ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
พระวินัยปิฎก
เล่ม ๕
มหาวรรค ภาค ๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จัมมขันธกะ
เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร
[๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร ราชคฤห์. ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช เสวยราชสมบัติเป็นอิสราธิบดี ใน หมู่บ้านแปดหมื่นตำบล ก็สมัยนั้น ในเมืองจัมปา มีเศรษฐีบุตรชื่อโสณโกฬิวิสโคตร เป็น สุขุมาลชาติ ที่ฝ่าเท้าทั้งสองของเขามีขนงอกขึ้น คราวหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ราษฎรในตำบลแปดหมื่นนั้นประชุมกันแล้วทรงส่งทูตไปใน สำนักเศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะ ดุจมีพระราชกรณียกิจสักอย่างหนึ่ง ด้วยพระบรมราชโองการว่า เจ้าโสณะจงมา เราปรารถนาให้เจ้าโสณะมา จึงมารดาบิดาของเศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะได้พูด ตักเตือนเศรษฐีบุตรนั้นว่า พ่อโสณะ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเท้าทั้งสอง ของเจ้า ระวังหน่อยพ่อโสณะ เจ้าอย่าเหยียดเท้าทั้งสองไปทางที่พระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ จง นั่งขัดสมาธิตรงพระพักตร์ของพระองค์ เมื่อเจ้านั่งแล้ว พระเจ้าอยู่หัว จักทอดพระเนตรเท้า ทั้งสองได้ ครั้งนั้น ชนบริวารทั้งหลายได้นำเศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะไปด้วยคานหาม ลำดับนั้น เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราชถวายบังคมแล้วนั่งขัดสมาธิ ตรงพระพักตร์ของท้าวเธอ ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็นโลมชาติที่ฝ่าเท้าทั้งสองของเขา แล้ว ทรงอนุศาสน์ประชาราษฎรในตำบลแปดหมื่นนั้น ในประโยชน์ปัจจุบัน ทรงส่งไปด้วยพระบรม- *ราโชวาทว่า ดูกรพนาย เจ้าทั้งหลายอันเราสั่งสอนแล้วในประโยชน์ปัจจุบัน เจ้าทั้งหลาย จงไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคของเราพระองค์นั้นจักทรงสั่งสอนเจ้าทั้งหลาย ในประโยชน์ ภายหน้า ครั้งนั้น พวกเขาพากันไปทางภูเขาคิชฌกูฏ.
พระสาคตเถระแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
ก็สมัยนั้น ท่านพระสาคตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค จึงพวกเขาพากันเข้าไปหา ท่านพระสาคตะ แล้วได้กราบเรียนว่า ท่านขอรับ ประชาชนชาวตำบลแปดหมื่นนี้ เข้ามาในที่นี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอประทานโอกาสขอรับ ขอพวกข้าพเจ้าพึงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ท่านพระสาคตะบอกว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงอยู่ ณ ที่นี้สักครู่หนึ่งก่อน จนกว่าอาตมาจะ กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ดังนี้ และเมื่อพวกเขากำลังเพ่งมองอยู่ข้างหน้า ท่าน พระสาคตะดำลงไปในแผ่นหินอัฒจันทร์ผุดขึ้นตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูล คำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ประชาชนชาวตำบลแปดหมื่นนี้พากันเข้ามา ณ ที่นี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรสาคตะ ถ้ากระนั้นเธอจงปูลาดอาสนะ ณ ร่มเงาหลังวิหาร ท่าน พระสาคตะทูลสนองพระพุทธดำรัสว่า ทราบเกล้าฯ แล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วถือตั่งดำลงไปตรง พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค เมื่อประชาชนชาวตำบลแปดหมื่นนั้นกำลังเพ่งมองอยู่ตรงหน้า จึงผุดขึ้นลากแผ่นหินอัฒจันทร์แล้วปูลาดอาสนะในร่มเงาหลังพระวิหาร.
เสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร แล้วประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ ที่จัดไว้ ณ ร่มเงาหลังพระวิหาร จึงประชาชนชาวตำบลแปดหมื่นนั้นเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้ว ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และพวกเขาพากันสนใจแต่ท่านพระสาคตะเท่านั้น หาได้ สนใจต่อพระผู้มีพระภาค ไม่ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพวกเขา ด้วยพระทัยแล้ว จึงตรัสเรียกท่านพระสาคตะมารับสั่งว่า ดูกรสาคต ถ้ากระนั้น เธอจงแสดง อิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ ให้ยิ่งขึ้นไปอีก ท่านพระสาคตะทูลรับสนองพระพุทธาณัติว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วเหาะขึ้นสู่ เวหาส เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง สำเร็จการนอนบ้าง บังหวนควันบ้าง โพลงไฟบ้าง หายตัวบ้าง ในอากาศกลางหาว ครั้นแสดงอิทธิปฏิหาริย์อันเป็นธรรมยวดยิ่งของมนุษย์หลายอย่าง ในอากาศกลางหาว แล้วลงมาซบศีรษะลงที่พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้า พระพุทธเจ้าเป็นสาวกพระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้า พระพุทธเจ้าเป็นสาวก ดังนี้ จึงประชาชนตำบลแปดหมื่นนั้นพูดสรรเสริญว่า ชาวเราผู้เจริญ อัศจรรย์นัก ประหลาดแท้ เพียงแต่พระสาวกยังมีฤทธิ์มากถึงเพียงนี้ ยังมีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ พระศาสดาต้องอัศจรรย์แน่ ดังนี้ แล้วพากันสนใจต่อพระผู้มีพระภาคเท่านั้น หาสนใจต่อท่าน พระสาคตะไม่
ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพวกเขาด้วยพระทัย แล้ว ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถาโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกบรรพชา เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรง ประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่ง นั้นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้า ที่สะอาด ปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว ได้ บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ในคำสอนของ พระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระพุทธเจ้าข้า ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีป ในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเหล่านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำพวกข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็น อุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.
เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะออกบวช
[๒] ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะได้มีความปริวิตก ดังนี้ว่า ด้วยวิธีอย่างไรๆ เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติ พรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ไฉนหนอ เราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ครั้น ประชาชนเหล่านั้นชื่นชมยินดี ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มี พระภาค ทำประทักษิณหลีกไปแล้ว หลังจากประชาชนพวกนั้นหลีกไปแล้วไม่นานนัก เขาได้ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นแล ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ด้วยวิธีอย่างไรๆ ข้าพระพุทธเจ้าจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระพุทธเจ้าข้า เศรษฐีบุตร โสณโกฬิวิสะได้รับบรรพชา อุปสมบทในพุทธสำนักแล้ว ก็แลท่านพระโสณะอุปสมบทแล้ว ไม่นาน ได้พำนักอยู่ ณ ป่าสีตวันท่านปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจนเท้าทั้ง ๒ แตก สถานที่เดินจงกรมเปื้อนโลหิต ดุจสถานที่ฆ่าโค ฉะนั้น. ครั้งนั้น ท่านพระโสณะไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ ว่า บรรดาพระสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่ปรารภความเพียรอยู่ เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉน จิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นเล่า สมบัติในตระกูลของเราก็ยัง มีอยู่ เราอาจบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ถ้ากระไร เราพึงสึกเป็นคฤหัสถ์แล้วบริโภคสมบัติ และบำเพ็ญกุศล ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านด้วยพระทัยแล้ว จึงทรงอันตรธานที่คิชฌกูฏบรรพต มาปรากฏพระองค์ ณ ป่าสีตวัน เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น คราวนั้น พระองค์พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก เสด็จเที่ยวจาริกตามเสนาสนะ ได้เสด็จเข้าไปทางสถานที่เดินจงกรมของท่านพระโสณะ ได้ทอด พระเนตรเห็นสถานที่เดินจงกรมเปื้อนโลหิต ครั้นแล้วจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของใครหนอ เปื้อนโลหิต เหมือนสถานที่ฆ่าโค ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า ท่านพระโสณะปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจน เท้าทั้ง ๒ แตก สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของท่านจึงเปื้อนโลหิต ดุจสถานที่ฆ่าโค ฉะนั้น พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของท่านพระโสณะ ครั้นแล้วประทับ นั่งเหนือพุทธอาสน์ที่จัดไว้ถวาย แม้ท่านพระโสณะก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งเฝ้าอยู่.
ตั้งความเพียรสม่ำเสมอเทียบเสียงพิณ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระโสณะผู้นั่งเฝ้าอยู่ว่า ดูกรโสณะ เธอไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ได้มีความปรีวิตกแห่งจิตเกิดขึ้น อย่างนี้ว่า บรรดาพระสาวกของพระผู้มีพระภาคที่ ปรารภความเพียรอยู่ เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉน จิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นเล่า สมบัติในตระกูลของเราก็ยังมีอยู่ เราอาจบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ถ้ากระไร เราพึงสึกเป็นคฤหัสถ์ แล้วบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ดังนี้ มิใช่หรือ? ท่านพระโสณะทูลรับว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ภ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อครั้งเธอยังเป็นคฤหัสถ์ เธอ ฉลาดในเสียงสายพิณ มิใช่หรือ? โส. อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอตึงเกินไป คราวนั้นพิณของเธอมีเสียงหรือใช้การได้บ้างไหม? โส. หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอหย่อนเกิน ไป คราวนั้นพิณของเธอมีเสียงหรือใช้การได้บ้างไหม? โส. หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก ตั้งอยู่ในคุณภาพสม่ำเสมอ คราวนั้น พิณของเธอมีเสียงหรือใช้การได้บ้างไหม? โส. เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรโสณะ เหมือนกันนั่นแล ความเพียรที่ปรารภเกินไปนัก ย่อมเป็นไปเพื่อความ ฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนนัก ก็เป็นไปเพื่อเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งความเพียร แต่พอเหมาะ จงทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระพุทธพจน์ว่า จะปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว ทรง อันตรธานที่ป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะ แล้วมาปรากฏพระองค์ ณ คิชฌกูฏบรรพต เปรียบ เหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น.
พระโสณะสำเร็จพระอรหัตผล
ครั้นกาลต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ ทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลาย เสมอกัน และได้ถือนิมิตในความสม่ำเสมอ ครั้นแล้วได้หลีกออกอยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไป ไม่นานเท่าไรนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณพิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุด พรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องประสงค์ ด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันนี้แหละ เข้าถึงอยู่แล้ว ได้รู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ เราได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แลบรรดา พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านพระโสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งแล้ว
พรรณนาคุณของพระขีณาสพ
[๓] ครั้งนั้น ท่านพระโสณะบรรลุพระอรหัตแล้ว ได้คิดว่า ถ้ากระไรเราพึงพยากรณ์ อรหัตผลในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมนั่งเฝ้าอยู่ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค ว่าดังนี้:- พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใด เป็นพระอรหันต์มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว มีประโยชน์ของตนได้ถึงแล้วโดยลำดับ มีกิเลส เครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ภิกษุนั้นย่อมน้อมใจ ไปสู่ เหตุ ๖ สถาน คือ ๑. น้อมใจไปสู่บรรพชา ๒. น้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด ๓. น้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน ๔. น้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน ๕. น้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา และ ๖. น้อมใจไปสู่ความไม่หลงไหล พระพุทธเจ้าข้า ก็บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญเห็นเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้อาศัย คุณแต่เพียงศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่ จึงน้อมใจไปสู่บรรพชา ดังนี้พระพุทธเจ้าข้า ก็ข้อนี้ไม่พึง เห็นอย่างนั้นเลย ภิกษุขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่า ตนยังมีกิจที่จำจะต้องทำ หรือจะต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว จึงน้อมใจสู่บรรพชา โดยที่ตน ปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่บรรพชา โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่บรรพชา โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ พระพุทธเจ้าข้า ก็บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ สำคัญเห็นเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้ ปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมใจไปในความเงียบสงัด ดังนี้ พระพุทธ- *เจ้าข้า ข้อนี้ก็ไม่พึงเห็นอย่างนั้นเลย ภิกษุขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ ทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตนยังมีกิจที่จำจะต้องทำ หรือจะต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว จึง น้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่ความ เงียบสงัด โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด โดยที่ตน ปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ พระพุทธเจ้าข้า ก็บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ สำคัญเห็นเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้ เชื่อถือสีลัพพตปรามาส โดยความเป็นแก่นสารเป็นแน่ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน ดังนี้ พระพุทธเจ้าข้า ข้อนี้ก็ไม่พึงเห็นอย่างนั้นเลย ภิกษุขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควร ทำได้ทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตนยังมีกิจที่จำจะต้องทำ หรือจะต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่ความ ไม่เบียดเบียน โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ ... จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจ ไปสู่ความสิ้นอุปาทาน โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ ... จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจ ไปสู่ความสิ้นตัณหา โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ ... จึงน้อมใจไปสู่ความไม่หลงใหล โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจ ไปสู่ความไม่หลงใหล โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่หลงใหล โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ พระพุทธเจ้าข้า แม้หากรูปารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยจักษุ ผ่านมาสู่คลองจักษุ ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้น อันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็น ความเกิดและความดับของจิตนั้น แม้หากสัททารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยโสต .... แม้หากคันธารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยฆานะ .... แม้หากรสารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยชิวหา .... แม้หากโผฏฐัพพารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยกาย .... แม้หากธรรมารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยมโน ผ่านมาสู่คลองใจของภิกษุผู้มี จิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นอันอารมณ์ ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นความเกิด และความดับของจิตนั้น พระพุทธเจ้าข้า ภูเขาล้วนแล้วด้วยศิลา ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันออก ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ไม่ได้เลย แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันตก .... แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศเหนือ .... แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศใต้ ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหว สะเทือนสะท้าน ไม่ได้เลย แม้ฉันใด. พระพุทธเจ้าข้า แม้หากรูปารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยจักษุ ผ่านมาสู่คลองจักษุ ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของ ภิกษุนั้นอันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อม พิจารณาเห็นความเกิดและความดับของจิตนั้น. แม้หากสัททารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยโสต .... แม้หากคันธารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบด้วยฆานะ .... แม้หากรสารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบด้วยชิวหา .... แม้หากโผฏฐัพพารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยกาย .... แม้หากธรรมารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยมโน ผ่านมาสู่คลองใจของภิกษุผู้มีจิต หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นอันอารมณ์ ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นความเกิด และความดับของจิตนั้น ฉันนั้นเหมือนกันแล.
นิคมคาถา
[๔] ภิกษุน้อมไปสู่บรรพชา ๑ ผู้น้อมไปสู่ความเงียบสงัด แห่งใจ ๑ ผู้น้อมไปสู่ความไม่เบียดเบียน ๑ ผู้น้อมไปสู่ ความสิ้นอุปาทาน ๑ ผู้น้อมไปสู่ความสิ้นตัณหา ๑ ผู้น้อม ไปสู่ความไม่หลงไหลแห่งใจ ๑ ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดย ชอบ เพราะเห็นความเกิด และความดับแห่งอายตนะ ภิกษุมีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบ มีจิตสงบนั้น ไม่ต้องกลับ สะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว กิจที่จำจะต้องทำก็ไม่มี เปรียบ เหมือนภูเขาที่ล้วนแล้วด้วยศิลาเป็นแท่งทึบอันเดียวกัน ย่อมไม่สะเทือนด้วยลม ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ ทั้งที่น่าปรารถนา และไม่น่า ปรารถนาทั้งสิ้น ย่อมทำท่านผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉัน นั้น จิตของท่านตั้งมั่น หลุดพ้นแล้ว ท่านย่อมพิจารณา เห็นความเกิด และความดับของจิตนั้นด้วย.
ทรงอนุญาตรองเท้า
[๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ด้วยวิธีอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ที่พวกกุลบุตรพยากรณ์อรหัตกล่าวแต่เนื้อความ และไม่น้อมเข้าไปหาตน ก็แต่ว่า โมฆบุรุษบางจำพวกในธรรมวินัยนี้พยากรณ์อรหัต ทำทีเหมือนเป็นของสนุก ภายหลังต้องทุกข์ เดือดร้อน ดังนี้. ต่อแต่นั้นพระองค์รับสั่งกะท่านพระโสณะว่า ดูกรโสณะ เธอเป็นสุขุมาลชาติ เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียวแก่เธอ. ท่านพระโสณะกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าละเงินประมาณ ๘๐ เล่มเกวียน และละกองพล กอปรด้วยช้าง ๗ เชือก ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว จักมีผู้กล่าวแก่พระพุทธเจ้าว่า โสณโกฬิวิสะละเงินประมาณ ๘๐ เล่มเกวียน และละกองพลกอปรด้วยช้าง ๗ เชือก ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว เดี๋ยวนี้ยังข้องอยู่ในเรื่องรองเท้าชั้นเดียว ถ้าพระผู้มีพระภาคจักได้ ทรงอนุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระพุทธเจ้าจักใช้สอย ถ้าจักไม่ทรงอนุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็จักไม่ใช้สอย พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ภิกษุ ไม่พึงสวมรองเท้า ๒ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้า ๓ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้น รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามสวมรองเท้าสีต่างๆ
[๖] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าสีเขียวล้วน .... สวมรองเท้าสีเหลือง ล้วน .... สวมรองเท้าสีแดงล้วน .... สวมรองเท้าสีบานเย็นล้วน .... สวมรองเท้าสีดำล้วน .... สวมรองเท้า สีแสดล้วน .... สวมรองเท้าสีชมพูล้วน ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนพวก คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าสีเขียวล้วน ไม่พึงสวมรองเท้า สีเหลืองล้วน ไม่พึงสวมรองเท้าสีแดงล้วน ไม่พึงสวมรองเท้าสีบานเย็นล้วน ไม่พึงสวมรองเท้า สีดำล้วน ไม่พึงสวมรองเท้าสีแสดล้วน ไม่พึงสวมรองเท้าสีชมพูล้วน รูปใดสวม ต้องอาบัติ ทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามสวมรองเท้ามีหูไม่สมควร
สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้ามีหูสีเขียว .... สวมรองเท้ามีหูสีเหลือง .... สวมรองเท้า มีหูสีแดง .... สวมรองเท้ามีหูสีบานเย็น .... สวมรองเท้ามีหูสีดำ .... สวมรองเท้ามีหูสีแสด .... สวมรองเท้า มีหูสีชมพู ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติห้ามว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีเขียว ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีเหลือง ไม่พึงสวมรองเท้า มีหูสีแดง ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีบานเย็น ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีดำ ไม่พึงสวมรองเท้ามีหู สีแสด ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีชมพู รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติทรงห้ามสวมรองเท้าบางชนิด
สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าติดแผ่นหนังหุ้มส้น .... สวมรองเท้าหุ้มแข้ง .... สวมรองเท้าปกหลังเท้า .... สวมรองเท้ายัดนุ่น .... สวมรองเท้ามีหูลายคล้ายขนปีกนกกระทา .... สวม รองเท้าที่ทำหูงอนมีสัณฐานดุจเขาแกะ .... สวมรองเท้าที่ทำหูงอนมีสัณฐานดุจเขาแพะ .... สวมรองเท้า ที่ทำประกอบหูงอนดุจหางแมงป่อง .... สวมรองเท้าที่เย็บด้วยปีกนกยูง .... สวมรองเท้าอันวิจิตร คนทั้งหลายเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าติดแผ่นหนังหุ้มส้น ไม่พึงสวมรองเท้าหุ้มแข้ง ไม่พึงสวมรองเท้าปกหลังเท้า ไม่พึงสวมรองเท้ายัดนุ่น ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูลายคล้ายขนปีกนกกระทา ไม่พึงสวมรองเท้า ที่ทำหูงอนมีสัณฐานดุจเขาแกะ ไม่พึงสวมรองเท้าที่ทำหูงอนมีสัณฐานดุจเขาแพะ ไม่พึงสวม รองเท้าที่ทำประกอบหูงอนดุจหางแมงป่อง ไม่พึงสวมรองเท้าที่เย็บด้วยขนปีกนกยูง ไม่พึงสวม รองเท้าที่อันวิจิตร รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติทรงห้ามสวมรองเท้าขลิบหนัง
สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังราชสีห์ .... สวมรองเท้าขลิบด้วย หนังเสือโคร่ง .... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังเสือเหลือง .... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังชะมด .... สวม รองเท้าขลิบด้วยหนังนาก .... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังแมว .... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังค่าง .... สวม รองเท้าขลิบด้วยหนังนกเค้า คนทั้งหลายเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนพวกคฤหัสถ์ ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติ ห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังราชสีห์ ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วย หนังเสือโคร่ง ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังเสือเหลือง ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังชะมด ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังนาก ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังแมว ไม่พึงสวมรองเท้า ขลิบด้วยหนังค่าง ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังนกเค้า รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ.
ทรงอนุญาตรองเท้าหลายชั้นที่ใช้แล้ว
[๗] ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จพระพุทธดำเนินเข้าไปบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นปัจฉาสมณะ แต่ภิกษุ รูปนั้นเดินเขยกตามพระผู้มีพระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ อุบาสกคนหนึ่งสวมรองเท้าหลายชั้น ได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จพระพุทธดำเนินมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วจึงถอดรองเท้า เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น อภิวาทแล้วจึงได้ถามว่า เพราะอะไร พระผู้เป็นเจ้าจึงเดินเขยก ขอรับ? ภิกษุรูปนั้นตอบว่า เพราะเท้าทั้งสองของอาตมาแตก จ้ะ. อุ. นิมนต์พระผู้เป็นเจ้ารับรองเท้า ขอรับ. ภิ. อย่าเลย ท่าน เพราะผู้มีพระภาคทรงห้ามรองเท้าหลายชั้น. พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า เธอรับรองเท้านั้นได้ ภิกษุ. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าหลายชั้นที่ ใช้แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย รองเท้าหลายชั้นที่ใหม่ ภิกษุไม่พึงสวม รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ.
ห้ามสวมรองเท้าในที่บางแห่ง
[๘] ก็โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงฉลองพระบาทเสด็จพระดำเนินอยู่ในที่แจ้ง ภิกษุเถระทั้งหลายทราบว่า พระศาสดามิได้ทรงฉลองพระบาทเสด็จพระพุทธดำเนินอยู่ ดังนี้ จึงเดินไม่สวมรองเท้า เมื่อพระศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินมิได้ทรงฉลองพระบาท แม้เมื่อภิกษุ ผู้เถระทั้งหลายเดินก็ไม่สวมรองเท้า แต่พระฉัพพัคคีย์เดินสวมรองเท้า บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เมื่อพระศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินมิได้ทรงฉลองพระบาท แม้เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายเดินก็ไม่สวมรองเท้า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้สวมรองเท้าเล่า? แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าเมื่อเราผู้ศาสดา เดินมิได้สวมรองเท้า แม้เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายเดินก็ไม่สวมรองเท้า แต่พระฉัพพัคคีย์เดินสวม รองเท้า จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราผู้ศาสดาเดินมิได้สวม รองเท้า แม้เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายเดินก็ไม่สวมรองเท้า แต่ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้เดิน สวมรองเท้าเล่า อันคฤหัสถ์ชื่อเหล่านี้นุ่งห่มผ้าขาว ยังมีความเคารพ มีความยำเกรง มีความ ประพฤติเสมอภาค ในอาจารย์ทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งศิลปะซึ่งเป็นเครื่องเลี้ยงชีพอยู่ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พึงงามในธรรมวินัยนี้เป็นแน่ ถ้าพวกเธอบวชในธรรมวินัยอันเรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ จะพึงมีความเคารพ มีความยำเกรง มีความประพฤติเสมอภาค อยู่ในอาจารย์ ในภิกษุปูนอาจารย์ ในอุปัชฌายะ ในภิกษุปูนอุปัชฌายะ การกระทำของเหล่าโมฆบุรุษนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความ เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เมื่ออาจารย์ ภิกษุปูนอาจารย์ อุปัชฌายะ ภิกษุปูนอุปัชฌายะ เดินมิได้สวมรองเท้า ภิกษุไม่พึงเดินสวมรองเท้า รูปใดเดินสวมรองเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ไม่พึงสวมรองเท้าภายในอาราม รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ.
ภิกษุอาพาธเป็นหน่อที่เท้า
[๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นหน่อที่เท้า ภิกษุทั้งหลายพยุงภิกษุรูปนั้น ให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ให้ถ่ายปัสสาวะบ้าง พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวจาริกตามเสนาสนะ ได้ ทอดพระเนตรเห็นพวกภิกษุกำลังพยุงภิกษุรูปนั้นให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ให้ถ่ายปัสสาวะบ้าง จึง เสด็จเข้าไปใกล้ภิกษุพวกนั้น แล้วได้ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้อาพาธเป็นอะไร? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ท่านรูปนี้อาพาธเป็นหน่อที่เท้า พวกข้าพระพุทธเจ้าต้องพยุงท่านรูปนี้ ให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ให้ถ่ายปัสสาวะบ้าง พระพุทธเจ้าข้า.
พระพุทธานุญาตให้สวมรองเท้าเป็นพิเศษ
[๑๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มี เท้าชอกช้ำ หรือมีเท้าแตก หรืออาพาธมีหน่อที่เท้า สวมรองเท้าได้ สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายมีเท้ามิได้ล้าง ขึ้นเตียงบ้าง ขึ้นตั่งบ้าง ทั้งจีวร ทั้งเสนาสนะ ย่อมเสียหาย พวกภิกษุจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวมรองเท้าในขณะที่คิดว่าประเดี๋ยวจักขึ้นเตียง หรือขึ้นตั่ง. สมัยต่อมา เวลากลางคืน ภิกษุทั้งหลายเดินไปสู่โรงอุโบสถก็ดี สู่ที่ประชุมก็ดี ย่อม เหยียบตอบ้าง หนามบ้าง ในที่มืด เท้าทั้งสองได้รับบาดเจ็บ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภายในอาราม เรา อนุญาตให้สวมรองเท้า และใช้คบเพลิง ประทีป ไม้เท้าได้.
