ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
             [๒๘๔] ยมกปาฏิหาริยญาณของพระตถาคตเป็นไฉน ฯ
             ในญาณนี้ พระตถาคตย่อมทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ไม่สาธารณะด้วยหมู่
พระสาวก คือ ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน สายน้ำพุ่งออกจากพระกาย
เบื้องล่าง ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน
ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง ท่อไฟพุ่ง
ออกจากพระกายเบื้องหลัง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า ท่อไฟพุ่งออกจาก
พระเนตรเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย ท่อไฟพุ่งออกจาก
พระเนตรเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากช่อง
พระกรรณเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องซ้าย ท่อไฟพุ่งออกจาก
ช่องพระกรรณเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องขวา ท่อไฟพุ่ง
ออกจากช่องพระนาสิกเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย
ท่อไฟพุ่งออกจากช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระนาสิก
เบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากจะงอย
พระอังสาเบื้องซ้าย ท่อไฟพุ่งออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่ง
ออกจากจะงอยพระอังสาเบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องขวา สายน้ำ
พุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องซ้าย ท่อไฟพุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องซ้าย สายน้ำ
พุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากพระปรัสเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออก
จากพระปรัสเบื้องซ้าย ท่อไฟพุ่งออกจากพระปรัสเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออก
จากพระปรัสเบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากพระบาทเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออก
จากพระบาทเบื้องซ้าย ท่อไฟพุ่งออกจากพระบาทเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจาก
พระบาทเบื้องขวา ท่อไฟพุ่งออกจากพระองคุลี สายน้ำพุ่งออกจากระหว่างพระองคุลี
ท่อไฟพุ่งออกจากระหว่างพระองคุลี สายน้ำพุ่งออกจากพระองคุลี ท่อไฟพุ่งออก
จากพระโลมาเส้นหนึ่ง ๆ สายน้ำพุ่งออกจากพระโลมาเส้นหนึ่ง ๆ ท่อไฟพุ่งออก
จากขุมพระโลมา สายน้ำพุ่งออกจากขุมพระโลมา (พระรัศมีแผ่ซ่านออกจาก
พระสรีรกายด้วยสามารถ) แห่งวรรณ ๖ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว
สีแสด สีเลื่อมประภัสสร พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรม พระพุทธนิมิตประทับยืน
ประทับนั่ง หรือทรงไสยาสน์ พระผู้มีพระภาคประทับยืน พระพุทธนิมิตเสด็จ
จงกรม ประทับนั่งหรือทรงไสยาสน์ พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง พระพุทธนิมิต
เสด็จจงกรม ประทับยืน หรือทรงไสยาสน์ พระผู้มีพระภาคทรงไสยาสน์
พระพุทธนิมิตเสด็จจงกรม ประทับยืน หรือประทับนั่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรม
ประทับนั่ง หรือทรงไสยาสน์ พระพุทธนิมิตประทับยืน พระผู้มีพระภาคเสด็จ
จงกรม ประทับยืน หรือทรงไสยาสน์ พระพุทธนิมิตประทับนั่ง พระผู้มีพระภาค
ประทับยืน ประทับนั่งหรือเสด็จจงกรม พระพุทธนิมิตทรงไสยาสน์ นี้เป็นยมก-
*ปาฏิหาริยญาณของพระตถาคต ฯ
             [๒๘๕] มหากรุณาสมาปัตติญาณของพระตถาคตเป็นไฉน ฯ
             พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นอยู่ด้วยอาการ
เป็นอันมาก จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์ คือพระผู้มีพระภาคทั้งหลาย
ผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาสอันไฟติดโชนแล้ว จึงทรงแผ่พระมหา-
*กรุณาไปในหมู่สัตว์ พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นอยู่ว่า โลกสันนิวาส
ยกพลแล้ว ... โลกสันนิวาสเคลื่อนพลแล้ว ... โลกสันนิวาสเดินทางผิดแล้ว ...
