ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็น อันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงจากบ้านตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้นกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม เขาจะพึงระลึกได้ อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้นเราได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เราได้จากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านโน้น แม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืน อย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรากลับจากบ้านนั้นมาสู่บ้าน ของตนตามเดิม ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพ โน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอระลึกถึง ชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
จุตูปปาตญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วง จักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม กรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น มิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ เปรียบเหมือนปราสาทตั้ง อยู่ ณ ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลางพระนคร บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชนกำลัง เข้าไปสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังสัญจรเป็นแถวอยู่ในถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลางพระนครบ้าง เขาจะพึงรู้ว่า คนเหล่านี้เข้าสู่เรือน เหล่านี้ออกจากเรือน เหล่านี้สัญจรเป็นแถวอยู่ในถนน เหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลางพระนคร ฉันใด ภิกษุก็ ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไป ตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น มิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
อาสวักขยญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ เหล่านี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อม หลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณ ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขา ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวด และ ก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น เขาจะพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหิน บ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ ปาฏิหาริย์ ๓ เหล่านี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงประกาศให้รู้.
เรื่องภิกษุแสวงหามหาภูต
[๓๔๓] ดูกรเกวัฏฏ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุนี้เอง ได้เกิดความ ปริวิตกอย่างนี้ว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือ ในที่ไหนหนอ. ลำดับนั้น เธอได้เข้าสมาธิชนิดที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่ เทวโลกปรากฏได้. ครั้นแล้วเธอได้เข้าไปหาพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชถึงที่อยู่ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับ ไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว เทวดาชั้นจาตุมหาราชจึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้า ก็ไม่ทราบที่ดับไม่มีหลือ แห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้เหมือนกัน แต่ยังมีท้าวมหาราชอยู่ ๔ องค์ ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้า ท้าวเธอคงจะทราบ. ลำดับนั้นภิกษุนั้นจึงไปหาท้าวมหาราช ทั้ง ๔ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์จึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้าอยู่อีก เทวดาเหล่านั้นคงจะทราบ ภิกษุนั้นจึงเข้าไปหาเทวดาชั้นดาวดึงส์ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์จึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีท้าวสักกะ จอมเทพซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้าอยู่อีก ท้าวเธอคงจะทราบ. ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้ ไปหาท้าวสักกะจอมเทพแล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? ดูกรเกวัฏฏ์ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสตอบว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น แต่ยังมีเทวดาชั้น ยามะ ... ท้าวสุยามะ ... เทวดาชั้นดุสิต ... ท้าวสันดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ... ท้าวสุนิมมิต ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ... ท้าวปรนิมมิตวสวดี ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าข้าพเจ้า อยู่อีก ท้าวเธอคงทราบที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ได้. [๓๔๔] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้นแล เธอได้เข้าไปหาวสวดีเทวบุตรแล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือใน ที่ไหน เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว วสวดีเทวบุตรตอบว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีเทวดา ผู้นับเนื่องในหมู่พรหม ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกเราอยู่อีก เทวดาเหล่านั้นคงจะทราบ ลำดับนั้น ภิกษุได้เข้าสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่พรหมโลกปรากฏได้. [๓๔๕] ดูกรเกวัฏฏ์ ต่อนั้น เธอได้เข้าไปหาเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมโลกแล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับ ไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้ เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมจึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้า ก็ไม่ทราบ แต่ยังมีพรหมผู้เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ ผู้ใช้อำนาจเป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้วและยังจะเกิดต่อไป ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้า ท้าว มหาพรหมนั้นแล คงจะทราบ ก็บัดนี้ท้าวมหาพรหมนั้นอยู่ที่ไหน แม้พวกเราก็ไม่รู้ที่อยู่ของพรหม หรือทิศทางที่พรหมอยู่ แต่ว่านิมิตทั้งหลายย่อมเห็นได้ แสงสว่างย่อมเกิดเอง โอภาสย่อมปรากฏ เมื่อใด พรหมจักปรากฏองค์เมื่อนั้น การที่แสงสว่างเกิดเอง โอภาสปรากฏนั้นแล เป็นบุพพนิมิต สำหรับความปรากฏแห่งพรหม ดูกรเกวัฏฏ์ ต่อมาไม่นาน มหาพรหมนั้นได้ปรากฏแล้ว. [๓๔๖] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น เธอได้เข้าไปหามหาพรหมแล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูป ทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวมหาพรหมนั้นได้ตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้เนรมิตร เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว และยังจะเกิดต่อไป แม้ครั้งที่ ๒ เล่า ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมนั้น ดังนี้ว่า ข้าพเจ้า มิได้ถามท่านอย่างนั้น แต่ข้าพเจ้าถามท่านว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้ ต่างหาก แม้ครั้งที่ ๒ เล่า ท้าวมหาพรหมก็ได้ตอบเธออย่างนั้นเหมือนกัน แม้ครั้งที่ ๓ เล่า ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมนั้นดังนี้ว่า ข้าพเจ้ามิได้ถามท่านอย่างนั้น แต่ข้าพเจ้าถามท่านว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้ต่างหาก. [๓๔๗] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น ท้าวมหาพรหมนั้น จับแขนภิกษุนั้นนำไป ณ ที่ควร ข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุ พวกเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมเหล่านี้เข้าใจเราว่า อะไรๆ ที่พรหมไม่รู้ ไม่เห็น ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ประจักษ์ ไม่มี ดังนี้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงตอบต่อหน้า เทวดาเหล่านั้นไม่ได้ว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล การที่ท่านละพระผู้มีพระภาค เสีย แล้วมาเสาะหาการพยากรณ์ปัญหานี้ในภายนอกนั้น เป็นอันท่านทำผิดพลาดแล้ว นิมนต์กลับ เถิด ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามปัญหานี้ พระองค์ทรงพยากรณ์แก่ท่านฉันใด ท่าน พึงทรงจำข้อนั้นไว้ ฉันนั้น.
อุปมาด้วยนกตีรทัสสี
[๓๔๘] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้หายไปที่พรหมโลก มาปรากฏข้างหน้าเรา เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้อยู่ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดไว้เข้ามา ฉะนั้น. ต่อนั้น เธอไหว้เราแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ถามเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูป ทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ตอบว่า ดูกรภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าเดินเรือทะเล ย่อมจับนกตีรทัสสี (นกดูฝั่ง) ลงเรือไปด้วย เมื่อไม่เห็นฝั่ง เขาย่อมปล่อยนกตีรทัสสี มันบินไปยังทิศบูรพา ทิศทักษิณ ทิศปัศจิม ทิศอุดร ทิศเบื้องบน ทิศน้อย ถ้ามันแลเห็นฝั่ง โดยรอบมันก็บินเลยไป ถ้ามันแลไม่เห็นฝั่งโดยรอบ มันก็จะกลับมายังเรือนั้นอีก ดูกรภิกษุ เธอก็ฉันนั้นแล เที่ยวแสวงหาจนถึงพรหมโลก ก็ไม่ได้รับพยากรณ์ปัญหานี้ ในที่สุดก็ต้องกลับ มาหายังสำนักเรานั่นเอง ปัญหาข้อนี้เธอมิควรถามอย่างนั้น แต่ควรถามอย่างนี้.
แถลงปัญหามหาภูต
[๓๔๙] ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้. ในปัญหานั้น มีพยากรณ์ดังต่อไปนี้ [๓๕๐] ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใส โดยประการทั้งปวง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้. อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ใน ธรรมชาตินี้. นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้. เพราะวิญญาณดับ นามและรูปนั้นย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ ดังนี้. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรมีใจชื่นชม เพลิดเพลิน ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบเกวัฏฏสูตร ที่ ๑๑.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ บรรทัดที่ ๗๗๔๐-๗๘๙๘ หน้าที่ ๓๒๓-๓๒๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=7740&Z=7898&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=9&siri=11              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=338              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [342-350] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=9&item=342&items=9              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=8429              The Pali Tipitaka in Roman :- [342-350] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=9&item=342&items=9              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=8429              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_9              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i338-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i338-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.11.0.than.html https://suttacentral.net/dn11/en/sujato https://suttacentral.net/dn11/en/rhysdavids-brasington

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :