ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
             [๗๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในบ้าน
นาฬันทคาม แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด
เราจักไปยังปาฏลิคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงปาฏลิคามแล้ว
พวกอุบาสกชาวปาฏลิคามได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงปาฏลิคามแล้ว
จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคม
พระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามนั่ง
เรียบร้อยแล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรง
รับเรือนสำหรับพักของพวกข้าพระองค์เถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ
ลำดับนั้น พวกอุบาสกชาวปาฏลิคามทราบการทรงรับของพระผู้มีพระภาคแล้ว
จึงลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณกลับไปยังเรือน
สำหรับพัก ครั้นเข้าไปแล้วปูลาดเรือนสำหรับพักอย่างเรียบร้อยทั่วทุกแห่ง แต่งตั้ง
อาสนะ ตั้งหม้อน้ำไว้ ตามประทีปไว้แล้ว จึงกลับเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ครั้นพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามยืนเรียบร้อยแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มี-
*พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ปูลาดเรือนสำหรับพักอย่างเรียบร้อย
ทั่วทุกแห่งแล้ว แต่งตั้งอาสนะไว้ ตั้งหม้อน้ำไว้ ตามประทีปไว้แล้ว ขอพระผู้มี-
*พระภาคจงทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ฯ
             ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปยังเรือนสำหรับพัก ครั้นเสด็จเข้าไปแล้ว ทรงล้าง
พระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปยังเรือนสำหรับพัก ประทับนั่งพิงเสากลาง บ่ายพระพักตร์
ไปทางบูรพทิศ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ล้างเท้าแล้วเข้าไปยังเรือนสำหรับพัก นั่งพิงฝาด้านหลัง
บ่ายหน้าไปทางบูรพทิศแวดล้อมพระผู้มีพระภาค ส่วนพวกอุบาสกชาวปาฏลิคาม
ล้างเท้าแล้ว เข้าไปยังเรือนสำหรับพัก นั่งพิงฝาด้านหน้า บ่ายหน้าไปทางปัจฉิมทิศ
แวดล้อมพระผู้มีพระภาค ฯ
             [๗๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามว่า
ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ๕ ประการเหล่านี้ ๕ ประการ
เป็นไฉน ฯ
             ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้วในโลกนี้ ย่อมเข้าถึง
ความเสื่อมแห่งโภคะอย่างใหญ่อันมีความประมาทเป็นเหตุ อันนี้เป็นโทษข้อที่หนึ่ง
แห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ฯ
             อีกข้อหนึ่ง กิตติศัพท์อันชั่วของคนทุศีล มีศีลวิบัติแล้วย่อมกระฉ่อนไป
อันนี้เป็นโทษข้อที่สองแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ฯ
             อีกข้อหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว จะเข้าไปสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติย-
*บริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท ย่อมครั่นคร้าม เก้อเขิน
อันนี้เป็นโทษข้อที่สามแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ฯ
             อีกข้อหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว ย่อมหลงกระทำกาละ อันนี้เป็นโทษ
ข้อที่สี่แห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ฯ
             อีกข้อหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อันนี้เป็นโทษข้อที่ห้าแห่งศีลวิบัติของคน
ทุศีล ฯ
             ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ๕ ประการเหล่านี้แล ฯ
             [๘๐] ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ๕
ประการเหล่านี้ ๕ ประการเป็นไฉน
             ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมได้รับ
กองโภคะใหญ่ อันมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่หนึ่ง
แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ
             อีกข้อหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของคนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อม
ขจรไป อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่สอง แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ
             อีกข้อหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล จะเข้าไปสู่บริษัทใดๆ คือ
ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท ย่อมองอาจ
ไม่เก้อเขิน อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่สาม แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ
             อีกข้อหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมไม่หลงทำกาละ อันนี้
เป็นอานิสงส์ข้อที่สี่ แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ
             อีกข้อหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ
กายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ห้า แห่งศีลสมบัติ
ของคนมีศีล ฯ
             ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ๕ ประการ
เหล่านี้แล ฯ
             [๘๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามให้เห็น-
*แจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาตลอดราตรีแล้ว ทรงส่ง
ไปด้วยพระดำรัสว่า
             ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ราตรีสว่างแล้ว พวกท่านจงทราบกาลอันควร
ในบัดนี้เถิด พวกอุบาสกชาวปาฏลิคามทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณหลีกไปแล้ว ลำดับนั้น
เมื่ออุบาสกชาวปาฏลิคามหลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่สุญญา-
*คารแล้ว ฯ
             [๘๒] ก็สมัยนั้น สุนีธะ และวัสสการะ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ
สร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี ก็สมัยนั้นเทวดาเป็นอันมากนับเป็น
พันๆ หวงแหนที่ในปาฏลิคาม เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่หวงแหนที่ในส่วนใด จิตของ
พระราชาและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ ก็น้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น
เทวดาชั้นกลางหวงแหนที่ในส่วนใด จิตของพระราชาและพระราชมหาอำมาตย์
ชั้นกลาง ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น เทวดาชั้นต่ำหวงแหนที่ในส่วนใด
จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ชั้นต่ำ ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น
พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นเทวดาเหล่านั้นนับเป็นพันๆ หวงแหนที่ในปาฏลิคาม
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯ
             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นในเวลาปัจจุสสมัยแห่งราตรี ตรัส
เรียกพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ ใครหนอจะสร้างเมืองในปาฏลิคาม ฯ
             อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ
จะสร้างเมืองปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี ฯ
             ดูกรอานนท์ สุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐจะสร้างเมือง
ในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี ก็เปรียบเหมือนท้าวสักกะทรงปรึกษา
กับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ในที่นี้ เราได้เห็นเทวดาเป็นอันมากนับเป็นพันๆ
หวงแหนที่ในปาฏลิคามด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ เทวดาผู้มี
ศักดิ์ใหญ่หวงแหนที่ในส่วนใด จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่
ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น เทวดาชั้นกลางหวงแหนที่ในส่วนใด จิต
ของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ชั้นกลาง ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น
เทวดาชั้นต่ำหวงแหนที่ในส่วนใด จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ชั้นต่ำ
ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น ดูกรอานนท์ ที่นี้จักเป็นที่อยู่อันประเสริฐ
เป็นทางค้าขาย เป็นนครอันเลิศ ชื่อว่า ปาฏลีบุตร เป็นที่แก้ห่อภัณฑะ นคร
ปาฏลีบุตรจักมีอันตราย ๓ ประการ คือ ไฟ น้ำ หรือการยุให้แตกพวก ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๒๑๗๕-๒๒๖๕ หน้าที่ ๘๙-๙๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=10&A=2175&Z=2265&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=78&items=5              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=78&items=5&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=10&item=78&items=5              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=10&item=78&items=5              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=78              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]