โลกอันชรานำเข้าไป มิได้ยั่งยืน ... โลกไม่มีที่ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่ ... โลกไม่มี
อะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป ... โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม
เป็นทาสแห่งตัณหา ... โลกสันนิวาสไม่มีที่ต้านทาน ... โลกสันนิวาสไม่มีที่เร้น ...
โลกสันนิวาสไม่มีที่พึ่ง ... โลกสันนิวาสไม่เป็นที่พึ่งของใคร ... โลกสันนิวาส
ฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ... โลกสันนิวาสมีลูกศร ถูกลูกศรเป็นจำนวนมากเสียบแทงแล้ว
ใครอื่นนอกจากเราผู้จะถอนลูกศรทั้งหลายของโลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ... โลก-
*สันนิวาสมีความมืดตื้อคืออวิชชาปิดกั้นไว้ ถูกใส่เข้าไปยังกรงกิเลส ใครอื่นนอกจาก
เราซึ่งจะแสดงธรรมเป็นแสงสว่างแก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ... โลกสันนิวาส
ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา เป็นผู้มืด อันอวิชชาหุ้มห่อไว้ ยุ่งดังเส้นด้าย พันกันเป็น
กลุ่มก้อน นุงนังดังหญ้าปล้อง หญ้ามุงกระต่าย ไม่ล่วงพ้นสงสาร คือ อบาย
ทุคติและวินิบาต ... โลกสันนิวาสถูกอวิชชามีโทษเป็นพิษแทงติดอยู่แล้ว มีกิเลส
เป็นโทษ ... โลกสันนิวาสรกชัฏด้วยราคะโทสะและโมหะ ใครอื่นนอกจากเรา
ผู้จะช่วยสางรกชัฏให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ... โลกสันนิวาสถูกกองตัณหา
สวมไว้ ... โลกสันนิวาสถูกข่ายตัณหาครอบไว้ ... โลกสันนิวาสถูกกระแสตัณหา
พัดไป ... โลกสันนิวาสถูกตัณหาเป็นเครื่องคล้องไว้ ... โลกสันนิวาสซ่านไป
เพราะตัณหานุสัย ... โลกสันนิวาสเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะตัณหา ...
โลกสันนิวาสเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะตัณหา ... โลกสันนิวาสถูกกองทิฐิ
สวมไว้ ... โลกสันนิวาสถูกข่ายทิฐิครอบไว้ ... โลกสันนิวาสถูกกระแสทิฐิพัดไป
... โลกสันนิวาสถูกทิฐิเป็นเครื่องคล้อง คล้องไว้ ... โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะ
ทิฏฐานุสัย ... โลกสันนิวาสเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะทิฏฐิ ... โลก-
*สันนิวาสเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะทิฏฐิ ... โลกสันนิวาสไปตามชาติ ...
โลกสันนิวาสซมซานไปเพราะชรา ... โลกสันนิวาสถูกพยาธิครอบงำ ...
โลกสันนิวาสถูกมรณะห้ำหั่น ... โลกสันนิวาสตกอยู่ในกองทุกข์ ... โลกสันนิวาส
ถูกตัณหาซัดไป โลกสันนิวาสถูกกำแพงคือชราแวดล้อมไว้ ... โลกสันนิวาส
ถูกบ่วงมัจจุคล้องไว้ ... โลกสันนิวาสถูกผูกไว้ด้วยเครื่องผูกเป็นอันมาก คือ
เครื่องผูกคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฐิ กิเลส ทุจริต ใครอื่น
นอกจากเราผู้จะช่วยแก้เครื่องผูกให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ... โลก-
*สันนิวาสเดินไปตามทางแคบมาก ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยชี้ทางสว่างให้แก่
โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ... โลกสันนิวาสถูกความกังวลเป็นอันมากพัวพันไว้
ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยตัดความกังวลให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ...
