ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
กลับเสวยพระกระยาหารหยาบ
[๕๐๕] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า เราจำได้อยู่ เมื่องานวัปปมงคล ของท้าวศากยะผู้พระบิดา เรานั่งอยู่ที่ร่มไม้หว้าอันเยือกเย็น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ทางนี้แลหนอ พึงเป็นทางเพื่อ ตรัสรู้. อาตมภาพได้มีความรู้สึกอันแล่นไปตามสติว่าทางนี้แหละ เป็นทางเพื่อตรัสรู้. อาตมภาพ ได้มีความคิดเห็นว่า เราจะกลัวแต่สุขซึ่งเป็นสุขเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมหรือ. และมี ความคิดเห็นต่อไปว่า เราไม่กลัวแต่สุขซึ่งเป็นสุขเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมละ. การที่ บุคคลผู้มีกายผอมเหลือเกินอย่างนี้ จะถึงความสุขนั้น ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงบริโภค อาหารหยาบ คือข้าวสุก ขนมสดเถิด. อาตมภาพจึงบริโภคอาหารหยาบ คือข้าวสุก ขนมสด. ก็สมัยนั้น ปัญจวัคคีย์ภิกษุ บำรุงอาตมภาพอยู่ด้วยหวังว่า พระสมณโคดมจักบรรลุธรรมใด ก็จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย. นับแต่อาตมภาพบริโภคอาหารหยาบคือข้าวสุก ขนมสด. ปัญจวัคคีย์ภิกษุก็พากันเบื่อหน่ายจากอาตมภาพหลีกไปด้วยความเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้ มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากไปเสียแล้ว. ครั้นอาตมภาพบริโภคอาหาร หยาบมีกำลังขึ้นแล้ว ก็สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มี วิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขผู้ได้ฌานเกิดแต่สมาธิอยู่. มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ตติยฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข. บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.
ได้ญาณ ๓
[๕๐๖] อาตมภาพนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ. อาตมภาพนั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ อาตมภาพนั้น ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วย ประการฉะนี้. ดูกรราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่หนึ่งที่อาตมภาพได้บรรลุแล้ว ในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่ อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่. [๕๐๗] อาตมภาพนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุบัติของสัตว์ ทั้งหลาย อาตมภาพนั้นย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้. ดูกรราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่สองที่อาตมภาพ ได้บรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่. [๕๐๘] อาตมภาพนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ. ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา. เมื่ออาตมภาพนั้น รู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูกรราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่สาม ที่อาตมภาพได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืด ถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไป แล้วอยู่.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๗๙๓๔-๗๙๗๙ หน้าที่ ๓๔๕-๓๔๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=7934&Z=7979&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=13&item=505&items=4              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=13&item=505&items=4&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=13&item=505&items=4              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=13&item=505&items=4              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=505              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]