงจะอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรสิ จึงจะไม่เศร้า โศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงพอพระทัยการฆ่าธรรม อะไร ซึ่งเป็นธรรมอันเดียว ฯ [๒๒๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลฆ่าความโกรธแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ดูกรท้าววัตรภู อริยะทั้งหลาย สรรเสริญ การฆ่าความโกรธ ซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะว่า บุคคลฆ่าความโกรธนั้นแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ฯ
มาคธสูตรที่ ๔
[๒๒๗] มาคธเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๖.

แสงสว่างในโลก มีกี่อย่าง ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระ ผู้มีพระภาคแล้ว ไฉนจะพึงทราบข้อนั้นได้ ฯ [๒๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า แสงสว่างในโลกมี ๔ อย่าง อย่างที่ ๕ ไม่มีในโลกนี้ พระอาทิตย์ส่องสว่างในกลางวัน พระจันทร์ส่องสว่างใน กลางคืน ส่วนไฟส่องสว่างในที่นั้นๆ ทั้งกลางวันและ กลางคืน พระสัมพุทธเจ้าประเสริฐสุดกว่าแสงสว่างทั้งหลาย แสงสว่างนี้เป็นยอดเยี่ยม ฯ
ทามลิสูตรที่ ๕
[๒๒๙] ... อารามแห่งอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้ง นั้น ทามลิเทวบุตร เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณงามยิ่งนัก ยังพระวิหาร เชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๒๓๐] ทามลิเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ภาษิตคาถา นี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า พราหมณ์ผู้ไม่เกียจคร้าน พึงทำความเพียรนี้ เขาไม่ปรารถนา ภพด้วยเหตุนั้น เพราะละกามได้ขาดแล้ว ฯ [๒๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทามลิ กิจไม่มีแก่พราหมณ์ เพราะว่า พราหมณ์ทำกิจเสร็จ แล้ว บุคคลยังไม่ได้ท่าจอดในแม่น้ำทั้งหลาย เพียงใด เขา เป็นสัตว์เกิด ต้องพยายาม ด้วยตัวทุกอย่าง เพียงนั้น ก็ผู้นั้น ได้ท่าเป็นที่จอดแล้ว ยืนอยู่บนบก ไม่ต้องพยายาม เพราะ ว่า เขาเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๗.

ดูกรทามลิเทวบุตร นี้เป็นข้ออุปมาแห่งพราหมณ์ ผู้มีอาสวะ สิ้นแล้ว มีปัญญาเพ่งพินิจ ฯ พราหมณ์นั้น ถึงที่สุดแห่งชาติและมรณะแล้ว ไม่ต้องพยายาม เพราะเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ฯ
กามทสูตรที่ ๖
[๒๓๒] กามทเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรมทำได้โดยยาก ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค สมณธรรมทำได้โดยยากยิ่ง ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนทั้งหลาย ผู้ตั้งมั่นแล้วด้วยศีลแห่งพระเสขะ มีตนตั้งมั่น แล้ว ย่อมกระทำ แม้ซึ่งสมณธรรมอันบุคคลทำได้โดยยาก ความยินดี ย่อมนำสุขมาให้แก่บุคคลผู้เข้าถึงแล้วซึ่งความ เป็นผู้ไม่มีเรือน ฯ [๒๓๓] กามทเทวบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อที่หาได้ยาก นี้ คือความสันโดษ ยินดี ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบแห่งจิต ชนเหล่าใด มีใจ ยินดีแล้วในความอบรมจิต ทั้งกลางวันและกลางคืน ชน เหล่านั้น ย่อมได้แม้ซึ่งสิ่งที่ได้โดยยาก ฯ [๒๓๔] กามทเทวบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ธรรมชาติที่ ตั้งมั่นได้ยากนี้ คือจิต ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบอินทรีย์ ชนเหล่านั้น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๘.

ย่อมตั้งมั่น ซึ่งจิตที่ตั้งมั่นได้ยาก ดูกรกามทเทวบุตร อริยะ ทั้งหลายเหล่านั้นตัดข่ายแห่งมัจจุไปได้ ฯ [๒๓๕] กามทเทวบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทางที่ไปได้ ยาก คือ ทางที่ไม่เสมอ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกามทเทวบุตร อริยะทั้งหลาย ย่อมไปได้ แม้ในทางที่ ไม่เสมอ ที่ไปได้ยาก ผู้มิใช่อริยะ ย่อมเป็นผู้บ่ายศีรษะลงเบื้องต่ำ ตกไปในทาง อันไม่เสมอ ทางนั้นสม่ำเสมอสำหรับอริยะทั้งหลาย เพราะ อริยะทั้งหลาย เป็นผู้สม่ำเสมอ ในทางอันไม่เสมอ ฯ
ปัญจาลจัณฑสูตรที่ ๗
[๒๓๖] ปัญจาลจัณฑเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ ภาษิตคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า บุคคลผู้มีปัญญามาก ได้ประสบโอกาส ในที่คับแคบหนอ ผู้ใดได้รู้ฌาน เป็นผู้ตื่น ผู้นั้นเป็นผู้หลีกออกได้อย่างองอาจ เป็นมุนี ฯ [๒๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนเหล่าใด แม้อยู่ในที่คับแคบ แต่ได้เฉพาะแล้วซึ่งสติ เพื่อการบรรลุธรรม คือพระนิพพาน ชนเหล่านั้น ตั้งมั่น ดีแล้ว โดยชอบ ฯ
ตายนสูตรที่ ๘
[๒๓๘] ครั้งนั้น ตายนเทวบุตรผู้เป็นเจ้าลัทธิมาแต่ก่อน เมื่อราตรีปฐม ยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณอันงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไป

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖๙.

เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืน อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๒๓๙] ตายนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ภาษิตคาถา เหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา จงบรรเทากามเสียเถิด พราหมณ์ ฯ มุนีไม่ละกาม ย่อมไม่เข้าถึงความที่จิตแน่วแน่ได้ ฯ ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ พึง บากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่น เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติ ย่อหย่อน ยิ่งเรี่ยรายโทษดุจธุลี ฯ ความชั่วไม่ทำเสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วย่อมเผาผลาญ ในภายหลัง ฯ ก็กรรมใดทำแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็น ความดี ทำแล้วประเสริฐกว่า หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี ย่อม บาดมือนั่นเองฉันใด ฯ ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปเพื่อ เกิดในนรก ฉันนั้น ฯ กรรมอันย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรอันใดที่เศร้าหมอง และพรหมจรรย์ที่น่ารังเกียจ ทั้งสามอย่างนั้น ไม่มีผลมาก ฯ ตายนเทวบุตร ครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำ ประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ [๒๔๐] ครั้งนั้น โดยล่วงราตรีนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวบุตรนามว่าตายนะ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๗๐.

ยังเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ก็อภิวาทเราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ตายนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ภาษิต คาถาเหล่านี้ในสำนักของเราว่า ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา จงบรรเทากามเสียเถิด พราหมณ์ มุนีไม่ละกาม ย่อมไม่เข้าถึงความที่จิตแน่วแน่ได้ ฯ ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ พึง บากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่น เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติ ย่อหย่อน ยิ่งเรี่ยรายโทษดุจธุลี ฯ ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วย่อมเผาผลาญ ในภายหลัง ฯ ก็กรรมใดทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็น ความดี ทำแล้วประเสริฐกว่า หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี ย่อม บาดมือนั่นเอง ฉันใด ฯ ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปเพื่อ เกิดในนรก ฉันนั้น ฯ กรรมอันย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรอันใดที่เศร้าหมอง และพรหมจรรย์ที่น่ารังเกียจ ทั้งสามอย่างนั้น ไม่มีผลมาก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตายนเทวบุตรครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็อภิวาทเรา ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จง ศึกษา จงเล่าเรียน จงทรงจำตายนคาถาไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตายนคาถาประกอบ ด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๗๑.

จันทิมสูตรที่ ๙
[๒๔๑] พระผู้มีพระภาคประทับ ... เขตพระนครสาวัตถี ก็โดยสมัย นั้น จันทิมเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว ครั้งนั้นจันทิมเทวบุตรระลึกถึงพระ ผู้มีพระภาค ได้ภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่ พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ข้าพระ- องค์ถึงเฉพาะแล้ว ซึ่งฐานะอันคับขัน ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่ง แห่งข้าพระองค์นั้น ฯ [๒๔๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภจันทิมเทวบุตรได้ตรัส กะอสุรินทราหูด้วยพระคาถาว่า จันทิมเทวบุตร ถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นที่พึ่ง ดูกรราหู ท่านจงปล่อยจันทิมเทวบุตร พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลก ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๙๕๕-๑๕๖๕ หน้าที่ ๔๓-๗๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=955&Z=1565&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=15&item=143&items=100&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=15&item=143&items=100&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=15&item=143&items=100&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=15&item=143&items=100&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=143              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_15 https://84000.org/tipitaka/english/?index_15

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]