โลกสันนิวาสตกลงไปในเหวใหญ่ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยฉุดโลกสันนิวาสนั้น
ให้ขึ้นพ้นจากเหว เป็นไม่มี ...  โลกสันนิวาสเดินทางกันดารมาก ใครอื่นนอกจาก
เราผู้จะช่วยให้โลกสันนิวาสนั้นข้ามพ้นทางกันดารได้ เป็นไม่มี ... โลกสันนิวาส
เดินทางไปในสังสารวัฏใหญ่ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยให้โลกสันนิวาสนั้นพ้น
จากสังสารวัฏได้ เป็นไม่มี ...  โลกสันนิวาสกลิ้งเกลือกอยู่ในหล่มใหญ่ ใครอื่น
นอกจากเราผู้จะช่วยฉุดโลกสันนิวาสนั้น ให้พ้นจากหล่มได้ เป็นไม่มี ...
โลกสันนิวาสร้อนอยู่บนเครื่องร้อนเป็นอันมากถูกไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟ
คือโมหะ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
ครอบงำไว้ ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยดับไฟเหล่านั้นให้แก่โลกสันนิวาสนั้นได้
เป็นไม่มี ... โลกสันนิวาสทุรนทุราย เดือดร้อนเป็นนิตย์ ไม่มีอะไรต้านทาน
ต้องรับอาชญา ต้องทำตามอาชญา ... โลกสันนิวาสถูกผูกด้วยเครื่องผูกในวัฏฏะ
ปรากฏอยู่ที่ตะแลงแกง ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยโลกสันนิวาสนั้นให้หลุดพ้นได้
เป็นไม่มี ... โลกสันนิวาสไม่มีที่พึ่ง ควรได้รับความกรุณาอย่างยิ่ง ใครอื่นนอกจาก
เราผู้จะช่วยต้านทานให้แก่โลกสันนิวาสนั้น เป็นไม่มี ... โลกสันนิวาสถูกทุกข์
เสียบแทงบีบคั้นมานาน ... โลกสันนิวาสติดใจกระหายอยู่เป็นนิตย์ ... โลก
สันนิวาสเป็นโลกบอด ไม่มีจักษุ ... โลกสันนิวาสมีนัยน์ตาเสื่อมไป ไม่มีผู้นำ
... โลกสันนิวาสแล่นไปสู่ทางผิด หลงทางแล้ว ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยพาโลก
สันนิวาสนั้นมาสู่ทางอริยะ เป็นไม่มี ... โลกสันนิวาสแล่นไปสู่ห้วงโมหะ
ใครอื่นนอกจากเราผู้จะช่วยฉุดโลกสันนิวาสนั้นให้ขึ้นจากห้วงโมหะ เป็นไม่มี ...
โลกสันนิวาสถูกทิฐิ ๒ อย่างกลุ้มรุม ... โลกสันนิวาสปฏิบัติผิดด้วยทุจริต ๓ อย่าง ...
โลกสันนิวาสเต็มไปด้วยกิเลสเครื่องประกอบ ถูกกิเลสเครื่องประกอบ ๔ อย่าง
ประกอบไว้ ... โลกสันนิวาสถูกกิเลสเครื่องร้อยกรอง ๔ อย่างร้อยไว้ ...
โลกสันนิวาสถือมั่นด้วยอุปาทาน ๔ ... โลกสันนิวาสขึ้นสู่คติ ๕ ... โลกสันนิวาส
กำหนัดอยู่ด้วยกามคุณ ๕ ... โลกสันนิวาสถูกนิวรณ์ ๕ ทับไว้ ... โลกสันนิวาสวิวาท
กันอยู่ด้วยมูลเหตุวิวาท ๖ อย่าง ... โลกสันนิวาสกำหนัดอยู่ด้วยกองตัณหา ๖ ...
โลกสันนิวาสถูกทิฐิ ๖ กลุ้มรุมแล้ว ... โลกสันนิวาสซ่านไปเพราะอนุสัย ๗ ...
โลกสันนิวาสถูกสังโยชน์ ๗ เกี่ยวคล้องไว้ ... โลกสันนิวาสฟูขึ้นเพราะมานะ ๗
... โลกสันนิวาสเวียนอยู่เพราะโลกธรรม ๘ ... โลกสันนิวาสเป็นผู้ดิ่งลงเพราะ
มิจฉัตตะ ๘ ... โลกสันนิวาสประทุษร้ายกันเพราะบุรุษโทษ ๘ ... โลกสันนิวาส
มุ่งร้ายกันเพราะอาฆาตวัตถุ ๙ ... โลกสันนิวาสพองขึ้นเพราะมานะ ๙ อย่าง ...