พระพุทธบัญญัติห้ามสวมเขียงเท้าไม้
ครั้นต่อมา ถึงเวลาปัจจุสมัยแห่งราตรี พระฉัพพัคคีย์ลุกขึ้นสวมเขียงเท้าที่ทำด้วยไม้ แล้วเดินอยู่กลางแจ้ง มีเสียงขฏะขฏะ ดังอึกทึก กล่าวดิรัจฉานกถา มีเรื่องต่างๆ คือ พูดเรื่อง พระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องขุนพล เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับ ไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ เหยียบแมลงตายเสียบ้าง ยังภิกษุทั้งหลายให้เคลื่อนจากสมาธิบ้าง บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย .... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์ เมื่อเวลาปัจจุสมัยแห่งราตรี ได้ ลุกขึ้นสวมเขียงเท้าที่ทำด้วยไม้แล้วเดินอยู่กลางแจ้ง มีเสียงขฏะขฏะ ดังอึกทึก กล่าวดิรัจฉานกถา มีเรื่องต่างๆ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร .... เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ เหยียบแมลงตายเสียบ้าง ยังภิกษุทั้งหลายให้เคลื่อนจากสมาธิบ้าง แล้วจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุฉัพพัคคีย์ เมื่อปัจจุสมัยแห่งราตรี ได้ลุกขึ้นสวมเขียงเท้าที่ทำด้วยไม้ แล้วเดินอยู่กลางแจ้ง มีเสียงขฏะขฏะ ดังอึกทึก กล่าวดิรัจฉานกถา มีเรื่องต่างๆ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร .... เรื่องความเจริญ และความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ เหยียบแมลงตายเสียบ้าง ยังภิกษุทั้งหลายให้เคลื่อนจากสมาธิ บ้าง จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เขียงเท้าที่ทำด้วยไม้ อันภิกษุไม่พึงสวม รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามสวมเขียงเท้าใบตาล
[๑๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่จาริกทางพระนครพาราณสี เสด็จพระพุทธดำเนินสู่จาริกโดยลำดับ ถึงพระนครพาราณสี ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนคร พาราณสีนั้น. ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์คิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามเขียงเท้าไม้ จึงให้ตัด ต้นตาลเล็กๆ แล้วเอาใบตาลมาทำเขียงเท้าสวม ต้นตาลเล็กๆ นั้นถูกตัดแล้วย่อมเหี่ยวแห้ง. ชาวบ้านจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ให้ตัด ต้นตาลเล็กๆ แล้วเอาใบตาลมาทำเขียงเท้าสวมเล่า ต้นตาลเล็กๆ ถูกตัดแล้วย่อมเหี่ยวแห้ง พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาว บ้านเหล่านั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุฉัพพัคคีย์ สั่งให้ตัดต้นตาลเล็กๆ แล้วเอาใบตาลมาทำเขียงเท้าสวม ต้นตาลเล็กๆ นั้นถูกตัดแล้ว ย่อม เหี่ยวแห้ง จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าจึงทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึง ได้ให้ตัดต้นตาลเล็กๆ แล้วเอาใบตาลทำเขียงเท้าสวมเล่า ต้นตาลเล็กๆ นั้นถูกตัดแล้ว ย่อม เหี่ยวแห้ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะชาวบ้านมีความสำคัญในต้นไม้ว่ามีชีวะ การกระทำของ เหล่าโมฆบุรุษนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำ ธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เขียงเท้าสานด้วยใบตาล อันภิกษุไม่พึง สวม รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามสวมเขียงเท้าไม้ไผ่
สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์คิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามเขียงเท้าสานด้วยใบตาล จึง ได้ให้ตัดไม้ไผ่เล็กๆ แล้วเอาใบไผ่มาทำเขียงเท้าสวม ไม้ไผ่เล็กๆ นั้น ถูกตัดแล้ว ย่อมเหี่ยว แห้ง. ชาวบ้านจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ ให้ตัดไม้ไผ่เล็กๆ แล้วเอาใบไผ่มาทำเขียงเท้าสวมเล่า ไม้ไผ่เล็กๆ นั้นถูกตัดแล้วย่อมเหี่ยวแห้ง พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมเบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ. ภิกษุทั้งหลายได้ยิน ชาวบ้านเหล่านั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า .... ครั้นแล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เขียงเท้าสานด้วยใบไผ่ อันภิกษุไม่พึงสวม รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามสวมเขียงเท้าต่างชนิด
[๑๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครพาราณสีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินจาริกทางพระนครภัททิยะ เสด็จพระพุทธดำเนินจาริกโดยลำดับถึงพระนคร ภัททิยะ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ในป่าชาติยาวันเขตพระนครภัททิยะนั้น. ก็โดยสมัยนั้นแล พวกภิกษุชาวพระนครภัททิยะ ตั้งหน้าพากเพียรตกแต่งเขียงเท้า หลากหลายอยู่ คือ ทำเองบ้าง สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยหญ้า ทำเองบ้าง สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยหญ้ามุงกระต่าย ทำเองบ้าง สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยหญ้าปล้อง ทำเองบ้าง สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยใบเป้ง ทำเองบ้าง สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสาน ด้วยแฝก ทำเองบ้าง สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าถักด้วยขนสัตว์ พวกเธอละเลยอุเทศ ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญาเสีย. บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย .... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ว่า ไฉนเล่าพวกภิกษุชาวพระนครภัททิยะ จึงได้ตั้งหน้าพากเพียรตกแต่งเขียงเท้าหลากหลายอยู่ คือ ได้ทำเองบ้าง ได้สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยหญ้า ได้ทำเองบ้าง ได้สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยหญ้ามุงกระต่าย ได้ทำเองบ้าง ได้สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยหญ้าปล้อง ได้ทำเองบ้าง ได้สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยใบเป้ง ได้ทำเองบ้าง ได้สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยแฝก ได้ทำเองบ้าง ได้สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าถักด้วยขนสัตว์ ภิกษุเหล่านั้น ได้ละเลยอุเทศ ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญาเสีย แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าพวกภิกษุชาว พระนครภัททิยะตั้งหน้าพากเพียรตกแต่งเขียงเท้าหลากหลายอยู่ คือ ทำเองบ้าง สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยหญ้า ทำเองบ้าง สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยหญ้ามุงกระต่าย ทำเอง บ้าง สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยหญ้าปล้อง ทำเองบ้าง สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสาน ด้วยใบเป้ง ทำเองบ้าง สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยแฝก ทำเองบ้าง สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าถักด้วยขนสัตว์ ย่อมละเลยอุเทศ ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญาเสีย จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนเล่าโมฆบุรุษเหล่านั้น จึงได้ตั้งหน้าพากเพียรตกแต่งเขียงเท้าหลากหลายอยู่ คือ ได้ทำเองบ้าง ได้สั่งให้ทำบ้าง ซึ่ง เขียงเท้าสานด้วยหญ้า ได้ทำเองบ้าง ได้สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยหญ้ามุงกระต่าย ได้ทำเองบ้าง ได้สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยหญ้าปล้อง ได้ทำเองบ้าง ได้สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยใบเป้ง ได้ทำเองบ้าง ได้สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าสานด้วยแฝก ได้ทำเอง บ้าง ได้สั่งให้ทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าถักด้วยขนสัตว์ โมฆบุรุษเหล่านั้นได้ละเลยอุเทศ ปริปุจฉา อธิจิต อธิปัญญาเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของเหล่าโมฆบุรุษนั่นไม่เป็นไปเพื่อความ เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าสานด้วยหญ้าเขียงเท้าสานด้วยหญ้ามุงกระต่าย เขียงเท้าสาน ด้วยหญ้าปล้อง เขียงเท้าสานด้วยใบเป้ง เขียงเท้าสานด้วยแฝก เขียงเท้าถักด้วยขนสัตว์ เขียงเท้าประดับด้วยทองคำ เขียงเท้าประดับด้วยเงิน เขียงเท้าประดับด้วยแก้วมณี เขียงเท้า ประดับด้วยแก้วไพฑูรย์ เขียงเท้าประดับด้วยแก้วผลึก เขียงเท้าประดับด้วยทองสัมฤทธิ์ เขียงเท้า ประดับด้วยกระจก เขียงเท้าทำด้วยดีบุก เขียงเท้าทำด้วยสังกะสี เขียงเท้าทำด้วยทองแดง รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง เขียงเท้าบางชนิดที่สำหรับสวมเดิน อันภิกษุไม่พึงสวม รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเขียงเท้าที่ตรึงอยู่กับที่ ไม่ใช่สำหรับใช้สวมเดิน ๓ ชนิด คือ เขียงเท้าที่สำหรับเหยียบถ่ายอุจจาระ ๑ เขียงเท้าที่สำหรับเหยียบถ่ายปัสสาวะ ๑ เขียงเท้าที่ สำหรับเหยียบในที่ชำระ ๑.
พระพุทธบัญญัติห้ามจับโค
[๑๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครภัททิยะ ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินจาริกทางพระนครสาวัตถี เสด็จพระพุทธดำเนินจาริกโดยลำดับถึง พระนครสาวัตถีแล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ในพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์จับโคกำลังข้ามแม่น้ำอจิรวดี ที่เขาบ้าง ที่หูบ้าง ที่คอบ้าง ที่หางบ้าง ขึ้นขี่หลังบ้าง มีจิตกำหนัด ถูกต้ององค์กำเนิดบ้าง กดลูกโคให้จมน้ำตายบ้าง ประชาชนทั้งหลาย พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้จับโคกำลังข้ามน้ำ ที่เขาบ้าง ที่หูบ้าง ที่คอบ้าง ที่หางบ้าง ขึ้นขี่หลังบ้าง มีจิตกำหนัด ถูกต้ององค์กำเนิดบ้าง กดลูกโคให้จมน้ำตายบ้าง เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ฉะนั้น. ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเหล่านั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงจับเขาโค หูโค คอโค หางโค ไม่พึงขี่หลังโค รูปใดจับและขึ้นขี่ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง องค์กำเนิดโค อันภิกษุมีจิตกำหนัด ไม่พึงถูกต้อง รูปใดถูกต้อง ต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุไม่พึงฆ่าลูกโค รูปใดฆ่า พึงปรับอาบัติตามธรรม.
เรื่องยาน
[๑๔] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ขี่ยานซึ่งเทียมด้วยโคตัวเมีย มีบุรุษเป็นสารถี เทียมด้วยโคตัวผู้ มีสตรีเป็นสารถีบ้าง. ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือน ชายหนุ่มหญิงสาวไปเล่นน้ำในแม่น้ำคงคาและแม่น้ำมหี ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ไม่พึงไปด้วยยาน รูปใดไปต้องอาบัติทุกกฏ. สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งไปพระนครสาวัตถีในโกศลชนบทเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ อาพาธเสียกลางทาง และได้หลีกจากทางนั่งอยู่ ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ประชาชนพบภิกษุนั้นจึง เรียนถามว่า พระคุณเจ้าจะไปไหน ขอรับ? ภิกษุนั้นตอบว่า อาตมาจะไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค จ้ะ ป. นิมนต์มา ไปด้วยกันเถิด ขอรับ ภิ. อาตมาไม่อาจ เพราะกำลังอาพาธ จ้ะ ป. นิมนต์มาขึ้นยานเถิด ขอรับ ภิ. ไม่ได้จ้ะ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงห้ามยาน ภิกษุนั้นรังเกียจอยู่ดังนั้นจึงไม่ยอมขึ้นยาน ครั้นไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว จึงแจ้ง เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยานแก่ภิกษุผู้อาพาธ. ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้คิดกันว่า ยานที่ทรงอนุญาตนั้นเทียมด้วยโคตัวเมีย หรือเทียม ด้วยโคตัวผู้ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยานที่เทียมด้วยโคตัวผู้ และยานที่ใช้มือลาก. สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งไม่ผาสุกอย่างแรง เพราะความกระเทือนแห่งยาน ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตคานหามมีตั่งนั่ง และเปลผ้าที่เขาผูกติดกับไม้คาน.
พระพุทธบัญญัติห้ามใช้ที่นั่งและที่นอนสูงใหญ่
[๑๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ใช้ที่นั่งและที่นอนอันสูงใหญ่ คือ เตียงมีเท้า เกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตร ด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะ วิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขน ข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะ จุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วย หนังสัตว์ชื่ออชินะมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่อง ลาดมีหมอนข้าง ชาวบ้านเที่ยวชมวิหารไปพบเข้า จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือน เหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ที่นั่งและ ที่นอนอันสูงใหญ่ คือ เตียงมีเท้าสูงเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มี สัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและ เสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงิน แกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาด หลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะ มีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง รูปใดใช้ ต้อง อาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามใช้หนังผืนใหญ่
[๑๖] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์รู้ว่าพระผู้มีพระภาค ทรงห้ามที่นั่งและที่นอน อันสูงใหญ่ จึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง หนังเหล่านั้น ตัดตามขนาดเตียงบ้าง ตัดตามขนาดตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายในเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายในตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกตั่งบ้าง ชาวบ้านเที่ยวชมวิหารไปพบเข้า จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
เรื่องภิกษุใจร้าย
[๑๗] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์รู้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงห้ามหนังผืนใหญ่ จึงใช้ หนังโค หนังเหล่านั้นตัดตามขนาดเตียงบ้าง ตัดตามขนาดตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายในเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายในตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกตั่งบ้าง. มีภิกษุใจร้ายรูปหนึ่ง เป็นกุลุปกะของอุบาสกใจร้ายคนหนึ่ง ครั้นเวลาเช้า ภิกษุใจร้าย รูปนั้นนุ่งอันตรวาสก ถือบาตรจีวรแล้วเดินเข้าไปในบ้านของอุบาสกใจร้ายคนนั้น แล้วนั่งบน อาสนะที่เขาจัดไว้ จึงอุบาสกใจร้ายคนนั้น เข้าไปหาภิกษุใจร้ายรูปนั้น นมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็สมัยนั้น ลูกโคของอุบาสกใจร้ายคนนั้น เป็นสัตว์กำลังรุ่น รูปร่างเข้าที น่าดูน่าชม งามคล้ายลูกเสือเหลือง จึงภิกษุใจร้ายรูปนั้นจ้องมองดูมันด้วยความสนใจ ทีนั้น อุบาสกใจร้ายได้กล่าวกะภิกษุใจร้ายว่า พระคุณเจ้าจ้องมองดูมันด้วยความสนใจเพื่อประสงค์อะไร ขอรับ? ภิกษุใจร้ายรูปนั้น ตอบว่า อาวุโส อาตมาต้องประสงค์หนังของมัน ทีนั้น อุบาสก ใจร้ายจึงฆ่ามันแล้วได้ถลกหนังถวายแก่ภิกษุใจร้ายรูปนั้น ภิกษุใจร้ายรูปนั้นได้เอาผ้าสังฆาฏิ ห่อหนังเดินไป ครั้งนั้น แม่โค มีความรักลูก จึงเดินตามภิกษุใจร้ายรูปนั้นไปข้างหลังๆ ภิกษุทั้งหลายถามภิกษุใจร้ายรูปนั้นว่า อาวุโส ทำไมแม่โคตัวนี้จึงเดินตามท่านมาข้างหลังๆ ขอรับ? ภิกษุใจร้ายรูปนั้นตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย แม้ผมเองก็ไม่ทราบว่า มันเดินตามผมมาข้างหลังๆ ด้วยเหตุอะไร ขณะนั้นผ้าสังฆาฏิของภิกษุใจร้ายรูปนั้นเปื้อนเลือด ภิกษุทั้งหลาย จึงถามภิกษุ ใจร้ายรูปนั้นว่า อาวุโส ก็ผ้าสังฆาฏิผืนนี้ท่านห่ออะไรไว้ ขอรับ? ภิกษุใจร้ายรูปนั้นได้แจ้งความนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโสก็ท่านชักชวนให้เขาฆ่าสัตว์หรือขอรับ? ภิกษุใจร้าย ตอบว่า อย่างนั้นขอรับ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อยต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุ จึงชักชวนให้เขาฆ่าสัตว์เล่า พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนการฆ่าสัตว์ ทรงสรรเสริญการงดจากการ ฆ่าสัตว์ โดยอเนกปริยายมิใช่หรือ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระพุทธบัญญัติห้ามใช้หนังโค
[๑๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุใจร้ายนั้นว่า ดูกรภิกษุ ข่าวว่า เธอชักชวน ให้เขาฆ่าสัตว์ จริงหรือ? ภิกษุใจร้ายนั้นกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้ชักชวนให้เขาฆ่าสัตว์ เล่า ดูกรโมฆบุรุษ เราติเตียนการฆ่าสัตว์ สรรเสริญการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ไว้ โดยอเนกปริยาย มิใช่หรือ การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้ว ทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงชักชวนในการฆ่าสัตว์ รูปใดชักชวน พึงปรับอาบัติตามธรรม. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง หนังโคอันภิกษุไม่พึงใช้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ หนังอะไรๆ ภิกษุไม่พึงใช้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. สมัยต่อมา เตียงก็ดี ตั่งก็ดี ของชาวบ้าน เขาหุ้มด้วยหนัง ถักด้วยหนัง ภิกษุทั้งหลาย รังเกียจไม่นั่งทับ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งทับเตียงตั่งที่เป็นอย่างคฤหัสถ์ แต่ไม่ อนุญาตให้นอนทับ. สมัยต่อมา วิหารทั้งหลายเขาผูกรัดด้วยเชือกหนัง ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่นั่งพิง แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งพิงเฉพาะเชือก.
พระพุทธบัญญัติห้ามสวมรองเท้าเข้าบ้าน
[๑๙] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเข้าบ้าน คนทั้งหลาย เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้ มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง สวมรองเท้าเข้าบ้าน รูปใดสวมเข้าไป ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธานุญาตให้ภิกษุอาพาธสวมรองเท้าเข้าบ้าน
สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเว้นรองเท้าเสียไม่อาจเข้าบ้านได้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธสวมรองเท้าเข้าบ้านได้.
เรื่องพระโสณกุฏิกัณณะ
[๒๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ ปปาตะบรรพตเขตกุรรฆระนคร ในอวันตีชนบท ก็คราวนั้นอุบาสกชื่อโสณกุฏิกัณณะ เป็นอุปัฏฐากของท่านพระมหากัจจานะ นมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อุบาสกโสณกุฏิกัณณะนั่งอยู่ ณ ที่นั้นแล ได้กราบเรียน คำนี้กะท่านพระมหากัจจานะว่า ท่านขอรับ ด้วยวิธีอย่างไรๆ กระผมจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่ พระคุณเจ้าแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดย ส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย กระผมปรารถนาจะปลง ผมและหนวด ครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ากรุณาโปรดให้ กระผมบวชเถิด ขอรับ เมื่ออุบาสกโสณกุฏิกัณณะกราบเรียนเช่นนี้แล้ว ท่านมหากัจจานะได้ กล่าวคำนี้กะอุบาสกโสณกุฏิกัณณะว่า โสณะ การประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งต้องนอนผู้เดียว บริโภคอาหารหนเดียวจนตลอดชีพ ทำได้ยากนักแล เอาเถอะ โสณะ คุณจงเป็นคฤหัสถ์ อยู่ในจังหวัดนี้แหละ แล้วประกอบตามพระพุทธศาสนา ประกอบตามพรหมจรรย์ ซึ่งต้องนอน ผู้เดียว บริโภคอาหารหนเดียว ควรแก่กาลเถิด. คราวนั้น ความตั้งใจบรรพชาซึ่งได้เกิดแก่อุบาสกโสณกุฏิกัณณะนั้นสงบลงแล้ว แม้ครั้งที่สองแล อุบาสกโสณกุฏิกัณณะ .... แม้ครั้งที่สามแล อุบาสกโสณกุฏิกัณณะได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะ นมัสการ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อุบาสกโสณกุฏิกัณณะนั่งอยู่ ณ ที่นั้นแล ได้กราบเรียนคำนี้ กะท่านพระมหากัจจานะว่า ท่านขอรับ ด้วยวิธีอย่างไรๆ กระผมจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระคุณเจ้า แสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย กระผมปรารถนาจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ากรุณาโปรดให้กระผมบวชเถิด ขอรับ ครั้นนั้น ท่านมหากัจจานะให้อุบาสกโสณกุฏิกัณณะบรรพชาแล้ว. ก็สมัยนั้น อวันตีชนบทอันตั้งอยู่แถบใต้ มีภิกษุน้อยรูป ท่านพระมหากัจจานะจัดหา พระภิกษุสงฆ์แต่ที่นั้นๆ ให้ครบองค์ประชุมทสวรรคได้ยากลำบาก ต่อล่วงไปถึง ๓ ปี จึงอุปสมบท ให้ท่านพระโสณะได้.
พระโสณเถระรำพึงแล้วอำลาเข้าเฝ้า
ครั้งนั้น ท่านพระโสณะจำพรรษาแล้ว ไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่ง จิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เราได้ยินมาอย่างชัดเจนว่า เป็นผู้เช่นนี้และ เช่นนี้ แต่เรามิได้เฝ้าต่อพระพักตร์ เราควรไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น หากพระอุปัชฌายะจะพึงอนุญาตแก่เรา ครั้นเวลาสายัณห์ ท่านออกจากที่หลีกเร้นแล้ว จึงเข้า ไปหาท่านพระมหากัจจานะ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบเรียนว่า ท่านขอรับ กระผมไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระ- *ภาคพระองค์นั้น เราได้ยินมาอย่างชัดเจนว่า เป็นผู้เช่นนี้และเช่นนี้ แต่เรามิได้เฝ้าต่อพระพักตร์ เราควรไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น หากพระอุปัชฌายะจะพึง อนุญาตแก่เรา ท่านขอรับ กระผมจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น หากท่านพระอุปัชฌายะจะอนุญาตแก่กระผม.
อาณัติกพจน์ของพระอุปัชฌายะ ๕ ประการ
ท่านมหากัจจานะ กล่าวว่าดีละ ดีละ คุณโสณะ คุณจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น คุณจักเห็นพระองค์ผู้น่าเลื่อมใส ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส มีพระอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ทรงถึงความฝึกกายและความสงบจิตอันสูงสุด ทรงทรมานแล้ว คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์อันสำรวมแล้ว ผู้ไม่ทำบาป คุณโสณะ ถ้าเช่นนั้น คุณจงถวายบังคม พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าตามฉันสั่งว่า ท่านมหากัจจานะ อุปัชฌายะ ของข้าพระพุทธเจ้า ถวายบังคม พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าพระพุทธเจ้าข้า ดังนี้ และคุณจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ๑. พระพุทธเจ้าข้า จังหวัดอวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อยรูป ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดหา ภิกษุสงฆ์แต่ที่นั้นๆ ให้ครบองค์ประชุมทสวรรคได้ยากลำบาก นับแต่วันข้าพระพุทธเจ้าบรรพชา ล่วงไป ๓ ปี จึงได้อุปสมบท ถ้ากระไรเฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ พึงทรงอนุญาตอุปสมบทด้วย คณะสงฆ์น้อยรูปกว่านี้ได้. ๒. พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีดินสีดำมาก ขรุขระดื่นดาด ด้วยระแหงกีบโค ถ้ากระไร เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ ขอพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาต รองเท้าหลายชั้น. ๓. พระพุทธเจ้าข้า คนทั้งหลายในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ ถือว่าน้ำทำให้บริสุทธิ์ ถ้ากระไร เฉพาะในอวันติทักขิณาบถ ขอพระผู้มีพระภาค พึงทรงอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์. ๔. พระพุทธเจ้าข้า ในอวันตีทักขิณาบถ มีหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค ในมัชฌิมชนบท มีหญ้าตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง แม้ฉันใด ในอวันตีทักขิณาบถก็มีหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้ากระไร เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ ขอพระผู้มีพระภาค พึงทรงอนุญาตหนังเครื่องลาด คือ หนัง แกะ หนังแพะ หนังมฤค. ๕. พระพุทธเจ้าข้า เดี๋ยวนี้คนทั้งหลายฝากถวายจีวรเพื่อหมู่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมา ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายขอถวายจีวรผืนนี้แก่ท่านผู้มีชื่อนี้ ดังนี้ ภิกษุผู้รับฝากมาบอกว่า อาวุโส คนทั้งหลาย มีชื่อนี้ถวายจีวรแก่ท่านแล้ว พวกภิกษุผู้รับคำบอกเล่า รังเกียจไม่ยินดีรับ ด้วยคิดว่า พวกเรา ไม่ต้องการของเป็นนิสสัคคีย์ ถ้ากระไร ขอพระผู้มีพระภาคพึงตรัสชี้แจงในเรื่องจีวร.
พระโสณะเถระเข้าเฝ้า
ท่านพระโสณะรับสนองคำของท่านพระมหากัจจานะว่าปฏิบัติตามอย่างนั้นขอรับ แล้ว ลุกจากอาสนะอภิวาทท่านพระมหากัจจานะทำประทักษิณแล้ว เก็บเสนาสนะ ถือบาตรจีวรเดิน ไปทางที่จะไปพระนครสาวัตถี ถึงพระนครสาวัตถี พระวิหารเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกคหบดี โดยลำดับ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงจัดเสนาสนะ ต้อนรับภิกษุอาคันตุกะรูปนี้ จึงท่านพระอานนท์คิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระบัญชาใช้เราเพื่อ ภิกษุรูปใดว่า ดูกรอานนท์ เธอจงจัดเสนาสนะต้อนรับภิกษุอาคันตุกะรูปนี้ ดังนี้ พระผู้มีพระภาค ย่อมปรารถนาจะประทับอยู่ในพระวิหารแห่งเดียวกับภิกษุรูปนั้น พระผู้มีพระภาคปรารถนาจะ ประทับอยู่ในพระวิหารแห่งเดียวกับท่านพระโสณะเป็นแน่ ดังนี้ จึงจัดเสนาสนะต้อนรับท่าน พระโสณะในพระวิหารอันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาค.
ถวายเทศน์ในพระวิหาร
[๒๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในที่แจ้งจนดึก จึงเสด็จเข้าพระวิหาร แม้ท่าน พระโสณะก็ยับยั้งอยู่ในที่แจ้งจนดึกจึงเข้าพระวิหาร ครั้นเวลาปัจจุสมัยแห่งราตรี พระผู้มีพระภาค ทรงตื่นพระบรรทมแล้วทรงอัชเฌสนาท่านพระโสณะว่า ดูกรภิกษุ เธอจงกล่าวธรรมตามถนัด ท่านพระโสณะกราบทูลสนองพระพุทธบัญชาว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วได้สวดพระสูตร ทั้งหลาย อันมีอยู่ในอัฏฐกวรรค จนหมดสิ้นโดยสรภัญญะ ครั้นจบสรภัญญะของท่านพระโสณะ พระผู้มีพระภาคทรงพระปราโมทย์โปรดประทานสาธุการว่า ดีละ ดีละ ภิกษุ สูตรทั้งหลายที่มีใน อัฏฐกวรรคเธอเรียนมาดีแล้ว ทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงจำได้แม่นยำดี เธอเป็นผู้ประกอบด้วยวาจา ไพเราะเพราะพริ้ง ไม่มีโทษ ให้เข้าใจรู้ความได้แจ่มชัด เธอมีพรรษาเท่าไร ภิกษุ? ท่านพระโสณะกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ามีพรรษาเดียว พระพุทธเจ้าข้า ภ. เพราะเหตุไร เธอจึงมัวประพฤติชักช้าเช่นนั้นเล่า ภิกษุ? โส. ข้าพระพุทธเจ้าเห็นโทษในกามทั้งหลายนานแล้ว แต่เพราะฆราวาสคับแคบ มีกิจ มาก มีกรณียมาก จึงได้ประพฤติชักช้าอยู่ พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงเปล่งพระอุทาน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความข้อนี้แล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้น ว่าดังนี้:- อารยชนเห็นโทษในโลก ทราบธรรมที่ปราศจาก อุปธิแล้ว ฉะนั้น จึงไม่ยินดีในบาป เพราะคน สะอาดย่อมไม่ยินดีในบาป.
