ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
             [๖๖๗] คำว่า ผู้เดียว ในอุเทศว่า เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป ดังนี้ ความว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า ผู้เดียวโดยส่วนแห่งบรรพชา ชื่อว่า ผู้เดียวเพราะอรรถว่าไม่มี
เพื่อนสอง เพราะอรรถว่าละตัณหา เพราะปราศจากราคะโดยส่วนเดียว เพราะปราศจากโทสะ
โดยส่วนเดียว เพราะปราศจากโมหะโดยส่วนเดียว เพราะไม่มีกิเลสโดยส่วนเดียว เพราะไป
ตามเอกายนมรรค เพราะตรัสรู้ปัจเจกสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยมแต่ผู้เดียว.
             พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า ผู้เดียวโดยส่วนแห่งบรรพชาอย่างไร? พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น ตัดกังวลในฆราวาส ตัดกังวลในบุตรและภรรยา ตัดกังวลในญาติ ตัดกังวล
ในความสั่งสม ปลงผมและหนวดแล้ว ครองผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความ
เป็นผู้ไม่มีกังวล เป็นผู้เดียวเที่ยวไป เที่ยวไปทั่ว เดินไป พักผ่อน รักษา บำรุง เยียวยา
เพราะฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้เดียวโดยส่วนแห่งบรรพชาอย่างนี้.
             พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า ผู้เดียวเพราะอรรถว่าไม่มีเพื่อนสองอย่างไร? พระ-
*ปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้เดียวเสพอาศัยเสนาสนะ คือ ป่าและป่าชัฏ
อันสงัด มีเสียงน้อย ปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากลม แต่ชนผู้สัญจรไปมา สมควรทำกรรม
ลับแห่งมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่ง
ผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐาน
จงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวเที่ยวไป เที่ยวไปทั่ว เดินไป พักผ่อน รักษา บำรุง เยียวยา
เพราะฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่า ผู้เดียวเพราะอรรถว่า ไม่มีเพื่อนสองอย่างนี้.
             พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า ผู้เดียวเพราะอรรถว่าละตัณหาอย่างไร? พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้เดียวไม่มีใครเป็นเพื่อนอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิต
ไปอยู่ เริ่มตั้งความเพียรมาก กำจัดมารพร้อมทั้งเสนามารที่ไม่ปล่อยสัตว์ให้พ้นอำนาจ เป็นพวก
พ้องของผู้ประมาท ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งตัณหาอันมีข่าย แล่นไป
ซ่านไป ในอารมณ์ต่างๆ.
                          บุรุษผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนาน ย่อม
                          ไม่ล่วงพ้นสงสาร อันมีความเป็นอย่างนี้และมีความเป็น
                          อย่างอื่น. ภิกษุผู้มีสติ รู้โทษนี้และตัณหาเป็นแดนเกิด
                          แห่งทุกข์แล้ว พึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น
                          เว้นรอบ.
             พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า ผู้เดียวเพราะอรรถว่าละตัณหาอย่างนี้.
             พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า ผู้เดียวเพราะปราศจากราคะโดยส่วนเดียวอย่างไร?
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะปราศจากราคะโดยส่วนเดียว เพราะท่านละราคะ
เสียแล้ว ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากโทสะโดยส่วนเดียว เพราะท่านละโทสะเสียแล้ว ชื่อว่า
ผู้เดียวเพราะปราศจากโมหะโดยส่วนเดียว เพราะท่านละโมหะเสียแล้ว ชื่อว่าผู้เดียวเพราะไม่มี
กิเลสโดยส่วนเดียว เพราะท่านละกิเลสเสียแล้ว. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียวเพราะ
ปราศจากราคะโดยส่วนเดียวอย่างนี้.
             พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียวเพราะไปตามเอกายนมรรคอย่างไร? สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านกล่าวว่า
เอกายนมรรค.
                          พระผู้มีพระภาค ทรงเห็นธรรมเป็นส่วนสุดแห่งความสิ้นไป
                          แห่งชาติ ทรงอนุเคราะห์ด้วยพระทัยเกื้อกูล ย่อมทรงทราบ
                          ธรรมอันเป็นทางเป็นที่ไปแห่งบุคคลผู้เดียว. พุทธาทิบัณฑิต
                          ข้ามก่อนแล้ว จักข้ามและข้ามอยู่ซึ่งโอฆะด้วยธรรมอันเป็น
                          ทางนั้น ดังนี้.
             พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียวเพราะไปตามเอกายนมรรคอย่างนี้.
             พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียวเพราะตรัสรู้ซึ่งปัจเจกสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม
อย่างไร? ญาณในมรรค ๔ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญา
เป็นเครื่องพิจารณา ปัญญาเป็นเครื่องเห็นแจ้งสัมมาทิฏฐิ ท่านกล่าวว่า ปัญญาเครื่องตรัสรู้.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นตรัสรู้แล้ว ซึ่งสัจจะทั้งหลายด้วยปัจเจกพุทธญาณ ตรัสรู้ว่า สังขาร
ทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ตรัสรู้ว่า เพราะอวิชชาเป็น
ปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็น
ปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและ
มรณะ. ตรัสรู้ว่า เพราะอวิชชาดับสังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ
นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับสฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะ
ดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทาน
ดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับชราและมรณะจึงดับ. ตรัสรู้ว่า นี้ทุกข์
นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา. ตรัสรู้ว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิด
อาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับอาสวะ. ตรัสรู้ว่า ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง
ธรรมเหล่านี้ควรละ ธรรมเหล่านี้ควรให้เจริญ ตรัสรู้เหตุเกิด ความดับ โทษและอุบายเป็น
เครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ... แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตรัสรู้เหตุเกิด ความดับ โทษและ
อุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งมหาภูตรูป ๔. ตรัสรู้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ตรัสรู้ ตามตรัสรู้ ตรัสรู้พร้อม ถูกต้อง ทำให้แจ้ง
ซึ่งธรรมที่ควรตรัสรู้ ควรตามตรัสรู้ ควรตรัสรู้พร้อม ควรถูกต้อง ควรทำให้แจ้ง ทั้งหมดนั้น
ด้วยปัจเจกโพธิญาณ เพราะฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่า ผู้เดียวเพราะตรัสรู้
ปัจเจกสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมอย่างนี้.
             จริยา (การเที่ยวไป) ในคำว่า จเร ดังนี้ มี ๘ อย่าง คือ อิริยาปถจริยา ๑ อายตน-
*จริยา ๑ สติจริยา ๑ สมาธิจริยา ๑ ญาณจริยา ๑ มัคคจริยา ๑ ปฏิปัตติจริยา ๑ โลกัตถ-
*จริยา ๑.
             การเที่ยวไปในอิริยาบถ ๔ ชื่อว่าอิริยาปถจริยา. การเที่ยวไปในอายตนะภายในภายนอก ๖
ชื่อว่าอายตนจริยา. การเที่ยวไปในฌาน ๔ ชื่อว่าสมาธิจริยา. การเที่ยวไปในอริยสัจ ๔ ชื่อว่า
ญาณจริยา. การเที่ยวไปในมรรค ๔ ชื่อว่ามัคคจริยา. การเที่ยวไปในสามัญญผล ๔ ชื่อว่า
ปฏิปัตติจริยา. โลกัตถจริยา คือ ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก ในพระตถาคตอรหันต-
*สัมมาสัมพุทธเจ้า ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก ในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย
เฉพาะบางส่วน ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก ในพระสาวกทั้งหลายเฉพาะบางส่วน.
             ความประพฤติของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยการตั้งตนไว้ชอบ ชื่อว่าอิริยาปถจริยา. ความ
ประพฤติของบุคคลผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ชื่อว่าอายตนจริยา. ความประพฤติของ
บุคคลผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ชื่อว่าสติจริยา. ความประพฤติของบุคคลผู้ขวนขวายในอธิจิต
ชื่อว่าสมาธิจริยา. ความประพฤติของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาเครื่องตรัสรู้ ชื่อว่าญาณจริยา.