โลกสันนิวาสกำหนัดอยู่เพราะธรรมอันมีตัณหาเป็นมูล ๙ ... โลกสันนิวาสย่อม
เศร้าหมองเพราะกิเลสวัตถุ ๑๐ ... โลกสันนิวาสมุ่งร้ายกันเพราะอาฆาตวัตถุ ๑๐ ...
โลกสันนิวาสประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ... โลกสันนิวาสถูกสังโยชน์ ๑๐
เกี่ยวคล้องไว้ ... โลกสันนิวาสเป็นผู้ดิ่งลงเพราะมิจฉัตตะ ๑๐ ... โลกสันนิวาส
ประกอบด้วยมิจฉาทิฐิมีวัตถุ ๑๐ ... โลกสันนิวาสประกอบด้วยสักกายทิฐิมีวัตถุ ๑๐
... โลกสันนิวาสต้องเนิ่นช้าเพราะตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้า ๑๐๘ พระผู้มีพระภาค
ทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่า โลกสันนิวาสถูกทิฐิ ๖๒ กลุ้มรุม
จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปให้หมู่สัตว์ว่า ส่วนเราเป็นผู้ข้ามได้แล้ว แต่สัตว์โลก
ยังข้ามไม่ได้ ส่วนเราเป็นผู้พ้นไปแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่พ้นไป ส่วนเราทรมาน
ได้แล้ว แต่สัตว์โลกยังทรมานไม่ได้ ส่วนเราสงบแล้ว  แต่สัตว์โลกยังไม่สงบ
ส่วนเราเป็นผู้เบาใจแล้ว แต่สัตว์โลกยังไม่เบาใจ ส่วนเราเป็นผู้ดับรอบแล้ว
แต่สัตว์โลกยังไม่ดับรอบ ก็เราเป็นผู้ข้ามได้แล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกข้ามได้ด้วย
เราเป็นผู้พ้นไปแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกพ้นไปด้วย เราทรมานได้แล้ว จะช่วย
ให้สัตว์โลกทรมานได้ด้วย เราเป็นผู้สงบแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกสงบด้วย
เราเป็นผู้เบาใจแล้ว จะช่วยให้สัตว์โลกเบาใจด้วย เราเป็นผู้ดับรอบแล้ว จะช่วย
ให้สัตว์โลกดับรอบด้วย พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นดังนี้
จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์ นี้เป็นมหากรุณาสมาปัตติญาณของ
พระตถาคต ฯ
             [๒๘๖] สัพพัญญุตญาณของพระตถาคตเป็นไฉน ฯ
             ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สังขตธรรมและอสังขตธรรม
ทั้งปวง มิได้มีส่วนเหลือ ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มี
เครื่องกั้น ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้ธรรมส่วนอนาคตทั้งหมด ...