กราบทูลอาณัติกพจน์ของพระอุปัชฌายะ ๕ ประการ
[๒๒] ลำดับนั้น ท่านพระโสณะคิดว่า พระผู้มีพระภาคกำลังโปรดปรานเรา เวลานี้ ควรกราบทูลถ้อยคำที่พระอุปัชฌายะของเราสั่งมา ดังนี้ แล้วลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่า หมอบ ลงที่พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แล้วได้กราบทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระมหากัจจานะ อุปัชฌายะของข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายบังคมพระบาท ยุคลของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า และสั่งให้ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลอย่างนี้ว่า ๑. พระพุทธเจ้าข้า จังหวัดอวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อยรูป ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดหา ภิกษุสงฆ์แต่ที่นั้นๆ ให้ครบองค์ประชุมทสวรรคได้ยากลำบาก นับแต่วันข้าพระพุทธเจ้าบรรพชา ล่วงไป ๓ ปี จึงได้อุปสมบท ถ้ากระไร เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ ขอพระผู้มีพระภาคพึงทรง อนุญาตอุปสมบท ด้วยคณะสงฆ์น้อยรูปกว่านี้ได้ ๒. พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีดินสีดำมาก ขรุขระดื่นดาดด้วย ระแหงกีบโค ถ้ากระไร เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ ขอพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตรองเท้า หลายชั้น ๓. พระพุทธเจ้าข้า คนทั้งหลายในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ ถือว่าน้ำทำให้ บริสุทธิ์ ถ้ากระไร เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถขอพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตอาบน้ำได้เป็นนิตย์ ๔. พระพุทธเจ้าข้า ในอวันตีทักขิณาบถ มีหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค ในมัชฌิมชนบท มีหญ้าตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง แม้ฉันใด ในอวันตีทักขิณาบถก็มีหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้ากระไร เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ ขอพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตหนังเครื่องลาด คือ หนัง แกะ หนังแพะ หนังมฤค ๕. พระพุทธเจ้าข้า เดี๋ยวนี้คนทั้งหลายฝากถวายจีวรแก่หมู่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมา ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายขอถวายจีวรผืนนี้แก่ท่านผู้มีชื่อนี้ ดังนี้ ภิกษุผู้รับฝากมาบอกว่า อาวุโส คน ทั้งหลายมีชื่อนี้ถวายจีวรแก่ท่านแล้ว พวกภิกษุผู้ได้รับคำบอกเล่า รังเกียจไม่ยินดีรับ ด้วยคิดว่า พวกเราไม่ต้องการของเป็นนิสสัคคีย์ ถ้ากระไร ขอพระผู้มีพระภาคพึงตรัสชี้แจงในเรื่องจีวร.
พระพุทธานุญาตพิเศษ
[๒๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:- ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย จังหวัดอวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อยรูป เราอนุญาตการอุปสมบท ด้วยคณะสงฆ์มีวินัยธรเป็นที่ ๕ ได้ ทั่วปัจจันตชนบท ๑-
กำหนดเขตปัจจันตชนบทและมัชฌิมชนบท
บรรดาชนบทเหล่านั้น ปัจจันตชนบท มีกำหนดเขต ดังนี้:- ในทิศบูรพามีนิคมชื่อกชังคละ ถัดนิคมนั้นมาถึงมหาสาลนคร นอกนั้นออกไปเป็น ปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท ๑- @๑. จังหวัดภายในเป็นศูนย์กลางของประเทศ ในทิศอาคเนย์ มีแม่น้ำชื่อสัลลวตี นอกแม่น้ำสัลลวตีนั้นออกไป เป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท ในทิศทักษิณ มีนิคมชื่อเสตกัณณิกะ นอกนิคมนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมใน เป็นมัชฌิมชนบท ในทิศปัจฉิม มีพราหมณคามชื่อถูนะ นอกนั้นออกไป เป็นปัจจันตชนบท ร่วมใน เป็นมัชฌิมชนบท ในทิศอุดร มีภูเขาชื่ออุสีรธชะ นอกนั้นออกไป เป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็น มัชฌิมชนบท ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบท ด้วยคณะสงฆ์มีวินัยธรเป็นที่ ๕ ได้ ทั่ว ปัจจันตชนบทเห็นปานนี้ ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีดินสีดำมาก ดื่นดาดด้วยระแหง กีบโค เราอนุญาตรองเท้าหลายชั้น ทั่วปัจจันตชนบท ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายในอวันตีทักขิณาบถ นิยมการอาบน้ำ ถือว่าน้ำทำให้ บริสุทธิ์ เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ทั่วปัจจันตชนบท ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอวันตีทักขิณาบถ มีหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค ในมัชฌิมชนบท มีหญ้าตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง แม้ฉันใด ในอวันตีทักขิณาบถ ก็มีหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค ฉันนั้นเหมือนกันแล เราอนุญาตหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค ทั่วปัจจันตชนบท ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง คนทั้งหลายในโลกนี้ฝากถวายจีวรเพื่อหมู่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมา ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ยินดีได้ จีวรนั่นยังไม่ควรนับราตรีตลอดเวลาที่ยังไม่ถึงมือ.
จัมมขันธกะ ที่ ๕ จบ.
ในขันธกะนี้มี ๖๓ เรื่อง
-----------------------------------------------------
หัวข้อประจำขันธกะ
[๒๔] พระเจ้าแผ่นดินมคธ ทรงปกครองพลเมือง ๘๐,๐๐๐ ตำบล รับสั่งให้โสณเศรษฐี เข้าเฝ้า ๑ พระสาคตเถระแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมยวดยิ่งของมนุษย์มากมาย ณ คิชฌกูฏบรรพต ๑ โสณเศรษฐีบุตรออกบวช และปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจน เท้าแตก ๑ เปรียบเทียบความเพียรด้วยสายพิณ ๑ ทรงอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ๑ ทรงห้าม รองเท้าสีเขียว ๑ รองเท้าสีเหลือง ๑ รองเท้าสีแดง ๑ รองเท้าสีบานเย็น ๑ รองเท้าสีดำ ๑ รองเท้าสีแสด ๑ รองเท้าสีชมพู ๑ รองเท้ามีหูวิจิตร ๑ รองเท้าหุ้มส้น ๑ รองเท้าหุ้มแข็ง ๑ รองเท้าที่ยัดด้วยนุ่น ๑ รองเท้าที่มีลายคล้ายขนปีกนกกระทา ๑ รองเท้าที่ทำหูงอนมีสัณฐาน ดุจเขาแกะ ๑ รองเท้าที่หูงอนมีสัณฐานดุจเขาแพะ ๑ รองเท้าที่ทำประกอบหูงอนดุจหางแมง ป่อง ๑ รองเท้าที่เย็บด้วยขนปีกนกยูง ๑ รองเท้าที่วิจิตร ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังราชสีห์ ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือโคร่ง ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือเหลือง ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนัง ชะมด ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังนาก ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังแมว ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนัง ค่าง ๑ รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังนกเค้า ๑ เท้าแตก ๑ สวมรองเท้าในวัด ๑ เท้าเป็นหน่อ ล้างเท้า ตอไม้ และสวมเขียงเท้าเดินเสียงดังขฏะ ขฏะ ๑ เขียงเท้าสานด้วยใบตาล ๑ เขียงเท้า สานด้วยใบไผ่ ๑ เขียงเท้าสานด้วยหญ้า ๑ เขียงเท้าสานด้วยหญ้ามุงกระต่าย ๑ เขียงเท้าสาน ด้วยหญ้าปล้อง ๑ เขียงเท้าสานด้วยใบเป้ง ๑ เขียงเท้าสานด้วยแฝก ๑ เขียงเท้าถักด้วยขนสัตว์ ๑ เขียงเท้าประดับด้วยทองคำและเงิน ๑ เขียงเท้าประดับด้วยแก้วมณี ๑ เขียงเท้าประดับด้วย แก้วไพฑูรย์ ๑ เขียงเท้าประดับด้วยแก้วผลึก ๑ เขียงเท้าทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ๑ เขียงเท้าประดับ ด้วยกระจก ๑ เขียงเท้าทำด้วยดีบุก ๑ เขียงเท้าทำด้วยสังกะสี ๑ เขียงเท้าทำด้วยทองแดง ๑ จับโค ๑ ขี่ยานและภิกษุอาพาธ ๑ ยานเทียมด้วยโคตัวผู้ ๑ คานหาม ๑ ที่นั่งและที่นอน ๑ หนังผืนใหญ่ ๑ หนังโค ๑ ภิกษุใจร้าย ๑ เตียงตั่งของพวกคฤหัสถ์ที่หุ้มหนัง ๑ สวมรองเท้า เข้าบ้าน และภิกษุอาพาธ ๑ พระมหากัจจานะ ๑ พระโสณะ สวดสูตร อันมีอยู่ในอัฏฐกวรรค โดยสรภัญญะและพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกได้ทรงประทานพร ๕ อย่างนี้ แก่พระโสณะเถระ คือ อนุญาตสงฆ์ปัญจวรรคทำการอุปสมบทได้ ๑ สวมรองเท้าหลายชั้นได้ ๑. อาบน้ำได้เป็นนิตย์ ๑ ใช้หนังเครื่องลาดได้ ๑ ทายกถวายจีวร เมื่อยังไม่ถึงมือภิกษุ ยังไม่ต้องนับราตรี ๑
หัวข้อประจำขันธกะ จบ.
-----------------------------------------------------
เภสัชชขันธกะ
ภิกษุอาพาธในฤดูสารท
[๒๕] โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายอันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารท ถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไปก็พุ่งออก แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็พุ่งออก เพราะอาพาธนั้น พวกเธอ จึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น พระผู้มีพระภาค ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ครั้นแล้วจึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งถามว่า ดูกรอานนท์ ทำไมหนอ เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลาย อันอาพาธซึ่งเกิดชุม ในฤดูสารทถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไปก็พุ่งออก แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็พุ่งออก เพราะอาพาธนั้น พวกเธอจึงซูบผอม เศร้าหมองมีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น.
พระพุทธานุญาตเภสัช ๕ ในกาล
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับในที่สงัดทรงหลีกเร้นอยู่ ได้มีพระปริวิตกแห่งพระทัย เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายอันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารท ถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไป ก็พุ่งออก แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็พุ่งออก เพราะอาพาธนั้น พวกเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวพรรณเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น เราจะพึงอนุญาตอะไรหนอ เป็นเภสัชแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งจะพึงสำเร็จ ประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตวโลก และจะไม่พึงปรากฏเป็นอาหารหยาบ ทีนั้นพระองค์ได้มี พระปริวิตกสืบต่อไปว่า เภสัช ๕ นี้แล คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัช อยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตวโลก และไม่ ปรากฏเป็นอาหารหยาบ ผิฉะนั้น เราพึงอนุญาตเภสัช ๕ นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคน ในกาลแล้วบริโภคในกาล ครั้นเวลาสายัณห์พระองค์เสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้ ภิกษุทั้งหลายอันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารท ถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไปก็พุ่งออก แม้ข้าวสวย ที่ฉันแล้วก็พุ่งออก เพราะอาพาธนั้น พวกเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลือง ขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น เราจะพึงอนุญาตอะไรหนอเป็นเภสัชแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็น เภสัชอยู่ในตัวและเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งจะพึงสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตวโลก และไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความปริวิตกสืบต่อไปว่า เภสัช ๕ นี้แล คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตวโลก และไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบ ผิฉะนั้น เราพึง อนุญาตเภสัช ๕ นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคนในกาลแล้วบริโภคในกาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช ๕ นั้นในกาล แล้วบริโภคในกาล.
พระพุทธานุญาตเภสัช ๕ นอกกาล
[๒๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัช ๕ นั้นในกาล แล้วบริโภค ในกาล โภชนาหารของพวกเธอชนิดธรรมดา ชนิดเลว ไม่ย่อย ไม่จำต้องกล่าวถึงโภชนาหาร ที่ดี พวกเธออันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารทนั้น และอันความเบื่อภัตตาหารนี้ถูกต้องแล้ว เพราะเหตุ ๒ ประการนั้น ยิ่งเป็นผู้ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นซึ่งซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น ครั้นแล้วจึง ตรัสเรียกท่านพระอานนท์ มารับสั่งถามว่า ดูกรอานนท์ ทำไมหนอ เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายยิ่ง ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น? ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัช ๕ นั้น ในกาลแล้วบริโภคในกาล โภชนาหารของพวกเธอชนิดธรรมดา ชนิดเลว ไม่ย่อย ไม่จำต้อง กล่าวถึงโภชนาหารที่ดี พวกเธออันอาพาธ ซึ่งเกิดชุมในฤดูสารทนั้น และอันความเบื่อภัตตาหาร นี้ถูกต้องแล้ว เพราะเหตุ ๒ ประการนั้น ยิ่งเป็นผู้ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น. ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคน เภสัช ๕ นั้น แล้วบริโภคได้ทั้งในกาลทั้งนอกกาล.
พระพุทธานุญาตน้ำมันเปลว
[๒๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยน้ำมันเปลว เป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันเปลวเป็นเภสัช คือ น้ำมันเปลวหมี น้ำมันเปลวปลา น้ำมันเปลวปลาฉลาม น้ำมันเปลวหมู น้ำมันเปลวลา ที่รับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในกาล บริโภคอย่างน้ำมัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนในวิกาล เจียวในวิกาล กรองในวิกาล หากจะ พึงบริโภคน้ำมันเปลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๓ ตัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนในกาล เจียวในวิกาล กรองในวิกาล หากจะ พึงบริโภคน้ำมันเปลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในวิกาล หากจะ พึงบริโภคน้ำมันเปลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๑ ตัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในกาล หากจะ พึงบริโภคน้ำมันเปลวนั้น ไม่ต้องอาบัติ.
พระพุทธานุญาตมูลเภสัช
[๒๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยรากไม้เป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรากไม้ที่เป็นเภสัช คือ ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด ข่า แฝก แห้วหมู ก็หรือมูลเภสัช แม้ชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนมูลเภสัชเหล่านั้นแล้วเก็บ ไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธานุญาตเครื่องบดยา
สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยรากไม้ที่เป็นเภสัชชนิดละเอียด จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตัวหินบด ลูกหินบด.
พระพุทธานุญาตกสาวเภสัช
[๒๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยน้ำฝาดเป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาดที่เป็นเภสัช คือ น้ำฝาดสะเดาะ น้ำฝาดมูกมัน น้ำฝาดกระดอม หรือขี้กา น้ำฝาดบรเพ็ด หรือพญามือเหล็ก น้ำฝาดกถินพิมาน ก็หรือกสาวเภสัช แม้ชนิดอื่นใด บรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว ในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของ ควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนกสาวเภสัชเหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธานุญาตปัณณเภสัช
[๓๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยใบไม้เภสัช จึง กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตใบไม้ที่เป็นเภสัช คือ ใบสะเดา ใบมูกมัน ใบกระดอม หรือขี้กา ใบกะเพรา หรือแมงลัก ใบฝ้าย ก็หรือปัณณเภสัช แม้ชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์ แก่ของควรเคี้ยว ในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนปัณณเภสัชเหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุ ไม่มีภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธานุญาตผลเภสัช
[๓๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยผลไม้เป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นเภสัช คือ ลูกพิลังกาสา ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลแห่งโกฐ ก็หรือผลเภสัช แม้ชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของ ควรเคี้ยวในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคน ผลเภสัชเหล่านั้นแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุ บริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธานุญาตชตุเภสัช
[๓๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยยางไม้เป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยางไม้ที่เป็นเภสัช คือ ยางอันไหลออกจากต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยว จากก้านและใบแห่งต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบแห่งต้นหิงคุ หรือเจือของอื่นด้วย ยางอันไหล ออกจากยอดไม้ตกะ ยางอันไหลออกจากใบแห่งต้นตกะ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบหรือไหลออกจาก ก้านแห่งต้นตกะ กำยานก็หรือชตุเภสัชชนิดอื่นใดบรรดามีที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว ในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนชตุเภสัช เหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธานุญาตโลณเภสัช
[๓๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยเกลือเป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเกลือที่เป็นเภสัช คือ เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโป่ง เกลือหุง ก็หรือโลณเภสัชชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยวในของ ควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนโลณเภสัช เหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธานุญาตจุณเภสัชเป็นต้น
[๓๔] โดยสมัยนั้นแล ท่านพระเวลัฏฐสีสะ อุปัชฌาย์ของท่านพระอานนท์ อาพาธ เป็นโรคฝีดาษ หรืออีสุกอีใส ผ้านุ่งผ้าห่มกรังอยู่ที่ตัว เพราะน้ำเหลืองของโรคนั้น ภิกษุทั้งหลาย เอาน้ำชุบๆ ผ้าเหล่านั้นแล้วค่อยๆ ดึงออกมา พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุพวกนั้นกำลังเอาน้ำชุบๆ ผ้านั้นแล้วค่อยๆ ดึงออกมา ครั้นแล้วเสด็จ พระพุทธดำเนินเข้าไปทางภิกษุเหล่านั้น ได้ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้อาพาธ โรคอะไร? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ท่านรูปนี้อาพาธโรคฝีดาษ หรืออีสุกอีใส ผ้ากรังอยู่ที่ตัว เพราะน้ำเหลือง พวกข้าพระพุทธเจ้าเอาน้ำชุบๆ ผ้าเหล่านั้น แล้วค่อยๆ ดึง ออกมา. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเภสัชชนิดผง สำหรับ ภิกษุผู้เป็นฝีก็ดี พุพองก็ดี สิวก็ดี โรคฝีดาษ หรืออีสุกอีใสก็ดี มีกลิ่นตัวแรงก็ดี เราอนุญาตโคมัย ดินเหนียว กากน้ำย้อม สำหรับภิกษุไม่อาพาธ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตครก สาก.
พระพุทธานุญาตเครื่องกรอง
[๓๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยยาผงที่กรองแล้ว จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวัตถุเครื่องกรองยาผง ภิกษุอาพาธมีความต้องการด้วยยาผงที่ละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ากรองยา.
พระพุทธานุญาตเนื้อดิบและเลือดสด
[๓๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเพราะผีเข้า พระอาจารย์ พระอุปัชฌายะ ช่วยกันรักษาเธอ ก็ไม่สามารถแก้ไขให้หายโรคได้ เธอเดินไปที่เขียงแล่หมู แล้วเคี้ยวกินเนื้อดิบ ดื่มกินเลือดสด อาพาธเพราะผีเข้าของเธอนั้น หายดังปลิดทิ้ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตเนื้อดิบ เลือดสด ในเพราะอาพาธเกิดแต่ผีเข้า.
พระพุทธานุญาตยาตาเป็นต้น
[๓๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคนัยน์ตา ภิกษุทั้งหลายจูงเธอไป ให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินตามเสนาสนะ ได้ทอด พระเนตรเห็นพวกภิกษุนั้นกำลังจูงภิกษุรูปนั้นไปให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง จึงเสด็จ พระพุทธดำเนินเข้าไปทางภิกษุพวกนั้นแล้วได้ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้อาพาธเป็น อะไร? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ท่านรูปนี้อาพาธเป็นโรคนัยน์ตา พวกข้าพระพุทธเจ้าคอยจูงท่าน รูปนี้ไปให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาตา คือ ยาตาที่ ปรุงด้วยเครื่องปรุงหลายอย่าง ยาตาที่ทำด้วยเครื่องปรุงต่างๆ ยาตาที่เกิดในกระแสน้ำเป็นต้น หรดาลกลีบทอง เขม่าไฟ พวกภิกษุอาพาธมีความต้องการด้วยเครื่องยาที่จะบดผสมกับยาตา จึงกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ไม้จันทร์ กฤษณา กะลัมพัก ใบเฉียง แห้วหมู สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายเก็บยาตาชนิดผงไว้ในโอบ้าง ในขันบ้าง ผงหญ้าบ้าง ฝุ่นบ้าง ปลิวลง จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกลักยาตา สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ใช้กลักยาตาชนิดต่างๆ คือ ชนิดที่ทำด้วยทองคำบ้าง ชนิด ที่ทำด้วยเงินบ้าง คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กลักยาตาชนิดต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกลักยาตาที่ทำด้วยกระดูก ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ทำด้วย ไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยยาง ทำด้วยผลไม้ ทำด้วยโลหะ ทำด้วยเปลือกสังข์ สมัยต่อมา กลักยาตาไม่มีฝาปิด ผงหญ้าบ้าง ฝุ่นบ้าง ปลิวตกลง ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด. ฝาปิดยังตกได้ พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผูกด้าย แล้วพันกับกลักยาตา. กลักยาตาแตก พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถักด้วยด้าย. สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลาย ป้ายยาตาด้วยนิ้วมือ นัยน์ตาช้ำ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ไม้ป้ายยาตา. สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ใช้ไม้ป้ายตาชนิดต่างๆ คือ ที่ทำด้วยทองคำบ้าง ที่ทำด้วย เงินบ้าง คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ไม้ป้ายยาตาชนิดต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ป้ายยาตาที่ทำด้วยกระดูก ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ทำด้วยเปลือกสังข์ สมัยต่อมา ไม้ป้ายยาตาตกลงที่พื้นเปื้อน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตภาชนะสำหรับเก็บไม้ป้าย ยาตา. สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายบริหารกลักยาตาบ้าง ไม้ป้ายยาตาบ้าง ด้วยมือ จึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงกลักยาตา. หูถุงสำหรับสะพายไม่มี ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี พระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกผูกเป็นสายสะพาย.
พระพุทธานุญาตน้ำมันเป็นต้น
[๓๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะปวดศีรษะ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันทาศีรษะ โรคปวดศีรษะยังไม่หาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการนัตถุ์ น้ำมันที่นัตถุ์ไหลออก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัส อนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสำหรับนัตถุ์. สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ใช้กล้องสำหรับนัตถุ์ชนิดต่างๆ คือ ทำด้วยทองคำบ้าง ชนิดที่ ทำด้วยเงินบ้าง คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กล้องสำหรับนัตถุ์ชนิดต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสำหรับนัตถุ์ที่ทำด้วยกระดูก .... ทำด้วยเปลือกสังข์ ท่านพระปิลินทวัจฉะนัตถุ์ไม่เท่ากัน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสำหรับนัตถุ์ ประกอบด้วยหลอดคู่ โรคปวดศีรษะยังไม่หาย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สูดควัน ภิกษุทั้งหลายจุดเกลียวผ้าแล้วสูดควันนั้นนั่นแหละ คอแสบร้อน จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้อง สูดควัน สมัยต่อมา ฉัพพัคคีย์ใช้กล้องสูดควันชนิดต่างๆ คือ ชนิดที่ทำด้วยทองคำบ้าง ชนิดที่ ทำด้วยเงินบ้าง คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กล้องสูดควันชนิดต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสูดควันที่ทำด้วยกระดูก .... ทำด้วยเปลือกสังข์ สมัยต่อมา กล้องสูดควันไม่มีฝาปิด ตัวสัตว์เข้าไปได้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ฝาปิด สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายบริหารกล้องสูดควันด้วยมือ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงกล้อง สูดควัน กล้องสูดควันเหล่านั้นอยู่ร่วมกันย่อมกระทบกันได้ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ถุงคู่ หูสำหรับสะพายไม่มี ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกผูกเป็นสายสะพาย.
พระปิลินทวัจฉเถระอาพาธเป็นโรคลม
[๓๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลม พวกแพทย์ปรึกษา ตกลงกันอย่างนี้ว่า ต้องหุงน้ำมันถวาย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันที่หุง ในน้ำมันที่หุงนั้นแล แพทย์ต้องเจือน้ำเมาด้วย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เจือน้ำเมาลง ในน้ำมันที่หุง. สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์หุงน้ำมันเจือน้ำเมาลงไปเกินขนาด ดื่มน้ำมันนั้นแล้วเมา ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงดื่มน้ำมันที่เจือน้ำเมาลงไปเกินขนาด รูปใดดื่ม พึงปรับอาบัติตามธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำมันเจือน้ำเมา ชนิดที่เขาหุงไม่ปรากฏสี กลิ่น และรสของน้ำเมา. สมัยต่อมา น้ำมันที่พวกภิกษุหุงเจือน้ำเมาลงไปเกินขนาดมีมาก ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย ได้มีความปริวิตกว่า จะพึงปฏิบัติในน้ำมันที่เจือน้ำเมาลงไปเกินขนาด อย่างไรหนอ? แล้วกราบ ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตั้งเอาไว้เป็นยาทา สมัยต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะหุงน้ำมันไว้มาก ภาชนะสำหรับบรรจุน้ำมันไม่มี ภิกษุ ทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลักจั่น ๓ ชนิด คือ ลักจั่นทำด้วยโลหะ ๑ ลักจั่นทำด้วยไม้ ๑ ลักจั่นด้วยผลไม้ ๑. สมัยต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลมตามอวัยวะ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการเข้ากระโจม โรคลมยังไม่หาย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการรมใบไม้ต่างๆ โรคลมยังไม่หาย พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตการรมใหญ่ โรคลมยังไม่หาย พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำที่ต้มเดือดด้วยใบไม้ต่างชนิด โรคลมยังไม่หาย พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต อ่างน้ำ.
อาพาธโรคลมเสียดยอกตามข้อ
[๔๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะ อาพาธเป็นโรคลมเสียดยอกตามข้อ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ระบายโลหิตออก โรคลมเสียดยอกตามข้อยังไม่หาย ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ระบายโลหิตออกแล้วกรอกด้วยเขา.
อาพาธเท้าแตก
[๔๑] ก็โดยสมัยนั้นแล เท้าของท่านปิลินทวัจฉะแตก ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาทาเท้า โรคยังไม่หาย ภิกษุนวกะทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปรุงน้ำมันทาเท้า.
อาพาธเป็นโรคฝี
[๔๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคฝี ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต การผ่าตัด ภิกษุนั้นต้องการน้ำฝาด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี พระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาด ภิกษุนั้นต้องการ งาที่บดแล้ว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตงาที่บดแล้ว ภิกษุนั้นต้องการยาพอก ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตยาพอก ภิกษุนั้นต้องการผ้าพันแผล ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ผ้าพันแผล แผลคัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ชะด้วยน้ำแป้งเมล็ดพรรณผักกาด แผลชื้นหรือเป็นฝ้า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาต แก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รมควัน เนื้องอกยื่นออกมา ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตัดด้วยก้อนเกลือ แผลไม่งอก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต น้ำมันทาแผล น้ำมันไหลเยิ้ม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าเก่าสำหรับซับน้ำมันและ การรักษาบาดแผลทุกชนิด.
