ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๙๑๕] 	เมื่อภิกษุอบรมตนอยู่ เธอพึงเป็นผู้มีคลองแห่งถ้อยคำอย่างไร? พึงเป็น
                          ผู้มีโคจรในศาสนานี้อย่างไร? พึงเป็นผู้มีศีลและวัตรอย่างไร?
             [๙๑๖] คำว่า เธอพึงเป็นผู้มีคลองแห่งถ้อยคำอย่างไร? ความว่า พระเถระย่อมทูล
ถามถึงความบริสุทธิ์แห่งวาจาว่า ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ประกอบด้วยคลองแห่งถ้อยคำเช่นไร คือด้วย
คลองแห่งถ้อยคำที่ดำรงไว้อย่างไร มีชนิดอย่างไร มีส่วนเปรียบอย่างไร?
ว่าด้วยความบริสุทธิ์แห่งวาจา
ความบริสุทธิ์แห่งวาจาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละมุสวาท เป็นผู้เว้นขาดจาก มุสาวาท คือ พูดจริง ดำรงคำจริง มีถ้อยคำมั่นคง มีถ้อยคำเชื่อถือได้ ไม่พูดให้เคลื่อนคลาด แก่โลก ละปิสุณาวาจา เป็นผู้เว้นขาดจากปิสุณาวาจา คือฟังจากข้างนี้แล้ว ไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้ว ไม่มาบอกคนหมู่นี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น เป็นผู้สมานคนที่แตกกันบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันบ้าง มีความพร้อมเพรียงเป็นที่มายินดี ยินดีในบุคคลที่พร้อมเพรียงกัน มีความเพลิดเพลินในบุคคลที่พร้อมเพรียงกัน กล่าววาจา ที่ทำให้เขาพร้อมเพรียงกับด้วยประการดังนี้ ละผรุสวาจา เป็นผู้เว้นขาดจากผรุสวาจา คือ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ อันไพเราะโสต เป็นที่ตั้งแห่งความรัก หยั่งลงถึงหทัย เป็นคำของชาวเมือง ที่คนหมู่มากพอใจ ชอบใจ ละสัมผัปปลาปะ เป็นผู้เว้นขาดจากสัมผัปปลาปะ คือ พูดโดยกาลควร พูดจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย กล่าววาจาเป็นหลักฐานมีที่อ้างอิง มีส่วนสุด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลควร เป็นผู้ประกอบด้วยวจีสุจริต ๔ กล่าววาจาปราศจากโทษ ๔ งด เว้น เว้นขาด ออก สงัด พ้นขาด ไม่ประกอบด้วยติรัจฉานกถา ๓๒ ประการ เป็นผู้ มีจิตปราศจากเขตแดนกิเลสอยู่ ย่อมกล่าว กถาวัตถุ ๑๐ อย่าง คือ อัปปิจฉากถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณ ทัสนกถา ย่อมกล่าวสติปัฏฐานกถา สัมมัปปธานกถา อิทธิบาทกถา อินทรียกถา พลกถา โพชฌงคกถา มรรคกถา ผลกถา นิพพานกถา เป็นผู้ประกอบสำรวม สำรวมเฉพาะ คุ้มครอง ปกครอง รักษา ระวัง ด้วยวาจา นี้ชื่อว่าความบริสุทธิ์แห่งวาจา. ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วย ความบริสุทธิ์แห่งวาจาเช่นนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เธอพึงเป็นผู้มีคลองแห่งถ้อยคำอย่างไร? [๙๑๗] คำว่า เธอพึงเป็นผู้มีโคจรในศาสนานี้อย่างไร? ความว่า พระเถระ ย่อมทูลถาม ถึงโคจรว่า ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ประกอบด้วยโคจรเช่นไร คือ ด้วยโคจรที่ดำรงไว้อย่างไร มีชนิด อย่างไร มีส่วนเปรียบอย่างไร? อโคจรมีอยู่โคจรมีอยู่
ว่าด้วยอโคจร
อโคจรเป็นไฉน? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้ มีหญิงหม้ายเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีสาวเทื้อเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีบัณเทาะก์เป็นโคจรบ้าง เป็นผู้ มีภิกษุณีเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีโรงสุราเป็นโคจรบ้าง อยู่คลุกคลีด้วยพวกพระราชา พวกมหา- *อำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกของเดียรถีย์ ด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์อัน ไม่สมควร อนึ่ง สกุลบางแห่งไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ไม่เป็นดุจบ่อน้ำ มักด่า มักบริภาษ มุ่งความเสื่อม มุ่งสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล มุ่งความไม่สบาย มุ่งความไม่ปลอดโปร่ง จากโยคกิเลส แก่พวกภิกษุ พวกภิกษุณี พวกอุบาสก พวกอุบาสิกา ภิกษุย่อมซ่องเสพ คบหา ติดต่อกับสกุลเห็นปานนั้น นี้เรียกว่าอโคจร. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน เป็นผู้ไม่สำรวมเดินไป คือ แลดูช้าง แลดูม้า แลดูรถ แลดูพลเดินเท้า แลดูสตรี แลดูบุรุษ แลดูกุมาร แลดูกุมารี แลดูร้านตลาด แลดูหน้ามุขเรือน แลดูข้างบน แลดูข้างล่าง แลดูทิศน้อยทิศใหญ่เดินไป แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็น รูปด้วยจักษุแล้ว ถือนิมิต ถืออนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่ สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อม ไม่รักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความไม่สำรวมในจักขุนทรีย์ ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ถือ นิมิต ถืออนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็น เหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อมไม่รักษามนินทรีย์ ย่อม ถึงความไม่สำรวมในมนินทรีย์ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร. อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า ท่าน สมณพราหมณ์บางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่ กุศลเห็นปานนี้ คือการฟ้อน การขับ การประโคม มหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย เพลงปรบมือ ฆ้อง ระนาด หนัง เพลงขอทาน ไต่ราว การเล่นหน้าศพ ชนช้าง แข่งม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ ชนนกกระทา รำกระบี่กระบอง ชกมวย มวย ปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ ท่านสมณพราหมณ์บางพวก ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร. แม้กามคุณ ๕ ก็ชื่อว่าอโคจร. สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าเที่ยวไป ในแดนอื่นซึ่งเป็นอโคจร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนอื่นซึ่งเป็นอโคจร มารจักได้ช่อง ได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลายก็แดนอื่นซึ่งเป็นอโคจรของภิกษุ คืออะไร คือ กามคุณ ๕ กามคุณ ๕ เป็นไฉน? คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา พอใจ ชอบใจ รักใคร่ ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วย จมูก รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา พอใจ ชอบใจ รักใคร่ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่าแดนอื่น เป็นอโคจรของภิกษุ. แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร. โคจรเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มี หญิงหม้ายเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีสาวเทื้อเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร ไม่เป็นผู้มี ภิกษุณีเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีโรงสุราเป็นโคจร ไม่อยู่คลุกคลีด้วยพวกพระราชา พวกมหาอำมาตย์ ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกของเดียรถีย์ ด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์อันไม่สมควร อนึ่ง สกุลบางแห่งมีศรัทธาเลื่อมใส เป็นดุจบ่อน้ำ รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นที่เดิน สวนกันเข้าออกแห่งภิกษุผู้แสวงหา มุ่งความเจริญ มุ่งประโยชน์เกื้อกูล มุ่งความสบาย มุ่ง ความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส แก่พวกภิกษุ พวกภิกษุณี พวกอุบาสก พวกอุบาสิกา ภิกษุ ย่อมซ่องเสพ คบหา ติดต่อกับสกุลเห็นปานนั้น นี้เรียกว่าโคจร. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน ย่อมเป็นผู้สำรวมเดินไป คือ ไม่แลดูช้าง ไม่แลดูม้า ไม่แลดู รถ ไม่แลดูพลเดินเท้า ฯลฯ ไม่แลดูทิศน้อยทิศใหญ่ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ฯลฯ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร. อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า ท่านสมณพราหมณ์บางพวกฉันโภชนะ ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ไม่ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับ การประโคม ฯลฯ กองทัพ ภิกษุเป็นผู้เว้นขาดจากการขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศลเห็นปานนี้ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร. แม้สติปัฏฐาน ๔ ก็ชื่อว่าโคจร. สมจริงตามที่พระ ผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็น โคจร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจร มาร ย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แดนเป็นของบิดาของตน ซึ่งเป็นโคจรของ ภิกษุคืออะไร คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกอยู่ เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย เป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิต เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า แดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจรของภิกษุ. แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร. ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วยโคจรเช่นนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเป็น ผู้มีโคจรในศาสนานี้อย่างไร.