รู้ธรรมส่วนอดีตทั้งหมด ... รู้ธรรมส่วนปัจจุบันทั้งหมด ... รู้จักษุและรูปทั้งหมดว่า
อย่างนี้ ... รู้หูและเสียง ฯลฯ จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะ
ใจและธรรมารมณ์ทั้งหมดว่าอย่างนี้ ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณ
นั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ
             [๒๘๗] ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพไม่เที่ยง สภาพ
เป็นทุกข์ สภาพเป็นอนัตตา ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า
ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ... รู้สภาพไม่เที่ยง สภาพเป็นทุกข์ สภาพเป็นอนัตตา
แห่งรูป ตลอดทั้งหมด ... รู้สภาพไม่เที่ยง สภาพเป็นทุกข์ สภาพเป็นอนัตตา
แห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตลอดทั้งหมด ... รู้สภาพไม่เที่ยง สภาพ
เป็นทุกข์ สภาพเป็นอนัตตาแห่งจักษุ ฯลฯ แห่งชราและมรณะ ตลอดทั้งหมด
ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ
             [๒๘๘] ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพธรรมที่ควรรู้ยิ่ง
ด้วยอภิญญาทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น
... รู้สภาพที่ควรกำหนดรู้ด้วยปริญญา ... รู้สภาพที่ควรละด้วยปหานะ ... รู้สภาพ
ที่ควรเจริญด้วยภาวนา ... รู้สภาพที่ควรทำให้แจ้งด้วยสัจฉิกิริยาตลอดทั้งหมด ... รู้
สภาพที่เป็นกองแห่งขันธ์ตลอดทั้งหมด ... รู้สภาพที่ทรงไว้แห่งธาตุตลอดทั้งหมด
... รู้สภาพเป็นที่ต่อแห่งอายตนะตลอดทั้งหมด ... รู้สภาพที่ปัจจัยปรุงแต่ง
แห่งสังขตธรรมตลอดทั้งหมด ... รู้สภาพที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งแห่งอสังขตธรรมตลอด
ทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ
             [๒๘๙] ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้กุศลธรรมตลอดทั้งหมด
ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้น ไม่มีเครื่องกั้น ... รู้อกุศลธรรม
อัพยากตธรรม กามาวจรธรรม รูปาวจรธรรม อรูปาวจรธรรม โลกุตตรธรรม
ตลอดทั้งหมด ... รู้สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์ สภาพเป็นเหตุเกิดแห่งสมุทัย
สภาพเป็นที่ดับแห่งนิโรธ สภาพเป็นทางแห่งมรรค ตลอดทั้งหมด ชื่อว่า
อนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ
             [๒๙๐] ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้สภาพปัญญาอัน
แตกฉานดีในอรรถแห่งอรรถปฏิสัมภิทา ตลอดทั้งหมด ฯลฯ รู้สภาพปัญญา
อันแตกฉานดีในธรรมแห่งธรรมปฏิสัมภิทาสภาพปัญญาอันแตกฉานดีในนิรุตติแห่ง
นิรุตติปฏิสัมภิทา สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในปฏิภาณปฏิสัมภิทา ตลอดทั้งหมด
... รู้อินทรียปโรปยัตตญาณ รู้ญาณในฉันทะอันมานอน และกิเลสอันนอน
เนื่องของสัตว์ทั้งหลาย รู้ยมกปาฏิหาริยญาณ รู้มหากรุณาสมาปัตติญาณ ตลอด
ทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ
             [๒๙๑] ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า รู้อารมณ์ที่ได้เห็น ที่
ได้ฟัง ที่ได้ทราบ ที่ได้รู้แจ้ง ที่ได้ถึง ที่แสวงหา ที่เที่ยวตามหาด้วยใจ
แห่งโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แห่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ
พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ตลอดทั้งหมด ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า
ในญาณนั้นไม่มีเครื่องกั้น ฯ
                          บทธรรมที่พระตถาคตไม่ทรงเห็นแล้ว ไม่มีในโลกนี้ อนึ่ง
                          บทธรรมน้อยหนึ่งที่ควรรู้ พระตถาคตไม่ทรงรู้แล้ว ไม่มี
                          พระตถาคตทรงทราบยิ่ง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องนำไปทั้งปวง
                          เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงเป็นพระสมันตจักษุ (ผู้ทรง
                          เห็นทั่ว) ฯ
             [๒๙๒] คำว่า สมนฺตจกฺขุ ความว่า ชื่อว่าสมันตจักษุ เพราะอรรถ
ว่ากระไร ฯ
             พระพุทธญาณ ๑๔ คือ ญาณในทุกข์ ๑ ญาณในทุกขสมุทัย ๑ ญาณ
ในทุกขนิโรธ ๑ ญาณในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ๑ ญาณในอรรถปฏิสัมภิทา ๑
ญาณในธรรมปฏิสัมภิทา ๑ ญาณในนิรุตติปฏิสัมภิทา ๑ ญาณในปฏิภาณ
ปฏิสัมภิทา ๑ ญาณในความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ ๑ ญาณในฉันทะเป็นที่
มานอนและกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย ๑ ญาณในยมกปาฏิหาริย์ ๑
ญาณในมหากรุณาสมาบัติ ๑ สัพพัญญุตญาณ ๑ อนาวรณญาณ ๑ บรรดา
พระพุทธญาณ ๑๔ ประการนี้ พระญาณ ๘ ข้างต้น เป็นญาณทั่วไปด้วย
พระสาวก พระญาณ ๖ ไม่ทั่วไปด้วยพระสาวก ฯ
             [๒๙๓] ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า สภาพที่ทนได้ยาก
แห่งทุกข์ พระตถาคตทรงทราบแล้วตลอดทั้งหมด ที่มิได้ทรงทราบไม่มี ชื่อว่า
อนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้น ไม่มีเครื่องกั้น สภาพที่ทนได้ยาก
แห่งทุกข์ พระตถาคตทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แจ้งแล้ว ทรงทำให้แจ้งแล้ว ทรงถูกต้อง
แล้วตลอดทั้งหมดด้วยพระปัญญา ที่มิได้ทรงถูกต้องแล้วด้วยพระปัญญาไม่มี ...
สภาพเป็นเหตุเกิดแห่งสมุทัย สภาพเป็นที่ดับแห่งนิโรธ สภาพเป็นทางแห่งมรรค
สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในอรรถแห่งอรรถปฏิสัมภิทา สภาพปัญญาอันแตกฉานดี
ในธรรมแห่งธรรมปฏิสัมภิทา สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในนิรุตติแห่งนิรุตติ
ปฏิสัมภิทา สภาพปัญญาอันแตกฉานดีในปฏิภาณแห่งปฏิภาณปฏิสัมภิทา พระ-
*ตถาคตทรงทราบแล้ว ทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แจ้งแล้ว ทรงทำให้แจ้งแล้ว ทรงถูกต้องแล้ว
ตลอดทั้งหมดด้วยด้วยพระปัญญา ที่มิได้ทรงถูกต้องแล้วด้วยพระปัญญาไม่มี ...
ญาณในความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ ญาณในฉันทะอันมานอนและกิเลสอันนอน
เนื่องของสัตว์ทั้งหลาย ญาณในยมกปาฏิหาริย์ ญาณในมหากรุณาสมาบัติ
พระตถาคตทรงทราบแล้ว ทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แจ้งแล้ว ทรงทำให้แจ้งแล้ว
ทรงถูกต้องแล้วตลอดทั้งหมดด้วยพระปัญญา ที่มิได้ทรงถูกต้องด้วยพระปัญญา
ไม่มี ... ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่า อารมณ์ที่ได้เห็น ที่ได้ฟัง
ที่ได้ทราบ ที่ได้รู้แจ้ง ที่ได้ถึง ที่แสวงหา ที่เที่ยวตามหาด้วยใจ แห่งโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แห่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ พระตถาคตทรงทราบแล้ว ทรงเห็นแล้ว ทรงรู้แจ้งแล้ว ทรงทำ
ให้แจ้งแล้ว ทรงถูกต้องแล้วตลอดทั้งหมดด้วยพระปัญญา ที่มิได้ทรงถูกต้องแล้ว
ด้วยพระปัญญาไม่มี ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะอรรถว่า ในญาณนั้นไม่มี
เครื่องกั้น ฯ
                          บทธรรมที่พระตถาคตไม่ทรงเห็นแล้ว ไม่มีในโลกนี้ อนึ่ง
                          บทธรรมน้อยหนึ่งที่ควรรู้ พระตถาคตไม่ทรงรู้แล้วไม่มี
                          พระตถาคตทรงทราบยิ่งซึ่งธรรมเป็นเครื่องนำไปทั้งปวง เพราะ
                          ฉะนั้น พระตถาคตจึงเป็นพระสมันตจักษุ ฉะนี้แล ฯ
จบญาณกถา ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ บรรทัดที่ ๓๑๓๐-๓๓๓๑ หน้าที่ ๑๒๘-๑๓๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=31&A=3130&Z=3331&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=31&item=284&items=10              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=31&item=284&items=10&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=31&item=284&items=10              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=31&item=284&items=10              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=284              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_31 https://84000.org/tipitaka/english/?index_31

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]