พระพุทธานุญาตยามหาวิกัฏ ๔ อย่าง
[๔๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ยามหาวิกัฏ ๔ อย่าง คือ คูถ มูตร เถ้า ดิน ต่อมา ภิกษุทั้งหลายคิดสงสัยว่า ยามหาวิกัฏไม่ต้องรับประเคน หรือต้องรับประเคน จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุรับประเคน ในเมื่อมีกัปปิยการก เมื่อ กัปปิยการกไม่มี ให้ภิกษุหยิบบริโภคเองได้. สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งดื่มยาพิษเข้าไป ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแด่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำเจือคูถ ต่อมา ภิกษุทั้งหลายคิดสงสัยว่า น้ำเจือคูถนั้น จะไม่ต้องรับประเคน หรือต้องรับประเคน จึง กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตคูถที่ภิกษุหยิบไว้ตอนกำลังถ่าย นั่นแหละเป็นอันประเคนแล้ว ไม่ต้อง รับประเคนอีก.
ภิกษุอาพาธด้วยโรคต่างๆ
[๔๔] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธถูกยาแฝด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ดื่มน้ำที่เขาละลายจากดินรอยไถซึ่งติดผาล. สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นพรรดึก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ ดื่มน้ำด่างอามิส. สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผอมเหลือง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ดื่มยาผลสมอดองน้ำมูตรโค. สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผิวหนัง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ทำการลูบไล้ด้วยของหอม. สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งมีกายกอปรด้วยโทษมาก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ดื่มยาประจุถ่าย ภิกษุนั้นมีความต้องการน้ำข้าวใส ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำข้าวใส มีความต้องการด้วยน้ำถั่วเขียวต้มที่ไม่ข้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำถั่วเขียวต้ม ที่ไม่ข้น มีความต้องการด้วยน้ำถั่วเขียวต้มที่ข้นนิดหน่อย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต น้ำถั่วเขียวต้มที่ข้นนิดหน่อย มีความต้องการด้วยน้ำเนื้อต้ม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต น้ำเนื้อต้ม.
พระปิลินทวัจฉเถระซ่อมแปลงเงื้อมเขา
[๔๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะ กำลังให้คนชำระเงื้อมเขา ในเขต พระนครราชคฤห์ ประสงค์จะทำให้เป็นสถานที่เร้น ขณะนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช เสด็จพระดำเนินไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงสำนัก ทรงอภิวาทแล้วประทับเหนือพระราชอาสน์ อันควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ตรัสถามท่านพระปิลินทวัจฉะว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระเถระกำลังให้เขา ทำอะไรอยู่? ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า อาตมภาพกำลังให้เขาชำระเงื้อมเขา ประสงค์ให้เป็น สถานที่เร้น ขอถวายพระพร พิ. พระคุณเจ้าต้องการคนทำการวัดบ้างไหม? ปิ. ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงอนุญาตคนทำการวัด พิ. ถ้าเช่นนั้น โปรดทูลถามพระผู้มีพระภาค แล้วบอกให้ข้าพเจ้าทราบ ท่านพระปิลินทวัจฉะรับพระราชโองการว่า จะปฏิบัติอย่างนั้น ขอถวายพระพร แล้ว ชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช อันท่านพระปิลินทวัจฉะชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้ทรงสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากพระราชอาสน์ ทรงอภิวาทท่านพระปิลินทวัจฉะ ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ หลังจากนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะ ส่งสมณทูตไปในสำนักพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช มีพระราชประสงค์จะถวายคนทำการวัด ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?
พระพุทธานุญาตอารามิก
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มีคนทำการวัด พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช เสด็จพระราชดำเนินไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะ ถึงสำนักเป็นคำรบสอง ทรงอภิวาทแล้วประทับเหนือพระราชอาสน์อันควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว ตรัสถามพระปิลินทวัจฉะว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า คนทำการวัด พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตหรือ? ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร ทรงอนุญาตแล้ว พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจักถวายคนทำการวัดแก่พระคุณเจ้า ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงรับปฏิญาณถวายคนทำการวัดแก่ท่าน พระปิลินทวัจฉะดังนั้นแล้ว ทรงลืมเสีย ต่อนานมาทรงระลึกได้ จึงตรัสถามมหาอำมาตย์ ผู้สำเร็จราชกิจทั้งปวงผู้หนึ่งว่า พนาย คนทำการวัดที่เราได้รับปฏิญาณจะถวายแก่พระคุณเจ้านั้น เราได้ถวายไปแล้วหรือ? มหาอำมาตย์กราบทูลว่า ขอเดชะ ยังไม่ได้พระราชทาน พระพุทธเจ้าข้า. พระราชาตรัสถามว่า จากวันนั้นมานานกี่ราตรีแล้ว? ท่านมหาอำมาตย์นับราตรีแล้ว กราบทูลในทันใดนั้นแลว่า ขอเดชะ ๕๐๐ ราตรี พระพุทธเจ้าข้า. พระราชารับสั่งว่า พนาย ถ้าเช่นนั้น จงถวายท่านไป ๕๐๐ คน ท่านมหาอำมาตย์ รับพระบรมราชโองการว่าเป็นดังโปรดเกล้า ขอเดชะ แล้วได้จัดคนทำการวัดไปถวายท่าน พระปิลินทวัจฉะ ๕๐๐ คน หมู่บ้านของคนทำการวัดพวกนั้นได้ตั้งอยู่แผนกหนึ่ง คนทั้งหลาย เรียกบ้านตำบลนั้นว่า ตำบลบ้านอารามิกบ้าง ตำบลบ้านปิลินทวัจฉะบ้าง.
นิรมิตมาลัยทองคำ
[๔๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะได้เป็นพระกุลุปกะ ในหมู่บ้านตำบลนั้น ครั้นเช้าวันหนึ่ง ท่านครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังตำบลบ้านปิลินทวัจฉะ สมัยนั้น ในตำบลบ้านนั้นมีมหรสพ พวกเด็กๆ ตกแต่งกายประดับดอกไม้เล่นมหรสพอยู่ พอดี ท่านพระปิลินทวัจฉะเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกในตำบลบ้านปิลินทวัจฉะ ได้เข้าไปถึงเรือน คนทำการวัดผู้หนึ่ง ครั้นแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ขณะนั้น ธิดาของสตรีผู้ทำการวัดนั้น เห็นเด็กๆ พวกอื่นตกแต่งกายประดับดอกไม้ แล้ว ร้องอ้อนว่า ขอจงให้ดอกไม้แก่ดิฉัน ขอจงให้เครื่องตกแต่งกายแก่ดิฉัน จึงท่านพระปิลินทวัจฉะถามสตรีผู้ทำการวัดคนนั้นว่า เด็กหญิงคนนี้ร้องอ้อนอยากได้ อะไร? นางกราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า เด็กหญิงคนนี้เห็นเด็กๆ พวกอื่นตกแต่งกายประดับดอก ไม้ จึงร้องอ้อนขอว่า ขอจงให้ดอกไม้แก่ดิฉัน ขอจงให้เครื่องตกแต่งกายแก่ดิฉัน ดิฉันบอกว่า เราเป็นคนจนจะได้ดอกไม้มาจากไหน จะได้เครื่องตกแต่งมาจากไหน ขณะนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะหยิบขดหญ้าพวงหนึ่งส่งให้แล้วกล่าวว่า เจ้าจง สวมขดหญ้าพวงนี้ลงบนศีรษะเด็กหญิงนั้น ทันใดนั้นนางได้รับขดหญ้าสวมลงที่ศีรษะเด็กหญิงนั้น ขดหญ้านั้นได้กลายเป็นระเบียบดอกไม้ทองคำงามมาก น่าดู น่าชม ระเบียบดอกไม้ทองคำเช่นนั้น แม้ในพระราชฐานก็ไม่มี คนทั้งหลายกราบทูลแด่พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชว่า ขอเดชะ ระเบียบดอกไม้ ทองคำที่เรือนของคนทำการวัดชื่อโน้นงามมาก น่าดู น่าชม แม้ในพระราชฐานก็ไม่มี เขาเป็น คนเข็ญใจจะได้มาแต่ไหน เป็นต้องได้มาด้วยโจรกรรมแน่นอน จึงท้าวเธอสั่งให้จองจำตระกูลคนทำการวัดนั้นแล้ว. ครั้นเช้าวันที่ ๒ ท่านพระปิลินทวัจฉะครองอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาต ถึงตำบลบ้านปิลินทวัจฉะ เมื่อเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกในตำบลบ้านปิลินทวัจฉะได้เดิน ผ่านไปทางเรือนคนทำการวัดผู้นั้น ครั้นแล้วได้ถามคนที่คุ้นเคยกันว่า ตระกูลคนทำการวัดนี้ไป ไหนเสีย? คนพวกนั้นกราบเรียนว่า เขาถูกรับสั่งให้จองจำ เพราะเรื่องระเบียบดอกไม้ทองคำ เจ้าข้า. ทันใดนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะได้เข้าไปสู่พระราชนิเวศน์ นั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดถวาย ขณะนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช เสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะ ทรง อภิวาทแล้วประทับเหนือพระราชอาสน์อันควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระปิลินทวัจฉะได้ทูลถามพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ผู้ประทับเรียบร้อย แล้วดังนี้ว่า ขอถวายพระพร ตระกูลคนทำการวัดถูกรับสั่งให้จองจำด้วยเรื่องอะไร? พระเจ้าพิมพิสารตรัสตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า เพราะที่เรือนของเขามีระเบียบดอกไม้ ทองคำอย่างงามมาก น่าดู น่าชม แม้ที่ในวังก็ยังไม่มี เขาเป็นคนจนจะได้มาแต่ไหน เป็นต้อง ได้มาด้วยโจรกรรมอย่างแน่นอน ขณะนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะได้อธิษฐานปราสาทของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ว่า จงเป็นทอง ปราสาทนั้นได้กลายเป็นทองไปทั้งหมด แล้วได้ถวายพระพรถามว่า ขอถวาย พระพร ก็นี่ทองมากมายเท่านั้นมหาบพิตรได้มาแต่ไหน? พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า ข้าพเจ้าทราบแล้ว นี้เป็นอิทธานุภาพของพระคุณเจ้า ดังนี้ แล้วรับสั่งให้ปล่อยตระกูลคนทำการวัดนั้นพ้นพระราชอาญาไป.
พระพุทธานุญาตเภสัช ๕
[๔๗] ประชาชนทราบข่าวว่า ท่านพระปิลินทวัจฉะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นธรรม ยวดยิ่งของมนุษย์ ในบริษัทพร้อมทั้งพระราชา ต่างพากันยินดี เลื่อมใสยิ่ง นำเภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย มาถวายท่านพระปิลินทวัจฉะ แม้ตามปกติท่านก็ได้ เภสัช ๕ อยู่เสมอ ท่านจึงแบ่งเภสัชที่ได้มาถวายแก่บริษัท แต่บริษัทของท่านเป็นผู้มักมาก เก็บเภสัชที่ได้ๆ มาไว้ในกระถางบ้าง ในหม้อน้ำบ้าง จนเต็ม บรรจุลงในหม้อกรองน้ำบ้าง ใน ถุงย่ามบ้าง จนเต็มแล้ว แขวนไว้ที่หน้าต่าง เภสัชเหล่านั้นก็เยิ้มซึม แม้สัตว์จำพวกหนูก็เกลื่อน กล่นไปทั่ววิหาร คนทั้งหลายเดินเที่ยวชมไปตามวิหารพบเข้า ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ว่า สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้มีเรือนคลังในภายใน เหมือนพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนา มาคธราช ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย .... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงได้พอใจในความมักมากเช่นนี้ แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุทั้งหลาย พอใจในความมักมากเช่นนี้ จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุ ทั้งหลายว่า อนึ่ง มีเภสัชอันควรลิ้มของภิกษุผู้อาพาธ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ภิกษุรับประเคนของนั้นแล้ว พึงเก็บไว้ฉันได้ ๗ วันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป พึง ปรับอาบัติตามธรรม.
ภาณวารว่าด้วยทรงอนุญาตเภสัช ที่ ๑ จบ.
-----------------------------------------------------
พระพุทธานุญาตงบน้ำอ้อย
[๔๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพุทธดำเนินไปทางพระนครราชคฤห์ ท่านพระกังขาเรวตะได้แวะเข้าโรงทำงบน้ำอ้อย ใน ระหว่างทาง เห็นเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย จึงรังเกียจว่า งบน้ำอ้อยเจืออามิส เป็นอกัปปิยะ ไม่ควรจะฉันในเวลาวิกาล ดังนี้ จึงพร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันงบน้ำอ้อย แม้พวก ภิกษุที่เชื่อฟังคำท่านก็พลอยไม่ฉันงบน้ำอ้อยไปด้วย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี- *พระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายผสมแป้ง บ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย เพื่อประสงค์อะไร? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เพื่อประสงค์ให้เกาะกันแน่น พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนทั้งหลายผสม แป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย เพื่อประสงค์ให้เกาะกันแน่น งบน้ำอ้อยนั้นก็ยังถึงความ นับว่า งบน้ำอ้อยนั่นแหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันงบน้ำอ้อยตามสบาย.
พระพุทธานุญาตถั่วเขียว
ท่านพระกังขาเรวตะ ได้เห็นถั่วเขียวงอกขึ้นในกองอุจจาระ ณ ระหว่างทาง แล้วรังเกียจ ว่า ถั่วเขียวเป็นอกัปปิยะ แม้ต้มแล้วก็ยังงอกได้ จึงพร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันถั่วเขียว แม้พวก ภิกษุที่เชื่อฟังคำของท่านก็พลอยไม่ฉันถั่วเขียวไปด้วย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถั่วเขียวแม้ที่ต้ม แล้ว ก็ยังงอกได้ เราอนุญาตให้ฉันถั่วเขียวได้ตามสบาย.
พระพุทธานุญาตยาดองโลณโสจิรกะ
สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคลมเกิดในอุทร ท่านได้ดื่มยาดองโลณโสจิรกะ โรคลมเกิดในอุทรของท่านหายขาด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี พระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธฉันยาดอง โลณโสจิรกะได้ตามสบาย แต่ภิกษุไม่อาพาธต้องเจือน้ำฉันอย่างน้ำปานะ.
ประชวรโรคลมเกิดในพระอุทร
[๔๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินโดยลำดับเสด็จถึงพระนครราชคฤห์ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์นั้น คราวนั้น พระองค์ประชวรโรคลมเกิดในพระอุทร จึงท่านพระอานนท์ ดำริว่า แม้เมื่อก่อนพระผู้มีพระภาคประชวรโรคลมเกิดในพระอุทร ก็ทรงพระสำราญได้ด้วยยาคู ปรุงด้วยของ ๓ อย่าง จึงของาบ้าง ข้าวสารบ้าง ถั่วเขียวบ้าง ด้วยตนเอง เก็บไว้ในภายในที่อยู่ ต้มด้วยตนเองในภายในที่อยู่ แล้วน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาค โปรดดื่มยาคูปรุงด้วยของ ๓ อย่าง พระพุทธเจ้าข้า.
พุทธประเพณี
พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถาม สิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จัก ทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ยาคูนี้ได้มาแต่ไหน? ท่านพระอานนท์กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทันที.
ทรงตำหนิท่านพระอานนท์
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรอานนท์ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกรอานนท์ ไฉนเธอจึงได้พอใจใน ความมักมากเช่นนี้เล่า ดูกรอานนท์ อามิสที่เก็บไว้ในภายในที่อยู่ เป็นอกัปปิยะ แม้ที่หุงต้มใน ภายในที่อยู่ ก็เป็นอกัปปิยะ แม้ที่หุงต้มเอง ก็เป็นอกัปปิยะ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็น ไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ดังต่อไปนี้:-
พระพุทธบัญญัติห้ามอามิสที่เป็นอันโตวุตถะเป็นต้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันอามิสที่เก็บไว้ในภายในที่อยู่ ที่หุงต้มในภายในที่อยู่ และที่หุงต้มเอง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายในที่อยู่ หุงต้มในภายในที่อยู่ และหุงต้มเอง ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๓ ตัว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายในที่อยู่ หุงต้มในภายในที่อยู่ แต่ผู้อื่นหุงต้ม ถ้าภิกษุฉันอามิส ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายในที่อยู่ แต่หุงต้มในภายนอก และหุงต้มเอง ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายนอก แต่หุงต้มในภายใน และหุงต้มเอง ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายในที่อยู่ แต่หุงต้มในภายนอก และผู้อื่นหุงต้ม ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายนอก หุงต้มในภายใน แต่ผู้อื่นหุงต้ม ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายนอก หุงต้มในภายนอก แต่หุงต้มเอง ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อามิส ถ้าเก็บไว้ในภายนอก หุงต้มในภายนอก และผู้อื่นหุงต้ม ถ้าภิกษุฉันอามิสนั้นแล ไม่ต้องอาบัติ.
พระพุทธานุญาตให้อุ่นโภชนาหาร
[๕๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามภัตตาหารที่หุงต้ม เอง จึงรังเกียจในโภชนาหารที่ต้องอุ่น แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุ่นภัตตาหารที่ต้องอุ่น.
พระพุทธานุญาตอามิสที่เป็นอันโตวุตถะเป็นต้น
[๕๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พระนครราชคฤห์บังเกิดทุพภิกขภัย คนทั้งหลายนำเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของควรเคี้ยวบ้าง มายังอาราม ภิกษุทั้งหลายให้เก็บของเหล่านั้นไว้ ข้างนอก สัตว์ต่างๆ กินเสียบ้าง พวกโจรลักเอาไปบ้าง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้เก็บไว้ ณ ภายในได้ กัปปิยการกทั้งหลายเก็บอามิสไว้ข้างในแล้ว หุงต้มข้างนอก พวกคนกินเดนพากัน ห้อมล้อม ภิกษุทั้งหลายไม่พอใจฉัน แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุงต้มในภายใน. ในคราวเกิดทุพภิกขภัย พวกกัปปิยการกนำสิ่งของไปเสียมากมาย ถวายภิกษุเพียง เล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุงต้มเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอามิสที่เก็บไว้ในภายในที่อยู่ ที่หุงต้มในภายในที่อยู่ และ ที่หุงต้มเอง.
ผลไม้กลางทาง
[๕๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุหลายรูปด้วยกันจำพรรษาในกาสีชนบทแล้ว เดินทาง ไปสู่พระนครราชคฤห์ เมื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ในระหว่างทางไม่ได้โภชนาหารที่เศร้าหมอง หรือ ประณีตบริบูรณ์ พอแก่ความต้องการเลย ถึงของขบเคี้ยวคือผลไม้มีมาก แต่ก็หากัปปิยการกไม่ได้ ต่างพากันลำบาก ครั้นเดินทางไปพระนครราชคฤห์ ถึงพระเวฬุวันวิหารอันเป็นสถานที่พระราชทาน เหยื่อแก่กระแต แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง
พุทธประเพณี
ก็การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็น พุทธประเพณี ครั้งนั้น ผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ร่างกายของพวก เธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ เดินทางมามีความลำบากน้อยหรือ และพวกเธอ มาจากไหนเล่า? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ยังพอทนได้ พระพุทธเจ้าข้า ยังพอให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าจำพรรษาในกาสีชนบท แล้วเดินทางมาพระนครราชคฤห์ เพื่อเฝ้าพระผู้มี พระภาค ณ พระเวฬุวันนี้ ในระหว่างทาง ไม่ได้โภชนาหารที่เศร้าหมองหรือประณีต บริบูรณ์ พอแก่ความต้องการเลย ถึงของขบเคี้ยว คือผลไม้มีมาก แต่ก็หากัปปิยการกไม่ได้ เพราะเหตุนั้น พวกข้าพระพุทธเจ้าจึงเดินทางมามีความลำบาก.
พระพุทธานุญาตให้รับประเคนของที่เป็นอุคคหิต
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ภิกษุเห็นของขบเคี้ยว คือ ผลไม้ในที่ใด ถึงกัปปิยการกไม่มี ก็ให้หยิบนำไปเอง พบกัปปิยการกแล้ว วางไว้บน พื้นดิน ให้กัปปิยการกประเคนแล้วฉัน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนสิ่งของที่ภิกษุถูกต้องแล้วได้.
พราหมณ์ถวายงาและน้ำผึ้งใหม่
[๕๓] ก็โดยสมัยนั้นแล งาใหม่และน้ำผึ้งใหม่บังเกิดแก่พราหมณ์ผู้หนึ่ง จึงพราหมณ์ นั้นได้คิดตกลงว่า ผิฉะนั้น เราพึงถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่แก่ภิกษุสงฆ์ มีองค์พระพุทธเจ้า เป็นประมุข ครั้นแล้วได้ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้น ผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พราหมณ์ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าใน วันพรุ่งนี้ เพื่อเจริญบุญกุศล และปีติปราโมทย์แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด. พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นพราหมณ์นั้นทราบการรับนิมนต์ของ พระผู้มีพระภาค แล้วกลับไป แล้วสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตโดยผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้วท่านพระโคดม ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จ พระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของพราหมณ์นั้น ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขา จัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงพราหมณ์นั้นอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วย ขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงนำ พระหัตถ์ออกจากบาตรห้ามภัตรแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง พราหมณ์นั้นผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับแล้วไม่ทันนาน พราหมณ์นั้นระลึก ขึ้นได้ว่า เราคิดว่าจักถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่ จึงได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อถวายไทยธรรมเหล่าใด ไทยธรรมเหล่านั้นเราลืมถวาย ผิฉะนั้น เราพึงให้เขาจัดงาใหม่และ น้ำผึ้งใหม่บรรจุขวดและหม้อนำไปสู่อาราม ดังนี้ แล้วให้เขาจัดงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่บรรจุขวด และหม้อนำไปสู่อาราม เข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่าจักถวายงาใหม่และ น้ำผึ้งใหม่ จึงได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อถวายไทยธรรมเหล่าใด ไทยธรรม เหล่านั้นข้าพระพุทธเจ้าลืมถวาย ขอท่านพระโคดมโปรดรับงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่ของข้าพระ- *พุทธเจ้าเถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย. ก็คราวนั้นอัตคัดอาหาร ภิกษุทั้งหลายรับสิ่งของเล็กน้อยแล้วห้ามเสียบ้าง พิจารณาแล้ว ห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่าพระสงฆ์ล้วนเป็นผู้ห้ามภัตรทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับประเคน.
พระพุทธานุญาตให้ฉันโภชนะไม่เป็นเดน
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคน ฉันเถิด เราอนุญาตให้ภิกษุฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน ซึ่งนำมาจากสถาน ที่ฉัน.
ตระกูลอุปัฏฐากของพระอุปนันทศากยบุตร
[๕๔] ก็สมัยนั้นแล ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตร ได้ส่งของเคี้ยวไป เพื่อถวายพระสงฆ์ สั่งว่า ต้องมอบให้พระคุณเจ้าอุปนนท์ถวายสงฆ์ แต่เวลานั้นท่านพระ อุปนันทศากยบุตรกำลังเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน ครั้นชาวบ้านพวกนั้นไปถึงอารามแล้วถามภิกษุ ทั้งหลายว่า พระคุณเจ้าอุปนนท์ไปไหน เจ้าข้า? ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ท่านพระอุปนันทศากยบุตรนั้นเข้าไปบิณฑบาตในบ้านแล้ว. ชาวบ้านสั่งว่า ท่านเจ้าข้า ของเคี้ยวนี้ต้องมอบให้พระคุณเจ้าอุปนนท์ถวายภิกษุสงฆ์. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงรับประเคนเก็บไว้จนกว่าอุปนนท์จะมา. ครั้นท่านพระอุปนันทศากยบุตร เข้าไปเยี่ยมตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉัน แล้วมาถึงต่อ กลางวัน ก็คราวนั้นเป็นสมัยทุพภิกขภัย ภิกษุทั้งหลายรับสิ่งของเล็กน้อยแล้วห้ามเสียบ้าง พิจารณา แล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่าภิกษุสงฆ์ล้วนเป็นผู้ห้ามภัตรทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับประเคน. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคน ฉันเถิด เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉันเสร็จ ห้ามภัตรแล้ว ฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน ซึ่งรับประเคนไว้ ในปุเรภัตรได้.
พระสารีบุตรเถระอาพาธ
[๕๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินมุ่งไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถี แล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขต พระนครสาวัตถีนั้น วันต่อมา ท่านพระสารีบุตรอาพาธเป็นไข้ตัวร้อน ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เข้าไปเยี่ยมท่านพระสารีบุตร ได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโส สารีบุตร เมื่อก่อนท่านอาพาธ เป็นไข้ตัวร้อน รักษาหายด้วยเภสัชอะไร? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า รักษาหายด้วยรากบัวและเหง้าบัว. จึงท่านพระมหาโมคคัลลานะได้หายตัวไปในพระวิหารเชตวันทันที มาปรากฏอยู่ ณ ริมฝั่ง สระโบกขรณีมันทากินี เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ช้างเชือกหนึ่งได้เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะกำลังมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ กะท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า นิมนต์พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะมา พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะ มาดีแล้ว พระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งไร ข้าพเจ้าจะถวายสิ่งไร เจ้าข้า? ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ฉันประสงค์เหง้าบัวและรากบัว จ้ะ. ช้างเชือกนั้นสั่งช้างอีกเชือกหนึ่งทันทีว่า พนาย ผิฉะนั้น เจ้าจงถวายเหง้าบัวและรากบัว แก่พระคุณเจ้า จนพอแก่ความต้องการ. จึงช้างเชือกที่ถูกใช้นั้นลงสู่สระโบกขรณีมันทากินี ใช้งวงถอนเหง้าบัวและรากบัวล้างน้ำ ให้สะอาด ม้วนเป็นห่อเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ ทันใดนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้หายตัวไปที่ริมฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี มาปรากฏตัวที่พระวิหารเชตวัน เปรียบเหมือนบุรุษ ผู้มีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น แม้ช้างเชือกนั้นก็ได้หายไปตรงริมฝั่ง สระโบกขรณีมันทากินี มาปรากฏตัวที่พระวิหารเชตวัน ได้ประเคนเหง้าบัวและรากบัวแก่ท่าน พระมหาโมคคัลลานะ แล้วหายตัวไปที่พระวิหารเชตวันมาปรากฏตัวที่ริมฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะน้อมเหง้าบัวและรากบัวเข้าไปถวายท่านพระสารีบุตร เมื่อ ท่านพระสารีบุตรฉันเหง้าบัวและรากบัวแล้ว โรคไข้ตัวร้อนก็หายทันที เหง้าบัวและรากบัวยังเหลืออยู่ มากมาย ก็แลสมัยนั้นอัตคัดอาหาร ภิกษุทั้งหลายรับสิ่งของเล็กน้อยแล้วห้ามเสียบ้าง พิจารณา แล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่าภิกษุสงฆ์ล้วนเป็นผู้ห้ามภัตทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับ ประเคน. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคน ฉันเถิด เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน ซึ่งเกิดในป่า เกิดในสระบัว.
พระพุทธานุญาตผลไม้ที่ใช้เพาะพันธุ์ไม่ได้
[๕๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ในพระนครสาวัตถี มีของฉัน คือ ผลไม้เกิดขึ้นมาก แต่ กัปปิยการกไม่มี ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่ฉันผลไม้ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้ที่ใช้ เพาะพันธุ์ไม่ได้ หรือที่ปล้อนเมล็ดออกแล้ว ยังมิได้ทำกัปปะก็ฉันได้.
