ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๙๑๐] 	เมื่อภิกษุไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป ภิกษุพึงปราบปรามอันตรายเหล่าใด ในที่
                          นอนที่นั่งอันสงัด อันตรายเหล่านั้นมีเท่าไรในโลก.
ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
[๙๑๑] คำว่า มีเท่าไร ในคำว่า อันตรายเหล่านั้นมีเท่าไรในโลก ความว่า มีเท่าไร มีประมาณเท่าไร มีกำหนดเท่าไร มีมากเท่าไร. ชื่อว่าอันตราย ได้แก่อันตราย ๒ อย่าง คือ อันตรายปรากฏ ๑ อันตรายปกปิด ๑. อันตรายปรากฏเป็นไฉน? ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า โค กระบือ ช้าง งู แมงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ทำกรรมชั่ว คนที่เตรียมทำกรรมชั่ว โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้ พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคหูด โรคละลอก โรคคุดทะราด โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็น สมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาต อาพาธเกิด แต่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวด ปัสสาวะ ความสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน อันตรายเหล่านี้ เรียกว่า อันตรายปรากฏ. อันตรายปกปิดเป็นไฉน? กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาท นิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่คุณท่าน ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา โอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลา- *ภิสังขารทั้งปวง อันตรายเหล่านี้เรียกว่าอันตรายปกปิด. ที่ชื่อว่า อันตราย เพราะอรรถว่ากระไร จึงชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่า ครอบงำ. จึงชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อม. จึงชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่ แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย. เพราะอรรถว่า ครอบงำอย่างไร? จึงชื่อว่าอันตราย อันตรายเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยี ซึ่งบุคคลนั้น. เพราะอรรถว่า ครอบงำอย่างนี้ จึงชื่อว่า อันตราย. เพราะอรรถว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างไร? จึงชื่อว่าอันตราย อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย. อันตรายเหล่านั้นย่อมเป็น ไป เพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมเหล่าไหน? อันตรายเหล่านั้นย่อมเป็นไป เพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้ คือ ความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความทำให้บริบูรณ์ในศีล ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ความประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญ สติปัฏฐาน ๔ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญสัมมัปปธาน ๔ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญอิทธิบาท ๔ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญอินทรีย์ ๕ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญพละ ๕ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญโพชฌงค์ ๗ ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ อันตรายเหล่านั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธาน ไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้. เพราะอรรถว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างนี้ จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างไรๆ จึงชื่อว่าอันตราย อกุศล- *ธรรมอันลามกเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น อยู่อาศัยในอัตภาพ เปรียบเหมือนเหล่าสัตว์ ที่อาศัยรูย่อมอยู่ในรู ที่อาศัยน้ำย่อมอยู่ในน้ำ ที่อาศัยป่าย่อมอยู่ในป่า ที่อาศัยต้นไม้ย่อมอยู่ที่ ต้นไม้ ฉันใด อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น อยู่อาศัยในอัตภาพ ฉันนั้น ฉะนั้น เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายแม้อย่างนี้ จึงชื่อว่าอันตราย. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่ อาศัยในภายใน อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบากไม่ผาสุก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุ ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบากไม่ผาสุกอย่าง ไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอันลามก มีความดำริอันซ่านไปในอารมณ์ อันเกื้อกูลแก่ สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมอันลามก เหล่านั้น ย่อมอยู่ซ่านไปในภายในแห่งภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า ผู้อยู่ ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมกลุ้มรุมภิกษุนั้น เพราะ เหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน. อีกประการหนึ่ง อกุศลธรรมอันลามก มีความดำริอันซ่านไปในอารมณ์ ยันเกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดแก่ภิกษุ เพราะได้ยินเสียง ด้วยหู ... เพราะสูดกลิ่นด้วยจมูก ... เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น ... เพราะได้ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมอยู่ซ่านไปในภายในแห่งภิกษุ นั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน อกุศลธรรม อันลามกเหล่านั้น ย่อมกลุ้มรุมภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลส ที่ฟุ้งซ่าน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน ผู้อยู่ร่วมกับกิเลส ที่ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบากไม่ผาสุก อย่างนี้แล เพราะฉะนั้น เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่ง อกุศลธรรมทั้งหลายแม้อย่างนี้ จึงชื่อว่าอันตราย. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ เป็นมลทิน ในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูใน ภายใน ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ โลภะ เป็นมลทินในภายใน ... เป็นศัตรูในภายใน โทสะ เป็นมลทินในภายใน ... เป็นศัตรูในภายใน โมหะ เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายใน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาต ในภายใน เป็นศัตรูในภายใน. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า โลภะยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด โลภะยังจิตให้กำเริบ โลภะเป็น ภัยเกิดในภายใน พาลชนย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น. คนผู้โลภย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้โลภย่อมไม่เห็นธรรม ความโลภครอบงำนรชนในขณะใด ความ มืดตื้นย่อมมีในขณะนั้น โทสะยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด โทสะ ยังจิตให้กำเริบ โทสะเป็นภัยเกิดในภายใน พาลชนย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น. คนผู้โกรธย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้โกรธย่อมไม่เห็นธรรม ความโกรธ ครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น. โมหะยังสิ่งที่ ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด โมหะยังจิตให้กำเริบ โมหะเป็นภัยเกิดในภาย ใน พาลชนย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น. คนผู้หลงย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้หลงย่อม ไม่เห็นธรรม ความหลงครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมี ในขณะนั้น. เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลทั้งหลายแม้อย่างนี้ จึงชื่อว่า อันตราย. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรมหาบพิตร ธรรม ๓ ประการแลเมื่อเกิด ขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ โลภะเมื่อเกิดขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก โทสะเมื่อเกิดขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อม เกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก โมหะเมื่อเกิดขึ้นในภายใน แห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก ดูกรมหาบพิตร ธรรม ๓ ประการนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้วจึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า โลภะ โทสะ และโมหะ เกิดขึ้นในตน ย่อมกำจัดบุรุษ ผู้มีจิตลามก เหมือนขุยไผ่กำจัดไม้ไผ่ฉะนั้น. เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายแม้อย่างนี้ จึงชื่อว่าอันตราย. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ราคะ และโทสะมีอัตภาพนี้เป็นเหตุ เกิดแต่อัตภาพนี้ ไม่ยินดีกุศล ยินดีแต่กามคุณ ทำให้ขนลุกขนพอง บาปวิตกในใจตั้งขึ้นแต่อัตภาพนี้ แล้วผูกจิตไว้ เหมือนพวกเด็นผูกกาไว้ที่ข้อเท้า ฉะนั้น. เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายแม้อย่างนี้ จึงชื่อว่าอันตราย. คำว่า ในโลก คือ ในมนุษยโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อันตรายเหล่านั้นมีเท่าไรในโลก.
ว่าด้วยทิศที่ไม่เคยไป (อมตนิพพาน)
[๙๑๒] คำว่า เมื่อภิกษุไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป ความว่า อมตนิพพาน คือความสงบ สังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอกความดับ ความออกจาก ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เรียกว่าทิศที่ไม่เคยไป. ทิศที่ยังไม่เคยไปโดยกาลยืดยาวนี้ ชื่อว่าทิศที่ ไม่เคยไป. บุคคลพึงประคองภาชนะน้ำมันอันเต็มเสมอขอบปากมิได้มีส่วนเหลือ ฉันใด พระ โยคาวจรเมื่อปรารถนาทิศที่ยังไม่เคยไป ก็พึงรักษาจิตของตนเนืองๆ ฉันนั้น. เมื่อภิกษุไป ดำเนิน ไป ก้าวไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อภิกษุไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป. [๙๑๓] คำว่า ภิกษุพึงปราบปรามอันตรายเหล่าใด ความว่า ภิกษุพึงปราบปราม ครอบงำ จำกัด ขับไล่ ย่ำยีอันตรายเหล่าใด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุพึงปราบปรามอันตราย เหล่าใด. [๙๑๔] คำว่า ในที่นอนที่นั่งอันสงัด ความว่า ในที่นอนที่นั่งอันสงัดเป็นที่สุด ส่วนสุด ส่วนสุดรอบ เป็นส่วนสุดแห่งภูเขาหิน เป็นส่วนสุดแห่งป่า เป็นส่วนสุดแห่งน้ำหรือเป็นส่วน สุดแห่งแม่น้ำ เป็นสถานที่เขาไม่ไถ ไม่หว่าน ไม่เป็นอุปาจารแห่งพวกมนุษย์ล่วงเลยหมู่ชน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ในที่นอนที่นั่งอันสงัด. เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงทูลถามว่า เมื่อภิกษุไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป ภิกษุพึงปราบปรามอันตรายเหล่าใด ในที่ นอนที่นั่งอันสงัด อันตรายเหล่านั้นมีเท่าไรในโลก.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๑๐๗๐๖-๑๐๘๒๓ หน้าที่ ๔๔๙-๔๕๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=10706&Z=10823&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=910&items=5              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=910&items=5&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=29&item=910&items=5              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=29&item=910&items=5              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=910              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]