ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๒๐๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมไม่ละความโศก ความ
                          รำพันและความหวงแหน เพราะฉะนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นความปลอด
                          โปร่ง ละซึ่งความยึดถือได้เที่ยวไปแล้ว.
             [๒๐๖] คำว่า ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ว่าของเรา ย่อมไม่ละความโศก ความรำพัน
และความหวงแหน มีความว่า ความโศก กิริยาที่เศร้าโศก ความเป็นผู้เศร้าโศก ความที่จิต
เศร้าโศก ความเศร้าโศกในภายใน ความเศร้าโศกรอบในภายใน ความเร่าร้อนในภายใน ความ
เร่าร้อนรอบในภายใน ความตรอมตรมแห่งจิต โทมนัส ลูกศรคือความเศร้าโศก ของชนผู้ถูก
ความเสื่อมแห่งญาติกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งโภคสมบัติกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความ
เสื่อมเพราะโรคกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งศีลกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งทิฏฐิ
กระทบเข้าบ้าง ที่ประจวบกับความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง
กระทบเข้าบ้าง. คำว่า ความรำพัน คือ ความเพ้อถึง ความรำพัน อาการที่เพ้อถึง อาการ
ที่รำพันถึง ความเป็นผู้เพ้อถึง ความเป็นผู้รำพันถึง ความพูดเพ้อ ความบ่นเพ้อ อาการพร่ำเพ้อ
ความเป็นผู้พร่ำเพ้อ ของชนผู้ถูกความเสื่อมแห่งญาติกระทบเข้าบ้าง ฯลฯ ที่ถูกความเสื่อมแห่ง
ทิฏฐิกระทบเข้าบ้าง ที่ประจวบกับความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใด
อย่างหนึ่งกระทบเข้าบ้าง. คำว่า ความหวงแหน ได้แก่ ความตระหนี่ ๕ ประการ คือ ความตระหนี่
ที่อยู่ ความตระหนี่ตระกูล ความตระหนี่ลาภ ความตระหนี่วรรณะ ความตระหนี่ธรรม ความ
ตระหนี่เห็นปานนี้ อาการที่ตระหนี่ ความเป็นผู้ประพฤติตระหนี่ ความเป็นผู้ปรารถนาต่างๆ
ความเหนียวแน่น ความเป็นผู้มีจิตหดหู่เจ็บร้อนในการให้ ความที่จิตอันใครๆ ไม่เชื่อถือได้ใน
การให้ นี้เรียกว่าความตระหนี่. อีกอย่างหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความ
ตระหนี่อายตนะก็ดี  นี้เรียกว่าความตระหนี่. ความมุ่งจะเอาก็เรียกว่าความตระหนี่. ตัณหาเรียกว่า
ความติดใจ ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. คำว่า
ความยึดถือว่าของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าของเรา ๒ อย่าง คือ ความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหา ๑
ความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า
ความยึดถือของเราด้วยทิฏฐิ ชนทั้งหลายแม้ผู้มีความหวาดระแวงในการแย่งชิงวัตถุที่ถือว่าของเรา
ย่อมเศร้าโศก คือ ย่อมเศร้าโศกเมื่อเขากำลังแย่งชิงเอาบ้าง. เมื่อเขาแย่งชิงเอาไปแล้วบ้าง. แม้ผู้มี
ความหวาดระแวงในความแปรปรวนไปแห่งวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมเศร้าโศก คือ ย่อมเศร้าโศก
เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรปรวนไปบ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรปรวนไปแล้วบ้าง. แม้ผู้มีความหวาดระแวงการ
แย่งชิงวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมรำพัน คือ ย่อมรำพันเมื่อเขากำลังแย่งชิงเอาบ้าง เมื่อเขาแย่งชิง
เอาไปแล้วบ้าง. แม้ผู้มีความหวาดระแวงในความแปรปรวนไปแห่งวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมรำพัน
คือ ย่อมรำพันเมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรปรวนไปบ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรปรวนไปแล้วบ้าง. ชนทั้งหลาย
ย่อมรักษาคุ้มครอง ป้องกันวัตถุที่ถือว่าของเรา หวงแหนวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมเศร้าโศก ไม่ละ
ไม่สละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นไป ไม่ทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งความโศก ความรำพัน ความหวงแหน
ความติดใจในวัตถุที่ยึดถือว่าของเรา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ถือว่า
ของเรา ย่อมไม่ละความโศก ความรำพัน และความหวงแหน.
