ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๖๗] คำว่า มุนีไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย มีความว่า ความยึดถือ ได้แก่
ความยึดถือ ๒ อย่าง คือ ความยึดถือด้วยตัณหา ๑ ความยึดถือด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้เรียกว่า
ความยึดถือด้วยตัณหา ฯลฯ นี้เรียกว่าความยึดถือด้วยทิฏฐิ. คำว่า มุนี มีความว่า ญาณเรียกว่า
โมนะ ได้แก่ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม ความเห็นชอบ บุคคล
ประกอบด้วยญาณนั้น ชื่อว่ามุนี คือ ผู้ถึงญาณที่ชื่อว่า โมนะ. โมเนยยะ (ธรรมที่ทำให้เป็น
มุนี) มี ๓ อย่าง คือ โมเนยยธรรมทางกาย ๑ โมเนยยธรรมทางวาจา ๑ โมเนยยธรรมทางใจ ๑.
             โมเนยยธรรมทางกายเป็นไฉน? การละกายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย.
กายสุจริต ๓ อย่าง ญาณมีกายเป็นอารมณ์ กายปริญญา มรรคอันสหรคตด้วยปริญญา การละ
ฉันทราคะในกาย ความดับแห่งกายสังขาร ความบรรลุจตุตถฌาน ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย.
นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย.
             โมเนยยธรรมทางวาจาเป็นไฉน? การละวจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา.
วจีสุจริต ๔ อย่าง ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ วาจาปริญญา มรรคอันสหรคด้วยปริญญา การละ
ฉันทราคะในวาจา ความดับแห่งวจีสังขาร ความบรรลุทุติยฌาน ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา.
นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา.
             โมเนยยธรรมทางใจเป็นไฉน? การละมโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ.
มโนสุจริต ๓ อย่าง ญาณมีจิตเป็นอารมณ์ จิตตปริญญา มรรคอันสหรคตด้วยปริญญา การละ
ฉันทราคะในจิต ความดับแห่งจิตสังขาร การบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ.
นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          บัณฑิตทั้งหลาย ได้กล่าวบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย เป็นมุนีทางวาจา
                          เป็นมุนีทางใจ หาอาสวะมิได้ว่า เป็นมุนี ผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมที่ทำให้
                          เป็นมุนี เป็นผู้ละกิเลสทั้งปวง. บัณฑิตทั้งหลายได้กล่าวบุคคลผู้เป็น
                          มุนีทางกาย เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ หาอาสวะมิได้ว่า เป็น
                          มุนี ผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมที่ทำให้เป็นมุนี ผู้มีบาปอันล้างเสียแล้ว.
             ชนผู้ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นมุนี ๓ อย่างนี้ ชื่อว่ามุนี มุนีมี ๖ จำพวก คือ
อาคารมุนี อนาคารมุนี เสขมุนี อเสขมุนี ปัจเจกมุนี มุนิมุนี. อาคารมุนีเป็นไฉน? ชนเหล่า
ใด เป็นผู้ครองเรือน มีบทคือนิพพานอันเห็นแล้ว มีศาสนาอันรู้แจ้งแล้ว ชนเหล่านี้ ชื่อว่า
อาคารมุนี. อนาคารมุนีเป็นไฉน? ชนเหล่าใดออกบวช มีบทคือนิพพานอันเห็นแล้ว มีศาสนา
อันรู้แจ้งแล้ว ชนเหล่านี้ ชื่อว่าอนาคารมุนี. พระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่าเสขมุนี. พระอรหันต์
ทั้งหลายชื่อว่าอเสขมุนี. พระปัจเจกพุทธะทั้งหลาย ชื่อว่าปัจเจกมุนี. พระตถาคตอรหันตสัมมา
สัมพุทธเจ้า ชื่อว่ามุนิมุนี. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          บุคคลไม่เป็นมุนีด้วยความเป็นผู้นิ่ง แต่เป็นผู้เปล่า ไม่ใช่ผู้รู้
                          ส่วนบุคคลใด เป็นบัณฑิต ถือธรรมอันประเสริฐ ละเว้นบาปทั้งหลาย
                          เหมือนคนที่ถือเครื่องชั่งตั้งอยู่ ฉะนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่าเป็นมุนี เรียก
                          ว่าเป็นมุนี โดยเหตุนั้น และบุคคลใด ย่อมรู้โลกทั้ง ๒ บุคคลนั้น
                          เรียกว่าเป็นมุนี โดยเหตุนั้น. บุคคลใดรู้ธรรมของอสัตบุรุษและธรรม
                          ของสัตบุรุษ ในโลกทั้งปวง ทั้งภายในภายนอก ก้าวล่วงธรรมเป็น
                          เครื่องข้องและตัณหาเพียงดังว่าข่าย ดำรงอยู่ เป็นผู้อันเทวดาและ
                          มนุษย์บูชา บุคคลนั้นชื่อว่ามุนี.
             คำว่า ความติด ได้แก่ ความติด ๒ อย่าง คือ ความติดด้วยตัณหา ๑ ความติดด้วย
ทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความติดด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความติดด้วยทิฏฐิ. มุนีละความติดด้วย
ตัณหา สละคืนความติดด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่ติด คือไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติด เป็นผู้ไม่ติด ไม่ติด
พัน ไม่เข้าไปติดแล้ว เป็นผู้ออก สละเสีย พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องแล้วในความยึดถือทั้งหลาย
เป็นผู้มีจิตกระทำให้ปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีไม่เข้าไปติดในความยึดถือ
ทั้งหลาย.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๑๒๒๕-๑๒๖๘ หน้าที่ ๕๒-๕๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=1225&Z=1268&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=67&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=67&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=29&item=67&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=29&item=67&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=67              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]