พระพุทธบัญญัติห้ามทำสัตถกรรม
[๕๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครราชคฤห์ เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนครราชคฤห์ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ในพระเวฬุวันวิหารอันเป็นสถานที่พระราชทาน เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์นั้น คราวนั้นภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคริดสีดวงทวาร นายแพทย์ชื่ออากาสโคตตะกำลังทำการผ่าตัดทวารหนักด้วยศัสตรา ขณะนั้น พระผู้มีพระภาค เสด็จพระพุทธดำเนินตามเสนาสนะ เสด็จไปถึงวิหารที่อยู่ของภิกษุรูปนั้น นายแพทย์อากาสโคตตะ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ขออาราธนา ท่านพระโคดมเสด็จมาทอดพระเนตรวัจจมรรคของภิกษุรูปนี้ เหมือนปากคางคก.
ทรงประชุมภิกษุสงฆ์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า โมฆบุรุษนี้เยาะเย้ยเรา จึงเสด็จกลับจากที่นั้นแล แล้วรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้ว ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในวิหารหลังโน้น มีภิกษุอาพาธหรือ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า มี พระพุทธเจ้าข้า. พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นอาพาธเป็นอะไร? ภิ. ท่านรูปนั้นอาพาธเป็นโรคริดสีดวงทวาร นายแพทย์อากาสโคตตะทำการผ่าตัด ทวารหนักด้วยศัสตรา พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉน โมฆบุรุษนั้นจึงได้ให้ทำสัตถกรรมในที่แคบเล่า ในที่แคบมีผิวเนื้ออ่อน แผลงอกเต็มยาก ผ่าตัด ไม่สะดวก การกระทำของโมฆบุรุษนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ทำสัตถกรรม ในที่แคบ รูปใดให้ทำ ต้องอาบัติถุลลัจจัย.
พระพุทธบัญญัติห้ามทำวัตถิกรรม
สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามทำการผ่าตัดทวารหนักด้วย ศัสตรา จึงเลี่ยงให้ทำการรัดหัวไส้ บรรดาภิกษุที่มักน้อย .... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ให้ทำวัตถิกรรมเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุฉัพพัคคีย์ ให้ทำวัตถิกรรม จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งห้ามภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ทำสัตถกรรม หรือวัตถิกรรมในที่ประมาณ ๒ นิ้ว โดยรอบแห่งที่แคบ รูปใดให้ทำ ต้องอาบัติถุลลัจจัย.
อุบาสิกาสุปปิยาถวายเนื้อขา
[๕๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครพาราณสี เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนครพาราณสีแล้ว ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวันเขตพระนคร พาราณสีนั้น สมัยนั้น อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา ๒ คน เป็นผู้เลื่อมใส เป็นทายก กัปปิยการก บำรุงพระสงฆ์อยู่ในพระนครพาราณสี วันหนึ่ง อุบาสิกาสุปปิยาไปสู่อาราม เที่ยว เยี่ยมวิหารและบริเวณทั่วทุกแห่ง แล้วเรียนถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุรูปไรอาพาธ ภิกษุรูปไร โปรดให้ดิฉันนำอะไรมาถวาย เจ้าข้า. ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งดื่มยาถ่ายและได้บอกอุบาสิกาสุปปิยาว่า ดูกรน้องหญิง อาตมา ดื่มยาถ่าย อาตมาต้องการน้ำเนื้อต้ม อุบาสิกาสุปปิยารับคำว่า ดิฉันจักนำมาถวายเป็นพิเศษ เจ้าข้า แล้วไปเรือนสั่งชายคน รับใช้ว่า เจ้าจงไปหาซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาขายมา ชายคนรับใช้รับคำอุบาสิกาสุปปิยาว่า ขอรับกระผม แล้วเที่ยวหาซื้อทั่วพระนครพาราณสี ก็มิได้พบเนื้อสัตว์ที่เขาขาย จึงได้กลับไปหาอุบาสิกาสุปปิยาแล้วเรียนว่า เนื้อสัตว์ที่เขาขายไม่มี ขอรับ เพราะวันนี้ห้ามฆ่าสัตว์ จึงอุบาสิกาสุปปิยาได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุอาพาธรูปนั้นแล เมื่อไม่ได้ฉันน้ำเนื้อต้ม อาพาธจักมากขึ้นหรือจักถึงมรณภาพ การที่เรารับคำแล้วไม่จัดหาไปถวายนั้น เป็นการไม่สมควร แก่เราเลย ดังนี้ แล้วได้หยิบมีดหั่นเนื้อมาเชือดเนื้อขาส่งให้หญิงคนรับใช้สั่งว่า แม่สาวใช้ ผิฉะนั้น แม่จงต้มเนื้อนี้แล้วนำไปถวายภิกษุรูปที่อาพาธอยู่ในวิหารหลังโน้น อนึ่ง ผู้ใดถามถึงฉัน จงบอกว่าป่วย แล้วเอาผ้าห่มพันขา เข้าห้องนอนบนเตียง. ครั้งนั้น อุบาสกสุปปิยะไปเรือนแล้วถามหญิงคนรับใช้ว่า แม่สุปปิยาไปไหน? หญิงคนรับใช้ตอบว่า คุณนายนอนในห้อง เจ้าข้า. จึงอุบาสกสุปปิยะเข้าไปหาอุบาสิกาสุปปิยาถึงในห้องนอน แล้วได้ถามว่า เธอนอนทำไม อุบาสิกา. ดิฉันไม่สบายค่ะ อุบาสก. เธอป่วยเป็นอะไร. ทีนั้น อุบาสิกาสุปปิยาจึงเล่าเรื่องนั้นให้อุบาสกสุปปิยะทราบ ขณะนั้น อุบาสกสุปปิยะร่าเริงดีใจว่า อัศจรรย์นักชาวเราไม่เคยมีเลยชาวเรา แม่สุปปิยา นี้มีศรัทธาเลื่อมใสถึงแก่สละเนื้อของตนเอง สิ่งไรอื่นทำไมนางจักให้ไม่ได้เล่า แล้วเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค. ถวายบังคมนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อุบาสกสุปปิยะนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์ จงทรงกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าในวันพรุ่งนี้เพื่อเจริญมหากุศล และปิติปราโมทย์ แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นอุบาสกสุปปิยะ ทราบการรับนิมนต์ของพระผู้มีพระภาคแล้วลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วกลับไป และสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตโดยผ่านราตรีนั้น แล้วให้คนไป กราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก แล้วถือบาตรจีวรเสด็จไปสู่ นิเวศน์ของอุบาสกสุปปิยะ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวายพร้อมด้วย พระสงฆ์ จึงอุบาสกสุปปิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอุบาสกสุปปิยะผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า อุบาสิกา สุปปิยาไปไหน? อุ. นางป่วย พระพุทธเจ้าข้า พ. ถ้าเช่นนั้น เชิญอุบาสิกาสุปปิยามา อุ. นางไม่สามารถ พระพุทธเจ้าข้า พ. ถ้าเช่นนั้น พวกเธอช่วยกันพยุงพามา ขณะนั้น อุบาสกสุปปิยะได้พยุงอุบาสิกาสุปปิยามาเฝ้า พร้อมกันนางได้เห็นพระผู้มี พระภาค แผลใหญ่เพียงนั้นได้งอกเต็ม มีผิวพรรณเรียบสนิท เกิดโลมชาติทันที จึงอุบาสกสุปปิยะ และอุบาสิกาสุปปิยา พากันร่าเริงยินดีว่า อัศจรรย์นักชาวเรา ไม่เคยมีเลยชาวเรา พระตถาคต ทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีพระอานุภาพมาก เพราะพอเห็นพระองค์เท่านั้น แผลใหญ่โตยังงอกขึ้น เต็มทันที มีผิวพรรณเรียบสนิท เกิดโลมชาติ แล้วอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสด็จแล้ว ทรงนำ พระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
[๕๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปไหน ขอเนื้อต่ออุบาสิกาสุปปิยา. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว ภิกษุรูปนั้นได้ทูลรับต่อพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระ- *พุทธเจ้า ได้ขอเนื้อต่ออุบาสิกาสุปปิยา พระพุทธเจ้าข้า พ. เขานำมาถวายแล้วหรือ ภิกษุ ภิ. เขานำมาถวายแล้ว พระพุทธเจ้าข้า พ. เธอฉันแล้วหรือ ภิกษุ ภิ. ฉันแล้ว พระพุทธเจ้าข้า พ. เธอพิจารณาหรือเปล่า ภิกษุ ภิ. มิได้พิจารณา พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงไม่ได้พิจารณา แล้วฉัน เนื้อเล่า เธอฉันเนื้อมนุษย์แล้ว การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อมนุษย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสมีอยู่ เขาสละเนื้อของเขาถวายก็ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัย อนึ่ง ภิกษุยังมิได้ พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อช้าง
[๖๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ช้างหลวงล้มลงหลายเชือก สมัยอัตคัดอาหาร ประชาชน พากันบริโภคเนื้อช้าง และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อช้าง ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉัน เนื้อช้างเล่า เพราะช้างเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบคงไม่ทรงเลื่อมใสต่อพระสมณะ เหล่านั้นเป็นแน่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ ห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อช้าง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อม้า
สมัยต่อมา ม้าหลวงตายมาก สมัยอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อม้า และ ถวายแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อม้า ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อม้าเล่า เพราะม้าเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบ คงไม่เลื่อมใสต่อพระสมณะเหล่านั้นเป็นแน่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉัน เนื้อม้า รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อสุนัข
สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อสุนัข และถวายแก่พวก ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อสุนัข ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อสุนัขเล่า เพราะสุนัขเป็นสัตว์น่าเกลียด น่าชัง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสุนัข รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้องู
สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้องู และถวายแก่พวกภิกษุ ผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้องู ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้องูเล่า เพราะงูเป็นสัตว์น่าเกลียดน่าชัง แม้พระยานาค ชื่อสุปัสสะก็เข้าไปในพุทธสำนักถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า บรรดาที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสมีอยู่ มันคงเบียดเบียนพวกภิกษุจำนวนน้อยบ้าง ขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระ- *คุณเจ้าทั้งหลายโปรดกรุณาอย่าฉันเนื้องู ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระยานาคสุปัสสะ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นพระยานาคสุปัสสะอันพระผู้มีพระภาค ทรงให้เห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำ ประทักษิณกลับไป ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้องู รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อราชสีห์
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าราชสีห์แล้วบริโภคเนื้อราชสีห์ และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อราชสีห์แล้วอยู่ในป่า ฝูงราชสีห์ฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่นเนื้อ ราชสีห์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อราชสีห์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อเสือโคร่ง
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือโคร่งแล้วบริโภคเนื้อเสือโคร่งและถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือโคร่งแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือโคร่งฆ่าพวกภิกษุเสียเพราะได้กลิ่นเนื้อ เสือโคร่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้าม ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือโคร่ง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือเหลือง แล้วบริโภคเนื้อเสือเหลืองและถวายแก่พวกภิกษุ ผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือเหลืองแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือเหลืองฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือเหลือง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือเหลือง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อหมี
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าหมีแล้วบริโภคเนื้อหมี และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อหมีแล้วอยู่ในป่า เหล่าหมีฆ่าพวกภิกษุเสียเพราะได้กลิ่นเนื้อหมี ภิกษุทั้งหลายกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อหมี รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อเสือดาว
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือดาวแล้วบริโภคเนื้อเสือดาว และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือดาวแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือดาวฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่น เนื้อเสือดาว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติ ห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือดาว รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
สุปปิยภาณวาร ที่ ๒ จบ.
-----------------------------------------------------
เรื่องพราหมณ์ถวายยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน
[๖๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครพาราณสี ตามพระพุทธาภิรมณ์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินมุ่งไปทางอันธกวินทะชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป คราวนั้นประชาชนชาวชนบทบรรทุกเกลือบ้างน้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของควรเคี้ยว บ้าง เป็นอันมากมาในเกวียน เดินติดตามภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาข้างหลังๆ ด้วยตั้งใจว่า ได้โอกาสเมื่อใดจักทำภัตตาหารถวายเมื่อนั้น อนึ่ง คนกินเดนประมาณ ๕๐๐ คน ก็พลอยเดินติดตามไปด้วย ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ เสด็จถึงอันธกวินทชนบท. ขณะนั้นพราหมณ์คนหนึ่ง ยังหาโอกาสไม่ได้ จึงดำริในใจว่าเราเดินติดตามภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมากว่า ๒ เดือนแล้ว ด้วยหมายใจว่าได้โอกาสเมื่อใด จักทำภัตตาหาร ถวายเมื่อนั้น แต่ก็หาโอกาสไม่ได้ อนึ่ง เราตัวคนเดียวและยังเสียประโยชน์ทางฆราวาสไปมาก ไฉนหนอ เราพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใดไม่มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย แล้วจึง ตรวจดูโรงอาหารมิได้เห็นมีของ ๒ สิ่ง คือยาคู ๑ ขนมปรุงด้วยน้ำหวาน ๑ จึงเข้าไปหาท่านพระ อานนท์ถึงสำนัก ครั้นแล้วได้กราบเรียนคำนี้แด่ท่านอานนท์ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ ข้าพเจ้า หาโอกาสในที่นี้ไม่ได้จึงได้ดำริในใจว่า ตนเดินติดตามภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมา กว่า ๒ เดือนแล้ว ด้วยหมายใจว่าได้โอกาสเมื่อใด จักทำภัตตาหารถวายเมื่อนั้น แต่ก็หาโอกาส ไม่ได้ อนึ่ง ตนตัวคนเดียวและยังเสียประโยชน์ทางฆราวาสของตนไปมาก ไฉนหนอ ตนพึง ตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใดไม่มีในโรงอาหาร พึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย ดังนี้ ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ ข้าพเจ้านั้นตรวจดูโรงอาหาร มิได้เห็นมีของ ๒ สิ่ง คือ ยาคู ๑ ขนมปรุงด้วยน้ำหวาน ๑ ถ้า ข้าพเจ้าตกแต่งยาคู และขนมปรุงด้วยน้ำหวานถวาย ท่านพระโคดมจะพึงรับของข้าพเจ้าไหม เจ้าข้า? ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นฉันจักทูลถามพระผู้มีพระภาค ดังนี้ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคทันที. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้นพราหมณ์จงตกแต่ง ถวายเถิด. ท่านพระอานนท์ บอกพราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านตกแต่งถวายได้ละ. จึงพราหมณ์นั้นตกแต่งยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานมากมายโดยผ่านราตรีนั้น แล้วน้อม เข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอท่านพระโคดมโปรดกรุณารับยาคูและขนมปรุงด้วย น้ำหวานของข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลายๆ รังเกียจ ไม่รับ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด. จึงพราหมณ์นั้นอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยยาคูและขนมปรุงด้วย น้ำหวานมากมายด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงนำ พระหัตถ์ออกจากบาตร ให้ห้ามภัตรแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ข้าวยาคูมีคุณ ๑๐ อย่าง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะพราหมณ์นั้น ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกรพราหมณ์ ข้าวยาคูมีคุณ ๑๐ อย่างนี้ ๑๐ อย่างเป็นไฉน คือผู้ให้ข้าวยาคู ชื่อว่าให้อายุ ๑ ให้วรรณะ ๑ ให้สุข ๑ ให้กำลัง ๑ ให้ปฏิภาณ ๑ ข้าวยาคูที่ดื่มแล้วกำจัดความหิว ๑ บรรเทาความ ระหาย ๑ ทำลมให้เดินคล่อง ๑ ล้างลำไส้ ๑ ย่อยอาหารใหม่ที่เหลืออยู่ ๑ ดูกรพราหมณ์ ข้าวยาคู มีคุณ ๑๐ อย่างนี้แล. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณ์พจน์นี้ ครั้นแล้วพระสุคตผู้พระศาสดาจึงได้ตรัสคาถา อนุโมทนานี้ต่อไปในภายหลัง ว่าดังนี้:-
คาถาอนุโมทนา
[๖๒] ทายกใดถวายข้าวยาคูโดยเคารพตามกาล แก่ปฏิคาหก ผู้สำรวมแล้ว บริโภคโภชนาอันผู้อื่นถวาย ทายกนั้น ชื่อว่าตามเพิ่มให้ซึ่งสถานะ ๑๐ อย่างแก่ปฏิคาหกนั้น อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ย่อมเกิดแก่ปฏิคาหกนั้น แต่นั้นยาคูย่อมกำจัดความหิว ความระหาย ทำลมให้เดิน คล่อง ล้างลำไส้ และย่อยอาหาร ยาคูนั้นพระสุคตตรัส สรรเสริญว่าเป็นเภสัช เพราะเหตุนั้นแล มนุษย์ชนที่ต้อง การสุขยั่งยืน ปรารถนาสุขที่เลิศ หรืออยากได้ความงามอัน เพริศพริ้งในมนุษย์ จึงควรแท้เพื่อถวายข้าวยาคู.
พระพุทธานุญาตข้าวยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน
[๖๓] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่พราหมณ์นั้นด้วย ๓ คาถานี้แล้ว เสด็จลุก จากที่ประทับกลับไป. ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตข้าวยาคู และขนม ปรุงด้วยน้ำหวาน.
เรื่องมหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใส
[๖๔] ประชาชนทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน แก่ภิกษุทั้งหลาย จึงตกแต่งยาคูที่แข้นและขนมปรุงด้วยน้ำหวานถวายแต่เช้า ภิกษุทั้งหลายที่ได้ รับอังคาสด้วยยาคูที่แข้นและขนมปรุงด้วยน้ำหวานแต่เช้า ฉันภัตตาหารในโรงอาหารไม่ได้ตามที่ คาดหมาย คราวนั้น มหาอำมาตย์คนหนึ่งผู้เริ่มเลื่อมใส ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุขเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้นและได้มีความคิดว่า ถ้ากระไร เราพึงตกแต่งสำหรับมังสะ ๑,๒๕๐ ที่ เพื่อภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป น้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ สำรับ แล้วสั่งให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหาร อันประณีตและสำรับมังสะ ๑,๒๕๐ ที่ โดยผ่านราตรีนั้น แล้วสั่งให้เจ้าพนักงานไปกราบทูล ภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารสำเร็จแล้ว. ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธ ดำเนินสู่นิเวศน์ของมหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัด ถวาย พร้อมด้วยพระสงฆ์ จึงมหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น อังคาสภิกษุทั้งหลายอยู่ในโรงอาหาร ภิกษุทั้งหลายพูดอย่างนี้ว่า จงถวายแต่น้อยเถิดท่าน จงถวายแต่น้อยเถิดท่าน ท่านมหาอำมาตย์กราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านทั้งหลายอย่ารับแต่น้อยๆ ด้วยคิดว่า นี่เป็นมหาอำมาตย์ที่เริ่มเลื่อมใส กระผมตกแต่งขาทนียโภชนียาหารไว้มาก กับสำรับมังสะ ๑,๒๕๐ ที่ จักน้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ สำรับ ขอท่านทั้งหลายกรุณารับให้พอแก่ความ ต้องการเถิด เจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายว่า ท่าน พวกอาตมภาพรับแต่น้อยๆ มิใช่เพราะเหตุนั้นเลย แต่เพราะ พวกอาตมภาพได้รับอังคาสด้วยยาคูที่แข้น และขนมปรุงด้วยน้ำหวานแต่เช้า ฉะนั้น พวก อาตมภาพจึงขอรับแต่น้อยๆ ทันใดนั้น มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระ คุณเจ้าทั้งหลาย อันกระผมนิมนต์แล้วจึงได้ฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่นเล่า กระผมไม่สามารถจะถวาย ให้พอแก่ความต้องการหรือ แล้วโกรธไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตรของภิกษุทั้งหลาย เต็มพลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะฉันก็ได้ นำไปก็ได้ ครั้นแล้วอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวย เสร็จแล้ว นำพระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงแก่มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น ซึ่งนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จกลับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไม่ทันนาน มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นได้บังเกิด ความรำคาญและความเดือดร้อนว่า มิใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราโกรธไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตรของภิกษุทั้งหลาย เต็มพลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะฉันก็ได้ นำไปก็ได้ อะไรหนอแล เราสร้างสมมาก คือ บุญ หรือบาป ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงกราบทูล ว่า พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไม่ทันนาน ความรำคาญและความเดือดร้อน ได้บังเกิดแก่ข้าพระพุทธเจ้า ณ ที่นั้นว่า มิใช่ลาภของข้าพระพุทธเจ้าหนอ ลาภของข้าพระพุทธเจ้า ไม่มีหนอ ข้าพระพุทธเจ้าได้ชั่วแล้วหนอ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะข้าพระพุทธเจ้า โกรธไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตรของภิกษุทั้งหลายเต็มพลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จะฉันก็ได้ นำไปก็ได้ อะไรหนอแล ข้าพระพุทธเจ้าสร้างสมไว้มาก คือ บุญหรือบาป ดังนี้ อะไรกันแน่ที่ข้าพระพุทธเจ้าสร้างสมมาก คือ บุญหรือบาป พระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อาวุโส ท่านนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติปราโมทย์ในวันนี้ด้วยทานอันเลิศใด ท่านชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มาก เพราะทานอันเลิศนั้น เมล็ดข้าวสุกเมล็ดหนึ่งๆ ของท่าน อันภิกษุรูปหนึ่งๆ ผู้เลิศด้วยคุณสมบัติ อันใด รับไปแล้ว ท่านชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มาก เพราะภิกษุผู้เลิศด้วยคุณสมบัติอันนั้น สวรรค์ เป็นอันท่านปรารภไว้แล้ว. ลำดับนั้น มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น ได้ทราบว่าเป็นลาภของตน ตนได้ดีแล้ว สวรรค์อันตนปรารภไว้แล้ว ก็ร่าเริง ดีใจลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วกลับไป.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุ- *ทั้งหลายอันทายกนิมนต์ไว้แห่งอื่น ฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่นจริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันยาคูที่แข้น
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น อันทายกนิมนต์ไว้แห่งอื่น จึงได้ฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่นเล่า การกระทำของพวกโมฆบุรุษนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุ- *ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอันทายกนิมนต์ไว้แห่งอื่น ไม่พึงฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่น รูปใดฉัน พึงปรับอาบัติตามธรรม.
เรื่องพราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะถวายงบน้ำอ้อย
[๖๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในอันธกวินทชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินมุ่งไปทางพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป คราวนั้น พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ เดินทางไกลแต่พระนครราชคฤห์ไปยังอันธกวินทชนบท พร้อมด้วยเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มล้วนบรรทุกหม้องบน้ำอ้อยเต็มทุกเล่ม พระผู้มีพระภาค ทอดพระเนตรเห็นเวลัฏฐกัจจานะกำลังมาแต่ไกล ครั้นแล้ว เสด็จแวะออกจากทางประทับนั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง. จึงพราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ เดินเข้าไปถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะถวายงบน้ำอ้อย แก่ภิกษุรูปละ ๑ หม้อ. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงนำงบน้ำอ้อยมาแต่เพียง หม้อเดียว. พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วนำงบน้ำอ้อยมาแต่หม้อเดียว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า หม้องบน้ำอ้อย ข้าพระพุทธเจ้านำมาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติอย่างไร ต่อไป. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงถวายงบน้ำอ้อยแก่ภิกษุทั้งหลาย. พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วถวายงบน้ำอ้อยแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า งบน้ำอ้อยข้าพระพุทธเจ้า ถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยนี้ยังเหลืออยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติ อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงถวายงบน้ำอ้อยแก่ภิกษุ ทั้งหลายจนพอแก่ความต้องการ. พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วถวายงบน้ำอ้อยแก่ภิกษุทุกรูป จนพอแก่ความต้องการ แล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า งบน้ำอ้อยข้าพระพุทธเจ้าถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย จนพอแก่ความต้องการแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยนี้ยังเหลืออยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงอังคาสภิกษุทั้งหลายด้วยงบ น้ำอ้อยให้อิ่มหนำ. พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วอังคาสภิกษุทั้งหลายด้วยงบน้ำอ้อยให้อิ่มหนำ ภิกษุบางพวกบรรจุงบน้ำอ้อยเต็มบาตรบ้าง เต็มหม้อกรองน้ำบ้าง เต็มถุงย่ามบ้าง ครั้นพราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะอังคาสภิกษุทั้งหลายด้วยงบ น้ำอ้อยให้อิ่มหนำแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ภิกษุทั้งหลายอันข้าพระพุทธเจ้าอังคาส ด้วยงบน้ำอ้อยให้อิ่มหนำแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยนี้ยังเหลืออยู่มาก พระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยนี้ยังเหลืออยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้งบน้ำอ้อยแก่พวกคนกินเดน. พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. แล้วจึงให้งบน้ำอ้อยแก่พวกคนกินเดน แล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า งบน้ำอ้อย ข้าพระพุทธเจ้า ให้พวกคนกินเดนแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยนี้ยังเหลืออยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้งบน้ำอ้อยแก่พวกคนกินเดน จนพอแก่ความต้องการ พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วจึงให้งบน้ำอ้อยแก่พวกคนกินเดน จนพอแก่ความต้องการ แล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค ว่า งบน้ำอ้อยข้าพระพุทธเจ้าให้พวกคนกินเดน จนพอแก่ความต้องการแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยนี้ยังเหลืออยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเลี้ยงดูพวกคนกินเดนให้อิ่มหนำ ด้วยงบน้ำอ้อย. พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วเลี้ยงดูพวกคนกินเดนให้อิ่มหนำด้วยงบน้ำอ้อย คนกินเดนบางพวกบรรจุงบน้ำอ้อยเต็ม กระป๋องบ้าง เต็มหม้อน้ำบ้าง ห่อเต็มผ้าขาวปูลาดบ้าง เต็มพกบ้าง ครั้นพราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ เลี้ยงดูพวกคนกินเดนให้อิ่มหนำด้วยงบน้ำอ้อย แล้วทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พวกคนกินเดน อันข้าพระพุทธเจ้าเลี้ยงดูด้วยงบน้ำอ้อยให้อิ่มหนำแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แต่งบน้ำอ้อยนี้ยังเหลือ อยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัจจานะ ทั่วโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ทั่วทุกหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลผู้ที่บริโภคงบน้ำอ้อย นั้นแล้วจะให้ย่อยได้ดี นอกจากตถาคตหรือสาวกของตถาคต ดูกรกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจง ทิ้งงบน้ำอ้อยนั้นเสียในสถานที่อันปราศจากของเขียวสด หรือจงเทเสียในน้ำซึ่งปราศจากตัวสัตว์. พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วเทงบน้ำอ้อยนั้นลงในน้ำซึ่งปราศจากตัวสัตว์ งบน้ำอ้อยที่เทลงในน้ำนั้น เดือดพลุ่ง ส่งเสียง ดังจิฏิจิฏิ พ่นไอพ่นควันทันที เปรียบเหมือนผาลที่ร้อนโชนตลอดวันอันบุคคลจุ่มลงในน้ำ ย่อมเดือดพลุ่ง ส่งเสียงดังจิฏิจิฏิ พ่นไอพ่นควันอยู่ แม้ฉันใด งบน้ำอ้อยที่เทลงในน้ำนั้น ย่อมเดือดพล่าน ส่งเสียงดังจิฏิจิฏิ พ่นไอพ่นควันอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน. พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะ สลดใจ บังเกิดโลมชาติชูชันทันที แล้วเข้าไปในพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจ
เมื่อพราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรง แสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความ เศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใส แล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่พราหมณ์- *เวลัฏฐกัจจานะ ณ ที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมี ความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าสะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดีฉะนั้น ครั้น พราหมณ์เวลัฏฐกัจจานะได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรม อันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัยแล้ว ถึงความเป็น ผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดาได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ภาษิต ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระพุทธเจ้าข้า ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอ พระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้ เป็นต้นไป.