ว่าด้วยโมไนยธรรม
[๒๐๗] คำว่า เพราะฉะนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นความปลอดโปร่ง ละซึ่งความยึดถือได้ เที่ยวไปแล้ว มีความว่า คำว่า เพราะฉะนั้น ได้แก่ เพราะเหตุนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะ เหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทานนั้น คือ เห็นโทษนั้นในวัตถุที่ยึดถือว่าของเราทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เพราะฉะนั้น. คำว่า มุนีทั้งหลาย มีความว่า ญาณ เรียกว่า โมนะ ได้แก่ ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ชนทั้งหลายประกอบ แล้วด้วยญาณนั้น ชื่อว่ามุนี คือ ผู้ถึงแล้วซึ่งญาณชื่อว่าโมนะ. โมไนยยะ (ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี) มี ๓ ประการคือ โมไนยธรรมทางกาย ๑ โมไนยธรรมทางวาจา ๑ โมไนยธรรมทางใจ ๑. โมไนยธรรมทางกายเป็นไฉน? การละกายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมไนยธรรมทางกาย กายสุจริต ๓ อย่าง ญาณมีกายเป็นอารมณ์ การกำหนดรู้กาย มรรคอันสหรคตด้วยปริญญา การ ละฉันทราคะในกาย นี้ชื่อว่า โมไนยธรรมทางกาย. โมไนยธรรมทางวาจาเป็นไฉน? การละวจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่าโมไนยธรรมทางวาจา. วจีสุจริต ๔ อย่าง ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ การกำหนดรู้วาจา มรรคอันสหรคตด้วยปริญญา การ ละฉันทราคะในวาจา ความดับแห่งวจีสังขาร ความบรรลุทุติยฌาน ชื่อว่าโมไนยธรรมทางวาจา นี้ ชื่อว่าโมไนยธรรมทางวาจา โมไนยธรรมทางใจเป็นไฉน? การละมโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมไนยธรรมทางใจ. มโน- *สุจริต ๓ อย่าง ญาณมีจิตเป็นอารมณ์ การกำหนดรู้จิต มรรคอันสหรคตด้วยปริญญา การละ ฉันทราคะในใจ ความดับแห่งจิตสังขาร การบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ ชื่อว่าโมไนยธรรมทางจิต นี้ ชื่อว่าโมไนยธรรมทางใจ. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บัณฑิตทั้งหลาย ได้กล่าวมุนีผู้เป็นมุนีทางกาย เป็นมุนีทางวาจา เป็น มุนีทางใจ หาอาสวะมิได้ว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมที่ทำให้เป็นมุนี เป็นผู้ละกิเลสทั้งปวง บัณฑิตทั้งหลายได้กล่าวมุนีผู้เป็นมุนีทางกาย เป็น มุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ หาอาสวะมิได้ว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี เป็นผู้มีบาปอันล้างเสียแล้ว ฯลฯ ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องและตัณหาเพียงดังว่าข่าย ดำรงอยู่ เป็นผู้อันเทวดาและ มนุษย์บูชาแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่ามุนี คำว่า ความยึดถือ ได้แก่ ความยึดถือ ๒ อย่าง คือ ความยึด ถือด้วยตัณหา ๑ ความยึดถือด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความ ยึดถือด้วยทิฏฐิ มุนีทั้งหลายละความยึดถือด้วยตัณหา สละคืนความยึดถือด้วยทิฏฐิเสียแล้ว ได้ ประพฤติแล้ว เที่ยวไป เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป. คำว่า ผู้ เห็นความปลอดโปร่ง มีความว่า อมตนิพพานเรียกว่า ความปลอดโปร่ง ได้แก่ ความสงบสังขาร ทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอก ความดับ ความออกจากตัณหา เป็นเครื่องร้อยรัด คำว่า เห็นความปลอดโปร่ง คือ เห็นความปลอดโปร่ง เห็นที่ต้านทาน เห็น ที่ลี้ลับ เห็นที่พึ่ง เห็นความไม่มีภัย เห็นความไม่เคลื่อน เห็นอมตะ เห็นนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีทั้งหลาย ผู้เห็นความปลอดโปร่ง ละซึ่งความยึดถือได้ เที่ยวไปแล้ว. เพราะเหตุ นั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมไม่ละความโศก ความ รำพัน และความหวงแหน เพราะฉะนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นความปลอด โปร่ง ละแล้วซึ่งความยึดถือ ได้เที่ยวไปแล้ว.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๒๘๒๔-๒๘๙๖ หน้าที่ ๑๑๙-๑๒๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=2824&Z=2896&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=205&items=3              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=205&items=3&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=29&item=205&items=3              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=29&item=205&items=3              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=205              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]