ความประพฤติของบุคคลผู้ปฏิบัติชอบ ชื่อว่ามัคคจริยา. ความประพฤติของบุคคลผู้ได้บรรลุผล
แล้ว ชื่อว่าปฏิปัตติจริยา. ความประพฤติของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความประพฤติ
ของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเฉพาะบางส่วน ความประพฤติของพระสาวกทั้งหลายเฉพาะบางส่วน
ชื่อว่าโลกัตถจริยา. จริยา ๘ ประการนี้.
             จริยาแม้อีก ๘ ประการ บุคคลผู้น้อมใจเชื่อย่อมประพฤติด้วยศรัทธา. ผู้ประคองใจย่อม
ประพฤติด้วยความเพียร. ผู้เข้าไปตั้งไว้ย่อมประพฤติด้วยสติ. ผู้ไม่ทำความฟุ้งซ่านประพฤติด้วย
สมาธิ. ผู้รู้ทั่วย่อมประพฤติด้วยปัญญา. ผู้รู้แจ้งย่อมประพฤติด้วยวิญญาณ. บุคคลผู้มนสิการว่า
กุศลธรรมทั้งหลายย่อมดำเนินไปทั่วแก่บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ย่อมประพฤติด้วยอายตนจริยา.
บุคคลผู้มนสิการว่า ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ย่อมบรรลุคุณวิเศษ ย่อมประพฤติด้วยวิเศษจริยา. จริยา ๘
ประการนี้.
             จริยาแม้อีก ๘ ประการ การประพฤติสัมมาทิฏฐิ ชื่อว่าทัสสนจริยา ๑. การประพฤติ
สัมมาสังกัปปะ ชื่อว่าอภิโรปนจริยา ๑. การประพฤติสัมมาวาจา ชื่อว่าปริคคหจริยา ๑.
การประพฤติสัมมากัมมันตะ ชื่อว่าสมุฏฐานจริยา ๑. การประพฤติสัมมาอาชีวะ ชื่อว่าโวทาน-
*จริยา ๑. การประพฤติสัมมาวายามะ ชื่อว่าปัคคหจริยา ๑. การประพฤติสัมมาสติ ชื่อว่าอุปัฏฐาน-
*จริยา ๑. การประพฤติสัมมาสมาธิ ชื่อว่าอวิกเขปจริยา ๑. จริยา ๘ ประการนี้.
             คำว่า เหมือนนอแรด ความว่า ขึ้นชื่อว่าแรดมีนอเดียว มิได้มีนอที่สอง ฉันใด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมเป็นเหมือนนอแรด เช่นกับนอแรด เปรียบด้วยนอแรด
ฉันนั้นเหมือนกัน.
             รสเค็มจัด กล่าวกันว่าเหมือนเกลือ รสขมจัด กล่าวกันว่าเหมือนของขม รสหวานจัด
กล่าวกันว่าเหมือนน้ำผึ้ง ของร้อนจัด กล่าวกันว่าเหมือนไฟ ของเย็นจัด กล่าวกันว่าเหมือนหิมะ
ห้วงน้ำใหญ่ กล่าวกันว่าเหมือนสมุทร พระสาวกผู้บรรลุมหาอภิญญาและพลธรรม กล่าวกันว่า
เหมือนพระศาสดา ฉันใด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นเหมือนนอแรด เช่น
กับนอแรด เปรียบด้วยนอแรด เป็นผู้เดียว ไม่มีเพื่อน มีเครื่องผูกอันเปลื้องแล้ว ย่อมเที่ยวไป
เที่ยวไปทั่ว เดินไป พักผ่อน รักษา บำรุง เยียวยา ในโลก โดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          บุคคลวางแล้วซึ่งอาชญาในสัตว์ทั้งปวง ไม่เบียดเบียนสัตว์
                          เหล่านั้นแม้แต่ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่พึงปรารถนาบุตร จักปรารถนา
                          สหายแต่ไหน พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป เหมือนนอแรด
                          ฉะนั้น.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๖๑๗๔-๖๒๘๐ หน้าที่ ๒๕๑-๒๕๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=6174&Z=6280&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=667&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=667&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=30&item=667&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=30&item=667&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=667              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30 https://84000.org/tipitaka/english/?index_30

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]