พระพุทธานุญาตงบน้ำอ้อย
[๖๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ เสด็จถึง พระนครราชคฤห์แล้ว ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์นั้น ครั้งนั้น ในพระนครราชคฤห์มีงบน้ำอ้อย มาก ภิกษุทั้งหลายรังเกียจว่า ผู้ไม่อาพาธ จึงไม่ฉันงบน้ำอ้อย แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตงบน้ำอ้อย แก่ภิกษุผู้อาพาธ และงบน้ำอ้อยละลายน้ำแก่ภิกษุผู้ไม่อาพาธ.
ทรงรับอาคารพักแรม
[๖๗] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินมุ่งไปทางตำบลบ้านปาฏลิ พร้อมด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับถึงตำบลบ้านปาฏลิแล้ว อุบาสกอุบาสิกาชาวตำบล บ้านปาฏลิได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงตำบลบ้านปาฏลิแล้ว จึงพากันเข้าไปเฝ้า ณ พลับพลาที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวตำบลบ้านปาฏลิผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. ครั้นอุบาสก อุบาสิกาชาวตำบลบ้านปาฏลิอันพระผู้มีพระภาคชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ขอพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยพระสงฆ์ โปรดทรงรับอาคารพักแรมของพวกข้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ครั้นอุบาสกอุบาสิกาชาวตำบลบ้านปาฏลิทราบการทรงรับ ของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วพากัน เดินไปทางอาคารพักแรม ปูลาดดาดเพดานทั่วอาคารพักแรมทุกแห่ง จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมัน แล้วพากันเข้าไปพลับพลาที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกเขายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มี- *พระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าปูลาดดาดเพดานอาคารพักแรมทุกแห่ง จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมันไว้แล้ว พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบกาล อันควรในบัดนี้ พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรจีวรแล้ว เสด็จไปทางอาคาร พักแรมพร้อมกับพระสงฆ์ ทรงชำระพระบาทยุคลแล้วเสด็จเข้าสู่อาคารพักแรม ประทับนั่ง พิงเสากลางผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แม้พระสงฆ์เหล่านั้นก็ล้างเท้าแล้ว เข้าสู่อาคารพักแรม นั่งพิงฝาด้านตะวันตก ผินหน้าไปทางทิศตะวันออก ห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค แม้อุบาสกอุบาสิกา ชาวตำบลบ้านปาฏลิก็ล้างเท้าแล้วเข้าสู่อาคารพักแรม นั่งพิงฝาด้านตะวันออก ผินหน้าไปทาง ตะวันตกห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค. ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาโปรดอุบาสก อุบาสิกา ชาวตำบลบ้านปาฏลิ ดังต่อไปนี้:-
โทษแห่งศีลวิบัติ ๕ ประการ
[๖๘] ดูกรคหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีลมี ๕ ประการ เหล่านี้ ๕ ประการ เป็นไฉน ดูกรคหบดีทั้งหลาย คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ย่อมเข้าถึงความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ใหญ่หลวง เพราะเหตุแห่งความประมาท นี้เป็นโทษข้อที่ ๑ แห่งศีลวิบัติ ของคนทุศีล. ดูกรคหบดีทั้งหลาย อนึ่ง โทษข้ออื่นยังมีอีก ชื่อเสียงอันลามกของคนทุศีล ผู้มีศีล วิบัติย่อมเฟื่องฟุ้งไป นี้เป็นโทษข้อที่ ๒ แห่งศีลวิบัติ ของคนทุศีล. ดูกรคหบดีทั้งหลาย อนึ่ง โทษข้ออื่นยังมีอีก คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติ เข้าไปหาบริษัท ใดๆ เช่น ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัทย่อมเป็นผู้ครั่นคร้าม ขวยเขิน เข้าไปหาบริษัทนั้นๆ นี้เป็นโทษข้อที่ ๓ แห่งศีลวิบัติของคนทุศีล. ดูกรคหบดีทั้งหลาย อนึ่ง โทษข้ออื่นยังมีอีก คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติ ย่อมเป็นผู้หลง ทำกาละ นี้เป็นโทษข้อที่ ๔ แห่งศีลวิบัติของคนทุศีล. ดูกรคหบดี อนึ่ง โทษข้ออื่นยังมีอีก คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติ เบื้องหน้าแต่แตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นโทษข้อที่ ๕ แห่งศีลวิบัติ ของคน ทุศีล. ดูกรคหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล มี ๕ ประการนี้แล.
อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ ๕ ประการ
[๖๙] ดูกรคหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีลมี ๕ ประการ เหล่านี้ ๕ ประการเป็นไฉน? ดูกรคหบดีทั้งหลาย คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมได้กองโภคทรัพย์ ใหญ่หลวง เพราะเหตุแห่งความไม่ประมาท นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ แห่งศีลสมบัติ ของคนมีศีล. ดูกรคหบดีทั้งหลาย อนึ่ง อานิสงส์ข้ออื่นยังมีอีก ชื่อเสียงอันดีงามของคนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเฟื่องฟุ้งไป นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล. ดูกรคหบดีทั้งหลาย อนึ่ง อานิสงส์ข้ออื่นยังมีอีก คนมีศีลถึงพร้อมด้วยศีล เข้าไปหา บริษัทใดๆ เช่น ขัตติยบริษัท พรหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ขวยเขินเข้าไปหาบริษัทนั้นๆ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ แห่งศีลสมบัติ ของคนมีศีล. ดูกรคหบดีทั้งหลาย อนึ่ง อานิสงส์ข้ออื่นยังมีอีก คนมีศีลถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมไม่หลง ทำกาละ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ แห่งศีลสมบัติ ของคนมีศีล. ดูกรคหบดีทั้งหลาย อนึ่ง อานิสงส์ข้ออื่นยังมีอีก คนมีศีลถึงพร้อมด้วยศีล เบื้องหน้า แต่แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ แห่งศีลสมบัติ ของคน มีศีล. ดูกรคหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ ของคนมีศีล มี ๕ ประการ นี้แล. [๗๐] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง ให้อุบาสกอุบาสิกาของตำบลบ้านปาฏลิเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาจนดึกดื่นแล้วทรงส่งกลับด้วยรับสั่งว่า ดูกรคหบดี- *ทั้งหลาย ราตรีจวนสว่างแล้ว บัดนี้ พวกเธอจงรู้กาลที่จะกลับเถิด อุบาสกอุบาสิกาชาวตำบล บ้านปาฏลิ รับสนองพระพุทธดำรัสว่า ทราบเกล้าฯ เช่นนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วลุกจาก ที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วพากันกลับ ครั้นอุบาสกอุบาสิกาชาวตำบล บ้านปาฏลิกลับไปไม่ทันนาน พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าสุญญาคารแล้ว.
เรื่องสุนีธะวัสสการะมหาอำมาตย์
[๗๑] ก็โดยสมัยนั้นแล มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ๒ ท่านชื่อ สุนีธะ ๑ วัสสการ ๑ กำลังจัดการสร้างพระนคร ณ ตำบลบ้านปาฏลิ เพื่อป้องกันชาววัชชี พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทม ในเวลาปัจจุสมัยแห่งราตรี ได้ทรงเล็งทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงวิสัยของมนุษย์ ทอดพระเนตรเห็น เทวดาเป็นอันมากกำลังยึดถือที่ดินในตำบลบ้านปาฏลิ คือ ในประเทศที่ใด พวกเทวดามีศักดิ์ใหญ่ ยึดถือที่ดิน พวกเจ้าและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์สูงๆ ต่างก็น้อมจิตเพื่อสร้างนิเวศน์ลงในประเทศ ที่นั้น ในประเทศที่ใด พวกเทวดาที่มีศักดิ์ชั้นกลางยึดถือที่ดิน พวกเจ้าและราชมหาอำมาตย์ ที่มีศักดิ์ชั้นกลางๆ ต่างก็น้อมจิตเพื่อสร้างนิเวศน์ลงในประเทศที่นั้น ในประเทศที่ใด เทวดาที่มี ศักดิ์ชั้นต่ำยึดถือที่ดิน พวกเจ้าและราชมหาอำมาตย์ชั้นต่ำๆ ต่างก็น้อมจิตเพื่อสร้างนิเวศน์ลงใน ประเทศที่นั้น จึงพระผู้มีพระภาครับสั่งถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ คนพวกไหนกำลัง สร้างนครลงที่ตำบลบ้านปาฏลิ? อ. มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ชื่อ สุนีธะ ๑ วัสสการะ ๑ กำลังสร้างนครลงที่ตำบล บ้านปาฏลิ เพื่อป้องกันชาววัชชี พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรอานนท์ สุนีธะ กับ วัสสการะ ๒ มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐกำลังสร้างนคร ลงในตำบลบ้านปาฏลิ เพื่อป้องกันชาววัชชีเหมือนได้ปรึกษากับพวกเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์ ฉะนั้น อานนท์ เมื่อเวลาปัจจุสมัยแห่งราตรีนี้ เราลุกขึ้น ได้เล็งทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงวิสัยของมนุษย์ เห็นพวกเทวดาเป็นอันมากกำลังยึดถือที่ดินในตำบลบ้านปาฏลิ คือ ในประเทศที่ใด พวกเทวดา มีศักดิ์สูงๆ ยึดถือที่ดินพวกเจ้าและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์สูงๆ ต่างก็น้อมจิตเพื่อสร้างนิเวศน์ ลงในประเทศที่นั้น ในประเทศที่ใด เทวดามีศักดิ์ชั้นกลางๆ ยึดถือที่ดิน พวกเจ้าและราช- *มหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ชั้นกลางๆ ต่างก็น้อมจิตเพื่อสร้างนิเวศน์ลงในประเทศที่นั้น ในประเทศที่ใด เทวดาผู้มีศักดิ์ชั้นต่ำๆ ยึดถือที่ดิน พวกเจ้าและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ชั้นต่ำๆ ต่างก็น้อมจิต เพื่อสร้างนิเวศน์ลงในประเทศที่นั้น อานนท์ ตลอดสถานที่อันเป็นย่านชุมนุมแห่งอารยชน และ เป็นทางค้าขาย พระนครนี้ จักเป็นพระนครชั้นเอก เป็นทำเลค้าขาย ชื่อปาฏลิบุตร แลเมือง ปาฏลิบุตร จักบังเกิดอันตราย ๓ ประการ คือ บังเกิดแต่ไฟ ๑ บังเกิดแต่น้ำ ๑ บังเกิดแต่ภายใน คือ แตกสามัคคีกัน ๑. [๗๒] ครั้งนั้น ท่านสุนีธะมหาอำมาตย์และท่านวัสสการะมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ พา กันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้เป็นที่บันเทิงเป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูล อาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า ขอท่านพระโคดม พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับ ภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพื่อเจริญกุศลและปิติปราโมทย์ในวันนี้ด้วยเถิด พระ พุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้นสุนีธะมหาอำมาตย์และวัสสการะ มหาอำมาตย์ ทราบพระอาการที่ทรงรับอาราธนาแล้ว ลุกจากที่นั่งกลับไป ครั้นตกแต่งของเคี้ยว ของฉันอันประณีตแล้ว ให้เจ้าหน้าที่มากราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว ท่าน พระโคดม ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรจีวรเสด็จพระ พุทธดำเนินไปทางสถานที่อังคาส ของสองมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือ พระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ครั้นสองมหาอำมาตย์อังคาสภิกษุสงฆ์มี พระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาค เสวยเสร็จแล้วทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่สองมหาอำมาตย์นั้นด้วยพระคาถาเหล่านี้ ว่าดังนี้:-
คาถาอนุโมทนา
[๗๓] บัณฑิตชาติอยู่ในประเทศใด เลี้ยงดูท่านผู้มีศีล ผู้ สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ในประเทศ และได้อุทิศ ทักษิณาแก่เหล่าเทพดาผู้สถิตในสถานที่นั้น เทพดาเหล่านั้น อันบัณฑิตชาติบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบ อันบัณฑิตชาติ นับถือแล้วย่อมนับถือตอบ ซึ่งบัณฑิตชาตินั้น แต่นั้น ย่อม อนุเคราะห์บัณฑิตชาตินั้น ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิด แต่อก ฉะนั้น คนที่เทพดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมพบเห็น แต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ. [๗๔] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่สองมหาอำมาตย์ ด้วยพระคาถา เหล่านี้แล้ว ทรงลุกจากพระพุทธอาสน์เสด็จกลับ จึงสองมหาอำมาตย์ตามส่งเสด็จพระผู้มี พระภาค ไปทางเบื้องพระปฤษฎางค์ด้วยความประสงค์ว่า วันนี้ พระสมณโคดมจักเสด็จออกทาง ประตูด้านใด ประตูด้านนั้นจักมีนามว่า "ประตูพระโคดม" จักเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาโดยท่าใด ท่านั้นจักมีนามว่า "ท่าพระโคดม" ต่อมาประตูที่พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านไปนั้น ได้ปรากฏนามว่า "ประตูพระโคดม." ครั้งนั้น ผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางแม่น้ำคงคา ก็เวลานั้น แม่น้ำคงคา กำลังเปี่ยม น้ำเสมอตลิ่ง พอกาดื่มกินได้ คนทั้งหลายใคร่จะไปจากฝั่งนี้สู่ฝั่งโน้น ต่างก็หาเรือ ต่างก็หาแพ ต่างก็ผูกแพลูกบวบ พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นคนเหล่านั้นต่างก็พากันหา เรือ หาแพ ผูกแพลูกบวบ ประสงค์จะข้ามจากฝั่งโน้น จึงได้ทรงอันตรธาน ณ ฝั่งนี้แห่งแม่ น้ำคงคา ไปปรากฏ ณ ฝั่งโน้นพร้อมกับภิกษุสงฆ์ ดุจบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่ เหยียด ฉะนั้น. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความข้อนี้แล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้น ชนเหล่าใดจะข้ามแม่น้ำที่ห้วงลึก ชนเหล่านั้นต้องสร้าง สะพานแล้วสละสระน้อยเสีย จึงข้ามสถานอันลุ่มเต็มด้วย น้ำได้ ส่วนคนที่จะข้ามแม่น้ำน้อยนี้ ก็ผูกแพข้ามไปได้ แต่พวกคนมีปัญญา เว้นแพเสียก็ข้ามได้.
-----------------------------------------------------
ทรงแสดงจตุราริยสัจ
[๗๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินเข้าไปทางตำบลบ้านโกฏิ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ที่ตำบลบ้านโกฏินั้น ณ ที่นั้นแลพระผู้มีพระภาครับสั่งพระภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราและพวก เธอเร่ร่อนท่องเที่ยวไป ตลอดกาลนานอย่างนี้ เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ อะไรบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราและพวกเธอเร่ร่อนท่องเที่ยวไปตลอดกาลนานอย่างนี้ เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดทุกขอริยสัจ .... ทุกขสมุทยอริยสัจ .... ทุกขนิโรธอริยสัจ .... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธ อริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้น อันเราและพวกเธอได้ตรัสรู้แล้ว ได้แทงตลอด แล้ว ตัดตัณหาในภพได้ขาดแล้ว ตัณหาที่จะนำไปเกิดก็สิ้นแล้ว บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีกต่อไป.
นิคมคาถา
[๗๖] เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง จึงต้องท่องเที่ยว ไปในชาตินั้นๆ ตลอดเวลานาน อริยสัจเหล่านั้นนั่น เรา และพวกเธอได้เห็นแล้ว ตัณหาที่จะนำไปเกิดเราและพวก เธอได้ถอนขึ้นแล้ว รากแห่งทุกข์ เราและพวกเธอก็ได้ ตัดขาดแล้ว บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก.
-----------------------------------------------------
เรื่องเจ้าลิจฉวีชาวพระนครเวสาลี
[๗๗] นางอัมพปาลีหญิงงามเมืองได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาโดยลำดับถึง ตำบลบ้านโกฏิแล้ว จึงให้จัดยวดยานที่งามๆ แล้วขึ้นสู่ยวดยานที่งามๆ มียวดยานที่งามๆ ออก ไปจากพระนครเวสาลี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ไปด้วยยวดยานตลอดพื้นที่ที่ยวดยานจะไปได้ แล้วลงจากยวดยานเดินด้วยเท้าเข้าไปถึงพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วย ธรรมีกถา ครั้นนางอัมพปาลีคณิกา อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย พระสงฆ์ ทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของหม่อมฉันเพื่อเจริญบุญกุศลและปิติปราโมทย์ใน วันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้นนางทราบพระอาการที่ทรงรับอาราธนา แล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป. พวกเจ้าลิจฉวีชาวพระนครเวสาลี ได้ทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาโดยลำดับ ถึงตำบลบ้านโกฏิแล้ว จึงพากันจัดยวดยานที่งามๆ เสด็จขึ้นสู่ยวดยานที่งามๆ มียวดยานที่งามๆ ออกไปจากพระนครเวสาลี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เจ้าลิจฉวีบางพวกเขียว คือ มีพระฉวีเขียว ทรงวัตถาลังการเขียว บางพวกเหลือง คือ มีพระฉวีเหลือง ทรงวัตถาลังการเหลือง บางพวกแดง คือ มีพระฉวีแดง ทรงวัตถาลังการแดง บางพวกขาว คือ มีพระฉวีขาว ทรงวัตถาลังการขาว ขณะนั้น นางอัมพปาลีคณิกา ทำให้งอนรถกระทบงอนรถ แอกกระทบแอก ล้อกระทบ ล้อ เพลากระทบเพลา ของเจ้าลิจฉวีหนุ่มๆ จึงเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นได้ตรัสถามนางว่า แม่อัมพปาลี เหตุไฉนเธอจึงได้ทำให้งอนรถกระทบงอนรถ แอกกระทบแอก ล้อกระทบล้อ เพลากระทบเพลา ของเจ้าลิจฉวีหนุ่มๆ ของพวกเราเล่า? อัม. จริงอย่างนั้น พ่ะยะค่ะ เพราะหม่อมฉันได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้. ลิจ. แม่อัมพปาลี เธอจงให้ภัตตาหารมื้อนี้แก่พวกฉัน ด้วยราคาแสนกษาปณ์เถิด. อัม. แม้ว่าฝ่าพระบาท จึงพึงประทาน พระนครเวสาลีพร้อมทั้งชนบทแก่หม่อมฉัน หม่อมฉันก็ถวายภัตตาหารมื้อนั้นไม่ได้ พ่ะยะค่ะ. จึงเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นได้ทรงดีดพระองคุลีตรัสว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราแพ้แม่อัมพปาลี แล้ว ท่านทั้งหลาย พวกเราแพ้แม่อัมพปาลีแล้ว จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค. พระผู้มี พระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นกำลังเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วรับสั่งกะภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดไม่เคยเห็นเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์ก็จงแลดูพวกเจ้าลิจฉวี พิจารณาดู เทียบเคียงดู พวกเจ้าลิจฉวีกับพวกเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์เถิด จึงเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นได้ เสด็จไปด้วยยวดยาน ตลอดพื้นที่ที่ยวดยานจะไปได้ แล้วเสด็จลงจากยวดยานทรงดำเนินด้วย พระบาท เข้าไปถึงพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้าง หนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ทรงเห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วย ธรรมีกถา จึงเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรง พระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของพวกข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศล และปิติปราโมทย์ ใน วันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรลิจฉวีทั้งหลาย อาตมารับนิมนต์ฉันภัตตาหารของนาง อัมพปาลีคณิกา เพื่อเจริญบุญกุศล และปิติปราโมทย์ ในวันพรุ่งนี้แล้ว. เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นทรงดีดองคุลีแล้วตรัสในทันใดนั้นว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราแพ้นาง อัมพปาลีคณิกาแล้ว ท่านทั้งหลาย พวกเราแพ้นางอัมพปาลีคณิกาแล้ว และได้ทรงเพลิดเพลิน ยินดีตามภาษิตของพระผู้มีพระภาค เสด็จลุกจากที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงทำ ประทักษิณ แล้วเสด็จกลับ.
นางอัมพปาลี ถวายอัมพปาลีวัน
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลบ้านโกฏิตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระ พุทธดำเนินไปทางเมืองนาทิกา ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักตึก เขตเมืองนาทิกานั้น. ส่วนนางอัมพปาลีคณิกา สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีต ในสวนของตนโดย ผ่านราตรีนั้น แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จ พระพุทธดำเนินไปสู่สถานที่อังคาสของนางอัมพปาลีคณิกา ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธ- *อาสน์ที่เขาจัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงนางอัมพปาลีคณิกา อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ แล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นางได้ กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า หม่อมฉันขอถวายสวนอัมพปาลีวันนี้ แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุข พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงรับเป็นสังฆารามแล้ว ครั้นแล้วพระองค์ทรง ชี้แจงให้นางอัมพปาลีเห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา เสร็จลุกจากพระพุทธอาสน์ แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินไปทางป่ามหาวัน ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า มหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น.
เรื่องเจ้าลิจฉวีชาวพระนครเวสาลี จบ.
ลิจฉวีภาณวาร จบ.
-----------------------------------------------------
เรื่องสีหเสนาบดี
ดำริเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
[๗๘] ก็โดยสมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยอเนก ปริยาย และเวลานั้น สีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์ นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย จึงคิดว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ต้องสงสัยเลย คงเป็น ความจริง เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักเหล่านี้จึงได้นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณโดยอเนกปริยาย ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วจึงได้เข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงสำนัก ครั้นแล้วให้นิครนถ์นาฏบุตร นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งและได้แจ้งความ ประสงค์นี้ แก่นิครนถ์นาฏบุตรว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยากจะไปเฝ้าพระสมณโคดม.
อกิริยวาทกถา
นิครนถ์นาฏบุตรพูดค้านว่า ท่านสีหะ ก็ท่านเป็นคนกล่าวการทำ ไฉนจึงจักไปเฝ้า พระสมณโคดมผู้เป็นคนกล่าวการไม่ทำเล่า เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้กล่าวการไม่ทำ ทรงแสดง ธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น. ขณะนั้น ความตระเตรียมในอันจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคของสีหเสนาบดีได้เลิกล้มไป. แม้ครั้งที่สอง .... แม้ครั้งที่สาม เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักได้นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้อง พระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยอเนกปริยาย ท่านสีหเสนาบดีก็ได้คิดเป็นครั้งที่สามว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จักเป็นพระอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ต้องสงสัยเลย คงเป็นความจริง เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคน รู้จักเหล่านี้ จึงได้มานั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยอเนกปริยาย ก็พวกนิครนถ์ เราจะบอกหรือไม่บอกจักทำอะไร แก่เรา ผิฉะนั้น เราจะไม่บอกพวกนิครนถ์ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นเลยทีเดียว จึงเวลาบ่าย สีหเสนาบดีออกจากพระนครเวสาลีพร้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคไปด้วยยวดยานตลอดพื้นที่ที่ยวดยานจะผ่านไปได้ แล้วลงจากยวดยานเดิน เข้าไปถึงพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สีหเสนาบดี นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทราบมาว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ ทรงแสดง ธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น บุคคลจำพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระ สมณโคดมกล่าวการไม่ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้นั้น ได้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำอันไม่เป็นจริง กล่าวอ้างเหตุสมควรแก่เหตุ และถ้อยคำที่สมควรพูดบางอย่างที่มีเหตุผล จะไม่มาถึงฐานะที่ วิญญูชนจะพึงติเตียนบ้างหรือ เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พระพุทธดำรัสตอบ
[๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณ- *โคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่า กล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดม กล่าวการทำแสดงธรรมเพื่อ การทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ แสดง ธรรมเพื่อความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อ ความรังเกียจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความ กำจัด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อ ความเผาผลาญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อ ความไม่ผุดเกิด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรม เพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ ก็เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการ ไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะ เรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และ แนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการทำแสดงธรรมเพื่อ การทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะ เพราะเรากล่าวการทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เรากล่าวการทำสิ่งที่เป็นอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการทำ แสดงธรรมเพื่อการทำ และแนะนำ สาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ แสดงธรรม เพื่อความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่งราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญแห่งสถานะที่เป็น บาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญแสดง ธรรมเพื่อความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อ ความรังเกียจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่งสถานะที่เป็นบาป อกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรม เพื่อความรังเกียจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความ กำจัด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะ เราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกำจัดสถานะที่เป็นบาปอกุศล หลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่าพระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความกำจัด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรม เพื่อความเผาผลาญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะเพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นธรรม ควรเผาผลาญ ธรรมที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าว ผู้นั้นว่า เป็นคนช่างเผาผลาญ ดูกรสีหะ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็น ธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อความ เผาผลาญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อ ความไม่ผุดเกิด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็น เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ผุดเกิด ดูกรสีหะ การนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไป เป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อความ ไม่ผุดเกิด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ชื่อว่ากล่าวถูก. ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรม เพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร ดูกรสีหะ เพราะเราเบาใจ ด้วยธรรมที่ให้เกิดความโล่งใจอย่างสูงและแสดงธรรมเพื่อความเบาใจ และ แนะนำสาวกตามแนวนั้น นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรม เพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก.