ว่าด้วยศีลและวัตร
[๙๑๘] คำว่า พึงเป็นผู้มีศีลและวัตรอย่างไร? ความว่า พระเถระย่อมทูลถามถึง ความบริสุทธิ์แห่งศีลและวัตรว่า ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ประกอบด้วยศีลและวัตรอย่างไร คือ ด้วยศีล และวัตรที่ดำรงไว้อย่างไร มีชนิดอย่างไร มีส่วนเปรียบอย่างไร. ความบริสุทธิ์แห่งศีลและวัตรเป็นไฉน? บางแห่งเป็นศีลและเป็นวัตร บางแห่งเป็น วัตรแต่ไม่เป็นศีล. ศีลและเป็นวัตรเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวม ด้วยความสำรวม ในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ความสำรวม ความระวัง ความไม่ก้าวล่วงในสิกขาบท ทั้งหลายนั้น นี่เป็นศีล. ความสมาทาน ชื่อว่าเป็นวัตร. เพราะอรรถว่า สำรวม จึงชื่อว่า ศีล. เพราะอรรถว่า สมาทาน จึงชื่อว่า วัตร. นี้เรียกว่าศีลและวัตร. เป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีลเป็นไฉน? ธุดงค์ ๘ คือ อารัญญิกังคธุดงค์ ๑ ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ๑ ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ๑ เตจีวริกังคธุดงค์ ๑ สปทานจาริกังคธุดงค์ ๑ ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ๑ เนสัชชิกังคธุดงค์ ๑ ยถาสันตติกังคธุดงค์ ๑ นี้เรียกว่าเป็นวัตร แต่ไม่เป็นศีล. แม้การ สมาทานความเพียร ก็เรียกว่าเป็นวัตร ไม่เป็นศีล กล่าวคือ พระมหาสัตว์ทรงประคองตั้ง พระทัยว่าจงเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ผลใดอันบุรุษพึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วย ความบากบั่นของบุรุษ การไม่บรรลุผลนั้นแล้วหยุดความเพียรเสียจักไม่มี ดังนี้ แม้การสมาทาน ความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตร ไม่เป็นศีล. ภิกษุประคองตั้งจิตว่า เมื่อลูกศรคือตัณหาเรายังถอนไม่ได้แล้ว เราจักไม่กิน จักไม่ดื่ม จักไม่ ออกจากวิหาร ทั้งจักไม่เอนข้าง [ไม่นอน] ดังนี้. แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตร ไม่เป็นศีล. พระมหาสัตว์ทรง ประคองตั้งพระทัยว่า เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้จนตลอดเวลาที่จิตของเราจักไม่หลุดพ้นจาก อาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตร ไม่เป็นศีล. ภิกษุประคองตั้งจิตว่า จิตของเราจักไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เพียงใด เราจักไม่ลุกขึ้นจากอาสนะนี้เพียงนั้น จิตของเราจักยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นเพียงใด เราจักไม่ลงจากที่จงกรม จักไม่ออกจากวิหาร จักไม่ออกจากเรือนมี หลังคาแถบเดียว จักไม่ออกจากปราสาท จักไม่ออกจากเรือนโล้น จักไม่ออกจากเพิง จักไม่ ออกจากถ้ำ จักไม่ออกจากกุฏิ จักไม่ออกจากเรือนยอด จักไม่ออกจากป้อม จักไม่ออกจาก โรงกรม จักไม่ออกจากเรือนที่มีเครื่องกั้น จักไม่ออกจากศาลาที่บำรุง จักไม่ออกจากมณฑป จักไม่ออกจากโคนต้นไม้ เพียงนั้น ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็น วัตร ไม่เป็นศีล. ภิกษุประคองตั้งจิตว่า ในเวลาเช้านี้แหละ เราจักนำมา จักนำมาพร้อม จักบรรลุ จักถูกต้อง จักทำให้แจ้ง ซึ่งอริยธรรม ดังนี้ แม้การสมาทานความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตร ไม่เป็นศีล. ภิกษุปวะคองตั้งจิตว่า ในเวลาเที่ยงนี้แหละ ในเวลาเย็นนี้แหละ ในกาลก่อนภัตนี้แหละ ในกาลภายหลังภัตนี้แหละ ในยามต้นนี้แหละ ในยามหลังนี้แหละ ในฤดูร้อนนี้แหละ ในตอนวัยต้นนี้แหละ ในตอนวัยกลางนี้แหละ ในตอนวัยหลังนี้แหละ เราจักนำมา จักนำมาพร้อม จักบรรลุ จักถูกต้อง จำทำให้แจ้งซึ่งอริยธรรม ดังนี้ แม้การสมาทาน ความเพียรเห็นปานนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัตร ไม่เป็นศีล. นี้ชื่อว่าความบริสุทธิ์แห่งศีลและวัตร. ภิกษุ พึงเป็นผู้ประกอบด้วยความบริสุทธิ์แห่งศีลและวัตรเช่นนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เธอพึงเป็นผู้มี ศีลและวัตรอย่างไร?
ว่าด้วยการอบรมตน
[๙๑๙] คำว่า อบรมตนอยู่ ในคำว่า เมื่อภิกษุอบรมตนอยู่ ความว่า ปรารภความเพียร มีความเพียรแรงกล้า มีความบากบั่นมั่นคง มิได้ปลงฉันทะ มิได้ทอดธุระ ในธรรมทั้งหลายฝ่าย กุศล. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ส่งตนไป คือ ตนอันภิกษุส่งไปในอรหัตผลอันเป็นประโยชน์ของตน ในอริยมรรค ในลักษณะ ในเหตุ ในฐานะ และอฐานะ คือ ส่งตนไปว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ส่งตนไปว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ส่งตนไปว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ส่งตนไปว่า เพราะ อวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ฯลฯ ส่งตนไปว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ ส่งตนไป ว่า เพราะอวิชชาดับสังขารจึงดับ ฯลฯ ส่งตนไปว่า เพราะชาติดับชราและมรณะจึงดับ ส่งตน ไปว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ ส่งตนไปว่า นี้ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับทุกข์ ส่งตนไปว่า เหล่านี้อาสวะ ฯลฯ ส่งตนไปว่า นี้ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับอาสวะ ส่งตนไปว่า ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ฯลฯ ธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ส่งตนไปถึงความเกิด ความดับ คุณโทษ และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งผัสสายตะ ๖ ส่งตนไปถึงความเกิด ความดับ คุณโทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่ง อุปาทานขันธ์ ๕ แห่งมหาภูตรูป ๔ ส่งตนไปว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา. คำว่า เมื่อภิกษุ ความว่า เมื่อภิกษุที่เป็นกัลยาณปุถุชน หรือเมื่อ ภิกษุที่เป็นพระเสขะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อภิกษุอบรมตนอยู่. เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตร เถระจึงทูลถามว่า เมื่อภิกษุอบรมตนอยู่ เธอพึงเป็นผู้มีคลองแห่งถ้อยคำอย่างไร? พึงเป็น ผู้มีโคจรในศาสนานี้อย่างไร? พึงเป็นผู้มีศีลและวัตรอย่างไร?

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๑๐๘๒๔-๑๐๙๖๖ หน้าที่ ๔๕๔-๔๖๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=10824&Z=10966&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=915&items=5              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=915&items=5&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=29&item=915&items=5              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=29&item=915&items=5              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=915              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]