ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
เรื่องภิกษุอาพาธ
[๕๑๗] ก็โดยสมัยนั้นแล มีภิกษุทั้งหลายอาพาธอยู่ พวกภิกษุผู้พยาบาลได้ถามพวกภิกษุ ผู้อาพาธว่า อาวุโสทั้งหลาย ยังพอทนได้อยู่หรือ? ยังพอครองอยู่หรือ? ภิกษุอาพาธเหล่านั้นตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย เมื่อก่อนพวกกระผมขอโภชนะอันประณีต เพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน เพราะเหตุนั้น พวกกระผมจึงมีความผาสุก แต่เดี๋ยวนี้ พวกกระผม รังเกียจอยู่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว จึงไม่ขอ เพราะเหตุนั้น พวกกระผมจึงไม่มีความผาสุก. ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธขอโภชนะอันประณีต
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อาพาธขอ โภชนะอันประณีต เพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉันได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระอนุบัญญัติ
๘๘. ๙. ข. อนึ่ง ภิกษุใด มิใช่ผู้อาพาธ ขอโภชนะอันประณีตเห็นปานนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม เพื่อประโยชน์ แก่ตนแล้วฉัน เป็นปาจิตตีย์.
เรื่องภิกษุอาพาธ จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๕๑๘] คำว่า โภชนะอันประณีต ความว่า ที่ชื่อว่า เนยใส ได้แก่เนยใสที่ทำ จากน้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำนมกระบือ หรือจากน้ำนมสัตว์ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ. ที่ชื่อว่า เนยข้น ได้แก่เนยข้นที่ทำจากน้ำนมสัตว์เหล่านั้น. ที่ชื่อว่า น้ำมัน ได้แก่น้ำมันอันสกัดออกจากเมล็ดงา จากเมล็ดพันธุ์ผักกาด จาก- *เมล็ดมะทราง จากเมล็ดละหุ่ง หรือจากเปลวสัตว์. ที่ชื่อว่า น้ำผึ้ง ได้แก่รสหวานที่แมลงผึ้งทำ. ที่ชื่อว่า น้ำอ้อย ได้แก่รสหวานที่เกิดจากอ้อย. ที่ชื่อว่า ปลา ท่านว่าได้แก่สัตว์ที่เที่ยวไปในน้ำ. ที่ชื่อว่า เนื้อ ได้แก่เนื้อของสัตว์บกที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ. ที่ชื่อว่า นมสด ได้แก่น้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำนมกระบือ หรือน้ำนมของสัตว์ที่มี มังสะเป็นกัปปิยะ. ที่ชื่อว่า นมส้ม ได้แก่นมส้มที่ทำจากน้ำนมของสัตว์เหล่านั้นแหละ. [๕๑๙] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. บทว่า โภชนะอันประณีตเห็นปานนั้น ได้แก่ โภชนะอันประณีตมีสภาพดังกล่าวแล้ว. ที่ชื่อว่า มิใช่ผู้อาพาธ คือผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต ก็ยังผาสุก. ที่ชื่อว่า ผู้อาพาธ คือผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต ไม่ผาสุก. ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธขอเพื่อประโยชน์แก่ตน เป็นทุกกฏในประโยคที่ขอ. ได้ของนั้นมา รับประเคนด้วยตั้งใจว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ. ขณะกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ คำกลืน.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๑๐๑๔-๑๑๐๕๒ หน้าที่ ๔๖๒-๔๖๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=11014&Z=11052&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=517&items=3              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=517&items=3&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=2&item=517&items=3              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=2&item=517&items=3              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=517              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 https://84000.org/tipitaka/english/?index_2

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]