แสดงตนเป็นอุบาสก
[๘๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านสีหเสนาบดี ได้กราบทูลคำนี้แด่ พระผู้มีพระภาคว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของ ที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรด ทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป. ภ. ดูกรสีหะ เธอจงทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญเสียก่อน แล้วทำ เป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ. สี. พระพุทธเจ้าข้า โดยพระพุทธดำรัสแม้นี้ ข้าพระพุทธเจ้ายินดี พอใจยิ่งกว่าคาด หมายไว้ เพราะพระองค์ตรัสอย่างนี้กะข้าพระพุทธเจ้าว่า ดูกรสีหะ เธอจงทำการที่ใคร่ครวญ เสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำเป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ ความจริง พวกอัญญเดียรถีย์ได้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก พึงยกธงเที่ยวประกาศทั่วพระนครเวสาลี ว่า สีหเสนาบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพวกเราแล้ว แต่ส่วนพระองค์สิ มาตรัสอย่างนี้ กะข้าพระพุทธเจ้าว่า ดูกรสีหะ เธอจงทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญ เสียก่อนแล้วทำ เป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่สอง ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป พระพุทธเจ้า. ภ. นานนักแล สีหะ ตระกูลของเธอได้เป็นสถานที่รับรองพวกนิครนถ์มา ด้วยเหตุนั้น เธอพึงสำคัญเห็นบิณฑบาตว่าเป็นของควรให้นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึงแล้ว. สี. โดยพระพุทธดำรัสแม้นี้ ข้าพระพุทธเจ้ายินดีพอใจยิ่งกว่าคาดหมายไว้ เพราะ พระองค์ตรัสอย่างนี้กะข้าพระพุทธเจ้าว่า นานนักแล สีหะ ตระกูลของเธอได้เป็นสถานที่รับรอง พวกนิครนถ์มา ด้วยเหตุนั้น เธอพึงสำคัญบิณฑบาตว่าเป็นของควรให้นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึง แล้ว ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบว่า พระสมณะโคดมรับสั่งอย่างนี้ว่า ควรให้ทานแก่เราผู้เดียว ไม่ควรให้ทานแก่คนพวกอื่น ควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของ ศาสดาอื่น เพราะทานที่ให้แก่เราเท่านั้น มีผลมาก ทานที่ให้แก่คนพวกอื่นไม่มีผลมาก ทาน ที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้น มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของศาสดาอื่นไม่มีผลมาก แต่ส่วน พระองค์ทรงชักชวนข้าพระพุทธเจ้า ในการให้แม้ในพวกนิครนถ์ แต่ข้าพระพุทธเจ้าจักรู้กาลใน ข้อนี้เอง ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แม้ ครั้งที่สาม ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิม แต่วันนี้เป็นต้นไป พระพุทธเจ้าข้า.
สีหเสนาบดีได้ธรรมจักษุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่สีหเสนาบดี คือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และ อานิสงส์ในความออกจากกาม เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า สีหเสนาบดีมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงได้ทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่สีหเสนาบดี ณ สถานที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น. ครั้นสีหเสนาบดีเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว หยั่งลงสู่ธรรม แล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ ต้องเชื่อผู้อื่น ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ขอพระผู้มีพระภาค พร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศล และปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดย ดุษณีภาพ ครั้นสีหเสนาบดีทราบอาการที่ทรงรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้วได้ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป ต่อมาสีหเสนาบดีใช้มหาดเล็กผู้หนึ่งว่า พนาย เจ้าจงไปหาซื้อเนื้อสดที่เขาขาย แล้วสั่งให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหาร อันประณีตโดย ผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้มหาดเล็กไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้วพระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว. ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธดำเนิน ไปทางนิเวศน์ของสีหเสนาบดี ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย พร้อมกับ ภิกษุสงฆ์. ก็โดยสมัยนั้นแล พวกนิครนถ์เป็นอันมาก พากันประคองแขน คร่ำครวญไปตามถนน หนทางสี่แยก สามแยกทั่วทุกสายในพระนครเวสาลีว่า วันนี้ สีหเสนาบดีล้มสัตว์ของเลี้ยงตัว อ้วนๆ ทำอาหารถวายพระสมณะโคดม พระสมณะโคดมทรงทราบอยู่ยังเสวยเนื้อนั้นซึ่งเขาทำ เฉพาะเจาะจงตน ขณะนั้น มหาดเล็กผู้หนึ่งเข้าไปเฝ้าสีหเสนาบดีทูลกระซิบว่า ขอเดชะ ฝ่าพระบาทพึงทราบว่านิครนถ์มากมายเหล่านั้น พากันประคองแขนคร่ำครวญไปตามถนนหนทาง สี่แยกสามแยกทั่วทุกสายในพระนครเวสาลีว่า วันนี้สีหเสนาบดี ล้มสัตว์ของเลี้ยงตัวอ้วนๆ ทำอาหารถวายพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบอยู่ ยังเสวยเนื้อนั้น ซึ่งเขาทำเฉพาะ เจาะจงตน. สีหเสนาบดีตอบว่า ช่างเถิดเจ้า ท่านเหล่านั้นมุ่งติเตียนพระพุทธเจ้ามุ่งติเตียนพระธรรม มุ่งติเตียนพระสงฆ์มานานแล้ว แต่ก็กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นด้วยถ้อยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่จริง ยังไม่หนำใจ ส่วนพวกเราไม่ตั้งใจปลงสัตว์จากชีวิต แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตเลย. ครั้งนั้น สีหเสนาบดีอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหาร อันประณีตด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ห้ามภัตรแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้สีหเสนาบดีผู้นั่ง เฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุก จากที่ประทับเสด็จกลับไป.
เรื่องสีหเสนาบดี จบ.
-----------------------------------------------------
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อที่ทำเฉพาะ
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิด นั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้อยู่ไม่พึงฉันเนื้อที่เขาทำจำเพาะ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ปลา เนื้อ ที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ.
พระพุทธบัญญัติห้ามภัตตาหารบางชนิด
[๘๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พระนครเวสาลีมีภิกษาหารมาก มีข้าวกล้างอกงาม บิณฑบาต ก็ง่าย ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหาก็ทำได้ง่าย ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงปริวิตกนี้ว่า ภัตตาหารที่เราอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคราว อัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าน้อย บิณฑบาตได้ฝืดเคือง คืออาหารที่เก็บไว้ภายในที่อยู่ ๑ อาหารที่ หุงต้มภายในที่อยู่ ๑ อาหารที่หุงต้มเอง ๑ อาหารที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่ ๑ อาหารที่ทายก นำมาจากที่นิมนต์นั้น ๑ อาหารที่รับประเคนฉันในปุเรภัต ๑ อาหารที่เกิดในป่าและเกิดในสระบัว ๑ ภัตตาหารเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลายยังฉันอยู่ทุกวันนี้หรือหนอ. ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ประทับพักเร้น แล้วรับสั่งถามท่าน พระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ภัตตาหารที่เราอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคราวอัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าน้อย บิณฑบาตได้ฝืดเคือง คืออาหารที่เก็บไว้ภายในที่อยู่ ๑ อาหารที่หุงต้มภายในที่อยู่ ๑ อาหารที่หุงต้มเอง ๑ อาหารที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่ ๑ อาหารที่ทายกนำมาจากที่นิมนต์นั้น ๑ อาหารที่รับประเคนฉันในปุเรภัต ๑ อาหารที่เกิดในป่าและเกิดในสระบัว ๑ ภัตตาหารเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลายยังฉันอยู่ทุกวันนี้หรือ? ท่านพระอานนท์ทูลว่า ยังฉันอยู่ พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น ผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิด นั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัตตาหารที่เราอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคราวอัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าน้อย บิณฑบาตได้ฝืดเคือง คืออาหารที่เก็บไว้ภายในที่อยู่ ๑ อาหารที่หุงต้มภายในที่อยู่ ๑ อาหารที่หุงต้มเอง ๑ อาหารที่จับต้องแล้วประเคนใหม่ ๑ อาหาร ที่ทายกนำมาจากที่นิมนต์นั้น ๑ อาหารที่รับประเคนฉันในปุเรภัต ๑ อาหารที่เกิดในป่าและเกิด ในสระบัว ๑ ภัตตาหารเหล่านั้น เราห้ามจำเดิมนี้เป็นต้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันอาหารที่เก็บไว้ภายในที่อยู่ อาหารที่หุงต้มภายในที่อยู่ อาหารที่หุงต้มเอง อาหารที่จับต้องแล้วประเคนใหม่ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอาหารที่ทายกนำมาจากที่นิมนต์นั้น อาหารที่รับประเคนฉันใน ปุเรภัต อาหารที่เกิดในป่าและเกิดในสระบัว ยังไม่เป็นเดน ภิกษุฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ไม่พึงฉัน รูปใดฉัน พึงปรับอาบัติตามธรรม.
พระพุทธานุญาตกัปปิยภูมิ
[๘๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ประชาชนชาวชนบทบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง ไว้ในเกวียนเป็นอันมาก แล้วตั้งวงล้อมเกวียนอยู่นอกซุ้มประตูพระอารามคอยท่า ว่าเมื่อใด เราทั้งหลายได้ลำดับที่จะถวาย เมื่อนั้นเราจักทำภัตตาหารถวาย ฝนตั้งเค้ามาจะตกใหญ่ จึงคนเหล่านั้นพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์กราบเรียนว่า ท่านพระอานนท์เจ้าข้า เกลือ น้ำมัน ข้าวสาร และของขบฉันเป็นอันมาก พวกข้าพเจ้าบรรทุกไว้ในเกวียนตั้งอยู่หน้าวัดนี้ และฝน ตั้งเค้ามาจะตกใหญ่ ท่านพระอานนท์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าพึงปฏิบัติอย่างไร? จึงท่านพระอานนท์ กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จง สมมติวิหารที่ตั้งอยู่สุดเขตวัด ให้เป็นสถานที่เก็บของกัปปิยะ แล้วให้เก็บไว้ในสถานที่ที่สงฆ์ จำนงหมาย คือวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น หรือถ้ำก็ได้.
วิธีสมมติกัปปิยภูมิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมมติกัปปิยภูมิ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึง สมมติวิหารมีชื่อนี้ ให้เป็นกัปปิยภูมิ นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นกัปปิยภูมิ การสมมติ วิหารมีชื่อนี้ให้เป็นกัปปิยภูมิ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด วิหารมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นกัปปิยภูมิแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้า ทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้. สมัยต่อมา ชาวบ้านต้มข้าวต้ม หุงข้าวสวย ต้มแกง สับเนื้อ ผ่าฟืน ส่งเสียงเซ็งแซ่ เกรียวกราว ณ สถานที่กัปปิยภูมิ ที่สงฆ์สมมติไว้นั้นแล. พระผู้มีพระภาค ทรงตื่นบรรทมในเวลาปัจจุสมัยแห่งราตรี ได้ทรงสดับเสียงเซ็งแซ่ เกรียวกราว และเสียงการ้องก้อง ครั้นแล้วรับสั่งถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เสียงเซ็งแซ่ เกรียวกราว และเสียงการ้องก้องนั้น อะไรกันหนอ? ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ชาวบ้านมาต้มข้าวต้ม หุงข้าวสวย ต้มแกง สับเนื้อ ผ่าฟืน ณ สถานที่กัปปิยภูมิซึ่งสมมติไว้นั้นแล เสียงเซ็งแซ่เกรียวกราว และเสียงการ้องก้องนั่นคือเสียงนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
พระพุทธานุญาตกัปปิยภูมิ ๓ ชนิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้สถานที่กัปปิยภูมิ ซึ่งสงฆ์สมมติ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสถานที่กัปปิยภูมิ ๓ ชนิด คือ อุสสาวนันติกา ๑ โคนิสาทิกา ๑ คหปติกา ๑
พระพุทธานุญาตกัปปิยภูมิ ๔ ชนิด
สมัยต่อมา ท่านพระยโสชะอาพาธ ชาวบ้านนำเภสัชมาถวายท่าน ภิกษุทั้งหลายให้เก็บ เภสัชเหล่านั้นไว้ข้างนอก สัตว์กินเสียบ้าง ขโมยลักไปเสียบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ใช้สถานที่กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสถานที่กัปปิยภูมิ ๔ ชนิด คือ อุสสาวนันติกา ๑ โคนิสา ทิกา คหปติกา ๑ สมมติกา ๑.
เรื่องเมณฑกะคหบดี
[๘๓] ก็โดยสมัยนั้นแล เมณฑกะคหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระนครภัททิยะ ท่านมี อิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ ท่านสระเกล้า แล้วให้กวาดฉางข้าวนั่งอยู่นอกประตู ท่อธารข้าว เปลือกตกจากอากาศเต็มฉาง ภริยามีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ นางนั่งใกล้กระถางข้าวสุกขนาด จุน้ำหนึ่งอาฬหกใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกงหม้อหนึ่ง เลี้ยงอาหารแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร อาหารนั้นไม่หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ บุตรมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เขาถือถุงจุเงินพันหนึ่ง ถุงเดียวเท่านั้น แล้วแจกเบี้ยหวัดกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร เงินนั้นไม่หมดสิ้น ตลอดเวลาที่ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา สะใภ้มีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ นางนั่งใกล้กระเฌอจุข้าว ๔ ทะนานใบเดียวเท่านั้น แล้วแจกข้าวกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและ กรรมกร ข้าวนั้นมิได้หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ ทาสมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือเมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย. พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชได้ทรงสดับข่าวว่า เมณฑกะคหบดีตั้งบ้านเรือน อยู่ในพระนครภัททิยะแคว้นของพระองค์ เธอมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เธอสระเกล้าแล้ว ให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู ท่อธารข้าวเปลือกตกจากอากาศเต็มฉาง ภริยามีอิทธานุภาพ เห็นปานฉะนี้ คือ นางนั่งใกล้กระถางข้าวสุกขนาดจุน้ำหนึ่งอาฬหกใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกง หม้อหนึ่ง เลี้ยงอาหารแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร อาหารนั้นไม่หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยัง ไม่ลุกไปจากที่ บุตรมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เขาถือถุงจุเงินพันหนึ่งถุงเดียวเท่านั้น แล้วแจกเบี้ยหวัดกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร เงินนั้นไม่หมดสิ้น ตลอดเวลาที่ถุงเงิน ยังอยู่ในมือของเขา สะใภ้มีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ นางนั่งใกล้กระเฌอจุข้าว ๔ ทะนาน ใบเดียวเท่านั้น แล้วแจกข้าวกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร ข้าวนั้นมิได้หมดสิ้นตลอด เวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ ทาสมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย. ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ได้ตรัสเรียกมหาอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ มารับสั่งว่า ข่าวว่าเมณฑกะคหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระนครภัททิยะแคว้นของเรา เธอมี อิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เธอสระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าวนั่งอยู่นอกประตู ท่อธารข้าวเปลือก ตกจากอากาศเต็มฉาง ภริยามีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ นางนั่งใกล้กระถางข้าวสุกขนาดจุน้ำ หนึ่งอาฬหกใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกงใบหนึ่ง เลี้ยงอาหารแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร อาหารนั้นไม่หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ บุตรมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เขา ถือถุงจุเงินพันหนึ่งถุงเดียวเท่านั้น แล้วแจกเบี้ยหวัดกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร เงิน นั้นไม่หมดสิ้นตลอดเวลาที่ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา สะใภ้มีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ นางนั่งใกล้กระเฌอจุข้าว ๔ ทะนานใบเดียวเท่านั้น แล้วแจกข้าวกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและ กรรมกร ข้าวนั้นมิได้หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ ทาสมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย พนาย เธอจงไปดูให้รู้เห็นเหมือนอย่างเรา ได้เห็นด้วยตนเอง. ท่านมหาอำมาตย์รับพระบรมราชโองการของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชว่า เป็น ดังพระราชประสงค์ พระพุทธเจ้าข้า แล้วพร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่า เดินทางไปยังภัททิยะนคร บทจรไปโดยลำดับจนถึงเมืองภัททิยะ เข้าไปหาเมณฑกะคหบดี ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะเมณฑกะ- *คหบดีว่า ท่านคหบดี ความจริงข้าพเจ้ามาโดยมีพระบรมราชโองการว่า พนาย ข่าวว่าเมณฑกะ- *คหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระนครภัททิยะแคว้นของเรา ครอบครัวของเธอมีอิทธานุภาพเห็น ปานฉะนี้ คือ เธอสระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู ท่อธารข้าวเปลือกตกจากอากาศ เต็มฉาง ภริยามีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ นางนั่งใกล้กระถางข้าวสุกขนาดจุน้ำหนึ่งอาฬ หกใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกงหม้อหนึ่ง เลี้ยงอาหารแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร อาหารนั้น ไม่หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ บุตรมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เขาถือถุงจุเงิน พันหนึ่งถุงเดียวเท่านั้น แล้วแจกเบี้ยหวัดกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร เงินนั้นไม่ หมดสิ้นตลอดเวลาที่ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา สะใภ้มีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือนางนั่งใกล้ กระเฌอจุข้าว ๔ ทะนานใบเดียวเท่านั้น แล้วแจกข้าวกลางปีแก่บุรุษที่เป็นทาสและกรรมกร ข้าวนั้นมิได้หมดสิ้นตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ ทาสมีอิทธานุภาพเห็นปานฉะนี้ คือ เมื่อ เขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย พนาย เธอจงไปดูให้รู้เห็นเหมือนอย่างเรา ได้เห็น ด้วยตนเอง ท่านคหบดี ข้าพเจ้าขอชมอิทธานุภาพของท่าน. จึงเมณฑกะคหบดีสระเกล้าแล้ว ให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู ท่อธารข้าวเปลือก ตกลงมาจากอากาศเต็มฉาง มหาอำมาตย์สรรเสริญว่า ท่านคหบดี อิทธานุภาพของท่าน ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ขอชม อิทธานุภาพของภรรยาท่าน เมณฑกะคหบดีสั่งภรรยาในทันใดว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงเลี้ยงอาหารแก่เสนา ๔ เหล่า ขณะนั้น ภรรยาท่านเมณฑกะคหบดีได้นั่งใกล้กระถางข้าวสุกขนาดจุน้ำหนึ่งอาฬหกใบ เดียวเท่านั้น กับหม้อแกงหม้อหนึ่ง แล้วเลี้ยงอาหารแก่เสนา ๔ เหล่า อาหารนั้นมิได้หมดสิ้นไป ตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไปจากที่ มหาอำมาตย์สรรเสริญว่า ท่านคหบดี อิทธานุภาพของภรรยาท่าน ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ขอชมอิทธานุภาพของบุตรท่าน จึงเมณฑกะคหบดีสั่งบุตรว่า ถ้าเช่นนั้น พ่อจงแจกเบี้ยหวัดกลางปีแก่เสนา ๔ เหล่า ขณะนั้น บุตรของท่านเมณฑกะคหบดีถือถุงจุเงินพันหนึ่ง ถุงเดียวเท่านั้น แล้วได้แจก เบี้ยหวัดกลางปีแก่เสนา ๔ เหล่า เงินนั้นมิได้หมดสิ้นไป ตลอดเวลาที่ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา ท่านมหาอำมาตย์สรรเสริญว่า ท่านคหบดี อิทธานุภาพของบุตรท่าน ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ขอชมอิทธานุภาพของสะใภ้ท่าน เมณฑกะคหบดีสั่งสะใภ้ทันทีว่า ถ้าเช่นนั้น แม่จงแจกข้าวกลางปีแก่เสนา ๔ เหล่า ขณะนั้น สะใภ้ของเมณฑกะคหบดีได้นั่งใกล้กระเฌอจุข้าว ๔ ทะนานใบเดียวเท่านั้น แล้วได้แจกข้าวกลางปีแก่เสนา ๔ เหล่า ข้าวนั้นมิได้หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกไป จากที่ มหาอำมาตย์สรรเสริญว่า ท่านคหบดี อิทธานุภาพของสะใภ้ท่าน ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ขอชมอิทธานุภาพของทาสท่าน เมณ. อิทธานุภาพของทาสข้าเจ้า ท่านต้องชมที่นา ขอรับ. ม. ไม่ต้องละท่านคหบดี แม้อิทธานุภาพของทาสท่าน ก็เป็นอันข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ครั้นเสร็จราชการนั้นแล้ว ท่านมหาอำมาตย์นั้นพร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่า ก็เดินทางกลับพระนคร ราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ. [๘๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครเวสาลีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้ว เสด็จจาริกทางพระนครภัททิยะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จจาริก โดยลำดับ ได้เสด็จถึงพระนครภัททิยะแล้วทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ชาติยาวัน เขต พระนครภัททิยะนั้น.
พระพุทธคุณ
เมณฑกะคหบดีได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณะโคดมศากยบุตร ทรง ผนวชจากศากยตระกูล เสด็จโดยลำดับถึงพระนครภัททิยะ ประทับอยู่ ณ ชาติยาวัน เขตพระนคร ภัททิยะ ก็พระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะ เหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงบรรลุวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้วทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดา ของทวยเทพและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอน หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ ทวยเทพและมนุษย์ให้รู้ ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น เป็นความดี หลังจากนั้น เมณฑกะคหบดีให้จัดแจงยวดยานที่งามๆ แล้วขึ้นสู่ยวดยานที่งามๆ มี ยวดยานที่งามๆ หลายคันแล่นออกจากพระนครภัททิยะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค. พวกเดียรถีย์เป็นอันมาก ได้เห็นเมณฑกะคหบดีกำลังมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้ ทักถามเมณฑกะคหบดีว่า ท่านคหบดี ท่านจะไปที่ไหน? เมณ. ข้าพเจ้าจะไปเฝ้าพระสมณะโคดม เจ้าข้า. ด. คหบดี ก็ท่านเป็นกิริยวาท จะไปเฝ้าสมณะโคดมผู้เป็นอกิริยวาททำไม เพราะ พระสมณะโคดมเป็นอกิริยวาท แสดงธรรมเพื่อความไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ลำดับนั้น เมณฑกะคหบดีคิดว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จักเป็นพระอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้น เดียรถีย์พวกนี้จึงพากันริษยา แล้วไปด้วย ยวดยานตลอดภูมิภาคที่ยวดยานจะไปได้ ลงจากยวดยานแล้ว เดินเข้าไปในพุทธสำนัก ถวาย บังคมพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ทรงแสดงธรรมโปรด
พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพพิกถาแก่เมณฑกะคหบดี ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง คือ ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง ของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม ขณะเมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ท่าน เมณฑกะคหบดีมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่ท่านเมณฑกะ- *คหบดี ณ สถานที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับ เป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมด้วยดีฉะนั้น.
แสดงตนเป็นอุบาสก
ครั้นเมณฑกะคหบดีเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว หยั่งลงสู่ธรรม แล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัยถึงความเป็นผู้องอาจ ไม่ต้อง เชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก พระพุทธเจ้าข้า ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรง ประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทาง แก่คนหลงทางหรือส่งประทีปในที่มืด ด้วยประสงค์ว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้า นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธ- *เจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระองค์พร้อมกับ ภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติ ปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยดุษณีภาพ ครั้นเมณฑกะคหบดีทราบการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมทำ ประทักษิณกลับไป แล้วสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตโดยผ่านราตรีนั้น แล้วให้ เจ้าหน้าที่ไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร เสร็จแล้ว. ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธดำเนิน เข้าไปทางนิเวศน์ของเมณฑกะคหบดี ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่จัดไว้ พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ ขณะนั้น ภรรยา บุตร สะใภ้ และทาส ของเมณฑกะคหบดีได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่เขาทั้งหลาย คือ ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ชนเหล่านั้นมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้า ทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่เขาทั้งหลาย ณ สถานที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมด้วยดี ฉะนั้น. ครั้นชนเหล่านั้นเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้วหยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัยแล้ว ถึงความเป็นผู้องอาจ ไม่ต้องเชื่อ ผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง นัก พระพุทธเจ้าข้า ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยประสงค์ว่า คนมีจักษุจะเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเหล่านี้ ขอถึง พระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้า ทั้งหลายว่า เป็นอุบาสกอุบาสิกาผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป. ครั้นเมณฑกะคหบดีอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหาร อันประณีต ด้วยมือของตนจนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จ ทรงนำพระหัตถ์จากบาตรให้ห้าม ภัตรแล้วจึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลปวารณาแด่พระผู้มีพระภาคว่า ตราบใดที่ พระองค์ยังประทับอยู่ ณ พระนครภัททิยะ ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายภัตตาหารเป็นประจำแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกะคหบดีเห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับไป.
เมณฑกคหบดีอังคาสพระสงฆ์
[๘๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครภัททิยะตามพระพุทธาภิรมย์ แล้ว ไม่ได้ทรงลาเมณฑกะคหบดี เสด็จพระพุทธดำเนินไปทางชนบทอังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เมณฑกะคหบดีได้ทราบข่าวแน่ชัดว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จพระ พุทธดำเนินไปทางชนบทอังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป จึงสั่ง ทาสและกรรมกรว่า พนายทั้งหลาย ถ้ากระนั้น พวกเจ้าจงบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสาร บ้าง ของขบฉันบ้าง ลงในเกวียนให้มากๆ และคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คน จงพาแม่โคนม ๑,๒๕๐ ตัว มาด้วย เราจักเลี้ยงพระสงฆ์ด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ที่มีน้ำยังอุ่นๆ ณ สถานที่ๆ เราได้พบ พระผู้มีพระภาค ครั้นเมณฑกะคหบดีตามไปพบพระผู้มีพระภาค ณ ระหว่างทางกันดาร จึงเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถวายบังคมยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลอาราธนาว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดย ดุษณีภาพ ครั้นเมณฑกะคหบดี ทราบการทรงรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมทำประทักษิณกลับไป แล้วสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีต โดยผ่านราตรีนั้น แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร เสร็จแล้ว. ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธ- *ดำเนินเข้าสถานที่อังคาสของเมณฑกะคหบดี ครั้นแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเมณฑกะคหบดีสั่งคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คนว่า พนายทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น จงช่วยกันจับแม่โคนมคนละตัว แล้วยืนใกล้ๆ ภิกษุรูปละคนๆ เราจักเลี้ยงพระด้วยน้ำนมสด อันรีดใหม่ที่มีน้ำยังอุ่นๆ ครั้นแล้วได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนีย- *โภชนียาหารอันประณีต และด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ด้วยมือของตน จนให้ห้ามภัตรแล้ว ภิกษุ ทั้งหลายรังเกียจ ไม่ยอมรับประเคนน้ำนมสด พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จงรับประเคนฉันเถิด. เมื่อเมณฑกะคหบดีอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหาร อันประณีต และด้วยน้ำนมสดรีดใหม่ด้วยมือของตนจนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จ ทรงนำ พระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมณฑกะคหบดีนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า มีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า หนทาง กันดารอัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ทำไม่ได้ง่าย ขอประทานพระ วโรกาส ขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า.
เมณฑกานุญาต
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกะคหบดีเห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับไป หลังจากนั้นพระองค์ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโครส ๕ คือ นมสด นมส้ม เปรียง เนยข้น เนยใส. มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดารอัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ทำไม่ได้ง่าย เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้ คือ ภิกษุต้องการข้าวสาร พึงแสวงหาข้าวสาร ต้องการถั่วเขียว พึงแสวงหาถั่วเขียว ต้องการถั่วราชมาส พึงแสวงหาถั่วราชมาส ต้องการเกลือ พึงแสวงหาเกลือ ต้องการน้ำอ้อย พึงแสวงหาน้ำอ้อย ต้องการน้ำมัน พึงแสวงหาน้ำมัน ต้องการเนยใส ก็พึงแสวงหาเนยใส. มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส เขามอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการก สั่งว่า สิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะจากกัปปิยภัณฑ์นั้นได้ แต่เรา มิได้กล่าวว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย.
