ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
             [๔๙๖] คราวนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว
เสด็จจาริกโดยหนทางอันจะไปสู่รัฐอาฬวี เมื่อเสด็จจาริกโดยลำดับ ได้เสด็จถึงรัฐอาฬวีแล้ว
ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น จึงท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้า ถวาย
บังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุชาวรัฐอาฬวีว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอ ให้สร้างกุฎี ซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์ที่ตนต้องขอเขามาเอง อันหาเจ้าของมิได้ เป็นส่วนเฉพาะตนเอง ใหญ่ไม่มีกำหนด กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ พวกเธอจึงต้องมีการวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไปว่า ท่านทั้งหลายจงให้บุรุษ จงให้แรงบุรุษ จงให้โค จงให้เกวียน จงให้มีด จงให้ขวาน จงให้ผึ่ง จงให้จอบ จงให้สิ่ว จงให้เถาวัลย์ จงให้ไม้ไผ่ จงให้หญ้ามุงกระต่าย จงให้หญ้าปล้อง จงให้ หญ้าสามัญ จงให้ดิน ดังนี้เป็นต้น ประชาชนที่ถูกเบียดเบียนด้วยการวิงวอน ด้วยการขอ พอเห็นภิกษุทั้งหลายเข้า บ้างก็หวาด บ้างก็สะดุ้ง บ้างก็หลบหนีไป บ้างก็เลี่ยงไปทางอื่น บ้างก็ เมินหน้า บ้างก็ปิดประตูบ้าน แม้พบแม่โคก็หลบหนี สำคัญว่าพวกภิกษุ ดังนี้ จริงหรือ? ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพวกเธอจึงได้ให้ สร้างกุฎีซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์ที่ตนต้องขอเขามาเอง อันหาเจ้าของมิได้ เป็นส่วนเฉพาะตน ใหญ่ไม่มี กำหนดเล่า กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ พวกเธอจึงต้องมีการวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไปว่า ท่าน ทั้งหลายจงให้บุรุษ จงให้แรงบุรุษ จงให้โค จงให้เกวียน จงให้มีด จงให้ขวาน จงให้ผึ่ง จงให้ จอบ จงให้สิ่ว จงให้เถาวัลย์ จงให้ไม้ไผ่ จงให้หญ้ามุงกระต่าย จงให้หญ้าปล้อง จงให้หญ้า- *สามัญ จงให้ดิน ดั่งนี้เป็นต้น ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไป เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และ เพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ครั้นพระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนภิกษุชาวรัฐอาฬวีโดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้ว ตรัสโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ ความเพียร โดยอเนกปริยายแล้ว ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่ เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่าดังนี้:-
เรื่องฤาษีสองพี่น้อง
[๔๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ฤาษีสองพี่น้องเข้าอาศัยแม่น้ำคงคาสำนักอยู่ ครั้งนั้น มณีกัณฐนาคราชขึ้นจากแม่น้ำคงคาเข้าไปหาฤาษีผู้น้อง ครั้นแล้ววงด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่อยู่บนศีรษะ เพราะความกลัวนาคราชนั้น ฤาษีผู้น้องได้ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิว พรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ฤาษีผู้พี่เห็นฤาษีผู้น้องซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น จึงได้ไต่ถามว่า เหตุไรเธอจึงซูบผอม เศร้าหมองมีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น น. ท่านพี่ มณีกัณฐนาคราชขึ้นจากแม่น้ำคงคา เข้ามาหาข้าพเจ้า ณ สถานที่นี้ ครั้นแล้ว วงข้าพเจ้าด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่บนศีรษะ เพราะความกลัวนาคราชนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น พ. ท่านต้องการไม่ให้นาคราชนั้นมาหรือ น. ข้าพเจ้าต้องการไม่ให้นาคราชนั้นมา พ. ท่านเห็นนาคราชนั้นมีอะไรบ้าง น. ข้าพเจ้าเห็นมีแก้วมณีประดับอยู่ที่คอ พ. ถ้าเช่นนั้น ท่านจงขอแก้วมณีกะนาคราชนั้นว่า ท่านจงให้แก้วมณีแก่ข้าพเจ้าๆ ต้องการแก้วมณี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้นมณีกัณฐนาคราชขึ้นจากแม่น้ำคงคาเข้าไปหาฤาษีผู้น้อง หยุดอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ฤาษีผู้น้องได้กล่าวขอแก้วมณี กะมณีกัณฐนาคราชว่า ขอท่านจงให้ แก้วมณีแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการแก้วมณี จึงมณีกัณฐนาคราชรำพึงว่า ภิกษุขอแก้วมณี ภิกษุ ต้องการแก้วมณี แล้วได้รีบกลับไป แม้ครั้งที่สอง มณีกัณฐนาคราชขึ้นจากแม่น้ำคงคาเข้าไปหาฤาษี ผู้น้องๆ เห็นมณีกัณฐนาคราชมาแต่ไกล ได้กล่าวขอแก้วมณี กะมณีกัณฐนาคราชว่า ขอท่านจงให้ แก้วมณีแก่ข้าพเจ้าๆ ต้องการแก้วมณี จึงมณีกัณฐนาคราชรำพึงว่า ภิกษุขอแก้วมณี ภิกษุต้องการ แก้วมณี แล้วได้กลับแต่ที่ไกลนั้นเทียว แม้ครั้งที่สามมณีกัณฐนาคราชกำลังจะขึ้นจากแม่น้ำคงคา ฤาษีผู้น้องได้เห็นมณีกัณฐนาคราชกำลังโผล่ขึ้นจากแม่น้ำคงคา ก็ได้กล่าวขอแก้วมณี กะมณีกัณฐ- *นาคราชว่า ขอท่านจงให้แก้วมณีแก่ข้าพเจ้าๆ ต้องการแก้วมณี ขณะนั้นมณีกัณฐนาคราชได้กล่าว ตอบฤาษี ผู้น้องด้วยคาถา ความว่าดังนี้:- ข้าวน้ำ ที่ดียิ่ง มากหลาย บังเกิดแก่ข้าพเจ้า เพราะเหตุแห่งแก้วมณีดวงนี้ ข้าพเจ้าจะให้แก้วนั้นแก่ท่านไม่ได้ ท่านเป็นคนขอจัด ข้าพเจ้าจักไม่มาสู่อาศรมของท่านอีกแล้ว ท่านขอแก้วกะข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าสะดุ้งกลัว ดังคนหนุ่มถือดาบซึ่งลับดีแล้วบนหินลับ ข้าพเจ้าจักไม่ให้แก้วนั้นแก่ท่านๆ เป็นคนขอจัด ข้าพเจ้าจักไม่มาสู่อาศรมของท่านอีกแล้ว ครั้งนั้นมณีกัณฐนาคราชได้หลีกไป พลางรำพึงว่า ภิกษุขอแก้วมณี ภิกษุต้องการแก้วมณี ได้หลีกไปอย่างนั้นแล้ว ไม่กลับมาอีก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อมาฤาษีผู้น้องได้ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็นยิ่งกว่าเก่า เพราะไม่ได้เห็นนาคราชผู้น่าดูนั้น ฤาษีผู้พี่ได้เห็นฤาษีผู้น้องซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วย เอ็นยิ่งกว่าเก่าจึงได้ถามดูว่า เพราะเหตุไรท่านจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลือง ขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็นยิ่งกว่าเก่า ฤาษีผู้น้องตอบว่า เพราะไม่ได้เห็นนาคราชผู้น่าดูนั้น จึงฤาษี ผู้พี่ได้กล่าวกะฤาษีผู้น้องด้วยคาถา ความว่าดังนี้:- บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นที่รักของเขา ไม่ควรขอสิ่งนั้น อนึ่ง คนย่อมเป็นที่เกลียดชัง ก็เพราะขอจัด นาคที่ถูกพราหมณ์ขอแก้วมณี จึงไม่มาให้พราหมณ์นั้นเห็นอีกเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย การวิงวอน การขอ ไม่เป็นที่พอใจของสัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้นแล้ว ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงหมู่มนุษย์เล่า.
เรื่องนกฝูงใหญ่
[๔๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง แถบ ภูเขาหิมพานต์ ณ สถานที่ไม่ห่างไพรสณฑ์นั้นมีหนองน้ำใหญ่ ครั้งนั้นนกฝูงใหญ่ กลางวันเที่ยว หาอาหารที่หนองน้ำนั้น เวลาเย็นเข้าอาศัยไพรสณฑ์นั้นสำนักอยู่ ภิกษุนั้นรำคาญเพราะเสียงนกฝูง นั้น จึงเข้าไปหาเรา ครั้นกราบไหว้เราแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เราได้ถามภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ ยังพอทนอยู่หรือ ยังพอครองอยู่หรือ เธอเดินทางมาด้วยความลำบากน้อยหรือ ก็นี่ เธอมาจากไหนเล่า ภิกษุนั้นกราบทูลว่า ยังพอทนอยู่ ยังพอครองอยู่ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าเดินทาง มาด้วยความลำบากเล็กน้อย พระพุทธเจ้าข้า มีไพรสณฑ์ใหญ่อยู่แถบภูเขาหิมพานต์ ณ สถานที่ไม่ ห่างไพรสณฑ์นั้นแล ๑- มีหนองน้ำใหญ่ ครั้นเวลากลางวัน นกฝูงใหญ่เที่ยวหาอาหารที่หนองน้ำนั้น เวลาเย็นก็เข้าอาศัยไพรสณฑ์นั้นสำนักอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าถูกเสียงนกฝูงนั้นรบกวน จึงหนีมาจาก ไพรสณฑ์นั้น พระพุทธเจ้าข้า ร. ดูกรภิกษุ ก็เธอต้องการจะไม่ให้นกฝูงนั้นมาหรือ? ภิ. ข้าพระพุทธเจ้าต้องการไม่ให้นกฝูงนั้นมา พระพุทธเจ้าข้า ร. ดูกรภิกษุ ถ้าเช่นนั้นเธอจงกลับไปที่ไพรสณฑ์นั้น เข้าอาศัยไพรสณฑ์นั้นแล้ว ใน ปฐมยามแห่งราตรี จงประกาศ ๓ ครั้ง ว่าดังนี้ แน่นกผู้เจริญทั้งหลาย นกทั้งหลายที่อาศัยอยู่ ในไพรสณฑ์นี้มีประมาณเท่าใด จงฟังเราๆ ต้องการขน นกทั้งหลายจงให้ขนแก่เรานกละหนึ่งขน ในมัชฌิมยามแห่งราตรีก็จงประกาศ ๓ ครั้ง ว่าดังนี้ แน่นกผู้เจริญทั้งหลาย นกทั้งหลายที่อาศัยอยู่ใน ไพรสณฑ์นี้ มีประมาณเท่าใด จงฟังเราๆ ต้องการขน นกทั้งหลายจงให้ขนแก่เรานกละหนึ่งขน ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ก็จงประกาศ ๓ ครั้ง ว่าดังนี้ แน่นกผู้เจริญทั้งหลาย นกทั้งหลายที่อาศัย อยู่ในไพรสณฑ์นี้ มีประมาณเท่าใด จงฟังเราๆ ต้องการขน นกทั้งหลายจงให้ขนแก่เรานกละ หนึ่งขน จึงภิกษุรูปนั้นกลับไปที่ไพรสณฑ์นั้น เข้าอาศัยไพรสณฑ์นั้นแล้ว ในปฐมยามแห่งราตรี ประกาศ ๓ ครั้งว่าดังนี้ แน่นกผู้เจริญทั้งหลาย ... ในมัชฌิมยามแห่งราตรี ประกาศ ๓ ครั้งว่าดังนี้ แน่นกผู้เจริญทั้งหลาย ... ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ประกาศ ๓ ครั้ง ว่าดังนี้ แน่นกผู้เจริญทั้งหลาย ... ครั้นนกฝูงนั้นทราบว่า ภิกษุขอขน ภิกษุต้องการขนดังนี้ ได้หลีกไปจากไพรสณฑ์นั้น ได้หลีกไป อย่างนั้นเทียว ไม่กลับมาอีก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการวิงวอน การขอ จักไม่ได้เป็นที่พึงใจของพวกสัตว์ดิรัจฉาน เหล่านั้นแล้ว ก็จะป่วยกล่าวไปไยเล่าถึงหมู่สัตว์ที่เกิดมาเป็นมนุษย์.
เรื่องรัฐบาลกุลบุตร
[๔๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว บิดาของรัฐบาลกุลบุตรได้กล่าวถามรัฐบาล กุลบุตรด้วยคาถา ความว่าดังนี้:- แน่ะพ่อรัฐบาล เออก็คนเป็นอันมากที่พากันมาขอเรา เราไม่รู้จัก ไฉนเจ้าไม่ ขอเรา รัฐบาลกุลบุตรได้กล่าวตอบบิดาด้วยคาถา ความว่าดังนี้:- คนผู้ขอ ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ถูกขอ ฝ่ายคนผู้ถูกขอ เมื่อไม่ให้ ก็ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ขอ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ขอท่าน ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นที่เกลียดชังของท่านเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย รัฐบาลกุลบุตรนั้นยังได้กล่าวตอบอย่างนี้กะบิดาของตนแล้ว ก็จะป่วย กล่าวไปไยเล่าถึงคนอื่นต่อคนอื่น. [๕๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โภคสมบัติของคฤหัสถ์รวบรวมได้ยาก แม้ได้มาแล้วก็ยังยาก ที่จะตามรักษา ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย เมื่อโภคสมบัตินั้นอันพวกคฤหัสถ์รวบรวมได้ยาก แม้เขา ได้มาแล้วก็ยังยากที่จะตามรักษาอย่างนี้ พวกเธอได้มีการวิงวอน มีการขอเขาบ่อยครั้ง หลายคราว แล้วว่า ขอท่านทั้งหลายจงให้คน จงให้แรงงาน จงให้โค จงให้เกวียน จงให้มีด จงให้ขวาน จงให้ผึ่ง จงให้จอบ จงให้สิ่ว จงให้เถาวัลย์ จงให้ไม้ไผ่ จงให้หญ้ามุงกระต่าย จงให้หญ้าปล้อง จงให้หญ้าสามัญ จงให้ดิน ดังนี้เป็นต้น การกระทำของพวกเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำ ของพวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุชาวรัฐอาฬวีโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่ง ความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ ความเพียร โดยเอนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่อง นั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่ม บุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุ ผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะเกิดใน ปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือ ตามพระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๐. ๖. อนึ่ง ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการ ขอเอาเอง พึงสร้างให้ได้ประมาณ ประมาณในการสร้างกุฎีนั้นดังนี้ โดยยาว ๑๒ คืบ โดยกว้างในร่วมใน ๗ คืบ ด้วยคืบสุคต พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุ เหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุสร้างกุฎีด้วยอาการขอเอา เอง ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ หรือสร้างให้ล่วงประมาณเป็นสังฆาทิเสส.
เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๕๐๑] ที่ชื่อว่า อาการขอเอาเอง คือ ขอเองซึ่งคนก็ดี แรงงานก็ดี โคก็ดี เกวียนก็ดี มีดก็ดี ขวานก็ดี ผึ่งก็ดี จอบก็ดี สิ่วก็ดี เถาวัลย์ก็ดี ไม้ไผ่ก็ดี หญ้ามุงกระต่ายก็ดี หญ้าปล้อง ก็ดี หญ้าสามัญก็ดี ดินก็ดี ที่ชื่อว่า กุฎี ได้แก่ ที่อยู่ซึ่งโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายในก็ตาม ซึ่งโบกฉาบปูนไว้เฉพาะ ภายนอกก็ตาม ซึ่งโบกฉาบปูนไว้ทั้งภายในทั้งภายนอกก็ตาม บทว่า สร้าง คือทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม บทว่า อันหาเจ้าของมิได้ คือไม่มีใครๆ อื่น ที่เป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม เป็นเจ้าของ บทว่า เฉพาะตนเอง คือ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว คำว่า พึงสร้างให้ได้ประมาณ ประมาณในการสร้างกุฎีนั้นดังนี้โดยยาว ๑๒ คืบ ด้วยคืบสุคต นั้น คือ วัดนอกฝาผนัง คำว่า โดยกว้างในร่วมใน ๗ คืบ นั้น คือ วัดร่วมในฝาผนัง [๕๐๒] คำว่า พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ นั้น มีพระพุทธาธิบายไว้ว่าดังนี้ ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีนั้น พึงให้แผ้วถางพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีนั้นเสียก่อน แล้วเข้าไปหาสงฆ์ห่มผ้าอุตรา- *สงค์เฉวียงเบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย ผู้แก่พรรษากว่า แล้วนั่นกระหย่งประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าใคร่จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการขอเอาเอง ท่าน เจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอสงฆ์ให้ตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎี พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม ถ้าสงฆ์ทั้งหมดจะอุตสาหะไปตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีได้ ก็พึงไปตรวจดูด้วยกันทั้งหมด ถ้าไม่ อุตสาหะ ในหมู่สงฆ์นั้น ภิกษุเหล่าใดฉลาดสามารถจะรู้ได้ว่า เป็นสถานมีผู้จองไว้หรือไม่ เป็น สถานมีชานเดินได้รอบหรือไม่ สงฆ์พึงขอสมมติภิกษุเหล่านั้นไปแทนสงฆ์
วิธีสมมติ
ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติ ทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
กรรมวาจาขอสมมติให้ภิกษุตรวจดูพื้นที่
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ เป็นผู้ใคร่จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการขอเอาเอง เธอขอสงฆ์ให้ตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎี ถ้าความพร้อมพรั่ง ของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุทั้งหลายมีชื่อนี้และมีชื่อนี้ เพื่อตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎี ของภิกษุมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงพึงข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ เป็นผู้ใคร่จะสร้าง กุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการขอเอาเอง เธอขอสงฆ์ให้ตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้าง กุฎี สงฆ์สมมติภิกษุทั้งหลายมีชื่อนี้และมีชื่อนี้ เพื่อตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีของภิกษุมีชื่อนี้ การสมมติภิกษุทั้งหลายมีชื่อนี้และมีชื่อนี้ เพื่อตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีของภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่ ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ภิกษุทั้งหลายมีชื่อนี้และมี ชื่อนี้ อันสงฆ์สมมติแล้ว เพื่อตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีของภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๖๒๒๘-๑๖๔๑๐ หน้าที่ ๖๒๔-๖๓๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=1&A=16228&Z=16410&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=1&item=496&items=7              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=1&item=496&items=7&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=1&item=498&items=7              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=1&item=498&items=7              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=496              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_1 https://84000.org/tipitaka/english/?index_1

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]