เรื่องเกณิยชฎิล
[๘๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ เสด็จถึง อาปณนิคมแล้ว เกณิยชฎิลได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูล เสด็จโดยลำดับถึงอาปณนิคมแล้ว ก็เพราะกิตติศัพท์อันงามของท่าน พระโคดมพระองค์นั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรง เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของทวยเทพและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบาน แล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสั่งสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ ทวยเทพและมนุษย์ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรง ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ ทั้งหลายเห็นปานนั้นเป็นความดี. หลังจากนั้น เกณิยชฎิลได้ดำริว่า เราจะให้นำอะไรไปถวายพระสมณโคดมดีหนอ จึง ได้ดำริต่อไปว่า บรรดาฤษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤษีอัฏฐกะ ฤษีวามกะ ฤษีวามเทวะ ฤษีเวสสามิตตะ ฤษียมตัคคิ ฤษีอังคีรสะ ฤษีภารทวาชะ ฤษีวาเสฏฐะ ฤษีกัสสปะ ฤษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์มาก่อนพวกพราหมณ์ในบัดนี้ ขับตามกล่าวตามซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ ที่ท่านขับแล้วบอกว่า รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่กล่าวไว้บอกไว้ เป็นผู้เว้นฉันในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ฤษีเหล่านั้นได้ยินดีน้ำปานะเห็นปานนี้ แม้พระสมณะ โคดมก็เว้นฉันในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ก็ควรจะยินดีน้ำปานะเห็นปานนี้บ้าง แล้วสั่งให้ ตกแต่งน้ำปานะเป็นอันมาก ให้คนหาบไปถึงพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยพอให้เป็น ที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลอาราธนา พระผู้มีพระภาคว่า ขอท่านพระโคดมโปรดทรงรับน้ำปานะของข้าพระเจ้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เกณิยะ ถ้าเช่นนั้นจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่ยอมรับประเคน พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จงรับประเคนฉันเถิด ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยน้ำปานะอันมากด้วยมือของตนจนยัง พระผู้มีพระภาคผู้ล้างพระหัตถ์ นำพระหัตถ์จากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา. ครั้งนั้น เกณิยชฎิลอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติปราโมทย์ในวัน พรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนว่า เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใส ยิ่งนักในหมู่พราหมณ์. เกณิยชฎิล ได้ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเป็นคำรบที่สองว่า แม้ภิกษุสงฆ์จะมีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระพุทธเจ้าได้เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ขอท่าน พระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญ กุศลและปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนเกณิยะว่า ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใส ยิ่งนักในหมู่พราหมณ์. เกณิยชฎิล ก็ได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเป็นคำรบสามว่า แม้ภิกษุสงฆ์จะมีมาก ถึง ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระพุทธเจ้าได้เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ขอท่าน พระโคดมพร้อมภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญ กุศลและปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้นเกณิยชฎิลทราบอาการ รับอาราธนา ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งกลับไป.
พระพุทธานุญาตน้ำอัฏฐบาน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำปานะ ๘ ชนิด คือ น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลหว้า ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะทราง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือ องุ่น ๑ น้ำปานะทำด้วยเหง้าบัว ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะทราง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด. ครั้งนั้น เกณิยชฎิลสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีต ณ อาศรมของตนโดยผ่าน ราตรีนั้น แล้วให้คนกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว ท่านพระโคดม ภัตตาหาร เสร็จแล้ว ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก แล้วถือบาตรจีวรเสด็จ พระพุทธดำเนินไปทางอาศรมของเกณิยชฎิล ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขา จัดถวาย พร้อมกับภิกษุสงฆ์ จึงเกณิยชฎิลอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยของ เคี้ยว ของฉันอันประณีต ด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ นำพระหัตถ์จากบาตร ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาค ได้ทรงอนุโมทนาเกณิยชฎิลด้วยคาถาเหล่านี้ ว่าดังนี้:- [๘๗] ยัญทั้งหลายมีการบูชาไฟเป็นหัวหน้า สาวิตติฉันท์ เป็นยอดของฉันทศาสตร์ พระมหาราชเจ้าเป็นประมุขของ มนุษยนิกร สมุทรสาครเป็นประธานของแม่น้ำทั้งหลาย ดวงจันทร์ใหญ่กว่าดวงดาวนักษัตรในอากาศ ดวงภาณุมาศ ใหญ่กว่าบรรดาสิ่งของที่มีแสงร้อนทั้งหลาย ฉันใด พระ- *สงฆ์ ย่อมเป็นใหญ่สำหรับทายกผู้หวังบุญบำเพ็ญทานอยู่ ฉันนั้น. ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาเกณิยชฎิล ด้วยคาถาเหล่านี้แล้ว ทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จกลับ.
เตรียมการต้อนรับพระพุทธเจ้า
[๘๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาปณนิคมตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ จาริกไปทางพระนครกุสินารา พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป. พวกมัลลกษัตริย์ชาวพระนครกุสินารา ได้ทรงทราบข่าวแน่ถนัดว่า พระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จมาพระนครกุสินารา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป มัลลกษัตริย์ เหล่านั้นได้ตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาค จะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์ สมัยนั้น โรชะมัลลกษัตริย์เป็นพระสหายของพระอานนท์ ครั้นพระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครกุสินาราแล้ว พวกมัลลกษัตริย์ชาวพระนครกุสินาราได้จัดการ ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์รับเสด็จพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหา ท่านพระอานนท์ถึงที่พัก ทรงอภิวาทแล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ท่านพระอานนท์ได้ปราศรัยกะโรชะมัลลกษัตริย์ผู้ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ท่านโรชะ การรับเสด็จพระผู้มีพระภาคของท่านโอฬารแท้. โรชะมัลลกษัตริย์ตรัสว่า พระคุณเจ้าอานนท์ พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ ก็ดี ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าใหญ่โต พวกญาติต่างหากได้ตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มี พระภาค จะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์ ข้าพเจ้านั้นแลได้ต้อนรับเสด็จพระผู้มี พระภาคเช่นนี้ เพราะกลัวพวกญาติปรับสินไหม. ทันใดท่านพระอานนท์แสดงความไม่พอใจว่า ไฉน โรชะมัลลกษัตริย์จึงได้ตรัสอย่างนี้ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูล คำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า โรชะมัลลกษัตริย์ผู้นี้ เป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก และความเลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ ของคนที่มีผู้รู้จักมากเช่นนี้ มีอิทธิพลมากนัก ขอประทาน พระวโรกาส ขอพระองค์ทรงกรุณาโปรดบันดาลให้โรชะมัลลกษัตริย์เลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ด้วย เถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ การที่จะบันดาลให้โรชะมัลลกษัตริย์เลื่อมใสใน พระธรรมวินัยนี้นั้น ตถาคตทำได้ไม่ยากเลย. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแผ่เมตตาจิตไปยังโรชะมัลลกษัตริย์ แล้วทรงลุกจากที่ ประทับเสด็จเข้าพระวิหาร ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์ อันพระเมตตาจิตของพระผู้มีพระภาคถูกต้องแล้ว ได้เที่ยวค้นหาตามวิหาร ตามบริเวณทั่วทุกแห่ง ดุจโคแม่ลูกอ่อน แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ท่านเจ้าข้า เวลานี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน เพราะข้าพเจ้าใคร่จะเฝ้าพระองค์. ภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า ท่านโรชะ พระวิหารนั่นเขาปิดพระทวารเสียแล้ว ขอท่าน โปรดสงบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารนั้น ค่อยๆ ย่องเข้าไปที่หน้ามุข ทรงกระแอมแล้ว ทรงเคาะพระทวารเถิด พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิดพระทวารรับท่าน ถวายพระพร.
โรชะมัลลกษัตริย์ได้ธรรมจักษุ
ขณะนั้น โรชะมัลลกษัตริย์ทรงสงบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารซึ่งปิดพระทวารเสีย แล้วนั้น ค่อยๆ ย่องเข้าไปที่หน้ามุข ทรงกระแอมแล้วเคาะบานพระทวาร พระผู้มีพระภาค ทรงเปิดพระทวารรับ จึงโรชะมัลลกษัตริย์เสด็จเข้าพระวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่โรชะมัลลกษัตริย์ คือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกาม ทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม ขณะเมื่อพระองค์ทรงทราบว่า โรชะมัลลกษัตริย์ มีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศ พระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้บังเกิดแก่โรชะมัลลกษัตริย์ ณ สถานที่ ประทับนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมด้วยดี ฉะนั้น โรชะมัลลกษัตริย์ได้ทรงเห็นธรรมแล้ว ได้ทรงบรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้ง ได้หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้องอาจไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานพระวโรกาส ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว อย่ารับของ คนอื่น. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโรชะ แม้อริยบุคคลผู้ได้เห็นธรรมแล้วด้วยญาณของ พระเสขะ ด้วยทัสสนะของพระเสขะเหมือนอย่างท่าน ก็คงมีความปรารภอย่างนี้ว่า โอ พระคุณเจ้าทั้งหลายคงกรุณารับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของพวกเรา เท่านั้น คงไม่รับของผู้อื่นเป็นแน่ เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจักรับปัจจัยของท่านด้วย ของคนอื่นด้วย. ก็โดยสมัยนั้นแล ประชาชนทั้งหลายได้จัดตั้งลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้ที่นครกุสินารา ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์ไม่ได้ลำดับที่จะถวายภัตตาหารจึงได้ทรงดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงตรวจดู โรงอาหาร สิ่งใดไม่มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย ครั้นแล้วทรงตรวจดูในโรงอาหาร ไม่ทอดพระเนตรเห็นของ ๒ อย่าง คือผักสด ๑ ของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ๑ จึงเสด็จเข้าไปหา ท่านพระอานนท์ ครั้นแล้วได้ทูลหารือว่า ท่านพระอานนท์เจ้าข้า เมื่อข้าพเจ้าไม่ได้ลำดับที่จะ ถวายภัตตาหาร ณ สถานที่แห่งนี้ ได้มีความดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใด ไม่มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย ท่านพระอานนท์เจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นเมื่อตรวจดู โรงอาหาร ไม่ได้เห็นของ ๒ อย่าง คือผักสด ๑ ของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ๑ หากข้าพเจ้าพึง ตกแต่งผักสดและของขบฉันที่ทำด้วยแป้งถวาย พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงรับของข้าพเจ้าหรือไม่ เจ้าข้า? ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า ท่านโรชะ ถ้ากระนั้นอาตมาจะทูลถามพระผู้มีพระภาคดู แล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อานนท์ ถ้าเช่นนั้นจงให้เขาตกแต่งเถิด. ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า ท่านโรชะ ถ้ากระนั้น ท่านจงตกแต่งถวาย. โรชะมัลลกษัตริย์ จึงสั่งให้ตกแต่งผักสด และของขบเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งเป็นอันมาก โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว น้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคพลางกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงโปรด รับผักสด และของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ของข้าพระพุทธเจ้าเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโรชะ ถ้าเช่นนั้น จงถวายภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย รังเกียจ ไม่รับประเคน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด. ขณะนั้น โรชะมัลลกษัตริย์ ทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยผักสด และของ ขบฉันที่ทำด้วยแป้งมากมาย ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ จนยังพระผู้มีพระภาคผู้ล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงนำพระหัตถ์จากบาตร ให้ห้ามภัตแล้ว ได้ประทับเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้โรชะมัลลกษัตริย์ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ทรงเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.
พระพุทธานุญาตผักและแป้ง
ภายหลังพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาแล้ว ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผักสดทุกชนิด และของขบฉันที่ทำด้วยแป้งทุกชนิด.
เรื่องวุฑฒบรรพชิต
[๘๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระนครกุสินาราตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินทางอาตุมานครพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้น มีภิกษุบวชภายแก่รูปหนึ่ง เคยเป็นช่างกัลบก อาศัยอยู่ในอาตุมานคร เธอมีบุตรชายสองคน เป็นเด็กพูดจาอ่อนหวาน มีไหวพริบดี ขยันแข็งแรง มีฝีมือยอดเยี่ยมในการช่างกัลบกของตน ดีเท่าอาจารย์ เธอได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาสู่อาตุมานคร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป ครั้นแล้วได้แจ้งความประสงค์อันนั้นแก่บุตรทั้งสองนั้นว่า พ่อ ทั้งหลายข่าวว่า พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จสู่อาตุมานคร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ ไปเถิด พ่อทั้งสอง จงถือเครื่องมือตัดผม และโกนผม กับทะนานและถุง เที่ยวไปตัด และโกนผม ตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง พ่อจักทำยาคูที่ดื่มได้ถวายพระผู้มีพระภาคผู้เสด็จมาถึงแล้ว. บุตรชายทั้งสองรับคำสั่งของหลวงพ่อว่า จะปฏิบัติเช่นนั้น แล้วถือเครื่องมือตัดผม โกนผมกับทะนานและถุง เที่ยวไปตัดและโกนผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง ชาวบ้านเห็นเด็กสองคนนั้นพูดจาอ่อนหวาน มีไหวพริบดี แม้ผู้ที่ ไม่ประสงค์จะให้ตัดและโกนผม ก็ให้ตัดให้โกนผม ถึงให้ตัดให้โกนผมแล้ว ก็ให้ค่าแรงมาก เป็นอันว่าเด็กทั้งสองคนนั้นเก็บรวบรวมเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง ได้เป็นอันมาก. ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ เสด็จถึงอาตุมานครแล้ว ทราบว่าพระองค์ ประทับอยู่ที่ภูสาคารเขตอาตุมานครนั้น จึงพระขรัวตานั้น สั่งให้คนตกแต่งข้าวยาคูเป็นอันมาก โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว น้อมถวายพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค จงโปรดรับข้าวยาคูของข้าพระพุทธเจ้า.
พุทธประเพณี
พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถาม สิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ สิ่งที่ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงสอบถาม ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่าง ๑ จักทรงบัญญัติสิกขาบท แก่พระสาวกทั้งหลายอย่าง ๑. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามพระขรัวตานั้นว่า ดูกรภิกษุ ข้าวยาคูนี้เธอได้มา จากไหน พระขรัวตาจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ.
ห้ามภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกเก็บรักษามีดโกน
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอบวชแล้วจึงได้ชักจูงทายกในสิ่งอัน ไม่ควรเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตไม่พึงชักจูงทายก ในสิ่งอันไม่ควร รูปใดชักจูง ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบก ไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผม ไว้สำหรับตัว รูปใดเก็บรักษาไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธานุญาตผลไม้
[๙๐] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาตุมานครตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ พุทธดำเนินไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ทราบว่าพระองค์ ประทับอยู่ที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น เวลานั้น ของขบฉันคือผลไม้ในนครสาวัตถีมีดาดดื่นมาก จึงภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า ของขบฉันคือ ผลไม้ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้แล้วหรือมิได้ทรงอนุญาต แล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ทุกชนิด.
พืชของสงฆ์และของบุคคล
[๙๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พืชของสงฆ์เขาเพาะปลูกในที่ของบุคคล พืชของบุคคล เขาเพาะปลูกในที่ของสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืชของสงฆ์ที่เพาะปลูกในที่ ของบุคคล พึงให้ส่วนแบ่ง แล้วบริโภค พืชของบุคคลที่เพาะปลูกในที่ของสงฆ์ พึงให้ส่วนแบ่ง แล้วบริโภค.
พระพุทธานุญาตมหาประเทศ ๔
[๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายเกิดความรังเกียจในพระบัญญัติบางสิ่งบางอย่างว่า สิ่งใดหนอ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ สิ่งไรไม่ได้ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค.
วัตถุเป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประทานสำหรับอ้าง ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้:- ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่ง ที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.
พระพุทธานุญาตกาลิกระคน
[๙๓] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิก ควร หรือไม่ควรหนอ สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคนกับยาว- *กาลิกควรหรือไม่ควรหนอ สัตตาหกาลิกระคนกับยามกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคน กับยามกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัส ว่าดังนี้:- ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล ๒. สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล ๓. ยาวชีวิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล ๔. สัตตาหกาลิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม ล่วงยามแล้ว ไม่ควร. ๕. ยาวชีวิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม ล่วงยามแล้วไม่ควร. ๖. ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรตลอด ๗ วัน ล่วง ๗ วัน แล้วไม่ควร.
เภสัชชขันธกะ ที่ ๖ จบ.
ในขันธกะนี้มี ๑๐๖ เรื่อง.
หัวข้อประจำขันธกะ
[๙๔] ๑. เรื่องอาพาธที่เกิดชุมในฤดูสารท ๒. เรื่องฉันเภสัชนอกกาล ๓. เรื่อง น้ำมันเปลวสัตว์เป็นยา ๔. เรื่องรากไม้ที่เป็นตัวยา ๕. เรื่องรากไม้ทำยาผง ๖. เรื่องน้ำฝาด ๗. เรื่องใบไม้ ๘. เรื่องผลไม้ ๙. เรื่องยางไม้ ๑๐. เรื่องเกลือ ๑๑. เรื่องมูลโค ๑๒. เรื่องยาผงและวัตถุเครื่องร่อนยา ๑๓. เรื่องเนื้อดิบเลือดสด ๑๔. เรื่องยาตา ๑๕. เรื่อง เครื่องยาผสมกับยาตา ๑๖. เรื่องกลักยาตา กลักยาตาชนิดต่างๆ และกลักยาตาไม่มีฝาปิด ๑๗. เรื่องไม้ป้ายยาตา ๑๘. เรื่องภาชนะเก็บไม้ป้ายยาตา ถุงกลักยาตา และเชือกผูกเป็นสาย สะพาย ๑๙. เรื่องน้ำมันหุงมันทาศีรษะ ๒๐. เรื่องการนัตถุ์ ๒๑. เรื่องกล้องนัตถุ์ยา ๒๒. เรื่องสูดควัน กล้องสูดควัน ฝาปิดกล้องสูดควัน ๒๓. เรื่องถุงเก็บกล้องสูดควัน ๒๔. เรื่องน้ำมันหุง ๒๕. เรื่องน้ำเมาที่ผสมในน้ำมันที่หุง ๒๖. เรื่องน้ำมันเจือน้ำเมามาก ๒๗. เรื่องน้ำมันเจือน้ำเมามากใช้เป็นยาทา ๒๘. เรื่องลักจั่น ๒๙. เรื่องเข้ากระโจม ๓๐. เรื่อง รมด้วยใบไม้ต่างๆ ๓๑. เรื่องการรมใหญ่และเอาใบไม้มาต้มรม ๓๒. เรื่องอ่างน้ำ ๓๓. เรื่อง ระบายเลือดออก ๓๔. เรื่องกรอกโลหิตด้วยเขา ๓๕. เรื่องยาทาเท้า ๓๖. เรื่องปรุงน้ำมัน ทาเท้า ๓๗. เรื่องผ่าฝี ๓๘. เรื่องชะแผลด้วยน้ำฝาด ๓๙. เรื่องงาที่บดแล้ว ๔๐. เรื่อง ยาพอกแผล ๔๑. เรื่องผ้าพันแผล ๔๒. เรื่องชะแผลด้วยน้ำแป้งพรรณผักกาด ๔๓. เรื่อง รมแผลด้วยควัน ๔๔. เรื่องตัดเนื้องอกด้วยก้อนเกลือ ๔๕. เรื่องน้ำมันทาแผล ๔๖. เรื่อง ผ้าปิดกันน้ำมันเยิ้ม ๔๗. เรื่องยามหาวิกัฏ ๔๘. เรื่องรับประเคน ๔๙. เรื่องดื่มน้ำเจือคูถ และหยิบคูถเมื่อกำลังถ่าย ๕๐. เรื่องดื่มน้ำที่ละลายจากดินติดผาลไถ ๕๑. เรื่องดื่มน้ำด่าง อามิส ๕๒. เรื่องดื่มน้ำสมอดองมูตร ๕๓. เรื่องทาของหอม ๕๔. เรื่องดื่มยาถ่าย ๕๕. เรื่องน้ำข้าวใส ๕๖. เรื่องน้ำถั่วเขียวต้มที่ไม่ข้น ๕๗. เรื่องน้ำถั่วเขียวที่ข้นนิดหน่อย ๕๘. เรื่องน้ำเนื้อต้ม ๕๙. เรื่องชำระเงื้อมเขา และพระราชทานคนทำการวัด ๖๐. เรื่องฉัน เภสัชที่เก็บไว้ ๗ วัน ๖๑. เรื่องน้ำอ้อย ๖๒. เรื่องถั่วเขียว ๖๓. เรื่องยาดองโลณโสจิรกะ ๖๔. เรื่องอามิสที่หุงต้มเอง ๖๕. เรื่องภัตตาหารที่ต้องอุ่น ๖๖. เรื่องให้เก็บที่หุงต้มอามิส ในภายในและหุงต้มเอง เมื่อคราวอัตคัดอาหารต่อไปอีก ๖๗. เรื่องรับประเคนผลไม้ที่เป็น อุคคหิตได้ ๖๘. เรื่องถวายงา ๖๙. เรื่องของขบฉันที่รับประเคนไว้ตอนเช้า ๗๐. เรื่อง เป็นไข้ตัวร้อน ๗๑. เรื่องฉันผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออก ๗๒. เรื่องริดสีดวงทวาร ๗๓. เรื่อง สัตถกรรมและวัตถิกรรม ๗๔. เรื่องอุบาสิกาสุปปิยา ๗๕. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์ ๗๖. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อช้าง ๗๗. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อม้า ๗๘. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อสุนัข ๗๙. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้องู ๘๐. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อราชสีห์ ๘๑. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อ เสือโคร่ง ๘๒. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง ๘๓. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อหมี ๘๔. เรื่อง ทรงห้ามฉันเนื้อเสือดาว ๘๕. เรื่องคอยโอกาสถวายภัตร และข้าวยาคู ๘๖. เรื่องมหาอำมาตย์ เริ่มเลื่อมใส เป็นต้นเหตุให้ทรงห้ามภิกษุรับนิมนต์ไว้แห่งหนึ่งแล้วไปฉันในที่อื่น ๘๗. เรื่อง ถวายงา น้ำอ้อย ๘๘. เรื่องทรงรับอาคารพักแรม ๘๙. เรื่องมหาอำมาตย์สุนีธะและวัสสการะ ๙๐. เรื่องแม่น้ำคงคา ๙๑. เรื่องเสด็จตำบลบ้านโกฏิ ทรงแสดงอริยสัจจกถา ๙๒. เรื่อง นางอัมพปาลีคณิกา ๙๓. เรื่องเจ้าลิจฉวี ๙๔. เรื่องอุทิศมังสะ ๙๕. เรื่องพระนครเวสาลี หาอาหารได้ง่าย ๙๖. เรื่องทรงห้ามอามิสที่เป็นอันโตวุตถะเป็นต้นใหม่ ๙๗. เรื่องฝนตั้งเค้า ๙๘. เรื่องพระโสชะอาพาธ ๙๙. เรื่องเมณฑกะคหบดี ถวายปัญจโครสกับเสบียงเดินทาง ๑๐๐. เรื่องเกณิยชฎิลถวายน้ำอัฏฐบาน คือ น้ำผลมะม่วง น้ำผลหว้า น้ำกล้วยมีเมล็ด น้ำกล้วย ไม่มีเมล็ด น้ำผลทราง น้ำผลจันทน์ น้ำเหง้าบัว น้ำผลมะปราง ๑๐๑. เรื่องโรชะมัลลกษัตริย์ถวาย ผักสดและของขบฉันที่สำเร็จด้วยแป้ง ๑๐๒. เรื่องภิกษุช่างกัลบกในเมืองอาตุมา ๑๐๓. เรื่อง ผลไม้ดาดดื่นในพระนครสาวัตถี ๑๐๔. เรื่องพืช ๑๐๕. เรื่องเกิดสงสัยในพระบัญญัติบาง สิ่งบางอย่าง ๑๐๖. เรื่องกาลิกระคน.
หัวข้อประจำขันธกะ จบ.
-----------------------------------------------------
กฐินขันธกะ
ภิกษุปาไฐยรัฐเดินทางเข้าเฝ้า
[๙๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณ- *ฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ บิณฑปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์เดินทางไปพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวน ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์ ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุ เหล่านั้นออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางไปถึงพระนครสาวัตถี พระเชตวัน อารามของอนาถบิณ- *ฑิกคหบดี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายนั่นเป็น พุทธประเพณี.
พุทธประเพณี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอ ทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำ พรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้ เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวน ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมือง สาเกต ในระหว่างทาง พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นล่วง ไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็ม ไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า.
พระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน
[๙๖] ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ ๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา ๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ ๓. ฉันคณะโภชน์ได้ ๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา ๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่เธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว.
วิธีกรานกฐิน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศ ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาให้ผ้ากฐิน
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่ง ของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ สงฆ์ให้ผ้ากฐิน ผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน การให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบ แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ผ้ากฐินผืนนี้ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน อย่างนี้ไม่เป็นอันกราน.
กฐินไม่เป็นอันกราน
[๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินไม่เป็นอันกราน คือ:- ๑. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงขีดรอย ๒. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงซักผ้า ๓. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงกะผ้า ๔. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงตัดผ้า ๕. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเนาผ้า ๖. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเย็บด้น ๗. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำลูกดุม ๘. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำรังดุม ๙. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงประกอบผ้าอนุวาต ๑๐. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงประกอบผ้าอนุวาตด้านหน้า ๑๑. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงดามผ้า ๑๒. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงย้อมเป็นสีหม่นเท่านั้น ๑๓. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา ๑๔. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา ๑๕. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ยืมเขามา ๑๖. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน ๑๗. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ ๑๘. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่มิได้ทำกัปปะพินทุ ๑๙. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าสังฆาฏิเสีย ๒๐. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าอุตราสงค์เสีย ๒๑. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าอันตรวาสกเสีย ๒๒. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว ทำให้มีมณฑล เสร็จในวันนั้น ๒๓. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากการกรานแห่งบุคคล ๒๔. กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น แม้อย่างนี้ กฐินก็ชื่อว่าไม่เป็นอันกราน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินไม่เป็นอันกราน.
กฐินเป็นอันกราน
[๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินเป็นอันกราน คือ:- ๑. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าใหม่ ๒. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเทียมใหม่ ๓. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเก่า ๔. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าบังสุกุล ๕. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ตกตามร้าน ๖. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา ๗. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา ๘. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา ๙. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน ๑๐. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เป็นนิสสัคคีย์ ๑๑. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำกัปปะพินทุแล้ว ๑๒. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าสังฆาฏิ ๑๓. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าอุตราสงค์ ๑๔. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าอันตรวาสก ๑๕. กฐินเป็นอันกราน ด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว ทำให้มีมณฑลเสร็จ ในวันนั้น ๑๖. กฐินเป็นอันกราน เพราะการแห่งบุคคล ๑๗. กฐินเป็นอันกราน ถ้าภิกษุอยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น แม้อย่างนี้ กฐินก็ชื่อว่า เป็นอันกราน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน. [๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินเป็นอันเดาะ.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๑-๒๗๔๗ หน้าที่ ๑-๑๑๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=1&Z=2747&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14], [15], [16], [17], [18], [19], [max20]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=5&siri=1              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1-99] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=5&item=1&items=99              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3641              The Pali Tipitaka in Roman :- [1-99] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=5&item=1&items=99              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3641              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd5/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-kd5/en/horner-brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :